มิถุนายน 2560

 
 
 
 
1
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
มิลินทปัญหา - บทที่ ๑๐ อุปมาปัญหา (๖๑. - ๖๗. )




มิลินทปัญหา - บทที่ ๑๐ อุปมาปัญหา (๖๑. - ๖๗.)

๖๑.หม้อน้ำ
“หม้อน้ำมีน้ำเต็มเปี่ยม ไม่มีเสียงดังเมื่อเคาะ ฉันใด ภิกษุผู้สำเร็จแล้วไม่พูดมาก ฉันนั้น ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้   'แม่น้ำห้วยย่อมไหลดังโดยรอบ แม่น้ำใหญ่ย่อมไหลนิ่ง สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นย่อมดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นสงบ' "
"คนพาลเปรียบด้วยหม้อน้ำที่มีน้ำครึ่งหนึ่ง บัณฑิตเปรียบเหมือนห้วงน้ำที่เต็ม"
๖๒.กาลักน้ำ
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา กาลักน้ำ ย่อมดูดน้ำขึ้นมาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรดูดใจขึ้นมาไว้ในโยนิโสมนสิการฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งกาลักน้ำ"
"ธรรมดากาลักน้ำดูดน้ำขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ปล่อยน้ำลงไปฉันใด พระโยคาวจรเกิดความเลื่อมใสขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยความเลื่อมใสนั้นเสีย ควรทำให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้นใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่า “คุณแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาเลิศประเสริฐยิ่ง คุณแห่งพระธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้เป็นอันดี และพระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณ คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง” ครั้งเห็นดังนี้แล้วก็ไม่ควรปล่อยการพิจารณานั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งกาลักน้ำ ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “ผู้บริสุทธิ์ในความเห็น ผู้แน่ในอริยธรรม ผู้ถึงคุณวิเศษ ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยสิ่งใด ย่อมเป็นผู้คงที่ในที่ทั้งปวง” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๖๓.ร่ม
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ร่ม ย่อมอยู่บนศีรษะฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอยู่บนกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งร่ม"
"ธรรมดาร่มย่อมคุ้มกันศีรษะฉันใด พระโยคาวจรก็ควรคุ้มกันตนด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งร่ม"
"ธรรมดาร่มย่อมกำจัด ลม แดด เมฆ ฝนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกำจัดลัทธิสมณพราหมณ์ภายนอก และควรกำจัดเครื่องร้อน คือไฟ ๓ กอง ควรกำจัดฝน คือกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งร่ม ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “ร่มใหญ่อันไม่ขาด ไม่ทะลุ แน่นหนา แข็งแรง ย่อมกันลม กันแดด กันฝนห่าใหญ๋ได้ฉันใด พระพุทธบุตรผู้กั้นร่มคือศีล ผู้บริสุทธิ์ก็กันฝนคือกิเลส กันไฟ ๓ กอง อันทำให้เร่าร้อนได้ฉันนั้น” ขอถวายพระพร ”
๖๔.นา
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นา ย่อมมีเหมือง ชาวนาย่อมไขน้ำจากเหมืองเข้าไปสู่นาเลี้ยงต้นข้าวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีเหมือง คือสุจริตด้วยข้อวัตรปฏิบัติฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนา"
