ผ่านทะเลเห็นน้ำไร้ความหมาย
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
30 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 

Nickel and Dimed : on (not) Getting By in America

Nickel and Dimed: On (Not) Getting By in America By BARBARA EHRENREICH



(หมายเหตุผู้แปล -- บาร์บาร่า เอห์เรนไรช์ เป็นคอลัมนิสต์หญิงผู้มีชื่อเสียงในวงการหนังสือพิมพ์ของอเมริกา ข้อเขียนของเธอเฉียบคบ ดุดัน และมักเรียกเสียงฮือฮาได้จากคนอ่านเสมอ ๆ เอห์เรนไรช์เป็นคอลัมนิสต์น้อยคนที่วางแนวคิดทางสังคมอยู่บนทฤษฎีมาร์กซ์และสังคมนิยม อาจเป็นเพราะภูมิหลังของเธอเองที่พ่อเคยเป็นคนงานในเหมืองก่อสร้าง และสามี(คนหนึ่ง)ก็ทำงานให้กับสหภาพแรงานคนขับรถบรรทุกของอเมริกา

หนังสือเล่มนี้ เอห์เร็นไรช์เขียนถึงประสบการณ์ของตัวเธอเอง เมื่อเธอลุกจากโต๊ะเขียนหนังสือไปทำงานที่ได้ค่าจ้างต่ำในหลายเมืองของสหรัฐ เพื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าอเมริกาที่ว่าเป็นดินแดนแห่งโอกาสนั้น ที่แท้แล้วคือนรกของพวกแรงงานราคาถูกเราดี ๆนี่เอง)







คำนำ: การเตรียมพร้อม

แนวคิดที่นำมาสู่หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่หรูหราสักหน่อยเมื่อเทียบกับเนื้อหาของมัน ลิวอิส แล็ปแฮม บรรณาธิการของนิตยสาร ฮาร์เปอร์ส พาฉันไปที่ร้านสไตล์คันทรี่ฝรั่งเศสที่ไม่ค่อยได้รับการกล่าวขวัญถึงเท่าไรนักเพื่อรับประทานอาหารมื้อละ 30 ดอลลาร์

เราคุยกันถึงเรื่องบทความที่ฉันจะเขียนให้กับนิตยสารของเขา ฉันจำได้ลาง ๆว่าสั่งปลาแซลมอนและสลัดผักใบเขียว พร้อมกับเล่าความคิดของฉันให้เขาฟังว่าน่าจะทำอะไรบ้างกับวัฒนธรรมกระแสนิยม

จากนั้นหัวข้อสนทนาก็เลยออกไปถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ฉันรู้จักดี นั่นก็คือความยากจน คนเรามีชีวิตอยู่ได้อย่างไรเมื่อมีรายได้ต่อเดือนน้อยนิดแบบที่แรงงานไร้ฝีมือได้กัน? โดยเฉพาะผู้หญิงราวสี่ล้านคนที่ถูกนโยบายปฏิรูปสวัสดิการสังคมผลักไสให้เข้าสู่ตลาดแรงงานและทำงานได้เงินชั่วโมงละ 6-7 ดอลลาร์เท่านั้น


และแล้วฉันก็พูดประโยคหนึ่งออกไป ที่หลายคราเมื่อหวนนึกย้อนมาแล้ว ฉันมักคิดว่าไม่น่าจะพูดออกไปเลย: “ควรจะมีใครสักคนออกไปข้อมูลเอามาเขียนถึงด้วยวิธีเดิม ๆ-คุณรู้ใช่ไหม หมายถึงว่าออกไปแล้วก็ทดลองอยู่แบบนั้นน่ะ”

ตอนที่พูดออกไปฉันหมายถึงใครบางคนที่อายุน้อยกว่าฉัน อาจเป็นนักหนังสือพิมพ์น้องใหม่ กระหายที่จะทดลองแนวทางต่าง ๆ และมีเวลามากมาย แต่แล็ปแฮมกลับมีรอยยิ้มนิด ๆที่ดูแปลก ๆ และแล้วฉันก็ต้องระเห็จจากวิถีชีวิตที่คุ้นเคยดีไปชั่วคราว จากคำตอบเพียงคำเดียวของเขาที่ว่า “คุณ”


ครั้งสุดท้ายที่มีคนกระตุ้นให้ฉันละทิ้งสิ่งที่ตัวเองมีเพื่อไปเป็นแรงงานในโรงงานก็ราวทศวรรษที่ 1970 มันเป็นช่วงที่พวกหัวรุนแรงของยุค 60 หลายสิบคนหรืออาจเป็นหลายร้อยต่างเข้าไปในโรงงานและ “กลายร่างเป็นชนชั้นกรรมาชีพ” เพื่อสร้างกระแสและจัดตั้งชนชั้นแรงงานขึ้น แต่ไม่ใช่ฉันแน่นอน ฉันรู้สึกเสียใจกับคนเป็นพ่อแม่ที่ตะเกียกตะกายหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนให้ แต่พวกนักศึกษาเหล่านั้นกลับอยากจะไปเป็นกรรมกร แล้วก็เศร้าใจไปกับกลุ่มคนที่พวกเขาตั้งใจจะไปยกระดับชีวิตให้ด้วย


