| ห้องฝากข้อความ | Youtube.com | เติมใจให้กัน | MY Photos | |www.facebook.com|

เนื้อเรื่องโดยย่อ วรรณคดีเรื่องอิเหนา (บทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย )




สำหรับท่านที่สนใจเนื้อเรื่องโดยย่อของอิเหนา
แม่หมูได้รวบรวมจากเวปไซด์ต่าง ๆนำมาไว้ที่นี่ค่ะ



อิเหนา เป็นบทละครพระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นบทละครที่
วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของบทละครรำ
เพราะเป็นหนังสือซึ่งแต่งดีพร้อมทั้งเนื้อหา ทั้งความไพเราะ
ทั้งกระบวนที่จะเล่นละครประกอบกัน และยังเป็นหนังสือดี
ในทางที่จะศึกษาประเพณีไทยสมัยโบราณ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์
ตรงตามตำราทุกอย่าง แม้บทละครเรื่องอิเหนาจะมีเค้าเรื่อง
มาจากนิทานพื้นเมืองชวา แต่ทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียม
ของบ้านเมือง อัธยาศัยและรสนิยมของคนไทย

ความเป็นมา
อิเหนา เป็นวรรณคดีที่มีมาแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
มีที่มาจากนิทานปันหยี ซึ่งเป็นคำสามัญที่ชาวชวาใช้เรียกวรรณคดี
ที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องอิหนา ปันหยี กรัต ปาตี
วรรณคดีเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องเป็นพงศาวดารแต่งขึ้นเพื่อการ
เฉลิมพระเกียรติ กษัตริย์ชวาพระองค์หนึ่งซึ่งทรงเป็นนักรบ
นักปกครอง และทรงสร้างความเจริญให้แก่ชวาเป็นอย่างมาก
ชาวชวาถือว่าอิหนาเป็นวีรบุรุษ เป็นผู้มีฤทธิ์ เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา
จนกลายเป็นนิทานจึงเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์

ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
นางนวลจับนางนวลนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
จากพรากจับจากจำนรรจา เหมือนจากนางสการะวาตี
แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง เหมือนร้างท้องมาหยารัศมี
นกแก้วจับแก้วพาที เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา
ตระเวนไพรร่อนร้องตระเวนไพร เหมือนเวรใดให้นิราศเสน่หา
เค้าโมงจับโมงอยู่เอกา เหมือนพี่นับโมงมาเมื่อไกลนาง
คับแคจับแคสันโดษเดี่ยว เหมือนเปล่าเปลี่ยวคับใจในไพรกว้าง
ชมวิหคนกไม้ไปตามทาง คะนึงนางพลางรีบโยธี





เรื่องย่ออิเหนา

เนื้อเรื่องตอนที่ 1
บ้านเมืองและกำเนิดตัวละคร

ใน ชวาสมัยโบราณ มีกษัตริย์ปกครองเมืองใหญ่เมืองน้อย
กษัตริย์วงศ์เทวาซึ่งถือว่าเป็นชาติตระกูลสูงสุด ด้วยสืบเชื้อสายมาจากเทวดา
ใช้คำนำหน้าพระนามว่า ระเด่น ส่วนกษัตริย์นอกวงศ์นั้น ใช้คำว่า ระตู
เริ่มต้นบทละครเรื่องนี้ กล่าวถึงกษัตริย์วงศ์ 4 องค์ ต่างเป็นพี่น้อง
ร่วมบิดามารดา ทรงพระนามว่าท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง
ท้าวสิงหัดส่าหรี ครองเมือง 4 เมือง ซึ่งมีชื่อเช่นเดียวกับพระนามกษัตริย์
ทุกพระองค์ต่างก็มีมเหสี 5 องค์ ตามประเพณี เรียงลำดับศักดิ์
คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู และเหมาหลาหงี
ประไหมสุหรีของท้าวกุเรปันและท้าวดาหานั้น เป็นธิดาของ
กษัตริย์หมันหยาเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง จึงทำให้เมืองหมันหยา
มีความเกี่ยวดองกับกษัตริย์วงศ์เทวามากขึ้น ท้าวกุเรปันมีโอรส
กับลิกูองค์หนึ่งทรงพระนามว่า กระหรัดตะปาตี ซึ่งได้หมั้นไว้กับบุษบารากา
ธิดาของท้าวกาหลังซึ่งเกิดจากลิกู ต่อมาพระองค์ปรารถนา
จะให้ประไหมสุหรีมีโอรสบ้าง จึงได้ทำพิธี
บวงสรวง ก่อนประไหมสุหรีทรงครรภ์ก็ได้สุบินว่า
พระอาทิตย์ทรงกลดลอยมาตกตรงหน้า และนางรับไว้ได้
เมือประสูติก็เกิดอัศจรรย์ต่าง ๆ เป็นนิมิตดี องค์ปะตาระกาหลา
ซึ่งเป็นเทวดาต้นวงศ์บนสวรรค์ เหาะนำกริชมาประทานให้
พร้อมทั้งจารึกนามโอรสด้วยว่า อิเหนา ต่อมาประไหมสุหรี
ได้ธิดาอีกหนึ่งองค์ พระนามว่า วิยะดา ฝ่ายท้าวดาหา
ประไหมสุหรีก็ประสูติธิดา ได้พระนามว่า บุษบา
ขณะประสูติก็เกิดอัศจรรย์ก็มี กลิ่นหอมตลบทั่วเมือง
หลังจากประสูติบุษบาแล้ว ประไหมสุหรีก็ประสูติโอรสอีก
พระนามสียะตราท้าวกาหลังมีธิดา พระนามสะการะหนึ่งหรัด
ท้าวสิงหัดส่าหรีมีโอรส พระนามสุหรานากง และธิดาพระนาม
จินดาส่าหรีกษัตริย์ ในวงศ์เทวาจึงได้จัดให้มีการตุนาหงันกันขึ้น
ระหว่างโอรสและธิดาในวงศ์เดียวกันโดยให้ อิเหนาหมั้นไว้กับบุษบา
กระหรัดตะปาตีกับบุษบารากา สียะตรากับวิยะดา สุหรานากง
กับสะการะหนึ่งหรัด แต่ก่อนจะมีการแต่งงาน ความยุ่งยากก็เกิดขึ้น





