Group Blog
กุมภาพันธ์ 2559

 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
29
 
 
All Blog
ทนายอ้วนชวนเที่ยว - ดี๋ใจ๋ยิ่งแล้ว ... แขกแก้วมาเยือน - วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ลำปาง
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ลำปาง, ลำปาง Thailand
พิกัด GPS : 18° 13' 0.54" N 99° 23' 22.48" E








เต็มอิ่มกับพระธาตุศรีจอมทอง พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีชวดกันไปแล้วในบล็อกที่แล้วนะครับ ในบล็อกนี้เราจะเดินทางไปไหว้พระธาตุสำคัญอีกองค์หนึ่งของเมืองไทยที่อยู่ในภาคเหนือกันอีกองค์หนึ่งครับ พระธาตุองค์นี้ก็เป็นพระธาตุประจำปีเกิดเช่นกัน แต่เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีฉลูครับ





พระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง





การเดินทางมาไหว้พระธาตุลำปางหลวงก็เดินทางมาไม่ยากครับเจ้าของบล็อกเริ่มต้นเดินทางที่จังหวัดเชียงใหม่ใช้ถนนไฮเวย์ลำปาง - เชียงใหม่ ระยะทางมาถึงลำปางก็ประมาณ 100 กิโลเมตรเท่านั้น ถนนเส้นนี้กว้างขวาง เรียบกริบ วิ่งรถง่าย และถึงแม้จะต้องผ่ายดอยต่างๆมากมายเส้นทางก็ไม่น่ากลัวเลยครับพอมาถึงอำเภอห้างฉัตรก็จะมีทางแยกไปอำเภอเกาะคา (เส้น 1304) ขับตรงไปจนถึงหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวงได้เลยครับ



ที่ตั้งใจมาไหว้พระธาตุลำปางหลวงก็เพราะว่าเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคุณชายครับ ก็เลยเอาใจ “นายทุน” ที่ออกทุนสำหรับทริปนี้กันหน่อยครับ เรามาถึงพระธาตุลำปางหลวงกันตั้งแต่เช้าตรู่เพราะอะไรต้องติดตามกันครับ






พระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ( ) ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ห่างจากตัวจังหวัดลำปาง 18 กิโลเมตรเท่านั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินดินสูงมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีบันไดนาคทอดขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขงเพื่อขึ้นไปถึงวัด ภายในกำแพงแก้วยังมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญต่างๆมากมาย วัดพระธาตุลำปางหลวงได้ชื่อว่า “วัดไม้” ที่เก่าแก่และสวยงามที่สุดในประเทศไทย พระธาตุลำปางหลวงเริ่มก่อสร้างในปีฉลู และสร้างเสร็จในปีฉลูเช่นกัน









ตามตำนานเล่าว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกมาถึง บ้านลัมภะการีวัน หรือ บ้านลำปางหลวง ได้เสด็จประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ “ลัวะอ้ายกอน” เกิดความเลือมใสจึงได้นำน้ำผึ้งใส่ในกระบอกไม้ป้าง มะพร้าว และมะตูมมาถวาย เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จได้ทิ้งกระบอกไม้ป้างมะพร้าวไปทางทิศเหนือแล้วทรงพยากรณ์ว่า “ต่อไปในอนาคตสถานที่แห่งนี้จะได้ชื่อว่า “ลัมภะกัปปะนคร”” แล้วทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้นมอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนไว้ ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกษานั้นบรรจุในผอบทองคำ แล้วขุดอุโมงค์กว้าง 5 วา ลึก 5 วา บรรจุผอบทองไว้ในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์รักษาไว้ ลัวะอ้ายกอนได้ถมดินให้เรียบเสมอกันแล้วก่อพระเจดีย์สูง 7 ศอกเหนืออุโมงค์นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ต่อไปว่าหลังจากพระองค์ได้ปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี จะมีพระอรหันต์ 2 องค์คือพระกุมาระกัสสัปปะเถระนำอัฐิพระนลาตเบื้องขวา (กระดูกหน้าผาก)มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์แห่งนี้และจะมีพระเมฆียะเถระนำอัฐิพระศอด้านหน้าและด้านหลังมาบรรจุเพิ่มไว้อีกและเจดีย์นี้จะปรากฎเป็นเจดีย์ทองคำชื่อว่า “ลัมภะกัปปะ” แล้วพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จจาริกไปยังที่อื่นต่อไป









ยังมีอีกตำนานหนึ่งซึ่งมีเรื่องราวใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์ที่ได้บันทึกเอาไว้มากที่สุดก็ตือประวัติวัดพระธาตุลำปางหลวงที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี.....