ครอบครัวของฉันนั้นไม่เคยแยกไกลจากชีวิตของแรงงานราคาถูก มันใกล้ชิดเสียจนฉันรู้สึกทนุถนอมชีวิตนักเขียนอิสระที่ไม่ต้องขึ้นกับใคร แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ค่าแรงงามทุกครั้งไปก็ตาม

พี่สาวของฉันต้องทำงานค่าจ้างต่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และต้องต่อสู้ดิ้นรนภายใต้สิ่งที่เธอเรียกว่า “ความสิ้นหวังของทาสที่มีเงินเดือน” >

สามีของฉัน ผู้ใช้ชีวิตร่วมกับฉันมานานถึง 17 ปีก็เคยเป็นคนงานค่าจ้าง 4.50 เหรียญต่อชั่วโมงในโกดังสินค้า และตอนนั้นเองที่ฉันตกหลุมรักเขา แต่ภายหลังเขาเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเจ้าหน้าที่หาสมาชิกใหม่ให้กับสหภาพแรงงานของพวกคนงานขับรถบรรทุกหรือที่เรียกกันว่า ทีมสเตอร์ ยังความโล่งใจให้กับครอบครัวเป็นอันมาก


พ่อของฉันก็เคยเป็นคนงานเหมืองทองแดงอยู่นาน ลุงและปู่ก็เป็นคนงานในเหมืองและยังเคยทำงานกับบริษัทยูเนี่ยน แปซิฟิกอีกด้วย


ดังนั้นการทำงานนั่งโต๊ะทั้งวันสำหรับฉันแล้วไม่ได้เป็นเพียงแค่อภิสิทธิ์เท่านั้นหากแต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ
ฉันติดค้างคนในครอบครัวทั้งที่ยังอยู่และตายไปแล้วมหาศาล พวกเขามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความจนมากมายเกินกว่าที่ใครเคยได้ยินได้ฟังมา

และคนในครอบครัวเหล่านี้เองที่ทำให้ฉันต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ และทำให้ฉันตัดสินใจจากวิถีชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่นี้เพื่อไปศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง


ที่จริงฉันก็มีทางเลือกอื่นแทนที่จะออกไปคลุกคลีกับชนชั้นอาบเหงื่อต่างน้ำเหล่านั้น ฉันสามารถสมมุติสถานการณ์ขึ้นเองทั้งหมดก็ได้ ตั้งแต่สมมติว่าตัวเองเป็นแรงงานที่ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน และได้เงินค่าจ้างเท่ากับคนอื่นในตลาดแรงงานไร้ฝีมือ


จากนั้นก็สมมุติว่าตัวเองกำลังใช้ชีวิตแบบแรงงานเหล่านั้น คือ เช่าที่พักราคาถูกอยู่ ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟรวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำมันรถโดยวางพื้นฐานอยู่บนเงินเดือนที่ได้รับ พอถึงสิ้นเดือนก็เอาตัวเลขเหล่านั้นมาคำนวณหาความต่างระหว่างรายได้และรายจ่ายโดยที่ไม่ต้องออกไปมีประสบการณ์จริง

ค่าแรงของแรงงานขั้นต่ำในเมืองที่ฉันอยู่นั้นตกราว 6-7 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ในขณะที่ค่าเช่าบ้านเท่ากับ 400 ดอลลาร์ต่อเดือนหรือมากกว่านั้น


แต่ฉันรู้สึกว่าการคิดเอาจากตัวเลขอย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง หากว่าคำถามที่ฉันต้องตอบนั้นคือ แม่ที่เลี้ยงลูกตัวคนเดียวสามารถจะเอาตัวรอดได้หรือไม่โดยที่ไม่มีความช่วยเหลือจากรัฐบาลในรูปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บัตรรับอาหารฟรี, ประกันสุขภาพเมดิเคด, การอุดหนุนค่าเลี้ยงดูเด็กในสถานเลี้ยงเด็กและค่าที่อยู่อาศัย


ความจริงคำตอบนั้นชัดเจนอยู่แล้วโดยที่ฉันไม่ต้องออกจากบ้านไปพบความเหนื่อยยาก ข้อมูลของสหพันธ์แห่งชาติสำหรับช่วยเหลือผู้ไร้ที่อยู่อาศัยระบุว่า ในปี 1998 (อันเป็นปีที่ฉันเริ่มโครงการหาข้อมูลเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้) แรงงานราคาถูกจะต้องได้รับเงินค่าจ้างมากกว่า 8.89 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงเพื่อที่จะสามารถครอบครองอพาร์ตเมนต์ที่มีห้องนอนหนึ่งห้องได้


