รู้จักกันก่อนและสมุดเยี่ยม Guestbook เฟซบุ๊ค ชะเอมหวาน รวมเวปหาทุนและแหล่งทุน Scholarship เรียนโทสองประเทศในปีเดียว
หาตัวเองให้เจอ
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
หลักการเขียนโคลง(สี่สุภาพ) ที่โรงเรียนไม่ได้สอน



ีเมื่อวานได้ไปอ่านเฟซบุ๊คของพี่สาวท่านหนึ่ง เป็นเพื่อนกับคุณพ่อ
เอมหวานยังไม่เคยเห็นตัวจริง ได้แต่สนทนาผ่านเฟซบุ๊ค
ท่านเป็นกวีหญิง ที่เรียกตัวเองว่ากวิณี เพราะท่า่นเก่งทางโคลงสี่สุภาพมากๆ
เรียกว่า "พี่เพ็ญ" หรือ ดร.เพ็ญ ภคตะ

รู้จักกวีคนเก่งท่านนี้เพิ่มเติมได้ที่บล็อกท่านเลยค่ะ
//penpakata.blogspot.com/
//ittheehathai.blogspot.com/

.....
เข้าเรื่องดีกว่า
จากการไปโฉบเฟซบุ๊คพี่เพ็ญคนสวยใจดี เลยได้ความรู้ทางการแต่งโคลง
(สุดยอดความยากของกวีนิพนธ์อีกประเภทหนึ่งสำหรับเรา)
แต่พี่เพ็ญสามารถเลือกคำมาถ่ายทอดได้เห็นภาพมากๆ
และตัวอย่างนี้เรียบเรียงขึ้นในหัวข้อ

"ทางโคลง เคล็ดที่ไม่ลับ (เรียบเรียงจากประสบการณ์ตรงของกวิณี)"

นักเรียนทุกคนพร้อมแล้วก็เริ่มเรียนกันเลยค่ะ


1 โคลงคือความอลังการ

ถาม ว่าโคลงมีความไพเราะกว่าคำประพันธ์ประเภทอื่นไหม

คำตอบอาจไม่ใช่เสมอไป

เพราะคำประพันธ์ทุกประเภทต่างก็มีความไพเราะอยู่ในตัวของมันเอง

แต่หากถามว่าคำประพันธ์ประเภทใดที่มีความสง่างดงามอลังการมากที่สุด

คำตอบย่อมหนีไม่พ้น “โคลง”

ฉะนั้นเมื่อเริ่มต้นจรดปากกาเขียนโคลง ต้องคำนึงถึงการเลือกเนื้อหาและถ้อยคำที่ค่อนข้างอลังการ มิใช่เรื่องดาดๆ ถ้อยคำดื่นๆ เปรียบไปก็คล้ายกับหญิงสาวสองคนที่มีความสวยทัดเทียมกัน หากคนหนึ่งแต่งกายด้วยเสื้อยืดกระโปรงธรรมดา ก็ย่อมสง่าชวนพิศน้อยกว่าหญิงสาวที่สวมชุดไทยโบราณ ดูขลัง เท่ คลาสสิก

ตัวอย่างบทกวีเนื้อหาเดียวกันแต่ใช้ฉันทลักษณ์ต่างรส ระหว่างกาพย์กับโคลง โปรดสังเกตความอลังการที่เหนือชั้นของโคลง



ลอยคว้างกลางทุ่งอ้อ ดวงแดดทอทอดรุ้งธาร

ขุนเขาคลอขับขาน แพบรรสานเพลงสิขริน



ลอยคว้างกลางทุ่งอ้อ ชลธาร

ดวงแดดทอทัศน์สถาน ทอดรุ้ง

ขุนเขาร่วมขับขาน เพลงพฤกษ์

แพเคลื่อนหว่างโค้งคุ้ง สิขริน




2 โคลงมีเสียงสะอื้นอิดเอื้อนเร้าอารมณ์

กฎ เหล็กของ “เอกเจ็ด - โทสี่” ในคำโคลงนี่เองที่ช่วยเอื้อให้โคลงมีเสียงคล้ายเสียงเปล่งร้องเสียงพูด เสียงสะอื้น อ้อยสร้อย กรีดอารมณ์ ซึ่งคำประพันธ์ประเภทอื่นยากที่จะทำได้ ฉะนั้นต้องรู้วิธีดึงเสน่ห์ส่วนนี้มาใช้ให้สำเร็จ ตัวอย่างเช่น



