Chinawach's Blog
Group Blog
 
 
มกราคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
7 มกราคม 2550
 
All Blogs
 
ธรรมะเป็นสิ่งใกล้ตัว


สาธุ ขอนอบน้อมแด่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า ขอสวัสดีแด่ท่านที่เข้ามาในเวปิล๊อกแห่งนี้ทุกท่าน จุดประสงค์ของกลุ่มเรียนรู้ธรรมะก็เพื่อจะให้ทุกคนแม้แต่ตัวเราเอง ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆในสิ่งที่ใกล้ตัวเรา เรานำความรู้มาพิจารณา มาปฏิบัติที่ตัวเราเพื่อให้เกิดประโยชน์ การเรียนรู้ธรรมะเป็นการพัฒนาตัวเองให้มีสติ มีความระลึกรู้และเข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง เช่นตัวเรา
เรารู้อะไรบ้าง สมมุติว่าเราจะเรียนรู้อาการทั้ง 32 ของเราว่ามีอะไรบ้าง เอาแต่ละอย่างมาศึกษาเรียนรู้ แล้วเราจะเข้าใจอะไรหลายๆอย่างเพิ่มขึ้นมา เรามาศึกษาในรายละเอียดในคราวต่อไป มีหลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ ใครสนใจเรื่องอะไร ก็บอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง ก็เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นับว่าเป็นกุศลอย่างแรง ถือว่าเป็นการให้วิทยาทาน พระพุทธองค์ตรัสว่า การให้ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง
หวังว่าเราจะมาเรียนรู้ร่วมกันต่อไป นะครับ


Create Date : 07 มกราคม 2550
Last Update : 7 มกราคม 2550 5:21:14 น. 1 comments
Counter : 295 Pageviews.

 
วันเข้าพรรษา สุรปัญโญ ภิกขุ(มิตร)
วันนี้ เป็นวันสำคัญของชาวพุทธอีกวันหนึ่งคือวันเข้าพรรษา พวกเราก็ได้เข้าวัดมาทำบุญฟังธรรมตามที่ได้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ วันเข้าพรรษาเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอธิฐานจำพรรษาในอาวาสใดอาวาสหนึ่งตลอด 3 เดือน หรือครบไตรมาสตามพุทธบัญญัติในธรรมวินัยสงฆ์ เพราะเป็นระยะฤดูฝนการเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ไม่สะดวก สมัยพุทธกาลรถเราก็ยังไม่มี ต้องใช้การเดินเท้าไปในสถานที่ต่าง ๆ พระภิกษุสงฆ์ก็เดินไปถูกพืชสวนไร่นาของชาวบ้านเสียหาย ประชาชนในสมัยนั้นก็ตำหนิติเตียนว่าพระภิกษุสงฆ์ของพระพุทธเจ้าเดินทางในฤดูฝน เพราะประเพณีของนักบวชสมัยนั้น จะต้องไม่เดินทางในฤดูฝน เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องราวว่าประชาชนตำหนิติเตียน พระองค์ท่านจึงเรียกประชุมสงฆ์แล้วบัญญัติเป็นธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์ห้ามเดินทางในช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝนตลอด 3 เดือน แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในอาวาสบางแห่งถูกน้ำท่วม บางแห่งถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน หรือญาติป่วยไข้ไม่สบายตลอดจนประชานชนที่เลื่อมใสต้องการฟังธรรม หรือทำบุญบ้าน ทำให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมว่าให้พระภิกษุสงฆ์สามารถเดินทางไปค้างแรมที่อื่นได้ไม่เกิน 7 วัน บางทีญาติโยมก็ไม่เข้าใจ ตำหนิติเตียนพระภิกษุสงฆ์โดยความประมาทไม่รู้ว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้อย่างไร

