Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของชาวไทยต่อมาตรา 112 "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ มีคำอยู่ไม่กี่คำที่ชาวไทยได้ยินกันบ่อยติดหู ทั้ง หมีแพนด้า ทักษิณ เสื้อแดง เสื้อเหลือง และ "หมิ่นเบื้องสูง"

ผมเองมีโอกาสได้คุยกับคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายหลากอุดมการณ์ความคิด พบว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ยังเข้าใจความหมายของมาตรา 112 นี่ผิดไป มีอะไรที่ไปสัมผัสกับราชวงศ์แม้เพียงเสี้ยวน้อยนิดก็บอกว่า หมิ่นเบื้องสูง ทันที ซึงหลายครั้งคนพูดเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ไอ้ที่พูดไปนั้นถูกหรือเปล่า

ครั้งหนึ่งผมเคยตั้งคำถามเมื่อครั้ง เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงแนะนำว่า การเลี่ยงรถติดและควันพิษช่วยทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ผมสงสัยว่าแล้วคนในกรุงเทพฯ จะเลี่ยงได้อย่างไร ก็มีเสียงไอว่า "คุก ๆ" ลอยมาจากเพื่อนด้วยกัน เหมือนประหนึ่งว่า มึงเข้าคุกแน่ถ้าถามแบบนี้ ผมก็เลยถามกลับว่า ถามแค่นี้ต้องติดคุกเลยหรือ กูหมิ่นตรงไหนไม่ทราบ จากเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นได้ว่า เพื่อนผม (และคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้) ต่างคิดว่า อะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามที่เชื้อพระวงศ์คิด ถือเป็นความผิดเช่นนั้นหรือ

ขอเล่าถึง มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่เราคุ้นในชื่อเล่นที่ยาวกว่า ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สักเล็กน้อย เผื่อใครไม่ทราบ

ม.112 นี้ มีบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระว่างโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" มาตรานี้เกิดจากการตีความหลักการที่ว่า "พระมหากษัตริย์จะถูกละเมิดไม่ได้" (อ่านเพิ่มเติมอย่างละเอียดได้ใน วรเจตน์ ภาคีรัตน์.กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความมั่นคงของรัฐ ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 เมษายน - มิถุนายน 2552)

ส่วนสิ่งที่ผมเจออยากเอามาเล่าสู่กันฟัง มีดังนี้

ในสังคมประชาธิปไตยนั้นเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้วิพากษ์วิจารณ์ทุกสถาบัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วที่มักติชมผู้อื่นอยู่เสมอ ถ้ามองในแง่ร้ายก็เป็นการนินทาว่า้ร้าย แต่ถ้ามองในแง่ดี การติชมก็คือการแสดงให้เห็นจุดอ่อนและสิ่งที่ควรปรับปรุง

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 นั้น การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ (โดยเฉพาะตัวในหลวงที่ทรงอำนาจเป็นรัฐถาธิปัตย์เอง) เป็นเรื่องที่กระทำกันอย่างธรรมดา มิใช่เรื่องคอขาดปาดตายที่ต้องแอบพูดกันที่รโหฐาน การวิพากษ์การทำงานของในหลวงผ่านหนังสือพิมพ์พบได้บ่อย ๆ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วในหลวงท่านไม่ทรงกริ้วหรอ

ร.7 ทรงสรุปประเด็นนี้ได้ใจความชัดเจนว่า "ถ้าเขาพูดจริงมีประโยชน์เราก็ต้องรับฟัง แต่ถ้าพูดไปเรื่อยไม่มีมูล เดี๋ยวคนก็ลืมเอง" หรือเหตุการณ์ โคลนติดล้อ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่สุดท้ายพระองค์ปูมบำเหน็จให้แก่คนที่กล้าวิจารณ์ว่า เพื่อความเจริญของประเทศ เขาเลยกล้าหักกับฉัน นี่ถือว่าเป็นข้าราชการที่ดี ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นความใจกว้างของพระมหากษัตริย์ที่ปกครองด้วยระบอบ Absolute Monarchy

กลับมาดูสังคมไทยในขณะนี้ มิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่จะคิดก็มีเครื่องมือคุณธรรมว่าด้วย "บาปกรรม" และ "จารีต" เป็นเครื่องขวางกั้นไว้