ควักใจให้ หมดแล้ว ทูนหัว

ฟ้าพ่ายแผ่นดินกลัว เกลือกหน้า

ลืมตายและลืมตัว ถวายรัก

เรียมประจักษ์ใจ เองอ้า รักน้องพิสุทธิ์ไฉน




3 โคลง หวานได้ - กร้าวได้


โคลง หาได้มีมิติเดียวคือบทรำพันพิลาปพร่ำพรรณนาเชิงนิราศที่เราคุ้นเคยกันจาก ความทรงจำของลิลิตและโคลงกำสรวลต่างๆ ไม่ เมื่อนำโคลงมาใช้ในลีลากร้าว กลับสัมฤทธิผลไม่แพ้โคลงหวาน เช่น



ควันปืนปลิวว่อนเวิ้ง พระเมรุสวรรค์

ไออาบระติวัน เวี่ยคลุ้ง

อรุณเลือดหลั่งกระสัน กระสุนแลก

โลกตกอยู่ใต้อุ้ง ฝ่าเท้าพลทหาร



4 คำว่า “สุภาพ” ในโคลงสี่หมายถึงอะไร



ลำพัง ความยากของโคลงก็คือการต้องเฟ้นหาคำ “เอกเจ็ด - โทสี่” มาจัดวางให้ลงตัว ถือว่าโหดเอาการอยู่แล้ว เท่านั้นยังไม่พอเพียง เราต้องรู้จักกฎเหล็กว่าจุดไหนบ้างที่ ห้ามใช้วรรณยุกต์โดยเด็ดขาด นั่นได้แก่ คำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่ 2 และ 3 นี่แหละความหมายของคำว่า “สุภาพ” คือกรุณาอย่าใช้รูปวรรณยุกต์ใดๆ ทั้งสิ้นมาเกะกะเพ่นพ่านในจุดที่กำหนดให้เป็นตัวรับสัมผัส เพราะมันทำให้เสียงคงที่ของเอกเจ็ด - โทสี่ 11 จุด เกิดความด้อยค่าลงขาดความโดดเด่น ฉะนั้นต้องลดเสียง ดูตัวอย่างของการละเมิดกฎเหล็กข้อนี้



บันไดนาคขดเลื้อย รายทาง

เศียรแผ่พังพานค้าง ประดับไว้

อัญเชิญสู่ยอดร้าง ปราสาท

ลิบลิ่วสุดยอดไม้ ป่ายฟ้าปีนถึง



เมื่อเทียบกับสองบาทที่ถูกต้องข้างล่างนี้ จะพบว่ารื่นหูกว่ามาก

บันไดนาคขดเลื้อย รายทาง

เศียรแผ่พังพานวาง ประดับไว้

อัญเชิญสู่ยอดปรางค์ ปราสาท

ลิบลิ่วสุดยอดไม้ ป่ายฟ้าปีนถึง



5 ทำความเข้าใจกับ คำเอก - คำโท



คำเอก - คำโทหมาย ถึงอะไร มิใช่หมายถึงเพียงแค่ รูปวรรณยุกต์ ที่เขียนกำกับให้เกิดความแตกต่างกันเท่านั้น หากยังมีนัยะครอบคลุมถึง เสียงวรรณยุกต์ ที่ทำให้เกิดความต่างระดับอย่างหลากหลายอีกด้วย บางครั้งรูปวรรณยุกต์ต่างกันแต่กลับได้เสียงเดียวกัน บางครั้งรูปวรรณยุกต์เป็นเอก กลับได้เสียงโท รูปวรรณยุกต์เป็นโทกลับได้เสียงตรี