ส่วนศูนย์เตรียมข้อมูลสำหรับนโยบายสาธารณะบอกว่าปัญหาก็คือในคน 97 คนที่รับการสงเคราะห์จากรัฐบาล มีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่ได้ทำงานที่มีค่าจ้างถึงระดับ“สามารถอยู่ได้” แล้วทำไมฉันต้องไปศึกษาซ้ำกับความจริงอันไม่น่ารื่นรมย์นี้ด้วยเล่า


เมื่อใกล้เวลาที่จะเริ่มโครงการนี้และฉันก็รู้ว่าไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้อีกแล้ว ฉันเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นชายสูงวัยคนหนึ่งที่ฉันรู้จัก เขาคนนี้จะวนเวียนย้ำคิดย้ำทำซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยที่ไม่มีผลดีอะไรเกิดขึ้น อย่างเมื่อคำนวณรายได้รายจ่ายของเขาด้วยเครื่องคิดเลขแล้ว ก็บวกเลขด้วยมือเพื่อเช็คผลของมันอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ทำอะไรที่คล้าย ๆอย่างนี้ซ้ำอีก


แต่ในที่สุดฉันก็ค้นพบวิธีเอาชนะความลังเลด้วยการคิดว่าฉันเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังวางแผนการทดลองอันหนึ่ง ที่จริงฉันก็ได้รับการศึกษาและฝึกฝนมาเพื่อให้เป็นนักวิทยาศาสตร์โดยแท้ ฉันได้ปริญญาเอกมาทางด้านชีววิทยา
และฉันไม่ได้เป็นด๊อกเตอร์แบบที่เอาแต่นั่งโต๊ะเล่นกับตัวเลขเท่านั้น เราอาจจะนั่งลงที่โต๊ะแล้ววางแผนหรือคิดทำอะไรก็ได้ที่ต้องการ แต่ไม่ช้าก็เร็วคุณก็ต้องลุกไปคลุกคลีกับของจริง แล้วก็ดิ่งลงไปกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และเผชิญหน้ากับสิ่งที่คาดไม่ถึงเสมอ


ฉันหวังว่าเมื่อลงมือหาข้อมูลฉันอาจสามารถค้นพบรูปแบบเศรษฐกิจลึกลับบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในโลกของแรงงานราคาถูกก็เป็นได้ หากว่าเกือบ 30 เปอร์เซนต์ของแรงงานทั้งหมดได้รับเงินค่าจ้าง 8 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงหรือน้อยกว่าดังที่สถาบันนโยบายเศรษฐกิจในวอชิงตันรายงานไว้เมื่อปี 1998 แล้วล่ะก็ คนเหล่านั้นคงต้องคิดค้นวิธีการบางอย่างที่ฉันยังไม่เคยรู้มาก่อนเพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้


หรือบางทีฉันอาจจะสามารถวัดผลทางจิตวิทยาได้ว่าการออกไปทำงานนอกบ้านทำให้พวกเขามีความคิดเชิงบวกต่อชีวิตเป็นพิเศษก็เป็นได้ ดังที่ผู้ซึ่งนำโครงปฏิรูปสวัสดิการสังคมมาใช้คาดคะเนไว้ หรืออาจจะค้นพบสิ่งตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง อย่างปัญหามากมายที่เกิดขึ้นกับคนงานพวกนั้นที่ไม่มีทางจะคาดเดาล่วงหน้าเช่น ปัญหาทางกาย, การเงิน, อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ทางเดียวที่จะรู้ได้ก็คือออกไปคลุกคลีกับพวกเขา แล้วก็ลงมือทำงานเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเหล่านั้น


ด้วยจิตวิญญาณแห่งนักวิทยาศาสตร์ ฉันออกกฎหลายข้อเพื่อเป็นมาตรฐานการทำงาน

กฎข้อแรก ซึ่งก็ชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว ก็คือฉันไม่สามารถทำงานที่เคยทำหรือได้เคยศึกษามา แม้ว่าจะมีประกาศรับคนเขียนบทความมากมายก็ตาม


กฎข้อสอง ฉันต้องรับงานที่ให้ค่าจ้างสูงสุด และทุ่มเททำงานเพื่อไม่ให้เสียงานนั้นไป ห้ามใช้เวลาไปทำอย่างอื่นเช่นถ่ายทอดความคิดลัทธิมาร์กซ์หรือแอบไปอ่านนิยายในห้องน้ำหญิง

