Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
7 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
“สื่อใหม่” ก้าวย่างสำคัญของวงการสื่อสู่การเป็น “Citizen Producer”

เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2554 (เข้าไปอ่านได้ตามลิงค์นี้่ //bit.ly/pXZcgM

ผู้เขียนขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์สดศรี เผ่าอินจันทร์ สำหรับไอเดียในการเริ่มต้น มา ณ ที่นี้





ในยุคที่รายการโทรทัศน์และวิทยุยังต้องอาศัยคลื่นความถี่ในการออกอากาศ ผู้ชมผู้ฟังอย่างเรา ๆ ก็มีหน้าที่ได้เป็นเพียงผู้ฟังที่ดี ใครทำอะไรให้ดูก็ต้องดูกันไป จะมีส่วนร่วมได้บ้างก็นาน ๆ ที อย่างมากก็เขียนจดหมายไปบอกเล่าความรู้สึกถึงรายการที่ชอบ บ้างก็ต่อโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับพี่ดีเจตามรายการวิทยุ จะมีได้พูดเยอะหน่อยก็เมื่อโทรเข้าไปในรายการจำพวก จส.100, ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อรายงานสภาพรถติด นอกนั้นความฝันในการได้ไปออกทีวีเอย ได้สัมภาษณ์ออกวิทยุเอย ดูเป็นเรื่องไกลตัวและฝันเฟื่องยิ่งนัก

คลื่นความถี่เป็นกำแพงสำคัญที่กั้นให้มีคนเพียงหยิบมือได้เข้าไปใช้เพื่อผลประโยชน์ตามความประสงค์ เหตุประการแรกของการกางกั้นนี้คือการมีอยู่อย่างจำกัดของคลื่นความถี่ การออกอากาศทั้งวิทยุและโทรทัศน์ในประเทศยังเป็นลักษณะอะนาล็อก คลื่นความถี่ที่สามารถใช้ในการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์มีประมาณสิบกว่าช่องสัญญาณเท่านั้น (ณ ขณะนี้ก็มีการออกอากาศไปแล้ว 6 ช่องสัญญาณ) ในขณะที่หน้าปัทม์วิทยุก็จำกัดย่านความถี่ในประเทศไทยไว้ที่ 88 – 108 MHZ หากลองคำนวณโดยให้แต่ละสถานีมีช่องสัญญาณห่างกันที่ 0.25 MHz จะมีทั้งสิ้น 80 ช่องสัญญาณ แม้จะดูเยอะแต่ความต้องการการใช้คลื่นความถี่มีมากกว่านั้น ดูได้จากในกรุงเทพมหานครที่มีซ้อนทับของคลื่นจำนวนมากเพราะไม่เหลือที่ว่างในหน้าปัทม์อีกแล้ว จึงต้องตั้งสถานที่โดยปรับคลื่นความถี่ไม่ให้ซ้ำกับ .00, .25, .50 และ .75 อาทิ 99.80 MHz ส่งผลให้เกิดคลื่นแทรกระหว่างกันอยู่ทั้งหน้าปัทม์

อีกประการหนึ่งคือการลงทุนในการออกอากาศและผลิตรายการผ่านทางคลื่นความถี่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เอาแค่ว่าการตั้งสถานีวิทยุชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ต้องมีเครื่องส่งสัญญาณ เสาส่งสัญญาณที่ไม่ได้สูงมาก ประหยัดสุด ๆ ก็ยังต้องใช้เงินระดับครึ่งแสน นับประสาอะไรกับสถานีโทรทัศน์ที่อาคารมีลักษณะใหญ่โตกว่าสถานีวิทยุหลายเท่า ไหนจะอุปกรณ์ในการถ่ายทำและถ่ายทอดสัญญาณที่เห็นราคาก็ปาดเหงื่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้มีน้อยคนที่จะสามารถเข้ามาสู่การเป็นเจ้าของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ได้ แม้เจตจำนงของรัฐธรรมนูญจะให้คลื่นความถี่เป็นของสาธารณะอันหมายถึงประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจนี้เองก็เป็นตัวสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้มีคนไม่มากนักที่เข้าถึงระดับการเป็นเจ้าของได้

จากเหตุผลสองประการที่ว่าทำให้เห็นว่าคนธรรมดาอย่างเรา ๆ เป็นได้อย่างมากก็แค่คนฟัง แถมยังเป็นคนฟังในลักษณะที่ฟังอย่างเดียว (Passive Audience) อาจจะมีบางรายการที่เปิดโอกาสให้คนฟังได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลอย่าง รายการบอกสถานการณ์รถติดทั้งหลาย คนฟังอย่างเรา ๆ จึงมีโอกาสขยับเป็น Active Audience อย่างไรก็ดีคนฟังธรรมดาอย่างเรา ๆ ก็เป็นได้แค่นี้ การจะก้าวไปสู่การเป็นเจ้าของสื่อยังมีลักษณะ “ฝันกลางวัน” ไม่ต่างจากอดีต

