ผ่านทะเลเห็นน้ำไร้ความหมาย
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
6 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 
มือถือ มือถือ มือถือ

*บทความนี้ลงในNation Geographic Thai เมื่อนานมาแล้วจำเล่มไม่ได้แล้ว

มือถือ มือถือ มือถือ
โดย ดาหาชาดา

“หนูเป็นพวกบ้ามือถือ ช่วงหนึ่งปีนี่หนูเปลี่ยนโทรศัพท์ไปถึง 6 ครั้ง มีรุ่นไหนใหม่มาก็จะซื้อมาใช้” น้ำฝน สุขทองดี ช่างเสริมสวยวัย 20 ชวนคุยเมื่อเราเจอกันในเช้าวันหนึ่ง เมื่อฉันถามว่าเธอแต่งตัวสะสวยจะไปไหน น้ำฝนจะไปซื้อมือถือเครื่องใหม่ล่าสุดซึ่งเป็นเครื่องที่ 7 ของเธอ ซึ่งฉันไม่รีรอที่จะบอกว่าจะไปด้วย เราเดินทางยังบริเวณที่มีร้านโทรศัพท์มือถือเรียงรายกันในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ระหว่างที่น้ำฝนเลือกซื้อเครื่องใหม่ ฉันมองโทรศัพท์มือถือนานายี่ห้อในตู้กระจกที่ติดไฟวาววาม และก็เกิดคำถามในใจว่าเจ้าสิ่งประดิษฐ์นี้ได้เข้ามาแทรกอยู่ในชีวิตของคนเรามากน้อยเพียงไรในปัจจุบัน และเรามีปฏิกิริยาโต้ตอบกับนวัตกรรมใหม่นี้อย่างไรบ้าง

ฉันหวนนึกถึงบทความที่อ่านเมื่อไม่นานมานี้ของดร.แซดี แพลนท์ นักสังคมศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อดัง ที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ว่าเป็น “บุคคลที่น่าจับตามอง” จากหนังสือของเธอสามเล่มที่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ของคนในสังคมกับนวัตกรรมต่าง ๆ เธอบอกไว้ว่า“ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับผู้ใช้เทคโนโลยีนั้นเป็นความสัมพันธ์สองทาง” กล่าวคือเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเรา ในขณะเดียวกันพฤติกรรมของเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนาของเทคโนโลยีได้เช่นเดียวกัน

คุณเคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่ารอบ ๆ ตัวเราแวดล้อมไปด้วยโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะนั่งในรถไฟฟ้า รถประจำทาง อยู่ในร้านอาหาร หรือเดินอยู่บนทางเท้า เสียงกริ่งโทรศัพท์มือถือนานาชนิดกลายเป็นเสียงที่เราได้ยินจนเคยชินไปเสียแล้วเหมือนกับเสียงยวดยาน เสียงพูดคุย เสียงเพลง ผสมผสานกันเป็นดนตรีอันอึกกระทึกครึกโครมแห่งเมืองใหญ่ ทั้งที่นวัตกรรมนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในพวกเรามาไม่ถึงสามทศวรรษดีด้วยซ้ำ การมีอยู่และแพร่หลายของมันเป็นเสมือนคำประกาศว่าโทรศัพท์มือถือได้ก้าวเข้ามาเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตมนุษย์ต่อมาจากอาหาร เครื่องนุ่ง เสื้อผ้า และยารักษาโรคในโลกยุคแห่งการไหลบ่าท่วมท้นของข้อมูลข่าวสารนี้

“สำหรับผม โทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเป็นเสมือนประตูไปสู่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้และเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสื่อสารสัมพันธ์กับคนอื่นที่มีประสิทธิภาพ ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้ในอนาคตอาจจะถูกทิ้งให้ล้าหลัง”เฮียง ฮวัน คิม ผู้จัดการใหญ่แผนกธุรกิจไอทีของบริษัทไทย ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์บอกกับฉันในงานอันหรูหราที่จัดขึ้นเพื่อเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ยี่ห้อซัมซุงสัญชาติเกาหลีใต้ ประเทศนี้มีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือสูงที่สุดในโลก ในจำนวนประชากร 48 ล้านคน มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 33 ล้านคน และใช้เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายทุกด้านของชีวิตตั้งแต่ซื้อของใช้ประจำวัน ทำธุรกรรมด้านการเงิน บันเทิงฯลฯสำหรับทุกคนในครอบครัว

ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือราว 20ล้านคนหรือหนึ่งในสามของประชากรประเทศ และก็กำลังพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันอย่างเร่งด่วน “เรากำลังจะทำให้ไทยกลายเป็นชุมชนไร้สาย” กฤษนันท์ งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการด้านการตลาดบริษัทแอ๊ดวานซ์อินโฟเซอร์วิส หรือเอไอเอส บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกล่าวในการเปิดแผนงานในปีพศ.2547 “เรามีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองที่สามารถให้บริการในทุกด้านของชีวิตไม่ว่าจะเป็นการรับชมโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ การจ่ายเงินซื้อสินค้า การส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นในการทำธุรกิจและอื่น ๆอีกมากมาย” กฤษนันท์บอกว่าในปี 2547จะมีบริการของโทรศัพท์มือถือรูปใหม่ ๆแบบนี้ออกมาแทบทุกวันและครั้งละหลาย ๆชนิดด้วย

“การรุกตลาดสื่อสารอย่างเข้มข้นของโทรศัพท์มือถือในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาทำให้การสื่อสารวิธีการอื่น ๆไม่ว่าจะเป็นจดหมาย โทรศัพท์บ้าน หรือโทรเลขต่างได้รับผลสะเทือนอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะโทรเลขนี่แทบไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์ นักวิจัยของทีดีอาร์ไอที่จับเรื่องการสื่อสารกล่าว เขาเห็นว่าโทรศัพท์มือถือได้เข้ามาเติมเต็มความต้องการการสื่อสารที่ทันเหตุการณ์ให้กับคนไทย แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มมีโทรศัพท์พื้นฐานมามากกว่า 40 ปีแล้วแต่ว่าความขาดแคลนโทรศัพท์ในชนบทที่ห่างไกลก็ยังคงมีอยู่มากมาย โทรศัพท์มือถือเข้ามาในช่องว่างนี้เอง จากการศึกษาของดร.สมเกียรติพบว่ากลุ่มคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยครั้งมากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มคนชนบทที่เข้ามาทำงานเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง “เนื่องจากความอ้างว้าง ความรู้สึกเหงาทำให้คนพวกนี้ต้องพึ่งพาโทรศัพท์มือถือคุยกับญาติหรือเพื่อนที่อยู่ต่างที่กัน”

อย่างไรก็ตามดร.สมเกียรติเห็นว่าแม้โทรศัพท์มือถือจะเครือข่ายกว้างขวางเพียงใดก็ตาม และบีบให้การสื่อสารอย่างอื่นมีน้อยลงไปแต่ว่าการสื่อสารโดยจดหมายหรือโทรศัพท์บ้านก็ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยต่อแน่นอน “ผมคนหนึ่งละที่รู้สึกการได้รับจดหมายหรือบัตรอวยพรนั้นละเมียดและลึกซึ้งกว่าการได้รับคำอวยพรและเอสเอ็มเอสทางโทรศัพท์มือถือ”

“ปัจจุบันคนไทยส่งจดหมายกันเฉลี่ย 8 ฉบับต่อปีเท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการใช้โทรศัพท์ทั้งโทรศัพท์บ้านและมือถือ หรือแม้แต่ E-mail หรือ เอสเอ็มเอส แม้ว่าการส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตรจะถูกกว่าการสื่อสารอย่างอื่น ๆมาก เพียงราคาไม่เกิน 3 บาทเท่านั้น ” ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสบริษัทการไปรษณีย์ไทยกล่าว “แต่ภาพรวมของงานไปรษณียภัณฑ์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสียอีก” เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าธุรกิจมาเป็นลูกค้ารายใหญ่แทน ซึ่งมักจะส่งเอกสารทางธุรกิจมากขึ้น ทั้งในรูปของ จดหมายข่าว แผ่นพับโฆษณา ใบแจ้งหนี้ “รวมทั้งใบแจ้งหนี้ของโทรศัพท์มือถือด้วยนะ” เขาพูดอย่างอารมณ์ดีพร้อมกับเสริมว่าการไปรษณีย์ก็ต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่เพื่อให้สู้กับการสื่อสารอย่างอื่น ๆได้ โดยหันไปเน้นบริการส่งพัสดุภัณฑ์และเอกสารทางธุรกิจ รวมทั้งการทำเป็นสถานที่สำหรับถอนฝากเงินให้ลูกค้าของธนาคารที่เป็นคู่สัญญาอีกด้วย