ข้อสาม ฉันจะต้องหาที่อยู่ราคาถูกที่สุดเท่าที่จะหาได้ แต่ต้องเป็นราคาถูกที่มีความปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัวด้วย แต่มาตรฐานของฉันในเรื่องนี้ก็มักไม่ตรงกับกฎที่วางไว้เท่าใดนัก และเมื่อเวลาผ่านไปการบังคับใช้กฎข้อนี้ก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนลงไปเรื่อย ๆ


ฉันพยายามที่จะปฏิบัติตามกฎเหล่านี้อย่างเคร่งครัด แต่ในเวลาออกไปหาข้อมูลจริง ฉันก็อาจละเว้นหรือดัดแปลงมันบ้างในบางเวลา ยกตัวอย่างเช่น ในคีย์เวสต์ อันเป็นช่วงที่ฉันเริ่มต้นโครงการเก็บข้อมูลนี้ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิของปี 1998 ตอนเข้าสัมภาษณ์เพื่อเป็นพนักงานเสิร์ฟ ฉันบอกไปว่าฉันสามารถพูดต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น “บองชูร์” หรือ “กูเท่นทาร์ก” แต่นี่ก็เป็นกรณีเดียวที่ฉันนำเอาสิ่งที่ร่ำเรียนมาใช้ในการสมัครงาน


ส่วนที่มินนิอาโปลิส อันเป็นที่สุดท้าย ฉันอยู่ที่นี่ในช่วงต้นฤดูร้อนของปี 2000 ฉันก็ละเมิดกฎเกณฑ์อีกข้อหนึ่งโดยการไม่เลือกงานที่จ่ายเงินมากที่สุดเท่าที่ฉันหาได้ เมื่ออ่านไปถึงเรื่องดังกล่าวคุณอาจจะตัดสินได้ว่าฉันถูกหรือผิดที่ทำลงไปอย่างนั้น และช่วงเวลาที่นำไปสู่การปิดโครงการหาข้อมูลเพื่อเขียนหนังสือนี้ ฉันเลิกคิดถึงเป้าหมายของการปลอมตัวไปเป็นแรงงานราคาถูก และไปวุ่นวายกับแผนการกระตุ้นจิตสำนึกของพนักงาน แต่เรื่องก็ไม่เคยถึงหูฝ่ายบริหารเลย


นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาอีกว่าฉันจะนำเสนอตัวเองอย่างไรเพื่อจะเป็นลูกจ้างที่มีประสิทธิภาพ และจะอธิบายเรื่องที่ว่าทำไมฉันจึงไม่มีประสบการณ์ทำงานเหล่านั้นมาก่อนเลย

การบอกความจริงหรืออย่างน้อยสิ่งที่ใกล้เคียงกับความจริงน่าจะง่ายที่สุด ฉันก็เลยบอกพวกเขาว่าฉันเป็นแม่บ้านที่ผ่านการหย่าร้างมาหมาด ๆ และต้องกลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานใหม่อีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้ทำงานมาหลายปี

บางครั้งฉันก็จะกรอกใบสมัครงานสำหรับงานทำความสะอาดบ้านแล้วอ้างชื่อเพื่อนที่เคยอยู่บ้านเดียวกันมาก่อน หรือว่าเพื่อนที่อยู่ในคีย์เวสต์ที่ฉันเคยช่วยล้างจานทำความสะอาดอยู่บ่อย ๆหลังงานเลี้ยงเลิกรา ใบสมัครย่อมมีคำถามเรื่องระดับขั้นการศึกษา ฉันคิดว่าการบอกว่าจบปริญญาเอกมานั้นไม่ช่วยอะไรเลย อาจจะทำให้ผู้ว่าจ้างเข้าใจว่าฉันเป็นพวกติดเหล้าที่กำลังพยายามรักษาตัวหรืออะไรที่เลวร้ายกว่านั้นก็ได้ ดังนั้นฉันก็เลยบอกว่าฉันเคยเรียนระดับมหาวิทยาลัยแต่ต้องออกแค่ปีสามโดยบอกสถานที่เรียนจริง ๆไป ไม่เคยมีใครสงสัยภูมิหลังของฉันแม้แต่น้อย มีผู้ว่าจ้างเพียงรายเดียวที่ตรวจสอบคนที่ฉันอ้างอิงถึง

ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ผู้ทำการสัมภาษณ์ที่พูดคุยเป็นกันเองดีถามฉันว่ามีงานอดิเรกอะไร ฉันตอบไปว่า “เขียนหนังสือ” เธอคนนั้นก็ไม่ยักจะรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติในคำตอบนี้ แม้ว่างานที่เธอเสนอให้ฉันทำนั้น คนที่ไม่รู้หนังสือก็ทำได้ดีในระดับเดียวกัน


