สูตรเว่ยหล่าง ว่าด้วยสมาธิและปรัชญา







หมวดที่ 4 ว่าด้วยสมาธิและปรัชญา(1)

(1)คำว่า ปรัชญา ทางฝ่ายมหายานนั้น ตรงกับคำว่า ปัญญา ในฝ่ายเถรวาท แต่คำว่าปรัชญาในที่นี้มิได้เป็นคำเดียวกันกับคำว่าปรัชญาในภาษาไทย ซึ่งใช้เป็นคำแปลของคำว่า Philosophy ในมหายานใช้รูปศัพท์สันสกฤตเช่นนั้นเอง –ผู้แปลเป็นไทย

ในสมัยอื่นอีก พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย, ในระบบคำสอนของอาตมานั้น สมาธิและปรัชญานับว่าเป็นหลักสำคัญ. แต่ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจผิดไปว่าธรรมะสองข้อนี้แยกจากกันได้เป็นอิสระ, เพราะเหตุว่ามันเป็นของรวมอยู่ด้วยกันอย่างที่จะแยกกันไม่ได้ และมิใช่เป็นของสองอย่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเป็นตัวของตัวเอง สมาธินั่นแหละคือตัวจริงของปรัชญาในเมื่อปรัชญาเป็นแต่เพียงอาการไหวตัวของสมาธิ ในขณะที่เราได้ปรัชญา สมาธิก็มีพร้อมอยู่ในนั้นแล้ว หรือจะกล่าวกลับกัน
ว่า เมื่อมีสมาธิ เมื่อนั้นก็มีปรัชญา ดังนี้ก็ได้ ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจหลักอันนี้ ก็แปลว่าท่านเข้าใจความสัมพันธ์อันมีส่วนเสมอกันระหว่างสมาธิกับปรัชญา ผู้ศึกษาไม่ควรจะไปคิดว่า มันมีอะไรแตกต่างกันในระหว่างคำว่า “สมาธิให้เกิดปรัชญา” กับคำว่า “ปรัชญาให้เกิดสมาธิ” การถือความเห็นว่าแยกกันได้นั้น ย่อมส่อว่ามันมีอะไรที่เด่นๆ อยู่ถึงสองฝักสองฝ่าย ในธรรมะนี้.

สำหรับบุคคลที่ลิ้นของเขาพูดได้เพราะ แต่ใจของเขาไม่สะอาดนั้นสมาธิและปรัชญาไม่มีประโยชน์อะไรแก่เขา, เพราะสมาธิและปรัชญาของเขาไม่มีทางจะสมส่วนสัมพันธ์กันได้เลย อีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามคือถ้าดีทั้งใจและดีทั้งถ้อยคำที่พูด ทั้งกิริยาอาการภายนอกกับความรู้สึกในใจก็ประสานกลมกลืนกันแล้ว นั่นแหละคือกรณีสมาธิและปรัชญาได้สัมพันธ์กันอย่างสมส่วน.

การโต้แย้งกันนั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดแก่นักศึกษา ที่มีความสว่างไสวแล้ว การมัวเถียงกันว่าปรัชญาเกิดก่อน หรือสมาธิเกิดก่อนนั่นแหละ จะทำให้ผู้นั้นตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกับคนที่ถูกอวิชชาครอบงำทั้งหลาย การเถียงกันย่อมหมายถึงความดิ้นรนจะเป็นฝ่ายชนะ ย่อมเสริมกำลังให้แก่ความยึดมั่น ถือมั่นว่าตัวตน และย่อมจะผูกพันเราไว้กับความยึดถือ ด้วยความสำคัญว่าตัวตน ว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าบุคคล

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย สมาธิและปรัชญานั้น ควรจะเปรียบกับอะไรเล่า? ธรรมะสองชื่อนี้ ควรจะเปรียบกันกับตะเกียง และแสงของมันเอง มีตะเกียง ก็มีแสง ไม่มีตะเกียง มันก็มืด ตะเกียงนั่นแหละคือตัวการแท้ของแสงสว่าง และแสงสว่างเป็นแต่สิ่งซึ่งแสดงออกของตะเกียง โดยชื่อฟังดูเป็นสองอย่าง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว มันเป็นของอย่างเดียว และเป็นทั้งของอย่างเดียวกันด้วย กรณีเช่นนี้แหละได้กับสมาธิและปรัชญา.

