ให้ธรรมะนำชีวิต แล้วจะเดินไม่หลงทาง
Group Blog
 
 
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
27 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
สังโยชน์ 10

สังโยชน์๑๐ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมหรือสิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์, สิ่งที่ผูกมัด ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ผูกติดอยู่กับความทุกข์ทําให้ไม่สามารถสลัดหลุดออกมาได้ อันมี ๑๐ ประการ

โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องตํ่า อันเมื่อระงับได้ ทําให้จางคลายจากทุกข์ได้ตามฐานะแห่งตน อันมี๕

๑. สักกายทิฏฐิ ความคิดหรือความเห็นว่าเป็นตัวตนหรือของตนอย่างขั้นหยาบ(ในขั้นต้นหรือขั้นรุนแรง) คือยังไม่มีความเข้าใจในความเป็นเหตุปัจจัย จึงไม่เคยรู้ ไม่เคยระลึก ไม่เคยพิจารณา จึงไม่มีเครื่องรู้ เครื่องเตือนสติ จึงไม่เกิดสัมมาปัญญาหรือญาณอย่างน้อมยอมรับว่าตัวตนหรือรูปกายของตน สักแต่ว่าเกิดมาแต่ธาตุ๔ หรือชีวิตก็สักแต่ว่าขันธ์ทั้ง๕ จึงล้วนแล้วเกิดมาแต่เหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งกันชั่วขณะระยะหนึ่ง จึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่อย่างแปรปรวน แล้วดับไป เป็นธรรมดา จึงเป็นอนัตตา ดังนั้นจึงมีความคิดความเห็นอย่างยึดมั่นยึดถือด้วยอวิชชาในรูปทั้งหลาย(รวมทั้งกายของตน) ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของตนหรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของตนอย่างเชื่อมั่นหรือรุนแรงตามที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่ทารกโดยสัญชาตญาณ(ความรู้ที่มาแต่การเกิดเป็นธรรมดา)โดยไม่รู้ตัว, เพราะความไม่รู้และไม่รู้เท่าทันว่าตัวตนหรือกาย(รูป)ก็สักแต่ว่าประกอบด้วยเหตุปัจจัยของธาตุทั้ง๔ หรือเป็นเพียงขันธ์ทั้ง๕ ทั้งยังมีความไม่เที่ยง(อนิจจัง) และคงทนอยู่ไม่ได้(ทุกขัง) เป็นอนัตตา, หรือเพราะความไม่รู้และไม่รู้เท่าทันว่า เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ก็เช่นเดียวกันล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกัน จึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเช่นกัน ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นตัวตนของตนหรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของตนอย่างแท้จริง ดังนี้เป็นต้น จึงไม่มีเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติให้เกิดนิพพิทาคลายความยึด,ความอยาก,ความกังวลหรือหลงใหลในกายสังขารตน อันเป็นที่หวงแหนยิ่งเหนือสิ่งใด อันเป็นบ่อเกิดของอุปาทาน-ความยึดมั่นพึงพอใจในตัวตนหรือของตนในขั้นต้นหรือปุถุชนทั่วไป



๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในพระรัตนตรัย โดยเฉพาะในพระธรรม อันคือธรรมคำสอนโดยพระพุทธองค์อันเป็นเรื่องของสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ในการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปแห่งทุกข์ต่างๆนั่นเอง อันความลังเลสงสัยนี้ย่อมต้องเกิดเป็นธรรมดาเนื่องจากความไม่เข้าใจในธรรมของพระองค์ท่านอย่างถ่องแท้ในเบื้องต้นเนื่องด้วยอวิชชา ดังนั้นเมื่อปฏิบัติไปย่อมต้องเกิดการติดขัดเป็นธรรมดา ก็เกิดความสงสัย ลังเล ไม่เชื่อถือ, ค้นหาลัทธิใหม่, วิธีใหม่, อาจารย์ใหม่, ที่ยึดใหม่ ฯลฯ. เป็นการค้นหาหรือเริ่มต้นกันใหม่อยู่เสมอๆจนไม่สามารถบังเกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างแท้จริง, ถ้าไม่มีวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยอันบังเกิดแต่ความเข้าใจในธรรมพื้นฐานอย่างถูกต้องเมื่อเกิดอุปสรรคในการปฏิบัติ จิตจะไม่ลังเลสงสัย แต่จิตจะพลิกไปพิจารณาคิดค้นคว้าแก้ไขให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กระจ่างสว่างขึ้นไปเป็นลําดับ, วิจิกิจฉาจึงเป็นอุปสรรคสําคัญที่บั่นทอนสัมมาปัญญาหรือญาณไม่ให้เกิด จึงทําให้ร้อยรัดสรรพสัตว์ไว้กับทุกข์

