..LiFe iS a jOuRnEy..
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
9 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
: : เรือนกระจก..กับ..โลกร้อน : :

เราได้อ่านบทความดีๆ ในเว็บไซต์ของบีบีซี เกี่ยวกับ Climate Change เนื้อหาไม่เป็นวิชาการมากนัก ทำให้รู้จักโลกที่น่าสงสารของเราเพิ่มขึ้นเยอะ

ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ เลย เห็นข่าวพายุไซโคลนถล่มพม่าไหมคะ.. นี่ก็เป็นอะไรที่ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะเกี่ยวกับภูมิอากาศที่แปรปรวนของโลก

เราก็เลยขอถอดความบางส่วนจากบีบีซีมาเผยแพร่ต่อ ณ บล็อกนี้ เพื่อให้ทุกคนที่รักและห่วงใยโลกของเราได้ตระหนักความสำคัญของการถนอมโลกให้น่าอยู่ไปอีกนานๆ...



ท้องฟ้าสดใสในฤดูร้อน ดูสวยๆ อย่างนี้
ใครจะรู้ว่ามีก๊าซอะไรต่อมิอะไรลอยขึ้นไปแทรกตัวอยู่ในบรรยากาศมากน้อยแค่ไหน


หลักฐานเรื่องความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
(Evidence of Climate Change)


โดยปกติภูมิอากาศของโลกมักจะเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ได้อยู่เสมอ ในอดีต การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นธรรมชาติของโลก

แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติมากมายจนนักวิชาการเริ่มจะคิดกันแล้วว่า Climate Change ในระยะนี้ไปจนถึงอีก 80 ปีข้างหน้า น่าจะเป็นผลจากฝีมือมนุษย์มากกว่า (เอ๊ะ...ทำไมต้อง 80 นะ...)

ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น นำไปสู่เรื่องของ "โลกอุ่น หรือ โลกร้อน" (Global Warming) ที่กำลังอยูู่ในกระแสโลกนี่แหละจ้ะ



ภาพแสดงหลักการของ Greenhouse Effect ดูไม่น่ามีพิษสงอะไรมาก
แต่ที่ไหนได้ ผลกระทบต่อชาวโลกทั้งทางตรงทางอ้อมมากมายมหาศาล
(Picture with courtesy of Devon Council, Exeter, UK
//www.devon.gov.uk)


Greenhouse Effect เคยเป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งไม่น่าแปลกที่โลกของเราจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น เพราะโลกรับความอบอุ่นจากพระอาทิตย์โดยตรงอยู่แล้ว (ไม่มีแสงอาทิตย์เราเก๊าะแข็งตายสิจ๊ะ)

แต่พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่ได้ส่องตรงถึงพื้นผิวโลกของเราทั้งหมด มีทั้งที่ถูกซึมซับในชั้นบรรยากาศและบางส่วนก็ถูกสะท้อนกลับออกไปในอวกาศ (ขืนลงผิวโลกหมด เราคงเกรียมเป็นหมูปิ้งกันหมด)

โลกควรจะสะท้อนพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์ออกไปได้ตามธรรมชาติ อย่างที่เคยดำเนินมาเป็นร้อยเป็นพันปี แต่ไปๆ มาๆ ก๊าซที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในชั้นบรรยากาศกลับดูดซับความร้อนนั้นไว้มากกว่าเดิม

ก๊าซพวกนี้มีหลายอย่าง เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเธน และไนตรัสออกไซด์ เป็นต้น เมื่อดูดซับความร้อนไว้แล้ว แล้วอณูของก๊าซก็จะสั่นสะเทือนและแผ่กระจายพลังงานออกไปทุกทิศทาง

แต่เดิมระบบ Greenhouse Effect โดยธรรมชาติจะสะท้อนความร้อนกลับลงมาบนผิวโลกประมาณ 30% เพื่อสร้างความอบอุ่นให้สิ่งมีชีวิตบนผิวโลก โดยรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 15 องศาเซลเซียส สัตว์และพืชบนโลกถึงจะอยู่บนโลกได้อย่างสบายๆ

