Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
4 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 2

ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 2 สอบซ่อม ภาค 1/2543

1. นายกล้าต้องการขายที่ดินแปลงหนึ่งให้กับนายแก้ว แต่เนื่องจากนายกล้ากับนายแก้วไม่ค่อยจะถูกกัน นายกล้าจึงมอบให้นายไก่ไปดำเนินการแทนให้ นายไก่ก็เข้าดำเนินการแทนให้นายกล้าจนการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวสำเร็จลุล่วงด้วยดี และเนื่องจากนายกล้าสัญญาว่าจะให้บำเหน็จแก่นายไก่จำนวนหนึ่งหากงานสำเร็จ นายไก่จึงทวงถามให้นายกล้าชำระเงินค่าบำเหน็จ แต่นายกล้าปฏิเสธโดยอ้างว่า การซื้อขายที่ดินกฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย เมื่อนายกล้ากับนายไก่ไม่ได้ตกลงการเป็นตัวแทนกันเป็นหนังสือ สัญญาตัวแทนจึงใช้ไม่ได้และไม่ผูกพันกัน ขอให้ท่านวินิจฉัยดังนี้
1) นายไก่เป็นตัวแทนนายกล้าหรือไม่ ในการเข้าทำการแทนนายกล้าเรื่องการขายที่ดินดังกล่าว
2) ข้ออ้างนายกล้ารับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 797 บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือ สัญญาซึ่งให้บุคคลหนึ่ง เรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยแต่งตั้งแสดงออกชัดหรือเป็นโดยปริยายก็ย่อมได้”
มาตรา 798 บัญญัติว่า “ กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย…”
วินิจฉัย
1.นายกล้าได้มอบหมายให้นายไก่ไปดำเนินการขายที่ดินของตน และนายไก่ก็เข้าทำการแทนนายกล้าจนการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวสำเร็จลุล่วง เช่นนี้เป็นการที่นายไก่ตกลงรับทำการแทนนายกล้าตัวการ นายไก่จึงเป็นตัวแทนนายกล้า ตามมาตรา 797 แห่ง ปพพ.
2.การที่นายกล้าอ้างว่าการซื้อขายที่ดิน กฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนก็ต้องทำเป็นหนังสือตามมาตรา 798 วรรคแรก ปพพ.นั้น เมื่อนายกล้ากับนายไก่ไม่ได้ตกลงทำการเป็นตัวแทนเป็นหนังสือ สัญญาตัวแทนจึงใช้ไม่ได้นั้น มาตรา 798 มิใช่แบบของสัญญาตัวแทน สัญญาตัวแทนไม่มีแบบแต่อย่างใด เมื่อคู่สัญญาตกลงกันแม้ด้วยวาจาสัญญาตัวแทนก็เกิดขึ้น ผูกพันนายไก่ตัวแทน กับนายกล้าตัวการ ตามมาตรา 797 ปพพ.แล้ว ข้ออ้างของนายกล้าจึงฟังไม่ขึ้น

2. นายชมทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินนางช้อยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 จำนวน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย กำหนดชำระภายใน 3 ปี นายชมมีปัญหาเรื่องเงินเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีจึงไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้นางช้อยติดต่อมาตั้งแต่เริ่มกู้ยืมเงินนางช้อย นางช้อยทวงถามให้นายชมชำระมาโดยตลอด แต่นายชมก็ไม่เคยชำระดอกเบี้ยเลย วันที่ 21 มกราคม 2541 นางช้อยจึงไปพบนายชมที่บ้านแล้วทำหนังสือสัญญาตกลงกันว่า นายชมยินยอมให้นางช้อยคิดดอกเบี้ยทบต้นในหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมด ต่อมานายชมไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 20 มกราคม 2543 ดังนี้นางช้อยจะทวงถามให้นายชมชำระดอกเบี้ยทบต้นในหนี้จำนวนดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 655 วรรคแรก “ห้ามท่านมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ”
ตามปัญหาการที่นางช้อยจะคิดดอกเบี้ยทบต้นในหนี้ที่นายชมค้างชำระมาตั้งแต่เริ่มกู้ยืมกันนั้นต้องห้ามตามกฎหมาย เพราะตาม ปพพ.มาตรา 655 นั้นมีหลักเกณฑ์ว่าดอกเบี้ยต้องค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญาจึงจะตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ แสดงว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระตั้งแต่กู้ยืมกันในปีแรกนั้นนางช้อยจะคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คู่สัญญาจะตกลงกันให้ดอกเบี้ยทบต้นได้ต่อเมื่อนายชมค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง ดังนั้นนางช้อยจะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ในปีที่สอง คือ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2541 เป็นต้นไป ส่วนในปีแรกต้องคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายคือร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปีโดยไม่ทบต้น
สรุป 1. นางช้อยคิดดอกเบี้ยทบต้นในปีแรกไม่ได้ คงคิดอัตราดอกเบี้ยได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี
2. นางช้อยคิดดอกเบี้ยทบต้นในปีที่สองเป็นต้นไปได้