ราวๆปี พ.ศ.1200 พระนางจามเทวีได้ยกไพร่พลมาพักอยู่ที่บริเวณที่เรียกว่า “สบยาว” ซึ่งปัจจุบันคือตำแหน่งที่ปากห้วยแม่ยาวไหลมาบรรจบกับแม่น้ำวังอยู่ห่างจากวัดพระธาตุลำปางหลวงไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ตกดึกพระนางเห็นดวงไฟดวงใหญ่ลอยพุ่งลงมาตกกลางค่ายพัก จึงได้ไต่ถามเสนาบดีที่อยู่ในค่ายพัก ปรากฎว่าไม่มีใครเห็นดวงไฟนั้นเลย มีชายคนหนึ่งชื่อ “ล่ามพันทอง” กราบทูลว่าจริงๆแล้วดวงไฟใหญ่นั้นคืดพระบรมสารีริกธาตุที่ลัมภะกัปปะนครที่มาแสดงอภินิหารปรากฎให้พระนางเห็น พระนางจึงเสด็จไปกราบสักการะ แล้วยังได้ทราบด้วยว่าชาวบ้านแถวนั้นเดือดร้อนด้วยความแห้งแล้งแหล่งน้ำก็อยู่ไกล พระนางจึงตั้งจิดอธิษฐานขอให้เกิดแหล่งน้ำขึ้นกลางเมืองนี้ ปรากฎว่าแผ่นดินได้แตกออกเกิดเป็นตาน้ำให้ชาวเมืองได้ใช้อุปโภค บริโภค (บริเวณใกล้ๆกับวัดพระธาตุลำปางหลวงยังมี “บ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี” อยู่)










จากตำนานทั้งสองเรื่องจะเห็นได้ว่าวัดพระธาตุลำปางหลวงมีความเก่าแก่นับย้อนขึ้นไปได้แน่ๆแบบมีบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวเอาไว้ก็คือในสมัยพระนางจามเทวี โดยลักษณะของวัดพระธาตุลำปางหลวงเองก็มีการวางแผนการสร้างที่ดีเช่น มีการทำเนินดินพูนสูงขึ้น มีการก่อกำแพงแก้ว (หรือศาลาบาตร) และอาณาเขตของวัดก็กว้างใหญ่จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีตึกสูงมาบดบังจึงทำให้องค์พระธาตุโดดเด่นเป็นสง่า แสดงให้เป้นว่าวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดที่สำคัญเป็นอย่างมาก และกษัตริย์ผู้ครองล้านนาอีกหลายต่อหลายองค์ถัดลงมาก็ทำนุบำรุงวัดพระธาตุลำปางหลวงให้อยู่ในสภาพที่ดีมาโดยตลอด









เมื่อมาถึงวัดพระธาตุลำปางหลวงสิ่งที่จะเห็นได้เป็นอย่างแรกก็คือ ซุ้มประตูโขง หรือซุ้มประตู