แม้ว่าก๊าซกรีนเฮาส์ส่วนใหญ่เกิดโดยธรรมชาติ แต่นับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา กิจกรรมของมนุษย์ (โดยเฉพาะควันจากโรงงานทั้งหลายนั่นแหละตัวดี) ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ท้องฟ้ามากมายเป็นประวัติการณ์ หารู้ไม่ว่า ก๊าซพวกนี้ไม่ได้ลอยไปนอกโลกสักหน่อย แต่ไปกระจุกตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศเหนือโลกนี่เอง ดักจับพลังงานความร้อนไว้ ส่งผลให้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้นไปด้วย





ตารางเวลาสภาวะ Climate Change ที่ดูแล้วเหมือนรอเวลานับถอยหลังอย่างไรพิกล
(ชักดีใจแล้วสิว่าเราอายุปูนนี้แล้วคงอยู่ไม่ทันดูความน่ากลัวที่อาจจะมาถึงในปี 2100 เป็นแน่)
(Picture with courtesy of Devon Council, Exeter, UK
//www.devon.gov.uk)


หลงกลอ่านมาถึงตรงนี้แล้วขี้เกียจอ่านต่อใช่ไหมคะ เอาละ.. ไม่อยากบรรยายยาวๆ ให้เบื่ออีก แต่จะขอสรุปเฉพาะบางประเด็นหลักๆ ที่มีความสำคัญต่ออนาคตของทุกชีวิตบนโลก รวมทั้งลูกหลานของพวกเราในอนาคต


ข้อเท็จจริงเรื่อง Climate Change


- ช่วงปี ค.ศ. 1990 - 2000 เป็นทศวรรษที่อุณหภูมิโลกอุ่นที่สุดในรอบหนึ่งร้อยปี โดยปี 1998 เป็นปีที่อุ่นที่สุด นับแต่ปี 1861 เป็นต้นมา (ฝรั่งนี่บ้าสถิติกันจังนะ)

- ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นๆ ในขณะที่แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกเหนือบางลงๆ และยังมีปริมาณน้ำฝนตกหนักกว่าเดิมในพื้นที่บางส่วนของโลก (อย่างที่เราเห็นข่าวน้ำท่วมไง...) เชื่อไหมว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 10 - 20 เซนติเมตร (เชื่อเถอะ... ฝรั่งเขาชอบเก็บตัวเลขกันเป็นอาชีพ)

- ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา (ก็ประมาณ 40 กว่าปีมานี้เอง) หิมะที่ปกคลุมยอดเขาในเทือกเขาซีกโลกเหนือละลายหายไปประมาณ 10%

- ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (คือปี 1901 - 2000) ธารน้ำแข็งที่เรียกว่า Glacier ที่ไม่ได้อยู่ในเขตขั้วโลก ก็ละลายหายไปมาก (ไม่ยักกะมีสถิติ!)

- มีหลักฐานชัดเจนถึงความแปรปรวนที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิอากาศทั่วโลก เช่น ความแห้งแล้งที่รุนแรงในเอเชียและอาฟริกา พายุหมุนที่ร้ายแรงและบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ ปริมาณฝนตกหนักมากขึ้น อากาศหนาวและหิมะตกหนักเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น (ดูกรณีพายุไซโคลนในพม่าก็ได้ มาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้เลยเห็นมั้ย..)




การคาดการณ์เกี่ยวกับ Climate Change


นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้ทำการศึกษาข้อมูลและทำการจำลองสถานการณ์จริงมาแล้วว่า ในอนาคตอันใกล้นี้น่าจะเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ต่อไปนี้ขึ้นบนโลกของเรา (ก็ฟังหูไว้หูแล้วกันนะ)

- ตั้งแต่ประมาณ ปี ค.ศ. 2050 เป็นต้นไป ทวีปในซีกโลกเหนือและอันตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) จะมีช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะหรือฝนตกยาวนานกว่าเดิม

- ในเวลาเดียวกัน ออสเตรเลเชีย (คือทวีปออสเตรเลียและทวีปเอเชียนั่นแหละ) รวมทั้งอเมริกากลางและอาฟริกาตอนใต้ จะมีฤดูหนาวลดน้อยลงไปอีก (เลิกซื้อเสื้อกันหนาวได้แล้วเรา)