ในสมัยอื่นอีก พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย การบำเพ็ญ “สมาธิที่ถูกวิธี” นั้น ได้แก่ การทำให้เป็นระเบียบตายตัว เพื่อให้เราเป็นคนตรงแน่วในทุกโอกาสไม่ว่าคราวเดิน ยืน นั่ง หรือนอน วิมลกีรตินิเทศสูตร มีข้อความว่า “ความเป็นผู้ตรงแน่วนั่นแหละคือเมืองอริยะ “แดนบริสุทธิ์” ท่านทั้งหลายจงอย่าปล่อยให้ใจคดเคี้ยวไปมา และอย่าประพฤติความตรงแน่วเพียงสักว่าที่ริมฝีปาก, เราต้องบำเพ็ญให้ตรงแน่วจริงๆ และไม่ผูกพันตัวเองไว้กับสิ่งใดๆ คนพวกที่งมงายอยู่ภายใต้อวิชชา ย่อมเชื่ออย่างดื้อดึงไปตามตัวหนังสือ (1)
(1) คำนี้ไม่สามารถแปลไปตามต้นฉบับซึ่งมีอยู่ว่า “...ย่อมเชื่ออย่างดื้อดึงในธรรมลักษณะ...”เพราะจะไม่ทำให้ผู้อ่านจับใจความอย่างใดได้เลย จึงถอดใจความอย่างง่ายเสียทีเดียว และแปลว่าเชื่อตามตัวหนังสือ คำว่า “ธรรมลักษณะ” นี้ หาคำแปลยากที่สุด. แม้ นาย ว่อง มู ล่ำ เองก็ถึงกับแปลแตกต่างทุกแห่ง ทั้งสามแห่ง, แต่ข้าพเจ้าได้พยายามทบทวนดูแล้ว จึงแปลอย่างนี้โดยอาศัยหลักคู่แรกของธรรมลักษณะ คือคำพูด กับตัวธรรมจริง นายว่อง มูล่ำ ไม่แปล ใช้ทับศัพท์เอาแล้ววงเล็บไว้ว่า ( Thing and Form) ซึ่งไม่ทำความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านทั่วไปได้เลย –ผู้แปลเป็นไทย

ฉะนั้น เขาจึงรั้นที่จะแปล เอาตามชอบใจของตัวเอง ในการแปลคำว่า “สมาธิที่ถูกวิธี” ซึ่งเขาเหล่านั้นพากันแปลว่า “นั่งอย่างเงียบติดต่อกันไป โดยไม่ยอมให้ความคิดอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในจิต” การแปลความหมายเช่นนี้ เป็นการจัดตัวเราเองให้ลงไปอยู่ในชั้นเดียวกับวัตถุที่ไร้ชีวิตวิญญาณทั้งหลาย และยังจะกลายเป็นสิ่งสะดุดเกาะกะกีดขวางหนทางตรง อันเราพึงทำให้เปิดโล่งอยู่เสมอ. ถ้าทำใจของเราให้พ้นจากการข้องแวะในสิ่งทั้งหลายทุกสิ่งได้แล้ว ทางนั้นก็จะเตียนโล่ง, ถ้าไม่อย่างนั้น ชื่อว่าขัง(2)
(2) ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เรียนถามพระอาจารย์ในนิกายธยานะ ชื่อ เช็กตาว ผู้สืบต่อมาจากศิษย์องค์หนึ่งของพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ว่า “อะไร เป็นความหลุดรอด?” พระอาจารย์รูปนั้นได้ย้อนถามว่า “ใครเล่าที่จับท่านใส่กรงขัง?” ความเหมาะสมของคำตอบนี้เป็นอย่างเดียวกันแท้กับข้อความในตัวบทข้างบนนี้ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระสังฆปริณายกองค์ที่หกเล่าว่า พระสังฆปริณายกองค์ที่ห้าไม่ยอมถกด้วยเรื่อง ธยานะ และวิมุติ จะยอมถกเฉพาะเรื่องจิตเดิมแท้เท่านั้น (หมวดที่ 1) นั่นก็คือ ท่านได้แสดงแง่คิดอย่างเดียวกันกับอุทาหรณ์ข้างบน –ดิ ปิง เซ่