ในสายวัดป่าแล้วช่วงเข้าพรรษาจะมีโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์เจริญกรรมฐานภาวนา เพิ่มข้อวัตรที่เข้มข้นกวดขันมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติที่เรียกว่า สมาทานธุดงค์วัตร ธุดงค์วัตร หมายถึง อุบายขัดเกลากิเลส ช่วยในจิตใจของผู้ปฏิบัติมีความมักน้อยสันโดษในปัจจัย 4 และ การเป็นอยู่ ในการถือปฏิบัติธุดงค์วัตรแล้วช่วยให้การภาวนาทำจิตของเราให้สงบ และเกิดปัญญา ควรถือ แต่ถ้าถือธุดงค์วัตรเพื่อให้ญาติโยมศรัทธา เพื่อหวังลาภ ยศ ชื่อเสียง ไม่ควรถือหรือสมาทานธุดงค์วัตรมีอยู่ 13 ข้อ ธุดงค์วัตรไม่ใช่บทบัญญัติทางวินัย ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่ควรถือ พระทุกองค์ในวัดเขาแผงม้าจะสมาทานธุดงค์ฉันเฉพาะในบาตรคือไม่ใช่ภาชนะใส่อาหารเกินหนึ่งอย่างคือบาตร แต่บางองค์ก็สมาทานเพิ่มเติมคือเนสัชชิ เนสัชชิคือเว้นนอนอยู่เพียง 3 อิริยาบถคือยืน เดิน นั่ง เท่านั้น

พวกเราก็ต้องเพิ่มข้อวัตร ให้กับตัวเองด้วยอาจจะตื่นนอนตอนเช้ามาก็นั่งสมาธิสักระยะหนึ่งอย่างน้อย 30 นาที แล้วก็มาใส่บาตรพระก่อนที่จะไปทำงาน ส่วนวันพระก็เข้าวัดฟังธรรมสามาทานศีลอุโบสถ 8 ประการ จากเดิมที่พวกเราถือศีล 5 ประการเป็นปกติแล้วก็มาเพิ่มความเข้มข้นให้กับตนเองอีก 3 ข้อ คือ 1. เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ 2. เว้นจาการฟ้อนรำ ขับร้อง การดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ และห้ามการใช้เครื่องหอม เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย ข้อสุดท้าย ข้อ 3. เว้นจากที่นอนอันสูงอันใหญ่ การรักษาศีล 8 ประการ ทำให้พวกเราได้เป็นบุคคล ที่มักน้อย สันโดษ ในการเป็นอยู่ชั่วคราว เกิดความรู้สึกเบากายและเบาใจขึ้นมามาก การทำสมาธิก็สงบง่ายขึ้นเพราะร่างกายไม่ได้รับประทานอาหารตอนเวลาเย็นจะมีความรู้สึกว่าร่างกายของเราเบาดีไม่เชื่องซึมงวงนอนเหมาะสมกับการนั่งสมาธิ โอกาสดี ๆ อย่างนี้จะเกิดขึ้นในชีวิตของพวกเราก็ยาก ถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสสอนไว้เราก็ไม่รู้เลยว่าศีลเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไรและปัญญาที่จะแก้ไขความทุกข์ในจิตใจของเราเป็นอย่างไร

การรักษาศีล การทำสมาธิ การเจริญปัญญาทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่ามากขึ้น รู้ว่าอะไรควรทำ เช่นรู้ว่าการทำทานดีเพราะผู้ให้จะเป็นที่รักของผู้รับ ทำลายความเห็นแก่ตัว ลักษณะของการทำทานมีอยู่ 2 อย่าง คือ 1. การให้สิ่งของช่วยค้ำจุนชีวิตของคนอื่นทำให้เขามีที่พึ่งอาศัยในเบื้องต้น 2. การให้ธรรมเป็นทางช่วยให้เขารู้จักพึ่งต้นเองได้ต่อไปคือให้ปัญญา การที่พวกเราได้ทำทานในวัดป่าทั่วไปส่วน

