Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
18 มกราคม 2549
 
All Blogs
 
ตอนที่ 9 ... เล่าเรื่องเหมืองพลอย (5)

การเผาพลอย

ปัจจุบันมีพลอยก้อนเม็ดที่ไม่ผ่านการเผา การเผาคืออะไร ทำไมต้องเผา เป็นคำถามที่ได้รับอยู่เสมอ

ก่อนอื่น ต้องรู้จักกำเนิดของพลอยเสียก่อน ถ้าอ่านเรื่องกำเนิดของพลอยในตอนแรกๆ จะเห็นว่า พลอยเกิดจากการรวมตัวกันของแร่ธาตุต่างๆ ตามถิ่นกำเนิด บวกกับออกไซด์ ผ่านความร้อนของภูเขาไฟตามความเห็นของนักวิทยาศาสตร์

เมื่อพลอยเม็ดนั้นผ่านความร้อนที่พอดี คือไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป จะเกิดเป็นพลอยที่มีความสมบูรณ์ ที่นี้ปัญหาจึงมีว่า แล้วเม็ดที่ผ่านความร้อนที่ไม่พอดีล่ะ จะเป็นอย่างไร

เม็ดที่ผ่านความร้อนน้อยมาก ไม่พอกับการสุกของพลอย จะกลายเป็นพลอยเนื้ออ่อน

พลอยเม็ดไหนได้รับความร้อนที่สูงมาก จนเลยขีดที่เนื้อของพลอยจะรับได้ พลอยเม็ดนั้นจะแตกมาก บางเม็ดจะมีเนื้อตันไปเลย ทั้งพลอยเนื้ออ่อนและพลอยที่ได้รับความร้อนเกินขีดพิกัด จะกลายเป็นพลอยที่ไม่มีราคา เรื่องพลอยเนื้ออ่อนจะกล่าวในตอนต่อไป

แล้วพลอยอะไรที่จะต้องนำมาเผา

บอกไว้แล้วว่า ถ้านับเปอร์เซ็นต์ของพลอยที่ขุดขึ้นมา 100 เม็ดจะมีที่สมบูรณ์ โดยไม่ต้องทำการเผาสัก 1 หรือ 2 เม็ดเท่านั้น

นอกจากนั้น พ่อค้าจะต้องพิจารณาว่า เม็ดใดควรเผา เม็ดใดไม่ควรเผา การเผาก็คือการเพิ่มความร้อนให้กับพลอยเม็ดนั้นๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสีสรรของแร่ธาตุในพลอยเม็ดนั้น แต่ก็จะต้องอยู่ในสูตรของการเผา และสูตรนี้ก็ยังเป็นความลับจนปัจจุบัน จะรู้เฉพาะเจ้าของสูตรเท่านั้น

การเผาที่ไม่มีสารเคมี (คือไม่มีการเพิ่มสารเคมีเข้าไปในขณะเผา) เมื่อเผาแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นที่ยอมรับของวงการพลอยทั่วไป

พ่อค้าที่ทำการเผาพลอย จะต้องพร้อมที่จะเผชิญกับความเสี่ยง เพราะพลอยบางเม็ดก่อนเผาราคา 100,000 บาท เผาเสร็จมีความสวยงามมากขึ้น ราคาเพิ่มเป็นหลายแสน

แต่บางเม็ดก่อนเผา ราคา 100,000 บาท เผาเสร็จไม่สวยอย่างที่หวัง ราคาตกลงมาเหลือไม่ถึงหมื่นก็มีบ่อยๆ เพราะฉะนั้น จะเป็นนักเผาพลอย ต้องกล้าเสี่ยง กล้าได้ กล้าเสีย

เตาเผาพลอย

เตาเผาพลอยมีหลายแบบ แล้วแต่ว่าจะเผาพลอยอะไร ชื่อของเตาเผา มีหลายอย่าง เช่น เตาเผาถ่านหิน (สมัยก่อนเป็นถ่านหุงข้าว), เตาน้ำมันโซล่า, เตาไฟฟ้า, เตาแก๊ส และเตาอบ