"ธรรมดานาย่อมมีคันนา ชาวนาย่อมรักษาน้ำให้อยู่เลี้ยงต้นข้าวด้วยคันนาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรสมบูรณ์ด้วยคันนาคือศีล ควรรักษาความเป็นสมณะไว้ด้วยคันนาคือศีล จึงจักได้สามัญผล ๔ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนา"
"ธรรมดานาซึ่งเป็นนาดี ย่อมทำให้เกิดความดีใจแก่เจ้าของ ถึงหว่านข้าวลงไปน้อยก็ได้ผลมาก ยิ่งหว่านลงไปมากก็ยิ่งได้ผลมากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นนาดี ควรเป็นผู้ให้ผลมาก ให้เกิดความดีใจแก่พวกทายก ถึงเขาจะถวายทานน้อยก็ให้เขาได้ผลมาก อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนา ข้อนี้สมกับคำของ พระอุบาลีเถระ ผู้เป็นวินัยธรว่า 'พระภิกษุควรเป็นผู้เปรียบด้วยนา ควรให้ผลอันไพบูลย์เหมือนกับนาดี ผู้ใดให้ผลอันไพบูลย์ได้ ผู้นั้นชื่อว่านาประเสริฐ' ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๖๕.ยาดับพิษ
“ ขอถวายพระพร ตัวหนอนต่างๆ ย่อมไม่อยู่ในยาดับพิษฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้กิเลสตั้งอยู่ในใจฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งยาดับพิษ"
"ธรรมดายาดับพิษย่อมกำจัดพิษทั้งปวงอันเกิดจากถูกกัด หรือถูกต้อง หรือพบเห็น หรือกินดื่ม เคี้ยว ลิ้มเลีย ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกำจัดพิษ คือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งยาดับพิษ ข้อนี้สมกับพระพุทธภาษิตว่า “พระโยคีผู้ใคร่จะเห็นความเป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลาย ควรเป็นเหมือนยาดับพิษ อันทำให้กิเลสพินาศ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๖๖.โภชนะ
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา โภชนะ ย่อมเลี้ยวชีวิตสัตว์ทั้งปวงไว้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอุปถัมภ์สัตว์ทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งโภชนะ"
"ธรรมดาโภชนะ ย่อมให้เจริญกำลังแก่สัตว์ทั้งหลายฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้เจริญบุญ แก่บุคคลทั้งหลายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งโภชนะ"
"ธรรมดาโภชนะ ย่อมเป็นที่ต้องการแห่งสัตว์ทั้งปวงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้เป็นที่ต้องการแห่งโลกทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งโภชนะ ข้อนี้สมกับคำของ พระโมฆราชเถระ ว่า 'พระโยคาวจรแน่ใจในความเป็นสมณะของตน ด้วยศีลและข้อปฏิบัติ ควรให้เป็นที่ปรารถนาของโลกทั้งปวง'ดังนี้ ”
๖๗.นายขมังธนู
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นายขมังธนู เมื่อจะยิงธนู ย่อมเหยียบพื้นด้วยเท้าทั้งสองให้มั่น ทำเข่าไม่ให้ไหว ยกธนูขึ้นเพียงหู ทำกายให้ตรง วางมือทั้งสองลงที่คันธนู จับคันธนูให้แน่น ทำนิ้วให้ชิดกัน เอี้ยวคอ หลิ่วตา เม้มปาก ทำเครื่องหมายให้ตรงแล้วเกิดความดีใจว่า เราจักยิงไปในบัดนี้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเหยียบพื้นดินคือศีล ด้วยเท้าคือวิริยะให้มั่น ทำขันติโสรัจจะไม่ให้ไหว ตั้งจิตไว้ในความสำรวม น้อมตนเข้าไปในความสำรวม บีบกิเลสตัณหาให้แน่น กระทำจิตไม่ให้มีช่องว่างด้วยโยนิโสมนสิการ ประคองความเพียรไว้ ปิดทวารทั้ง ๖ เสีย ตั้งสติเข้าไว้ ทำให้เกิดความร่าเริงว่า เราจักยิงกิเลสทั้งปวงด้วยลูกศร คือญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนายขมังธนู"
