นครวัด-นครธม

คำพูดประโยคที่ว่า ดูเสียก่อนตาย see angkor and die ติดอยู่ในใจมานานหลายปี พบเห็นในหนังสือว่าด้วยเรื่องและภาพของปราสาทขอม ว่าเป็นดั่งเนรมิตทิพยวิมานของทวยเทพบนโลกแห่งหนึ่งเท่าที่มนุษย์จะสร้างขึ้นมาได้ นั้นคือ มหาปราสาทนครวัด-นครธม บนแผ่นดินกัมพูชา ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ว่าจะต้องไปดูไปเห็นให้ได้ว่างั้นเถอะ และครานี้ก็เป็นโอกาสไปชมเสียที

กัมพูชาอยู่ติดชายแดนทางอีสานของไทย แต่อดีตแล้วการเดินทางไม่สะดวก จากปัญหาภายในประเทศ สงครามยาวนานที่กว่าจะสิ้นสุดลงไปแล้วนั้น ปัจจุบันกัมพูชาจึงเร่งพัฒนาประเทศ เปิดรับนักท่องเที่ยว การเดินทางจากไทยจึงไปได้หลายเส้นทางผ่านช่องด่านหลายจังหวัด ไม่ว่าด่านอรัญประเทศที่ จ.สระแก้ว ด่านช่องจอมที่ จ.สุรินทร์ แต่ที่ไปคราวนี้เป็นที่ด่านช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เชื่อมต่อกับช่องจอม อ.อัลลองเวง จ.อุดรมีชัย ของประเทศกัมพูชา

ปลายเดือนพฤศจิกายน 58 คณะเดินทางด้วยรถส่วนตัว 2 คัน ทำเรื่องฝากรถและทำเรื่องผ่านด่านประทับตราพลาสปอร์ตที่ช่องสะงำแล้ว ไปขึ้นรถตู้ของบริษัทเขมรที่ติดต่อผ่านกับบริษัททัวร์ ซึ่งก็มาจอดรอรับพาเข้ากัมพูชาไปเมืองเสียมเรียบด้วยระยะทาง 130 กม ว่ากันว่าด่านช่องนี้มีระยะใกล้ที่สุด เพื่อไปพักที่เมืองเสียมเรียบ 2 คืน 3 วัน อัตราทัวร์เข้าเขมรร่วมทุกอย่างแล้วทั้งรถไกด์ที่พักอาหารและค่าตั๋วเข้าชมนครวัดนครธมรวมเสร็จสรรพตกหัวละ 5,800 บาท จำนวน 9 ท่านในการท่องเที่ยวครั้งนี้





ที่พักอยู่ที่เสียมเรียบ เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวชื่อก้องโลกอย่างนครวัด-นครธม ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 7 กม. จุดศูนยกลางการเดินทางมาพักกันที่นี่ จึงไม่แปลกใจที่เมืองเสียมเรียบกำลังพัฒนาระบบสาธาระณูปโภคให้เจริญทันสมัยเป็นการใหญ่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว มีโรงแรมร้านอาหารร้านค้ามากมายให้บริการ รูปทรงตึกอาคารออกแนวไสตล์ฝรั่งเศสและทั้งแบบอย่างจำลองมาจากแบบศิลปอย่างนครวัด





พาหนะเดินทางของเมืองเสียมเรียบ เรียกว่า ละเมาะโมโต เป็นรถพ่วงกับจักรยานยนต์ นักท่องเที่ยวนิยมใช้บริการไปได้ทั้งในและนอกเมือง





หลังจากไกด์นำส่งเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว มีเวลาว่างช่วงหนึ่ง จึงมีโอกาสเที่ยวชมเมือง โดยใช้บริการซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์ของไกด์ อาสาขับพาไปตระเวณถ่ายรูปตัวเมืองเสียมเรียบและเที่ยววัดหลายแห่ง









เมืองเสียมเรียบนั้นยังอยู่ใกล้กับทะเลสาบเขมรห่างออกไป 13 กม.ที่เรียกว่า ต็วนเลซาบ  ดังนั้นโปรแกรมทัวร์ครั้งนี้จึงไม่พลาดไปล่องเรือชมท้องทะเลน้ำจืดที่กว้างใหญ่กว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร ในช่วงฤดูแล้งเดือน พ.ย-พ.ค.ลึก 2 เมตร แต่จะขยายเป็น 7,000 ตารางกิโลเมตรในช่วงหน้าฝน พ.ค-ต.ค ลึก 14 เมตร รัศมีกว้างกว่า 70 กม.เป็นแหล่งประมงจับปลาเส้นเลือดของเขมร มีประชากรชาวน้ำส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายเวียตนาม ที่อาศัยสร้างบ้าน สร้างโรงเรียน ร้านค้าและโบสถ์อยู่บนน้ำ