การใช้วรรณยุกต์รูปเอก - โทวางคู่กัน สามารถทำให้เกิดเสียงได้แตกต่างกันถึง 4 แบบ



กรณีที่ 1 ได้เสียงเอก - โท

รักแท้ย่อมกอบกู้ ศรัทธา



กรณีที่สองได้เสียง เอก - ตรี

รักแรกรักสุดท้าย รักเดียว



กรณีที่สามได้เสียงโท - ตรี

เรืองเรืองแดดทอดรุ้ง รังรอง



กรณีที่สี่ได้เสียงโท - โท

พุ่มปรางค์เพียงพุ่มแก้ว บงกช



ขอ ให้สนุกกับการเล่นวรรณยุกต์ในคำโคลงให้เต็มที่และรู้เท่าทันในการหลบเลี่ยง เสียงที่ซ้ำกัน หรือจงใจใช้เสียงที่ซ้ำกันแม้วรรณยุกต์ต่างรูป



6 ไม่ต้องสนใจเอกโทษ - โทโทษ



นัก โคลงร่วมสมัยไม่ควรเกร็งกับการหาคำเอก - คำโท มาวางในตำแหน่งของมันไม่ได้ และหากหาไม่ได้จริงๆ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็อย่าพยายามเขียนด้วยคำ เอกโทษ - โทโทษ ลงไปในภาษากวี เพราะดูตกยุคสมัยและจงใจเคารพกฎมากเกินไปจนดูเกร็ง หากชั่งน้ำหนักแล้วเลือกที่จะยืนหยัดคำที่ผิดรูปวรรณยุกต์ในตำแหน่งนี้จริงๆ ก็ต้องกล้ายืนยันที่จะเขียนคำนั้นด้วยรูปเดิมของมัน เพราะเอาเข้าจริงแล้วโดยธรรมชาติของรูปเอก- โท นั้นมีค่าน้อยกว่าเสียงวรรณยุกต์

เช่น คำว่า คว่ำ ไม่จำเป็นต้องเขียน ขว้ำ เพราะตัวคว่ำแม้จะมีรูปเอก แต่กลับออกเสียงโทอยู่แล้ว



วณิพกร่ายเพลงสลับ โศลกพาทย์

เพียงพลิกพิภพคว่ำ ขอบโพ้นจักรพาล



7 พลิกแพลงเสียง ด้วยการวางคำโทก่อนคำเอก



มา ถึงจุดนี้แล้วจะเห็นว่าความยืดหยุ่นของเอก - โท นั้นมีมากมายก่ายกอง อีกวิธีหนึ่งที่นิยมพลิกแพลงกันมากคือการนำคำโทวางหน้าคำเอก ไม่จำเป็นต้องวาง เอก - โท เสมอไป แต่การใช้ โท - เอก ก็ใช้ได้เฉพาะวรรคแรกของบาทที่ 1 เท่านั้น



รักมากยิ่งแค้นมาก เมรี

หากรักเหนือศักดิ์ศรี แน่ไซร้



หรือ

พบใครอย่าได้คิด รักใคร

เว้นแต่ยอดดวงใจ หนึ่งนี้



8 สัมผัสพยัญชนะแพรวพราวอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป



จริง อยู่ว่าการเขียนโคลงให้ไพเราะเหนือชั้นย่อมวัดกันด้วยการใช้คำสัมผัสพยัญชนะ แพรวพราวมากยิ่งกว่าการใช้สัมผัสสระ นี่คือข้อได้เปรียบ ยิ่งใช้ได้มากเท่าไรก็ยิ่งแสดงถึงฝีมืออันสูงส่งของกวีมากเท่านั้น แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำทุกบาทจนเฝือ บางครั้งในหนึ่งบาทอาจปราศจากคำสัมผัสพยัญชนะโดยสิ้นเชิง