เนื้อเรื่องตอนที่ 2
ความขัดแย้ง ต้นเหตุของความยุ่งยาก

จุดเริ่มต้นที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้ตัวละครประกอบความยุ่งยาก
และเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายอันเป็นการดำเนินเรื่อง
ของ บทละครเรื่องนี้ เกิดจากอัยยิกาของอิเหนาที่เมืองหมันหยา
สิ้นพระชนม์ อิเหนาจึงเสด็จไปในงานพระเมรุแทนท้าวกุเรปัน
แต่เสร็จพิธีแล้วอิเหนาไม่ยอมกลับ เพราะหลงรักนาง จินตะหรา
ธิดาท้าวหมันหยา จนท้าวกุเรปันต้องมีสารไปเตือน
เมื่อกลับมากรุงกุเรปันแล้วและใกล้เวลาอภิเษกกับบุษบา
อิเหนาก็ไม่ใคร่เต็มใจ จึงออกอุบายทูลลาพระบิดาไปประพาสป่า
แล้วปลอมองค์เป็น ปันหยีหรือโจรป่า นามว่ามิสาระปันหยี
คุมไพร่พลรุกรานเมืองต่าง ๆ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองใดก็ได้เมืองนั้น
เป็นเมืองขึ้น ระตูหลายเมืองได้ถวายโอรสและธิดาให้
ที่สำคัญคือระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงัน
ได้ถวายธิดาคือมาหยารัศมีและสะการวาตี
ซึ่งต่อมาได้เป็นชายาของอิเหนา และถวายโอรสคือสังคามาระตา
ซึ่งอิเหนายกย่องให้เป็นน้องและเป็นทหารคู่ใจ กองทัพของปันหยี
รอนแรมไปจนถึงเมืองหมันหยา ท้าวหมันหยาไม่กล้าต่อสู้และ
ยอมยกธิดาให้ แต่พอรู้ว่าเป็นอิเหนา ท้าวหมันหยาไม่ยอม
ปฏิบัติตามสัญญา อิเหนาจึงลอบเข้าหานางจินตะหราและ
ได้เสียกัน ท้าวหมันหยาก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

พอถึงกำหนดการอภิเษก ท้าวดาหาก็มีสารถึงท้าวกุเรปัน
ให้เตรียมพิธีอภิเษก แต่อิเหนาบอกปัด ทำให้ท้าวดาหาโกรธมาก
จึงประกาศจะยกบุษบาให้กับใครก็ได้ที่มาขอ เพราะฉะนั้นเมื่อระตูจรกา
กษัตริย์รูปชั่วตัวดำ ให้พี่ชายคือระตูล่าสำไปสู่ขอบุษบาให้ตน
ท้าวดาหาก็ยอมยกให้ ต่อมา ท้าวกระหมังกุหนิง
ส่งทูตมาสู่ขอบุษบาให้วิหยาสะกำซึ่งเป็นโอรส
แต่ท้าวดาหาปฏิเสธเพราะได้ยกให้ระตูจรกาไปแล้ว
เป็นเหตุให้ท้าวกะหมังกุหนิงโกรธและยกกองทัพ
มาล้อมเมืองดาหา ท้าว ดาหาจึงขอกำลังจาก
พระ เชษฐาและพระอนุชา ท้าวกุเรปันมีคำสั่งให้อิเหนาไปช่วยรบ
อิเหนาจึงจำใจต้องจากนางจินตะหราและยกกองทัพไปช่วยรบ
การศึกครั้งนี้ อิเหนามีชัยชนะ ท้าวกะหมังกุหนิงถูกอิเหนาฆ่าตาย
และโอรสคือวิหยาสะกำถูกสังคามาระตาฆ่าตาย
กองทัพที่ล้อมเมืองดาหาก็แตกพ่ายไป เมื่อชนะศึกแล้ว
อิเหนาก็ได้เข้าเฝ้าท้าวดาหาและได้พบกับบุษบา
อิเหนาได้เห็นความงามของบุษบาก็หลงรักและเสียดาย
พยายามหาอุบายอยู่ในเมืองดาหาต่อไป และพยายาม
หาโอกาสใกล้ชิดบุษบา โดยอาศัยสียะตราเป็นสื่อรัก
อิเหนาพยายามหาวิธีการทุกทางเพื่อจะได้บุษบาเป็นของตน
เช่นตอนที่ท้าวดา หาไปใช้บนที่เขาวิลิศมาหรา
อิเหนาได้แอบสลักสารบนกลีบดอกปะหนัน (ลำเจียก)
ให้นาง แอบเข้าไปในวิหารพระปฏิมา ตรัสตอบคำถาม
แทนพระปฏิมา ต้อนค้างคาวมาดับไฟแล้วแอบมากอดนาง
ตลอดจนคาดคั้นมะเดหวีให้ช่วยเหลือตน เป็นต้น
และเมื่อท้าวดาหาจะจัดพิธีอภิเษกระหว่างบุษบากับระตูจรกา
อิเหนาก็ใช้วิธีการสุดท้ายโดยการทำอุบายเผาเมือง
แล้วลอบพานางบุษบาหนีออกจากเมืองไปซ่อนในถ้ำที่เตรียมไว้
และได้นางเป็นมเหสี





เนื้อเรื่องตอนที่ 3
ปัญหาใหม่ และการมะงุมมะงาหรา

หลังจากอิเหนากับบุษบาเข้าใจกันแล้ว ก็เกิดความยุ่งยากใหม่ขึ้น
กับตัวละครอีก เพราะองค์ปะตาระกาหลาทรงพิโรธอิเหนา
ที่ก่อเหตุวุ่นวายมาตลอด จึงดลบันดาลให้ลมหอบเอานางบุษบา
พร้อมพี่เลี้ยงสองนาง ไปตกในเมืองปะมอตัน
ขณะ ที่อิเหนาเข้าไปในเมืองดาหาเพื่อแก้สงสัย
อิเหนากลับมาไม่พบบุษบาก็ปลอมองค์เป็น
ปันหยีออกตามหา พร้อมกับนำวิยะดาไปด้วยกับตน
โดยให้ปลอมเป็นปันหยีชื่อเกนหลงหนึ่งหรัด
ผ่านเมืองใดก็รบพุ่งเอาไปเป็นเมืองขึ้น
ไปตลอดรายทาง จนถึงเมืองกาหลัง
จึงได้เข้าไปขอพักอาศัยอยู่ด้วย