3. นายสมทำสัญญาประกันภัยสินค้าในคลังสินค้าของตนกับบริษัท ทำดีประกันภัย จำกัด จำนวน 5 ล้านบาท โดยระบุในกรมธรรม์ประกันภัยยกประโยชน์ให้นายส่งบุตรชายของตนโดยให้นายส่งเป็นผู้เก็บกรมธรรม์ประกันภัยไว้ ปรากฏว่าหลังทำประกันภัยแล้ว 20 วัน น้ำได้ท่วมสินค้าในคลังสินค้าดังกล่าวเสียหายทั้งหมด นายส่งจึงได้แจ้งต่อบริษัท ทำดีประกันภัย จำกัดว่า ตนจะเข้าถือประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5 ล้านบาท จากบริษัทฯ บริษัท ทำดีประกันภัย จำกัด ได้ปฏิเสธสิทธิของนายส่งโดยอ้างว่า
1) นายส่งไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาประกันภัยฉบับดังกล่าว
2) นายส่งไม่ได้แสดงเจตนาต่อบริษัทฯ ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่แรกที่ทำสัญญากัน
ดังนี้ท่านเห็นว่าข้ออ้างของบริษัท ทำดีประกันภัย จำกัด ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 862 วรรคสาม บัญญัติว่า "คำว่า“ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงจะได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนใช้ให้
วรรคสี่ อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้"
มาตรา 374 บัญญัติว่า"ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากเจ้าหนี้โดยตรงได้
ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น"
1. ตามปัญหาการที่นายสมทำสัญญาประกันภัยสินค้าในคลังสินค้าของตนกับบริษัท ทำดีประกันภัย จำกัด โดยยกประโยชน์ให้แก่นายส่งนั้น นายส่งย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ ตามมาตรา 862 วรรคสาม และในกรณีดังกล่าวผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ มิใช่บุคคลเดียวกันตามมาตรา 862วรรคสี่
การที่บริษัท ทำดีประกันภัย จำกัด ปฏิเสธสิทธิของนายส่งว่านายส่งไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาฉบับดังกล่าว จึงไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ฟังไม่ขึ้น เพราะกรณีตามปัญหาของนายส่ง เรียกค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประโยชน์
2. การที่นายสมทำสัญญาประกันภัยยกประโยชน์ให้แก่นายส่งบุตรชาย เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกคือนายส่ง มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ คือ บริษัท ทำดีประกันภัย จำกัดโดยตรงได้ ตามมาตรา 374 วรรคแรก ปพพ. และการที่นายส่งได้แจ้งต่อบริษัทฯว่า จะเข้าถือประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย เมื่อน้ำได้ท่วมคลังสินค้าดังกล่าวเสียหายนั้น ถือว่าสิทธิของนายส่งได้เกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้คือบริษัท ทำดีประกันภัย จำกัดว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น แล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง ปพพ. บริษัทจะปฏิเสธสิทธิของนายส่งว่าไม่ได้แสดงเจตนาแก่บริษัทฯ ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่แรกที่ทำสัญญากัน ข้ออ้างของบริษัทฯ ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น

ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 2 ภาค 1/2542

1. นายทอง เป็นตัวแทนขายประกันให้กับบริษัท จงดี จำกัด ประกันภัย โดยมีข้อตกลงเรื่องบำเหน็จตัวแทนตามธรรมเนียมของธุรกิจประเภทนี้ เนื่องจากบริษัท จงดีจำกัดประกันภัยมีปัญหาด้านการเงิน จึงติดค้างค่าบำเหน็จแก่นายทองเป็นเงิน 30,000 บาท นายดำได้ทำสัญญาประกันชีวิตผ่านนายทองตัวแทนของบริษัท จงดีจำกัดประกันภัย และเมื่อครบกำหนดการชำระเบี้ยประกัน นายดำได้นำเงินจำนวน 25,000 บาท มาชำระให้กับนายทอง นายทองได้แจ้งบริษัทฯ ว่า ตนจำเป็นต้องยึดเงินจำนวนนี้ไว้ เพราะทางบริษัทฯไม่ยอมชำระค่าบำเหน็จที่ค้างอยู่ บริษัทฯก็ไม่ว่ากล่าวอะไรกับนายทอง แต่ได้มีหนังสือทวงถามนายดำให้ชำระเบี้ยประกัน ซึ่งนายดำก็ได้แจ้งบริษัทฯว่า ตนชำระแล้วผ่านทางตัวแทนคือนายทอง และได้ไปทวงเงิน 25,000 บาท ดังกล่าวจากนายทอง โดยโต้แย้งว่า นายทองไม่มีสิทธิยึดหน่วงไว้ เพราะเป็นเงินของนายดำมิใช่เงินของบริษัทฯ เช่นนี้
1) ท่านเห็นว่า เงินจำนวน 25,000 บาทนี้ เป็นทรัพย์สินของบริษัท จงดี จำกัดประกันภัยที่นางทองสามารถยึดหน่วงไว้ได้หรือไม่
2) นายดำต้องชำระเบี้ยประกันให้บริษัท จงดีจำกัดประกันภัยใหม่อีกหรือไม่ หากไม่สามารถจะเรียกคืนจากนายทองได้

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 819 บัญญัติว่า “ ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใด ๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน เพราะการเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน”
มาตรา 820 บัญญัติว่า “ ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอก ในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบเขตอำนาจแห่งฐานตัวแทน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายดำชำระเบี้ยประกันให้กับนายทอง กรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนนี้ได้ตกเป็นของบริษัท จงดีจำกัดประกันภัยแล้ว ดังนั้นนายทองจึงสามารถยึดหน่วงไว้ได้ เพราะเหตุที่บริษัทฯ ซึ่งเป็นตัวการได้ค้างชำระบำเหน็จตัวแทนแก่นายทอง
และเมื่อนายดำได้ชำระเบี้ยประกันให้กับตัวแทนของบริษัทฯ โดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว บริษัทฯ ในฐานะตัวการก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทนของตน กล่าวคือ ต้องถือว่านายดำชำระเบี้ยประกันให้บริษัทฯไปแล้ว จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกันใหม่แต่อย่างใด
สรุป 1. เงินจำนวน 25,000 บาท เป็นทรัพย์สินของทางบริษัทฯที่นายทองสามารถยึดเหนี่ยวไว้ได้
2. นายดำไม่ต้องชำระเบี้ยประกันให้กับบริษัทฯอีก