ตัวอย่างนี้มีสัมผัสพยัญชนะน้อยมาก แต่อ่านแล้วได้พลัง



ยังชีพแม้ร่างล้ม ทั้งยืน

เชิญเถิดท่านอย่าฝืน ลิขิตนั้น

จากกันดั่งวัน-คืน เช้า-ค่ำ

ไกลดุจโค้งฟ้ากั้น อทิตย์ไร้จันทร์แรม

หรือ

กวีนิพนธ์สันสกฤตซร้อง หญิงงาม

จักยิ่งงามเมื่อยาม รักร้าง

ยิ่งหวานยิ่งไหวหวาม ยามโศก

มิผิดคำท่านอ้าง เอ่ยโคลง



9 ต้องรู้จังหวะจะโคนของการเลือกคู่สัมผัสพยัญชนะให้เป็น



เมื่อ ทราบโดยพื้นฐานแล้วว่าเสน่ห์โคลงถึง 80 % หนุนเนื่องด้วยการเล่นสัมผัสพยัญชนะ ฉะนั้นจะต้องท้าทายตัวเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการเล่นสัมผัสพยัญชนะมากกว่าหนึ่งอักขระในหนึ่งบาท ทั้งยังต้องกล้าเล่นสัมผัสดังกล่าวด้วยกลุ่มอักขระเดียวกันมากเกินกว่าหนึ่ง บาท เช่น การเล่นตัว ท ล ส สลับไปมาตลอดทั้งสี่บาท



ศิลาแลงแท่งล้วน ท้าทาย

แซมส่วนศิลาทราย ทั่วทั้ง

ทับหลังสลักลาย ทวยเทพ

โถงทิพย์ปราสาทตั้ง แท่นตั้งศิวลึงค์



หรือการวางตัว ม ไว้ในคำที่ 2 และ 5 ของบาทแรกกับคำที่ 1 ของวรรคท้าย อย่างเป็นจังหวะ

นิราศเมืองอารยะ แม้น ม ณีพราย

กมลมุ่งอริยะหมาย โมกข์แก้ว



10 เอาสูตรไหน สาม - สอง หรือ สอง - สาม ?



โคลง ทุกบาทหน้าจะมีอยู่ห้าคำ การแบ่งกลุ่มคำจะส่งผลให้ลีลาโคลงมีจังหวะที่แตกต่างกัน โดยปกตินิยมแบ่งแบบสอง- สาม มากกว่าสาม - สอง แต่ลองพยายามท้าทายตัวเองด้วยการแบ่งแบบสาม - สองดูบ้าง หากฝีมือถึงพอ ตัวอย่างแบ่งแบบสอง - สาม ตามความนิยม



พิษรัก/โหมหื่นเร้า สิเนหา

ฤๅจัก/ลาสิกขา เพศไซร้

มโนเคย/มุ่งมรรคา หมายวิมุติ

เอาเถิด/แม้นอกไหม้ ไป่ทิ้งเชตวัน



ตัวอย่างชนิดพิเศษ แบ่งแบบสาม - สอง แต่งให้ไพเราะยากยิ่ง

สงบเพลิงรัก/นั้นเถิด อัตโน

ข้าปลอบวิญญาณโซ อย่าเศร้า

หรือ

ใช่ทิ้งทอด/แท้เทียว อุทิศทุ่ม ธรรมนา

แม้จากไกล/ไป่คล้อย จักย้อนคืนเยือน



11 ตอกย้ำคำเน้นด้วยคำซ้ำในบาท 2 และ 4



โคลง คือเสียงที่มีชีวิตคล้ายเสียงพูดของมนุษย์ ฉะนั้นโคลงโบราณจึงนิยมเล่นคำซ้ำหรือคำซ้อนในบางจุด เพื่อต้องการตอกย้ำคำ ๆ นั้นให้โดดเด่นยิ่งกว่าคำใดๆ ในบาทเดียวกัน