เตาเผาพลอยมีหลายอย่าง ใช้กับพลอยแต่ละชนิด เช่น

พลอยแดง (ทับทิม) ใช้กับเตาไฟฟ้า เพราะสามารถควบคุมอุณหภูมิ สามารถเพิ่มความร้อนได้ถึง 1800 องศาฟา
เรนไฮต์ ซึ่งนับว่าสูงมาก ถ้านำวัตถุอื่นมาเผากับความร้อนขนาดนี้ วัตถุนั้นจะละลายเป็นน้ำในเวลาไม่นาน แต่พลอยเนื้อแข็งแบบทับทิมสยาม ไพลิน หรือบุษราคัม ทนทานความร้อน 1000 กว่าองศาได้โดยไม่เป็นอะไร

พลอยจะถูกนำไปใส่ในเบ้าเผาพลอย เบ้านี้จะสามารถทนทานความร้อน จากนั้นนำไปวางไว้ในเตา เปิดไฟฟ้าให้ความร้อน การให้ความร้อนและเวลา เป็นสูตรที่ปิดบัง บางชนิดใช้เวลาสองถึงสามชั่วโมง แต่บางชนิดเผากันเป็นวันเป็นคืนก็มี

เตาถ่านหิน เตาแก๊ส เตาน้ำมันโซล่า ใช้สำหรับเผาพลอยไพลิน หรือพลอยเขียว จะต้องสร้างเตาเป็นพิเศษ เอาถังน้ำมันโซล่าที่ใช้แล้วมาเปิดฝาด้านบน จากนั้นเจาะรูด้านล่างเหนือขอบล่างสัก 6 นิ้วเป็นรูปวงกลม กว้างประมาณ 5 นิ้วเพื่อเป็นท่อเป่าลมจากพัดลมพ่นเหมือนร้านขายก๋วยเตี๋ยว เทปูนทนไฟเหลือตรงกลางไว้ประมาณ 12 นิ้ว เสมอกันจากล่างถึงบน ให้มีรูสำหรับพัดลมด้วย เตาถ่านหินจะเผาพลอยครั้งละเป็นวัน ค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณพันบาท (สมัยนั้น)


ค้นพบวิธีเผาโดยบังเอิญ

ในโลกนี้มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญมากมาย อย่างเรื่องเผาพลอยก็เช่นกัน เรื่องมีอยู่ว่า พ่อค้าพลอยคนนี้ บ้านอยู่ชานเมืองจันทบุรี วันหนึ่งบ้านถูกไฟไหม้ แกเสียใจมาก เพราะพลอยที่เก็บไว้ เอาออกมาไม่ได้ ซึ่งก็คิดว่าคงจะเสียหายหมด แต่ปรากฏว่า เมื่อไฟสงบลงแล้ว ไปค้นหาตรงจุดที่เก็บพลอยไว้ ขุดดินตรงนั้น เอาไปล้าง ไปร่อนด้วยตะแกรง พบว่าพลอยไม่เป็นอะไร ไม่เสียหาย กับความร้อนจากไฟเลย แกดีใจมาก และได้เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ไม่ยอมบอกใคร ต่อมา ได้มาตรวจดูพลอยเหล่านั้น พบว่า พลอยบางเม็ดมีสีสันที่สวยขึ้นมาก

พ่อค้าคนนั้นจึงทดลองสร้างเตาเผาขึ้นมา ทดลองเผาพลอยชนิดต่างๆ แบบคนบ้าวิชา จนพบความลึกลับของธรรมชาติพลอยดังกล่าว ต่อมา มีพ่อค้าพลอยรู้ข่าว ได้ว่าจ้างให้พ่อค้าคนนี้เผาพลอยให้จนเป็นที่เลื่องลือ และเป็นที่น่ายินดีที่ว่า ประเทศไทยเรานี่เองที่เป็นประเทศแรกที่รู้จักวิธีเผาพลอย

แรกๆ ฝรั่ง ซึ่งเป็นชาติที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงมาก ยังไม่ยอมเชื่อว่าการที่ประเทศไทยเราสามารถเผาพลอยได้นั้นเป็นเรื่องจริง จนถึงต้องส่งคนมาดู ต่อมาก็ยอมรับการเผาว่า เป็นกรรมวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่น่าเสียดายที่มีพ่อค้าหัวใสบางคน ฉวยโอกาสนำสารเคมีมาใช้ในการเผาพลอยเพื่อเปลี่ยนแปลงระดับสี เพื่อหวังผลทางการค้าที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง นับเป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังให้มาก






Create Date : 18 มกราคม 2549
Last Update : 18 มกราคม 2549 19:36:22 น. 0 comments
Counter : 1041 Pageviews.

ดาวอักษร
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ดาวอักษร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.