หลายคนยังสับสนว่า ด่าและวิพากษ์วิจารณ์ คือสิ่งเดียวกัน ทว่าจริง ๆ แล้ว สองคำนี้ต่ากันโดยสิ้นเชิง การด่านั้นเป็นใส่ความให้ร้าย เช่นเปรียบคนถูกด่ามีค่าเพียงแค่สัตว์ชนิตต่าง ๆ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์คือการค้นหาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น แล้วนำมาเสนอ

การวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีต้องอยู่บนหลักการอ้างอิงของสากล ตามทฤษฎีต่าง ๆ มิใช่การกล่าวเลื่อนลอยด้วยหลักกู นอกจากนั้นต้องมีการยกเหตุผลประกอบเพื่ออ้างกับตรรกะ ซึ่งต่างจากการด่าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีแนวคิดหรือตรรกะใด ๆ ก็ด่าได้

คนทั่วไปต่างคิดว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ทุกกรณีเป็นการด่า ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนอย่างมาก การวิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นการวิพากษ์ตามหลักของพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลักสากลเป็นธรรมเนียมปฎิบัติทั้งใน ราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฯลฯ

ผมเองเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยเลยกับการ 'ด่า' สถาบันพระมหากษัตริย์ (รวมถึงใครก็ตาม) ด้วยคำแบบสาดเสียเทเสียและหยาบคาย แต่ผมสนับสนุนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเพื่อที่สถาบันจะได้รับรู้จุดอ่อนของตน และปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ ดำรงอยู่ได้โดยไร้ซึ่งข้อครหา

มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับสถาบันที่ควรหยิบมาพูดในที่สาธารณะจำนวนมากเพื่อให้คนไทยทุกคนได้ทราบ ทว่าพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นกลับกลายเป็นดินแดนชายขอบในโลกไซเบอร์ สมมติผมจะพูดเรื่อง การกล่าวพระราชดำรัสสดของในหลวงเป็นเรื่องผิดธรรมเนียมปฎิบัติของพระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (ดูรายละเอียดประกอบได้ที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล.ในพระปรมาภิไธย ประชาธิปไตย ตุลาการ, openbooks,2552.) ผมจะสามารถพูดได้ไหม แล้วถ้าผมพูด คนส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจว่า ผมกำลังหมิ่น จาบจ้วง เพียงเพราะผมไม่ได้พูดถึงสถาบันในเชิงเทิดทูน

สังคมไทยในภาวะ "หมิ่นเบื้องสูง" เกลื่อนสื่อเช่นนี้ หากเราไม่เข้าใจว่า จริง ๆ แล้ว การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริง ๆ นั้นเป็นเช่นไร ก็จะถูกหลอกถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ใครพูดว่า คนนั้นคนนี้หมิ่น ก็พากันเฮไปว่า มันหมิ่นในหลวง เอาเก้าอี้ไปฟาดมันเสีย ทั้ง ๆ ที่กรณีเกือบทั้งหมดคนฟัง ต่างไม่เคยเข้าใจเลยว่าหมิ่นนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ เหมือนกรณีบทสัมภาษณ์ทักษิณใน Time's Online ถ้าใครได้อ่านและเข้าใจหลักของความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะรู้เลยว่า ทักษิณไม่ได้หมิ่นอะไรเลยแม้แต่น้อย ซึ่งน่าสงสารว่า คนที่อ่านแล้วบอกว่าหมิ่นนั้น ไปเจอคำไหน ประโยคใดที่บอกหมิ่น

เรื่องนี้มิใช่เรื่องเล่น ๆ นะครับ เพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลายเป็นเครื่งมือที่ใช้กำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเสมอมา ซึ่งน่าสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า บรรดาผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ถือศิษย์อะไรไปฟ้องร้องด้วยมาตรานี้ เพราะพวกเขาเองมิใช่คนโดนหมิ่นให้เจ็บปวด จากกรณีที่เห็น ๆ กันมา จะว่าเจ็บแทนก็ไม่ใช่

หากคนไทยยังสับสนและมีความรู้ที่คลาดเคลื่อนอยู่เช่นนี้ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแยกคนไทยออกจากกัน เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามต่อไป เหมือนดั่งเช่นที่เคยเกิดเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่มีวันสิ้นสุด




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2552
0 comments
Last Update : 12 ธันวาคม 2552 7:47:08 น.
Counter : 1150 Pageviews.


I will see U in the next life.
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add I will see U in the next life.'s blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.