เช่น

อกเอ๋ยยามรู้ข่าว กามนิต

ยังอยู่สู้ชีวิต ยิ่งเศร้า

ข่มข้าข่มความคิด กลัววิบาก

โอ ! พระตถาคตเจ้า ลูกแพ้พญามาร



หรือ

เลือดอุ่นพลันแล่นเลื้อย ฉกกัด

วิสัยสัตว์ย่อมสัตว์ พิษล้อม



12 วรรคหลังของทุกบาทต้องฉีก คือต้องเดินหน้า อย่าย่ำอยู่กับที่



นัก โคลงส่วนมากมักมัวเพลินอยู่กับการเล่นสัมผัสอักษรในคำโคลงเสียจนลืมตัว ใช้คำเยิ่นเย้อซ้ำไปซ้ำมา ทำให้ความในแต่ละบาทไม่เดินหน้า เพราะมัวแต่ล้อคำในบาทแรกเพื่อต้องการโชว์ฝีมือด้านสัมผัสอักษร ทุกครั้งที่เขียนโคลง ควรสำรวจดูว่าสองคำในบาทหลังของทุกบรรทัดมีความคืบหน้าด้วยเนื้อหาที่ฉีก แปลกแตกต่างไปจากห้าคำในบาทแรกหรือไม่

ลองเปรียบเทียบพลังของกวีสองบทนี้ดู ในบทแรกใช้คำวรรคหลังฉีกออกไปจากวรรคหน้า กับกวีบทที่สองใช้คำวรรคหลังล้อไปมากับวรรคแรก



บท 1 เภตราพาศิษย์ค้น ไตรเพท

เหนือฝั่งริมสาคเรศ สั่งร้อง

จงแสวงอุตตมะเขต ตามคติ ตนนอ

ชีวิตที่เหลือต้อง ต่อสู้เติมสรรค์



บท 2 เรืองเรืองแดดทอดรุ้ง รังรอง

อาทิตย์ทาทาบทอง สว่างฟ้า

ขุนเขาโขดประคอง เคียงคู่ ภูนา

ปราสาทพิมานจ้า จรัสแต้มวิมานสวรรค์



จะ เห็นความแตกต่างของชั้นเชิงการเขียนได้ชัดว่า บทที่ 1 นั้นสองคำหลังเป็นข้อความใหม่ทำให้เนื้อเรื่องเดินหน้า แต่บทที่สอง สองวรรคหลังของทุกบาท เป็นการล้อคำไปมากับวรรคหน้า แม้คำต่างกันแต่เนื้อหาวกเวียน ไม่คืบหน้า



13 ปัดฝุ่นปลุกวิญญาณคำโบราณมาใช้ในบางโอกาสให้เป็น



การ เขียนโคลงร่วมสมัยให้ไพเราะย่อมต้องมีพื้นฐานในการอ่านโคลงโบราณมาอย่าง โชกโชน ยิ่งอ่านมากยิ่งได้เปรียบ เพราะคำโคลงของปรมาจารย์โบราณด้านกวีนั้นมีเสน่ห์เหนือชั้นกว่าถ้อยคำธรรมดา ของคนรุ่นนี้ ฉะนั้นบางโอกาสควรรู้จักเลือกหยิบถ้อยคำเท่ๆ ของโคลงโบราณมาปัดฝุ่นใช้ปะปนกับคำโคลงร่วมสมัยดูบ้าง แต่ทั้งนี้อย่าลอกเลียนมาทั้งดุ้น ควรประยุกต์มาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง เช่น



ปฤๅดิ์เปรมประหนึ่งน้ำ หยัดเย็น

คราวแผดเผาเพื่อเป็น อย่างแก้

สมัยโศรกษุมาลเห็น สิ่งโศก มานา

ตรีพิธรรมเที่ยงแท้ สนัดเกื้อสากล



แต่ถ้าหากว่าไปหยิบคำโบราณมาใช้ แล้วกลับแปลไม่เป็น ไม่รู้ความหมายก็อย่าทำเสียดีกว่า