มนตรี วิชระเขื่อนขันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทศท ฝ่ายธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่ชี้แจงว่าต้นทุนของ
โทรศัพท์ประจำบ้านต่อหมายเลขนั้นอยู่ที่ 30,000-40,000 บาท ในขณะที่มือถือมีต้นทุนอยู่เพียง 6,000 เท่านั้นและการเดินสายของโทรศัพท์บ้านก็กินเวลายาวนานกว่าการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมาก ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐสามารถวางสารจัดสรรโทรศัพท์บ้านแก่ประชาชนทั่วไปได้เพียง 8 ล้านหมายเลข ซึ่งนับเป็นจำนวนน้อยกว่าหมายเลขของโทรศัพท์มือถือ 20 ล้านกว่าหมายเลขในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ทศวรรษมาก

“อย่างไรก็ตามโทรศัพท์บ้านยังคงมีความจำเป็นอยู่มาก ทางเรากำลังจะปรับปรุงความเร็วของสัญญาณโทรศัพท์ให้กลายเป็นการสื่อสารความเร็วสูงแบบ Broadband ซึ่งจะทำให้สามารถรับส่งเสียง ข้อมูล ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ได้รวดเร็วกว่าเดิม โดยเน้นที่การสื่อสารเพื่อการธุรกิจ แม้ว่ามือถือจะทำได้อย่างเดียวกันแต่ว่ามือถือมีข้อจำกัดมากแถมถ้าสัญญาณไม่ดีก็ไม่แน่นอน ลูกเล่นที่ใช้บนนั้นมีไว้แค่โชว์ หากต้องการความแม่นยำ สะดวก รวดเร็ว เชื่อถือได้ก็ต้องเป็นสัญญาณของโทรศัพท์พื้นฐานเท่านั้น”

“คงเป็นกรณีที่แปลกใช่ไหมที่ไม่อยากมีมือถือ ก็ไม่ได้ติดต่อกับใครมากมายนัก อาจเป็นเพราะอยู่บ้านเกือบตลอด แถมยังไม่มีความจำเป็นในการติดต่อสื่อสารกับใครมากนักด้วย ไม่จำเป็นต้องรู้ทันสถานการณ์โลกตลอดเวลา” มัทนี เกษกมล นักแปลและนักเขียนอิสระเมื่อถูกถามว่ามีโทรศัพท์มือถือใช้หรือเปล่า


แต่สำหรับพิมลทิพย์ เอมหอมวัย 31 แล้วเธอคิดว่าตัวเองติดมือถือ “เมื่อก่อนก็อยู่ได้นะ แต่พอใช้มือถือแล้วก็รู้สึกว่าไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ รู้สึกเหมือนมันเป็นแขนขาของเรา ”


ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาประจำโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา นายแพทย์ธนพงษ์ ขวัญคง บอกว่าในทางจิตวิทยานั้นอาการติดมือถือแบบพิมลทิพย์คงไม่มีผลร้าย เป็นแค่คุ้นเคยกับความสะดวกสบายกับการใช้โทรศัพท์มือถือมานาน ในประเทศตะวันตกได้มีการศึกษาเรื่องนี้กันในหลายแง่มุม ตัวอย่างเช่นการวิจัยของส่วนการวิจัยของไซมอน แคสซิดี แห่งมหาวิทยาลัยซัลฟอร์ดของอังกฤษพบว่าโทรศัพท์มือถืออาจกำลังเข้าแทนที่บุหรี่ในวัยรุ่นเพราะคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือถูกมองว่า เป็นคนร่าเริง มั่นใจ “จ๊าบ” และประสบความสำเร็จ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งคนที่สูบบุหรี่ก็เคยถูกมองด้วยสายตาเช่นนี้เหมือนกัน(เกี่ยวกับการวิจัยนี้สามารถหาอ่านได้ที่ //www.mobileyouth.org/news/mobileyouth346.html) แต่ในไทยยังไม่มีการศึกษากันจริงจัง แม้กระนั้นคุณหมอก็ได้ให้ข้อสังเกตว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้โทรศัพท์ที่เป็นวัยรุ่นนั้น มักมีแนวโน้มที่จะใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องบอกฐานะรสนิยมและตัวตนของพวกเขาอย่างหนึ่ง


