สูตรเว่ยหล่าง พระบรมราชูปถัมภ์








หมวดที่ 9 พระบรมราชูปถัมภ์
พระบรมราชโองการของพระมหาจักรพรรดินีพระพันปีหลวงเช็คทินและ
พระมหาจักรพรรดิจุงจุง ประกาศเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้ายปีที่ 1 แห่งรัชกาลชินลุง ดังนี้
“เนื่องจากข้าพเจ้าทั้งสอง ได้เชิญท่านพระอาจารย์เว่ยออนและท่านพระอาจารย์ชินเชา ให้พำนักอยู่ในพระราชวังเพื่อรับของถวายข้าพเจ้าได้ศึกษาทางพุทธยานจากท่านพระอาจารย์ทั้งสองนี้ ทุกโอกาสที่ว่างจากพระราชกรณียกิจ แต่ด้วยความถ่อมตนอย่างบริสุทธิ์ใจ ท่านพระอาจารย์ทั้งสองนี้ได้แนะนำให้ข้าพเจ้าขอคำแนะนำจากท่านพระอาจารย์เว่ยหล่าง แห่งสำนักใต้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกสำหรับรับมอบพระธรรมและบาตร จีวร จากพระสังฆปริณายกที่ห้า เช่นเดียวกับได้รับหัวใจแห่งธรรมของสมเด็จพระพุทธองค์
พร้อมนี้ ข้าพเจ้าทั้งสองได้ส่งขันที ซิตกัน เป็นผู้ถือพระบรมราชโองการ มานิมนต์พระคุณท่านไปเมืองหลวง และมั่นใจว่า พระคุณท่านคงเมตตาอนุเคราะห์ข้าพเจ้าทั้งสอง ด้วยการไปเยี่ยมเมืองหลวงโดยด่วน...ฯลฯ”
เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ พระสังฆปริณายกได้ตอบปฏิเสธการนิมนต์ของพระมหาจักรพรรดิ และขอพระบรมราชานุญาตที่จะใช้ชีวิตอยู่ในป่า
เมื่อเข้าไปนมัสการสนทนากับพระสังฆปริณายก ชิตกัน ได้กล่าวว่า “บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางธยานะในเมืองหลวง ต่างได้แนะนำประชาชนเป็นอย่างเดียวกัน ให้นั่งขัดสมาธิเข้าสมาธิ ท่านเหล่านั้นบอกว่า เป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะตระหนักชัดถึงหลักธรรมได้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ทราบถึงแนวคำสอนของพระคุณท่านบ้างได้ไหมครับ?”
“หลักธรรมนั้น จะตระหนักชัดได้ด้วยจิต” พระสังฆปริณายกตอบ “และไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนั่งขัดสมาธิ ในวัชรักเขทิกสูตรก็กล่าวว่า เป็นการผิดที่ใครๆจะยืนยันว่า ตถาคตมาหรือไปและนั่งหรือนอน เพราะเหตุใดหรือ?
เพราะว่า สมาธิแห่งความบริสุทธิ์ ของตถาคต ไม่ได้หมายความว่า มาจากแห่งใดหรือไปที่แห่งใด ไม่ได้หมายความว่ามีการเกิดหรือการดับ ธรรมทั้งหลายย่อมสงบและว่างเปล่า โดยทำนองเดียวกัน บัลลังก์แห่งความบริสุทธิ์ของตถาคตก็เป็นเช่นนั้น พูดอย่างตรงๆแล้ว ไม่มีแม้แต่สิ่งเหล่านี้ที่จะบรรลุได้ ด้วยเหตุนี้ทำไมเราจะต้องทรมานตัวเองด้วยการนั่งขัดสมาธิ?”
ซิตกันกล่าวว่า “เมื่อเดินทางกลับ พระมหาจักรพรรดิทั้งสองต้องให้ข้าพเจ้ากราบทูลรายงานเป็นแน่ พระคุณท่านจะโปรดกรุณาให้คำเตือนที่เป็นหลักสำคัญในการสอนของพระคุณท่านแก่ข้าพเจ้าบ้างได้ไหมครับ?
