สูตรเว่ยหล่าง ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัย และสิ่งแวดล้อม (2)







สูตรเว่ยหล่าง ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัย และสิ่งแวดล้อม (2)

ภิกษุฟัตตัต ชาวเมืองฮุงเจา ผู้เข้ามาบรรพชาในพระศาสนา ตั้งแต่อายุเพิ่งได้ 7 ปี มีปรกติสาธยายสัทธรรมปุณฑริกสูตรอยู่เป็นนิจ เมื่อท่านผู้นี้มาแสดงความเคารพต่อพระสังฆปริณายก ท่านไม่ได้กราบให้ศีรษะจดพื้น เพราะท่านทำการเคารพอย่างขอไปทีเช่นนี้ พระสังฆปริณายกได้ตำหนิว่า ถ้าท่านรังเกียจในการที่จะก้มศีรษะให้จดพื้นแล้ว การไม่ทำความเคารพเสียเลย จะมิดีกว่าหรือ? ต้องมีอะไรอยู่ในใจของท่านสักอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ท่านมีความทะนงเช่นนั้น
ขอถามว่า ท่านทำอะไรเป็นประจำวัน?

ภิกษุฟัตตัตได้ตอบว่า กระผมสาธยายสัทธรรมปุณฑริกสูตร กระผมท่องตลอดทั้งๆสูตร สามพันครั้งมาแล้ว
พระสังฆปริณายก ได้เตือนว่า ถ้าท่านจับใจความของสูตรนี้ได้ ท่านจะไม่มีการถือตัวเช่นนี้เลย แม้ท่านจะถึงกับเคยท่องสูตรนี้มาถึงสามพันครั้งแล้ว ถ้าท่านจับความหมายของพระสูตรนี้ได้จริงๆ ท่านก็จะต้องได้เดินอยู่ในทางๆ เดียวกันกับข้าพเจ้า สิ่งที่ท่านเรียนสำเร็จ ได้ทำให้ท่านกลายเป็นคนหยิ่งไปเสียแล้ว และยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนท่านไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไป ว่าการที่เป็นเช่นนี้เป็นของผิด ท่านจงฟังโศลกของข้าพเจ้าเถิด

ก็เมื่อความมุ่งหมายของระเบียบวินัยต่างๆเป็นไปเพื่อปราบปรามความทะลึ่งแล้ว
ทำไมท่านไม่กราบให้ศีรษะจดพื้น?
“การยึดถือในตัวตน” เป็นทางมาแห่งบาป
แต่ “การถือว่าการได้บรรลุธรรมหรือผลใดๆ ก็ตาม เป็นเพียงของลมๆ แล้งๆ” นี้เป็นทางมาแห่งกุศลอันใหญ่หลวง
จบแล้ว พระสังฆปริณายกได้ไต่ถามถึงชื่อของท่านผู้นี้ เมื่อได้ฟังว่า
ชื่อฟัตตัต (ซึ่งแปลว่าผู้เข้าใจธรรม) พระสังฆปริณายกจึงได้กล่าวต่อไปว่า
ท่านชื่อฟัตตัตก็จริง แต่ท่านยังไม่เข้าใจในธรรมเลย แล้วท่านได้สรุปความด้วยโศลกต่อไปอีกว่า
ชื่อของท่านว่า ฟัตตัต
ท่านสาธยายพระสูตรอย่างพากเพียรไม่ท้อถอย
การท่องพระสูตรด้วยปาก เป็นแต่การออกเสียงล้วนๆ
สัตว์ผู้ที่มีใจสว่างไสวเพราะจับใจความได้ นั่นคือโพธิสัตว์แท้
เพราะเป็นเรื่องของปัจจยาการ อันอาจสืบสาวไปถึงภพก่อนๆ
ข้าพเจ้าจะอธิบายความข้อนี้แก่ท่าน
ถ้าท่านเพียงแต่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอะไร แม้แต่คำเดียว
เมื่อนั้น ดอกบัวจะบานขึ้นในปากของท่านเอง