ตัวเราเอง. ถ้าหากว่าคำแปลที่ว่า “นั่งอย่างเงียบติดต่อกันไป ฯลฯ” เป็นคำแปลที่ถูกต้อง แล้วทำไมในคราวหนึ่งท่านสารีบุตรจึงถูกท่านวิมลกีรติขนาบเอาเนื่องจากนั่งเงียบๆ ในป่านั่นเอง(1)
(1) ท่านวิมลกีรติ กล่าวแก่ท่านสารีบุตรว่า เมื่อกล่าวถึงการนั่งเงียบๆ แล้ว, มันควรจะหมายถึงว่า เขาไม่เกิดในโลกทั้งสามอีกต่อไป (คือความรู้สึกของเขามีระดับอยู่เหนือกามโลก รูปโลก และอรูปโลก) มันควรจะหมายถึงว่า ขณะที่อยู่ในนิโรธสมาบัติ (ฌาณขั้นที่ดับสัมปฤดีได้)นั้น เขาก็สามารถทำการเคลื่อนไหวต่างๆ ทางกายได้ เช่น การเดิน การยืน การนั่ง การนอน ฯลฯ. มันควรจะหมายถึงว่า โดยไม่ต้องหันเหออกจากทางแห่งบัญญัติ เขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆทางวิสัยโลกได้. มันควรจะหมายถึงว่า เขาคอยอยู่ข้างในก็หามิได้ ข้างนอกก็หามิได้ มันควรจะหมายถึงว่า เขาบำเพ็ญโพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ดประการอยู่ โดยปราศจากความหวั่นไหวด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ. มันควรจะหมายถึงว่า โดยไม่ต้องมีการทำลายล้างกิเลสอีกต่อไป เขาก็สามารถเข้าถึงนิพพาน. ผู้ที่สามารถนั่งได้เช่นนี้แหละจะได้รับความรับรองจากพระพุทธเจ้า. วิมลกีริตนิเทศสูตร

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย อาจารย์สอนกัมมัฏฐานบางคน สอนศิษย์ของตัวให้เฝ้าระวังจิตของตนให้นิ่งเงียบ ถึงกับว่าหมดความเคลื่อนไหวเป็นไปของจิตเอาเสียทีเดียว เมื่อเป็นดังนั้น พวกศิษย์ก็พากันเลิกถอนการระดมกำลังจิตเสียสิ้นเชิง คนหลงผิดเหล่านี้ก็พากันฟั่นเฟือน เนื่องจากมีความเชื่อถือในคำแนะนำนั้นเกินไป กรณีเช่นว่านี้มีอยู่ทั่วๆไป ใช่ว่าจะมีนานๆครั้งก็หามิได้ และนับว่าเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงที่สอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้น.

ในสมัยอื่นอีก พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้
ในพุทธศาสนาชนิดที่เป็นไปตามคัมภีร์นั้น ความแตกต่างระหว่างนิกาย “ฉับพลัน” กับนิกาย “เชื่องช้า” มิได้มีอยู่อย่างชัดแจ้ง ความแตกต่างเท่าที่เห็นกันอยู่ก็มีแต่เพียงว่า ตามธรรมชาติที่เกิดมา คนบางพวกรู้อะไรได้เร็ว ในเมื่อคนอีกบางพวกที่ทึบต่อการที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆพวกที่สว่างไสว ก็สามารถเห็นแจ้งสัจจธรรม ได้ทันที ในเมื่อพวกที่อยู่ภายใต้อวิชชาจะต้องค่อยๆ ฝึกตัวเองต่อไป แต่ความแตกต่างเช่นกล่าวนี้ จะไม่ปรากฏเลย ถ้าหากว่าเรามารู้จักใจของตัวเอง และรู้แจ้งต่อสภาพแท้ของเราเอง เพราะฉะนั้น คำว่า “เชื่องช้า” กับคำว่า “ฉับพลัน” สองคำนี้ เป็นเพียงภาพเลือนๆ มากกว่าที่จะเป็นของจริง.