2. นายขาวกู้ยืมเงินนายเขียว 50,000 บาท โดยทำสัญญากู้ยืมเงินกันเป็นหนังสือมีกำหนดชำระภายใน 3 ปี ต่อมานายขาวได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ต่างจังหวัด เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้เงินกู้นายขาวไม่สะดวกจะเดินทางมาชำระหนี้เงินกู้ด้วยตนเอง จึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายเขียวที่ธนาคาร ไทยนคร โดยทางโทรเลข นายเขียวได้รับชำระหนี้ครบถ้วน แต่เห็นช่องว่างทางกฎหมายว่านายขาวไม่มีหลักฐานการใช้เงินแต่อย่างใด จึงฟ้องให้นายขาวใช้หนี้เงินกู้จำนวน 50,000 บาทอีก ดังนั้นนายขาวจะมีข้อต่อสู้นายเขียวเพื่อจะได้ไม่ต้องชำระหนี้ดังกล่าวอีกได้หรือไม่ เพียงใด

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรค 2 “ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”
มาตรา 321 “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป”
ตามปัญหาการกู้ยืมเงินระหว่างนายขาวและนายเขียวเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบการใช้เงินก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือได้มีการเวนคืนหลักฐานการกู้ยืมเงิน หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นตาม ปพพ. มาตรา 653 วรรค 2 จึงจะต่อสู้นายเขียวผู้ให้ยืมได้ แต่การที่นายขาวได้โอนเงินทางโทรเลขเข้าบัญชีเงินฝากของนายเขียวที่ธนาคาร ไทยนครนั้นถือเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ปพพ. มาตรา 321 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรค 2 เมื่อนายเขียวในฐานะเจ้าหนี้ได้ยอมรับแล้ว ถือว่านายขาวได้ชำระหนี้เงินกู้ให้นายเขียวแล้ว นายขาวจึงไม่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 653 วรรค 2 ดังนั้นนายขาวสามารถต่อสู้นายเขียวได้โดยไม่ต้องชำระหนี้ดังกล่าวอีก (ฎีกา 2965/2531)
3. นายไสวขับรถยนต์ชนรถของนายสนองเสียหาย บริษัท จักรินทร์ประกันภัย จำกัด ที่นายสนองทำประกันภัยรถยนต์ของตนไว้ได้ซ่อมแซมรถยนต์ของนายสนองเป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท บริษัทฯจึงฟ้องเรียกเงินจากนายไสวในฐานะละเมิด ดังนี้ บริษัทจักรินทร์ประกันภัย จำกัด มีสิทธิฟ้องได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสนองยังไม่ได้ยื่นฟ้องนายไสวแต่อย่างใด
แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 880 “ ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น”
กรณีตามปัญหา เมื่อบริษัท จักรินทร์ประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันได้ซ่อมรถยนต์ให้แก่นายสนองผู้เสียหายแล้ว ย่อมถือว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยตามกฎหมาย จึงฟ้องเรียกเงินจากนายไสวในฐานละเมิดได้เป็นจำนวน 100,000 บาท แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสนองยังไม่ได้ยื่นฟ้องนายไสวแต่อย่างใด (ฎีกา 1006/2503)

ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 2 ภาค 1/2541

1.สมทรงเป็นเจ้าของร้านขายข้าวสาร แต่งตั้งสมหญิงเป็นตัวแทนทำหน้าที่ผู้จัดการร้าน โดนมีคำสั่งให้สมหญิงขายข้าวสารให้แก่ลูกค้าเงินสดเท่านั้น สมนึกเป็นเพื่อนสนิทของสมหญิงได้มาขอซื้อข้าวสารจากร้านด้วยเงินเขื่อจำนวน 5,000 บาท และสมหญิงก็ได้ขายให้สมนึกไป ต่อมาถึงกำหนดชำระหนี้ สมทรงได้ทำหนังสือทวงถามค่าข้าวสารจากสมนึก แต่สมนึกก็ไม่ยอมชำระให้ สมทรงจึงเรียกร้องเอาจากสมหญิง ดังนี้ สมหญิงจะมีข้อต่อสู้เพื่อขอไม่รับผิดต่อสมทรงอย่างไรบ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 812 บัญญัติว่า “ ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด”
มาตรา 823 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งอันปราศจากอำนาจก็ดีหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น…”
ตามปัญหา การที่สมหญิงขายข้าวสารแก่สมนึกด้วยเงินเชื่อไปนั้น เป็นการที่ตัวแทนกระทำการโดยนอกเหนือขอบอำนาจ เนื่องจากสมทรงตัวการได้ให้ขายข้าวสารแก่ลูกค้าด้วยเงินสดเท่านั้น ต่อมาเมื่อสมทรงตัวการได้ทำหนังสือทวงถามค่าข้าวสารจากสมนึกนั้นย่อมเป็นการให้สัตยาบันแก่การที่สมหญิงตัวแทนทำการนอกเหนือขอบอำนาจ เป็นผลให้การซื้อขายข้าวสารด้วยเงินเชื่อนั้นผูกพันสมทรงตัวการ ตาม ปพพ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามไม่เป็นผลให้สมหญิงตัวแทนหลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อสมทรงตัวการอันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าวที่ทำให้สมทรงตัวการได้รับความเสียหายจากการที่ไม่ได้รับชำระหนี้จากสมนึกเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท ตาม ปพพ. มาตรา 812 ดังนั้นสมหญิงจึงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อสมทรง (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1611/2512,1394/2526)
สรุป สมหญิงไม่มีข้อต่อสู้ใดเพื่อไม่ขอรับผิดต่อสมทรง