ใหญ่แล้วจะเป็นสังฆทานคือให้แก่สงฆ์เป็นส่วนรวม โดยอุทิศต่อสงฆ์ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่งหรือบางครั้งเราก็ทำทานให้จำเพาะบุคคลที่เราศรัทธาคือถวายต่อครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือก็มี แต่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าสังฆทานเป็นทานอันเลิศ เป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางอันมีผลมากที่สุดและก็เป็นสิ่งทำได้ยาก ต้องอาศัยปัญญาของเราให้เกิดขึ้นก่อนการทำทานถึงจะกระทำได้ไม่ผิดวัตถุประสงค์ของการทำทาน เพราะผลการทำทานจัดเป็นการทำความดีในเบื้องต้น ถ้าจิตใจของผู้ทำทานให้ทานเป็นปกติก็จะทำลายความเห็นแก่ตัวความตระหนี่ได้ การที่เราจะมารักษา ศีล 5 ศีล 8 ก็เป็นของทำได้ง่ายขึ้นอย่างที่พวกเราได้มากระทำในวันนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ทำทานเป็นปกติอยู่แล้ว และเป็นบุคคลที่มีศีล 5 อยู่กันเป็นประจำ พอได้มาฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญาที่พวกเราก็กำลังทำอยู่ในขณะที่ล้วนแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเรามากจะทำให้เข้าใจในธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนได้ง่ายขึ้นในพฤติกรรมทางกาย วาจาของเราสะอาดขึ้น คือมีศีลเป็นพื้นทำให้จิตใจของเราสงบขึ้นด้วยการเจริญภาวนา เมื่อได้ฟังธรรมในเรื่องของสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนก็เข้าใจได้ ล้วนแล้วเกิดจากการปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธองค์ทางสอนไว้ สามารถเป็นที่พึ่งแก่จิตใจของเราแน่นอน มีความสุขในปัจจุบัน

พวกเราจะเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงานประกอบอาชีพอันสุจริตมีความชำนาญงานนั้นๆ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตราหาอุบายวิธี และสามารถจัดดำเนินการงานทั้งทางโลกและทางธรรมให้ได้ผลดี หาทรัพย์มาได้แล้วถ้าไม่มีปัญญาจะรักษาทรัพย์นั้นให้ก็ยากอยู่ อาตมาจะพูดให้ฟังตัวอย่าง นักมวยชกมวยได้เงิน 30 ล้านบาท ใช้ไม่กี่ปีหมดเราจะต้องรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาทรัพย์หรือถ้าเราทำงานเป็นเงินเดือนเราจะต้องแบ่งการใช้จ่ายไม่ให้เกินตัว และจะต้องรู้จักรักษาผลงานของเราไม่ให้ตกต่ำหรือเสื่อมเสียถ้าพวกเราได้สังเกตดูว่าบุคคลที่เข้าวัดมาประพฤติปฏิบัติล้วนแล้วแต่เป็นคนดีส่วนใหญ่ที่เรียกว่ากัลยาณมิตรพวกเราต้องเลือกพูดคุยและศึกษาตัวอย่างจากบุคคลที่ทรงคุณความดีคือมีศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา จะเป็นประโยชน์ในปัจจุบันแน่นอนถ้าเราได้ศึกษาจากบุคคลที่กล่าวมานี่ทุกคนเหล่านั้นล้วนแล้วจะเป็นผู้รู้จักประมาณในการเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองให้รายได้เหนือรายจ่ายรู้จักการประหยัดเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น การได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มีประโยชน์ในปัจจุบันมากมาย ส่วนประโยชน์ในอนาคตเมื่อเราได้จากโลกนี้ไปแล้ว สุคติภูมิเป็นที่หมาย ได้แก่มนุษย์ เทวดา พรหม ไม่ไปสู่ทุคติภูมิคือ นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน เพราะบุคคลได้ทำกรรมอะไรไว้ไม่ว่าจะเป็นบุญหรือบาป จะต้องเป็นผู้เป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๆ พวกเราสะสมแต่กรรมดีทำเป็นนิจ มีความพอใจในการสร้างความดี ไม่หยุดเพราะจุดหมายปลายทางของพวกเรา ยังไม่ถึงก็ต้องสะสมความดีงามกันไปตลอดชีวิตก็ว่าได้

