Group Blog
 
 
กันยายน 2553
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
6 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
หลักศิลปะ ที่ใช้ในการสร้างสรรค์ภาพประกอบ

หลักศิลปะ
ที่ใช้ในการสร้างสรรค์ภาพประกอบ

งานสร้างภาพประกอบ เป็นงานศิลปะประเภทหนึ่งที่กระบวนการสร้างสรรค์ ต้องอาศัยหลักการและทฤษฎีทางศิลปะ จึงจะทำให้งานสร้างสรรค์ภาพประกอบมีคุณค่า ความงาม ความสะเทือนอารมณ์แก่ผู้ดู แม้ว่าจะถ่ายทอดด้วยเทคนิควิธีการใดๆ ก็ตาม
ศิลปินผู้สร้างภาพประกอบ อาจจะเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสนใจในงานศิลปะที่ได้ฝึกทดลองสร้างสรรค์จนเกิดทักษะในการถ่ายทอดความคิดจินตนาการออกมาในตัวบุคคลคนเดียวกันอาจจะเป็นทั้งศิลปิน และนักสร้างสรรค์ภาพประกอบหรืออาจจะเป็นเพียงนักสร้างภาพประกอบมือาชีพก็ได้ อย่างไรก็ตามกระบวนการสร้างสรรค์ในทุกๆ แขนง หลักการและทฤษฎีต่างๆ ที่ใช้ย่อมมีความประสานสัมพันธ์กัน เพียงแต่ว่าการสร้างสรรค์งานในบางประเภท อาจจะเน้นหลักการทฤษฎีบางเรื่องที่จะช่วยส่งเสริมผลงานให้โดดเด่น หลักการและทฤษฎีที่ใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์ภาพประกอบมีดังนี้
1. ส่วนประกอบศิลปะ (Art Elements)
นับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่นักสร้างสรรค์ภาพประกอบควรจะรู้และเข้าใจเพื่อจะใช้เป็นมูลฐานในการสร้างสรรค์งาน ได้แก่
1.1 เส้น (Line) เส้นเป็นสิ่งที่แสดงระยะทาง และแสดงขอบเขตเมื่อปลายของเส้นที่เราลากมาบรรจบกัน เส้นมีหลายลักษณะและแต่ละลักษณะก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป เช่น เส้นตรงให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง เส้นนอนให้ความรู้สึกสงบ ราบเรียบ แสดงพื้นระนาบ เส้นโค้งให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว นุ่มนวล อ่อนหวาน ขณะที่เส้นหยักให้ความรู้สึกรุนแรง เคลื่อนไหวฉับพลัน และเส้นขดให้ความรู้สึกหมุนเวียน วกวน เป็นต้น นอกจากนี้ เส้นยังสามารถแสดงออกถึงบุคลิกภาพลักษณะความแตกต่างของบุคคลและวัตถุต่างๆ ที่ใช้ การใช้เส้นให้ประสานกลมกลืนกันจะช่วยให้แลดูมีระเบียบ แต่การใช้เส้นให้มีทิศทางขัดแย้งกันจะทำให้เกิดความสับสนและความไม่มีระเบียบ ในทำนองเดียวกัน การใช้เส้นโค้งในงานศิลปะหรือการออกแบบโดยให้มีความประสานสัมพันธ์กัน จะช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ความสงบ และอ่อนโยน
ผู้สร้างงานศิลปะทุกๆ แขนง ต้องสามารถนำเอาลักษณะเด่นของเส้นต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์งานจะต้องสามารถเลือกใช้เส้นในโอกาสอันเหมาะสมทจึงจะช่วยส่งเสริมคุณค่าของผลงานทั้งลักษณะวิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ดังเช่นการสร้างสรรค์ภาพประกอบวาดเส้น ศิลปินจะต้องมีทักษะการใช้เส้นสร้างสรรค์ เรื่องราว รูปภาพ และก่อให้เกิดพลังในการสื่อสาร
1.2 รูปร่างและรูปทรง (Shape and Form) รูปร่างและรูปทรงเป็นสิ่งที่เกิดจากการใช้เส้นในรูปแบบต่างๆ ถ้าหากเพียงลากเส้นให้เกิดขอบเขตของภาพมีแต่ความกว้าง ความยาว เราเรียกรูปที่เกิดขึ้นว่า รูปร่าง แต่เมื่อเพิ่มเติมเส้นให้เกิดเป็นรูปทรงปริมาตร หรือมีความหนาเกิดขึ้น เราเรียกว่า รูปทรง รูปร่างจึงมีลักษณะเป็น 2 มิติ ส่วนรูปทรงเป็น 3 มิติ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ภาพประกอบจำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องรูปร่างรูปทรง เพื่อจะใช้ในการสื่อความหมายได้ตรงตามเรื่องราว และบรรยากาศของภาพที่จะให้เกิดขึ้น
รูปร่างรูปทรงจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกได้ ถ้าอยู่ในพื้นที่ ทิศทาง และอง๕ประกอบแวดล้อมแตกต่างกัน เช่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสให้ความรู้สึกคงที่สงบ แต่ถ้าจัดใหรูปร่างนั้นวางเอียงหรือวางตรงมุม ความรู้สึกสมดุล ความสงบก็จะเปลี่ยนไปทันที ในงานศิลปะชิ้นหนึ่งๆ นั้น จะประกอบด้วยรูปร่างรูปทรงที่หลากหลายมาจัดวางเข้าด้วยกันในพื้นภาพ ศิลปินจะต้องแก้ปัญหาขนาดและสัดส่วนของรูปร่าง รูปทรงให้เกิดภาพและความรู้สึกตามที่ต้องการ ในงานสร้างสรรค์ภาพประกอบสิ่งที่ปรากฏในกรอบภาพก็จะมีรูปร่างรูปทรางหลากหลาย ต่างขนาดซึ่งเพิ่มความมีชีวิตชีวาของภาพ
1.3 พื้นผิว (Texture) หมายถึง ลักษณะความแตกต่างที่ปรากฎบนระนาบหรือบนพื้นผิวใดๆ อาจจะเป็นผิวเรียบ หยาบ มัน ขรุขระ พื้นผิวถือเป็นส่วนประกอบศิลปะที่สำคัญที่จะช่วยบอกความแตกต่างของวัตถุ บอกถึงบรรยากาศก่อให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์แก่ผู้พบเห็น ในงานสร้างสรรค์ภาพประกอบจำนวนมากนิยมให้คุณลักษณะของพื้นผิวเน้นเรื่องราวของภาพให้โดดเด่นน่าสนใจ อาจจะกระทำขึ้นด้วยการระบายสี การพิมพ์ การวาดเส้น หรือการปะติดด้วยวัสดุต่างๆ