"ธรรมดานายขมังธนู ย่อมรักษาไม้ง่ามไว้ เพื่อดัดลูกธนูที่คดที่งอให้ตรงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรรักษาไม้ง่าม คือสติปัฏฐานไว้ในกายนี้ เพื่อทำจิตที่คดงอให้ตรงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนายขมังธนู"
"ธรรมดานายขมังธนู ย่อมเพ่งที่หมายไว้ให้แน่ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเพ่งกายนี้ฉันนั้น ควรเพ่งอย่างไร...ควรเพ่งว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ เป็นของทำให้ลำบาก เป็นของแปรปรวน เป็นของแตกหัก เป็นของจัญไร เป็นของอุบาทว์ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน ไม่มีที่หลบลี้ที่ต้านทานที่พึ่งที่อาศัย เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของมีโทษ เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาไม่มีแก่น เป็นรากเหง้าแห่งภัย เป็นผู้ฆ่า เป็นของมีอาสวะเครื่องดอง เป็นของน่าสงสัย เป็นของมีเหตุปัจจัยตกแต่ง เป็นเหยื่อแห่งมาร มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศกเศร้า รำพัน คับแค้น เป็นธรรมดา ดังนี้ อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนายขมังธนู"
"ธรรมดานายขมังธนู ย่อมหัดยิงธนูทั้งเย็นทั้งเช้าฉันใด พระโยคาวจรก็ควรฝึกหัดในอารมณ์ ทั้งเย็นทั้งเช้าฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งนายขมังธนู ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “นายขมังธนูย่อมหัดยิงทั้งเย็นทั้งเช้าไม่ทิ้งการฝึกหัด จึงได้ค่าจ้างรางวัลฉันใด ฝ่ายพระพุทธบุตรก็พิจารณากาย ไม่ทิ้งการพิจารณากาย แล้วได้ความเป็นพระอรหันต์ฉันนั้น” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
                                      อปรภาคกถา
                                      (บทส่งท้าย)   
     ในที่สุดแห่งปุจฉา - วิสัชนา ระหว่างพระเถระกับพระราชา แผ่นดินใหญ่ไหว ๖ ครั้ง ฟ้าแลบแปลบปลาบ และเหล่าทวยเทพโปรยปรายดอกไม้ทิพย์ลงมา พระเจ้ามิลินทร์ทรงบันเทิงพระทัย และมานะของพระองค์ถูกปราบลงราบคาบ ทรงสิ้นความสงสัยในพระรัตนตรัย และความดื้อรั้นอวดดี เหมือนพญานาคถูกถอนเขี้ยว ทรงรับสั่งว่า "วิเศษจริง พระคุณเจ้านาคเสน ท่านได้แก้ปัญหาที่เป็นพุทธวิสัย ในเหล่าพระสาวกของพระพุทธเจ้า เว้นท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้ว ไม่มีผู้ใดเสมอกับท่าน โปรดยกโทษการล่วงเกินของข้าพเจ้าด้วย ขอท่านโปรดรับข้าพเจ้าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่นี้ไปจนตลอดชีวิต"
      พระราชาพร้อมด้วยไพร่พล อุปถัมภ์บำรุงพระเถระและเหล่าภิกษุผู้ติดตาม และได้ให้สร้างมิลินทวิหารขึ้น ในกาลต่อมา พระเจ้ามิลินท์ได้มอบราชสมบัติแก่พระโอรส แล้วเสด็จออกสู่ความเป็นผู้ไม่มีเรือน ทรงเจริญวิปัสสนาและบรรลุความเป็นอรหันต์

ที่มา: หนังสือมิลินทปัญหา - กษัตริย์กรีกถาม พระเถระตอบ โดย นวพร เรืองสกุลถอดความเป็นภาษาไทย

หมายเหตุ: เนื่องจากหนังสือมิลินทปัญหานี้อธิบายอุปมาเนื้อหาเป็นบางข้อ ฉะนั้น ข้อ ๖๒-๖๗  ข้าพเจ้าจึงคัดลอกมาจากเวป //tripitaka-online.blogspot.com/2016/05/ml036.html





Create Date : 18 มิถุนายน 2560
Last Update : 18 มิถุนายน 2560 19:12:18 น.
Counter : 3795 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ineverdie
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments