ลำปาง-กลับมาเยือนอดีตเมืองแห่งล้านนาภาคเหนือ

ลำปางเป็นหนึ่งกลุ่มอาณาจักรล้านนาจังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่เป็นแบบเอกลัษณ์เฉพาะถิ่น รูปแบบทางวัฒนธรรม ศาสนา การก่อสร้างศิลปะตึกอาคาร และโบราณเก่าแก่ศาสนสถานล้ำค่า ความสวยงามด้านศิลปะนี้ ล้วนมีมาแต่อดีตการตั้งเมืองของผู้ครองเมือง จนมาถึงการเข้ามาการทำไม้สักของพม่าและการตั้งถิ่นฐานของชาวจีน

การมาเยือนลำปางอีกครั้งครั้งนี้ จึงไม่เพียงการมาเยี่ยมญาติที่เป็นน้าสาว ซึ่งมาตั้งรกรากอยู่ที่ลำปาง แค่ยังเป็นการมาเยือนระลึกฟื้นอดีตของตัวเมืองลำปาง ซึ่งเคยมาเยือนเมื่อนานมาแล้ว จุดมุ่งหมายในการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้ คือ สถานที่ท่องเที่ยวหลักที่มีชื่อเสียงของลำปาง

หลังจากเดินทางมาถึงลำปางเช้า เก็บข้าวของทานอาหารเรียบร้อย วันแรกสถานที่แห่งแรกช่วงเช้านั้น เราเดินทางไปที่ วัดศรีรองเมือง วัดที่มีรูปแบบของวัดพม่า 1 ใน หลายวัดของลำปาง ที่สร้างโดยพ่อค้าไม้ชาวพม่าที่ติดสอยห้อยตามชาวฝรั่งมาลงทุนทำธุรกิจค้าในลำปาง และชาวพม่าเมื่อมีฐานะก็มักนิยมสร้างวัดขึ้นเป็นศิลปแห่งพม่าเด่นชัด


วัดศรีรองเมือง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 เดิมมีชื่อว่า วัดท่าคะน้อยพม่าชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้ในเมืองลำปาง  โดยคหบดีชาวพม่าพ่อเฒ่าอินตะและแม่เฒ่าศรีคำอ่อน ศรีรองเมือง บริจาคที่ดินร่วมบริจาคทรัพย์กับชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาสร้างวัดขึ้น โดยใช้ฝีมือของช่างชาวพม่าจากเมืองมัณฑเลย์

ดังนั้น วิหารที่มีหลังคาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ บางส่วนของจั่วหลังคาได้ถอดแบบมาจากปราสาทเมืองมัณฑเลย์ เดิมภายในวัดศรีรองเมืองมี วิหารน้อยมีอยู่ 9 หลัง แต่ปัจจุบันวิหารน้อยเหล่านั้นปรักหักพังไปจนหมดสิ้น จึงเหลืออยู่เพียงวิหารใหญ่ซึ่งเป็นวิหารประธานของวัดเพียงหลังเดียว

จำได้ว่านี้เป็นวัดที่อดีตน้าพามา น่าจะเป็นความตั้งใจ ถึงครั้งที่ได้มาเที่ยววัดด้วยกัน เพื่อระลึกความทรงจำระหว่างกันของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของตัวเมืองลำปาง จากวัดศรีรองเมืองเดินทางต่อมาที่ วัดปงสนุก วัดตั้งบนเนินเล็กๆ คล้ายจำลองรูปแบบมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวงที่เกาะคา วัดเป้ามายที่จะพาไปเที่ยวภายหลัง


วัดปงสนุก ประกอบด้วยด้วยวัด 2 วัดอยู่ติดกันคือหรือวัดปงสนุกเหนือและวัดปงสนุกใต้ ตั้งอยู่ในเขต ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดสำคัญคู่กับจังหวัดลำปางมาช้านาน เดิมวัดปงสนุกมีชื่อเรียกถึง 4 ชื่อ ได้แก่ วัดศรีจอมไคล วัดเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว วัดพะยาว ชื่อที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การอพยพผู้คนในเหตุการณ์ช่วงปี พ.ศ.2346 ที่พญากาวิละได้ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่ตั้งมั่นของพม่า และได้กวาดต้อนชาวเชียงแสน ซึ่งเป็นชาวบ้านบ้านปงสนุกมาตั้งถิ่นฐานที่ลำปางรวมถึงการอพยพของคนเมืองพะยาวที่หนีศึกพม่าลงมายังลำปาง ชาวปงสนุกเชียงแสนและชาวพะยาว จึงได้ตั้งบ้านเรือนจนกลายเป็นหมู่บ้าน ราว พ.ศ. 2386 เจ้าหลวงมหาวงศ์ได้ไปฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ได้นำชาวพะยาว (พะเยา) อพยพกลับ แต่ก็ยังคงเหลืออีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมกลับได้มาตั้งรกรากอยู่กับชาวบ้านปงสนุกตั้งแต่นั้นมา ชื่อวัดและหมู่บ้านจึงเหลือเพียง ปงสนุก เพียงชื่อเดียว

แสงเช้าของหน้าเดือนพฤศจิกายนของลำปาง แสงสีของท้องฟ้าเป็นใจให้ถ่ายภาพวัดได้สวยสมใจ ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ของการเดินทางไปที่วัดต่อไป คือ วัดสำคัญอย่าง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ไม่แน่ใจว่าบริเวณนี้เป็นด้านหน้าหรือด้านหลังของวัด แสงเช้าแสงส่องมาจากทิศตัวตะวันออกจึงสมชื่อสีท้องฟ้า แต่คิดว่าถ้ามีโอกาสจะต้องมาถ่ายในช่วงบ่ายอีกด้านหนึ่งของวัด จะมีภาพออกมาอย่างไร

จากวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เดินทางต่อไปที่ สุสานไตรลักษณ์ ของหลวงพ่อเกษม เขมโก พระอริยสงฆ์มีชื่อเสียง เพื่อไปกราบไหว้สักการะ ภาพเมื่อมาพบกับรูปหล่อองค์ใหญ่หน้าวัด ค่อนข้างเลือนรางจากที่เคยมาเยือนเมื่อครั้งก่อน ปรากฏสิ่งก่อสร้างหลายตึกสมฐานะสถานที่สร้างสมบารมี สร้างชื่อเสียงด้านวัติปฎิบัติที่เคร่งของท่าน สถานที่เคยเป็นป่าช้ามาก่อน จึงได้ชื่อว่าสุสานไตรลักษณ์ และทำให้ท่านเป็นพระที่ได้รับความศรัทธานับถือกราบไหว้บูชาเชื่อถือความศักดิ์สิทธิ์ของชาวลำปางและชาวพุทธทั่วไป

รูปปั้นหลวงพ่อเกษม เขมโก ขนาดองค์ใหญ่ในท่ายืน ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าบริเวณด้านหน้า ณ สำนักสุสานไตรลักษณ์ (ป่าช้าศาลาดำ) บ้านท่าคร่าวน้อย ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง สถานที่ซึ่งหลวงพ่อเกษมท่านได้แสดงสัจธรรมให้ประจักษ์ถึงความเป็นอนัตตา เป็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ และมีตาย

หลวงพ่อเกษม เขมโก มีนามเดิมว่า เกษม มณีอรุณ เกิดเมื่อวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ตรงกับวันที่ 28 เจ้าเกษม ณ ลำปาง บรรพชาเป็นสามเณรครั้งแรก ณ วัดป่าดัวะ จังหวัดลำปาง อายุได้ 21 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบุญยืน จังหวัดลำปาง ได้รับนามฉายาว่า เขมโก ซึ่งแปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม ต่อมาเจ้าอธิการเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน ถึงแก่มรณภาพทางคณะศรัทธาญาติโยมจึงได้นิมนต์หลวงพ่อเกษมให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน เนื่องจากท่านชอบความวิเวก จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2492 ท่านเกิดเบื่อหน่ายและได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาสออกเดินธุดงค์ไปอาศัยอยู่ที่ป่าช้าศาลาวังทาน ป่าช้าแม่อาง และป่าช้าศาลาดำ ซึ่งที่นี่ต่อมาคือ สุสานไตรลักษณ์ การปฏิบัติท่านมีปฏิปทาเช่นเดียวกันกับพระป่าที่เที่ยววิเวกไปในทุกแห่งหนนั้นเอง

หลวงพ่อเกษมท่านได้ละสังขาร เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2539 ซึ่งตรงกับวันแรม 11 ค่ำ เดือน 2 สิริอายุรวมได้ 84พรรษา 63 ยังความอาลัยเศร้าโศกเสียใจมายังหมู่ศานุศิษย์ทั่วประเทศ 

หลังจากออกมาจากสถานปฎิบัติธรรม สุสานไตรลักษณ์แล้ว เป็นเวลาอาหารเที่ยง ไปทานข้าวกันที่ร้านข้าวซอยโอมา นัยว่าเป็นร้านมีชื่อของอาหารที่เรียกว่า ข้าวซอย เป็นเส้นคล้ายหมี่กรอบ น้ำซุ๊ปรสชาติแบบเครื่องเทศผสมกับกะทิรสจัดจ้านทีเดียว 

ข้อหนึ่งของการให้คนอื่นพาไปเที่ยว อาจจะสะดวกสบาย แต่ในฐานะช่างภาพบันทึกภาพและเรื่องราวด้วยแล้วต้องรู้ว่าสถานที่นั้นไปทางไหนและอยู่ตรงไหน ยิ่งการถ่ายภาพด้วยแล้วต้องไปคนเดียว เพื่อสามารถกำหนดการด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเดินหรือขับรถเที่ยวเอง พบเห็นตรงไหนแล้ว ก็จอดรถเดินหามุมได้โดยไม่ต้องเกรงใจหรือรอใคร

เมื่อกลับมาที่พักแล้ว ต้องการที่จะขับรถตระเวนไปเที่ยวเองมากกว่าจะรบกวนน้าพาเที่ยว ดังนั้นช่วงบ่าย ไม่รอช้าที่จะขออนุญาตยืมรถมอเตอร์ไซด์ได้แล้ว ก็ขับออกมาโดยใช้หอนาฬิกาเป็นเครื่องหมายในการเดินทางกลับที่พักได้ถูก เนื่องจากอยู่ใกล้บ้านของน้า

หอนาฬิกา เป็นทางสาย 5 แยก ขับรถตรงไปไม่นานก็ไปพบกับวัดสวยงาม มีพระพุทธรูปองค์ขาวตั้งอยู่หน้าวัด ชื่อว่า วัดเชียงราย ตัวโบสถ์นั้นคล้ายดังสร้างด้วยโลหะเงิน รูปแบบล้านนาแท้แน่นอน แต่มองแบบผิวเผินไม่ได้เดินพินิจรายละเอียด เพราะมีเป้าหมายที่วัดสำคัญที่ต้องไปก่อน ดังนั้นจึงถ่ายภาพเก็บรายละเอียดได้ไม่มากนัก

เพราะเป้าหมายช่วงบ่ายนี้ คือ ต้องไปให้ถึง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม แต่ในระยะทางที่ขับไป ต้องมีหลงแน่นอน เนื่องจากถนนของตัวเมืองลำปางนั้น นอกจากสายหลักแล้ว ถนนไปยังวัดหลายแห่งนั้นผ่านตรอกซอกซอยลดเลี้ยวอยู่มาก เมื่อใดที่ขับหลงไม่แน่ใจก็สอบถามทางซอกซอน ขับไปจอดถามทางไป จนไปทะลุเอาที่กำแพงเมืองแห่งหนึ่ง มาดูข้อมูลในแผนที่พบว่ากำแพงนี้ชื่อว่า ประตูม้า ที่อยู่ใกล้กับสุสานไตรลักษณ์ ซึ่งเมื่อขับอีกไม่ไกลนักก็ถึงวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม 

ประตูม้า เมืองเก่าแก่แทบทุกเมือง มักจะทำ ประตูผี ไว้ด้านหลังเมือง เพื่อขนศพคนตายออกนอกเมืองทางประตูหลัง จังหวัดลำปาง หรือ เขลางค์นคร ก็มีประตูผีหมือนกัน แต่เรียกกันว่า ประตูม่า ภาษาพื้นเมืองแปลว่า ประตูผี ประตูม่า เรียกไปเรียกมาเรียกเพี้ยนเป็น ประตูม้า กำแพงเมืองเก่า ประตูม่า ประตูม้า หรือ ประตูผี ที่ลำปาง ก็ใช้เป็นที่ลำเลียงศพออกจากเมืองลำปาง แล้วนำเข้าไปทำพิธีทางศาสนาที่สุสาน ในปัจจุบันคือ สำนักสุสานไตรลักษณ์ สถานปฏิบัติธรรมของ หลวงพ่อเกษม เขมโก เกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคเหนือที่มีผู้เคารพนับถือ สุสานไตรลักษณ์-ประตูม้า ตั้งอยู่ชานเมืองลำปาง ห่างจาก อ.เมืองลำปาง ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 4 กม.

ดังนั้นช่วงบ่ายจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินหามุมถ่ายภาพวัดมีชื่อของลำปางแห่งนี้ ความใหญ่โตของวัด จึงมีศาสนสถานตั้งอยู่หลายแห่ง ประวัติบอกว่าเป็นการรวมกันของสองวัด คือ วัดพระแก้วดอนเต้า กับ วัดสุชาดา มารวมเป็นวัดเดียวกัน จึงมีวิหารหลายแห่งทั้งแบบล้านนาและพม่า และโดยเฉพาะเจดีย์วัดพระแก้วนี้เป็นที่ตั้งพระบรมธาตุดอนเต้าที่ภายในบรรจุพระเกศาพระพุทธเจ้า



วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งอยู่ที่  ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง วัดพระแก้วดอนเต้าเคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตามประวัติกล่าวว่า ปี พ.ศ.1979 พระเจ้าสามฝั่งแกนเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทรงจัดขบวนแห่เพื่อรับพระแก้วมรกตจากเชียงรายไปเชียงใหม่ แต่ขบวนแห่มาถึงทางแยกที่จะไปนครลำปาง ช้างที่รับเสด็จพระแก้วมรกตวิ่งตื่นไปทางเมืองลำปาง พระแก้วมรกต จึงถูกประดิษฐานไว้ ณ วัดพระแก้วดอนเต้า เป็นเวลา 32 ปี พ.ศ.2011 พระเจ้าติโลกราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปเชียงใหม่

วัดพระแก้วดอนเต้า ยังมีตํานานกล่าวถึงการพบแก้วมรกตในผลแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่าหมากเต้า) ของนางสุชาดา ซึ่งได้นำมาถวายพระเถระรูปหนึ่งได้จ้างช่างแกะสลักมรกตนั้นเป็นพระพุทธรูป ซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า แต่มีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางว่า พระเถระและนางสุชาดาเป็นชู้กัน เจ้าเมืองลำปางจึงให้จับนางสุชาดาไปประหารชีวิต ส่วนพระเถระองค์นั้นทราบข่าวก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหนีไป โดยได้นำไปฝาก วัดพระธาตุลําปางหลวง และต่อมาถูกอัญเชิญประดิษฐานไว้วัดนี้มาจนถึงปัจจุบัน

วัดสุชาดาราม สร้างขึ้นราว พ.ศ.2325-2352 เชื่อกันว่าที่ตั้งของวัดแห่งนี้ คือ บ้านและไร่แตงโมของเจ้าแม่สุชาดาในอดีต เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนางสุชาดาหลังจากได้รับโทษประหารชีวิตด้วยความเข้าใจผิดและมาปรากฎความจริงในภายหลัง ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสร้างวัดขึ้นชื่อวัดสุชาดา และเพราะย่านนี้เป็นสวนหมากเต้าและเป็นที่ดอน จึงเรียกพระธาตุว่า พระบรมธาตุดอนเต้า และได้ชื่อวัดว่า วัดพระธาตุดอนเต้า และต่อมาเมื่อมีการประดิษฐานพระแก้ว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระแก้วดอนเต้า

ต่อมาปี พ.ศ. 2527 ได้ดำเนินการรวมวัดสุชาดารามเข้ากับวัดพระแก้วดอนเต้า เรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

เมื่อถ่ายภาพจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็ขับรถออกจากวัดมาพบกับทางแยกเป็นสี่แยกเห็นรูปหล่อม้าสีขาวลักษณะกระโจนอยู่ตรงกลางสี่แยก นี้น่าจะเป็นถนนสายสำคัญของลำปาง ถึงกับสร้างรูปม้าไว้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองรถม้า ขับต่อไปพบกับสะพานสีขาวที่ชื่อว่า สะพานรัษฎาภิเศก ในช่วงแสงอาทิตย์ก่อนจะเป็นเป็นสีทองนั้น ท้องฟ้าสวยเป็นใจให้จอดรถเดินหามุมถ่ายบริเวณนี้ได้ภาพถูกใจหลายภาพ แต่น้ำแล้งมากปีนี้

สะพานรัษฎาภิเศก สะพานข้ามแม่น้ำวังในตัวเมืองลำปาง ระหว่างฝั่งน้้ำ ย่านเวียงเหนือ กับ ย่านหัวเวียง สะพานรัษฎาภิเศก แรกเริ่มสร้างในสมัยของ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางเป็นสะพานไม้พื้นเมืองความยาว 120 เมตร เป็นสะพานที่จัดสร้างขึ้นงานราชพิธีรัชดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5  (พ.ศ.2436)  และได้รับพระราชทานนามว่า สะพานรัษฎาภิเศก

ด้วยลำปางเป็นการศูนย์กลางการทำไม้สัก ในยามฤดูน้ำหลากการตัดไม้ลอยมาตามแม่น้ำวัง จึงมีท่อนซุงไหลลอยมาตามน้ำเข้าปะทะสะพานรัษฎาภิเศก จึงทำให้สะพานรัษฎาภิเศก ที่เป็นเพียงสะพานไม้ธรรมดาพังลงมาในปีพ.ศ.2444

หลังจากสะพานรัษฎาภิเศกรุ่นแรกที่สร้างด้วยไม้พังลงมาเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ จึงได้มีจดหมายจัดสร้างขึ้นใหม่เป็นสะพานไม้เสริมเหล็ก สร้างสำเร็จ รศ.123 (พศ.2448)

แต่ฤดูน้ำหลากในปีพ.ศ.2458  ปรากฎสะพานรัษฎาภิเศก ก็ได้หักพังมาอีกครั้ง คราวนี้จึงคิดกันว่าน่าจะได้จัดสร้างทำเป็นสะพานถาวร เสาและพื้นสะพานเป็นคอนกรีต เรียกว่าสะพานแฟโรคอนกรีต (น่าจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก) เมื่อมีหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  ทรงเห็นควรทำอย่างแฟโรคอนกรีตให้เป็นการถาวรมั่นคงเสียทีเดียว จึงทำให้ชาวลำปางได้มีสะพานที่คงทนมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่เห็นจากอักษรจารึกที่หัวสะพานว่า มีนาคม 2460  คือ ปีที่สะพานรัษฎาภิเศกสร้างเสร็จ

สะพานรัษฎาภิเศก เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กสีขาว รูปโค้งคัน ธนูโค้งคู่ มีเสาตรงหัวสะพาน องค์ประกอบของเสาสะพานประกอบด้วยพวงมาลายอดเสา แสดงถึงการรำลึกถึงรัชกาลที่ 5 รูปครุฑหลวงแสดงถึงตราสัญลักษณ์แผ่นดินสยาม รูปไก่ขาว (ไก่หลวง) แสดงถึงสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง

และเมื่อตะวันจะตกดิน จึงได้มีโอกาสเดินชมตลาดคนเดินตรงถนนสายเล็กริมแม่น้ำวัง ใกล้กับสะพานสีขาวแห่งนี้

สองฟากฝั่งของแม่น้ำวังกลางเมืองลำปาง เป็นย่านการค้าสำคัญของจังหวัด ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองของเมืองย่านริมน้ำโดยใช้แม่น้ำทั้งการคมนาคมค้าขายและการล่องไม้สัก การค้าย่านการค้าเก่าของนครลำปางในสมัยนั้น คือ ตลาดจีน ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำวัง มีสะพานข้าม เริ่มตั้งชุมชนการค้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยการติดต่อทางน้ำระหว่างกรุงเทพฯและนครลำปาง สมัยนั้นต้องอาศัยแม่น้ำวังสามารถล่องเรือไปเมืองปากน้ำโพ (นครสวรรค์) และกรุงเทพฯ

เมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ชุมชนตลาดจีน จึงกลายเป็นศูนย์การทางการค้าที่สำคัญของนครลำปางในการติดต่อค้าขายทางไกลระหว่างพม่าและยูนานรวมทั้งกรุงเทพฯและอังกฤษ ดังนั้นชุมชนตลาดจีน จึงเป็นทั้งย่านที่พักอาศัยของพ่อค้าชาวพม่า ชาวจีน ไทยใหญ่ และอินเดีย โดยมีกลุ่มพ่อค้าชาวพม่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันเราจึงได้เห็นอาคารบ้านเรือนที่เก่าแก่สวยงามอยู่หลายหลังบนถนนสายที่เรียกกันว่า ตลาดจีน หรือ กาดกองต้า ที่รู้จักกันในขณะนี้

วันที่ 2 วันนี้มีแผนจะไปที่วัดสำคัญที่สุดของลำปาง คือ วัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ระยะทางนั้นอยู่ไกลออกไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมือง ฉะนั้นช่วงเช้านี้จึงคิดว่าจะกลับไปที่วัดพระแก้วดอนเต้าอีกครั้ง

ระยะทางจากหอนาฬิกาเลี้ยวไปทางขวา ซอกซอนไปตามถนนสายเล็กๆจนไปพบบ้านไม้ชื่อว่า บ้านเสานัก แต่กลับมีการใช้สถานที่จัดงานแต่งงาน ไม่ต้องการรบกวน ถ่ายได้ด้านหน้า เลยอดเข้าไปภายในว่าจะไปถ่ายภาพภายในบ้านที่ว่ามีเสามากถึง 116 ต้น เดินทางต่อมาเห็นวัดแห่งหนึ่งอยู่ไม่ไกล เป็นวัดสวยแสงเช้าจึงเข้าไปถ่าย วัดนี้ชื่อว่า วัดประตูป่อง