“วัยรุ่นกำลังแสวงหาตัวตน เอกลักษณ์ ตลอดจนแสวงหาการยอมรับจากสังคม โทรศัพท์มือถือจึงถูกใช้เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการแสดงตัวตน หรือแสดงเอกลักษณ์กลุ่มของพวกเขา พวกนี้จึงต้องซื้อมือถือรุ่นใหม่ล่าสุด จ๊าบที่สุดมาไว้ประดับกาย และก็มักนิยมโชว์มือถือของตนเองทุกที่ พอนั่งปุ๊บหยิบมาโทรปั๊บทั้งที่ไม่มีความจำเป็น” คุณหมอธนพงษ์กล่าว


“ไม่เกี่ยวกับความเท่เลย ซื้อเพราะโปรโมชั่นต่างหาก” ชลมาศ เกริกวิรยะกุล บัณฑิตหมาด ๆจากมหาวิทยาลัยเอกชนบอก เธอย่นจมูกกเมื่อโทรศัพท์มือถือรุ่นคร่ำคร่าของฉัน “เปลี่ยนเสียเถอะพี่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆแล้วสนุกนะ” มือถือของชลมาศเป็นแบบหน้าจอกว้างเอาไว้ใช้เล่นเกมสุดมันนานาชนิดได้ เธอบอกว่าเป็นโทรศัพท์เครื่องที่ 5 แล้วในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา พื่อนในกลุ่มทุกคนเปลี่ยนมาใช้แบบจอสีและถ่ายภาพได้หมดแล้ว “เอาไว้ส่งรูปสวย ๆให้เพื่อนดูไง” ชลมาศบอก


“ผมสามารถโทรหาพ่อที่อยู่ที่ลำปางได้ทุกวันโดยค่าใช้จ่ายไม่แพง และรู้สึกว่าใกล้ชิดกับพ่อมากขึ้นกว่าเดิมมาก”
มานพ แสงศรี นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างวัย 39 ปีกล่าว ในโลกธุรกิจอันเร่งรีบและวุ่นวายดูจะเป็นที่ที่โทรศัพท์มือถือได้รับการต้อนรับมากที่สุด มานพมีเครื่องรับสองเครื่อง แต่ละเครื่องมีสองหมายเลข ค่าใช้จ่ายโทรศัพท์ของเขาแต่ละเดือนถ้าคิดกันถามตามราคาจริงน่าจะหลายหมื่นบาท แต่การส่งเสริมการขายพิเศษทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงเหลือแค่ 5,000 บาทเท่านั้น ความประหยัดนี้เองทำให้ครอบครัวที่มีพ่อแม่กับลูกสาวสองคนนี้แต่มีโทรศัพท์มือถือ 7 หมายเลขมีนโยบายว่าโทรศัพท์บ้านมีไว้แค่ให้คนโทรเข้ามากับใช้ต่ออินเตอร์เน็ตเท่านั้น

มานพเคยให้โทรศัพท์มือถือแก่เมธาภรณ์ลูกสาวคนโตวัย 11 ขวบไว้ใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการให้ลูกติดต่อกับเขาได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ว่าภรรยาของเขาไม่เห็นด้วยเพราะโทรศัพท์เป็นของมีราคาแพงอาจชักนำภัยมาสู่ลูกสาวได้จึงเอาคืนไป เมธาภรณ์บอกกับฉันว่า“อยากได้โทรศัพท์มือถือ เพราะเพื่อน ๆเขาก็มีใช้กันเยอะแยะแล้ว เพื่อนบางคนมีใช้ตั้งแต่ป.สามด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่ก็โทรนัดให้พ่อแม่มารับตรงจุดไหนหรือนัดเวลาเรียนพิเศษกับครู หรือถามการบ้านกับเพื่อน......และเล่นเกม”