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย มันเป็นจารีตในนิกายของเรา ในการที่จะถือเอา “ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก” ว่าเป็นผลที่เราจำนงหวัง ถือเอา “ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์” ว่าเป็นมูลรากอันสำคัญ,และถือเอง “ความไม่ข้องติด” ว่าเป็นหลักหรือต้นตอ อันเป็นประธานสำคัญ “ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์” นั้น หมายถึงความไม่ถูกอารมณ์ดึงดูดเอาไป ในเมื่อได้สัมผัสกันเข้ากับอารมณ์ “ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก” นั้น หมายถึงความไม่ถูกลากเอาไปโดยความคิดอันแตกแยกแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่กำลังบำเพ็ญภาวนาทางจิต “ความไม่ข้องติด” นั้น หมายถึงลักษณะเฉพาะแห่ง จิตเดิมแท้ ของเรานั่นเอง.

สิ่งทุกสิ่ง ไม่ว่าดีหรือเลว สวยงามหรือน่าเกลียด ควรจัดเป็นของว่างอย่างเดียวกัน แม้ในขณะที่โต้เถียงและทะเลาะวิวาท เราควรประพฤติต่อเพื่อนและต่อศัตรูของเรา อย่างเดียวกัน และไม่มีการนึกถึงการแก้เผ็ด ในการฝึกความนึกคิดของตนเอง จงปล่อยให้อดีตเป็นอดีต ถ้าเราเผลอให้ความคิดของเรา ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาจับติดต่อกัน เป็นห่วงโซ่แล้ว ก็หมายว่าเราจับตัวเองใส่กรงขัง ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ยอมให้ใจของเราข้องติดอยู่ ในสิ่งใดๆ เราจะลุถึงความหลุดพ้น เพื่อผลอันนี้ เราจึงถือเอา “ความไม่ข้องติด” ว่าเป็นหลักหรือต้นตอ อันเป็นประธานสำคัญ.การทำตัวเราเอง ให้เป็นอิสระ จากการถูกดูดดึงไปตามอารมณ์ภายนอกนี้เรียกว่า “ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์” เมื่ออยู่ในฐานะที่จะทำได้ดังนั้น สภาพธรรม (ที่มีในเรา) ก็จะบริสุทธิ์ เพื่อผลอันนี้ เราจึงถือเอา “ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์” ว่าเป็นมูลรากอันสำคัญ.

การดำรงใจไว้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของกิเลส ในทุกๆ ลักษณะของสิ่งที่แวดล้อมรอบตัวเรา นี้เรียกว่า “ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก” ใจของเราลอยอยู่สูงเหนือสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมเรา และในทุกกรณี เราไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นมามีอิทธิพลครอบงำ ในการที่ใจของเราจะทำหน้าที่ของมัน แต่ว่ามันเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวง ในการบีบบังคับใจไม่ให้คิดอะไรเสียหมด เพราะแม้เราจะทำได้สำเร็จในการบังคับเช่นนั้น และเราดับจิตลงไปในขณะนั้น เราก็ยังคงต้องเกิดใหม่ ในภพใดภพหนึ่งอยู่ดี จงกำหนดความข้อนี้ไว้เถิด บรรดาท่านผู้เดินทางทั้งหลาย มันเป็นความชั่วอย่างพอตัวทีเดียว สำหรับคนที่ทำอย่างผิดพลาดเนื่องมาจากไม่เข้าใจความหมายของธรรมบัญญัติข้อนั้น แล้วมันจะเป็นความชั่วมากขึ้นไปเพียงใดอีก ในการเร้าใจให้ผู้อื่นพากันทำตามเป็นบริวารของตน? เมื่อหลงเสียแล้ว เขาก็มองไม่เห็นอะไร และยิ่งกว่านั้น เขายังแถมเป็นผู้กล่าวตู่พระพุทธวจนะ อยู่ตลอดกาลเป็นนิจด้วย เหตุฉะนั้นแหละ เราจึงถือว่า “ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก” ว่าเป็นผลที่จำนงหวังของเรา