ทว่าเมื่อโลกแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารได้ก้าวหน้าไปไกลชนิดก้าวกระโดด พรมแดนทางกายภาพได้พังทลายลง ทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ในพริบตา เวบประเภทสังคมออนไลน์ (Social Network) อาทิ facebook twitter ฯลฯ และเวบที่นำเสนอไฟล์วิดีโออย่าง youtube ได้รับความนิยมอย่างมากและได้ถูกใช้เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สื่อเหล่านี้ทั้งฟรีและรวดเร็ว ขอเพียงคุณเข้าถึงอินเตอร์เนตได้ คุณก็สามารถใช้งานสังคมออนไลน์ และนับตั้งแต่วันที่ความเร็วของอินเตอร์เนตเชื่อมต่อโลกไว้ในอุ้งมือ ความสำคัญของสื่อที่พึ่งพาคลื่นความถี่ก็ลดลง

ในโลกแห่งอินเตอร์เนต ผู้รับสารและผู้ส่งสารสามารถปรับเปลี่ยนสถานในคน ๆ เดียวกันได้เพียงชั่วพริบตา ณ เวลาหนึ่งเขาและเธอผู้อยู่ต่อหน้าจอคอมพิวเตอร์อาจกำลังรับข่าวสารที่พึ่งเกิดเมื่อหนึ่งนาทีที่แล้ว และไม่กี่วินาทีต่อมาเขาและเธอก็ส่งข้อความ คลิปภาพ ข่าวสาร ฯลฯ ต่าง ๆ ที่ได้รับออกไป เปลี่ยนสถานะเป็นผู้ส่งสารส่งข่าวทันที

ผู้ชมผู้ฟังวิทยุและโทรทัศน์เมื่อขยับมารับสื่อทางอินเตอร์เนต พวกเขาเองก็ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการรับสารให้สอดคล้องกับอินเตอร์เนตด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือพวกเขาไม่ได้มีลักษณะเป็น Passive Audience อีกต่อไปแล้ว นอกจากการแชร์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ แล้ว ผู้ใช้อินเตอร์เนตยังขยับตัวเองเข้าสู่การเป็นนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) คอยรายงานข่าวสารจากแง่มุมที่สื่อกระแสหลักอาจจะไม่สนใจ เป็นแง่มุมที่ตัวนักข่าวพลเมืองเองได้ไปพบเจอจากชีวิตจริงแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบของข่าวผ่านทางสังคมออนไลน์ นับว่าในโลกปัจจุบันนักข่าวพลเมืองมีบทบาทในการสื่อสารมากขึ้น หลาย ๆ ข่าวอย่างการเกิดแผ่นดินไหวในจีนก็เริ่มต้นจากนักข่าวพลเมืองทั้งนั้น

มิได้มีเพียงบทบาทของนักข่าวพลเมืองเท่านั้นที่เกิดเริ่มขึ้นจากสังคมออนไลน์ ณ เวลานี้ มีผู้รับสารหลายคนที่ผันสถานะของตัวเองมาเป็นผู้ผลิตรายการออกอากาศในอินเตอร์เนต รายการของพวกเขาไม่ต้องพึ่งคลื่นความถี่ในการออกอากาศ ไม่ต้องการการเป็นเจ้าของคลื่นที่ต้องประมูลมาด้วยเม็ดเงินมหาศาล ตัดปัจจัยเรื่องเวลาในการออกอากาศที่ซอยย่อย ที่สำคัญคือพวกเขาสามารถผลิตรายการได้ด้วยต้นทุนที่แทบจะเรียกได้ว่าฟรี โลกอินเตอร์เนตให้เปิดกว้างให้ทุกคนที่เข้าถึงได้มีโอกาสสร้างผลงานของตนเองออกเผยแพร่

กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ มีรายการทำครัวเผยแพร่ให้ได้ชมทางเวบยูทูบในชื่อ “ครัวกาก ๆ โดยเชฟหมี” เผยแพร่ รายการนี้เป็นรายการทำอาหารที่ทำลายขนบของรายการทำครัวอื่น ๆ ลงอย่างราบคาบ แถมยังพูดคำหยาบกันชนิดออกอากาศปกติไม่ได้ รายการครัวกาก ๆ โดยเชฟหมีเป็นที่ถูกใจของกลุ่มคนดูในอินเตอร์เนตเป็นอย่างมาก ใช้เวลาไม่นานก็มียอดผู้ชมถึงหนึ่งล้านวิว