“ไผโทรมาน้อ คือเว้านำเขาม่วนแท้ จั่งแม่นบ่แคร์อ้ายคนนั่งเฝ้าจ่อข่อ ยิ้มใส่มือถือ ทั้งจ๋าทั้งอือดัดเสียงเอียงคอ คุยนานงานหยังกะด้อ อ้ายนั่งรอน้องบ่เห็นใจ….” เสียงเพลงเจื้อยแจ้วมาจากวิทยุรถแท็กซี่ที่ฉันนั่งอยู่ ดีเจชายประกาศชื่อเพลงว่า“นั่งเฝ้าเข้าจีบ” และแถมท้ายว่าเพลงนี้ก็ฮิตพอกับเพลงรักมือถืออื่น ๆอย่าง “โชว์เบอร์ไม่โชว์ใจ” หรือ “โทรหาแน่เด้อ”


...หากเราเชื่อว่าเพลงลูกทุ่งคือการสะท้อนสภาพสังคมชนบทและพฤติกรรมของคนชนบท เพลงลูกทุ่งก็น่าจะเป็นตัววัดถึงความแพร่หลายของโทรศัพท์มือถือในเขตชนบทได้เป็นอย่าง

“ตั้งแต่ปีที่แล้ว มีเพลงรักมือถือออกมามากกว่า 20 เพลง เนื้อหาก็เรื่องราวที่หนุ่มสาวพ้อกันโดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อกลาง แสดงว่ามันได้ซึมลงไปสู่ชีวิตคนชนบทแล้ว” สลา คุณวุฒินักแต่งเพลงลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ประพันธ์เพลง “นั่งเฝ้าเขาจีบ” บอกกับฉันทางโทรศัพท์ ข้อสังเกตของสลาพ้องพานกับ ผลการสำรวจของบริษัทโอกิลวี่เมเธอร์ บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของไทยที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆนี้ที่ว่า 49 เปอร์เซนต์ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านในต่างจังหวัดมีโทรศัพท์มือถือใช้กันแล้ว
“โทรศัพท์มือถือคงเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่กี่อย่างที่เข้ามาอยู่ในชีวิตรักของคนเรา แต่มันก็เป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่ง สมัยก่อนเรามีเพลงรักที่คร่ำครวญถึงจดหมายรักเกือบ 200 เพลง หลังจากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาเป็นโทรศัพท์บ้านและบัดนี้ก็เป็นโทรศัพท์มือถือ” สลาพูด
การวิจัยของดร.แพลนท์ ที่ได้ศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเมืองทั่วโลก 9 แห่งรวมทั้งกรุงเทพด้วย เธอพบว่าโทรศัพท์มือถือเข้ามามีส่วนในชีวิตรักของคนไม่น้อย คนจำนวนมากเชื่อว่าการที่ได้คุยโทรศัพท์กับคนรักบ่อย ๆไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น และมีคนไม่น้อยกว่า 10 ล้านในโลกนี้ที่มีโทรศัพท์มือถือ “ปิดลับ” ซึ่งมักไม่ให้คนในครอบครัวรู้ มือถือปิดลับพวกนี้มักเอาไว้ในใช้ในกรณีรักซ้อนซ่อนรัก หรือประกอบธุรกิจที่ให้คนอื่นรู้ไม่ได้และมีบางคนที่มีไว้เพื่อให้คนในแวดวงใกล้ชิดโทรเข้ามาเท่านั้น
นอกจากนี้ก็ยังพบคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “คนรุ่นหัวแม่มือ(Thumb Generation)” ซึ่งใช้หัวแม่มือแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า พวกเขาใช้หัวแม่มือมากขึ้นเพื่อการกดแป้นตัวหนังสือบนโทรศัพท์มือถือ หรือบังคับแท่งบังคับหรือจอยสติ๊กเวลาเล่นเกม จนทำให้พวกเขาใช้นิ้วหัวแม่มือได้คล่องแคล่วและบางครั้งก็ใช้ในชีวิตประจำวันแบบที่คนรุ่นก่อนไม่เคยใช้ เช่น การกดกริ่งประตู ในญี่ปุ่นมีชื่อเรียกคนเฉพาะรุ่นนี้ว่า เผ่าพันธ์หัวแม่มือ (Thumb Tribal)
(รายงานของดร. แซดี้ แพลนท์สามารถหาดูได้ที่ //staff.cs.utu.fi/courses/csw/papers/010_plant_on.pdf)