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย อาตมาจะอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่าทำไมเราจึงถือเอา “ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก” มาเป็นผลที่จำนงหวังของเรา เพราะเหตุว่ามีคนเขลาบางประเภท ได้โอ้อวดว่าเห็นต่างๆเกิดขึ้นในใจของเขา ถูกแวดล้อมอยู่ด้วยมิจฉาทิฏฐิ อันเป็นกระแสแห่งความหลงและกิเลสทุกๆชนิด ก็ใน จิตเดิมแท้ (ซึ่งเป็นตัวสำแดงแห่งความว่าง) นั้น ไม่มีอะไรสำหรับให้ใครลุถึงเสียเลย. ฉะนั้นการที่มาเอ่ยอ้างว่ามีการลุถึง และกล่าวพล่อยๆ ถึงความดีหรือควาชั่วเหล่านั้นล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฏฐิและกิเลส เพื่อผลอันนี้เอง เราจึงได้ถือเอา “ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก” ว่าเป็นผลที่จำนงหวังในนิกายของเรา
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย (ก็ในเรื่องความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตกนั้น) อะไรเล่าเป็นสิ่งที่เราควรสลัดเสียให้สิ้นเชิง และอะไรเล่าที่เราควรปักใจของเราลงไป? เราควรสลัด “ของที่เป็นคู่ ๆ อย่างตรงกันข้ามกัน” (1)เสียให้สิ้นเชิง พร้อมทั้งอกุศลเจตสิกทุกๆอย่าง และเราควรปักใจของเราลงไปที่ภาวะแท้จริงของตถตา (ความเป็นแต่อย่างนั้นอย่างเดียว เป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้) เพราะเหตุว่า ตถตา นั่นแหละเป็นตัวการแท้ของวิตก และวิตกเป็นผลแห่งการไหวตัวของตถตา
(1) ของคู่ในที่นี้ คือของที่เป็นสุดโต่งฝ่ายข้างหนึ่ง กับสุดโต่งฝ่ายอีกข้างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น บวก-ลบ, โง่-ฉลาด, ร้อน-เย็น, นรก-สวรรค์ ฯลฯ ผู้แปลเป็นไทย
(2) อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์ หรือ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ อารมณ์ หรือ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ คำเหล่านี้เป็นคำบัญญัติเฉพาะในพุทธศาสนา อาจไม่ตรงกับที่บัญญัติเฉพาะวิชาแขนงอื่นก็ได้ –ผู้แปลเป็นไทย

ตัวแท้ของตถตา ซึ่งเบ่งบานขึ้นถึงระดับเด่นชัดนั้นต่างหาก ที่ทำให้วิตกนั้นเกิดขึ้น หาใช่เพราะอวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์นั้นๆ ไม่ ตถตา ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะของตัวมันเอง ฉะนั้น มันจึงสามารถให้กำเนิดแก่วิตก ปราศจากตถตา เสียแล้ว อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์และอารมณ์นั้นๆ ย่อมสลายลงทันที ผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เพราะเหตุที่คุณลักษณะของตถตา ต่างหากที่ทำให้เกิดแก่วิตก ฉะนั้นอวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์ต่างๆ ของเราไม่จำเป็นจะต้องพลอยด่างพร้อยหรือเศร้าหมองไปด้วย ในทุกๆ เหตุการณ์ แม้ว่ามันจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการดู การฟัง การสัมผัส การรู้ ฯลฯ ก็ตาม และตัวภาวะแท้ของเราก็อาจยัง “แสดงตัวเองให้ปรากฏได้” ทุกเวลา เพราะเหตุฉะนั้น พระสูตรนั้นจึงกล่าวว่า ผู้ที่คล่องแคล่วในการแยกแยะธรรมลักษณะนานาประการ เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องได้ จักเป็นผู้ตั้งอยู่อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ใน “ธรรมอันเอก” (กล่าวคือถิ่นอันสงบเย็นของพระอริยะหรือนิพพาน)

นำมาจากหนังสือ "สูตรเว่ยหล่าง" โดยท่านพุทธทาสภิกขุ







Create Date : 15 กรกฎาคม 2552
Last Update : 15 กรกฎาคม 2552 19:02:46 น. 0 comments
Counter : 530 Pageviews.

chuhongchang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
15 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add chuhongchang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.