ส่วนบุษบา หลังจากลมหอบไปยังเมืองปะมอตันแล้ว
องค์ปะตาระกาหลา ก็สำแดงตนบอกเล่า เรื่องราวให้ทราบว่า
นี่เป็นการลงโทษอิเหนา ทั้งสองจะต้องผจญความลำบากอยู่ระยะหนึ่ง
จึงจะได้พบกันองค์ปะตาระกาหลาได้แปลงตัวบุษบาให้เป็นชาย
มอบกริชจารึกพระนามว่ามิสาอุณากรรณ ให้มีความสามารถทางการรบ
หลังจากนั้น อุณากรรณเดินทางเข้าเมืองปะมอตัน ท้าวปะมอตันรับเลี้ยงไว้
เป็นโอรส ต่อมาอุณากรรณกับพี่เลี้ยงก็ยกพลออกเดินทางเพื่อตามหา
อิเหนา ผ่านเมืองใดเจ้าเมืองไม่อ่อนน้อมก็รบพุ่งได้ชัยชนะหลายเมือง
จนกระทั่งถึงเมืองกาหลัง ได้พบกับปันหยี ทั้งสองฝ่ายต่างก็แคลงใจว่า
อีกฝ่ายคือบุคคลที่ตนเที่ยวหา แต่ก็ไม่กล้าเปิดเผยตัว ได้แต่สังเกต
และคุมเชิงกันอยู่ที่เมืองกาหลัง ปันหยีและอุณากรรณได้เข้าอ่อนน้อม
ต่อท้าวกาหลัง ท้าวกาหลังก็ทรงโปรดทั้งสองเหมือนโอรส
ต่อมามีศึกมาประชิดเมืองเพราะท้าวกาหลังไม่ยอมยกธิดา
คือสะการะหนึ่งหรัดให้ ปันหยีและอุณากรรณอาสารบ
และสามารถชนะศึกได้อย่าง ง่ายดาย เหตุการณ์นี้ทำให้ปันหยี
อุณากรรณและสะการะหนึ่งหรัดใกล้ชิดสนิดสนมกันมากยิ่งขึ้น
ทำให้อุณากรรณกลัวความจะแตกว่านางเป็นหญิง กอปรกับ
ต้องการติดตามหาอิเหนาต่อไป จึงทูลลาท้าวกาหลังกลับเมืองปะมอตัน
แต่นางออกอุบายให้ทหารกลับเมืองตามลำพัง ส่วนนางกับพี่เลี้ยงหนี
ไปบวชชี (แอหนัง) เพื่อหาทางหลบหนีการตามพัวพันของปันหยี
ฝ่ายสียะตราแห่งเมืองดา หา ครั้นทำพิธีโสกันต์เสร็จก็แอบหนีพระบิดา
ปลอมตัวเป็นปัจจุเหร็จโจรป่าชื่อ ย่าหรัน ออกเดินทางหาอิเหนาและบุษบา
องค์ปะตาระกาหลาแปลงเป็นนกยูงมาล่อย่าหรันไปถึงเมืองกาหลัง
ได้เข้าเฝ้าและ พำนักอยู่ในเมือง ต่อมาย่าหรันและปันหยีเกิดต่อสู้กัน
เพราะเกนหลงหนึ่งหรัดเป็น ต้นเหตุ ในที่สุดอิเหนาและสียะตรา
ก็จำกันได้ เพราะมองเห็นกริชของกันและกัน


ต่อมาปันหยีทราบว่ามีแอหนังบวช บนภูเขา รูปงามละม้ายบุษบา
จึงออกอุบายปลอมตัวเป็นเทวดาหลอกนางมายังเมืองกาหลัง
เมื่อปันหยีพิศดูนางก็ยิ่งละม้ายนางบุษบา แต่พอเห็นกริชของนาง
ชื่ออุณากรรณ ก็เข้าใจว่านางเป็นชายาของอุณากรรณ
ฝ่ายพี่เลี้ยงของปันหยีคิดเล่นหนังทดสอบแอหนัง
โดยผูกเรื่องตามชีวิตจริงของอิเหนากับบุษบาทุก ๆ ตอน
นางแอหนังฟังเรื่องราวก็ร้องไห้คร่ำครวญ ทั้งสองฝ่ายจึงจำกันได้
อิเหนาจึงให้นางสึกจากชี ระเด่นทั้งสี่ คือ อิเหนา บุษบา สียะตรา
และวิยะดา จึงพบกันและจำกันได้หลังจากดั้นด้นติดตามกัน
โดยปราศจากทิศทาง (มะงุมมะงาหรา) เสียนาน


เนื้อเรื่องตอนที่ 4 ปิดเรื่อง
กษัตริย์วงศ์เทวาได้มาพร้อมกัน ณ เมืองกาหลัง
หลังจากทราบเรื่องและเข้าใจกันดีแล้ว จึงได้มีการอภิเษก สมรสกันขึ้น
ระหว่างคู่ตุนาหงันในวงศ์เทวา พร้อมทั้งอภิเษกธิดาระตูอื่น ๆ
เป็นมเหสีกษัตริย์วงศ์เทวาจนครบตำแหน่ง เช่น อิเหนาอภิเษกกับบุษบา
และจินตะหรา โดยบุษบาเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย
จินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา สะการะวาตีเป็นมะเดหวีฝ่ายขวา
มาหยารัศมีเป็นมะเดหวีฝ่ายซ้าย บุษบาวิลิศเป็นมะโตฝ่ายขวา
บุษบากันจะหนาเป็นมะโตฝ่ายซ้าย ระหนากะระติกาเป็นลิกูฝ่ายขวา
อรสานารีเป็นลิกูฝ่ายซ้าย สุหรันกันจาส่าหรี เป็นเหมาหลาหงีฝ่ายขวา
หงยาหยาเป็นเหมาหลาหงีฝ่ายซ้าย สียะตราอภิเษกกับวิยะดา สุหรานากง
กับสะการะหนึ่งหรัด กะหรัดตะปาตีกับบุษบารากา สุหรานากง
ครองเมืองสิงหัดส่าหรี กะหรัดตะปาตีครองเมืองกาหลัง.