ฉันพบกับศิระ แซ่ลีในขณะที่เขากำลังใช้ใช้นิ้วหัวแม่โป้งทั้งสองข้างกดโทรศัพท์มือถืออย่างรวดเร็วเพื่อส่งข้อความที่เรียกว่าเอสเอ็มเอส ศิริขายเสื้อผ้าที่แผงย่านถนนสุขุมวิท เขามีความบกพร่องทางการได้ยินมาแต่กำเนิด และไม่สามารถพูดได้ เราสื่อสารกันโดยการเขียนบ้าง เดาเอาบ้าง เขาบอกว่าเทคโนโลยีส่งข้อความสั้น ๆทำให้เขาสะดวกมากขึ้นในการติดต่อกับคนอื่นที่อยู่ไกลออกไป


“เด็กนักเรียนมัธยมปลายที่นี่มากกว่า 80 เปอร์เซนต์มีโทรศัพท์มือถือใช้ มันไม่ใช่เรื่องของความโก้เก๋เหมือนเด็กในโรงเรียนอื่น ๆแต่นักเรียนที่นี่มีโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้เอสเอ็มเอสสื่อสารระหว่างกันและสื่อสารถึงคนอื่น ๆด้วย เนื่องจากเขาพูดไม่ได้และไม่ได้ยินเสียงใด ๆ ข้อดีก็คือทำให้เด็ก ๆมีความมั่นใจในการสื่อสารกับโลกมากขึ้น” คุณครูฉวีวรรณ สิทธิวิภูศิริ แห่งโรงเรียนเศรษฐเสถียร ซึ่งเป็น


โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและการได้ยินบอกมา เด็กนักเรียนของเธอก็ทำแบบเดียวกันใช้หัวแม่มือกดลงบนแป้นอักษรด้วยอัตราความเร็วสูงอย่างน่าทึ่งเพื่อส่งข้อความถึงคนอื่น ๆ


นอกจากโทรศัพท์มือถือจะบริการในเรื่องส่วนตัวและธุรกิจแล้ว มันก็ยังก้าวเข้าไปมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนกลุ่มต่าง ๆอีกด้วย “มันทำให้การระดมคนเพื่อไปแสดงความคิดเห็นคัดค้านหรือสนับสนุนประเด็นต่าง ๆ เป็นไปได้รวดเร็วมาก เราจะนัดแนะกันว่าพบกันที่ไหนเตรียมตัวอย่างไร มันทำให้การประท้วงก่อตัวได้เร็วมาก การเรียกกำลังเสริมก็เช่นกัน” ผู้นำองค์กรเอ็นจีโอรายหนึ่งที่ไม่ยอมให้เปิดเผยชื่อกล่าว และอธิบายว่าโทรศัพท์มือถือมีประโยชน์มากในการสื่อสารถึงกลุ่มผู้นำต่าง ๆเพื่อระดมคนเข้ามาประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วยต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเช่นการประชุมทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศในประเทศไทยที่เป็นการสนับสนุนกระแสโลกาภิวัฒน์ หรือการแสดงพลังต่อต้านการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล


การประท้วงที่นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปีพศ.2535 ก็เกิดขึ้นจากการระดมพลังของชนชั้นกลางผ่านโทรศัพท์มือถือ สื่อต่าง ๆเรียกกลุ่มผู้ประท้วงครั้งนั้นว่า “ม้อบมือถือ” และ“ม้อบมือถือ”ก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในสมัยที่ชนชั้นกลางเกิดความไม่พอใจในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีการระดมกันไปแสดงพลังที่ถนนสีลมและเรียกร้องให้พลเอกชวลิตลาออก