ในผลงานศิลปะนั้น คำว่าพื้นผิว หมายถึง คุณภาพด้านพื้นผิวที่ศิลปินพิจารณาเลือกสรรใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการระบายสีหรือการแกะสลัก โดยเลือกที่จะสร้างพื้นผิวให้เรียบขรุขระ พื้นผิวธรรมดาหรือแปลกๆ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของศิลปิน ดังเช่น จิตรกรภาพเหมือนเลือกใช้ผ้าใบลินนินเนื้อหยาบหรือละเอียดก็ขึ้นอยู่กับเขามุ่งจะถ่ายทอดภาพเหมือนชิ้นนั้นในแบบเนียนนุ่มตา หรือป้ายสีลงไปตรงๆ แสดงรอยแปรงเพื่อถ่ายทอดพลัง พวกศิลปินกลุ่มนามธรรมหรือกลุ่มที่ค้นคว้าการหาหนทางใหม่ๆ ก็ต้องแสวงหาพื้นผิวใหม่ๆ ที่ช่วยส่งเสริมการแสดงออกตามแนวคิดใหม่ให้พัฒนารุดหน้าไป
นอกจากนี้จิตรกรอาจหาทางสร้างพื้นผิวโดยการนำวัสดุต่างๆ มาใช้ในการสร้างพื้นผิวแบบพิเศษ เช่น ทราย ผงหินอ่อน กรวดเม็ดเล็กๆ มาตกแต่งเพิ่มเติมขึ้น นอกเหนือจากการระบายด้วยสีน้ำมัน บางครั้งก็เติมซีเมนต์ลงในเนื้อสีที่ใช้ระบายทำให้เกิดพื้นผิวของภาพแปลกออกไป และเร้าอารมณ์ความรู้สึกจากการสัมผัสทัศนศิลป์นั้น
1.4 สี (Color) สีเกิดจากแสงที่ส่องกระทบผิววัตถุ และสะท้อนแสงค่าของสีอกมาสู่สายตา สีที่ปรากฏในวงจรสีธรรมชาติมีมากมายหลายสี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีฟ้า สีม่วง สีแสด สีดำ ฯลฯ สีต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้งานสร้างสรรค์ศิลปะมีความน่าสนใจ และยังบอกเรื่องราวของปรากฏการณ์ วัตถุ ได้ใกล้เคียงความเป็นจริง นักสร้างสรรค์ภาพประกอบต้องมีความรอบรู้เรื่องสีซึ่งมีผู้คิดค้นไว้หลายทฤษฎีประเภทของสี ทั้งนี้เพื่อจะสามารถใช้สีในการสร้างสรรค์งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความหมาย และเสริมสร้างความเข้าใจแก่ผู้ชมภาพ
สำหรับทฤษฎีสีที่ถูกนำมาอ้างอิงในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคือ ทฤษฎีสีของหลุยส์ แพรง (Louis Prang) มิลตัน แบรดลีย์ (Milton Bradley) อาร์เธอร์ โปป (Arther Pope) เฮอร์เบิร์ต อี.อีฟส์ (Herbert E.lves) ซึ่งบุคคลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นนักค้นคว้าด้านศิลปะที่มีชื่อเสียง ส่วนสาระเด่นของทฤษฎีสีของแพรงและคณะที่กล่าวมานี้ แบ่งวงสีออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งมีความแตกต่างกันคือ ทฤษฎีสีบนพื้นฐานของเนื้อสี 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน เมื่อจับคู่ผสมกันก็จะได้สีแท้อื่นๆ เพิ่มขึ้น และถ้านำสีพื้นฐานทั้ง 3 สีผสมกันก็จะได้สีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม
ทฤษฎีบนพื้นฐานสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน นับว่าเป็นที่นิยมมากในยุโรป ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สีแดง เหลือง น้ำเงิน ในวงสีเรียกว่า สีหลักหรือสีขั้นที่หนึ่ง (Primary Colors) ซึ่งเชื่อกันว่าสีเหล่านี้ไม่สามารถผสมจากสีอื่นได้ แต่เมื่อนำสีคู่ใดคู่หนึ่งของสีหลักผสมกันก็จะได้สีขั้นที่สอง (Secondary Colors) คือสีเหลือง ผสมกับสีน้ำเงิน เกิดเป็นสีเขียว สีเหลืองผสมสีแดง เกิดเป็นสีส้ม สีแดงผสมกับสีน้ำเงินเกิดเป็นสีม่วง และถ้าผสมสีขั้นที่หนึ่งและสอง ซึ่งอยู่ใกล้กันในวงสีก็จะได้สีขั้นที่สาม (Tertiaries) คือ สีเหลืองส้ม ส้มแดง ม่วงแดง ม่วงน้ำเงิน น้ำเงินเขียว เขียวเหลือง
อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของสีในวงสี เราเรียกว่า ความกลมกลืนของสี (Color Harmomy) ซึ่งเป็นการใช้สีตั้งแต่ 2 สีขึ้นไปให้กลมกลืนกันส่วนสีกลมกลืนเอกรงค์ (Monochromatic Harmony) เป็นการใช้สีเพียงสีใดสีหนึ่งซึ่งมีน้ำหนักอ่อนแก่หลายน้ำหนักให้กลมกลืนกัน สีกลมกลืนคล้ายกัน (Analogous Harmony) เกิดจากสีที่อยู่ใกล้เคียงในวงสี เช่นกลุ่มสีส้ม สีเหลืองส้ม และสีเหลืองเป็นต้น สีกลมกลืนสามเส้า (Triad Harmony) เป็นการใช้สี 3 สีจากวงสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีสามเส้าของสีขั้นที่หนึ่ง สีขั้นที่สอง และสีขั้นที่สาม นำมาใช้ร่วมกันนอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับสีตัดกันและกลมกลืนกันอีกมากมายหลายแนวคิดซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับนักออกแบบหรือศิลปินตลอดมา