ท้ายที่สุดฉันก็ยังกำหนดสิ่งที่ฉันต้องมีเพื่อให้สามารถเผชิญหน้ากับความยากลำบากได้ดี อย่างแรก ฉันต้องมีรถ ในคีย์เวสต์ ฉันจะขับรถของฉันเอง ในเมืองอื่นฉันจะเช่ารถของเร้นท์-อะ-เร็คส์ ฉันจะจ่ายค่าเช่ารถด้วยบัครเครดิตแทนที่จะเป็นค่าจ้างที่หาได้ ที่จริงฉันก็สามารถเดินหรือหางานที่มีบริการขนส่งมวลชนผ่านก็ได้ แต่ก็คิดว่าเรื่องการนั่งคอยรถเมล์นั้นคงไม่น่าอ่านสักเท่าไร


แนวคิดหลักก็คือใช้ชีวิตอยู่ที่ในแต่ละที่เป็นเวลาหนึ่งเดือนเพื่อดูว่าฉันจะสามารถหางานและมีรายได้พอที่จะ จ่ายค่าเช่าบ้านในเดือนที่สองได้หรือไม่ หากว่าฉันจ่ายค่าเช่าเป็นรายสัปดาห์และเกิดเงินขาดมือ ฉันก็จะยุติโครงการนั้นทันที ฉันจะไม่ไปพึ่งพิงสถานสงเคราะห์หรือนอนในรถเป็นอันขาด นอกจากนี้ฉันก็ไม่ทรมานตัวเองด้วยความหิว หากว่าสถานการณ์นั้นเลวร้ายจนถึงกับว่าจะไม่มีอาหารกินในมื้อหน้า ฉันก็ตั้งใจไว้อย่างแน่แน่วแล้วว่าจะไปค้นเอาบัตรเอทีเอ็มออกมาแล้วก็โกง

แน่นอนว่าฉันย่อมจะแตกต่างจากชาวอเมริกันคนอื่น ๆที่ทำงานซึ่งไม่มีใครปรารถนาจะทำเหล่านั้นอย่างมาก และมันก็เป็นทั้งข้อดีและข้อจำกัดไปพร้อม ๆกัน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือฉันไปเป็นผู้เยี่ยมเยือนในโลกที่คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ตลอดมาชีวิต ด้วยทรัพย์สินที่ฉันมีในชีวิตไม่ว่าจะเป็น เงินฝากในธนาคาร, การลงทุนเผื่อเกษียณอายุ, ประกันสุขภาพ, บ้านเดี่ยวขนาดพอสมควร ทำให้ไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่าฉันจะมี “ประสบการณ์เข้าถึงความยากจน” หรือเข้าถึงได้ว่าการเป็นแรงงานค่าจ้างต่ำมาอย่างยาวนานนั้นเขา “รู้สึกอย่างไร”


ดังนั้นเป้าหมายของฉันจึงตรงไปตรงมาและเป็นภาวะวิสัย นั่นก็คือต้องการจะดูว่าฉันสามารถทำให้รายได้และรายจ่ายสมดุลกันได้หรือไม่ อันเป็นสิ่งที่คนยากจนต้องทำอยู่ทุกวัน นอกจากนี้ประสบการณ์ที่ฉันได้เข้าไปเผชิญหน้ากับความจนในชีวิตที่ผ่านมาก็ทำให้ฉันได้รู้ว่ามันไม่ได้เป็นดินแดนที่คุณจะไปเที่ยวเล่นเหมือนเป็นนักท่องเที่ยว เนื่องจากมันให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับความไร้หวังและหวาดวิตก


นอกจากนี้ฉันก็ยังได้เปรียบแรงงานค่าจ้างต่ำจำนวนมาก เนื่องเพราะฉันผิวขาวและพูดภาษาอังกฤษมาแต่กำเนิด ฉันไม่คิดว่าคุณสมบัตินี้จะกระทบกับโอกาสในการได้งานทำของฉัน นายจ้างนั้นต้องการคนทำงานแทบทุกคนที่ไปสมัครเพราะว่าตลาดในปี 1998-2000นั้นขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก แต่ความเป็นคนขาวและพูดภาษาอังกฤษกำหนดชนิดของงานที่ฉันจะทำได้ ในคีย์เวสต์ เริ่มแรกฉันก็หางานทำความสะอาดในโรงแรมเพราะคิดว่ามันง่ายที่สุด แต่ก็พบว่าทางโรงแรมให้ฉันไปทำงานเสิร์ฟอาหารแทน ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นเพราะเชื้อชาติและความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษของฉัน ต่อมาฉันก็รู้ว่าการเป็นพนักงานเสิร์ฟนั้นก็ไม่ต่างจากพนักงานทำความสะอาดโดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างในฤดูนอกหน้าท่องเที่ยวที่จะได้ทิปน้อยเหมือนกับตอนที่ฉันอยู่ในคีย์เวสต์