อิเหนา




รอบคอบ มองการณ์ไกล
ตอนที่สังคามาระตารบกับวิหยาสะกำ
อิเหนาได้เตือน สังคามาระตาว่าไม่ชำนาญกระบี่ อย่าลงจากหลังม้า
เพราะเพลงทวนนั้นชำนาญอยู่แล้วจะเอาชนะได้ง่ายกว่า

เมื่อนั้น ระเด่นมนตรีใจหาญ
จึงตอบอนุชาชัยชาญ เจ้าจะต้านต่อฤทธิ์ก็ตามใจ
แต่อย่าลงจากพาชี เพลงกระบี่ยังหาชำนาญไม่
เพลงทวนสันทัดจัดเจนใจ เห็นจะมีชัยแก่ไพรี
มีอารมณ์ละเอียดอ่อน เมื่อจากสามนางมาเห็นสิ่งใดก็คิดถึงนางทั้งสาม
คำประพันธ์ความตอนนี้มีความไพเราะมาก
ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
นางนวลจับนางนวลนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
จากพรากจับจากจำนรรจา เหมือนจากนางสการะวาตรี







บุษบา หญิงไร้เดียงสา หรือเฉียบคม


ประวัติ

นางบุษบาเป็นธิดาของท้าวดาหากับประไหมสุหรี มีอนุชาร่วมบิดามารดาชื่อสียะตรา
มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับอิเหนาในฐานะญาติสนิท นางเป็นคู่หมั้นของอิเหนา


ลักษณะนิสัย

๑.บุษบาเป็นหญิงที่เป็นแบบฉบับของลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพ่อแม่
แม้ว่านางจะไม่พอใจในรูปร่างของจรกา แต่นางก็ยอมที่จะไม่ทำตามใจตนเอง
เพื่อรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล

๒. เป็นคนไม่เจ้ายศเจ้าอย่างหรือถือว่าตนสูงศักดิ์กว่านางจินตะหรา
เห็นได้จากตอนที่จินตะหราได้ให้นางสการะวาตีและนางมาหยารัศมีมาเฝ้า
บุษบาก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

๓. เป็นคนไม่เหลาะแหละ รู้จักโต้เถียงแสดงความฉลาดรู้ทันอิเหนา
และรักษาเกียรติของตนเองไม่ยอม หลงเชื่ออย่างง่ายๆ
ในตอนที่อิเหนาพูดว่า

" อันนางจินตะหราวาตี ใช่พี่จะมุ่งมาดปรารถนา

หากเขาก่อก่อนอ่อนมา ใจพี่พาลาก็งวยงง……"

จากที่อิเหนาพูดนี้ก็ทำให้นางบุษบารู้ว่าอิเหนาเจรจาเข้าข้างตัวเอง
นางก็โต้ตอบว่าอย่ามาแกล้งพูดเลยว่าจะไม่เลี้ยงนางจินตะหราวาตี
เพราะมีลายลักษณ์อักษรและใครๆก็รู้กันทั่วว่าอิเหนาไม่ต้องการนาง
นางจึงโต้ตอบ เมื่ออิเหนาแก่ตัวว่าที่ลักนางมาก็ด้วยความรักว่า

" จะให้เชื่อพจมานหวานถ้อย จะได้ไปเป็นน้อยชาวหมันหยา

เขาจะเชิดชื่อฤาชา ว่ารักสามีท่านกว่าความอาย

อันความอัปยศอดสู จะติดตัวชั่วอยู่ไม่รู้หาย

ร้อนใจอะไรเล่าเจ้าเป็นชาย ไม่เจ็บอายขายหน้าก็ว่าไป "

และตอนที่ นางบวชเป็นแอหนัง (ชี ) แลัวถูกปันหยี
ขโมยกริชไป นางก็คร่ำครวญ ต่อว่าพี่เลี้ยงด้วยความรักเกียรติสตรีว่า

"พี่แกล้งเป็นใจด้วยปันหยี เห็นคนอื่นดียิ่งกว่าข้า

ในถ้อยคำที่ร่ำพรรณนา ว่าแสนเสน่หาอิเหนานัก

เป็นไฉนจึงยกน้องให้ แก่ชาวไพร่ต่ำช้าบรรดาศักดิ์

กระนี้ฤาพี่เรียกว่ารัก พึ่งจะประจักษ์ในน้ำใจ

สู้ตายชายอื่นมิให้ต้อง อันจะมีผัวสองอย่าสงสัย

ถึงมาตรแม้นชีวันจะบรรลัย จะตายในความซื่อสัตยา"

๔.เป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง แม้ว่านางจะตกอยู่ในสภาพที่
ถูกบังคับโดยนางไม่ยอมทำตามผู้ใหญ่ ดังตอนที่ท้าวดาหามีดำรัส
ให้ขึ้นมาเข้าเฝ้าอิเหนานางรู้ว่าจะให้ไปไหว้
งเข้าไปนอนด้วยความเคืองไม่เข้าเฝ้าตามรับสั่ง จนเดือดร้อนถึงมะเดหวี
ต้องมาจัดการ แต่นางก็ไม่ออกมาโดยดีๆ ต้องผลักไสกัน

๕. มีความซื่อสัตย์ ได้รักษาตัวไว้รอคอยอิเหนา ดังกลอนว่า

"ถึงมาตรสู้ตายชายอื่นมิให้ต้อง อันจะมีผัวสองอย่าสงสัย

แม้นชีวันจะบรรลัย จะตายในความซื่อสัตยา"

๖.ไม่มีจริตแง่งอน เมื่ออิเหนาลักพานางไปไว้ในถ้ำ ก็ยินยอมแต่โดยดี

๗.เมื่อเป็นชาย คือมิสาอุณากรรณ ก็ปฏิบัติตน
กับระตูประมอตันอย่างบิดาของตน

๘.มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เช่น ระตูประมอตัน

๙.มีความกล้าหาญจนมีระตูมาขอเป็นเมืองขึ้นหลายเมือง

๑๐.ไม่มีความริษยาถือโกรธผู้ใด มีน้ำใจ เมื่อมารดาให้ไหว้
นางจินตะหราบุษบาก็ยอมตาม ดังที่นางกล่าวกับอิเหนาว่า

"แม้นน้องรักทักท้วงหวงหึง พระองค์จึงห้ำหั่นเกศา

เป็นถ้อยยำคำมั่นน้องสัญญา เชิญเสด็จเชษฐารีบคลาไคล"

และนางยอมให้อิเหนายกจินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวาแต่โดยดี
ด้วยเห็นว่านางจินตะหราเป็นผู้มาก่อน แม้ว่าจินตะหราจะไม่ใช่วงศ์เทวัญฯ
ข้อนี้ยากที่จะหาหญิงใดเสมอเหมือน นับว่าบุษบาเป็นหญิงไทย
ในวรรณคดีที่สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติคนหนึ่ง