“ผู้ที่ประท้วงอยู่สามารถโทรออกมาเล่าสถานการณ์ให้คนภายนอกฟังได้ หากคนที่อยู่ข้างในรู้สึก “ว้าเหว่” หรือกลัวก็สามารถชักชวนเพื่อนที่อยู่ข้างนอกเข้าไปได้ ม้อบมือถือสองครั้งนี้ไม่ต้องพึ่งการจัดตั้ง วางแผนเพื่อรวมพลเหมือนม้อบอื่น ๆแต่เป็นการแสดงความรู้สึกอย่างกะทันหันและบอกต่อๆกันไปโดยใช้การสื่อสารแบบใหม่ที่เข้าถึงตัวบุคคลได้อย่างรวดเร็ว” รัศมี หาญวัจนวงศ์ นักหนังสือพิมพ์ที่อยู่ร่วมในการประท้วงทั้งสองครั้งเปิดเผย


ดูเหมือนว่าผู้ใช้จะเห็นด้านดีโทรศัพท์มือถือในฐานะที่เป็นเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลได้ง่ายดาย บรรดาโฆษณาในสื่อ ๆต่างก็ตอกย้ำภาพลักษณ์อันสวยงามของโทรศัพท์มือถือไม่หยุดหย่อน แต่เหรียญอีกด้านหนึ่งกลับไม่ใคร่พูดถึงมากนัก โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพ และเรื่องรำคาญความไม่มีมารยาทการใช้โทรศัพท์มือถือ ในเรื่องด้านสุขภาพนั้น การศึกษาในเมืองไทยยังไม่แพร่หลายนัก ในต่างประเทศมีการศึกษาบ้างเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งสมองหรือมะเร็งตาของผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือมาก ๆ สันนิษฐานว่าคลื่นจากโทรศัพท์อาจจะไปกระตุ้นทำให้เซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้น อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถชี้ชัดเจนลงไปได้ต้องรอการศึกษาต่อไป


“มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมาหาผมด้วยอาการปวดในช่องหูเมื่อคุยโทรศัพท์มือถือ และอาการนี้จะหายไปเมื่อไม่ได้ใช้โทรศัพท์ แต่เมื่อตรวจดูก็ไม่พบความผิดปกติใด ๆเลย” นายแพทย์ พรชัย อรพินท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาหูคอจมูกเปิดเผย “รายล่าสุดที่มีอาการปวดหูมา ซึ่งตรวจไม่พบความผิดปกติตามเคย เมื่อเขากลับไปแล้วก็ไปซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีลำโพงในตัวมาใช้ที่สามารถพูดคุยได้โดยไม่ต้องยกโทรศัพท์แนบหูก็ทำให้อาการหายไป แต่ผมเองยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่าอาการปวดหูนั้นเกิดจากสิ่งใดกัน” คุณหมอพรชัยทิ้งท้าย


เรื่องน่าปวดหัวที่ทั่วโลกเผชิญไม่ต่างกันก็คือการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างไร้มารยาทตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างเช่นในโรงมหรสพ ในห้องประชุม ในห้องเรียน ในหลายองค์กรถือว่าเป็นการไร้มารยาทอย่างยิ่งที่ไม่ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือและปล่อยให้ดังขึ้นรบกวนกิจกรรมที่กำลังกระทำอยู่ แม้แต่รูปแบบและสีสันอันหลากหลายของโทรศัพท์มือถือก็เป็นที่ไม่ต้องใจขององค์กรที่ต้องการความมีระเบียบมาก ๆ อย่างเช่นกองทัพ ในคำสั่งลงวันที่ 15 กรกฏาคม 2545 ของกองทัพอากาศไทยกำหนดให้ “โทรศัพท์มือถือที่พกพามากับเครื่องแบบให้ใช้สีที่กลมกลืนกับเครื่องแบบสีเทา ห้ามให้สีฉูดฉาด ให้พกพาโทรศัพท์แบบที่ติดไว้ที่เข็มขัดเครื่องแบบ ในพิธีการต่าง ๆที่สำคัญห้ามพกพาโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการประชุมและสัมมนาให้ปิดเครื่องรับโทรศัพท์ไว้จนกว่าจะเลิกประชุม”