เมื่อได้ฟังโศลกนี้ ภิกษุฟัตตัตรู้สึกสลดใจ และขออภัยต่อพระสังฆปริณายก
เธอได้กล่าวต่อไปว่า แต่นี้ต่อไป กระผมจะเป็นคนสุภาพและถ่อมตัวในทุกโอกาส เนื่องจากกระผมไม่มีความเข้าใจในความหมายของพระสูตรที่ท่องนั้นอย่างถูกต้อง กระผมก็ฉงนในการตีความหมายอันแท้จริงของพระสูตรนั้น
ใต้เท้ามีความรู้และปัญญาอันลึกซึ้งที่สุด ขอได้โปรดอธิบายโดยสรุปแก่กระผมเถิด

พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ฟัตตัตเอ๋ย พระธรรมเป็นของกระจ่างเต็มที่อยู่เสมอ ใจของท่านต่างหากซึ่งไม่กระจ่าง พระสูตรนั้นไม่มีข้อความที่น่าฉงนเลย แต่ใจของท่านต่างหาก ที่ทำให้พระสูตรนั้น เป็นของชวนฉงนไป ในการสาธยายพระสูตรนั้น ท่านทราบถึงความมุ่งหมายอันสำคัญ ของพระสูตรนั้นหรือเปล่า?
ภิกษุฟัตตัตได้ตอบว่า กระผมจะทราบได้อย่างไร ในเมื่อกระผมมีแต่ความมืดมัวทึบอยู่เช่นนี้ เท่าที่กระผมทราบก็คือท่องอย่างไรจึงจะว่าปากเปล่าต่อกันไปได้เท่านั้น
พระสังฆปริณายกได้กล่าวต่อไปว่า ท่านจงสาธยายพระสูตรออกมเถิด
ฉันอ่านเองไม่ได้ แล้วฉันจะอธิบายความหมายให้ท่านฟัง
ภิกษุฟัตตัตได้สาธยายพระสูตรนั้นขึ้น ครั้นมาถึงบทอันมีชื่อว่า
“นิยายเป็นเครื่องอุปมา”(1)
(1) คือบทที่ 3 ของพระสูตร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 27 บท นิยายนั้นมีว่าพ่อเอาตุ๊กตาเครื่องเล่นล่อลูกเล็ก ๆ ให้วิ่งออกมาเสียจากเรือนที่กำลังถูกไฟไหม้ จนปลอดภัย เปรียบกับพระพุทธองค์ ในข้อที่พระพุทธองค์มียานต่างชนิดต่างขนาด สำหรับขนสัตว์ข้ามสังสารวัฏ –ผู้แปลเป็นไทย

พระสังฆปริณายกได้บอกให้หยุด แล้วกล่าวว่า ความหมายของพระสูตรๆ นี้
ก็คือเพื่อแสดงให้ปรากฏถึงความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ ของการที่
พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาบังเกิดขึ้นในโลกนี้นั่นเอง แม้ว่านิยายและภาพ
ความหมายจะมีมาก ในข้อความแห่งพระสูตรนี้ ก็ไม่มีเรื่องใดหรือภาพใด
ที่มุ่งจะแสดงอะไรอื่น นอกไปจากจุดประสงค์อันสำคัญนี้ ทีนี้อะไรเล่าคือ
วัตถุประสงค์ อะไรเล่าคือความมุ่งหมายดังที่กล่าวมานั้น ข้อความในพระสูตรกล่าวว่า “เพื่อวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว เพื่อความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว เป็นวัตถุที่ประสงค์อันสูงสุดจริงๆ เป็นความมุ่งหมายอันสูงสุดจริงๆ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบังเกิดขึ้นในโลกนี้” ในเรื่องนี้ วัตถุที่ประสงค์เพียงอย่างเดียว ความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว อันเป็นวัตถุที่ประสงค์อันสูงสุด เป็นความมุ่งหมายที่สูงสุด ที่กล่าวถึงในพระสูตรนั้น ก็คือ “การเห็น” ซึ่งพุทธธรรม(1)
(1)เอาใจความว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ ก็เพื่อทำให้เกิดมี “การเห็นธรรมชนิดที่ทำผู้เห็นให้เป็นพุทธะ” ขึ้นได้ในโลกนั่นเอง คือช่วยทำให้เกิดโอกาสแก่ “พุทธภาวะ” ที่มีอยู่ในทุกๆคน แสดงตัวปรากฏออกมา -ผู้แปลเป็นไทย

คนธรรมดาสามัญทั่วไป ทำตัวให้ติดพันอยู่กับวัตถุในภายนอก ส่วนภายในก็จมอยู่ในความเห็นผิดเรื่อง “ความว่างเปล่า” เมื่อใดเขาสามารถเปลื้องตนเองออกมาเสีย จากความผูกพันอยู่กับวัตถุต่างๆ ที่เขาได้ประสบ และเปลื้องตัวเองออกมาเสียจากความเห็นผิด เรื่องความขาดสูญ อันเกี่ยวกับคำสอนเรื่อง “สุญญตา”
เมื่อนั้น เขาจะเป็นคนอิสระจากอวิชชาความหลงผิดในภายใน และจากสิ่งอันเป็นมายาในภายนอก บุคคลที่เข้าใจแจ่มแจ้งในความจริงอันนี้ และใจเขาสว่างไสวออกไปในทันที นี่แหละควรเรียกว่า ผู้ที่ได้เปิดตาของเขาแล้ว เพื่อการเห็นแจ้งซึ่งพุทธธรรม
คำว่า “พุทธะ” นี้ มีความหมายเท่ากับคำว่า “การตรัสรู้” ซึ่งควรจะถูกกำหนดไว้ภายใต้หัวข้อ (ดังที่กำหนดไว้ในสูตร) 4 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

เปิดตาขึ้น เพื่อการเห็นแจ้ง “ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้”
แสดงความเห็นแจ้งใน “ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้” นั้น ให้ปรากฏ
ตื่นขึ้นเพื่อการเห็นแจ้งใน “ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้”
เป็นผู้ตั้งมั่นใน “ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้”

เมื่อได้รับการสั่งสอนแล้ว ถ้าเราสามารถจับฉวย และเข้าใจโดยทั่วถึง ในคำสอนอันว่าด้วย “ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้” เมื่อนั้นแหละคุณสมบัติอันประจำอยู่ภายใน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมชาติอันแท้จริง อันได้แก่ “ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้” นั้นก็จะมีโอกาสแสดงตัวออกมาให้ปรากฏ ท่านไม่ควรตีความหมายในตัวพระสูตรอย่างผิดๆ แล้วลงมติเสียในที่สุดว่า พุทธธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีไว้สำหรับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ไม่เป็นของทั่วไปสำหรับเราทั้งหลายด้วย โดยที่เผอิญไปพบข้อความในสูตรที่กล่าวไว้ว่า “เปิดตาขึ้นเพื่อการเห็นแจ้งในพุทธธรรม แสดงความเห็นแจ้งในพุทธธรรมให้ปรากฏ ฯลฯ” ดังนี้ การตีความหมายผิดเช่นนี้
จะถึงกับเป็นการป้ายร้ายให้แก่พระพุทธเจ้า และเป็นการแช่งด่าพระสูตรนั้นเอง
ทุกๆ คำที่ตนพูด เพราะเขาก็เป็นพุทธะด้วยคนหนึ่ง เขาจึงมีโพธิธรรมอันนี้มาด้วยพร้อมแล้ว แต่ไม่มีโอกาสสำหรับเขาเอง ที่จะเปิดตาออกดูสิ่งอันนั้น
เพราะฉะนั้น ท่านควรจะรับเอาการตีความหมายที่ว่า พุทธธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพุทธะ) นั้นคือ พุทธธรรมของใจเราเอง หาใช่ของพระพุทธเจ้าอื่นใดที่ไหนไม่

เมื่อถูกทำให้หลงรักโดยอารมณ์อันยั่วยวน และปิดกั้นตัวเองเสียจากแสงสว่างของตัวเอง ด้วยเหตุอันนั้น สัตว์ทั้งปวงซึ่งระทมทุกข์อยู่เพราะอารมณ์ภายนอก และความเร่าร้อนภายในจึงได้ตกเป็นเหมือนทาสแห่งตัณหาของตนเองโดยหมดสิ้น เมื่อทรงเห็นเหตุการณ์อันนี้พระพุทธองค์ของเรา จึงได้ทรงลุกออกจากสมาธิ เพื่อเร้าใจสัตว์เหล่านั้นด้วยพระโอวาทอันเป็นเครื่องกระตุ้นมีประการต่างๆ ให้ย่ำยีตัณหาของตนเอง และเว้นขาดเสียจากการแสวงสุขจากอารมณ์ภายนอก เพื่อว่าเขาจะได้เป็นผู้เสมอกันกับพระพุทธเจ้า เพราะเหตุอันนี้เอง ข้อความในตัวสูตรจึงมีว่า “เปิดตาขึ้น เพื่อเห็นแจ้งพุทธธรรม ฯลฯ”

