Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2551
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
29 ธันวาคม 2551
 
All Blogs
 
ดนตรีบำบัด… (รักษา) จิตใจ

ดนตรีบำบัด… (รักษา) จิตใจ


 


“... การสอนเด็กไม่ได้มีเทคนิคอะไรเลย เพราะการสอนนี้ ก็สอนเพื่อทำให้เด็กมีสมาธิในการทำอะไรสักอย่างมากขึ้นเท่านั้น และจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเด็กสามารถนิ่งได้แล้ว ทุกอย่างที่ตามมาก็จะง่ายขึ้น ขั้นตอนต่างๆที่เป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กต่อไป ก็จะง่ายขึ้นตามไปด้วย เหมือนกับการเกิดลมพายุ ซึ่ง เมื่อพายุหยุดแล้วทุกอย่างก็จะนิ่งขึ้น โดยการสอนก็เหมือนกับการทำสมาธิ ในวิชาพระพุทธศาสนาที่เราเคยได้เรียนกัน เมื่อผู้นั่งได้นั่งอย่างตั้งใจจริงๆ เราก็จะมีความนิ่งสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และความสุขก็จะเกิดขึ้น เพื่อนำความสุขที่ได้นั้นไปใช้ในการแก้ปัญหาต่อไป...


อาจารย์ตรีรัตน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการดนตรีบำบัด ด้วยเปียโน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และคุณครูสอนเปียโนบำบัด กล่าวถึงประโยชน์ของกิจกรรมดนตรีบำบัดที่ได้นำมาใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการ รักษาจิตใจของเด็กๆ ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เพื่อให้เด็กๆได้รู้สึกผ่อนคลายความเครียด ความกังวลที่มีอยู่ในตัว รวมถึงเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก


กิจกรรม ดนตรีบำบัด ด้วยเปียโน เป็นกิจกรรมที่ได้นำไปสอนให้กับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศรีธัญญามาก่อน และผลที่ได้เห็นได้ชัดเจน คือผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และสงบขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการทำกิจกรรมนี้ โดยความหนักแน่นในการกดโน้ตเพลง สีหน้า แววตา ท่าทางเวลาเล่น หรือแม้แต่เสียงจากเพลงที่เล่นนั้น สามารถบ่งบอกถึงบุคลิกและอารมณ์ของผู้เล่นได้ เพราะกิจกรรมนี้เป็นการอ่านจิตจากเสียงเพลง เด็กบางคนเก็บซ่อนอารมณ์เอาไว้เวลาเล่น ไม่ยอมปลดปล่อยอารมณ์ออกมาหมดเวลาเล่น เด็กบางคนแสดงบทบาทภาวะการอยากเป็นผู้นำ จะพยายายามให้ตัวเองเป็นผู้นำ เมื่อเล่นได้ก็จะรู้สึกภูมิใจเมื่อเล่นได้ หรือแม้แต่เสียงเพลงที่เล่นก็ตาม การวางมือหนักเบาของปลายนิ้วสัมผัสบนแป้นคีย์บอร์ด สิ่งเหล่านี้จะสามารถอ่านได้ เมื่อเด็กได้เล่นไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าเวลาเล่นเขาได้ปล่อยอารมณ์ออกมากับเพลงได้อย่างเต็มที่ สีหน้าแววตาก็จะเปลี่ยนแปลงไป เด็กจะรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น


ทุกบ่ายวันเสาร์เสียงเพลงบรรเลงที่เกิดจากนิ้วมือน้อยๆของเด็กๆ ดังไปทั่วบ้านและบริเวณรอบๆ บาง จังหวะก็เป็นเพลงสั้นๆ บางจังหวะก็เป็นเพียงเสียงตัวโน๊ตแต่ละตัว เป็นการฝึกซ้อมและทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่คุณครูอาสาสมัครจะมาสอน เด็กบางคนดูประหม่า ตื่นเต้น ไม่กล้าลงน้ำหนักที่นิ้วมือแรงๆ กลัวแป้นดีดจะพัง บางคนนั่งดีดด้วยท่าทางที่สงบเพราะกำลังใช้สมาธิในการร่ายนิ้วมือให้ตรงกับ โน้ตเพลง คนไหนดีดได้เป็นเพลงก็เล่นอย่างมั่นใจโชว์เพื่อนๆ แล้วก็มาทำหน้าที่ช่วยสอนให้กับเพื่อนที่ยังดีดไม่ได้