จินตะหราวาตี
"...พระยอกรก่ายวิลาสพาดพักตร์ ถวิลถึงน้องรักจินตะหรา
โฉมงามทรามสวาทเพียงบาดตาใต้ฟ้าหาไหนไม่ทัดเทียม
งามจริตกิริยาเป็นน่าชม แต่บังคมพี่ชายก็อายเหนียม
พี่ลอบแลโฉมน้องลองเลียม งามเสงี่ยมเจียมจิตพี่ติดใจ
เมื่องชม้ายมาสบหลบเนตรหนี ท่วงทีที่ทำยังจำได้
ยิ่งแสนเสน่หาอาลัย เร่าร้อนฤทัยเกรียมตรม
จะผ่อนผันฉันใดนะอกเอ๋ย จะได้เชยชวนชิดสนิทสนม
แต่ระลึกตรึกตราเป็นอารมณ์จนบรรทมหลับไปกัยไสยา..."
(อิเหนา ตอนอิเหนา บุษบา และจินตะหรา)

จิ นตะหราวาตีเป็นธิดาของระตูหมันหยากับประไหมสุหรีจินดาส่าหรี
แห่งเมืองหมัน หยา มีรูปโฉมงดงาม มีผิวสองสี นิสัยเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตนเอง
แสนงอน ช่างพูด ประชดประชัน บางครั้งก็ก้าวร้าวหยาบคาย จนแม้แต่อิเหนา
ยังนึกเบื่อและรำคาญใจ ทั้งๆที่เมื่อได้พบนางครั้งแรกก็หลงรักจนไม่ยอมกลับ
กรุงกุเรปันและปฏิเสธการ แต่งงานกับบุษบาอย่างสิ้นเชิง ครั้นอิเหนาได้รับ
คำสั่งจากท้าวกุเรปันให้ไปช่วยทำศึกที่กรุงดาหาทำให้นาง ไม่ได้พบกับอิเหนา
อีกเลย จวบจนเวลาผ่านไปนานหลายปี ท้าวกุเรปันจะจัดพิธีวิวาห์ให้อิเหนา
จึงทรงมีสาส์นมาถึงระตูหมันหยาให้พาจินตะหราไปเข้าพิธีด้วย
ในตำแหน่งประไหมสุหรีฝ่ายขวา



ตัวละครในเรื่องอิเหนา

อิเหนา อิเหนา หรือระเด่นมนตรี มีชื่อว่า
หยังหยังหนึ่งหรัดอินดราอุดากันสาหรีปาติอิเหนาเองหยังตาหลาเมาะตาริยะกัด ดังสุรศรี
ดาหยังอริราชไพรี เองกะนะกะหรีกุเรปัน เป็นโอรสของท้าวกุเรปัน
และประไหมสุหรีนิหลาอระดา อิเหนาเป็นชายรูปงาม มีสเน่ห์มีนิสัยเจ้าชู้
มีความเชี่ยวชาญในการใช้กริชและกระบี่เป็นอาวุธ อิเหนามีมเหสี ๑๐ องค์
นางบุษบา เป็นธิดาของท้าวดาหาและ
ประไหมสุหรีดาหราวาตี แห่งกรุงดาหา ท้าวกุเรปันก็ขอตุนาหงันให้กับอิเหนา
บุษบาเป็นหญิงที่งามล้ำเลิศกว่านางใดในแผ่นดินชวา
กิริยามารยาทเรียบร้อย คารมคมคาย เฉลียวฉลาดทันคนใจกว้าง
และมีเหตุผล จึงผูกใจให้อิเหนารักใคร่ใหลหลงนางยิ่งกว่าหญิงอื่น
นอก จากนั้นบุษบายังเป็นลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพระบิดา พระมารดายอม
แต่งงานกับระตูจรกา แม้ว่าจะไม่พอใจในความขี้ริ้วขี้เหร่ของระตูจรกาก็ตาม
นางถูกเทวดาบรรพบุรุษ ของวงค์อสัญแดหวาคือ
องค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้ลมพายุหอบไป ทำให้นางต้องพลัดพราก
จากอิเหนา และพระบิดาพระมารดาเป็นเวลาหลายปี กว่าจะได้พบอิเหนา
และวิวาห์กัน โดยนางได้ตำแหน่งเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย
จินตะหรา เป็น ธิดาของระตูหมันหยากับประไหมสุหรีชื่อ
สุหรีจินดาส่าหรี แห่งเมืองหมันหยา รูปโฉมงดงาม มีนิสัยเจ้าอารมณ์
เอาแต่ใจตัวเองแสนงอน ช่างพูดประชดประชัน บางครั้งก็ก้าวร้าวหยาบคาย
จนแม้แต่อิเหนาเองยังนึกรำคาญใจ

ท้าวกุเรปัน เป็นกษัตริย์ครองกรุงกุเรปัน
มีมเหสี ๕ องค์ ตามประเพณี มีประไหมสุหรีชื่อนิหลาอระตา
ท้าวกุเรปัน มีโอรสองค์แรกกับลิกูชื่อ กะหรัดตะปาตี และมีโอรสธิดา
กับประไหมสุหรีคือ อิเหนาและวิยะดา ท้าวกุเรปันมีพี่น้องร่วมบิดามารดา
เดียวกันอีก ๓ องค์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของเมืองต่างๆ คือ ท้าวดาหา
ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี ท้าวกุเรปัน ทรงหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี
ของวงอสัญแดหวา จึงไม่พอใจมาก ที่อิเหนาไปมีความสัมพันธ์กับจินตะหรา

ท้าวดาหา กษัตริย์ครองกรุงดาหา
มีมเหสี ๕ องค์ ประ ไหมสุหรีชื่อ ดาหราวาตี ท้าวดาหามีโอรสธิดากับ
ประไหมสุหรีคือบุษบาและสียะตรา ท้าวดาหาเป็นผู้มีใจยุติธรรม
เพราะทรงยินยอมให้จินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา
ซึ่งใหญ่กว่าบุษบาที่เป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา

ท้าวกะหมังกุหนิง ผู้ครองเมืองกะหมังกุหนิง
มีน้อง ๒ คน คือ ระตูปาหยัง และระตูประหมัน และมีโอรสชื่อ
วิหยาสะกำซึ่งเป็นโอรสที่พระองค์ และมเหสีรักดังแก้วตาดวงใจ
เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงทราบว่าวิหยาสะกำคลั่งไคล้นางบุษบาธิดาของ
ท้าวดาหา ซึ่งสิ่งที่เห็นเป็นเพียงรูปวาดเทานั้น พระองค์ก็แต่งทูตไป
ขอนางทันที ครั้นถูกปฏิเสธ ท้าวกะหมังกุหนิงจึงโกรธมาก และยกทัพไปตี
กรุงดาหาเพื่อแย่งนางบุษบามาให้วิหยาสะกำ แม้น้องทั้งสองจะทัดทาน
แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่ยอมเปลี่ยนความคิดโดยประกาศว่าจะยอมตายเพื่อลูก

วิหยาสะกำ โอรสของท้างกะหมังกุหนิง
ซึ่งเกิดจาดประไหมสุหรี วิหยาสะกำมีฝีมือในการใช้ทวนเป็นอาวุธ
และเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนไหวมาก

สังคามาระตา โอรสของระตูปรักมาหงัน
และ เป็นน้องของมาหยารัศมี สังคามาระตาเป็นหนุ่มรูปงาม
มีความเฉลียวฉลาด รอบคอบ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เก่ง
และกล้าหาญ ทั้งยังมีความซื่อสัตย์ และชำนาญในการใช้ทวนเป็นอาวุธ
เป็นคู่คิดคู่ปรึกษาและช่วยเตือนสติอิเหนาได้หลายครั้ง

สุหรานากง โอรส ของท้าวสิงหัดส่าหรี
ที่เกิดจากประไหมสุหรี พระบิดาได้สู่ขอสะการะหนึ่งหรัด ธิดาท้าวกาหลัง
ให้เป็นคู่ตุหนาหงันตั้งแต่เด็ก สุหรานากงปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของ
พระบิดาและพระมารดาอยู่เสมอ มีความกล้าหาญ และวางตนได้ย่างเหมาะสม

ระตูหมันหยา โอรสของท้าวมังกัน
พระบิดาได้ขอตุหนาหงัน ระเด่นจินดาส่าหรี ธิดาองค์สุดท้ายของ
ระตูหมันหยาซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว เมื่อ แต่งงานกัน พระมารดาของ
ระเด่นจินดาส่าหรีได้อภิเษกให้ครองเมืองหมันหยา โดยให้ระเด่นจินดาส่าหรี
เป็นประไหมสุหรี ระตูหมัยหยาและประไหมสุหรีจินดา มีธิดาเพียงองค์เดียว
คือจินตะหราวาตี ระตูหมันหยามีจิตใจอ่อนแอ ไม่มีความเป็นนักสู้

ประสันตา เป็น พี่เลี้ยงหนึ่งในสี่ของอิเหนา
ซึ่งท้าวกุเรปันเลือกแต่ครั้งอิเหนาประสูติใหม่ๆ
บิดาของประสันตาเป็นเสนาบดีตำแหน่งยาสา(ฝ่ายตุลาการ)
ของกุเรปัน ประสันตามีนิสัยตลก คะนอง ปากกล้า เจ้าอารมณ์
ชอบพูดเย้าแย่เสียดสีผู้อื่นอยู่เสมอ และยังเจ้าเล่ห์อีกด้วย



อิเหนาหรือระเด่นมนตรี เป็นโอรสของท้าวกุเรปันและ
ประไหมสุหรีนิหลาอระตา แห่งกรุงกุเรปัน อิเหนาเป็นชายรูปงามมีเสน่ห์
เจรจาอ่อนหวาน นิสัยเจ้าชู้ มีความเชี่ยวชาญในการใช้กริชและกระบี่เป็นอาวุธ

ท้าวกุเรปันได้สู่ขอบุษบาหนึ่งหรัดธิดาของท้าวดาหาเป็นคู่ตุนาหงันของ
อิเหนา ตั้งแต่เด็ก ครั้นอิเหนาโตเป็นหนุ่มได้พบ จินตะหราวาตีและหลงใหล
นางมาก จึงปฏิเสธไม่ยอมแต่งงานกับบุษบา แต่พอได้พบกับบุษบาก็หลงรัก
นาง จนกระทั่งลักพาตัวนางไปขณะที่นางกำลังจะเข้าพิธวิวาห์กับระตูจรกา
ทำให้องค์ปะตาระกาหลาโกรธอิเหนาจึงบันดาลให้ลมหอบนางไปเสีย
อิเหนาก็ปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ มิสารปันหยี ออกติดตามหานาง
จนทั่วแผ่นดินชวาก็ไม่พบ จึงตัดสินใจบวชเป็นฤาษี ใช้ชื่อว่า กัศมาหรา
ได้รับความทุกข์ทรมานใจแสนสาหัสกว่าจะไดเพบนางบุษบาอีกครั้ง
ภายหลังอิเหนาได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองกุเรปันมีมเหสีถึง ๑๐ องค์


ตำแหน่งชายาอิเหนา

จินตะหราวาตี เป็น ประไหมสุหรีฝ่ายขวา
บุษบาหนึ่งหรัด เป็น ประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย
สะการะวาตี เป็น มะเดหวีฝ่ายขวา
มาหยารัศมี เป็น มะเดหวีฝ่ายซ้าย
บุษบาวิศ เป็น มะโตฝ่ายขวา
บุษบากันจะหนา เป็น มะโตฝ่ายซ้าย
ระหนาระกะติกา เป็น ลิกูฝ่ายขวา
อรสา เป็น ลิกูฝ่ายซ้าย
สุหรันกันจาส่าหรี เป็น เหมาหลาหงีฝ่ายขวา
หงยาหยา เป็น เหมาหลาหงีฝ่ายซ้าย

ตำแหน่งมเหสี กษัตริย์ของชวาที่ครองเมืองใหญ่และมีอำนาจมาก
เช่นกษัตริย์ในวงศ์อสัญแดหวา จะมีมเหสีได้ ๕ องค์ คือ
เมเหสี ที่ ๑ เป็น ประไหมสุหรี
เมเหสี ที่ ๒ เป็น มะเดหวี
เมเหสี ที่ ๓ เป็น มะโต
เมเหสี ที่ ๔ เป็น ลิกู
เมเหสี ที่ ๕ เป็น เหมาหลาหงี





