Ubon trader
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2554
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
1 พฤษภาคม 2554
 
All Blogs
 
รู้จักกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้

รู้จักกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้...

ตราสารหนี้คืออะไร ?
ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่แสดงความเป็นหนี้ระหว่างกัน โดยลักษณะของการเป็นตราสารเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนมือได้กล่าวอีกนัยหนึ่งตราสารหนี้ก็คือ การกู้ยืมเงินชนิดหนึ่งที่มีความเป็นมาตรฐาน ผู้ออกตราสารเป็นผู้กู้หรือลูกหนี้ ในขณะที่ผู้ให้กู้เป็นผู้ซื้อหรือเจ้าหนี้ โดยทั้งสองฝ่ายมีข้อผูกพันทางกฎหมายที่จะได้รับชำระเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด เช่น ดอกเบี้ย เงินต้น ตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ตราสารหนี้มีคุณสมบัติที่สามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยๆที่เท่าๆกันโดยได้ผลประโยชน์หรืออัตราผลตอบแทนเท่ากันทุกหน่วย และมีคุณสมบัติที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้จนกว่าจะหมดอายุของตราสารนั้นสำหรับการเรียกชื่อตราสารหนี้ มีความแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยทั่วไปในต่างประเทศใช้คำว่า Bond สำหรับตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน(Secured bond) และใช้คำว่า Debenture สำหรับตราสารหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน(Unsecured bond) สำหรับในประเทศไทยนิยมเรียกตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือองค์กรของรัฐว่า พันธบัตร(Bond) ส่วนตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชนจะเรียกว่า หุ้นกู้(Debenture)

องค์ประกอบของตราสารหนี้มีอะไรบ้าง ?

ตราสารหนี้โดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งพอจะจำแนกได้ดังนี้
1.มูลค่าที่ตราไว้ (Par value)คือ มูลค่าเงินต้นที่ผู้กู้จะต้องชำระคืนให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้นเมื่อครบกำหนด ส่วนใหญ่เท่ากับ 1,000 บาท ทั้งนี้มูลค่าที่ตราไว้นี้อาจลดลงเมื่อมีการจ่ายคืนเงินต้นในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ชนิดทยอยจ่ายคืน
2.อัตราดอกเบี้ย (Coupon rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกมีภาระที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้น ๆ ตามวัน เดือน ปี ที่กำหนดตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น ในกรณีที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่(Fixed rate) เช่น 8.00% ต่อปี ผู้ออกจะต้องจ่ายที่อัตรานั้นตลอดอายุของตราสารหนี้ หรือในกรณีที่กำหนดให้เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate) อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกต้องจ่ายให้ผู้ถือจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามที่กำหนด ซึ่งโดยปกติมักจะอ้างอิงไว้กับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เช่น เปลี่ยนแปลงไปตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปีโดยเฉลี่ยของ 5 ธนาคารใหญ่ และบวกหรือลบด้วยส่วนต่าง (Margin) ที่กำหนดซึ่งจะขึ้นกับคุณภาพของตราสารหนี้นั้น ๆ
3.งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon frequency) เป็นการระบุจำนวนครั้งของการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้ง 1 ครั้งต่อปี 2 ครั้งต่อปี 4 ครั้งต่อปี หรือทุก ๆ เดือน แล้วแต่ผู้ออกจะกำหนด แต่โดยส่วนใหญ่เป็นการจ่ายทุกครึ่งปีโดยเฉพาะพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลและองค์กรภาครัฐ
4.วันหมดอายุ (Maturity Date) เป็นการกำหนดวันหมดอายุของตราสารหนี้นั้น ซึ่งผู้ออกจะต้องทำการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้กับผู้ถือ
5.ชื่อผู้ออก (Issue name) เป็นการระบุว่าใครเป็นผู้ออกตราสารหนี้นั้น หรือเป็นการระบุชื่อผู้กู้
6.ประเภทของตราสารหนี้ เป็นการระบุประเภทของตราสารหนี้นั้น เช่น หุ้นกู้ไม่มีประกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิ/ไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น
7.ข้อสัญญา (Covenants) เป็นเงื่อนไขและข้อตกลงที่ระบุให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องสัญญาว่าจะทำหรือไม่ทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์ของผู้ให้กู้ โดยทั่วไปมักเกี่ยวกับการตกลงในระดับทุนหมุนเวียน อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระ การห้ามจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญเกินอัตราที่กำหนด การต้องดำรงสัดส่วนของหนี้สินต่อทุนไม่เกินอัตราที่กำหนด ข้อสัญญาอาจรวมถึงการจำกัดด้านการบริหารของผู้ออก เช่น การห้ามรวมกิจการเป็นต้น

อัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้มาจากไหน ?
โดยปกติแล้วราคาของตราสารหนี้จะขึ้นกับองค์ประกอบหลักที่สำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งสามารถกล่าวเป็นกฎง่าย ๆ คือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น ราคาของตราสารหนี้จะลดลง และเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง ราคาของตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการลงทุนในตราสารหนี้จึงมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญคือ
1.อัตราดอกเบี้ย/อัตราผลตอบแทนจากที่ผู้ออกต้องจ่ายให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้
2.กำไร/ขาดทุนจากการขาย (Capital gain/loss) คือผลกำไร (ขาดทุน) จากการที่ราคาของตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากตอนซื้อ หรือขาดทุนเมื่อราคาของตราสารหนี้ลดลงจากเมื่อตอนซื้อ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดขยับขึ้นหรือลง

ตราสารหนี้มีกี่ประเภท
ผู้ออกสามารถออกตราสารหนี้ได้ในหลายรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของตน ในขณะเดียวกันรูปแบบของตราสารนั้นก็ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของนักลงทุนแต่ละประเภท เช่น คนวัยเกษียณอายุที่ไม่ต้องการความเสิ่ยงอาจต้องการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีอายุไม่ยาว เพื่อความมั่นคงสูงแม้ว่าจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ในขณะที่คนวัยเริ่มต้นทำงานยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่าจึงสามารถลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่อาจมีสภาพคล่องต่ำ เป็นต้น ประเภทของตราสารหนี้สามารถแบ่งได้หลากหลายรูปแบบ โดยอาจแบ่งตามประเภทของผู้ออกตราสาร แบ่งตามสิทธิการเรียกร้อง แบ่งตามสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันโดยมีรายละเอียดดังนี้

แบ่งตามประเภทของผู้ออก
1.ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือพันธบัตรรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังตามระเบียบและวิธีการที่กฎหมายกำหนด โดยเป็นการระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเพื่อใช้จ่ายในกิจการของรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุดหนุนภาระขาดดุลงบประมาณ ตราสารหนี้ชนิดนี้ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลโดยตรง รัฐบาลจะจ่ายผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยแก่นักลงทุนตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนด และจะจ่ายเงินต้นคืนตามราคาที่ตราไว้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ตราสารชนิดนี้ถือว่าไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้น (Default free) เนื่องจากมีรัฐบาลเป็นลูกหนี้ แต่ความเสี่ยงด้านการเปลียนแปลงของราคาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดยังคงมีอยู่
ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลมีสัดส่วนมากเป็นอันดับหนึ่งในตลาดตราสารหนี้ ทั้งในด้านมูลค่าคงค้างและปริมาณการซื้อขาย
2.ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐซึ่งมีชื่อเรียกตามองค์กรที่ออกตราสาร เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และพันธบัตรในชื่อของรัฐวิสาหกิจต่างๆ พันธบัตรดังกล่าวเป็นการกู้เงินโดยตรงขององค์กรภาครัฐนั้นๆ ซึ่งจะมีหน้าที่และภาระในการชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่กำหนดไว้ ความสามารถในการชำระหนี้และฐานะทางการเงินขององค์กรจึงเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณา อย่างไรก็ตาม พันธบัตรเหล่านี้มักได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและระดมทุนได้ในอัตราที่ถูกลง
3.ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือหุ้นกู้ภาคเอกชน เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคธุรกิจเอกชนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนและปรชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของตน ตราสารหนี้เหล่านี้มักจะมีการออกแบบในรูปลักษณะต่าง ๆ กัน และจะมีความเสี่ยงของการที่ผู้ออกจะผิดนัดในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นอยู่ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นในรูปของอัตราผลตอบแทนส่วนต่างที่นักลงทุนต้องการเพื่อชดเชยค่าความเสี่ยงต่าง ๆ (Credit and option embedded spread)

แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง
1.หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinate bond) เมื่อผู้ออกเกิดล้มละลายผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกแต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ ซึ่งจะมีสิทธิเป็นอันดับสุดท้าย
2.หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมิสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์ทดแทนและสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ
การแบ่งประเภทตามสิทธิการเรียกร้องทั้งสองกรณีที่มีความแตกต่างข้างต้นนี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่มีการเฉลี่ยทรัพย์หรือการชำระบัญชีบริษัท เนื่องจากบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ถูกพิพากษาให้ล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ แต่ถ้าไม่มีกรณีดังกล่าว การชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในระหว่างงวดหรือเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจะเป็นไปตามปกติที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน

แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน
1.หุ้นกู้มีหลักประกัน หมายถึง การที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ตามที่กำหนดมาค้ำประกันการออกหุ้นกู้นั้นและผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเต็มที่เหนือสินทรัพย์นั้น หรือเป็นการค้ำประกันจากสถาบันอื่นก็ได้ โดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ได้กำหนดให้การออกหุ้นกู้ชนิดนี้ต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้(bondholder’s representative)ซึ่งในต่างประเทศอาจเรียกว่าผู้ดูแลสินทรัพย์ (Trustee) เพื่อทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง รับจำนำ หรือรับหลักประกันอย่างอื่น และเพื่อการใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งการตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน
2.หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน หมายถึง หุ้นกู้นั้นไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ ค้ำประกัน โดยหุ้นกู้ชนิดนี้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ทั่วไปของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งหากผู้ออกไม่สามารถชำระหนี้หรืออยู่ในสถานะล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้โดยการเฉลี่ยสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นๆตามสิทธิและสัดส่วน

แบ่งตามชนิดของสิทธิแฝง (embedded option) ที่ติดมาพร้อมกับตราสารหนี้
1.หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่และปราศจากสิทธิแฝงอื่น (straight / fixed rate and option free bond) เป็นหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตามที่กำหนดและตามระยะเวลาของอายุตราสารหนี้ โดยพันธบัตรภาครัฐและหุ้นกู้ของเอกชนในตลาดส่วนใหญ่มีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่
2.หุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate bond) หมายถึง เป็นหุ้นกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายในลักษณะลอยตัวที่ผันแปรไปตามอัตราอ้างอิงหรือดัชนีที่กำหนดไว้
3.หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible bond) หมายถึง หุ้นกู้ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการแปลงสภาพจากการถือหุ้นกู้ไปเป็นการถือหุ้นสามัญตามอัตรา ราคา และเวลาที่กำหนด
4.หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing bond) หมายถึง หุ้นกู้ประเภทที่ผู้ออกทยอยจ่ายคืนเงินต้นคืนแก่ผู้ถือในแต่ละงวด แทนที่จะเป็นการจ่ายคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดอายุดังเช่นตราสารหนี้ปกติ
5.หุ้นกู้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกคืนก่อนกำหนด (Callable bond) หมายถึงหุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกในการเรียกคืนหรือไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นก่อนกำหนด ซึ่งกำหนดการไถ่ถอนจะต้องถูกระบุไว้ตั้งแต่ต้น โดยปกติผู้ออกจะเรียกคืนหุ้นกู้ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงจนทำให้ต้นทุนของหุ้นกู้ที่มีอยู่นั้นสูงมากเกินควร หรือการที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกเพิ่มขึ้นทำให้สามารถออกตราสารในอัตราต้นทุนที่ต่ำกว่า
6.หุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable bond) หมายถึง หุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด โดยรายละเอียดของเงื่อนไขและวิธีการจะกำหนดล่วงหน้าตั้งแต่วันออกตราสารนั้น ซึ่งผู้ออกสามารถเลือกที่จะไถ่ถอนหรือไม่ก็ได้ เช่น หากผู้ถือหุ้นกู้เห็นว่าอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกลดลง ผู้ถืออาจเลือกที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ชนิดนี้
7.หุ้นกู้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) หมายถึงหุ้นกู้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ โดยผู้ถือจะได้รับกระแสเงินสดจากตัวสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้น โดยปกติหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากมีตัวหลักทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้นค้ำประกัน หรือมีกระบวนการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ (Credit enhancement) ตราสารหนี้ชนิดนี้มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้สินทรัพย์ซึ่งมีการเปลี่ยนมือได้ยากให้กลายเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย เป็นการเพิ่มสภาพคล่องและทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มีสินทรัพย์เหล่านี้สามารถทำการแปลงเป็นหลักทรัพย์เป็นการลดภาระในการดำรงเงินกองทุนและเพิ่มเงินสดเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการ ดังนั้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ตลาดตราสารหนี้ชนิดนี้จึงเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตราสารหนี้ชนิดอื่น ๆ