ซุ้มประตูโขง สร้างในสมัยพระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ในปี พ.ศ. 2331 ตั้งอยู่เหนือเนินดิน เป็นอาคารทรงมณฑปมียอดแหลมซ้อนกันหลายชั้น ฝีมือช่างหลวงโบราณ มีความสูงประมาณ 13 เมตร โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ภายนอกฉาบด้วยปูนสีขาวตกแต่งด้วยลายปูนปั้นสวยงาม เป็นรูปดอกไม้ สัตว์ในหิมพานต์ ชั้นบนๆเป็นลายกรองวิมานมีนาคและหงส์ตามชั้นต่างๆจนถึงยอด มีบันไดนาคทอดยาวลงมายังพื้นราบเป็นการเชื่อมพื้นที่ของวัดกับพื้นที่ภายนอก บันไดนาคแบ่งออกเป็น 2 ตอน เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่ 2 ตัว บันไดนาคตอนแรกตั้งแต่พื้นชั้นล่างขึ้นไปเป็นพญานาคเศียรเดียวทั้งคู่ พอช่วงที่สองถึงทำเป็นนาค 3 เศียร ประตูโขงด้านหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวงยังใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดลำปางด้วย ตอนที่ไปเที่ยวกันนั้นซุ้มประตูโขงกำลังมีการซ่อมแซมอยู่ก็เลยเอาภาพลายเส้นของซุ้มประตูโขงมาให้ชมความสวยงามกันครับ(รูปภาพได้รับความกรุณาจาก อุมาพร เสริฐพรรณนึก, การศีกษาซุ้มประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปางหน้า 53 ครับ)








เดินลอดซุ้มประตูโขงเข้าไปจะเจอกับ พระวิหารหลวง เป็นวิหารเครื่องไม้สักขนาดใหญ่ สร้างในปี พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก ตั้งอยู่ในแนวเดียวกับซุ้มประตูโขง กู่พระเจ้าล้านทอง และองค์พระธาตุลำปางหลวง พระวิหารเปิดโล่งทุกด้านซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมล้านนายุคแรกๆหลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นๆ เสาเขียนลายทองทุกต้น ด้านในแนวของ “ไม้คอซอง” หรือ “ฝาย้อย” ที่อยู่ด้านบนของแต่ละช่วงเสาสำหรับกันแดดกันฝน มีการเขียนภาพสีเรื่องทศชาติและพรหมจักร จำนวน 24 แผ่น ปัจจุบันลบเลือนตามกาลเวลาไปเกือบหมดแล้ว










ท้ายพระวิหารหลวงประดิษฐานพระประธานประจำพระวิหารหลวง  “พระเจ้าล้านทอง”   ซึ่งหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 2019 “พระเจ้าล้านทอง” ประดิษฐานอยู่ภายในอาคารทรงปราสาทหรือที่เรียกว่า“กู่” ศาตราจารย์สันติ เล็กสุขุมเรียกว่า “เจดีย์ทรงปราสาท” แต่ทางภาคกลางจะเรียกว่า “มณฑป” ซึ่งคาดว่ามีการบูรณะ “กู่พระเจ้าล้านทอง” ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2106 หลังจากที่เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า ส่วนบนของกู่เป็นแบบผสมระหว่างหลังคาลาดกับหลังคาลดชั้น มีลวดลายปูนปั้นประดับอยู่อย่างมากมายซึ่งแสดงให้เห็นแบบแผนของการประดับประดาในสมัยที่สร้างด้วย








เดินมาจนสุดพระวิหารหลวงเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดในวัดพระธาตุลำปางหลวงครับ นั่นก็คือ พระธาตุลำปางหลวง เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบล้านนาผสมลังกาขนาดใหญ่ (แต่ในหนังสือพระเจดีย์ในล้านนา โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลับเรียกว่า เจดีย์แบบพุกามล้านนา) รูปทรงหนักแน่น ไม่สูงชะลูดเหมือนเจดีย์องค์อื่นๆ ก่ออิฐถือปูนอยู่บนฐานสูง ฐานเป็นเหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองฉลุลายหรือทองจังโก้ทั้งองค์ แผ่นทองเหลืองเหล่านี้มีการสลักลงใบบนแผ่นทองไม่เหมือนกันเลยซักแผ่นส่วนมากจะเป็นคำอุทิศที่ผู้มีจิตศรัทธานำแผ่นทองจังโก้มาปิดที่องค์พระธาตุบริเวณยอดฉัตรขององค์พระธาตุทำด้วยทองคำ รอบเจดีย์มีกำแพงแก้วลูกกรงสำริดยอดของลูกกรงทำเป็นรูปดอกบัว ชั้นนอกมีโคมรั้วรูปทรงต่างๆกันอยู่โดยรอบ