จากวัดประตูป่องรีบขับไปให้ถึง วัดพระแก้วตอนเต้าสุชาดาราม ผ่านสี่แยกรูปม้าขาวอีกแล้ว งงๆว่าผ่านมาได้อย่างไร น่าจะขับหลงมา แต่อย่างไรก็สามารถไปต่อจนถึงวัดพระแก้วดอนเต้าอีกครั้ง ครั้งนี้แสงเช้าสวย ได้ภาพถูกใจมาอีกมุมของวัด เท่ากับเที่ยวครั้งนี้มา   วัดพระแก้วดอนเต้าถึง 3 ครั้ง ถ่ายเพลินไปหน่อย ดูเวลาแล้วเห็นทีต้องตัดใจจากวัดนี้เสียที เพื่อเดินทางอีกระยะทาง 18 กม.ปลายทางอำเภอเกาะคา ที่ตั้งวัดพระธาตุลำปางหลวง เพื่อจะได้ไปถ่ายภาพให้ทันในช่วงเช้าให้ได้  

แต่กว่าจะผ่านออกจากตัวเมืองลำปางก็หลง ต้องสอบถามทาง บอกให้ไปที่สี่แยกเวียงทอง เพื่อไปยังถนนสายใหญ่ถนนไฮเวย์ สายลำปาง-งาว สายที่ผ่านบิ๊กซีไป อ.เกาะคา ถนนสายใหญ่นี้มาถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าตัว อ.เกาะคา ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำวังสายยาวที่ไหลมาถึงที่นี่ ขับตรงไปผ่านที่ว่าการ อ.เกาะคา และตรงไปอีกระยะทางไม่ไกลจนถึง วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่มองเห็นตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดหย่อมมาแต่ไกล ผู้คนพลุกพล่านทีเดียว 


วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร วัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บริเวณพุทธาวาส องค์พระธาตุลำปางหลวง มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ ซุ้มประตูโขง ถัดขึ้นไปเป็น  วิหารหลวง บริเวณทิศเหนือมี วิหารน้ำแต้ม และ วิหารต้นแก้ว ด้านตะวันตกประกอบด้วย วิหารละโว้ และ หอพระพุทธบาท ด้านใต้มี วิหารพระพุทธ และอุโบสถ ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคาร หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์และกุฏิสงฆ์

ในทางประวัติศาสตร์วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติเกี่ยวกับความเป็นมาของบ้านเมืองในปี พ.ศ. 2275 ที่นครลำปางว่างเว้นจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น พม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ท้าวมหายศ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร ตามประวัติพระนางจามเทวีเคยเสด็จมานมัสการ และทำการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ นับว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล มีความสวยงาม และมีความยอดเยี่ยมทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรม เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้าซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำปาง และชาวพุทธทั่วไป

เวลา 2 วันที่มีโอกาสท่องเที่ยวอยู่ที่ลำปาง จึงแทบจะไม่ได้ไปเที่ยวชมพบเห็นศาสนสถานอื่นที่ตั้งกระจายอยู่ทั้งในตัวเมือง และตามอำเภอต่างได้มากนัก ซึ่งมีอีกเยอะที่เดียว เนื่องเพราะได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ครั้งนี้จึงเป็นการกลับมารำลึกถึงสถานที่ที่เคยมาในอดีตลำปางอีกครั้ง เพื่อย้อนระลึกกลับไปเยือนสถานที่และชมวัดที่มีชื่อเสียง สถานที่เคยมาเมื่อครั้งแรกนานมาแล้วและก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2559
2 comments
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2559 16:21:29 น.
Counter : 4005 Pageviews.

 

สวัสดีค่ะ..

ไม่ได้ไปลำปาง มานนานล่ะ..

ครั้งสุดท้าย เมื่อกุมภาพันธ์ปีที่แล้วค่ะ..

คิดถึงอากาศเย็นๆนะค่ะ

 

โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) 7 กุมภาพันธ์ 2559 18:43:15 น.  

 

thx u crab

 

โดย: Kavanich96 8 กุมภาพันธ์ 2559 1:49:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ปางนู
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2559
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
2829 
 
7 กุมภาพันธ์ 2559
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ปางนู's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.