เรื่องย่อโดยสรุปรวม ๆ

ดินแดนชวาโบราณมีกษัตริย์วงศ์หนึ่งเรียกว่า
วงศ์สัญแดหวาหรือวงศ์เทวา เพราะว่าสืบเชื้อสายมาจากเทวดา
คือ องค์ปะตาระกาหลา กล่าวกันว่าวงศ์นี้มีพี่น้องสี่องค์ องค์พี่ครอง
เมืองกุเรปัน องค์ที่สองครองเมืองดาหา องค์ที่สามครองเมืองกาหลัง
และองค์ที่สี่ครองเมืองสิงหัดส่าหรี กษัตริย์วงศ์เทวามีอานุภาพยิ่งใหญ่
ด้วยยศศักดิ์ ถือตัวว่าเป็นชนชั้นสูงจึงอภิเษกกันเฉพาะในวงศ์พี่น้อง
นอกจากนี้ทั้งสี่เมืองเท่านั้นที่สามารถแต่งตั้งมเหสีได้ 5 องค์ ตาม
ลำดับตำแหน่ง คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู เหมาหราหงี
แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองหมันหยาซึ่งเป็นเมืองเล็กกว่า กล่าวคือ
เจ้าเมืองนี้มีราชธิดาสามองค์ องค์โตชื่อนิหลาอระตา ได้ไปเป็น
ประไหมสุหรีเมืองกุเรปัน องค์ที่สองชื่อ ดาหราวาตี ได้ไปเป็น
ประไหมสุหรีเมืองดาหา ส่วนองค์สุดท้องชื่อ จินดาส่าหรี ได้อภิเษก
กับโอรสท้าวมังกัน และได้ครองเมืองหมันหยา
ท้าวกุเรปันมีโอรสองค์แรกกับลิกู ชื่อว่า กะหรัดตะปาตี
ต่อมามีโอรสกับประไหมสุหรีเป็นหนุ่มรูปงามและเก่งกล้าสามารถมาก
ชื่อ อิเหนา หรือ ระเด่นมนตรี และมีราชธิดาชื่อวิยะดา ส่วนท้าวดาหา
มีราชธิดากับประไหมสุหรีชื่อ บุษบา และมีโอรสชื่อ สียะตรา บุษบา
มีอายุไล่เลี่ยกับอิเหนา ท้าวกุเรปันจึงหมั้นบุษบาให้กับอิเหนา และสียะตรา
ก็หมั้นหมายกันไว้กับวิยะดา
ส่วนระตูหมันหยากับประไหมสุหรีก็มีราชธิดาชื่อระเด่นจินตะหรา
อายุรุ่นราวคราวเดียวกับอิเหนา ท้าวสิงหัดส่าหรีกับประไหมสุหรีมีโอรส
ชื่อระเด่นสุหรานากง ราชธิดาชื่อระเด่นจินดาส่าหรี ท้าวกาหลังมีราชธิดา
ชื่อ ระเด่นสกาหนึ่งรัด ซึ่งเป็นคู่ตุนาหงันของสุหรานากง
เมื่อพระอัยยิกาที่เมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์
ท้าวกุเรปันมอบหมายให้อิเหนาไปร่วมพิธีถวายพระเพลิงพร้อมกับ
กะหรัดตะปาตี อิเหนาพบจินตะหราก็หลงรัก จนพิธีถวายพระเพลิง
เสร็จแล้วก็ยังไม่ยอมกลับกุเรปัน ท้าวกุเรปันจึงต้องอ้างว่าประไหมสุหรี
จะมีพระประสูติกาลให้กลับมาเป็นกำลัง ใจให้พระราชมารดา อิเหนา
จำใจต้องกลับมาประจวบกับพระราชมารดาประสูติ พระราชธิดาหน้าตา
น่ารัก นามว่า ระเด่นวิยะดา
อย่างไรก็ตามอิเหนายังหาทางกลับไปเมืองหมันหยาอีก
โดยอ้างว่าจะไปประพาสป่า แล้วปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ มิสารปันหยี
ระหว่างทางได้รบกับระตูบุศิหนา น้องชายสุดท้องของระตูปันจะรากัน
และระตูปักมาหงัน ปรากฏว่าระตูบุศสิหนาตายในที่รบ นางดรสาซึ่ง
เพิ่งเข้าพิธีอภิเษกกับระตูบุศสิหนาจึงกระโดดเข้ากองไฟตายตามพระสวามี
ส่วนระตูจะรากันและระตูปักมาหงันยอมแพ้และถวายพระธิดาและพระโอรส
ให้อิเหนา คือ นางสะการะวาตี นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา
เมื่ออิเหนาเข้าเมืองหมันหยาได้ก็ลักลอบเข้าหานางจินตะหรา แล้ว
ได้สองนางคือ นางสะการะวาตีและนางมาหยารัศมีเป็นชายา
และรับสังคามาระตาเป็นน้องชาย
ท้าวกุเรปันเรียกอิเหนากลับเมืองถึงสองครั้ง
พร้อมทั้งนัดวันอภิเษกระหว่างอิเหนากับบุษบา แต่อิเหนาไม่ยอมกลับ
สั่งความตัดรอดนางบุษบา ท้าวกุเรปันและท้าดาหาทราบเรื่องก็
ขัดเคืองพระทัย ท้าวดาหาถึงกับหลุดปากว่าถ้าใครมาขอบุษบาก้จะยกให้
ฝ่ายจรกา ระตูเมืองเล็กเมืองหนึ่ง และเป็นอนุชาของท้าวล่าส่ำ
(ท้าล่าส่ำผู้นี้มีธิดา คือ ระเด่นกุสุมา เป็นคู่หมั้นของสังคามาระตา)
จรกาเป็นชายรูปชั่วตัวดำ แต่อยากได้ชายารูปงาม จึงให้ช่วงวาด
ไปแอบวาดภาพราชธิดาของเมืองสิงหัดส่าหร คือ นางจินดาส่าหรี
ครั้นทราบข่าวว่านางบุษบาสวยงามมากจึงให้ช่างวาดแอบวาดภาพ
นางบุษบาอีก ช่างวาดแอบวาดภาพได้ 2 ภาพ คือ ตอนนางบุษบา
เพิ่งตื่นบรรทบและภาพที่แต่งองค์เต็มที่ ขณะเดินทางกลับ
องค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้รูปนางบุษบาที่ทรงเครื่องตกหายไป
จรกาได้เห็นภาพที่เพิ่งตื่นบรรทมเท่านั้นก็หลงใหลถึงกับสลบลงทันที
เมื่อจรกาได้ข่าวจากช่างวาดภาพว่าบุษบาร้างคู่ตุนาหงัน
จึงรีบให้ระตูล่าส่ำ พี่ชายมาสู่ขอบุษบา ท้าวดาหากำลังโกรธอิเหนาอยู่
แม้จะรู้ว่าจรการูปชั่ว ต่ำศักดิ์ แต่เมื่อพลั้งปากว่าใครมาขอก็จะยกให้
จึงจำใจยากนางบุษบาให้จรกาและกำหนดการวิวาห์ภายในสามเดือน
กล่าวถึงกษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง องค์พี่ครองเมืองกะหมังกุหนิง
มีพระโอรสชื่อวิหยาสะกำ องค์รองครองเมืองปาหยัง องค์สุดท้อง
ครองเมืองปะหมันสลัด
อยู่มหาวิหยาสะกำโอรสท้าวกะหมังกุหนิง
เสด็จประพาสป่าแล้วพบภาพวาดของนางบุษบาทรงเครื่องที่หายไป
ก็คลั่งไคล้หลงถึงกับสลบเช่นกัน ท้าวกะหมันกุหนิงรักและเห็นใจโอรสมาก
จึงให้คนไปสืบว่านางในภาพนั้นเป็นใครแล้วให้แต่งทูตไปขอ แต่ท้าวดาหา
มอบนางบุษบาให้จรกาแล้วจึงปฏิเสธไป เมื่อไม่สมหวังท้าวกะหมังกุหนิง
จึงยกทัพมาชิงนางบุษบา โดยแจ้งระตูปาหยังและระตูปะหมันน้องชาย
และหัวเมืองทั้งหลายยกทัพมาช่วยรบด้วย
ท้าวกุเรปันจึงเรียกตัวอิเหนาจากเมืองหมันหยามาช่วยท้าวดาหา
ทำศึกกับท้าวกะหมังกุหนิง อิเหนาเป็นฝ่ายมีชัยในศึกครั้งนี้ อิเหนาสังหาร
กะหมังกุหนิง สังคามาระตาสังหารวิหยาสะกำ ระตูปาหยังกับปะหมันยอมแพ้
ขอเป็นเมืองขึ้น เมื่อเสด็จศึกอิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา เมื่อได้พบกับนางบุษบา
ก็หลงรักทันที จึงหาทางขัดขวางพิธีอภิเษกโดยการลักพาตัวบุษบาไปซ่อน
ไว้ในถ้ำ องปะตาระกาหลากริ้วที่อิเหนาทำไม่ถูกต้อง จึงบันดาลให้เกิด
ลมหอบนางบุษบาไปจากอิเหนา อิเหนาและนางบุษบาต่างต้องเผชิญ
กับเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นเวลาหลายปีจึงได้กลับมาพบกัน