ข้าพเจ้าได้ตักเตือนคนทั่วไปอยู่เสมอ ให้เปิดตาของตนเอง เพื่อเห็นแจ้งพุทธธรรมในภายในใจของตนเอง แต่ด้วยอำนาจความผิดปรกติของคนเหล่านั้น เขาพากันทำบาปภายใต้อวิชชาและความโง่เขลา ปากของเขาว่ากรุณา แต่ใจของเขาโหดร้าย เขาเป็นคนตะกละ มุ่งร้าย ริษยาคดโกง สอพลอ เข้าข้างตัว รุกรานคนอื่น เป็นผู้ทำลายกระทั่งสิ่งที่ไม่มีชีวิต ดั่งนั้น จึงชื่อว่าเขาเปิดตาของเขาขึ้นเพื่อ “ปุถุชนธรรม” ถ้าเขากลับใจของเขาเสีย ในลักษณะที่ปัญญาปรากฏตัวอยู่ตลอดกาล ใจก็จะมีความเห็นแจ้งในภายในอยู่เป็นปรกติ การทำชั่วก็จะมีการทำดีเข้ามาแทนที่ แล้วเขาก็จะลากตัวเองเข้ามาในทางแห่งพุทธธรรมได้ด้วยเหตุนั้น
เพราะฉะนั้น ท่านควรจะเปิดตาของท่านอยู่ทุกๆ ขณะ มิใช่เพื่อปุถุชนธรรม แต่เพื่อพุทธธรรม ซึ่งเป็นสิ่งอยู่เหนือวิสัยโลก ในเมื่อปุถุชนธรรมเป็นของอย่างโลกๆ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากท่านติดแน่นอยู่แต่ในความคิดเห็นของตัวเอง ว่าเพียงแต่สาธยายพระสูตรเป็นประจำวันอย่างเดียว ก็เป็นการดีเพียงพอเสียแล้วดังนี้ ท่านจะหลงรักมันเหมือนจามรีหลงรักพวงหางของมันเอง (จามรีนั้น เป็นสัตว์ที่รู้กันอยู่แล้วว่ามีความหวงแหนอย่างแรงกล้าในหางของมัน)

ในขณะนั้น ภิกษุฟัตตัตได้ถามขึ้นว่า ถ้าเป็นดังนั้น เราเพียงแต่รู้ความหมายของพระสูตรก็พอแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องสาธยายข้อความนั้นๆ ถูกไหมขอรับ
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ไม่มีอะไรเป็นของผิดอยู่ในพระสูตร จนถึงกับท่านจะต้องเลิกการสาธยายเสียเลย การสาธยายพระสูตร จะช่วยให้ท่านตรัสรู้ธรรมได้หรือไม่ จะเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านหรือไม่ ข้อนั้นทั้งหมดมันเนื่องอยู่ที่ตัวท่านเอง ผู้ที่ท่องพระสูตรอยู่ด้วยปาก และเอาข้อความไปปฏิบัติอยู่เสมอด้วยใจ คนนั้นชื่อว่า “พลิก” พระสูตร ส่วนผู้ที่ท่องพระสูตรแต่ปาก ปราศจากการปฏิบัติแต่อย่างใด ผู้นั้นชื่อว่า “ถูกพลิกเสียแล้ว” โดยพระสูตรที่เขาท่องนั้นเอง ท่านจงฟังโศลกโคลงของข้าพเจ้าดังต่อไปนี้

เมื่อใจของเราตกอยู่ภายใต้อวิชชา สัทธรรมปุณฑริกสูตร “พลิกเรา”
เมื่อมีใจสว่างไสวในธรรม เมื่อนั้นเรากลับ “พลิก” สัทธรรมปุณฑริกสูตร
การสาธยายสูตรนับไม่ถ้วนครั้ง โดยไม่ทราบความหมาย นั้นย่อมแสดงว่าท่านเป็นแขกแปลกหน้าต่อใจความของพระสูตร
วิธีที่ถูกต้องสำหรับการสาธยายสูตรก็คือ อย่ายึดถือตามความเห็นของตัว
มิฉะนั้นแล้ว มันจะต้องพลาด
ผู้ที่อยู่เหนือ “การรับ” และ “การปฏิเสธ”
ย่อมนั่งอยู่เนื่องนิจ บนเกวียนวัวขาว (กล่าวคือพุทธยาน)