๓. สีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นถือมั่นในศีลและพรต(ข้อปฏิบัติ)แบบผิดๆ, ความถือมั่นในศีลและข้อปฏิบัติโดยสักแต่ว่าทําตามๆกันมาอย่างงมงาย อันเกิดจากการไม่เข้าใจในธรรม(สภาวะธรรม)ตามความเป็นจริง แต่ปฏิบัติเป็นไปตามความเชื่อ ความยึด หรือตามประเพณีที่สืบทอดกันต่อๆมา โดยขาดปัญญาพิจารณา เช่น เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตรข้อปฏิบัติแต่ฝ่ายเดียว, การทำบุญเพื่อหวังผล หรือเพื่อไปสวรรค์,นิพพาน, การถือศีลอย่างเคร่งครัดแต่ฝ่ายเดียวแล้วจะบรรลุมรรคผล, คล้องพระเพื่อให้เกิดโชคลาภ คงกระพันหนังเหนียว, การปฏิบัติแต่สมถสมาธิอย่างเดียวแล้วจะเกิดปัญญาเข้าใจธรรมได้มรรคผลขึ้น, การทรมานตนในการปฏิบัติ, การอ้อนวอนบูชา, การบนบาน ฯลฯ.

การบูชา อ้อนวอน บนบานอันมีมาแต่โบราณกาล แท้จริงแล้วเป็นการไปยึดไปถือบูชาสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ใดๆ อันยิ่งใหญ่ ที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างแท้จริง และไม่สามารถควบคุมบังคับหรือกำจัดปัดเป่าได้นั่นเอง อันเป็นสัญชาตญาณความกลัวขั้นพื้นฐานของสรรพสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่มีวิชชานั่นเอง ดังนั้นในสมัยโบราณกาลเพราะอวิชชาความไม่รู้ แต่กลัวเกรงสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ จึงมีการเริ่มบูชาสภาวะธรรมต่างๆที่คิดปรุงแต่งไปว่ามีกําลังเหนือความควบคุมของตนหรือคิดปรุงแต่งไปว่าคงสามารถช่วยเหลือได้ ในสมัยโบราณจึงเริ่มตั้งแต่ จอมปลวก ดิน ฟ้า อากาศ ภูเขาไฟ เป็นลำดับ ฯลฯ. และพัฒนาไปตามวิวัฒนาการความเชื่อและถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนเป็น. สิ่งศักสิทธิ์..เทพเจ้า..เทวดา หรืออินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ฯลฯ. และพระเจ้า แม้แต่พระพุทธเจ้า (หมายถึงไปยึดพระองค์เป็นดั่งพระเจ้าเพื่อสวดอ้อนวอนขอสิ่งต่างๆ, แท้ที่จริงควรเคารพนับถือพระองค์ท่านในฐานะเป็นองค์พระศาสดา บูชาพระองค์ท่านโดยการปฏิบัติตามคําสอนหรือพระธรรมของพระองค์เป็นแกน อันพระองค์ท่านทรงสรรเสริญว่าเป็นการปฏิบัติบูชา อันมีอานิสงส์ยิ่งกว่าอามิสบูชา), จริงๆแล้วล้วนเป็นการอุปโลกของจิต และเป็นไปตามลําดับขั้นตอนของการวิวัฒนาการของความเจริญ ก็เพื่อยึดถือเป็นขวัญ เป็นกําลังใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตในบางสิ่งบางอย่างที่ตนเองไม่สามารถควบคุมบังคับหรือกำจัดได้ ด้วยความกลัว หรือเพื่อจุดประสงค์ในอันที่จะสนองความต้องการของตนให้สัมฤทธิผล จึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆว่ามีอำนาจหรือพลังบางอย่างในสิ่งต่างๆเหล่านั้นที่ตนเองยึดถือ หรืออุปโลกขึ้นโดยไม่รู้ตัวนั้น ด้วยความยึดความเข้าใจด้วยอวิชชาว่ายิ่งใหญ่เหนือตน,หรือตามที่ตนยึดถือ หรือตามความเชื่อที่ยึดถือสืบต่อๆกันมา ก็ล้วนเพื่อหวังผลให้ช่วยเหลือต่างๆนาๆเพื่อให้เกิดความสัมฤทธ์ผลสมปรารถนาในบางสิ่ง หรือกำจัดปัดเป่าสิ่งต่างๆที่เกินอำนาจของตนที่จะกำจัดได้ด้วยตนเอง, อันก็มีคุณประโยชน์ในแง่สังคมวิทยา คือการเชื่อ, การยึดถือ, การนับถือในสิ่งๆเดียวกัน จึงเป็นจุดศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวของสังคมนั้นๆ อันยังผลให้เกิดความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในพวกพ้องความเชื่อเดียวกันในระดับหนึ่ง แล้วยึดถือปลูกฝังกันต่อๆมา...ฯลฯ., แต่ถ้าพูดกันอย่างตามความเป็นจริงขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์)ในทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้น จัดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปอย่างอวิชชา เพราะความไม่เข้าใจในสภาวะธรรมดังเช่นความเป็นเหตุปัจจัย ฯ. อันทําให้ไม่สามารถที่จะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์หรือจางคลายจากทุกข์ตามฐานะแห่งตนได้อย่างแท้จริง คือไม่เป็นไปเพื่อการดับภพ ดับชาติ กลับเป็นการสร้างภพ สร้างชาติใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว

พระพุทธพจน์ที่ตรัสแสดง สีลัพพตปรามาส

ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงํากิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ อันประดุจคูกั้นเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก (ขุ.ชา. ๒๗/๘๗/๒๘)

ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบนํ้า(ชําระบาป) กบ เต่า นาค จรเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่นํ้า ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน.......(และพระองค์ตรัสในมุมมองอันน่าคิดอีกมุมหนึ่งต่อไปว่า)ถ้าแม่นํ้าเหล่านี้พึงนําบาปที่ท่านทําไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ (ดังนั้น)แม่นํ้าเหล่านี้ก็พึงนําบุญของท่านไปได้ด้วย(เช่นกัน) (ขุ.เถรี.๒๖/๔๖๖/๔๗๓)

บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี เป็นมงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดี และ(นับได้ว่า)เป็นอันได้ทําบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย แม้กายกรรมของเขา(นั้น)ก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค ประณิธานของเขาก็(ย่อมต้อง)เป็นสิทธิโชค ครั้นกระทํากรรม(การกระทําใดๆ)ทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค (องฺ.ติก. ๒๐/๕๙๕/๓๗๙ หรือพุทธธรรม น. ๒๑๕)

ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลา ผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจักทําอะไรได้ (ขุ.ชา ๒๗/๔๙/๑๖ )

๔. กามราคะ ความติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเช่นกามคุณในเรื่องเพศ(การเสพเมถุน) อันล้วนเป็นราคะในเบื้องต้น

สําหรับฆราวาสนั้นการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตนเองก็นับว่าเป็นพรหมจรรย์ตามฐานะแห่งตน แต่ไม่ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์เท่านั้น อันเนื่องจากมีหน้าที่ที่พึงกระทำอยู่ แต่ก็สามารถจางคลายจากทุกข์ได้เป็นลําดับขั้นของโลกุตรธรรม(ธรรมหรือสิ่งที่อยู่เหนือสภาวะทางโลกๆ,สภาวะเหนือโลก) จึงย่อมสามารถอยู่ในโลกได้อย่างสุขสงบสบาย ระงับทุกข์ลงเป็นลำดับตามโลกุตรธรรมนั้นๆ จึงไม่เร่าร้อนเผาลนดุจปุถุชนทั่วๆไป แต่ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อเข้ากระแสนิพพานแล้วก็พึงแต่เพียงรอเวลาหรือวาระ ไม่สามารถแปรไปเป็นอื่นได้อีกต่อไปแล้ว

๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ ความหงุดหงิด ขัดเคือง ความขุ่นมัว ขุ่นข้องใจ อันเกิดแต่ความคับแค้น,ความไม่ได้ตามใจปรารถนาฯ.อันถึงขั้นก่อภพ ก่อชาติ หมายถึงการเกิดปฏิฆะในขั้นก่อเป็นทุกข์อุปาทานขันธ์๕ (แต่ยังคงมีในระดับขันธ์๕อันเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ อันเป็นดังที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโลได้กล่าวไว้เรื่องความโกรธ "มี แต่ไม่เอา" แล้วมันก็ดับไปเอง" อันหมายถึงการเกิดขึ้นแต่ในระดับกระบวนการดําเนินชีวิตของขันธ์๕ธรรมดาๆ แล้วเมื่อไม่คิดปรุง มันก็ดับไปเอง ไม่เผาลน ร้อนลุ่ม)

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง ธรรม(สิ่ง)อันละเอียดที่มัดสัตว์ไว้กับกองทุกข์ อันไม่ปรากฎในพระอรหันต์เจ้าเท่านั้น อันมี๕

๖. รูปราคะ หรือรูปฌาน รูปราคะ หมายถึง ความติดใจ ติดเพลิน หรือตัณหาในรูปธรรมอันประณีต หรือรูปอันวิจิตร คือ รูปฌาน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ อันวิจิตรสวยงามหรือถูกใจกว่าปกติธรรมดา กล่าวคือละเอียดอ่อนกว่ากามตัณหาอันเป็นขั้นหยาบอยู่ ดังเช่น รูป -ในสิ่งต่างๆอันสวยงามถูกจริตที่สัมผัสหรือผัสสะได้ด้วยตาแล้วเกิดตัณหาต่อสิ่งอันวิจิตรนั้น, รส - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยลิ้น เช่นรสชาดอันเอร็ดอร่อย, กลิ่น - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยจมูก เช่นกลิ่นอันหอมหวล , เสียง - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยหู เช่นเสียงอันไพเราะ เสียงสรรเสริญ, สัมผัส - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยกาย เช่น สัมผัสอันละมุนละไมต่างๆเช่นจากฌาน ฯลฯ. อันล้วนเป็นราคะความพึงพอใจในขั้นละเอียดในสิ่งอันงามวิจิตร (สิ่งที่สัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อันมีความละเอียดประณีตวิจิตรกว่าใน ข้อ๔)

และสําหรับผู้ที่ปฏิบัติผ่านด้านสมถะสมาธิหรือฌาน ก็จักต้องหมายรวมถึงรูปฌาน อันยังให้เกิดปีติ สุข อุเบกขา เอกัคคตา อันประณีตวิจิตร อันเกิดแก่ใจ(อันไปยึดมั่นถือมั่นหรือติดเพลินโดยไม่รู้ตัว มิได้หมายถึงการทิ้งหรือไม่มี ยังคงมีอยู่แต่ไม่ติดเพลิน มีแค่เป็นเครื่องอยู่, หรือมีอยู่ในระดับขันธ์๕)

๗. อรูปราคะ หรืออรูปฌาน การติดใจติดเพลินในรสประณีตอันละเอียดยิ่งขึ้นของสิ่งที่เป็นอรูป อันวิจิตร ซึ่งไม่มีตัวตนรูปร่างอันสัมผัส เป็นการสัมผัสได้ด้วยใจหรือจิตนั่นเอง เช่นใน อรูปฌาน, เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังเช่น การติดเพลินหรือยึดมั่นในสุขเวทนาอันแสนสบายหรือถูกใจ เช่นเวทนาความรู้สึกในรูปโฉม,สิ่งสวยงามหรือทรัพย์สมบัติ(สุขเวทนา), พึงพอใจระลึกในสัญญาจําในอดีตอันเป็นสุข ฯลฯ. สําหรับผู้ปฏิบัติที่ผ่านการฝึกฝนอบรมในด้านสมถะสมาธิ เฉกเช่นเดียวกันกับรูปฌานย่อมหมายรวม อรูปฌาน อันยังให้เกิดความติดเพลินความพึงพอใจในรสอันประณีตวิจิตรเหนือธรรมดาของฌานอันเกิดแต่อรูป(ไม่มีตัวตน แต่เกิดจากจิตไปเพ่งหรือกสิณในสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้สัมผัสได้ด้วยอายตนะของตา หู จมูก ลิ้น กายทั้งหลาย, อันเป็นการเกิดจากการเจตนาขึ้นของจิตเอง คือยังเป็นสังขารสิ่งปรุงแต่งอย่างหนึ่งนั่นเอง จึงยังอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์)