พวกเราชาวพุทธจะต้องไม่ท้อถอยในการสร้างความดีโดยเด็ดขาด จะต้องน้อมนึกถึงความพากเพียรของพระพุทธเจ้าเป็นหลักไว้จะได้มีกำลังใจในการสร้างความดี ถ้าเราเคยสังเกตความคิดของเราจะพบว่า บางครั้งจิตใจของเราก็คิดไปในทางอกุศล คือความนึกคิดที่ไม่ดี เช่น ความนึกคิดพัวพัน ติดข้องในสิ่งที่จะมาสนองความอยากของเรา หรือความนึกคิดที่ประกอบด้วยความขัดเคือง เพ่งมองในแง่ร้ายของบุคคลอื่น ถ้าหนักมากก็อาจจะนึกคิดในการทำร้าย หรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ตลอดเวลา เมื่อพวกเรามีความคิดเช่นนี้เกิดขึ้น ต้องรีบกำจัดความคิดชนิดนี้ ออกไปให้เร็วที่สุด เพราะมันจะบั่นทอนความเป็นอยู่ที่ผาสุกของเรา พวกเราจะจัดการต่ออารมณ์อกุศลอย่างไร เราจะต้องใช้ความเพียร ตั้งสติให้อยู่ในอารมณ์กรรมฐานที่พวกเราได้ฝึกฝนไว้อย่างไรต้องนำออกมาใช้เช่น ระลึกถึงความตาย บริกรรมในใจว่าชีวิตเป็นของไม่แน่นอนความตายเป็นของแน่นอน เราจะต้องตายแน่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ระลึกบ่อย ๆ จะทำให้จิตใจของเราดีขึ้น

เมื่อจิตใจของเรากลับมาเป็นปกติแล้ว ควรพิจารณาว่าอารมณ์อกุศลของเราที่ผ่านมาเกิดขึ้นมาเพราะอะไรเป็นเหตุ เมื่อพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า ตัณหาทั้ง 3 เป็นเหตุให้เราทุกข์ ไม่ว่าจะเป็น กามตัณหา คือสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือภวตัณหา คือความอยากในภาวะของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างไรอย่างหนึ่งเช่น อยากให้สิ่งที่เราต้องการคงอยู่ตลอดไป ถ้าไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์ ส่วนของวิภวตัณหาคือ อยากทำลาย อยากให้ดับสูญอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปรารถนา ถ้าทำไม่สำเร็จก็สร้างความทุกข์ให้กับเรา เมื่อเราพิจารณาเห็นรากเหงาของต้นตอของความชั่วแล้วจะต้องไม่ให้จิตใจของเราตกไปอยู่ในอำนาจของมันโดยการเจริญภาวนาคือการทำให้เป็นให้มีขึ้นเช่นเมื่อจิตใจของเราอยู่กับคำภาวนาบทใดบทหนึ่งอาจจะเป็นการระลึกความตายก็ได้ พุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ หรือจะเป็นการระลึกรู้ลมหายใจเข้า-ออกก็ได้ จะทำให้สติของเราอยู่กับใจของเราเมื่ออารมณ์อะไรผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ก็จะรู้ว่าจิตใจของเราเกิดความพอใจหรือความไม่พอใจในสิ่งนั้นๆ