การลงทุนในตราสารหนี้ทำได้อย่างไร / ซื้อขายกันอย่างไร ?
ตลาดตราสารหนี้มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากตลาดทุนหรือตลาดหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยคุ้นเคย โดยประการแรก ตลาดตราสารหนี้เป็นการซื้อขายในระบบเปิด (Open Market) หรือ over the counter คือจะไม่มีสถานที่ที่ทำการซื้อขายแน่นอน และมิได้จำกัดกลุ่มผู้เล่นในตลาด ไว้เพียงบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตนายหน้า(Broker)ดังเช่นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นระบบปิด

การซื้อขายตราสารหนี้สามารถทำได้หลายระดับ โดยนักลงทุนอาจตกลงซื้อขายระหว่างกันเอง หรืออาจซื้อขายกับผู้ค้าตราสารหนี้(Dealer) โดย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2544 มีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้จำนวน 49 บริษัท ในกรณีที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ ใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์จะครอบคลุมไปถึงการค้าตราสารทุนด้วย แต่จะครอบคลุมเพียงการค้าตราสารหนี้ในกรณีที่เป็นธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน
ลูกค้าทั้งรายย่อยและรายใหญ่ที่ต้องการซื้อหรือขายตราสารหนี้ สามารถติดต่อที่ฝ่ายค้าตราสารหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆได้ การค้าจะทำโดยการเจรจาต่อรองระหว่าง Dealer กับลูกค้าหรือนักลงทุนเพื่อตกลงราคาและปริมาณตราสารหนี้ที่ตนต้องการซื้อขาย ซึ่งเป็นการดำเนินไปในลักษณะ Over the counter เมื่อตกลงกันแล้วในรายการใด การดำเนินการด้านการชำระเงินและส่งมอบตราสารก็จะเกิดขึ้นโดยส่วนงานที่เป็น Back office
ในปัจจุบันช่องทางที่ใช้ในการติดต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายคือ โทรศัพท์ Dealer นอกจากการโทรศัพท์คุยกับลูกค้าแล้วยังส่งคำเสนอซื้อ (bid) และเสนอขาย (offer) ตราสารหนี้เป็นประจำตามสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ สื่อ on-line ต่าง ๆเพื่อที่ หากมีผู้สนใจที่จะซื้อ/ขาย ก็สามารถโทรศัพท์ติดต่อกับ dealer รายนั้นได้ สำหรับพัฒนาการของการซื้อขายตราสารหนี้ในประเทศไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ที่พึ่งพิงระบบการซื้อขายแบบอิเลคโทรนิคส์มากขึ้น เพื่อช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ ความโปร่งใสของข้อมูลการซื้อขาย และเพื่อให้มีสภาพคล่องการซื้อขายมากขึ้น ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการคัดเลือกระบบการซื้อขายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2544 นักลงทุนที่มีความสนใจที่จะลงทุนในตราสารหนี้สามารถลงทุนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงหมายถึง การที่นักลงทุนทำการซื้อ/ขาย ตราสารหนี้นั้นโดยตรงกับ dealer ตามราคาเสนอซื้อ/เสนอขายที่ dealer นั้น ประกาศตามสื่อต่าง ๆ และทำการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ (Portfolio) ของตนเอง การลงทุนโดยทางอ้อม หมายถึง การซื้อกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก (fixed income fund) ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายประเภทให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือลงทุนโดยผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งกองทุนเหล่านี้จะนำเงินที่ได้ไปลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารอื่น ๆ อีกต่อหนึ่ง
โดยทั่วไปตราสารหนี้มีความซับซ้อนทั้งในแง่ของข้อมูลและการคำนวณ ทำให้การลงทุนโดยตรงอาจไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนทั่ว ๆ ไป แต่เหมาะสำหรับนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนรวมซึ่งมีผู้บริหารกองทุนทีมีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญมีอำนาจในการต่อรองสูง เนื่องจากขนาดของกองทุนที่ใหญ่กว่า ดังนั้น การลงทุนโดยอ้อมผ่านกองทุนเหล่านี้ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุน บุคคลทั่ว ๆ ไป เพื่อให้สามารถลงทุนในตราสารหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า


ขอขอบคุณข้อมูลจาก //www.thaibma.or.th/bond_tutor/investor_answer.html#a


Create Date : 01 พฤษภาคม 2554
Last Update : 1 พฤษภาคม 2554 11:40:21 น. 1 comments
Counter : 1895 Pageviews.

 
ทักทายยามบ่ายนะจ่ะ อากาศวันนี้มันดีมากๆๆๆๆๆ


โดย: ตะวันเจ้าเอย วันที่: 1 พฤษภาคม 2554 เวลา:15:04:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

diabloth
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add diabloth's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.