เพื่อข้าพเจ้าจะได้สามารถกราบทูลให้พระมหาจักรพรรดิทรงทราบ และยังจะได้ชี้แจงแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปในเมืองหลวงอีกด้วย เสมือนกับว่าแสงเพลิงจากประทีปดวงหนึ่งที่อาจจุดต่อให้แก่ประทีปอื่นๆอีกหลายร้อยหลายพันดวง บรรดาคนโง่ทั้งหลายจะได้เกิดปัญญา และแสงสว่างย่อมก่อให้เกิดแสงสว่าง ต่อไปโดยไม่สิ้นสุด”
พระสังฆปริณายกตอบว่า “หลักธรรมนั้นไม่ได้หมายถึงแสงสว่างหรือความมืด แสงสว่างและความมืดนั้น หมายถึงความคิดที่อาจสับเปลี่ยนกันได้ฉะนั้นการกล่าวว่า แสงสว่างก่อให้เกิดแสงสว่างต่อไปโดยไม่สิ้นสุด จึงผิด เพราะว่ามันมีความจบสิ้น เนื่องจากความสว่างและความมืดเป็นคำคู่ประเภทตรงข้าม ในวิมลกีรตินิเทศสูตรกล่าวว่า หลักธรรมนั้นไม่มีข้ออุปมา เพราะว่าไม่ใช่เป็นคำที่อาจเทียบเคียงกันได้”
ซิตกันแย้งว่า “แสงสว่างหมายถึงปัญญา และความมืดก็หมายถึงกิเลส ถ้าผู้เดินทางไม่ได้ทำลายกิเลส ด้วยอำนาจแห่งปัญญาแล้ว เขาจะพาตัวให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏอันไม่มีเบื้องต้นได้อย่างไร?”
พระสังฆปริณายกตอบว่า “กิเลสคือโพธิ สองอย่างนี้เหมือนกันไม่ต่างกันการทำลายกิเลสด้วยปัญญา เป็นคำสอนของสำนักสาวกภูมิและสำนักปัจเจกพุทธภูมิ ซึ่งสานุศิษย์ของสำนักเหล่านั้น ใช้ยานเทียมด้วยแพะและใช้ยานเทียมด้วยกวาง สำหรับผู้มีความเฉียบแหลมและปัญญาสูงคำสอนดังกล่าวคงจะไร้ประโยชน์ทั้งสิ้น”
ซิตกันถามว่า “ถ้ากระนั้น คำสอนของสำนักมหายานได้แก่อะไร?”
พระสังฆปริณายกตอบว่า “ในทัศนะของสามัญชน ปัญญาและอวิชชาเป็นของสองสิ่งแยกจากกัน ส่วนคนฉลาด ผู้ได้ตระหนักชัดถึง ภาวะที่แท้แห่งจิต โดยตลอดแล้ว ย่อมรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีธรรมชาติเป็นอย่างเดียวกัน ธรรมชาติอันเป็นอย่างเดียวกัน หรือธรรมชาติอันไม่เป็นของคู่นี้คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติที่แท้จริง ซึ่งในกรณีของสามัญชนและคนโง่ก็ไม่ได้มีน้อยลง และในกรณีของปราชญ์ผู้บรรลุความรู้แจ้งแล้วก็ไม่ได้มีมากขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้ไหวสะเทือนในสภาพที่มีความวุ่นวาย และก็ไม่ได้สงบนิ่งในสภาพที่มีสมาธิ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถาวร และก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ถาวร ไม่ได้ไปหรือมา ไม่อาจพบได้จากภายนอก และก็ไม่อาจพบได้จากภายใน หรือไม่อาจพบได้ในอวกาศ ซึ่งอยู่ในระหว่างสิ่งทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มีธรรมชาติและปรากฏการณ์อยู่ในสภาพ ความเป็นเช่นนั้น ตลอดไป เป็นสิ่งที่ถาวรและไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งนี้แหละคือหลักธรรม”
ซิตกันถามว่า “ท่านกล่าวว่า เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความมีอยู่ และความไม่มีอยู่ ถ้าเช่นนั้นท่านจะอ้างว่า ต่างกับคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งสอนอย่างเดียวกันนี้ได้อย่างไร?”