ประสบการณ์ในคีย์เวสต์ช่วยให้ฉันตัดสินใจเลือกเมืองที่เป็นเป้าหมายต่อไป เมืองอย่างนิวยอร์คและลอส แองเจลิสนั้นตัดไปได้เลย ส่วนใหญ่คนทำงานต่ำต้อยในมหานครทั้งสองแห่งนี้จะเป็นคนผิวสี ผู้หญิงผิวขาวที่พูดภาษาอังกฤษชัดเปรี๊ยะอย่างฉันจะกลายเป็นพวกสิ้นหวังหรือว่าตัวประหลาดไปทันที หากพยายามสมัครงานเหล่านั้น


ฉันยังมีข้อได้เปรียบอีกสองสามอย่าง หนึ่งก็คือ มีรถขับ นั่นทำให้ฉันมีเปรียบมากกว่าเพื่อนร่วมงานในอนาคตส่วนใหญ่ ฉันพยายามที่จะลอกเลียนประสบการณ์ของผู้หญิงที่ต้องกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งหนึ่งเมื่อไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐอีกต่อไป ฉันน่าจะมีลูกหนึ่งหรือสองคนไปอยู่ด้วย แต่ว่าลูกของฉันก็โตแล้วและไม่มีใครอยากจะเสียสละเวลาพักร้อนหนึ่งเดือนเพื่อไปตกระกำลำบากกับฉัน ชีวิตที่ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆและไม่เคยพบกับความลำบากอย่างแสนสาหัสน่าจะทำให้ฉันมีสุขภาพดีกว่าผู้ที่เป็นแรงงานค่าจ้างต่ำมาเป็นเวลานาน ดังนั้นฉันคิดว่าทุกอย่างพร้อมแล้วสำหรับฉัน



หากคนสังเกตออกว่าฉันแตกต่างไปจากเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ บ้างแล้วไซร้ ก็ไม่มีใครเคยบอกฉัน ฉันไม่เคยสร้างบทบาทสำหรับเล่นเป็นแรงงานหญิงแม้แต่น้อย ฉันใส่ชุดที่ใส่อยู่ในชีวิตจริงทำงาน ในยามที่ทำงานในบริษัทที่ไม่กำหนดให้ใส่เครื่องแบบ และก็จะทำผมหรือแต่งหน้าตามปกติ


แม้กระทั่งการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน ฉันก็คุยถึงสิ่งที่มีอยู่จริงในชีวิตอย่างเช่น ลูก ๆ สถานะภาพการแต่งงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องประดิษฐ์เรื่องราวขึ้นมาใหม่


แต่ฉันจะต้องปรับปรุงวิธีการพูดเสียใหม่ เพราะอย่างน้อยฉันเป็นพนักงานใหม่และกำลังกังวลเกี่ยวกับภาพพจน์ของตัวเองในที่ทำงาน ฉันห้ามตัวเองพูดคำไม่สุภาพ ซึ่งมักจะพูดประจำเพราะว่าได้รับอิทธิพลอันรุนแรงมาจากทีมสเตอร์สิงห์รถบรรทุกทั้งหลาย นอกจากนั้นฉันก็จะพูดตลก ยั่วเย้า ออกความเห็น คาดเดา หรือให้คำปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพเหมือนอย่างที่ฉันทำในชีวิตจริงด้วย


มีหลายครั้งหลายคราภายหลังจากโครงการนี้จบไปแล้ว ฉันถูกถามโดยคนใกล้ชิดว่าคนที่ฉันทำงานด้วยนั้นสามารถรู้สึกว่า..เอ่อ...คนที่มีการศึกษานั้นมีความเหนือกว่าผึ้งงานที่พึ่งค่าจ้างรายชั่วโมงอย่างพวกเขาหรือไหม ฉันก็ปรารถนาให้เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานบอกว่าฉันนั้นพิเศษกว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น ฉลาดกว่า, หรือเห็นได้ชัดว่าเป็นคนที่มีการศึกษาดีกว่าคนส่วนใหญ่ แต่ว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นเลย


และฉันยังสงสัยด้วยว่าสิ่งเดียวที่ทำให้ฉัน “พิเศษ” กว่าคนเหล่านั้นก็คือความไร้ประสบการณ์ของฉันนั่นเอง จะว่ากันไปแล้วแรงงานค่าจ้างต่ำก็ไม่ได้มีบุคลิกหรือความสามารถที่แตกต่างไปจากคนที่เขียนหนังสือเป็นอาชีพแม้แต่น้อย มุขตลกหรือความฉลาดเฉลียวก็หาได้ด้อยไปกว่ากัน หากว่าคนที่อยู่ในชนชั้นที่มีการศึกษาสูงไม่เชื่อสิ่งที่ฉันพูด เขาก็ควรจะลองคบคนพวกนี้เป็นเพื่อนดู