หลังไปเที่ยวต็วนเลซาบแล้ว ถึงเวลาได้พบกับปราสาทหินเสียที วันรุ่งขึ้นจากที่นอนพักโรงแรมสวยทานอาหารดีแล้ว ออกจากจากโรงแรม 7 โมงเช้า เพื่อเดินทางไปเข้าคิวถ่ายรูปติดบัตรเข้าชมปราสาท คนละ 800 บาท (20 ดอลลาร์) ราคานี้ใช้ได้ในวันเดียว ไกด์จัดการจ่ายเงินเรียบร้อยมาแล้ว เพียงไปเข้าคิวถ่ายรูปเท่านั้นที่จุดผ่านด่าน แน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกทิศทั่วโลก ที่มากดูจะเป็นคนจีน

โปรแกรมการชมปราสาทหินในหนึ่งวันนี้มี 4 แห่ง ปราสาทนครธม ปราสาทตาพรหมช่วงเช้า และสุดท้ายช่วงบ่ายไปชมปราสาทบันทายสรี และปราสาทนครวัดปิดท้าย




เพียงแค่เห็นมหาปราสาทนครธมแห่งแรกเข้าเท่านั้น ยังไม่ได้เห็นนครวัดเลย ใหญ่โตสมกับคำว่ามรดกสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งใน 7 ของโลก รอบพื้นที่ตั้งตัวปราสาทนั้นกว้าง ความใหญ่ของตัวปราสาทเพียงแค่เดินหามุมถ่ายรูปทุกมุมสวยของภาพใบหน้าใหญ่แกะสลักบนหิน ความที่มีอาณาเขตใหญ่โต ใช้เวลาละเลียดไปมาก เลยกำหนดการเดินทาง และทั่งคณะต้องรอผู้สะพายกล้องท่องเที่ยวอยู่คนเดียว


ปราสาทนครธมสร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 Jayavarman v II ราวปี พ.ศ.1746 มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราทสาทบายน ซึ่งถือเป็นพุทธสถานนิกายมหายาน ด้วยพระองค์ทรงนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ภาคหนึ่งของพระพุทธเจ้าตามคติมหายาน








จากปราสาทนครธมเดินทางต่อไปเป็น ปราสาทตาพรหม ปราสาทในยุคเดียวกับนครธมที่มีชื่อเสียงอีกแห่ง ที่นี่กลายเป็นโลเกชั่นถ่ายทำหนังฮอลลีวู๊ด เรื่อง ลอรา คอฟ ทูมเรเดอร์ Tomb Raider  ทั้งนี้เนื่องจากปราสาทตาพรหมมีภูมิทัศน์ที่โดดเด่นของต้นไม้เกาะเกี่ยวตัวปราสาท รากต้นไม้ชอนไชดูราวลำตัวงูใหญ่ หรือไม่ก็คล้ายงวงปลาหมึกยักษ์รัดอุ้มพันปราสาทหินเอาไว้


ปราสาทตาพรหม สร้างในปี พ.ศ.1729 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่ออุทิศถวายแด่พระราชมารดา เป็นวัดในพุทธศาสนา






ช่วงบ่ายเดินทางต่อไปที่ ปราสาทบันทายสรี ตั้งอยู่ห่างตัวเมืองเสียมเรียบประมาณ 30 กม. พอลงจากรถเดินผ่านป่าต้นไม้รก เข้าสู่ที่ตั้งตัวปราสาท ท้องฟ้าก็เริ่มมืดมัวเมฆเคลื่อนมาคลุมท้องฟ้าทำให้ไม่ค่อยมีแสง ตัวปราสาทที่มีขนาดเล็ก ว่ากันว่าเป็นปราสาทที่สมบูรณ์มาก มีภาพสลักนูนสวยงามที่สุดแบบครบถ้วนไม่เหลือให้มาเพิ่มแต่งภายหลัง ความสำเร็จนี้ได้นำไปสู่การสร้างปราสาทนครวัดให้ใหญ่มโหฬารในช่วงอีก 150 ปีต่อมา แต่ฟ้าครึ้มลงกลัวว่าฝนจะตกลงมา จนแทบไม่มองหาภาพสลักที่ว่านั้นอยู่ตรงไหน ถ่ายได้ไม่กี่ภาพก็รีบเดินกลับมาที่รถ