- ในเขตร้อน พื้นที่บางส่วนจะมีฝนตกมากขึ้น บางส่วนก็ลดน้อยลง (พูดง่ายๆ คือแปรปรวนหนัก ไม่ค่อยสม่ำเสมออย่างแต่ก่อน)

- เขาคิดว่าแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมอันตาร์กติกาซีกตะวันตก จะแตกกระจายออกภายในศตวรรษนี้ (คือภายในปี ค.ศ. 2100) ซึ่งถ้ามันแตกออกจริงๆ จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างน่าวิตก

- ภายในปี ค.ศ. 2100 คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะสูงขึ้นอีกประมาณ 1.4 - 5.8 องศาเซลเซียส (นั่นคือส่วนที่เพิ่มเท่านั้นนะคะ)

- จุดที่อุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม (เช่น เดิมเราเคยเจอที่ร้อนสุด 38 องศา ก็จะเพิ่มเป็น 40 องศา...)

- ในพื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน วันที่อากาศร้อนจะมีมากขึ้น วันที่อากาศเย็นก็จะน้อยลงๆ ไปเรื่อยๆ (ไม่เชื่อลองสังเกตดูซิว่า ครั้งสุดท้ายที่เราใส่เสื้อกันหนาวมันตั้งแต่เมื่อไหร่...)



พายุหิมะ ภัยธรรมชาติที่เราคนเมืองร้อนอาจไม่คุ้นเคย
ภาพนี้คงจะเป็นผลจากฤดูหนาวในสหรัฐอเมริกาที่มักจะมาพายุหิมะในรัฐทางตอนเหนือๆ เป็นประจำ
(Picture with courtesy of Oregon Mountain River Chapter American Red //mountainriver.redcross.org)


พยากรณ์อากาศสำหรับโลกในอนาคตอันใกล้นี้


- อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น หมายความว่าโลกของเราจะมีอากาศเย็นและลมหนาวลดน้อยลง แต่จะมีคลื่นอากาศร้อนและลมร้อนเพิ่มมากขึ้น

- บนพื้นแผ่นดินใหญ่ทั้งหลาย จะมีภาวะแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้น

- ในพื้นที่บางส่วนของโลกจะมีพายุหมุนที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น และไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้ว่าเมื่อใด

- ลมมรสุมในทวีปเอเชียก็จะรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับทอร์นาโด เฮอริเคน (รับกันไปทั่วโลกอย่างเสมอหน้าจ้ะ...)

เรื่อง Climate Change นี่เป็นเรื่องใหญ่มากต้องว่ากันอีกยาว ในขณะที่ภาวะโลกอุ่น (Global Warming) เป็นเพียงหนึ่งในผลจากเหตุดังกล่าว ยังมีผลอย่างอื่นๆ ที่น่ากลัวอีกเยอะ เช่น พายุหิมะ น้ำท่วม ฝนแล้ง นาล่ม ข้าวยากหมากแพง ฯลฯ ...

แต่วันนี้เครียดมาพอสมควรแล้ว พอเท่านี้ก่อนดีกว่า

ขอฝากต้นไม้มาให้ช่วยกันปลูกสักคนละต้นนะคะ...





Create Date : 09 พฤษภาคม 2551
Last Update : 30 พฤษภาคม 2552 9:58:22 น. 1 comments
Counter : 1778 Pageviews.

 
ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสนใจเป็นพิเศษแล้วค่ะ โดยเฉพาะการปล่อย CO2 ยิ่งในยุโรปนี่ออกกฏหมายกันเป็นว่าเล่นเลยให้มีการลดการใช้พลังงานเอย เก็บภาษีเอย แล้วแถมยังมีข้อตกลงเรื่องปริมาณการปล่อย GHG สู่ชั้นบรรยากาศด้วย มาตรการหลายอย่างถูกนำมาใช้ เราในฐานะคนธรรมดาก็ช่วยได้นะคะ ปลูกต้นไม้ค่ะ


โดย: Chulapinan วันที่: 9 พฤษภาคม 2551 เวลา:23:29:21 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Devonshire
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add Devonshire's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.