สิ่งเดียวที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนก็คือ ฉันไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน ฉันกำลังเก็บข้อมูลเพื่อเขียนบทความและในที่สุดก็จะเป็นหนังสือ ฉันกลับบ้านทุกวันเพื่อบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นราวหนึ่งหรือสองชั่วโมง ไม่ใช่กลับไปใช้ชีวิตแบบที่ปกติ ฉันควรบอกไว้ด้วยว่าฉันเขียนบันทึกด้วยความแข็งขันมากเนื่องจากฉันมีโอกาสน้อยที่จะจดโน้ตในเวลากลางวัน แล็ปท้อปเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมฉันระหว่างอดีตและปัจจุบัน แถมมันยังเป็นสัญญลักษณ์แห่งการหลอกลวงอีกด้วย


บางครั้งฉันก็รู้สึกว่ารำคาญมันเหมือนกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีคนที่ฉันสนใจและก็อยากทำความรู้จักให้มากขึ้น (ฉันควรจะกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่าชื่อและรายละเอียดส่วนบุคคลอื่น ๆถูกเปลี่ยนเพื่อความเป็นส่วนตัวของคนที่ฉันทำงานด้วย และได้พบในสถานที่ต่าง ๆตอนเก็บข้อมูล ส่วนมากฉันจะเปลี่ยนชื่อสถานที่ที่ฉันทำงานและบริเวณที่มันตั้งอยู่เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีผลกระทบกับคนที่ฉันได้พบ)


ในแต่ละที่ เมื่อถึงเวลาที่ฉันจะต้องร่ำลา ฉันก็ใคร่ครวญอยู่หลายตลบก่อนจะ “เปิดเผยตัว” กับเพื่อนร่วมงานบางคน ปฏิกิริยาที่กลับมานั้นเงียบสงบอย่างน่าประหลาด ประโยคตอบกลับที่ฉันชอบมากก็คือ “หมายความว่าสัปดาห์หน้าเธอจะไม่กลับมาทำงานกะเย็นแล้วล่ะซิ?” ฉันสงสัยว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ทำท่าแปลกใจมากกว่านี้หรือแม้แต่โกรธที่ถูกหลอก บางทีคำตอบอาจจะอยู่ที่ความคิดเห็นของพวกเขาที่มีต่อคำว่า “เขียนหนังสือ” ก็ได้ ปีก่อนเมื่อฉันแต่งงานกับสามีคนที่สอง เขาบอกลุงที่ทำงานเป็นคนรับรถแขกไปจอดให้ว่าฉันเป็นนักเขียน ปฏิกิริยาของลุงก็คือ“ใครบ้างล่ะที่ไม่เขียน?” คนที่อ่านออกเขียนได้ทุกคน “ขีดเขียน” กันทั้งนั้น และแรงงานราคาถูกบางคนที่ฉันรู้จักหรือได้พบขณะเก็บข้อมูลก็เขียนบันทึกส่วนตัวหรือโคลงกลอน มีคนหนึ่งเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องยาวเสียด้วย



เพิ่งมาไม่นานนี้เอง ที่ฉันเริ่มตระหนักว่าฉันอาจให้ความสำคัญกับการ “การสวมบทบาท” ของตัวเองมากเกินไป มันไม่มีทางที่จะแกล้งทำเป็นพนักงานเสิร์ฟได้หรอก มันมีแค่เพียงว่าจะส่งอาหารถึงโต๊ะหรือเปล่าเท่านั้นเอง คนรู้จักฉันในฐานะที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ, พนักงานทำความสะอาด, ผู้ช่วยทำงานในเนิร์สซิ่ง โฮม, หรือเป็นพนักงานขายปลีก ไม่ใช่เพราะว่าฉัน “ทำท่าเหมือน” แต่เพราะว่าฉันเป็น อย่างนั้นจริง ๆ อย่างน้อยก็ในเวลาที่ฉันอยู่กับพวกเขา ทุกงานที่ฉันทำหรือทุกที่ที่ฉันอยู่ พลังงานและสติปัญญาส่วนใหญ่ของฉันถูกดึงไปใช้ในการทำงาน ฉันไม่ได้เดินลอยชายเล่นหัวกับคนอื่น ๆ แม้ว่าฉันจะสงสัยตั้งแต่เริ่มต้นว่าการคำนวณระหว่างค่าจ้างและค่าเช่านั้นคงติดลบและทำให้ฉันลำบาก แต่ฉันก็พยายามอย่างที่สุดเพื่อเอาชนะ



ฉันไม่พยายามเทียบประสบการณ์กับคนอื่น เนื่องจากเรื่องของฉันไม่เหมือนกับที่เคยมีมาแล้ว สิ่งที่ผู้อ่านควรจะตระหนักไว้ก็คือ ในยามที่ฉันสะดุดล้มลงนั้นมันเป็นความล้มเหลวของคนที่มีปัจจัยบวกหนุนส่งทุกอย่าง


กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีข้อได้เปรียบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทางด้านเผ่าพันธุ์, การศึกษา, สุขภาพร่างกาย และแรงจูงใจได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในบาดาลแห่งลำดับชั้นทางเศรษฐกิจในยามที่รุ่งเรืองอย่างที่สุดแต่ก็ล้มเหลว










 

Create Date : 30 ตุลาคม 2548
12 comments
Last Update : 30 ตุลาคม 2548 19:13:56 น.
Counter : 1054 Pageviews.