"สังโยชน์อีก ๒ ชื่อ ซึ่งพระอรหันต์จะต้องละนั้น ได้แก่ รูปราคะ และอรูปราคะ ราคะ ๒ อย่างนี้ไม่ได้เกี่ยวกับกาม เป็นเพียงความพอใจในรสของความสงบสุขที่เกิดมาจากการเพ่งรูป และการเพิ่งสิ่งที่ไม่มีรูป เป็นธรรมดาอยู่เองที่สุขเวทนาอันประณีต ก็ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือขั้นประณีต ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ละได้ยาก ดังคำกล่าวในรูปของบุคคลาธิษฐานที่ว่า อายุของพวกพรหมโลกนั้นยืนยาวเป็นกัปป์ๆ ทีเดียว ข้อนี้หมายความว่า ความพอใจในรูปราคะและอรูปราคะ หรือความที่ได้เป็นพรหมนั้น มีกำลังเหนียวแน่นและลึกซึ้งมาก ยากที่จะถอนออกได้ง่ายๆ เมื่อเทียบส่วนกันกับความพอใจในกามราคะทั่วๆ ไปของมนุษย์ กล่าวให้สั้นที่สุด ก็ว่า สุขเวทนาที่เกิดมาจากความสงบของจิตและอำนาจของสมาธินั้น มีรสชาติยิ่งไปกว่าสุขเวทนาที่เกิดมาจากกาม อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้ทีเดียว" ( จาก วิธีลดอัตตา โดย ท่านพุทธทาส)

๘. มานะ ในสังโยชน์หมายถึงความถือตัว ถือตน ทนงตน ดั่งว่าเป็นนั่น เป็นนี่ ดังเช่น ถือว่าดีกว่าเขา เหนือกว่าเขา เสมอเขา ด้อยกว่าเขา จึงย่อมก่อให้เกิดการปรุงแต่งต่างๆนาๆ ขึ้น

๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ความปรุงแต่งในเรื่องต่างๆ ชนิดละเอียด (อธิบายในรูปแบบปฏิจจสมุปบาทก็คือยังคงมีคิดนึกปรุงแต่งหมายเลข 22 ในวงจร อยู่บ้างคือไม่ก่อให้ถึงขั้นระดับก่อทุกข์ก่อโทษหรือก่อภพก่อชาติ หรือเป็นทุกข์อุปาทานน้อยลง ส่วนปุถุชนนั้นความคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่านเกิดที่ 14 เป็นส่วนใหญ่อันเป็นทุกข์อุปาทานแล้ว และยังเกิดความคิดปรุงแต่งที่ 22 นี้ด้วยอย่างประจําสมํ่าเสมอ) ดังนั้นจิตจึงยังคงมีการพลิ้วไม่สงบบ้างเป็นธรรมดา

๑๐. อวิชชา ความไม่รู้ไม่เข้าใจตลอดจนการปฏิบัติ ให้สติรู้เท่าทัน และรู้ตามความเป็นจริงในสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ของการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปของทุกข์ อันคือ ปัญญา


Create Date : 27 กันยายน 2550
Last Update : 27 กันยายน 2550 9:42:44 น. 4 comments
Counter : 478 Pageviews.

 
มารับธรรมมะค่ะ มาเยี่ยม มาเยียน


โดย: มาดามมุก (Mooky Miracle Mom ) วันที่: 27 กันยายน 2550 เวลา:9:56:51 น.  

 


โดย: kampanon วันที่: 27 กันยายน 2550 เวลา:10:06:36 น.  

 


โดย: ธิธารา วันที่: 27 กันยายน 2550 เวลา:11:07:48 น.  

 
มาแอ่วอ่านธรรมะเจ้า



โดย: gripenator วันที่: 27 กันยายน 2550 เวลา:13:28:49 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ศาลาลอยน้ำ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศาลาลอยน้ำ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.