เราต้องอบรมสั่งสอนจิตใจของเราว่า ความพอใจและความไม่พอใจเป็นสิ่งที่จะต้องละมันให้ได้พิจารณาไปพิจารณามาก็พบตัวกิเลสคือความยึดมันในกามและอารมณ์ต่างๆ ทำให้เกิดความพอใจ และความพอใจเป็นทุกข์เผารนจิตใจของเราให้ไม่สบายก็มีสติปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ต่างนั้น ๆ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่ในจิตใจของเรามานับภพนับชาติไม่ถ้วนพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นมีจะพึงปรากฏชัดแก่เราได้” เป็นพระดำรัสที่กินใจพุทธบริษัททั้งหลายเราจะต้องมีจุดหมายปลายทางในการทำสิ่งต่างๆ คือที่สุดแห่งกองทุกข์ให้ได้ไม่ว่าชาติใดก็ชาติหนึ่งแต่พวกเราจะต้องเป็นผู้ไม่ประมาทเพราะบุคคลที่ประมาทครูบาอาจารย์สอนว่า ตายแล้วจากคุณงามความดีทั้งหลาย สติปัญญาของเราจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราเป็นผู้ประมาทเราจะต้องตกต่ำเป็นไปตามอำนาจของกิเลสต่างๆไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ และความหลง จนกว่าที่พวกเราได้กลับมาเจริญภาวนาตั้งสติอยู่ในกาย สติที่ตั้งอยู่ในกายของเรานี้จะทำให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นสามารถกั้นกระแสของอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งในทุกข์ ไม่รู้แจ้งในสมุทัย ไม่รู้แจ้งในนิโรธ และไม่รู้แจ้งในมรรค เป็นขั้นตอนการปฏิบัติตามศีล สมาธิ และปัญญา ตามที่พระตถาคตได้ทรงตรัสบอกทางให้พวกเราเดินตาม พระองค์ท่านทรงตรัสว่า “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักข้อหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้อริยมรรคมีองค์ 8 ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญบริบูรณ์ เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย”

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทรงมีคุณค่าต่อมวลมนุษย์ที่มีศรัทธาความเชื่อเพราะเมื่อเรามีความเชื่อที่ถูกต้องแล้ว วิริยะที่เราหากทำตามคำสั่งสอนก็เกิดขึ้นเมื่อเราทำความดีให้มากเจริญความดีให้มากสติความระลึกได้ว่าอะไรเป็นกุศลอะไรเป็นอกุศลในจิตใจของพวกเราก็ไม่ฟุ้งซ่านไม่หดหู่ความคับแค้นใจต้องจบความลังเลสงสัยต่อการกระทำความดีของเราก็ไม่มีเราพอใจในธรรมพยายามรักษาจิตใจของเราไม่ติดใจใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จิตใจของเราก็จะเกิดความตั้งใจมั่นในอารมณ์กุศลเมื่อจิตของเราเป็นอย่างนี้บ่อยๆจะทำให้จิตของเรามีปัญญารู้เห็นตามความจริงของ รูป-นาม อย่างที่พวกเราได้เคยสวดมนต์ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น จะได้ยินคำสวดทำวัตรเช้าในเรื่องคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลายส่วนมาก มีส่วนคือการจำแนกอย่างนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยว สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน เมื่อจิตใจของเราได้รู้เห็นตามความจริงในเรื่องกาย และเรื่องใจของเรา ก็จะทำให้ถอนอุปาทานในขันธ์ 5 ได้ทีละเล็กทีละน้อย ความสุขที่เรียกว่า สันติก็เกิดขึ้นในจิตใจของพวกเรา

ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติย่อมนำความสงบสุขมาให้กับชีวิตครอบครัวและสังคมไม่ต้องไปรอในภพหน้าชาติหน้า พระผู้มีพระภาพเจ้าให้พวกเราเจริญภาวนาให้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบันส่วนใหญ่ ไม่ส่งจิตใจของเราตกไปอยู่เรื่องราวในอดีต หรือเรื่องราวในอนาคตเป็นส่วนมาก ซึ่งทำให้เราทำความสงบได้ยาก และเกิดความทุกข์ในรูปต่าง ๆ มากมาย เรามีความเจ็บไข้ไม่สบายจิตใจของเราก็เป็นทุกข์ เรากลัวความตายจะเกิดขึ้นกับเรา จิตใจของเราก็เกิดความทุกข์ รวมไปถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกโศกเศร้า ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สยายใจก็เป็นความทุกข์ แม้แต่ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สรุปแล้วความยึดมั่นในร่างกายและจิตใจของเราเป็นต้นต่อแห่งความทุกข์ทั้งหลาย