ความน่าสนใจของกรณีนี้คือ ทีมงานครัวกาก ๆ โดยเชฟหมีได้ผันตัวจากการเป็นเพียงแค่ผู้รับสารในสื่อกระแสหลักทั้งวิทยุและโทรทัศน์มาเป็นผู้ผลิตรายการทำอาหารโดยทีมงานทั้งหมดมีเพียงแค่สามคนเท่านั้น ที่สำคัญพวกเขาได้ผลิตรายการนี้ขึ้นมาด้วยความคิดของตัวเอง เป็นโปรดิวเซอร์ ครีเอทีฟเอง มิได้เกิดจากผู้ผลิตรายการมืออาชีพที่คิดและว่าจ้างมาแสดง (อาจจะเป็นข้อได้เปรียบของทีมงานครัวกาก ๆ โดยเชฟหมีเพราะทั้งสามคนจบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนมา โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาและอีกคนเป็นอาจารย์สอนด้านนิเทศศาสตร์) แถมการถ่ายทำก็ใช้เพียงกล้องจากมือถือและโปรแกรมตัดต่อที่มิใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้วในการเรียนรู้ ทั้งหมดทั้งมวลพวกเขาได้ขยับสถานะสู่การเป็นนักผลิตพลเมือง (Producer Citizen) แล้ว

จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้คนธรรมดาสามารถอย่างเรา ๆ สามารถที่จะผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อสื่อสารไปสู่ผู้รับสารได้โดยตรงผ่านทางสังคมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่จะได้นำเสนอประเด็นที่สื่อกระแสหลักอาจจะไม่มีวันสนใจให้สังคมได้รับรู้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าดูแลสถานี ค่าสัมปทานต่าง ๆ ที่ต้องเสียไปเพื่อเข้าถึงคลื่นความถี่

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเป็น Producer Citizen คือไอเดียและความคิดที่สร้างสรรค์ในการจะผลิตงานคุณภาพออกมา การจะผลิตรายการโดย Producer Citizen แม้จะง่ายกว่ามาก แต่การจะทำให้ติดตลาดเป็นที่ประทับใจต่อคนดูก็ยังเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายมิต่างจากการออกอากาศในสื่อคลื่นความถี่ แม้สื่อจะเปลี่ยนไปแต่โจทย์ยังคงเดิม ๆ เผลอ ๆ มีรายละเอียดปลีกย่อยให้ต้องคำนึง

ในฐานะผู้รับสื่ออย่างเรา ๆ ก็คงต้องจับตามองการเกิดขึ้นของ Producer Citizen เหล่านี้ว่าจะมีทิศทางไปทางไหน และสร้างผลกระทบต่อวงการสื่ออย่างไรบ้าง น่าเชื่อได้ว่าการเกิดขึ้นของ Producer Citizen นี้จะมีเหตุการณ์ให้ติดตามอีกมากมายนับจากวันนี้เป็นต้นไป



Create Date : 07 กรกฎาคม 2554
Last Update : 7 กรกฎาคม 2554 13:15:31 น. 3 comments
Counter : 1858 Pageviews.

 
มันคือความจริง ที่มองข้าม แต่ทุกคนรู้อยู่...


โดย: แมงปอ ปีกบาง IP: 27.130.151.160 วันที่: 7 กรกฎาคม 2554 เวลา:19:09:23 น.  

 
มีหลายคนที่รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทำ ก็เพราะไม่กล้า แล้วทำไงถึงจะกล้าดีละคะ


โดย: คนที่ได้แต่คิดแต่ไม่กล้าทำ IP: 192.168.1.214, 110.77.168.131 วันที่: 7 กรกฎาคม 2554 เวลา:21:01:28 น.  

 
ใครสนใจอยากนำเสนอลองMailมาคุยกันดูก็ได้ครับ ผมกำลังรวบรวมคนประเภทนี้อยู่
เพื่อสู้กับวิธีการเดิมๆ ของคนบางกลุ่มในวงการโทรทัศน์ ได้เวลาพิสูจน์มันสมองและสองมือแล้วครับ djthana_1@hotmail.com


โดย: Thanawan IDA Corp IP: 124.120.61.42 วันที่: 7 กรกฎาคม 2554 เวลา:21:34:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

I will see U in the next life.
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add I will see U in the next life.'s blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.