แม้แต่แวดวงของพุทธศาสนา การแพร่หลายของโทรศัพท์มือถือก็ก่อให้เกิดความรำคาญ และในสายตาศาสนาแล้วมันเป็นความยึดติดหลงใหลอย่างร้ายกาจ “โทรศัพท์มือถือนี้มันกวนเหลือเกินนะ เรามองดูตามสถานที่ต่าง ๆ เรายังรำคาญตา นี่แสดงว่าพวกนี้จะเป็นบ้าไปอีกแง่หนึ่ง เราว่าอย่างนั้นนะ คือมันลืมเนื้อลืมตัว ไปอยู่ที่ไหนหูจ่อโทรศัพท์” หลวงตามหาบัวออกปากไว้ในการเทศน์ครั้งหนึ่งของท่าน
(หากต้องการรายละเอียดสามารถหาอ่านได้ในเว็บไซต์ .......)


ในประเทศที่ถือเรื่องสิทธิส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น การพูดโทรศัพท์มือถือดังเกินไปในสถานที่ที่คนอื่นไม่อาจหลบเลี่ยงได้อย่างเช่นภัตตาคาร ในยานขนส่งมวลชน ฯลฯก็จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นได้ เพราะคนอื่นจะถูกบังคับให้ฟังเรื่องที่ไม่อยากฟัง นอกจากนี้เทคโนโลยีใหม่ ๆอย่างเช่นโทรศัพท์ที่มีกล้องภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวติดอยู่ด้วยก็อาจถูกใช้ละเมิดสิทธิ์โดยการถ่ายภาพของบุคคลอื่นในอิริยาบทต่าง ๆไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต การใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นได้ ในบางประเทศอย่างเช่นอังกฤษได้เริ่มใช้กฎหมายห้ามการคุยโทรศัพท์มือถือในขณะขับรถแล้ว


ไม่ว่าโทรศัพท์มือถือจะมีข้อเสียอย่างไร แต่มันทำให้โลกกลายเป็นสถานที่ที่ไปถึงได้ด้วยการเคลื่อนไหวของปลายนิ้วมือ มันได้เติมเต็มความฝันของบรรพบุรุษของเราถึงการสื่อสารส่วนบุคคลผ่านทางตำนานที่มีจินตนาการอันเพริศแพร้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกแก้ววิเศษที่มองเข้าไปเห็นภาพของคนที่เราคิดถึงซึ่งอยู่แสนไกล การถอดจิตออกจากร่างเพื่อไปยังอีกสถานที่หนึ่งในชั่วพริบตา ฯ แต่โทรศัพท์มือถือมีข้อดีกว่าของวิเศษในตำนานตรงที่คนสามัญอย่างพวกเราสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของมันได้โดยถ้วนหน้าและง่ายดายโดยไม่ต้องฝึกปรือเวทย์มนตร์วิเศษร้อยปีเพื่อจะครอบครองอำนาจการสื่อสารที่เกือบไร้ขีดจำกัดนั้น





























Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 2 ตุลาคม 2550 19:30:22 น. 5 comments
Counter : 1118 Pageviews.

 
เดี๋ยวนี้ คนขาดมือถือ คงลงไปนอนชักดิ้นตายแน่ๆ


โดย: jaa_aey วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:3:51:56 น.  

 
ไม่ติดมือถือแต่ก็ใช้จนเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว


โดย: Aisha วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:10:24:58 น.  

 
อุ๊ยมีผู้มาลงชื่อด้วยเหรอคะ
ขอบคุณมากค่ะ

กำลังจะปรับให้บทความอ่านง่ายขึ้นน่ะค่ะ
เพราะว่ามันติดกันเป็นพรืด
เด๋วคืนนี้จะเข้ามาปรับ


โดย: ดาหา IP: 61.91.173.163 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:11:41:04 น.  

 
ลงชื่อและทักทายครับ เดี๋ยวว่างๆจะเข้ามาอ่านให้จบ :-)

พรุ่งนี้ไปบ้านยายไหมครับ


โดย: บูมเมอร์ วันที่: 17 มีนาคม 2549 เวลา:6:38:18 น.  

 


โดย: fierjtgoerit IP: 117.47.90.86 วันที่: 29 กันยายน 2550 เวลา:19:51:34 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ดาหาชาดา
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ดาหาชาดา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.