สำหรับคุณสมบัติของสี (Color Property) ทฤษฎีหลายทฤษฎีได้แบ่งคุณสมบัติของสีไว้ 3 ลักษณะคือ สีแท้ (Hue) น้ำหนักสี (Value) และความเข้มของสี (Intensity)
สีแท้ คือ สีเด่นหรือสีบริสุทธิ์สีใดสีหนึ่ง ซึ่งยังมิได้ผสมให้เกิดค่าสีต่างออกไป สีแดงแท้ หมายถึงสีแดงบริสุทธิ์ที่ปราศจากสีดำ สีขาว หรือสีอื่นใด และเป็นพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดคุณสมบัติอื่นๆ ตามมา
น้ำหนักสี น้ำหนักสีคือ สีซึ่งสัมพันธ์กับความเบา – หนัก หรืออ่อน – แก่ (Lightness or Darkness) ของสีใดสีหนึ่ง น้ำหนักสีมีความสัมพันธ์กับระดับสีเทา (Gray Scale) ซึ่งไล่น้ำหนักจากสีขาวไปสู่สีดำหลายน้ำหนัก อาจเป็น 5, 7 หรือ 9 น้ำหนัก (หรือนับด้วยสิบหรือร้อยน้ำหนักก็ได้) ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องสี เช่นนักออกแบบหรือจิตรกร เมื่อเห็นสีแท้สีใดสีหนึ่ง ย่อมมองเห็นน้ำหนักสีของสีแท้นั้นไปพร้อมกัน น้ำหนักสีซึ่งเบากว่าน้ำหนักสีปกติ เรียกว่า สีค่าอ่อน (Tint) สีซึ่งมีน้ำหนักสีหนักกว่าน้ำหนักสีปกติของสีนั้นเรียกว่า สีค่าแก่ (Shade)
ความเข้มของสี ความเข้มของสี (Intensity) มีความหมายคล้ายกับค่าสี (Chroma) หรือสภาพอิ่มตัวของสี (Saturation) ซึ่งเป็นสภาพบริสุทธิ์ของสีแต่ละสี เป็นสีทีไม่มีค่าของสีเทาเจือปน ถ้ามีค่าสีเทาเจือปนอยู่ก็ถือว่าเป็นสีที่มีความเข้มต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าสีเทาหรือสีเทากลาง (Neutral Gray) ที่เกิดจากการผสมกับสีตรงข้ามผสมกับ สีเทา สีขาวหรือสีดำ และสีความเข้มต่ำเหล่านี้เรียกว่า สีคล้ำ (Tone) ซึ่งถ้าหากพิจารณาสีที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น สีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้ม สีเนื้อ (Tan) ล้วนเป็นสีที่มีความเข้มต่ำ
ดังนั้นเมื่อศิลปินหรือนักออกแบบสร้างสรรค์งานจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสี ซึ่งเป็นสื่อในการแสดงออก คุณภาพของสี เช่น คุณภาพดูดซับแสง เช่น สีน้ำมัน และสีอะครีลิค ตลอดจนประสบการณ์เกี่ยวกับสีเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้โดยตรง
จิตวิทยาเกี่ยวกับสีก็เป็นเรื่องที่ควรศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะศิลปินด้านทัศนศิลป์และประยุกต์ศิลป์ เพราะสีแต่ละสีมีพลังปลุกเร้าการตอบสนองของอารมณ์อกจากคุณภาพด้านอื่นๆ แล้ว ยังมีอุณหภูมิเชิงจิตวิทยาอยู่ในตัวของมัน เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง ให้ความรู้สึกอุ่น และสัมพันธ์กับแสงอาทิตย์ หรือไฟ สีน้ำเงินหรือสีเขียว สัมพันธ์กับป่า น้ำ ท้องฟ้า และให้ความรู้สึกเย็น เป็นต้น นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ ย่อมต้องเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับสี ความสัมพันธ์ระหว่างสีกับปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ และนำประโยชน์จากการเรียนรู้และประสบการณ์ไปสร้างสรรค์งานศิลปะหรืองานออกแบบ สีจึงเปรียบประดุจองค์ประกอบหลักที่สามารถควบคุมและเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบอื่น ทั้งนี้เพราะสีมีส่วนเกี่ยวพันกับองค์ประกอบทุกอย่างที่ประกอบเป็นภาพ และมีอิทธิพลเหนือจิตใจ และก่อให้เกิดความรู้สึกในด้านต่างๆ ได้ การใช้สีอาจใช้สี ๆ เดียวหรือหลายสี สีทุกสีจึงมีความหมายและมีสัญลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งจะให้ความรู้สึกทางด้านที่ดีและไม่ดีไปตามลักษณะของสี ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรมของแต่ละสังคมด้วย เช่น สีแดง สำหรับชาวตะวันออกเป็นสีแห่งความสุขสมบูรณ์ สัญลักษณ์ของชีวิตและแสดงถึงความปิติยินดี ร่าเริง แต่ในประเทศทางตะวันตก สีแดงกลับมีความหมายไปในทางตรงกันข้ามกับชาวตะวันออก คือ มีความรู้สึกว่าเป็นสีที่แสดงถึงความไม่ปลอดภัย น่ากลัว และมักจะมีความหมายไปในทำนองก่อกวนอารมณ์ เป็นต้น ในการสร้างสรรค์งานภาพประกอบศิลปินที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสีเป็นอย่างดี ย่อมสร้างสรรค์บรรยากาศของภาพวาดได้อย่างสมจริงสมจัง ตอบสนองอารมณ์ของผู้อ่าน