ปราสาทบันทายสรี สร้างโดยพระครูพราหมณ์ยัชญวราหะ ที่ได้รับพระบรมราชานุญาติจาก พระเจ้าราเชนทรวรมัน Rajendravarman ให้สร้างในราวปี พ.ศ.1410

หลังจากเจอกับสภาพท้องฟ้ามืดเมฆเต็มท้องฟ้า การเดินทางต่อไปที่มหาปราสาทนครวัด จึงค่อนข้างวิตกว่าจะได้ภาพช่วงบ่ายสวยเหมือนช่วงเช้าท้องฟ้าใสหรือเปล่า รถใช้เวลาค่อนข้างนาน คงย้อนกลับที่ทางนครธม เพราะตัวปราสาทอยู่ใกล้กัน ผ่านคูน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้น ใหญ่โตดั่งสายแม่น้ำทีเดียว รถเลียบริมน้ำ ในสายตาปรากฏภาพของตัวปราสาทนครวัดมาแต่ไกล ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำรอบล้อม ความใหญ่โต ทำให้คิดว่าเวลาชั่วโมงครึ่งที่กำหนดเวลาอยู่ที่นครวัดนี้ จะถ่ายรูปอย่างไรให้ได้มาก

รถมาจอดส่งที่จุดที่นัดหมาย คือ ต้นโพธิ์ ภาพเบื้องหน้าทางเดินใกล้สะพานเดินทอดยาวไปตามลานหินไปที่ตัวปราสาท ในใจมองหาแต่ภาพมุมยอดนิยม ภาพนครวัดมีภาพเงาสะท้อนให้เห็นในน้ำ มองไกลลงไปเห็นบึงบัวเล็กและวัดโบสถ์แห่งหนึ่ง แต่เดินผ่านเข้าตัวปราสาทไปแล้ว เดินผ่าตัวปราสาทที่ใหญ่โตปานมหาราชวังไปทะลุด้านหลังทิศตะวันออก เดินลงไป ออกไปจากปราสาทให้ไกล พอได้มุมแล้ว หันมาดู มีแต่ภาพย้อนแสงเป็นเพียงภาพร่างของตัวปราสาทแบบอย่างที่ต้องการได้ แต่ไม่มีเงาสะท้อนของน้ำ

ปราสาทนครวัด ด้านหลังทิศตะวันออก มุมภาพย้อนแสง


บริเวณพื้นที่ด้านหลังนครวัด ไปทางทิศใต้ด้านข้าง มุมภาพแสงแดดยาม 4 โมงกว่าออกส่องกระทบตัวปราสาท
ปราสาทนครวัด สร้างโดย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 Suryavarman II ในราวปี พ.ศ.1656 เป็นเทวสถานฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย ที่ทรงนับถือวิษณุเทพหรือพระนารายณ์เป็นเทพสูงสุด ถือเป็นปราสาทที่งดงาม เลือกใช้หินมีคุณภาพ และสร้างได้อย่างปราณีตและมีความมั่นคงแข็งแรงที่สุด

ถ่ายภาพแล้วรีบเดินขึ้นบันไดไปข้างบนปราสาท ตลอดทางเดินริมระเบียงแนวฝาผนังที่เรียกว่า ระเบียงคด (ระบียงที่มีฝาผนัง) นั้นเป็นทิศใต้ที่มีความยาว 1,000 เมตร จำหลักสลักเป็นภาพบอกเรื่องราวอะไรไว้มากมาย ถ่ายได้เพียงด้านนี้ ทั้งๆมีภาพสลักรอบตัวระเบียงคดอีกหลายด้านของตัวปราสาทที่มีความใหญ่โต 4 ด้าน โดยมีด้านกว้างอยู่ที่ 800 เมตร





5 โมงเย็นแล้ว รีบเดินไปถ่ายภาพนางอัปสร


ถ่ายรูปพระวิษณุขนาดใหญ่ที่มี 8 กร ที่บ้างก็ว่านี้คือ องค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร


ช่วงเดินกลับผ่านลานหินทอดยาวมานั้น ยังสงสัยว่าทำไมที่สระบัวนั้นคนจึงไปออกัน แต่ก็ไม่สนใจอีก เพราะต้องรีบเดินให้เร็วที่สุด เพื่อกลับมาที่ต้นโพธิ์ตามเวลานัดหมาย 5 โมงเย็น มาถึงยังไม่พบใคร นั่งยืนรอจนเกือบ 6 โมงนั้นขบวนจึงมากันครบ รู้นี้มาสายเสียก็ดี จะได้มีเวลาลงไปดูเค้าหน่อยว่าถ่ายอะไร และเมื่อกลับมาถึงได้รู้ที่ตรงนั้น คือ มุมมหาชนจุดถ่ายภาพของรูปปราสาทแห่งนครวัดที่มีภาพสะท้อนของน้ำนั้นเอง



ความน่าเสียดายนี้ ทำให้รู้สึกผิดและโทษตัวเองที่ไม่บริหารเวลาให้ดี ขนาดได้อ่านข้อมูลมาแล้ว แต่ความกังวลต่างหากที่หลงลืมข้อมูล ถึงกับเดินเลยออกไปด้านหลังตัวปราสาท ที่ไม่มีใคร ส่วนใหญ่ออกันอยู่ด้านหน้าและในตัวปราสาท ที่ซึ่งมีภาพมีเรื่องราวตามที่หนังสือท่องเที่ยวพกพาได้บอกเอาไว้ต่างหาก ความคิดผิดนี้ตั้งใจอีกแล้วว่าจะต้องกลับมาแก้ตัวใหม่ให้ได้ เหมือนที่ผิดพลาดครั้งที่ไปเที่ยวหลวงพระบาง



แต่ถึงอย่างไรแล้วแหล่งท่องเที่ยวปราสาทของกัมพูชา เพียงแค่นครวัด-นครธมก็เท่ากับได้เรียนรู้ได้แทบครบถ้วนของประวัติศาสตร์ของความเป็นมาของชนชาติขอม ทั้งจากลักษณะการก่อสร้าง ทั้งจากภาพสลักเป็นภาพเรื่องราวบ่งบอกเรื่องราวทั้งการสงครามและวิถีชาวบ้าน จำแลงภาพของนางอัปสรเอาไว้อย่างที่นำมาใช้เป็นจุดขาย ถอดแบบเครื่องแต่งกายการแสดงท่าร่ายรำในปัจจุบัน



ไม่ต้องอะไรมากเอาที่พิจารณาภาพสลักบนหินยิ่งทึ่งว่า ช่างของเขมรโบราณต้องคิดละเอียดกว่าจะให้ช่างฝีมือแกะภาพบนหินได้ภาพมามากมายหลายเรื่องราวอย่างนี้ การแกะเมื่อดูแล้วแต่ละปราสาท มีทั้งแกะเว้าเข้าไปในเนื้อหิน กับการแกะให้รูปนูนลอยเด่นออกมา ต้องวางแผนแล้วว่าหินตรงไหนจึงใช้ได้ เมื่อแกะสลักภาพเสร็จแล้ว ต้องสกัดหินก้อนนั้นให้เรียบเสมอเท่ากันเหมือนกลายเป็นผนังหินเดียวกัน และการสกัดนั้นมีความราบเรียบดังกับฉาบด้วยปูน ทำด้วยเพียงกับเครื่องมือโบราณเท่านั้น

อดีตชนโบราณขอมที่เจริญถึงขั้นฝรั่งเรียก khmer empire เพราะนอกจากจะมีอาณาเขตกว้างไกลไพศาลคลุมไปถึงทราวดีแล้ว ยังมีสร้างสิ่งก่อสร้างด้วยวัฒนธรรมหินแบบเดียวกันกับชาวโรมัน จะไม่ยอมรับได้อย่างไร ก็เพราะคนที่ค้นพบนครวัด-นครธม คือ ฝรั่งเศส ที่เข้ามาล่าเมืองขึ้นอาณานิคม จนชาวยุโรปไปบอกว่ามีอาณาจักรแห่งหนึ่งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรือเอเซียอาคเนย์ มีสิ่งก่อสร้างเช่นเดียวกับของยุโรป บ้างก็ว่าสร้างด้วยชาวโรมัน ยังไม่เท่านั้น มีอีกที่บอกสร้างโดยชาวอินเดียในยุคของอเลกซานเดอร์มหาราชที่กรีฑาทัพไปถึงอินเดีย

