ให้ธรรมะนำชีวิต แล้วจะเดินไม่หลงทาง
Group Blog
 
 
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
26 กันยายน 2550
 
All Blogs
 

คิดกับพิจารณา

ปัญหาอีกข้อหนึ่งที่นักปฏิบัติมักสงสัยบ่อย ๆ ก็คือการพิจารณาคืออะไรกันแน่ คอยสงสัยว่า มันต่างกับความนึกคิดอย่างไร หลวงพ่อได้อธิบายเรื่องนี้อย่างชัดแจ้งในคำตอบที่ท่านให้กับนักปฏิบัติจากอเมริกาที่มากราบนมัสการและสนทนาธรรมที่วัดหนองป่าพง

"ความคิดอย่างหนึ่ง ความพิจารณาอย่างหนึ่ง คือ ความคิดนั้นจิตมันไม่ส่ายหรอก มันก็คิดของมันไปเรื่อย ๆ หยาบ ๆ ทีนี้เมื่อจิตสงบปุ๊บมันจะมีความรู้สึก เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมาคล้าย ๆ ความคิด แต่มันไม่ใช่ความคิด

อันนี้มันเกิดมาจากความสงบที่กลั่นกรองออกมาแล้ว มันจะเป็นปัญญาอ่อน ๆ ถ้าเรารู้ไม่ทันมัน มันก็เป็นสังขาร ถ้าเรารู้ทันมัน มันก็เป็นปัญญา เป็นปัญญาอย่างง เมื่ออะไรมันรู้เกิดขึ้นมามันก็เห็นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เป็นปัญญา

ถ้าเราปรุงแต่ง คิดยังงั้นคิดยังงี้ นี่มันเป็นสังขารแล้ว ไอ้ความรู้อันนั้นมันเกิดมาจากอวิชชาแล้วมันจึงเป็นอย่างนั้น ถ้าเกิดมาจากวิชชาแล้วก็ต้องรู้จักปล่อย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปล่อยมันไปเรื่อย ๆ นี่มีปัญญาแล้ว ควรให้มีตรงนี้ อันนี้แหละจะเป็นวิปัสสนาต่อไป ตรงนี้เริ่มแล้ว"

ถาม "แล้วตอนนั่งจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นปัญญาจริงหรือว่าเป็นอวิชชา?"

หลวงพ่อ "เป็นปัญญาที่แท้จริงคือมันไม่ไปยึดหมายในอารมณ์อันนั้น เห็นแล้วก็ไม่รำคาญ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเรื่องธรรมดาไม่มีอะไรแล้ว เมื่อกิเลสเกิดขึ้นมา ความรู้มากระทบ มันก็หายไป ๆ

ถ้าเป็นอวิชชากระทบมาจับเลย คือเรื่องการภาวนานี้มันมีสองอย่าง ท่านตรัสไว้ว่า มัน เจโตวิมุตติ อันหนึ่ง ปัญญาวิมุตติ อันหนึ่งนะ ปัญญาวิมุตติ นั้นเรียกว่า มันเร็วมาก

อย่างคนสองคนนี้จะเดินไปดูลวดลายซักอย่างหนึ่ง อย่างโยมก็ไปดูพร้อมกันนี่น่ะ ดูห้านาทีพร้อมกันนี่ เข้าใจเอามาทำเลย รู้ ทีนี้อีกคนหนึ่งจะต้องมานั่งคิดตรงนั้นมันทำยังงั้น ก็กลับไปดูอีก ตรงนั้นมันทำยังงั้นแน่ะ

เจโตวิมุตติ ต้องมาทำจิตให้มันมาก ๆ เสียหน่อยหนึ่ง ทำสมาธิให้มากเสียหน่อยหนึ่ง โยมนี่ ไม่ต้องทำอะไรแล้วนี่ ไปมองดูเข้าใจแล้วก็มาทำ ไม่สงสัย กลับมาเขียนเลยทำเลย นี่ ปัญญาวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ และเจโตวิมุตติ

นี้ก็ไปถึงที่สุดเหมือนกัน แต่ว่ามีอาการต่างกัน มีอาการต่างกันอย่างไร ปัญญาวิมุตตินี้มีสติสัมปชัญญะรอบอยู่เสมอเลย เมื่อเห็นอะไรพ้นขึ้นมา รู้ รู้ มันปล่อย มันวางง่าย

คนที่เจโตวิมุตตินี่เห็นขึ้นมาแล้วไม่ได้ ต้องไปนั่งพิจารณา นี่ก็ไปได้เหมือนกัน ให้รู้จักจริตของเรา บางคนที่อาจะไม่รู้จักว่ามันเป็นสมาธิด้วย เราเดินไปดูไป สมาธิคือความตั้งใจมั่น มันมีอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว

ถ้าคนมีปัญญาไม่ต้องยาก ทำสมาธินี่พอเป็นรากฐานเฉย ๆ คล้าย ๆ ว่า เขาเรียนกัน มศ.๓ น่ะ ม.๖ นะ ได้ ม.๖ ปุ๊บแล้วก็แยกไป จะไปเข้าตรงไหน ใครชอบอะไร ใครชอบเกษตรก็ไปเกษตร ใครชอบอะไรก็ไป มันแยกตรงนี้อย่างนี้ สมาธิก็เหมือนกันอย่างนี้ มันไปอย่างนี้ก็ไปถึงที่สุดของมัน"

อีกโอกาสหนึ่งหลวงพ่ออธิบายเรื่องวิปัสสนาไว้ว่า

"อาการที่พิจารณาออกจากความสงบเหล่านี้แหละเรียกว่าปัญญา เป็นวิปัสสนา ไม่ได้แต่งมันหรอก วิปัสสนานี้ถ้ามีปัญญามันเป็นของมันเอง ไม่ต้องไปตั้งชื่อมัน ถ้ามันรู้แจ้งน้อยก็เรียกว่า วิปัสสนาน้อย ถ้ามันรู้อีกขนาดหนึ่งก็เรียกว่า วิปัสสนากลาง ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริงก็เรียกว่า วิปัสสนาถึงที่สุด

เรื่องวิปัสสนานี้อาตมาเรียกปัญญา การจะไปทำวิปัสสนา จะทำเอาเดี๋ยวนั้น ๆ ทำได้ยาก มันต้องเดินมาจากความสงบ เรื่องมันเป็นเองทั้งหมดไม่ใช่เรื่องเราจะไปบังคับ ใช้จิตที่สงบนั้นพิจารณาอารมณ์ รูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง ธรรมารมณ์บ้าง ที่เกิดขึ้นให้มาพิจารณา

ชอบหรือไม่ชอบต่าง ๆ นานา ให้เป็นผู้รับทราบไว้ อย่าเข้าไปหมายในอารมณ์นั้น ถ้าดีให้รู้ว่าดี ถ้าไม่ดีก็ให้รู้ว่าไม่ดี อันนี้เป็นของสมมุติบัญญัติ ถ้าจะดีจะชั่วก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

อ่านคาถานี้ไว้ด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป ปัญญาจะเกิดเอง อารมณ์นั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทิ้งใส่ ๓ ขุมนี้ นี่เป็นแก่นของวิปัสสนา ทิ้งใส่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดีชั่วร้ายอะไรก็ทิ้งมันใส่นี่

ไม่นานเราก็จะเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดปัญญาอ่อน ๆ ขึ้นมา นั่นแหละเรื่องภาวนา ให้พยายามทำเรื่อย ๆ ให้รู้ความจริง เพื่อละ เพื่อถอน เพื่อความสงบ

เมื่อหูได้ยินเสียงดูจิตของเรา มันผันผวนไปตามไหม มันรำคาญไหม เท่านี้เราก็รู้ ได้ยินอยู่แต่ไม่รำคาญ เอากันใกล้ ๆ มิได้เอาไกล เราจะหนีจากเสียงนั้น สิ่งที่วางแล้วนั้นก็ยังได้ยินอยู่ ได้ยินอยู่แต่ก็วางอยู่ เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกวางอยู่แล้ว

มิใช่จะไปบังคับให้มันแยก มันแยกเองโดยอัตโนมัติ เพราะการละการวาง จะอยากให้มันไปตามเสียงนั้น มันก็ไม่ไป เมื่อเรารู้ถึงรูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหลายเหล่านี้ตามเป็นจริงแล้ว เห็นชัดอยู่ในดวงจิตของเราว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมดทั้งนั้น

เมื่อได้ยินครั้งใดก็เป็นสามัญลักษณะอยู่ในใจ เวลาอารมณ์ทั้งหลายมากระทบได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยินนั้น ไม่ใช่จิตของเราจะไม่มีการงาน สติกับจิตพัวพันคุ้มครองกันอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา

ถ้าทำจิตให้ถึงอันนี้แล้ว ถึงจะเดินไปทางไหน มันก็ค้นคว้าอยู่นี่ เป็นธรรมวิจัยหลักของโพชฌงค์ เท่านั้นเอง มันหมุนเวียนพูดกับตัวเอง แก้ ปลดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีอะไรจะมาใกล้มันได้ มันมีงานทำของมันเอง นี่เรื่องอัตโนมัติของจิตที่เป็นอยู่ ไม่ได้แต่งมัน"




 

Create Date : 26 กันยายน 2550
0 comments
Last Update : 26 กันยายน 2550 14:36:29 น.
Counter : 535 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ศาลาลอยน้ำ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศาลาลอยน้ำ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.