1.5 แสงและเงา (Light & Shade) แสงและเงา คือค่าความเข้มของแสง เมื่อแสงกระทบวัตถุ ส่วนที่รับแสงจะมีความสว่าง ส่วนด้านตรงข้ามที่แสงส่องจะเป็นเงาค่าของแสงและเงาช่วยให้การรับร็ของวัตถุ เกิดมิติ ตื้นลึก ในงานจิตรกรรมแสงและเงาเกิดจากการระบายน้ำหนักอ่อนแก่ของสี ส่วนงานประติมากรรมและสถาปัตยกรรมนั้น ค่าแสงเงาเกิดจากการที่แสงไปกระทบพื้นผิวประติมากรรม หรือสถาปัตยกรรม การสร้างสรรค์ศิลปะในแขนงอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงค่าของแสงและเงาด้วย เช่น การสร้างฉากละคร การสร้างภาพยนตร์ การสร้าศิลปะสมัยใหม่ รวมทั้งการใช้แสงและเงาในงานประยุกต์ศิลป์อื่นๆ แสงและเงามีผลต่อความรู้สึกและการรับรู้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจำเป็นต้องศึกษา ทั้งในด้านความงามในธรรมชาติ และในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ปริมาณและช นิดของแสงที่ตกลงกระทบบนวัตถุ จะก่อให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป เช่น แสงยามเย็นที่พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า จะทำให้รู้สึกหม่นหมอง สงบเงียบ แต่แสงยามรุ่งอรุณที่เริ่มทอแสงทองสว่างก็จะทำให้รู้สึกสดชื่น มีพลังแห่งความหวัง

หลักการใช้แสงและเงา แบ่งค่าออกเป็น 6 ค่า ดังนี้
1. แสงสว่างที่สุด (High Light) เป็นส่วนของวัตถุที่กระทบแสงโดยตรงจึงทำให้บริเวณที่มีแสงสว่างที่สุด มีลักษณะมันวาว ในการวาดเส้นแรเงาบริเวณนี้ จะมีน้ำหนักอ่อนที่สุด ซึ่งอาจทำขึ้นได้โดยใช้วิธีลบด้วยยางลบ
2. แสงสว่าง (Light) เป็นส่วนของวัตถุที่ไม่ได้ปะทะแสงโดยตรง แต่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากแสงนั้น ในการแรเงาน้ำหนักบริเวณนี้จะต้องทำให้น้ำหนักอ่อนจาง แต่ก็ยังมีน้ำหนักแก่บริเวณที่เป็นแสงสว่างที่สุดเล็กน้อย
3. เงา (Shadow) เป็นส่วนของวัตถุที่ได้รับอิทธิพลของแสงเพียงเล็กน้อยการแรเงาน้ำหนักนี้จะต้องให่มีน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสว่างพอสมควร
4. เงามืด (Core of Shadow) เป็นส่วนของวัตถุที่ไม่มีอิทธิพลของแสงเลย จึงเป็นบริเวณที่จะต้องแรน้ำหนักเข้มที่สุด ยิ่งกว่าส่วนอื่นๆ ทั้งหมด
5. แสงสะท้อน (Reflected Light) เป็นส่วนของวัตถุที่ไม่ได้กระทบแสงโดยตรง แต่เป็นบริเวณที่กระทบแสงสะท้อนจากวัตถุอื่นที่อยู่ใกล้ ๆ นั้น น้ำหนักบริเวณนี้จะอ่อนกว่าบริเวณเงามืด ค่าของแสงสะท้อนจะให้ความรู้สึกเหมือนจริง และมีอากาศอยู่โดยรอบ
6. เงาตกทอด (Cast Shadow) เป็นบริเวณที่เป็นเงาของวัตถุชิ้นนั้นทอดไปตามพื้นที่รองรับ ซึ่งมีน้ำหนักแก่กว่าบริเวณที่เป็นแสงสะท้อน ขนาดและรูปร่างของเงาตกทอดจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับรูปร่างของวัตถุ ตำแหน่งและต้นกำเนิดแสงทำมุมกับพื้นระนาบ ประมาณ 45 องศา
อย่างไรก็ตามในการวาดภาพภาพๆ หนึ่งย่อมประกอบด้วยรูปทรงหลากหลายลักษณะพื้นผิวต่างๆ ดังนั้นการแรเงาจะต้องบูรณาการวิธีการแรน้ำหนักหลายวิธีด้วยกัน เพื่อความเหมาะสมและความสมบูรณ์ของงาน ส่วนการแรเงาในลักษณะแสงและเงากลมกลืนกัน โดยปกติการเกลี่ยระยะน้ำหนักแสงเงาสามารถแบ่งระยะน้ำหนัก อ่อนแก่ ได้ 7 – 9 ระยะน้ำหนัก นับจากระยะขาวสุดจนถึงเข้มสุด การแรเงาในภาพโดยวิธีการเกลี่ยน้ำหนักให้เกิดความกลมกลืน จึงทำให้ได้ภาพที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด แต่การแรเงาในลักษณะแสงและเงาตัดกัน วิธีดังกล่าวจะแสดงถึงการใช้แสงเงาอย่างเด่นชัด ดังนั้นภาพที่ได้จึงให้แสงจัดเงาเข้ม
งานสร้างภาพประกอบที่รู้จักใช้แสง และเงา จะช่วยให้ภาพดูมีชีวิตชีวามีบรรยากาศของภาพตามเจตนารมณ์ของศิลปินผู้สร้างสรรค์ ทั้งนี้เพราะภาพที่สร้างสรรค์ขึ้นมาดูไม่จืดชืด หรือให้เกิดความรู้สึกแบนเรียบจนเกินไป
1.6 บริเวณว่าง (Space) คือพื้นที่ปรากฏ และยังรวมไปถึงมิติหรือความตื้นลึกของสิ่งที่ปรากฎในความรู้สึกทางการเห็นในงานทัศนศิลป์ มีบริเวณว่าง 2 มิติ และบริเวณว่างที่เป็นจริงแบบ 3 มิติ ที่สามารถสัมผัสความตื้นลึกได้เช่น บริเวณว่างของประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผา สถาปัตยกรรม ส่วนบริเวณว่าง 2 มิติ คือความกว้างและความยาว แต่อาจจะมีมิติที่ 3 ซึ่งเป็นมิติลวงตา ศิลปินที่มีความสามารถจะใช้บริเวณว่างเสริมคุณค่าการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ ทั้งด้านเนื้อที่ใช้สอยและความงาม
2. หลักศิลปะ (Principles of Art)
หลักการของศิลปะ คือ การนำเอาส่วนประกอบของศิลปะมาประสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ผลงานที่มีเอกภาพและความงามตามต้องการ ซึ่งจะช่วยเสริมคุณค่าทางสุนทรียะให้กับงานศิลปะนั้นๆ หลักการศิลปะที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์ภาพประกอบได้แก่
2.1 ความสมดุล (Balance)