พระสังฆปริณายกตอบว่า “ในคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ คำว่า ไม่มีอยู่ หมายถึงการสิ้นสุดของคำว่า มีอยู่ส่วนคำว่า มีอยู่ ก็ใช้เปรียบเทียบในทางตรงกันข้ามกับคำว่า ไม่มีอยู่ สิ่งที่เขาหมายถึงความไม่มีอยู่ ไม่ใช่หมายถึงการทำลายล้างโดยแท้จริง และสิ่งที่เขาเรียกว่า มีอยู่ ก็ไม่ได้หมายถึงความมีอยู่อย่างแท้จริง สิ่งที่ฉันหมายถึงเหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่ ก็คือโดยเนื้อแท้แล้วย่อมไม่มีอยู่ แต่ในขณะปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกทำลายล้างไป นี่แหละเป็นความต่างกัน ระหว่างคำสอนของฉันกับคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ
ถ้าท่านปรารถนาจะทราบถึงประเด็นสำคัญในคำสอนของฉัน ท่านควรสลัดตัวของท่านให้ปลอดจากความคิดทั้งปวง ไม่ว่าดีหรือเลว เมื่อนั้น จิตของท่านจะอยู่ในภาวะอันบริสุทธิ์สงบ และสันติตลอดเวลา ทั้งคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการนี้ ก็มีมากมายหลายเท่าดุจเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคง”
คำสอนของพระสังฆปริณายก ทำให้ซิตกันบรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ในทันใด เขากราบนมัสการและอำลาพระสังฆปริณายกกลับเมืองหลวง เมื่อถึงพระราชวังแล้วก็กราบทูลรายงานต่อพระมหาจักรพรรดิ ตามที่พระสังฆปริณายกได้กล่าว
ครั้นถึงวันขึ้นสามค่ำ เดือนเก้า ปีเดียวกันนั้น พระมหาจักรพรรดิมีพระบรมราชโองการประกาศชมเชยพระสังฆปริณายกตามความดังนี้
ด้วยเหตุชราภาพและสุขภาพไม่สมบูรณ์ พระสังฆปริณายกได้ปฏิเสธการนิมนต์มาเมืองหลวง ท่านขอสละชีวิตปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเพื่อคุณประโยชน์ของพวกเรา ท่านเป็นเนื้อนาบุญแห่งชาติโดยแท้จริง ท่านได้ปฏิบัติตามอย่างท่านวิมลกีรติ ซึ่งพักฟื้นอยู่ในเมืองไวสาลี ทำการเผยแพร่คำสอนของมหายานให้ไพศาล ด้วยการถ่ายทอดหลักธรรมของสำนักธฺยานะ และด้วยการอธิบายหลักธรรมแห่งการไม่เป็นของคู่
จากการถ่ายทอดธรรมของซิตกัน ผู้ซึ่งได้รับส่วนแบ่งในความรู้ทางพุทธะจากพระสังฆปริณายก ข้าพเจ้าทั้งสองจึงได้มีโอกาสเข้าใจถึงคำสอนชั้นสูงของพระพุทธศาสนา นี่จะต้องเนื่องมาจากกุศลและรากเง่าแห่งความดี ที่ข้าพเจ้าได้สร้างสมมาแต่ชาติปางก่อน มิฉะนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็คงไม่ได้เกิดมาทันพระคุณท่าน
ในการน้อมสักการะต่อพระคุณของพระสังฆปริณายก ข้าพเจ้าสุดวิสัยที่จะกล่าวคำใดๆให้ทัดเทียมได้ ฉะนั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความคารวะอันสูงที่มีต่อพระคุณท่าน ข้าพเจ้าทั้งสอง ขอถวายจีวรโลมาและบาตรผลึกมาพร้อมนี้ และโดยคำสั่งนี้ ให้เป็นหน้าที่ของข้าหลวงชิวเจาที่จะปฏิสังขรณ์พระอารามของพระคุณท่าน และดัดแปลงบ้านเดิมของพระคุณท่าน ให้เป็นวิหาร ทั้งให้ชื่อว่า
กว็อกเยน (นาบุญแห่งรัฐ)
ในพระปรมาภิไธย...ฯลฯ





Create Date : 04 ธันวาคม 2552
Last Update : 5 ธันวาคม 2552 14:53:04 น. 0 comments
Counter : 473 Pageviews.

chuhongchang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add chuhongchang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.