พระสุคตจึงทรงย้ำให้พวกพุทธบริษัท ผู้มีศรัทธาในธรรมที่พระองค์แสดงไว้ดีแล้ว เป็นผู้ต้องขวนขวายแสวงหาที่พึ่งให้กับตนเองให้ได้ เพราะการพึ่งตนเอง พระตถาคตตรัสไว้ว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” การฝึกหัดตนจึงเป็นผู้ประเสริฐได้คือปฏิบัติตนสมควรแก่ธรรมที่เราอยู่ในครองชีวิตร่วมกัน พระพุทธองค์ทรงสอนว่าจะต้องให้เรามีธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ จะต้องมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพูดจาจะต้องพูดสุภาพ ไพเราะอ่อนหวาน พร้อมทั้งช่วยขวนขวายช่วยเหลือกิจการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อสังคม เราจะต้องเป็นผู้ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว จะทำให้ชีวิตคู่ของเราราบรื่น ถ้ามีอุปสรรคเกิดขึ้นก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่มีมีทิฐิมานะที่ผิดเข้ามาทำให้เกิดความขัดแย้งล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ผลจาการปฏิบัติที่ถูกต้องไม่มีทิฐิจะนำความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม จะเกิดเป็นคนมีนิสัยปัจจัยต่อไปในอนาคต พระพุทธองค์ก็ทรงสร้างเหตุปัจจัยในการปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ต้องทำบารมี 10 ประการให้ครบถ้วนจึงจะสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ อันได้แก่ การทำทาน การรักษาศีล การออกบวช การเจริญปัญญา มีวิริยะความเพียร พร้อมทั้งจะต้องมีขันติความอดทน มี

อธิษฐานจิตให้มั่นคง เมตตาต่อชีวิตทุกชีวิต และสุดท้ายมีอุเบกขาวางจิตให้เป็นกลางไม่ยินดี ยินร้ายต่อโลกธรรม 8 ประการ

โลกธรรม 8 เรื่องธรรมดาของสัตว์โลกได้แก่ มีลาภคู่กับเสื่อมลาภ มียศคู่กับเสื่อมยศ มีสรรเสริญคู่กับติเตียนนินทา สุดท้ายมีความสุขคู่กับความทุกข์ ทำให้ลุ่มหลง ยินดียินร้าย ครอบงำย่ำยีจิตใจเรื่องไป ไม่พ้นจากทุกข์ ส่วนบุคคลที่ต้องการออกจากโลกธรรม 8 ประการ จะต้องปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ 8 ประการ ได้แก่ความเห็นชอบ คือการเห็นไตรลักษณ์ ความดำริชอบ คือคำริออกจากกาม ดำริในการไม่มุ่งร้าย ดำริในการไม่เบียดเบียน จะต้องเป็นผู้เจรจาชอบ คือเว้นจากการพูดไม่จริง เว้นพูดส่อเสียด เว้นการพูดหยาบ เว้นการพูดเพ้อเจ้อ ส่วนการะทำการงานชอบ คือเว้นจากการฆ่า เว้นการลักขโมย เว้นการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย การเลี้ยงชีพชอบ คือเว้นจากมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาอาชีพ ความพยายามชอบ คือได้เพียรระวังอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมีไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรเจริญทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญขึ้น การระลึกชอบคือต้องระลึกอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรมอยู่เสมอ ให้อยู่ในอารมณ์กรรมฐานไม่เผลอสติ และข้อสุดท้ายความตั้งจิตมั่นชอบ คือทำจิตใจให้เกิดความสงบให้ได้ การปฏิบัติมรรค 8 ประการเป็นทางสายกลางเพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลส และดับทุกข์ได้ไม่ต้องสงสัย

พระตถาคตทรงตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลายเจตนานั่นเองเราเรียกว่า กรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นที่กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้หยาบและประณีต” พวกเราเป็นผู้มีปัญญาดีเข้าใจเรื่องกรรมย่อมถือเอาประโยชน์จากกรรมเก่าทั้งดีและไม่ดีเป็นบทเรียนของชีวิต เป็นคนมีความหนักแน่นในเหตุผลทำให้เข้าใจตนเองและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดปัญญาที่จะแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ดีขึ้นพร้อมทั้งแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาแล้วให้ลุล่วงไปด้วยดีเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” ความรอบรู้จะเกิดได้ต้องอาศัยการฟัง การอ่าน และนำไปพิจารณาหาเหตุผลให้ประจักษ์ชัดขึ้นในจิตใจของเรา ก็จะสามารถแก้ไขความทุกข์ได้ระดับหนึ่ง แต่ปัญญาที่เกิดจากฝึกหัดอบรมลงมือปฏิบัติภาวนาจะทำให้สามารถเกิดญาณ คือความหยั่งรู้ในทุกข์เกิดความสงบมีความรู้ยิ่งใน ร่างกายว่าเป็นของไม่เที่ยง ทำให้เกิดความรู้พร้อมในอริยสัจทั้ง 4 ที่พวกเราได้ยินได้ฟังมาคือ ทุกข์ สภาวะที่บีบคั้นหรือสภาพที่ทนได้ยากไม่ให้ความพึงพอใจแก่ใคร ได้แก่ การเกิด การแก่ชรา ความตาย การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ๆ คือไม่สมหวัง ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความรอบรู้ในการภาวนาของเราล้วนเกิดจากความพากเพียรของเราเอง ไม่สามารถอ้อนวอนหรือโชคช่วยให้เกิดขึ้นได้ การอ้อนวอนทุกคนก็ทำได้ไม่ยากความทุกข์ก็คงไม่เลิกกับบุคคลใดเลย เพราะทุกคนก็อ้อนวอน ได้เป็นเรื่องทำง่าย ๆ

แต่พระพุทธองค์ทรงเตือนท่านทั้งหลายว่า “ภิกษุไม่หมั่นประกอบความเพียรในการฝึกอบรมจิตถึงจะมีความปรารถนาขอให้จิตของเราหลุดพ้นจากอาสวะเถิดดังนี้ จิตของเธอจะหลุดพ้นไปจากอาสวะกิเลสได้ก็หาไม่” จากพระดำรัสของพระองค์ท่านทำให้พวกเราได้รู้ว่าความเพียรจะต้องทำให้ต่อเนื่องไม่ว่าจะเพียรทางกายมีการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือ จะเพียรทางจิตใจมีสติ รู้ตัวอยู่ พยายามถอนความยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส จิตของพวกเราก็จะเป็นกลาง มีสติระลึกรู้อยู่ในกาย พิจารณาโดยใช้ความคิดไปด้วยว่า สิ่งทั้งหลายมันก็เป็นไปตามสภาวะของความไม่เที่ยง เกิดเป็นเด็ก ต่อมาโตจนเป็นหนุ่มสาว ต่อมาเป็นผู้อยู่ในวัยกลางคน สุดท้ายก็แก่ชราและตายไป เมื่อมีความเคลื่อนไหวอิริยาบถไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ให้กำหนดรู้ทันอิริยาบถจะทำให้เกิดสัมปชัญญะ เรียกว่าสร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง หรือถ้าเรานั่งสมาธิก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกก็ได้