2. สุนันท์ทำหนังสือกู้ยืมเงินสุนัยไป 800,000 บาทโดยตกลงให้มีการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อเดือน เมื่อสุนันท์ไม่ชำระหนี้เงินกู้สุนัยจึงมีจดหมายทวงถามให้ชำระหนี้ สุนันท์ตอบจดหมายว่าไม่เคยกู้ยืมเงินสุนัยไปและลงชื่อสุนันท์ในจดหมาย ดังนั้น สุนัยจะฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จำนวน 800,000 บาท และเรียกดอกเบี้ยจากสุนันท์ได้หรือไม่ เพียงใด

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่…”
มาตรา 654 บัญญัติว่า”ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”
ตามปัญหา สุนัยฟ้องเรียกต้นเงิน 800,000 บาทจากสุนันท์ได้ เนื่องจากการกู้ยืมรายนี้ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมเงิน คือ สัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือไว้ ส่วนการที่สุนันท์ตอบจดหมายว่าไม่เคยกู้เงินสุนัยไป ก็ไม่มีผลให้สัญญากู้ยืมเงินที่ทำไว้เสียหายไปแต่อย่างไร สุนัยจึงสามารถฟ้องร้องเรียกต้นเงินจากสุนันท์ได้
ส่วนดอกเบี้ยที่คิดในอัตราร้อยละ 18 ต่อเดือนนั้น เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 654 ดอกเบี้ยตามสัญญาจึงเป็นโมฆะทั้งหมด ดังนั้น ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยจึงเรียกไม่ได้ แต่สุนัยสามารถเรียกดอกเบี้ยได้ร้อยละ 7ครึ่งต่อปี นับตั้งแต่ผิดนัดเป็นต้นไปตามมาตรา 224
สรุป สุนัยฟ้องเรียกเงินกู้จำนวน 800,000 บาทได้ และเรียกดอกเบี้ยจากสุนันท์นับตั้งแต่วันที่ผิดนัดได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี

3. สายัณห์เข้าใจว่าบ้านของตนมีราคา 5,000,000 บาท จึงได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยบ้านไว้กับบริษัทยามเย็นประกันภัย เป็นจำนวน 5,000,000 บาท ต่อมาบ้านถูกไฟไหม้ สายัณห์เรียกร้องให้บริษัทยามเย็นฯ ชดใช้ค่าสินไหม จำนวน 5,000,000 บาท ให้แก่ตน ดังนี้ บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินจำนวน 5,000 ,000 บาท ตามที่สายัณห์ได้ทำสัญญาไว้หรือไม่ ถ้าหากบริษัทฯ พิสูจน์ได้ว่าบ้านของสายัณห์มีราคาเพียง 2,000,000 บาท เท่านั้น และสายัณห์มีสิทธิเรียกร้องบริษัทอย่างไรบ้าง

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 874 บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนค่าสินไหมทดแทน ก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้นั้นเป็นจำนวนสูงเกินไปหนัก และคืนจำนวนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนกับทั้งดอกเบี้ยด้วย”
ตามปัญหา การเอาประกันภัยมากกว่าส่วนได้เสียที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่ ไม่มีผลกระทบถึงความสมบูรณ์ของสัญญาประกันแต่อย่างใด ตราบที่ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยแล้วสัญญาย่อมผูกพันกันตามมาตรา 863
ตามที่สายัณห์ทำสัญญาประกันภัยบ้านไว้จำนวน 5 ล้านบาทโดยเข้าใจว่าบ้านของตนมีราคา 5 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเมื่อบริษัทฯ พิสูจน์ได้ว่าราคาบ้านที่เอาประกันภัยเป็นจำนวนสูงเกินไปหนักคือราคาเพียง 2 ล้านบาท บริษัทก็สามารถลดจำนวนค่าสินไหมได้ และคืนจำนวนเบี้ยประกันภัยให้กับสายัณห์ตามส่วนกับทั้งดอกเบี้ย
ดังนั้นสายัณห์มีสิทธิให้บริษัทฯ คืนเบี้ยประกันให้ตนตามส่วนพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามมาตรา 874

ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 2 สอบซ่อม ภาค 1/2540

1. สำลีเป็นเจ้าของร้านขายอะไหล่รถยนต์ มอบหมายให้สำรวยเป็นผู้จัดการร้านและอนุญาตให้สำรวยตั้งสำนวนเป็นตัวแทนช่วงได้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่สำลีไปทำธุรกิจต่างจังหวัด สำรวยจึงตั้งสำนวนและสำคัญเป็นตัวแทนช่วง โดยที่สำรวยทราบดีว่าสำนวนเคยถูกศาลพิพากษาให้จำคุกในคดีความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์มาหลายครั้งแล้วไม่แจ้งให้สำลีทราบ ปรากฏว่าต่อมาสำนวนได้ยักยอกเงินของร้านไปเป็นจำนวน 5,000 บาท ดังนี้ การตั้งตัวแทนช่วงของนายสำรวยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และสำลีจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายดังกล่าวจากสำรวยได้หรือไม่ อย่างไร