14 ใช้เสียงเอก - โท - ตรี สลับสับหว่างกันในการส่งสัมผัสสระหว่างบาท



ลำพัง การกำหนดเสียงโทในสี่จุดก็ถือว่ายากพอสมควรอยู่แล้วสำหรับการเขียนกวีให้ ลงตัวภายในหนึ่งบท แต่โจทย์ที่ยากและท้าทายยิ่งกว่าการใช้รูปวรรณยุกต์โททั้งสี่จุด รวมถึงเสียงของวรรคหลังในบาทที่ 1 ซึ่งต้องส่งไปยังวรรคแรกของบาทที่ 2 และ 3 โจทย์มีอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะให้เสียงการส่งสัมผัสในแต่ละคู่ไม่ซ้ำกันบ่อย เกินไป เช่น



น้ำตาทุกหยาดสร้าง กามภพ

เกิด-ดับมิรู้จบ จิตเจ้า

ชาตินี้ปิดฉากรบ และฉาก รักเทอญ



ภพ-ตรี จบ-เอก รบ-ตรี สลับกันไป เพื่อแก้เสียงเลี่ยน



อับอายทั่วแผ่นฟ้า ผืนดิน

ชนหมิ่นแคลนติฉิน แม่หม้าย

เทวีแห่งนครินทร์ เลอลักษณ์

ความรักสิโหดร้าย บ่แม้นสามัญ



ลองเปลี่ยนคำส่ง-รับ สัมผัสให้เป็นเสียงสามัญเหมือนกันหมด เช่น ดิน-จินต์-รินทร์ หรือ หรือตรงแม่หม้าย เสียงโท ส่งมาเสียงโทอีก จากร้ายเป็น ป้าย ก็จะทำให้ความแตกต่างของเสียงหายไป ความไพเราะก็ลดน้อยถอยลงไปอีก



การ วางเสียงสลับเช่นนี้ไม่ใช่กฎตายตัว แต่พยายามใช้ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะทำให้เสียงรื่นหู จนกระทั่งกลายเป็นความเคยชิน อย่างไรก็ดีในกรณีที่จะต้องเลือกระหว่างความหมายกับเสียง บางครั้งอาจต้องเลือกความหมายไว้ก่อน แต่บางคราก็อาจตัดใจเลือกเสียงเหนือความหมายก็ได้



15 ใช้บาลี - สันสกฤตแทนคำไทยแท้ยามต้องการเพิ่มความวิลิศมาหรา



จริง อยู่ที่ฉันลักษณ์ของโคลงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดให้ใช้กับคำไทยแท้ แต่ก็มิได้มีข้อห้ามสำหรับการดึงคำหรูหราของบาลีสันสกฤตมาใช้ ยามที่ต้องการความวิจิตรอลังการมากยิ่งขึ้น



ทิวาสวรรค์ขวัญโลกโอ้ แสนไกล

ปราบมิจฉาทิฐิประลัย ราบเสี้ยน

เชิญฉายช่อโคมชัย มชีพ ชี้นอ

โหมกิเลสมนุษย์เหี้ยน เหือดแล้งโลกียธาร



16 แก้ปัญหาคำยาวเกินขนาดด้วยการตัด หั่น ย้าย จัดวางในตำแหน่งใหม่ที่ยังคงสื่อเนื้อหาเดิม