ที่บริเวณรั้วทองเหลืองด้านหน้าขององค์พระธาตุด้านที่หันติดกับพระวิหารหลวงมีร่องรอยของประวัติศาตร์ที่สำคัญของล้านนาคือ “รอยกระสุนของหนานทิพย์ช้าง” เรื่องมีอยู่ว่าในสมัยที่พม่าเข้ามาปกครองมีอำนาจเหนือชาวบ้านชาวเมืองต่างคับแค้นใจด้วยถูกพม่ากดขี่ ข่มเหง ขุนนางในตอนนั้นจึงไปขอร้อง “หนามทิพย์ช้าง” นายพรานป่าผู้มีฝีมือให้มาช่วนกอบกู้เมืองลำปาง ในปี พ.ศ. 2275 หนานทิพย์ช้างได้ปลอมตัวเข้าไปถึงในวัดพระธาตุลำปางหลวงที่พม่าใช้เป็นที่มั่นจนถึงเขตชั้นใน แล้วลอบยิง ท้าวมหายศ แม่ทัพเมืองลำพูนซึ่งเป็นฝ่ายพม่าตาย ลูกปืนได้ถูกรั้วทองเหลืองเป็นรอยทะลุเห็นชัดมาจนถึงทุกวันนี้ ชาวลำปางต่างก็ดีใจยกให้ หนานทิพย์ช้าง ครองเมืองลำปางมีพระนามว่า เจ้าทิพย์ช้าง และเป็น พระยาสุลวะลือไชยสงคราม เป็นเป็นต้นกำเนิดราชสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ ลำพูน และเชื้อเจ็ดตน ซึ่งเป็นราชตระกูลเจ้าผู้ครองเมืองของล้านนา







วิหารลายคำ หรือ วิหารพระพุทธ อยู่ทางด้านซ้ายมือขององค์พระธาตุ (ถ้าหันหน้าเข้าหาองค์พระธาตุ) วิหารทิศตามจักรวาลคติสร้างขึ้นคู่กับวิหารน้ำแต้ม มีองค์พระธาตุเป็นศูนย์กลาง ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้างแต่จากการตรวจโดยนักประวัติศาสตร์แล้วมีอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเป็นวิหารหลังแรกของวัดเมื่อพ.ศ. 2019 ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช เป็นศิลปะแบบล้านนาสกุลช่างลำปางมีลวดลายลงรักปิดทองสวยงามทั้งหลังถึงได้ชื่อว่า วิหารลายคำ คำ ภาษาเมืองแปลว่า ทอง วิหารลายคำ แปลว่า วิหารลายทอง เดิมเป็นวิหารเปิดโล่งเหมือนกับพระวิหารหลวงมีฝาย้อยกันแดดและกันฝนสาด โครงสร้างภายในใช้วิธีการรับน้ำหนักของเครื่องบนแบบขื่อม้าต่างไหม (ม้าตั่งไหม) ซึ่งเป็นแนวคิดของช่างล้านนาไม่ปรากฏในพื้นที่อื่นเพื่อให้อากาศภายในวิหารถ่ายเทได้สะดวกและรู้สึกเย็นไม่อับชื้น ภายในมีเสาหลวง 10 ต้น แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วน( 5 ห้อง) แต่ภายหลังมีการบูรณะใน พ.ศ. 2345 ได้มีการก่ออิฐขึ้นมาเป็นฝาปิดทึบตามแนวของฝาย้อย กั้นปิดห้องแรกและทำซุ้มประตูเพิ่มขึ้นมา ส่วนที่สวยงามที่สุดของวิหารลายคำ หรือ วิหารพระพุทธนี้น่าจะเป็นลวดลายปิดทอง (ลายคำ) ที่ช่างได้บรรจงตกแต่งพระวิหารให้สวยงามทั้งที่ฝาหนัง ประตู และเสาหลวงทั้ง 10 ต้น