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 797 บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือ สัญญาซึ่งให้บุคคลหนึ่ง เรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยแต่งตั้งแสดงออกชัดหรือเป็นโดยปริยายก็ย่อมได้”
มาตรา 808 บัญญัติว่า “ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วงทำการได้”
มาตรา 813 บัญญัติว่า “ตัวแทนผู้ใดตั้งตัวแทนช่วงตามที่ตัวการระบุให้ตั้ง ท่านว่าตัวแทนผู้นั้นจะต้องรับผิดเพียงแต่ในกรณีที่ตนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงนั้นเป็นผู้ที่ไม่เหมาะแก่การหรือเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจแล้วและมิได้แจ้งความนั้นให้ตัวการทราบหรือมิได้เลิกถอนตัวแทนช่วงนั้นเสียเอง”
ตามปัญหา สำรวยผู้จัดการร้านอะไหล่รถยนต์มีอำนาจกระทำการแทนสำลีจึงเป็นตัวแทนของสำลีตาม ปพพ. มาตรา 797 สำรวยจะตั้งสำนวนและสำคัญเป็นตัวแทนช่วง ซึ่งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำลีตัวการอนุญาตให้ตั้งสำนวนเป็นตัวแทนช่วงได้ แต่หาได้อนุญาตให้ตั้งสำคัญเป็นตัวแทนช่วงด้วยไม่ ดังนั้นสำรวยตัวแทนจึงตั้งสำนวนเป็นตัวแทนช่วงได้ แต่จะตั้งสำคัญเป็นตัวแทนช่วงไม่ได้ ตาม ปพพ. มาตรา 808
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสำรวยตัวแทนทราบว่าสำนวนเคยถูกศาลพิพากษาให้จำคุกในคดีความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์มาหลายครั้งแล้วและไม่แจ้งให้สำลีตัวการทราบถึงการที่สำนวนตัวแทนช่วงซึ่งสำลีตัวการอนุญาตให้ตั้งนั้นเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจ แล้วต่อมาปรากฏว่าสำนวนตัวแทนช่วงได้ยักยอกเงินของร้านไปจำนวน 5,000 บาท เช่นนี้สำรวยตัวแทนจึงต้องรับผิดต่อสำลีตัวการในกรณีดังกล่าวตาม ปพพ. มาตรา 813
สรุป 1. การแต่งตั้งสำนวนเป็นตัวแทนช่วงของสำรวยชอบด้วยกฎหมาย แต่การแต่งตั้งสำคัญเป็นตัวแทนช่วงของสำรวยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ปพพ. มาตรา 808
2.สำลีตัวการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายดังกล่าวได้จากสำรวยตัวแทนได้ตามปพพ. มาตรา 813

2. ตาสอนกู้เงินยายมา จำนวน 40 บาท โดยทำสัญญาเงินกู้กันเป็นหนังสือมอบให้ยายมาเก็บรักษาไว้ ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ตาสอนได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่ยายมา โดยมีตาสินเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ขอสัญญากู้คืน ไม่ได้แทงเพิกถอนในสัญญากู้และไม่ได้ทำหลักฐานการชำระเงินกันเป็นหนังสือแต่อย่างไร ต่อมาตาสอนได้รับหนังสือทวงถามจากทนายความของยายมาให้ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ดังกล่าว มิฉะนั้นจะฟ้องศาล ดังนี้ หากตาสอนมาปรึกษาท่านในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ท่านจะให้คำปรึกษาอย่างไร

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรค 2 “ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”
ตามปัญหา การกู้ยืมเงินระหว่างตาสอนกับยายมาได้ทำสัญญากู้ยืมกันเป็นหนังสือ ซึ่งสัญญากู้ยืมดังกล่าวนั้นก็เป็นหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้นการนำสืบการใช้เงินก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือได้เวนคืนสัญญากู้ยืมเงินนั้นแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในสัญญากู้ยืมดังกล่าวแล้วนั้นตาม ปพพ. มาตรา 653 วรรคสอง แม้ว่าจำนวนเงินที่กู้ยืมจะไม่เกินกว่า 50 บาทก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าตาสอนได้ไปชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่ยายมาโดยมิได้ขอสัญญากู้ยืมคืน ไม่ได้แทงเพิกถอนในสัญญากู้ยืมนั้นและไม่ได้ทำสัญญาการชำระเงินกันเป็นหนังสือแต่อย่างใด คงมีตาสินเป็นผู้เห็นเหตุการณ์เท่านั้น เช่นนี้แล้ว ตาสอนจะนำสืบการใช้เงินดังกล่าวไม่ได้
สรุป ข้าพเจ้าในฐานะนักกฎหมายจะให้คำปรึกษาแก่ตาสอนว่าตาสอนจะนำตาสินซึ่งเป็นพยานบุคคลมาสืบถึงการใช้เงินในจำนวนดังกล่าวมิได้ ตาม ปพพ. มาตรา 653 วรรคสอง และจะต้องชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่ยายมา มิฉะนั้นจะถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาล

3. สันต์เป็นโรคถุงลมโป่งพองรักษาไม่หายขาด แต่ได้แจ้งกับแพทย์ของบริษัทส่องแสงประกันชีวิตจำกัด ว่าไม่เคยเป็นโรคใด ๆ มาก่อน เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายสันต์แล้ว เห็นว่ามีสุขภาพปกติ จึงรายงานต่อบริษัทส่องแสงว่าควรรับประกันชีวิต บริษัทฯจึงตกลงรับประกันชีวิตสันต์โดยพิจารณาจากความเห็นแพทย์กับคำขอเอาประกันชีวิต ต่อมาบริษัทฯทราบว่าสันต์เป็นโรคถุงลมโป่งพอง จึงบอกล้างโมฆียะดังกล่าว สันต์อ้างว่าบริษัทฯประมาทเลินเล่อในการรับประกันภัยจะบอกล้างโมฆียะกรรมไม่ได้ ดังนี้ ท่านเห็นว่าข้อต่อสู้ของสันต์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 865 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือรู้อยู่แล้วว่าแถลงข้อความอันเป็นเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ”
มาตรา 866 บัญญัติว่า “ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดั่งกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดี หรือรู้อยู่แล้วว่าข้อแถลงเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดั่งพึงจะคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์”
ตามปัญหา การที่สันต์เป็นโรคถุงลมโป่งพองเรื้อรังรักษาไม่หาย แจ้งต่อแพทย์ของบริษัทฯว่าไม่เคยเป็นโรคใด ๆ มาก่อนการตรวจร่างกายในการขอเข้าทำประกันภัย ถือว่า สันต์ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับโรคที่เป็น ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญที่บริษัทต้องทราบเพื่อจะนำไปประกอบการวินิจฉัยว่าจะรับประกันชีวิตผู้เอาประกันหรือไม่ สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆียะตามาตรา 865
การที่สันต์อ้างว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของแพทย์ผู้ตรวจที่ไม่ตรวจร่างกายให้ละเอียด สัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์นั้นไม่ได้ มาตรา 866 เพราะการตรวจโรคถุงลมโป่งพองโดยวิธีธรรมดาจะทำได้ยากนอกจากฉายเอ็กซ์เรย์หรือใช้สีฉีดเข้าไปในปอดแล้วฉายเอ็กซ์เรย์ แต่เมื่อสันต์ปกปิดมิได้แจ้งเรื่องที่เจ็บป่วยให้แพทย์ผู้ตรวจสุขภาพทราบ ก็ไม่มีเหตุที่แพทย์จะต้องฉายเอ็กซ์เรย์เพื่อตรวจถุงลมของสันต์ การที่บริษัทประกันภัยโดยพิจารณาจากรายงานของแพทย์ประกอบกับคำขอเอาประกันชีวิต จะฟังว่าบริษัทประมาทเลินเล่อไม่ได้เพราะหน้าที่เปิดเผยความจริงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิต
สรุป ข้อต่อสู้ของสันต์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 2 สอบซ่อม ภาค 2/2540

1. นายจันทร์ตั้งนายพุธเป็นตัวแทนทำหน้าที่จัดการผลประโยชน์ของนายจันทร์โดยไม่มีบำเหน็จ และให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงได้ นายพุธได้ตั้งนายศุกร์เป็นตัวแทนช่วงให้ไปเก็บเงินค่าเช่าจากนางอังคารลูกหนี้ของนายจันทร์ ซึ่งโดยปกตินายพุธก็เคยใช้นายศุกร์ไปเก็บเงินในกิจการส่วนตัวของนายพุธเสมอมา ปรากฏว่าเมื่อนายศุกร์เก็บเงินจากนางอังคารได้แล้วไม่ยอมส่งมอบให้แก่นายพุธและได้หลบหน้าไป ดังนี้
ก.ใครมีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืนจากนายศุกร์ได้บ้าง
ข. นายจันทร์จะฟ้องเรียกเงินจากนายพุธโดยอ้างว่านายพุธตั้งตัวแทนช่วงโดยประมาทเลินเล่อได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 807 บัญญัติว่า “ตัวแทนต้องทำการตามคำสั่งแสดงออกชัดแจ้งหรือโดยปริยายของตัวการ เมื่อไม่มีคำสั่งเช่นนั้น ก็ต้องดำเนินตามทางที่เคยทำกันมาในกิจการค้าขายอันเขาให้ตนทำอยู่นั้น
อนึ่งบทบัญญัติมาตรา 659 ว่าด้วยการฝากทรัพย์นั้น ท่านให้นำมาใช้โดยอนุโลมตามควร”
มาตรา 814 บัญญัติว่า “ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น”
ตามปัญหา ก. นายพุธมีอำนาจตั้งนายศุกร์เป็นตัวแทนได้ตามที่นายจันทร์ได้ให้อำนาจไว้ ดังนั้นนายจันทร์ตัวการเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืนจากนายศุกร์ตัวแทนช่วง เพราะตัวแทนช่วงย่อมต้องรับผิดต่อตังการโดยตรงตามปพพ.มาตรา 814
ข.นายพุธเป็นตัวแทนไม่มีบำเหน็จ ดังนั้นความระมัดระวังในการจัดทำกิจการย่อมใช้ในระดับตนเองเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตัวเอง ตาม ปพพ. มาตรา 807 ที่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องฝากทรัพย์มาใช้บังคับ ซึ่งโดยปกติแล้วนายพุธก็เคยใช้นายศุกร์ให้ไปเก็บเงินในกิจการของตนเองเสมอมา ดังนั้นการที่นายพุธตั้งนายศุกร์เป็นตัวแทนช่วงไปเก็บเงินจากนางอังคารจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนตามกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ดังนั้นนายพุธไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจันทร์
นายจันทร์จึงฟ้องเรียกเงินจากนายพุธไม่ได้