คุณสมบัติ ข้อนี้อาจยากที่สุด โดยเฉพาะกวีมือใหม่ แต่อยากเสนอให้ลองทำดู หากมีชั่วโมงบินและพรสวรรค์มากพอ เป็นเคล็ดลับที่ยากเกินอธิบายให้เข้าใจ อ่านดูตัวอย่างเอาเองว่าการโยกคำนั้นทำกันอย่างไร จึงยังคงความหมายเดิม หรืออย่างน้อยที่สุดทำให้ผู้อ่านยังพอสืบเค้าถึงคำดั้งเดิมได้ว่าคืออะไร เหตุผลที่ต้องตัดคำ จัดวางกลุ่มคำบางคำใหม่ก็เพราะกฎข้อบังคับของฉันทลักษณ์นั่นเองที่ทำให้เรา มิอาจรักษากลุ่มคำเดิมที่มีความยาวทั้งหมดไว้ด้วยกันได้

ตัวอย่างเช่น ในบทกวีต้องการใส่คำว่า สระโบกขรณี อย่างยิ่งยวด แต่มิอาจใส่คำนี้ได้ต่อเนื่องเต็มคำ อาจเพราะด้วยความจำกัดของจำนวนคำในแต่ละวรรค ลองหั่นคำ แยกคำ แล้วจัดวางใหม่ดูบ้าง



สรีดภงส์สรงหลั่งน้ำ ศพโปรย

ปรายจากตระพังโพย พิสุทธิ์สร้อย

โขงแห้งเจ้าพระยาโหย คงคาเหือด

สินธุยมุนาคล้อย โบกข้ามขรณี



หรือการเสนอเนื้อหาเรื่อง นารายณ์บรรทมสินธุ์กลางเกษียรสมุทร สามารถแต่งได้ว่า

นารายณ์เกษียรสมุทรท้อง บรรทม

เสถียรสถิตบัลลังก์พรหม แผ่นน้ำ



เชิญ อ่านบทกวีตัวอย่าง ชิ้นที่เทิดทูนโคลงไว้เหนือหัวจิตหัวใจ เป็นบทกวีที่จริงใจและแสดงความรักในการเขียนโคลงอย่างสุดซึ้งมากที่สุดในยุค สมัย



วิญญาณโคลง



โคลงโคลงโคลงโคล่งโคล้ง โคลงโขลง

โคลงโคล่งโคลงโขลงโคลง โขล่งโขล้ง

โคลงโคลงโขล่งโคลงโขลง โคลงโขล่ง

โคลงโคล่งโคลงโคลงโคล้ง โขล่งโคล้งโขลงโขลง



เสียงใครครวญคร่ำเพ้อ เพลงโคลง

กลั่นหยดแล้วหยาดโยง ยะเยือกถ้อย

เรียงคำร่ำจรรโลง ใจรัก

อาบเสน่ห์อรรถรสร้อย อิ่มสร้อยวรรณศิลป์



รินโคลงมาดื่มเคล้า คลอนวล

ขวัญพ่ออย่ากำสรวล โศกกล้ำ

รักเรียมไม่เรรวน รักยิ่ง โคลงนา

มาพ่อฟังโคลงซ้ำ ซบหน้าอิงสมร



“ฉันเอาฟ้าห่มให้ หายหนาว (อังคาร)

จรูญจรัสรัศมีพราว พร่างพร้อย (สุนทรภู่)

คือรักหยาดแสงดาว ลงประดับ (เนาวรัตน์)

พลางคะนึงนุชน้อย แน่งเนื้อนวลสงวน (ลิลิตตะเลงพ่าย )



กำศรวลศรีปราชญ์ร้าง แรมสมร (ศรีปราชญ์)

จากแม่รักฤๅรอน ขาดได้ (ลิลิตพระลอ)

ผจงรักร่ำโรยขจร จารึก (ไพวรินทร์)

ร้อนใช่ร้อนไฟไหม้ พี่ร้อนกลกาม (โคลงเจ้าเชียงใหม่)



เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย ( ลิลิตพระลอ)

เสียงนุชพี่ฤๅใคร ใคร่รู้ (เจ้าฟ้ากุ้ง)

จึงถามแน่ทรามวัย มานี่ ไยฤๅ(โคลงรามเกียรติ์)