สำหรับชื่อเพลงทั้งหมด
ที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องอิเหนา
แม่หมูค้นคว้ามาได้ทั้งหมด 14 เพลงค่ะ

1.บุษบาในฝัน (ชรินทร์ นันทนาคร) 2.บุษบาเพ้อ (เพ็ญศรี-ดวงตา)
3.บุษบาแค้น (เลิศ-เพ็ญศรี-ดวงตา) 4.บุษบาอธิษฐาน (เพ็ญศรี-ดวงตา)
5.บุษบาเสี่ยงเทียน (วงจันทร์ ไพโรจน์) 6.เสี่ยงเทียน (มัณฑนา โมรากุล)
7.อิเหนารำพัน (ชรินทร์ นันทนาคร) 8.อิเหนารำพึง (ชรินทร์ นันทนาคร)
9.จรกาคลั่งรัก (สุเทพ วงศ์กำแหง) 10.จรกาแพ้รัก (โกมินทร์ นิลวงศ์)
11.เรียมละเมอ (ปรีชา บุญยเกียรติ) 12.ปฏิมาดำรัส (เลิศ-เพ็ญศรี)
13.มะเดหวีให้ความสัตย์ (เลิศ-เพ็ญศรี-ดวงตา)
14.อิเหนาโลม (เลิศ-เพ็ญศรี-ดวงตา)








ลิงค์บล้อกเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรม

▶1 บุษบาในฝัน::เพลงอิงวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนา ตอนที่ 1


▶2 บุษบาเสี่ยงเทียน/เสี่ยงเทียน :: เพลงอิงวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนา ตอนที่ 2


▶3 อิเหนารำพึง/อิเหนารำพัน:: เพลงอิงวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนา ตอนที่ 3


▶4 เนื้อเรื่องโดยย่อ::วรรณคดีเรื่องอิเหนา


▶5 กามนิต-วาสิฎฐี:: เพลงอิงวรรณคดีไทยเรื่อง กามนิต-วาสิฎฐี


▶6 เพลงชุดจุฬาตรีคูณ 5 เพลง:: เพลงอิงวรรณคดีไทยเรื่องจุฬาตรีคูณ


▶7 เพลงไทยที่ปรากฎอยู่ในวรรณกรรมเรื่อง เพชรพระอุมา


▶8 เพลงสากลที่ปรากฎอยู่ในวรรณกรรมเรื่อง เพชรพระอุมา


▶9 คำมั่นสัญญา เพลงที่มีคำร้องมาจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี


▶10 ศกุนตลา เพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจ มาจากวรรณคดีพระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว




+Bloggang :: jamaica+




Create Date : 05 มิถุนายน 2554
Last Update : 12 ตุลาคม 2556 11:24:57 น. 0 comments
Counter : 117338 Pageviews.

jamaica
Location :
1 Albania

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]





ฝากข้อความที่นี่ค่ะ^_^


++ Harmony of Life ++
ช่วงเวลาดีๆ และ....
ความรู้สึกดี ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ
เมื่อเรามีหัวใจจะสรรค์สร้าง
รู้สึกดีกับตัวเราเองรู้สึกดีกับสิ่งต่างๆ
กับใครๆรายรอบตัว......และ
แบ่งปันความรู้สึกที่ดีให้แก่กัน
ทุก ๆวัน ก็จะเต็มไปด้วยความสุข
และความรู้สึกดีๆ ค่ะ ^_^



"เปิดBlog 5 กรกฎาคม 2553"

ขอบคุณทุกๆกำลังใจที่มอบให้
jamaica's Blog นะคะ


BlogGang Popular Award # 6

BlogGang Popular Award # 7

BlogGang Popular Award # 7

BlogGang Popular Award # 8

BlogGang Popular Award # 8

BlogGang Popular Award # 9

BlogGang Popular Award # 9

BlogGang Popular Award # 9

BlogGang Popular Award #10
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
5 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add jamaica's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.