ความสมดุลหรือดุลยภาพ คือความสมดุลของส่วนประกอบต่างๆ ในการจัดองค์ประกอบศิลปะ ผลงานที่ขาดความสมดุลนั้นอาจทำให้ดูขัดตา และขาดความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างเช่น การจัดองค์ประกอบโดยจัดรูปร่างที่สะดุดตาให้รวมกลุ่มกันอยู่ข้างหนึ่ง อาจทำให้น้ำหนักของภาพเอียง นอกจากว่าอีกด้านหนึ่งจะมีบริเวณว่างหรือเส้น หรือสีที่น่าสนใจถ่วงดุลเอาไว้ได้ เส้นที่ส่อทิศทางในองศาต่างๆ การจัดวางหรือเลือกตำแหน่งที่ได้ดุลยภาพรวมทั้งความเข้มข้นของสี การจัดแบ่งเนื้อที่เพื่อจัดวางจุดเด่น จุดด้อยเหล่านี้ ล้วนช่วยให้เกิดความสมดุลทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามลักษณะความสมดุลมิจำเป็นต้องเป็นลักษณะซ้าย – ขวา เท่ากันตลอดไป อาจจะจัดองค์ประกอบความสมดุลแบบ ว้าย – ขวา ไม่เท่ากันก็ได้ และสมดุลอีกลักษณะห นึ่ง คือ ความสมดุลแบบรัศมีของวงกลม
2.2 การเน้น (Emphasis)
การเน้น คือการนำเอาส่วนประกอบศิลปะมาประกอบเข้าด้วยกัน และเน้นให้เห็นความแตกต่างระหว่างส่วนประกอบเหล่านั้น เพื่อให้เกิดจุดเด่นหรือจุดสนใจ การเน้นกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในภาพ เช่น ภาพที่จัดวางให้รูปร่างรูปทรงที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน หรือขนาดเท่าๆ กัน เมื่อทำให้เกิดการเน้นภาพ ก็อาจจะสร้างรูปทรงขนาดใหญ่กว่าปกติแทรกขึ้นระหว่างรูปทรงที่มีขนาดเท่าๆ กันนั้น หรือการระบายสีเข้มตัดกับโทนสีส่วนใหญ่เป็นต้น
2.3 ความกลมกลืน (Harmony)
ความกลมกลืน หมายถึง วิธีการนำเอาส่วนประกอบศิลปะมาผสมผสานกันในลักษณะที่คล้ายคลึง สอดคล้อง และเชื่อมโยงทุกส่วนมาเป็นส่วนเดียวกันทั้งภาพ โดยหลีกเลี่ยงการจัดภาพแบบขัดแย้งหรือตัดกัน ตัวอย่างเช่น การจัดวางโครงสีในภาพ โดยใช้สีใกล้เคียงกันในวงจรสี หรือการสร้างภาพที่มีรูปร่างรูปทรงเหมือนๆ กัน
2.4 ความหลากหลาย (Variety)
ความหลากหลายคือ การนำเอาส่วนประกอบของศิลปะมาสร้างภาพ โดยไม่จำเป็นต้องให้เกิดความประสานกลมกลืน แต่กลับทำให้ภาพมีความสลับซับซ้อนในการจัดวาง การสร้างความขัดแย้งขึ้นในภาพด้วยเส้น รูปร่าง รูปทรง สี ขนาด และพื้นผิว เป็นต้น ความหลากหลายนี้ทำให้ภาพเกิดความน่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ค้นหาเรื่องราวและความหมาย
2.5 ความลดหลั่น (Gradation)
ความลดหลั่น หมายถึง ค่าระดับของสีแก่ สีอ่อน ที่บดหลั่นกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นระดับสีเทา ที่เข้มจากแก่ไปหาอ่อน หรืออีกลักษณะหนึ่งคือการเกลี่ยสีสองสีที่ระบายอยู่เคียงข้างกัน ซึ่งอาจมีสีต่างกันหรือระดับแก่อ่อนต่างกันให้กลืนเข้าหากัน โดยไม่มีรอยต่อให้เห็นเด่นชัด สีน้ำมันและสีพาสเทลเป็นสีที่สามารถเกลี่ยได้ในลักษณะนี้ แต่สีประเภทสีฝุ่น สีน้ำทึบ และสีประเภทพอลิเมอร์ ไม่สามารถเกลี่ยให้สีกลืนเข้าหากันเช่นนี้ได้ สีน้ำเมื่อระบายสองสีในลักษณะโปร่งใด และใช้สองสีไหลเข้าหากันขณะเปียกก็พอจะนับได้ว่าเป็นการเกลี่ยสีเช่นกัน
2.6 จังหวะ (Rhythm)
จังหวะ คือการซ้ำกันของส่วนประกอบศิลปะ เช่น การซ้ำกันของเส้น รูปร่าง รูปทรง สี ฯลฯ โดยการซ้ำกันนี้มีทิศทางไปในทางเดียวกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหว เป็นวิธีการที่ศิลปินและนักออกแบบนิยมใช้กัน เมื่อต้องการให้ผลงานรู้สึกมีความเคลื่อนไหว จังหวะในการงานทัศนศิลป์ถ้าเทียบได้ก็คงคล้ายคลึงกับจังหวะในเสียงดนตรี ทีอาจจะเป็นจังหวะช้า เร็ว หรือจังหวะที่ผสมผสานระหว่างช้า – เร็ว ทำให้เสียงดนตรีมีความไพเราะ
2.7 สัดส่วน (Proportion)
สัดส่วนในหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ หมายถึง ความสัมพันธ์เชิงคณิตศาสตร์ของส่วนต่างๆ ที่มีต่อกันและกัน และมีต่อสัดส่วนโดยรวม ที่จริงแล้วคำนี้มีความเหมายเฉพาะความสัมพันธ์เชิงคณิตศาสตร์ และเรขาคณิตของส่วนต่างๆ บนร่างกายมนุษย์ และอัตราส่วนของแต่ละส่วนหรือแต่ละหน่วยที่มีต่อส่วนอื่นๆ หรือส่วนรวมทั้งหมดของรูปทรงหรือมวลทฤษฎีสัดส่วนที่รู้จักกันดีได้แก่ หลักโกลเดนมีน (Golden Mean or Golden Section) ระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยามีหนังสือตำราชื่อ De Divina proportion (ค.ศ. 1509) ซึ่งเขียนโดย ลูคา ปาชิโอลิ และวาดภาพประกอบโดยลีโอนาโด ดาวินชิ เรียกสัดส่วนแบบโกลเดนมีนนี้ว่า “สัดส่วนจากเทพเจ้า”
2.8 เอกภาพ (Unity)
เอกภาพ คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของเนื้อหาและรูปทรง โดยอาศัยส่วนประกอบของศิลปะที่มาจัดวางประสานสัมพันธ์กัน ความเป็นเอกภาพในงานศิลปะ ช่วยให้งานโดดเด่นมีคุณค่า ซึ่งศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจในความเป็นเอกภาพ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