ถ้าจิตใจของเรามันไม่ยอมอยู่กับลมก็มาพิจารณาความจริงของร่างกายโดยการแบ่งส่วนต่าง ๆ ออก เช่นแบ่งชิ้นส่วนต่าง ๆ ในร่างกายให้เห็นเป็นอวัยวะน้อยใหญ่มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นให้เห็นความไม่สะอาดทั้งหลายของร่างกายนี้ มันเป็นการประชุมของอวัยวะต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นสกลร่างกายอย่างที่เราเห็นแต่ที่จริงเป็นสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างมาประชุมกัน คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้น พวกเราทุกคนอาจจะเคยเห็นศากศพ ในสภาพต่าง ๆ ไม่มากก็น้อย เราก็น้อมจิตใจของเราให้เห็นว่าผู้อื่นเป็นเช่นใด เราท่านทั้งหลายก็จะเป็นเช่นนั้น เมื่อทำอารมณ์อย่างนี้ให้ชำนาญจิตก็จะเกิดความมั่นคงเป็นสมาธิได้ง่าย ความสงบอันเกิดจากการน้อมจิตในลักษณะนี้ เรียกว่าปัญญาทำให้เกิดสมาธิ ก็จะทำให้เราเห็นร่างกายของเราตามเป็นจริงในระยะต่อมา ผลก็คือทำให้เราค่อย ๆ ถอนอุปาทานคือความยึดมั่นว่าตัวตนของเราได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลงในอารมณ์โลก ๆ ก็จะน้อยลง ๆ จิตก็สว่างขึ้นมีปัญญาขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสอนอยู่บ่อย ๆ ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” เพราะแสงสว่างภายนอกก็เห็นเฉพาะร่างกายของเราเป็นตัวตนเป็นเราเป็นเขา ถ้าจิตสงบก็เห็นร่ายกายไม่เป็นเราไม่เป็นเขา

ถ้าเราไม่ชอบระลึกรู้ที่กายก็อาจระลึกรู้ที่เวทนาว่าเวทนา คือจิตในของเราไปเสวยอารมณ์ ความสุขกาย ความทุกข์กาย ความสุขใจและสบายใจ หรือความทุกข์ใจและความเสียใจ ตลอดจนจิตของเรามีความรู้สึกเฉย ๆ จะสุขก็ไม่ใช่จะทุกข์ก็ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมีสภาวะเกิดขึ้นปรากฏขึ้น ต่อมาก็มีความดับสลายปรากฏให้เห็น ตลอดจนความแปรปรากฏขึ้นให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดในเวทนา ตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ จิตใจก็จะเกิดความสงบและเกิดปัญญา หรือจะพิจารณาจิตให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงจิตไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา คือมีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะหรือไม่มีราคะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ มีโมหะหรือไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ว่ามีลักษณะอย่างไร ๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้น ๆ


เพราะพวกเราทำถูกวิธีผลก็ออกมาให้เราได้รู้เห็นความเป็นจริงในชีวิตของพวกเราว่า ก่อนที่จะมาปฏิบัติธรรมจิตใจของเราเป็นอย่างไร มีความโลภ มีโทสะ มีโมหะ ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ได้ ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้นอย่ามากมายในชีวิตไม่สามารถจะแก้ไขความทุกข์ให้น้อยลงหรือหมดลงไปได้แล้ว หลังจากมาปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว จิตใจเป็นอย่างไร พวกเรามีความเห็นถูกต้องเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเฉพาะคน ที่เรียกว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” ที่พวกเราได้ยินจากบทสวดทำวัตรแปลตอนเช้าและตอนเย็นล้วนแล้วทำให้เกิดปัญญาทั้งสิ้น การได้ยินสุภาษิตเป็นคำพูดที่พระตถาคตได้กล่าวไว้ดีว่าเป็นมงคลต่อชีวิตมนุษย์เป็นอันมาก


พระพุทธองค์ทรงเตือนภิกษุทั้งหลายก่อนจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า การที่เป็นผู้ไม่ประมาทก็จะต้องมีสติดังที่ได้แสดงวิธีการมีสติขึ้นแล้วในตอนต้น ขอให้พวกเราจงนำธรรมที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็จะประสบผลสำเร็จ ทั้งทางโลกและทางธรรม อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ฯ


โดย: Dhamma (chinawach ) วันที่: 5 กรกฎาคม 2552 เวลา:5:12:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

chinawach
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add chinawach's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.