ดังนั้นเองที่ฝรั่งเศสที่ครอบครองกัมพูชาลงมือบูรณะเผยโฉมความอลังการของปราสาทหินออกมาให้ประจักษ์ต่อสายตา เหมือนชาวยุโรปผู้คิดว่าตัวเองเจริญ เช่นเดียวกันฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างคุณูปการ ค้นพบ บูรณะ บันทึกค้นคว้า และก็เป็นผู้โจรกรรมขโมยศิลปกรรมอารยธรรมล้ำค่าของเขมรออกไปด้วยในเวลาเดียวกัน นั้นแตกต่างจากชาวดัตช์หรือฮอลันดา (ฮอลแลนด์) ที่บูรณะพุทธสถานบูโรพุทโธ บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย หรือชาวอังกฤษที่ค้นพบเสาอโศกและพบขุดค้นแหล่งจุดกำเนิดของพระพุทธเจ้าที่เนปาลและอินเดีย ที่ไม่ได้ลอบขโมยออกไปจนเป็นข่าวใหญ่โต อาจจะเป็นว่าเพราะนั้นไม่มีชิ้นศิลปะล้ำค่ามากดังเช่นที่นครวัด-นครธมก็เป็นได้ นอกจากจะได้เพียงเศียรพระพุทธรูปเท่านั้น

เช่นนี้แล้วการที่มรดกล้ำค้าของเขมรที่สร้างทิ้งไว้นี้ได้อนิสงค์ตกทอดให้กัมพูชาปัจจุบัน สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ สร้างเม็ดเงินมหาศาลในด้านการหลั่งไหลของชาวโลกเดินทางมาเยี่ยมชมดู เอาเฉพาะสิ่งก่อสร้างอย่างปราสาทหินนี้อย่างเดียว ก็มีอีกมากมายหลายแห่งกระจัดกระจายจนดูแทบไม่หมด เท่านี้ก็เพียงพอให้กัมพูชาได้ลืมตาอ้าปากสร้างประเทศได้ หลังจากที่รบราฆ่าฟันกันมานาน ถึงเวลาที่จะต้องฟื้นฟูเก็บเกี่ยวด้วยการเปิดประเทศอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจ่ายใช้เงิน ฉะนั้นจึงไม่ต้องหงุดหงิดว่าทำไมถึงเนืองแน่นเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเดินกันขวักไขว่

นี้ยังไม่นับธรรมชาติประทานมาให้กัมพูชาอย่างความอุดมสมบูรณ์อีกแห่งอย่าง ต็วนเลซาบ ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่กลายเป็นอีกแหล่งทำเงินทั้งด้านการประมงและการท่องเที่ยวอีกแห่ง

เช่นเดียวกันที่น่าชื่นชมอีกอย่างคือ การรักษาต้นไม้ที่กินอาณาเขตรอบตัวปราสาทกว้างเช่นนี้เอาไว้ได้ จึงทำให้ตัวปราสาทกับต้นไม้ดูจะเป็นหนึ่งเดียวกัน รักษาคุณค่าเอาไว้เช่นเดียวกับที่มีมาในอดีต นั้นก็ไม่ต้องถึงกับต้องตัดต้นไม้ขายเหมือนกับตัวอย่างบางประเทศ ทั้งๆที่แต่ละต้นนั้นลำต้นได้รูปตรงสูงชรูดแบบที่พ่อค้าไม้มาเห็นถึงกับตาลุกน้ำลายไหลด้วยความอยากได้

แต่หากนี้คือความหมายที่แตกต่างกัน กษัตริย์ขอมโบราณได้ใช้ความทะยานยากสร้างทิพยสถานขึ้นแทน เพื่อบูชาแด่องค์เทพที่พวกเขาเคารพบูชา และความศรัทธาอย่างแรงกล้านี้ผลักดันให้ช่วยกันสร้างเทวาลัยด้วยการสกัดหิน จากแหล่งตัดหินเขาพนมกุเลนห่างออกไปถึง 50 กม. ใช้ช้างนับพันใช้คนนับหมื่นขนย้ายหินขนลงทางน้ำต่อแพและขนไปทางบก มาสร้างเทวสถานปราสาทใหญ่โตใช้เวลานานนับสิบๆปีเอาไว้ตรงนี้ ไว้เป็นอนุสรณ์มรดกที่ล่ำค่าที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกมนุษย์

ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมรอบตัวปราสาทถึงมีบาราย baray (ทะเสาบเทียม) และคูน้ำขนาดใหญ่ให้เห็นแปลกตา เพราะนี้คือภูมิปัญญาอีกด้านในการสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ประโยชน์ทางชลประทานอย่างถาวร การขุดคูน้ำรอบที่ตั้งปราสาท นอกจากจะได้ดินไปปรับที่ก่อเป็นเนินสูงตามความเชื่อนับถือในศาสนาฮินดู ที่ว่านั้นคือการสร้างเขาพระสุเมรุเป็นที่สิ่งสถิตย์ขององค์เทพอย่างพระอิศวรพระนารายณ์ ที่จะต้องมีทะเลล้อมรอบ การเอาดินไปก่อสร้างเพื่อวางก้อนหินเช่นนี้ ยังเกิดให้เป็นคูน้ำทอดยาวขนาดใหญ่ดั่งแม่น้ำสายหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน



จะว่าไปแล้วในฐานะคนไทยที่มีโอกาสไปเห็นนั้น ก็แทบจะภูมิใจแทนชาวกัมพูชาที่มีสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าเมืองไทยจะมีแต่ขนาดเล็ก ขนาดมโหฬารใหญ่โตอลังการแล้วต้องไปดูที่กัมพูชา ต้นกำเนิดปราสาทและผู้สร้างปราสาทหินเอาไว้ทั่วแดนถึงอาณาเขตของไทย ที่ในขณะนั้นยังไม่มีอาณาจักรสุโขทัยเสียด้วยซ้ำ และเจ้าของผู้สร้างก็คือชาวขอมโบราณผู้มาเป็นคนเขมรชาวกัมพูชาในปัจจุบันนั้นเอง



ยังมีคำถามที่ว่ากษัตริย์ขอมโบราณได้เห็นปราสาทที่ไหน จึงได้สร้างและพัฒนาการสร้างปราสาทมาเป็นรูปแบบของตนเองเสียใหญ่โตปานนี้ แน่นอนว่าเป็นพราหมณ์มีอิทธิพลต่อราชวงศ์ขอมในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณศาสนา ได้ชี้แนะและวางคติการสร้างเทวาลัยออกมา เพื่อเทิดทูนองค์เทพที่นับถือ แล้วพราหมณ์เหล่านี้น่าได้ความคิดมาจากการติดต่อและได้รับจากการเผยแพร่ศาสนามาจากอาณาจักรที่อยู่ใกล้กัน คือ ศรีวิชัย บนเกาะชวาที่มีสิ่งก่อสร้างแบบหินขนาดใหญ่อย่าง จันดิศิวะมหาเทวา และ บูโรพุทโธ ที่มีมาก่อนขอมเสียอีก และอาณาจักรศรีวิชัยคงได้รับแนวคิดและอิทธิพลมาจากการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าและนักบวชจากอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูมาก่อนอีกทอดก็เป็นได้



ข้อน่าฉุกคิดคำออกเสียงของ พระเจ้าชัยวรมัน ในภาษาอังกฤษเขียนว่า Jayavarman หรืออาจเป็นได้ว่านี้คือราชวงศ์ชวาสายหนึ่งที่มาปกครองพื้นที่นี้แล้วประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับอาณาจักรศรีวิชัยแห่งเกาะชวา โดยมีจารึกที่พบระบุว่าในยุคราวพุทธศตวรรษที่ 14 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ราว พ.ศ.1345-1393) เมื่อรวบรวมแคว้นเจนละบกและเจนละน้ำเป็นปึกแผ่นเดียวแล้ว ทรงรับเอาอิทธิพลลัทธิเทวราชาจากชวามาสถาปนาในอาณาจักรของพระองค์ จนเกิดเป็นราชประเพณีในการสร้างปราสาทหรือเทวาลัยเป็นทิพยวิมานของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ นับแต่นั้นมา



Create Date : 03 ธันวาคม 2558
Last Update : 11 ธันวาคม 2558 15:45:24 น. 1 comments
Counter : 4270 Pageviews.

 
ถูกต้องตามท่ีจขบ.ได้กล่าวมาทุกอย่างขอชม


โดย: หนานเตอะ IP: 171.101.39.208 วันที่: 5 ธันวาคม 2558 เวลา:20:09:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปางนู
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Group Blog
 
 
ธันวาคม 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
3 ธันวาคม 2558
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ปางนู's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.