2.8.1 การจัดองค์ประกอบแบบเดี่ยว เป็นการจัดที่มีเรื่องราวรูปทรงเพียงอย่างเดียว การจัดองค์ประกอบจึงมักอยู่กลางภาพ ซึ่งจะเห็นได้ทั่วไป เช่น ภาพประกอบที่เน้นความสำคัญของตัวละคร และนำจัดวางในส่วนกลางภาพให้เห็นเด่นชัด สื่อความหมายได้ทันที
2.8.2 การจัดองค์ประกอบแบบคู่ เป็นการจัดองค์ประกอบของสองสิ่ง ซึ่งอาจจะมีขนาดเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ การจัดองค์ประกอบแบบนี้เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพ จึงควรจัดวางให้เหลื่อมล้ำกัน ซึ่งจะทำให้มีส่วนเด่นและส่วนรองการจัดองค์ประกอบแบบคู่นี้ ช่วยให้ภาพประกอบมีมุมมองที่แตกต่างจากการจัดองค์ประกอบแบบเดี่ยว และยังสามารถทำให้เกิดระยะ หรือความตื้นลึกเกิดขึ้นในภาพได้
2.8.3 การจัดองค์ประกอบแบบกลุ่ม เป็นการจัดองค์ประกอบของหลายๆ สิ่งซึ่งองค์ประกอบเหล่านั้น อาจมีขนาดรูปร่าง รูปทรงที่ต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง การจัดองค์ประกอบจากสิ่งที่หลากหลายนี้ จะต้องสร้างความสัมพันธ์ของรูปร่าง รูปทรงให้มีความเป็นเอกภาพด้วยเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงภาพที่ปรากฏต้องแสดงเรื่องราวที่น่าสนใจ แสดงระยะ ซึ่งอาจเกิดจากขนาดหรือการใช้แสงและเงา
ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจในการจัดภาพให้มีเอกภาพแบบต่างๆ จะช่วยให้ภาพที่สร้างสรรค์ขึ้น ดูน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ

ขั้นตอนการสร้างภาพประกอบ
การสร้างภาพประกอบหนังสือและสิ่งพิมพ์ ก่อนอื่นศิลปินผู้สร้างสรรค์ภาพจะต้องทำความเข้าใจถึงประเภทของสิ่งพิมพ์ว่าเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทใด เพื่อจะกำหนดลักษณะงานภาพประกอบได้อย่างเหมาะสม ทั้งรูปแบบและเทคนิคการนำเสนอ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตภาพประกอบด้วย สำหรับขั้นตอนการสร้างภาพประกอบ มีขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาเรื่องราวหรือเนื้อหาของหนังสือ
2. การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างภาพประกอบ
3. วิธีสร้างสรรค์ภาพประกอบ
1. ศึกษาเรื่องราวหรือเนื้อหาของหนังสือ
เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างภาพประกอบ ซึ่งศิลปินจะต้องทำความเข้าใจ ในเนื้อหาของหนังสือ ก่อนที่จะลงมือสร้างภาพประกอบ หรือถ้าหากมีโอกาสพบปะกับผู้เขียนก่อน เพื่อขอทราบข้อมูลบางประการเกี่ยวกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน การอ่านเรื่องอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะช่วยให้การทำงานของศิลปินง่ายขึ้นเพราะจะเข้าใจเรื่องราวเนื้อหา ทำให้สามารถคัดเลือกเนื้อหาที่นำมาสร้างภาพประกอบขณะเดียวกันการอ่านจะช่วยให้ศิลปินเกิดจินตนาการภาพตามเรื่องราว ซึ่งจะนำไปสู้การสร้างสรรค์ภาพได้อย่างสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง และยังจะช่วยให้เกิดความคิดรวบยอด (Concept) ในการเลือกเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพไปด้วย เพราะการอ่านงานเขียน นอกจากศิลปินจะสามารถจับประเด็นหรือเรื่องราวได้แล้ว ยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งจะเป็นตัวชี้ทางเลือกว่าจะใช้เทคนิคการสร้างสรรค์แบบใด โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ภาพประกอบหนังสือ นวนิยาย เรื่องสั้น บทความ และภาพประกอบงานวรรณกรรมต่างๆ จำเป็นที่ศิลปินต้องอ่านงานเขียนจนถึงขั้นรับรู้ทางอารมณ์ จะมีผลต่อการสร้างงานภาพประกอบที่มีคุณภาพ ส่วนหนังสือทางวิชาที่ต้องการความถูกต้องตามความเป็นจริง ผู้สร้างภาพประกอบก็ต้องยึดวัตถุประสงค์ของเนื้อหาสาระ นั่นคือต้องถ่ายทอดภาพออกมาให้มีความสมจริงถูกต้องตามขนาด สัดส่วน ตลอดจนสีสัน
2. การเลือกใช้วัสดุสำหรับสร้างสรรค์ภาพประกอบ
วัสดุที่ใช้ในการสร้างสรรค์งานภาพประกอบ มีมากมายหลายชนิด เพื่อสำหรับศิลปินแลผู้สร้างสรรค์ได้เลือกใช้ตามความถนัด สอดคล้องกับเทคนิคการสร้างสรรค์ ที่จะสามารถสร้างเรื่องราวและอารมณ์ของภาพประกอบให้เป็นตามเจตนาวัสดุและอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการสร้างภาพประกอบมีดังนี้
2.1 ดินสอดำ (Graphite Pencil) ดินสอดำเป็นอุปกรณ์ที่รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่นิยมใช้ในการเขียนหนังสือและวาดภาพ ภาพที่เกิดจากการเขียนด้วยดินสอดำ อาจจะเป็นลักษณะลายเส้นหรือภาพวาดแรเงาลงน้ำหนักอ่อนแก่ ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจแก่ผู้พบเห็น
ดินสอดำมีหลายเกรด เช่น 6B, 4B, HB, H, EE และดินสอถ่านเป็นต้น