ภายในพระวิหารลายคำประดิษฐาน พระเจ้าองค์หลวงเมืองเขลางค์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์สามปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มพระวิหารหน้าตัก 209 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกศ 225 นิ้ว ก่ออิฐถือปูน มีพุทธลักษณะและสัดส่วนที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งในล้านนา










ด้านหลังพระวิหารลายคำ หรือ วิหารพระพุทธมี  ซุ้มพระพุทธบาท สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าหาญแต่ท้อง พ.ศ. 1992 เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยมคล้ายฐานเจดีย์สร้างครอบรอยพระพุทธบาทเอาไว้ ซึ่ง ณ ที่นี้เองเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติขึ้น เมื่อเข้าไปยืนในซุ้มพระพุทธบาทแล้วปิดประตูให้สนิท แสงที่ผ่านรอแยกของไม้ที่ประตูซุ้มจะเกิดการหักเหของแสงปรากฎเป็นภาพองค์พระธาตุกลับหัวขึ้น ทางวัดได้นำฉากผ้าสีขาวไปขึงไสว้ในซุ้มพระพุทธบาท ทำให้มองเห็นปรากฎการณ์พระธาตุกลับหัวได้ชัดเจนขึ้น แต่ (ตัวใหญ่ๆ) ..... เนื่องจากซุ้มพระพุทธบาทสร้างคร่อมรอยพระพุทธบาทไว้ “จึงห้ามผู้หญิงขึ้นให้แต่ผู้ชายขึ้นเท่านั้น” ครับ .......



แต่ (ตัวที่สอง) .....ผู้หญิงให้ไปดูปรากฎการณ์พระธาตุกลับหัวได้ในพระวิหารลายคำครับ เจ้าของบล็อกคิดว่าปรากฎการณ์พระธาตุกลับหัวในซุ้มพระพุทธบาทจะชัดเจนและได้มุมที่สวยกว่าในพระวิหารลายคำนะครับ เป็นเพราะมุมของรอยแตกของไม้ในซุ้มพระพุทธบาทอยู่เยื้องๆกับองค์พระธาตุมานิดเดียวและเวลาจะเข้าไปดูปรากฎการณ์จะต้องปิดประตูซุ้มให้สนิท ภายในซุ้มไม่มีหน้าต่าง ความมืดเลยทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน มีสีสันสวยงาม ในขณะที่ในพระวิหารลายคำอยู่ในระนาบเดียวกับองค์พระธาตุและใกล้ชิดกับองค์พระธาตุมาก มุมของรอยแตกของไม้เลยทำให้เกิดปรากฎการณ์พระธาตุกลับหัวไม่สวยเท่าในซุ้มพระพุทธบาท และพระวิหารก็มีหน้าต่างหลายบานเลยทำให้มีแสงเข้ามาในพระวิหารมากไป ภาพพระธาตกลับหัวในพระวิหารเลยไม่ชัดเจนอย่างในซุ้มพระพุทธบาทครับ








ตรงข้ามกับซุ้มพระพุทธบาทมี วิหารพระนาคปรก ตามตำนานเล่าว่าพระนาคปรกเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ พระบิดาของพระนางจามเทวีพระราชทานให้มาประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้ในปี พ.ศ. 1215 ตัวพระวิหารเป็นวิหารเครื่องไม้แบบโล่งทั้งหลัง หน้าบันมีการตบแต่งด้วยลายแกะสลักไม้อ่อนช้อย สวยงาม








ต้นขนุนในตำนานที่เกี่ยวกับพระนางจามเทวี เล่ากันว่าพระนางจามเทวีทรงปลูกต้นขนุนแบบนี้ไว้ทั้งหมด 3 ต้น เพื่อเป็นหลักเมือง อยู่ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพต้นหนึ่ง วัดเวียง อำเภอเถิน จังหวัดลำปางต้นหนึ่ง และที่วัดพระธาตุลำปางหลวงอีกต้นหนึ่ง