เมื่อได้ฟังโศลกนี้จบลงแล้ว ภิกษุฟัตตัต เกิดความสว่างไสวในธรรมและมีน้ำตาไหลได้ร้องขึ้นว่า เป็นความจริง ที่ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถจะ “พลิก” พระสูตร แต่เป็นข้างพระสูตรเสียเองมากกว่า ที่ “พลิก” ข้าพเจ้า

ลำดับนั้น ภิกษุฟัตตัต ได้ยกเรื่องอื่นขึ้นมาถามต่อไปว่า พระสูตรได้กล่าวว่า “นับตั้งแต่พระสาวกขึ้นไปจนถึงพระโพธิสัตว์ แม้ท่านเหล่านี้จะได้พยายามจนสุดกำลัง ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจทั่วถึงในพุทธธรรม” ดังนี้ แต่ใต้เท้าได้ทำให้กระผมเข้าใจว่า แม้คนธรรมดาเราถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งถึงใจของตนเอง เขาก็ได้ชื่อว่าลุถึงพุทธธรรมแล้ว ดังนี้ กระผมเกรงไปว่ายกเว้นพวกที่เฉียบแหลมอย่างยิ่งเสียแล้ว คนนอกนั้นจะสงสัยไม่เชื่อคำสอนของใต้เท้า ยิ่งกว่านั้น ในสูตรมีกล่าวถึงยาน 3 ชนิด คือเกวียนเทียมด้วยแพะ (สาวกยาน) เกวียนเทียมด้วยกวาง (ปัจเจกพุทธยาน) และเกวียนเทียมด้วยวัว (โพธิสัตว์ยาน) แล้วก็ยานทั้งสามนี้ผิดแปลกแตกต่างไปจากเกวียนวัวขาวได้อย่างไรเล่า?

พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ในข้อนี้ พระสูตรได้แสดงไว้ชัดเจนแล้ว ท่านเองต่างหากที่เข้าใจผิด เหตุผลที่ว่า ทำไมพระสาวก พระปัจเจกพุทธะและพระโพธิสัตว์ ไม่สามารถเข้าใจในพุทธธรรมได้ ก็เพราะท่านเหล่านั้นเพ่งจ้องต่อพุทธธรรม ท่านเหล่านั้นสามารถประมวลกำลังความเพียรทั้งหมดเพื่อเพ่งก็จริง แต่เขายิ่งเพ่งหนักเข้าเท่าไร เขาก็ยิ่งห่างออกไปจากธรรมนั้นมากขึ้นเพียงนั้น พระโคตมะพุทธะได้ตรัสพระสูตรนี้ แก่คนธรรมดาทั่วไป มิใช่ตรัสแก่พระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ด้วยกัน แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับเอาคำสอนที่พระองค์ทรงแนะให้พระองค์ก็ปล่อยให้เขาหลุดไปจากหมู่ดูเหมือนท่านจะยังไม่ทราบว่าเพราะเราได้นั่งอยู่บนเกวียนวัวขาวเรียบร้อยแล้ว เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะออกเที่ยวแสวงหาเกวียนอื่นอีกสามชนิดเหล่านั้น ยิ่งกว่านั้น พระสูตรก็ได้บอกแก่ท่านอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า มีแต่พุทธยานเท่านั้น ไม่มียานอื่นที่ไหนอีก ในฐานะเป็นยานที่สองที่สาม เพาะเหตุที่จะให้เราเข้าใจยานอันเอกอันนี้เอง พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนเรา ด้วยวิธีที่พระองค์ทรงช่ำชองมาแล้ว มีปริยายต่างๆ ทรงใช้เหตุผลและข้อถกเถียง มีปริยายต่างๆ พร้อมทั้งนิทานเปรียบและภาพเปรียบ และอื่นๆทำไมท่านจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่า ยานทั้งสามเหล่านั้น เป็นของชั้นสมมุติให้เด็กเล่น สำหรับใช้กับเรื่องที่ล่วงไปแล้ว ๆ ส่วนยานอันเอกคือพุทธยานนั้น เป็นของชั้นยอดเยี่ยม และเพื่อใช้กับเรื่องในปัจจุบันๆ