2.2 ดินสอคาร์บอน (Carbon Pencil) ดินสอคาร์บอน หรือดินสอถ่านเป็นดินสอสำหรับวาดเขียนอีกชนิดหนึ่ง เป็นวัสดุเก่าแก่ที่ใช้เขียนมาตั้งแต่สมัยโบราณมีความเปราะ แต่บางชนิดเนื้ออ่อน บางชนิดแข็งมากเกินไปไม่เหมาะกับการใช้บนกระดาษบางและอ่อน ซึ่งมีวิธีใช้เช่นเดียวกับดินสอธรรมดาทั่วๆ ไป
2.3 ถ่านชาร์โคล (Charcoal Pencil) ถ่านชาร์โคลมีขนาดต่างๆ กันตั้งแต่อ่อนจนถึงเข้ม และชนิดที่เป็นแท่งถ่านสี่เหลี่ยมทีเรียกกันว่า “คอนเตเกรยอง” ไม้ถ่านมีเนื้อละเอียดแน่นน้ำหนักเบาทำจากต้นองุ่น ซึ่งเผาขึ้นตามกรรมวิธีการผลิตของผู้ทำ ถ่านชาร์โคลมีสภาพคล้ายกิ่งไม้เล็กๆ ลักษณะกลม เนื้ออ่อนนุ่ม เวลาขีดเขียนเป็นสีดำ นอกจากนี้ยังมีถ่านชาร์โคลชนิดอื่นๆ อีก เช่น ชนิดครึ่งวงกลม ชนิดแบบหนา ชนิดแท่งสี่เกลี่ยม เพื่อตอบสอนงความต้องการของผู้ใช้
2.4 สีชอล์ก (Chalk Color) สีชอล์กเป็นวัสดุการวาดภาพชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นแท่งกลม ขนาดจับสะดวกมือ เวลาขีดเขียนหรือระบายสีให้ความรู้สึกคล่องแคล่ว สามารถใช้เป็นสื่อถ่ายทอดเรื่องราวจินตนาการได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับการถ่ายทอดในลักษณะการแสดงออกทางอารมณ์ (Expression)
2.5 หมึก (Ink) หมึกมีหลายประเภท ทั้งหมึกเขียนหนังสือและหมึกสีสำหรับงานออกแบบ และงานสร้างสรรค์ต่างๆ หมึกสีมีให้เลือกใช้หลายสี นิยมใช่พู่กันระบายเป็นรูปภาพบนกระดาษวาดเขียน นอกจากนี้หมึกยังใช้น้ำช่วยระบายให้เกิดน้ำหนักอ่อนแก่ได้
2.6 ปากกา (Pen) ปากกาที่ใช้เขียนภาพ มีทั้งปากกาที่ใช้จุ่มหมึกมีแบบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เช่นปากกาแหลม ปากตัดเล็ก ปากตัดใหญ่ ฯลฯ วิธีใช้จะต้องจุ่มหมึก ก่อนแล้วจึงเขียนได้ ส่วนปากกาหมึกซึม สามารถใช้เขียนต่อเนื่องกันไปตลอดจนกระทั้งหมึกหมด ปากกาเคมีต่างๆ เป็นเครื่องเขียนสำเร็จรูปเหมาะกับการ สเก็ตช์ภาพ วาดภาพลายเส้น
2.7 สีน้ำ (Water Colors) สีน้ำเป็นสีที่ทำจากวัตถุธาตุ เวลาระบายสีใช้น้ำเป็นตัวละลาย คุณสมบัติของสีน้ำโปร่งใส และจะไหลชุ่มขณะระบาย สามารถใช้พู่กันระบายให้เกิดภาพ และน้ำหนักของแสงเงาได้ สีน้ำมีให้เลือกทั้งแบบบรรจุหลอด และแบบบรรจุตลับ มีมากมายหลายสี สะดวกในการใช้งานวาดภาพ สีน้ำเป็นสื่อที่ใช้กันมาตลอดยุคกลางในทวีปยุโรป โดยใช้ระบายในหนังสือเลขาวิจิตร แต่จะใช้กันน้อยมากในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16, 17 และ 18 นอกเสียจากในผลงานจิตรกรรม จิตรกรสีน้ำของจีนและญี่ปุ่นใช้สีน้ำระบายลงสิ่งทอที่สวยงามมีค่า เช่นผ้าไหมพอๆ กับที่ใช้ระบายลงบนกระดาษเยื่อไม้หรือเยื่อจากต้นข้าว
กลวิธีสร้างสรรค์ภาพสีน้ำโปร่งใสสมัยใหม่นั้น พัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษระหว่างช่วงปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในระยะต้นๆ ของช่วงนี้ ภาพสีน้ำจะวาดในลักษณะภาพวาดสีเอกรงค์ สีซีเปีย หรือสีฟ้า ซึ่งใช้ปากกา วาดเส้นควบคู่ไปกับการใช้พู่กันระบายภายหลังต่อมากลวิธีที่ระบายสีน้ำแบบอสิระได้รับความนิยมแทนที่กลวิธีนี้ ปัจจุบันนิยมใช้สีน้ำในการระบายบริเวณกว้างๆ มากกว่า
จิตรกรสีน้ำสมัยใหม่มักเป็นจิตรกรชาวอังกฤษและอเมริกันเป็นส่วนใหญ่จิตรกรสีน้ำชางอเมริกันที่มีชื่อเสียงได้แก่ วินสโลวื โฮเมอร์ (ค.ศ. 1836 – 1910) จอห์น มาริน (ค.ศ. 1872 – 1953) เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (ค.ศ. 1882 – 1967) ชาร์ล เดอมุธ (ค.ศ. 1883 – 1935) และชาร์ล เพิร์ชฟิลด์ (ค.ศ. 1893 – 1967) (ไมเยอร์, รา,ฟ. 1540 : 991 – 992) และในบรรดาจิตรกรสีน้ำดังกล่าวนี้ หลายคนก็มีผลงานวาดภาพประกอบที่งดงาม เช่น วินสโลว์ โฮเมอร์
2.8 สีโปสเตอร์ (Poster Colors) คือสีที่มีคุณสมบัติทึบแสง ราคาถูกทำจากสีผสม ส่วนประกอบตัวผสานเนื้อที่ละลายน้ำได้ เช่น กาวหรือยางไม้ ขายในรูปบรรจุขวด เหมาะสมที่จะใช้ในงานระบายที่ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากหรืองานทีไม่ต้องการผลงานที่ประณีตนัก เช่น การระบายสีในงานทำใบปิด (โปสเตอร์) งานออกแบบที่ระบายสีแบนๆ งานระบายสีของเด็ก บางทีก็เรียกว่าสีสำหรับระบายแผ่นโฆษณา (Show Card)
2.9 สีอะครีลิค (Acrylic Colors) เป็นสีสำหรับใช้ในงานศิลปะ มีส่วนผสมของอะคริลิคกับยาง บางชนิดที่พ่นลงผสมกับน้ำ สีอะครีลิคจะไม่เปลี่ยนสีคล้ำลงมีคุณสมบัติแห้งเร็ว ล้างออกได้ง่ายโดยการใช้หัวน้ำมันแร่ หรือน้ำมันสน สีอะครีลิค ผลิตขายในรูปของหลอดภายใต้ชื่อการค้าว่าสีแมกนา (ภาพที่ 4.37)