ถ้าวนรอบองค์พระธาตุมาเกือบครบ 1 รอบ จะเจอกับ พระวิหารน้ำแต้ม คำว่า “แต้ม” ในภาษาเมืองแปลว่า วาด วิหารน้ำแต้ม ก็หมายถึงวิหารที่มีภาพวาดอยู่ วิหารน้ำแต้มสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นอาคารเครื่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือและมีสัดส่วนที่สวยงามมาก ภายในไม่มีฝ้าเพดาน มีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องภาพเล่าธรรมสอนคุณธรรมเรื่องความไม่ประมาทเรื่องท้าวสักกะ(พระอินทร์) และเรื่องพระนางสามาวดีเขียนอยู่บนฝาย้อยทุกด้านเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่อายุประมาณ 300 – 400ปีที่หลงเหลืออยู่ที่เดียวในประเทศไทยซึ่งก็ลบเลือนไปเกือบจะหมดแล้ว ด้านหลังพระประธานเขียนลายทองบนพื้นรักแดง ภายในประดิษฐานพระเจ้าสามหมื่นทอง พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 52 นิ้ว สูง 71 นิ้ว สร้างโดยพระเจ้าหาญศรีทัตถะมหาสุรมนตรี เจ้าผู้ครองนครลำปางประมาณปี พ.ศ. 2044











ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวงก็มีสิ่งของมีค่าต่างๆที่เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ต่างๆและเชื้อพระวงศ์นำมาสักการบูชาพระธาตลำปางหลวง เช่น ตุง (ธง) หิน ถวายโดยเจ้าอุปราชนครลำปาง ตุงไม้แกะสลัก ถวายโดยพระยาวชิรปราการ (เจ้ากาวิละ) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ระฆังใบใหญ่ ถวายโดยเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ระฆังใบเล็ก ถวายโดยเจ้าญาณรังสีราชธรรม เจ้าผู้ครองนครลำปาง







ทั้งหมดนี้คือสิ่งสำคัญในเขตพุทธาวาสของวัดพระธาตุลำปางหลวงนะครับ ยังมีสถานที่สำคัญในเขตสังฆาวาสอีกที่ยังไม่ได้พาไปชมแล้วยังมีบ่อน้ำเลี้ยงจามเทวีในตำนานนั่นอีก คิดว่าจะต้องมีทริปแก้ตัวเร็วๆนี้แน่ๆครับ





Chubby Lawyer Tour ........................... เที่ยวไป ................ ตามใจฉัน





SmileySmileySmiley




Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2559 18:24:56 น.
Counter : 2530 Pageviews.

8 comments
  
เจิมให้คุณบอล มาเที่ยวด้วยคนค่ะ
โดย: sawkitty วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:18:42:15 น.
  
กะไปลำปางสักวันเหมือนกันค่ะ
โดย: mariabamboo วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:20:13:42 น.
  
เคยไปวัดพระธาตุลำปางหลวงค่ะคุณบอล
เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองลำปางและงดงามมากนะคะ
ขอบคุณคุณบอลสำหรับภาพสวยๆและประวัติฯค่ะ

แปะใจให้คุณบอลค่ะ

คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ ทนายอ้วน เรียบร้อยแล้วนะคะ

โดย: Sweet_pills วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:0:14:43 น.
  
สวยงามมากๆ ค่ะ
โดย: kae+aoe วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:12:12:14 น.
  
เพิ่งไปมาครั้งแรกในชีวิตเหมือนกันคับ เมื่อตอนปลายปีที่แล้ว ตอนไปแดดร้อนแรงมาก แต่ชอบมากเลย มีเรื่องราวมากมายในสถานที่แห่งนี้เลยครับ


บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ทนายอ้วน Travel Blog ดู Blog
โดย: NaiKonDin วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:12:31:01 น.
  
thx u crab
โดย: Kavanich96 วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:12:50:02 น.
  
สวยงามน่าไปมากๆเลยค่ะ ยังไม่เคยไปเลย วันหลังต้องแวะซะแล้ว
โดย: touch the sky วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:14:33:19 น.
  
ยังไม่เคยเที่ยวพระธาตุลำปางหลวง สวยงามอลังการมากครับ
โดย: แมวเซาผู้น่าสงสาร วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:20:58:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]