เมื่อคุณครูใจดีทั้ง 3 คนมาถึง เด็กๆ ก็พากันแยกย้ายนั่งประจำที่ของตัวเอง แล้ว คุณครูก็เริ่มหมุนเวียนกันเพื่อสอนเด็กๆ และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ที่มาเข้าห้องเรียนดนตรีด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะได้นำไปสอนเด็กๆ ต่อไปได้ สิ่งที่เรียนรู้มีทั้งการทำความรู้จักตัวโน๊ต การวางมือในการเล่น การฝึกเล่นเป็นเพลง เด็กๆ ทุกคนให้ความสนใจ ตั้งใจและมีสมาธิที่จะเรียนรู้วิชาจากคุณครูกันอย่างเต็มที่ สีหน้าแววตา และรอยยิ้มที่เกิดขึ้นขณะดีดเปียโนของเด็กๆ บ่งบอกได้ถึงความสุขเล็กๆที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของแต่ละคน


เด็กๆ ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิ ถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้ง ทั้งจากคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด การกระทำเหล่านั้นได้สร้างบาดแผลภายในจิตใจให้แก่พวกเขาเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งส่งผลต่อการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กเหล่านี้ ทำให้มีอารมณ์ปรวนแปร แสดงออกพฤติกรรมที่รุนแรง ก้าวร้าว เพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกลึกๆ ที่เขาเก็บซ่อนเอาไว้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมปกติได้ ดังนั้นการบำบัดฟื้นฟูให้จิตใจที่บอบซ้ำเหล่านี้ ไม่ใช่มีเพียงแค่การบำบัดทางการแพทย์เพียงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่สามารถฟื้นฟูจิตใจดวงน้อยๆเหล่านี้ให้กลับคืน สังคมได้อย่างปกติสุขได้ และหนึ่งในทางเลือกนั้นก็คือ “ดนตรีบำบัด”


นางสาวรัชวรรณ สิงหะเนติ หรือพี่ปูของเด็กๆ นักสังคมสงเคราะห์ ฝ่ายบำบัดฟื้นฟู ของสถานพัฒนาและฟื้นฟู มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก บอกเล่าถึงวัตถุประสงค์ของเลือกกิจกรรมดนตรีบำบัดสำหรับเด็กๆว่า


“เพราะ อยากทำให้เด็กได้รู้สึกผ่อนคลาย จากการเริ่มเรียนมาทั้งหมด 3 ครั้ง จะสังเกตเห็นว่าเด็กเขามีความตั้งใจที่จะทำ เพราะเด็กบางคนจะมีภาวะอารมณ์ที่หงุดหงิดขี้รำคาญ จะทำอะไรได้ในระยะเพียงสั้นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเขาก็จะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เขาก็จะมีความพยายาม ก็จะนิ่ง มีสมาธิ แม้จะเล่นได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็ตาม ทำให้รู้ว่าเด็กมีความสนใจที่จะทำและช่วยในเรื่องเพิ่มสมาธิให้กับพวกเขาใน การที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่งก็ตามด้วย โดยก็พยายามให้เด็กๆได้ซ้อมกันบ้าง วันละประมาณ 20 นาที เมื่อเวลาที่เขาเล่นได้เป็นเพลงแล้ว พวกเขาก็จะมีความรู้สึกดีใจ ภูมิใจที่เขาสามารถเล่นได้ ก็จะเป็นการช่วยเสริมความมั่นใจให้กับเขามากขึ้น แล้วเขาก็ดูมีความสุขกับมัน ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายกันมากขึ้น