 

ยาวจังเลยอะจะ

 

โดย: อินทรีทองคำ 30 ตุลาคม 2548 19:29:32 น.  

 



ก้อมันยาวง่ะจ้า
พยายามจัดรูปแบบอยู่ครึ่งค่อนวันก็ได้แค่นี้เองแหละ


มาอ่านวันละพารากราฟก็ได้ นะ นะ นะ

 

โดย: ดาหา IP: 61.91.173.44 31 ตุลาคม 2548 0:34:01 น.  

 

แวะมาเยี่ยมครับ
ไม่ผิดหวัง เพราะได้อ่านเรื่องดีๆ

 

โดย: ชีพ IP: 58.10.102.224 1 พฤศจิกายน 2548 11:54:38 น.  

 

ว้าว ไม่เจอกันนานมากเลย
ตั้มยังมีเว็บอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่าคะนี่

 

โดย: ดาหา IP: 58.10.115.152 1 พฤศจิกายน 2548 20:40:39 น.  

 

ไม่ได้อ่านงานคุณชีพนานแล้วเหมือนกันเจ๊
คิดถึงตัวหนังสืองามๆ

โทรหาเจ๊ คุณป้าบอกว่า ออกไปข้างนอก
พลาดกันหวุดหวิด.

อิๆ

 

โดย: อาพี IP: 61.91.117.98 2 พฤศจิกายน 2548 12:50:32 น.  

 

อาพี โทรมาอีกจินะ นะ จะได้คุยกันไง
ต้องเป็นวันที่ลืมมือถือเอาไว้ที่บ้านแน่เลย

 

โดย: ดาหา IP: 61.91.174.111 2 พฤศจิกายน 2548 18:07:35 น.  

 

ฮือ ทำหายไปบลอกนึงไม่ได้ตั้งใจ
ยังไม่มีเวลาแปะใหม่เลย
รูปน่ะไม่เสียดายหรอก
เสียดายคอมเม้นท์คนที่อุตส่าห์เข้ามาเยี่ยมเยียนน่ะจิ
ขอโทษคุณ ๆที่เข้าเยี่ยมเยียนและเขียนไว้ที่รูปโมกกับไม้เลื้อยด้วยนะคะ
แก้ไขไปมาแล้วกดผิด
หายไปเรยยยยยยยยย

 

โดย: ดาหาชาดา IP: 58.10.115.228 28 พฤศจิกายน 2548 21:38:43 น.  

 

งงๆ หายไปเป็นเดือนเลย

 

โดย: น้องหวิว IP: 61.91.96.59 2 ธันวาคม 2548 11:53:31 น.  

 

โหยยยยย เจ๊ สุดยอด เจ๋งเป้ง ชนะเลิศ ผมอ่านทุกตัวอักษรเลย นางเอกในเรื่องที่เจีแปลเนี่ยนี่ยอมทำทุกอย่างเพื่อความรักจริงๆ

 

โดย: อีนังน้องวิ IP: 203.188.29.164 5 ธันวาคม 2548 21:50:14 น.  

 

เรื่องไหนง่ะ อีนังน้องวิ
เรื่องนี้น่ะเรอะทำทุกอย่างเพื่อความรัก
งงฟร่ะ

 

โดย: ดาหาชาดา IP: 61.91.177.219 6 ธันวาคม 2548 18:33:29 น.  

 

อ้าว ก็เรื่องที่เจ๊แปลไง

อุตส่าห์อ่านทุกตัวอักษรเจงๆนะ

 

โดย: อีนังน้องวิ IP: 203.188.29.164 6 ธันวาคม 2548 23:28:33 น.  

 

เปล๊า....
หนังสือเล่มนี้ ตอนแรกแปลไปเขาไม่พิมพ์สักที
เก๊าะคิดว่าอย่ากระนั้นเลย
แปลแล้วเอามาแปะเล่นดีกว่า
แปะได้สามวัน
เขาโทรมาบอกว่าเขาจะพิมพ์เลยต้องหยุดแปะ

 

โดย: ดาหาชาดา IP: 61.91.171.250 7 ธันวาคม 2548 21:29:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ดาหาชาดา
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ดาหาชาดา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.