2. สมหมายกู้ยืมเงินนายสมบูรณ์จำนวน 400,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 15 % ต่อปี โดยมีข้อสัญญาเป็นหนังสือว่าให้ผู้กู้ส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเดือนใด ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ดอกเบี้ยค้างชำระถึง 1 ปี ดังนั้นเมื่อสมหมายไม่ได้ผ่อนชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินกัน สมบูรณ์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระในช่วง 6 เดือน ดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 655 วรรคแรก “ห้ามท่านมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ”
ตามปัญหา สัญญากู้ที่ตกลงให้ส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเดือนใด ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่งก่อนนั้น ฝ่าฝืนมาตรา 655 วรรคแรก จึงเป็นโมฆะ ดังนั้นสมบูรณ์ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยทบต้นในช่วง 6 เดือน ที่สมหมายค้างชำระได้ เนื่องจากดอกเบี้ยค้างชำระน้อยกว่า 1 ปี แม้จะมีการตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นหนังสือก็ตาม

3. เทพทำสัญญาประกันวินาศภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทเพียงฟ้าจำกัดในวงเงิน 500,000 บาท ต่อมาเซียนคนขับรถของเทพขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของนางฟ้าเสียหายทั้งคัน นางฟ้าจึงเรียกร้องให้บริษัทเพียงฟ้าจำกัด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนจำนวน 800,000 บาท เช่นนี้
1. บริษัทเพียงฟ้า จำกัด จะไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่นางฟ้าโดยอ้างว่านางฟ้าต้องไปเรียกร้องเอาจากเทพผู้เอาประกันภัยก่อน
2. หากกรณีดังกล่าว นางฟ้าฟ้องบริษัทเพียงฟ้า โดยเรียกเทพเข้ามาในคดีด้วย และศาลได้พิพากษาให้บริษัทเพียงฟ้า จำกัดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางฟ้าเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท แล้ว ส่วนอีก 300,000 บาท บริษัทเพียงฟ้าจำกัด จะให้นางฟ้าไปเรียกร้องเอาจากเทพผู้เอาประกันเอง
ดังนี้ ท่านเห็นว่าบริษัทเพียงฟ้า จำกัด จะกระทำได้เพียงใด เพราะเหตุใด

แนวตอบ
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 887 บัญญัติว่า “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันเพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ
บุคคลผู้เสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันโดยตรงแต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
มาตรา 888 บัญญัติว่า “ถ้าค่าสินไหมทดแทนอันผู้รับประกันภัยได้ใช้ไปโดยคำพิพากษานั้นยังไม่ได้คุ้มค่าวินาศภัยเต็มจำนวนไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยก็ยังคงต้องรับใช้ตามจำนวนที่ยังขาด เว้นไว้แต่บุคคลผู้ต้องเสียหายจะได้ละเลยเสียไม่เรียกเอาตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วยดังกล่าวไว้ในมาตราก่อน”
วินิจฉัย (ผู้พิมพ์วินิจฉัยเอง เพราะข้อสอบช่วงนี้ขาดหายไป ผู้อ่านกรุณาตรวจสอบความถูกต้องด้วย)
1. ตามปัญหา การที่บริษัทเพียงฟ้า จำกัด จะไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางฟ้าโดยอ้างว่า ต้องไปเรียกร้องเอาเทพผู้เอาประกันภัยก่อนนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อบุคคลภายนอกมีความสัมพันธ์สืบเนื่องมาขากความรับผิดของผู้เอาประกัน และถือว่าเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งเป็นสัญญาเพื่อบุคคลภายนอกโดยผลของกฎหมาย บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายจึงสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้โดยตรง ตาม ปพพ.มาตรา 887 วรรคสอง
สรุป บริษัทเพียงฟ้า จำกัดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้นางฟ้าโดยไม่ต้องให้นางฟ้าไปเรียกร้องเอาจากดุสิตผู้เอาประกันภัยก่อน
2. ตามปัญหาการที่ ศาลพิพากษาให้บริษัทเพียงฟ้า จำกัด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางฟ้าเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท แล้ว ส่วนอีก 300,000 บาทบริษัทเพียงฟ้า จำกัด จะให้นางฟ้าไปเรียกร้องเอาจากเทพผู้เอาประกันภัยเอง นั้นชอบด้วยกฎหมาย ปพพ.มาตรา 888 เนื่องจากเทพทำสัญญาประกันภัยไว้กับทางบริษัทฯในวงเงิน 500,000 บาท
ดังนั้น บริษัทเพียงฟ้า จำกัด จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางฟ้าเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท และเนื่องจากนางฟ้าเรียกเทพเข้ามาในคดีด้วย จึงสามารถเรียกค่าสินไหมที่ยังไม่ครบตามจำนวนที่เสียหายจริง คือ อีก 300,000 บาทได้จากเทพ ตามปพพ.มาตรา 887 และ 888


ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 2

1. นาย ก ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร ในวงเงิน 200,000 บาท โดยธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 และธนาคารคิดดอกเบี้ยทบต้นมาตั้งแต่เริ่มต้น ต่อมานาย ก. เสียชีวิต และมีหนี้ค้างชำระกับธนาคาร 150,000 บาท ถามว่าธนาคารจะเรียกเก็บหนี้ค้างชำระ 150,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยทบต้นจากทายาทของนาย ก. ได้หรือไม่

ตอบ
อ้างหลักกฎหมาย ม 655 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อ
ดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้
คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่

เนื่องจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft) เป็นสัญญาที่มีลักษณะเดียวกับสัญญากู้ยืมเงิน โดยเป็นสัญญาซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญากู้ยืมเงินบวกด้วยสัญญาบัญชีเดินสะพัด และมีการตัดทอนบัญชีหนี้ระหว่างกันตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ดังนั้น การที่ธนาคารคิดดอกเบี้ยทบต้นกับบัญชีของนาย ก. ก็สามารถทำได้ เป็นข้อยกเว้นการห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น ตามมาตรา 655 วรรค 2 ดังนั้นสรุปได้ว่า ธนาคารสามารถเรียกเก็บหนี้ค้างชำระ 150,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยทบต้นจากทายาทของนาย ก. ได้