โดย กิจกรรมดนตรีบำบัดนี้เรียน 6 เดือนต่อเนื่อง ทั้งหมด 24 ครั้ง และสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตก็ คือ เด็กเล่นแล้วรู้สึกผ่อนคลาย รักและมีความสุขที่จะเล่นมัน ไม่อยากให้เด็กเล่นแล้วรู้สึกกังวลไม่จำเป็นต้องเล่นเก่ง เล่นได้ แต่อยากให้เด็กๆ รู้สึกเล่นแล้วเกิดความสุขกับการได้เล่นดนตรี เมื่อเขาสนุก และมีความสุข ภาวะด้านอารมณ์ของเขาก็จะดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งตอนนี้ก็วางแผนเอาไว้ว่าจะนำเด็กๆ มาแสดงให้ดูในนิทรรศการศิลปะของเด็กที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง นี้ โดยก็จะเป็นศิลปะทางดนตรีที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กเองได้อีกด้วย”


น้องน้ำฝน (นามสมติ)เด็กหญิงวัย 13 ปี ได้บอกเล่าความรู้สึกที่ได้เล่นเปียโนซึ่งขณะนี้เธอสามารถเล่นได้เป็นเพลงแล้วในบางเพลง


“รู้สึก ตื่นเต้นที่ได้ร่วมกิจกรรมเล่นดนตรี แล้วพอได้ทำแล้วก็รู้สึกสนุก เวลาที่กดตัวโน๊ตมือจะสั่น ตอนแรกๆไม่กล้าแต่พอได้ซ้อมมาหลายๆครั้งหลายๆวันก็ไม่สั่นแล้วความรู้สึกที่ กดที่แป้นโน้ตตอนนั้นคิดว่าจะต้องกดตัวไหนดี ตอนแรกก็ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ตัวโน้ตตัวที่ 1 ตัวที่ 2 แต่ตอนนี้ก็รู้แล้ว แต่พอกดได้ก็รู้สึกดีและภูมิใจ ที่ได้เล่นเป็นเพลงแล้ว อยากให้มีกิจกรรมนี้อีก เพราะชอบและรู้สึกไม่เบื่อเลย”


“รู้สึกชอบและตื่นเต้นที่ได้เล่น ตอนกดรู้สึกมือสั่น คุณครูสอนเพลงหนูมาลี สายทิพย์ แล้วก็ Jingger Bellตอน นี้หนูก็เริ่มเล่นได้เป็นเพลงบ้างแล้ว เล่นได้เพลงเดียว เพลงหนูมาลี พอเล่นแล้วก็ดีใจ ตอนที่กดแป้น ตอนนั้นคิดว่าเราจะทำได้ไหม แต่ก็ไม่ได้เครียด และก็อยากให้มีการสอนดนตรีทุกวันเลย เพราะหนูชอบ”


น้องเปิ้ล (นามสมมติ) เด็กหญิงตัวน้อยอายุ 9 ปี ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกด้วยน้ำเสียงที่ฟังดูน่าตื่นเต้นให้เราฟัง


ความ สุขจากการเล่นดนตรีของเด็กๆ แม้จะดูเป็นเพลงความสุขเล็กๆสำหรับบางคน แต่สำหรับจิตใจที่เคยผ่านเรื่องราวอันโหดร้ายรุนแรงแล้ว ดนตรีสามารถช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจให้พวกเขาและนำความสุขที่เกิดขึ้นมาเติมเต็ม ความรู้สึกที่เคยขาดหายไป เพื่อให้เด็กเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข...


สนใจสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการบำบัดฟื้นฟูเด็กๆ ติดต่อได้ที่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร 0-2412-0739 0-2412-1196


 


อนุบาล




Create Date : 29 ธันวาคม 2551
Last Update : 29 ธันวาคม 2551 12:43:50 น. 1 comments
Counter : 576 Pageviews.

 
อยากฟังเพลงดนตรีบำบัดบ้างจัง


โดย: pumpond วันที่: 29 ธันวาคม 2551 เวลา:15:25:00 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

danudanu
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add danudanu's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.