พระสูตรได้สอนให้ท่านตั้งหน้าบำเพ็ญไป โดยไม่ต้องเป็นห่วงถึงของสมมติให้เด็กเล่นเหล่านั้น และให้เพ่งตรงไปยังของชั้นสูงสุดอย่างเดียว เมื่อถึงขั้นสูงสุดแล้ว ท่านก็จะพบว่า สิ่งที่เรียกกันว่า “ชั้นสูงสุด” นี้ ก็มิได้มีอยู่เลย ท่านจะรู้สึกเห็นด้วยในข้อที่ว่า ท่านเองผู้เดียว เป็นเจ้าของสิ่งอันสูงค่าเหล่านี้ และสิ่งเหล่านี้ มันขึ้นอยู่กับการจัดการทำของท่านเองล้วนๆ (1) เมื่อใดท่านเปลื้องตัวออกมาเสียได้จากการนึกเดาเอาเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นของพ่อหรือเป็นของลูกๆ หรือว่ามันอยู่ที่การจัดการทำของคนนั้นคนนี้ เมื่อนั้นแหละท่านจะได้ชื่อว่าดำเนินการสาธยายพระสูตรไปโดยถูกทาง เมื่อทำได้ดังนี้ พระสูตรก็จะชื่อว่า อยู่ในกำมือของท่านทุกกัปป์ทุกกัลป์ และท่านก็จะชื่อว่าสาธยายพระสูตรทุกเช้าเย็น ตลอดทุกเวลาทีเดียว

(1) การที่อ้างถึงบท “นิยายอุปมา” ในพระสูตร เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นในข้อที่ว่าพุทธธรรมมีอยู่ในคนทุกคนแล้ว –ว่อง มู่ ล่ำ

เมื่อภิกษุฟัตตัตได้รับคำสั่งสอนจนเห็นแจ้งเช่นนั้น ได้กล่าวสรรเสริญพระสังฆปริณายกด้วยความปลาบปลื้มใจเป็นล้นพ้น ด้วยโศลกเหล่านี้ว่า
ความสำคัญผิดว่าเราได้รับกุศลเป็นอันมากในการสาธยายพระสูตรมากกว่าสามพันครั้งได้ถูกขับไล่ไปหมดด้วยคำพูดคำเดียว ของท่านอาจารย์แห่งสำนักโซกาย(1)
(1) อาจารย์แห่งสำนักโซกาย ก็คือ ท่านสังฆปริณายกนั่นเอง –ผู้แปลเป็นไทย

ผู้ที่ไม่เข้าใจในความมุ่งหมายของการที่ พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกนี้
ย่อมเป็นผู้ไม่สามารถข่มขี่กิเลสร้าย อันตนได้สะสมมา เป็นชาติๆ
ยานสามชนิด ซึ่งเทียมด้วยแพะ กวาง และวัว ตามลำดับนั้น จะเป็นเพียงของเด็กเล่นไปเอง
ในเมื่อระดับทั้งสาม คือชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสุด อันเป็นของที่อธิบายกันอยู่ ในชั้นที่เรียนธรรมะไปตามแบบแผน ได้ถูกจัดถูกทำไปจนถึงที่สุดแล้ว จริงๆ
น้อยคนเหลือเกิน ที่จะยอมเห็นด้วย ว่า ในเรือนที่ไฟกำลังไหม้นั่นเอง มีพระธรรมราชา ซึ่งเราจะหาพบได้
พระสังฆปริณายก ได้กล่าวแก่ภิกษุฟัตตัตต่อไปว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ภิกษุฟัตตัตควรจะเรียกตัวเองว่า “ภิกษุผู้สาธยายพระสูตร” ได้แล้ว หลังจากการสนทนากันครั้งนี้ ภิกษุฟัตตัตก็สามารถจับฉวยเอาใจความอันลึกซึ้งของพระพุทธศาสนาได้ และเธอยังคงสาธยายพระสูตรไปดังเช่นก่อน






Create Date : 02 กันยายน 2552
Last Update : 2 กันยายน 2552 22:43:45 น. 0 comments
Counter : 439 Pageviews.

chuhongchang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
2 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add chuhongchang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.