2.10 กระดาษ (Paper) เป็นใยหรือปุยของพืชที่โยงใยสอดประสานกันเป็นแผ่น ใช้เป็นพื้นรองรับควบคู่ไปกับการทำหน้าที่เป็นพื้นระนาบ ให้กับงานวาดเขียน ระบายสีน้ำ สีพาสเทลหรือกลวิธีอื่นๆ ในงานเขียนหรือวาด กระดาษที่ใช้ในงานวิจิตรศิลป์จะทำจากใยของผ้าลินินและฝ้าย กระดาษที่มีคุณภาพต่ำจะทำมาจากใยไม้และส่วนผสมของใยผ้ากับใยไม้ กระดาษที่ใช้สำหรับสีน้ำที่มีคุณภาพต่ำจะทำมาจากใยไม้และส่วนผสมของใยผ้ากับใยไม้ กระดาษที่ใช้สำหรับสีน้ำที่มีคุณภาพดีที่สุด จะทำด้วยมือ (ภาพที่ 4.38)
2.11 กระดาษวาดสีพาสเทล (Pastel Paper) กระดาษวาดสีพาสเทลเป็นกระดาษชนิดใดก็ได้ที่มีลักษณะพื้นผิวที่สามารถใช้สีพาสเทลเกาะยึดได้ สีพาสเทลจะเกาะติดกับกระดาษที่ทำมาจากใยผ้า มีด้วยกันหลายชนิด อาจจะมีเนื้อนุ่มหรือเนื้อกระด้าง ผิวเรียบหรือผิวแบบอื่นๆ กระดาษสำหรับใช้กับสีพาสเทลมักมีสีเทา สีน้ำเงิน หรือสีที่ติดทนอื่นๆ ซึ่งมีพื้นของกระดาษมีส่วนในการเสริมคุณค่าของงานจิตรกรรมแต่สีขาวก็ใช้กันอยู่ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกระดาษที่ผลิตสำหรับใช้ในการเขียนสีพาสเทล โดยเฉพาะกระดาษที่เหมาะสำหรับใช้ทำงานสีพาสเทลควรเป็นกระดาษที่มีใยกระดาษปรากฏบนพื้นผิว หรือกระดาษที่มีเนื้อหยาบ ส่วนกระดาษที่มีพื้นเรียบเนียนเนื้อละเอียด เหมาะสำหรับใช้ในงานประเภทที่ระบายเกลี่ยสีในลักษณะแรเงา
2.12 สีพาสเทล (Pastel) สีเทียนซึ่งมีส่วนผสมของเนื้อสีกับส่วนประกอบของตัวผสานเนื้อสีที่เป็นน้ำ เช่น กาวประเภทกระถิน ในปริมาณพอเพียงจะให้เนื้อสีจับตัวกันเป็นแท่งเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วคำนี้ยังใช้เรียกผลงานศิลปะที่ระบายด้วยสีประเภทนี้ สีพาสเทลมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับปริมาณของชอล์กที่ผสมอยู่ในเนื้อสีว่ามีมากน้อยต่างกันเพียงไร (ภาพที่ 4.40 –4.41) จิตรกรใช้วัสดุประเภทชอล์กหรือสีก้อน ในลักษณะนี้มาตั้งแต่ยุคโบราณ (ยุคหิน) แต่กลวิธีในการสร้างผลงานจิตรกรรมสีพาสเทลที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ เริ่มเป็นที่นิยมในนครปารีส ช่วงทศวรรษหลัง ค.ศ. 1720 โดยจิตรกรชาวเวนิสชื่อโรซัลบา คาร์รีรา (ค.ศ. 1675 – 1757) ส่วนจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการสีพาสเทล ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้แก่ มอริส กอง์แตง เดอ ลาตูร์ (ค.ศ. 1704 – 1788) ฌอง – ปัป ดิสต์ – ซิเมอง ชาร์แดง (ค.ศ. 1699 – 1779) และ ฌอง เอเดียน ลิโอตาร์ด (ค.ศ. 1702 – 1789) และในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เอ็ดการ์เดอกาส์ (ค.ศ. 1834 – 1917) ก็ได้สร้างผลงานจิตรกรรมสีพาสเทลที่งดงามไว้เช่นกันและรวมทั้งผลงานวาดภาพประกอบอีกมากมาย
3. วิธีการสร้างสรรค์ภาพประกอบ
งานสร้างสรรค์ภาพประกอบ กล่าวได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการออกแบบงานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือ สิ่งพิมพ์ที่ขาดภาพประกอบ ย่อมมีผลกระทบที่จะทำให้สิ่งพิมพ์นั้นขาดเสน่ห์ ขาดแรงจูงใจ หรืออาจทำให้การสื่อความหมายไม่บรรลุผลเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ นักออกแบบจึงให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกที่จะกำหนดภาพลักาณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์นั้นๆ ทั้งด้านเนื้อหาและเรื่องราวที่จะสะท้อนให้ผู้รับสื่อทราบ โดยเฉพาะภาพประกอบที่ปรากฏในวารสาร นิตยสาร ภาพประกอบบทความหนังสือตำราวิชาการ หนังสืออ่านสำหรับเด็ก ศิลปินหรือผู้สร้างภาพประกอบต้องแสวงหาวิธีสร้างสรรค์ภาพออกมาให้มีพลังในการสื่อความหมายตามเนื้อเรื่อง และเหมาะสม สอดคล้องกับประเภทของสิ่งพิมพ์นั้นๆ เทคนิควิธีการสร้างสรรค์จึงเป็นขั้นตอนสำคัญ การสร้างภาพประกอบที่เกิดจากเทคนิคระบายสีน้ำย่อมให้ความรู้สึกข องภาพแตกต่างจากเทคนิคการปะติด หรืองานภาพประกอบวาดเส้นย่อมแตกต่างจากงานเจาะกระดาษเป็นรูปภาพ (Pop – up) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศิลปินจะเลือกใช้เทคนิคการสร้างสรรค์แบบใด จะต้องคำนึงถึง คุณภาพในการสื่อสารของภาพประกอบนั้นๆ



Create Date : 06 กันยายน 2553
Last Update : 6 กันยายน 2553 11:38:59 น. 1 comments
Counter : 22554 Pageviews.

 
ขอบคุณมากครับ เป็นประโยช์มากเลยครับ


โดย: JEFF IP: 180.180.131.90 วันที่: 27 มิถุนายน 2556 เวลา:21:01:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

dinhin
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ผมชอบวาดรูปครับ
Friends' blogs
[Add dinhin's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.