2. นาย ก มอบหมายให้นาย ข เป็นตัวแทนไปขายรถให้นาย ค ก่อนส่งมอบรถ รถของนาย ก เกิดชำรุด นาย ข จึงนำรถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมกับ นาย ง และนาย ข ออกค่าซ่อมรถเป็นเงิน 20,000 บาทไปก่อน นาย ข จะเรียกเก็บค่าซ่อม พร้อมทั้งดอกเบี้ย จากนาย ก ได้หรือไม่ โดยนาย ก อ้างว่า นาย ข ไม่แจ้งให้ตนทราบก่อนที่จะนำรถไปซ่อม

ตอบ
อ้างหลักกฎหมาย มาตรา 800 ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป
และมาตรา 816 ถ้า ในการจัดทำกิจการ อันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงินทดรอง หรือ ออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุ ควรนับว่า เป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่า ตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้ จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ย นับแต่วันที่ ได้ออกเงินไปนั้นด้วย ก็ได้
ถ้า ในการจัดทำกิจการ อันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนต้องรับภาระ เป็นหนี้ขึ้น อย่างใดหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุ ควรนับว่า เป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่า ตัวแทนจะเรียกให้ตัวการ ชำระหนี้แทนตน ก็ได้ หรือถ้า ยังไม่ถึงเวลา กำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการ ให้ประกันอันสมควร ก็ได้
ถ้า ในการจัดทำกิจการ อันเขามอบหมายแก่ตนนั้น เป็นเหตุให้ตัวแทน ต้องเสียหาย อย่างหนึ่งอย่างใด มิใช่เป็นเพราะ ความผิดของตนเองไซร้ ท่านว่า ตัวแทน จะเรียกเอาเงิน ค่าสินไหมทดแทน จากตัวการ ก็ได้

นาย ข ตัวแทนได้รับมอบหมายจาก นาย ก. ตัวการ ให้ไปทำการขายรถ แต่ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเกิดชำรุด นาย ข. จึงจำต้องนำรถยนต์ไปซ่อม ซึ่งเป็นการทำในสิ่งที่จำเป็นตามมาตรา 800 เพื่อให้บรรลุการที่ตัวการได้มอบหมาย อีกทั้ง นาย ข. ยังได้ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ตามเหตุ ควรนับได้ว่า เป็นการจำเป็นและตามสมควร เพราะหากไม่นำรถไปซ่อมก่อน ก็คงจะไม่สามารถนำรถไปขายให้กับ นาย ค. ได้ ดังนั้น การออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถ ย่อมเข้าตามหลักกฎหมายมาตรา 816 จึงสามารถเรียกให้ตัวการ คือนาย ก. ชดใช้เงินค่าซ่อม 20,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกค่าซ่อมได้ด้วย

3. นายชิวทำประกันรถยนต์ กับบริษัทรักษ์ทรัพย์ จำกัด โดยปิดบังข้อเท็จจริงว่ารถยนต์คันดังกล่าวเคยโดนชน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ต่อมาบริษัทรักษ์ทรัพย์รู้โดยบังเอิญว่า นายชิวปิดบังข้อเท็จจริงดังว่าในวันที่ 1 กันยายน 2548 แต่ก็มิได้ทำประการใด เวลาล่วงเลยจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2548 รถยนต์ของนายชิวถูกชนจากรถคันอื่น และต้องเข้าอู่ซ่อมเสียค่าใช้จ่าย 30,000 บาท ถามว่าบริษัทรักษ์ทรัพย์ต้องรับผิดเสียค่าสินไหมทดแทนหรือไม่

ตอบ
อ้างหลักกฎหมาย มาตรา 861 อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัย หากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญาและใน การนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย
และ มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือ ให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็น ความเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับ ประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายใน กำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

การที่นายชิวปิดบังข้อความจริง ในเรื่องที่รถยนต์คันดังกล่าวเคยโดนชนมาก่อน ซึ่งเป็นข้อความจริงที่อาจจะได้จูงใจให้บริษัทรักษ์ทรัพย์จำกัด เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรืออาจบอกปัดไม่รับทำประกันภัยกับนายชิว ส่งผลให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะ อย่างไรก็ตาม ภายหลังบริษัทรักษ์ทรัพย์ ได้ทราบข้อมูลอันจะบอกล้างสัญญาประกันภัยดังกล่าวได้ แต่มิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในเวลา 1 เดือนตามหลักกฎหมายมาตรา 865 วรรคสอง ทำให้สิทธิในการบอกล้างเป็นอันระงับสิ้นไป และสัญญาประกันภัยสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อเกิดความวินาศขึ้นกับรถยนต์ของนายชิวในภายหลัง บริษัทรักษ์ทรัพย์จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายชิวตามหลักของสัญญาประกันภัยมาตรา 861 ที่อ้างข้างต้น



อยากให้คนไทย รักกัน รักกันนะ




Create Date : 04 ธันวาคม 2550
Last Update : 4 ธันวาคม 2550 0:11:12 น. 1 comments
Counter : 11723 Pageviews.

 


โดย: peter125 (steven1064 ) วันที่: 2 มกราคม 2555 เวลา:2:05:50 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

chantra_aor
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add chantra_aor's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.