ครั้นเมื่อทรงทราบกระทู้ ตรัสอ้อ !กระนั้นเหลอ” (ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี)



ดูหรือเรียมหลับแล้ว ช่างกระไร

เนื้ออุ่นเนื้อแอบไอ อกน้อง

มนต์โคลงหากหลงใหล ลืมโลก จริงนา

รักห่มรักร่วมห้อง ห่มแก้มเรียมหอม



เสน่ห์โคลงแม้นค้นพบ ขลังนัก

ใจจรดใจจึงจัก ประจักษ์แจ้ง

ใช่เพียงเอก-โทสลัก เจ็ด-สี่

สัมผัสหากเสแสร้ง ห่อนซึ้งวิญญาณโคลง



หทัยหวังโคลงคู่ฟ้า อมตะ

ดุจรักเรียมฤๅละ เลิกได้

แดฝังดั่งพันธะ ใดเทียบ

แม้นสวาทเรียมหม่นไหม้ อกไหม้โคลงมลาย



วันใดโคลงเสื่อมสิ้น อวสาน

เน่าเปื่อยเป็นตำนาน อดีตคล้าย

ผองกวีหยุดขับขาน โคลงคร่ำ ครึแฮ

ขอเป็นกวีคนสุดท้าย ร่ำร้อยโคลงนิรันดร์



โคลงโคลงโคลงโขล่งโขล้ง โคลงโคลง

โคลงโขล่งโคลงโคลงโขลง โคล่งโคล้ง

โขลงโคลงโคล่งโคลงโคลง โคลงโคล่ง

โคลงโขล่งโขลงโคลงโคล้ง โขล่งโคล้งโคลงโขลง



เรียบเรียงจากประสบการณ์ตรงของกวิณีที่ถนัดทางโคลง

ตีิพิมพ์ในสูจิบัตรประกอบโครงการอบรมยุวกวีศรีหริภุญไชย

เนื่องในวันสุนทรภู่ วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 254
:::::::::::::::

ขอให้สนุกกับการแต่งโคลงนะคะ
ขอบพระคุณ ดร.เพ็ญ สำหรับความรู้ดีๆแก่กวีหน้าใหม่ทั้งหลายค่ะ



Create Date : 22 ตุลาคม 2553
Last Update : 22 ตุลาคม 2553 20:25:59 น. 4 comments
Counter : 7256 Pageviews.

 
อันนี้ไม่ใช่โครงการตะพาบนะคะ เป็นหนึ่งในความรู้ประดับการเขียนค่ะ


โดย: ชะเอมหวาน วันที่: 22 ตุลาคม 2553 เวลา:21:47:17 น.  

 
55+


โดย: เติ้ง IP: 180.183.52.213 วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:21:10:58 น.  

 
แต่งไม่เป็นเลยค่ะโครงสี่สุภาพ


โดย: จ๊ะจ๋า IP: 101.108.196.233 วันที่: 1 มิถุนายน 2555 เวลา:19:47:30 น.  

 
อยากให้แต่งเกี่ยวกับอาหารครับ


โดย: สิทธิโชค IP: 110.49.243.125 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2556 เวลา:16:42:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชะเอมหวาน
Location :
Dalian(China),Guildford(UK),กทม.,สกลนคร United Kingdom

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Edutainment
International Business
Bossa Nova& Easy Listening

ถ้าถามอะไรในนี้ไม่ได้ตอบ
กรุณาส่งไปทางเฟซบุ๊คเลยนะคะ
ไม่ค่อยได้เช็คบล็อกค่ะ
ขอบคุณค่ะ


 ยินดีต้อนรับ
ณ บ้านชะเอมหวานค่ะ
ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยียนกันเสมอนะคะ
จขบ.เป็นอาจารย์เล็กๆค่ะ
ฟรีแลนซ์ พิธีกรงานแต่งงาน
สะสมโปสการ์ดค่ะ
ฟังเพลงสบายๆ
ชอบแต่งหน้าแต่งตัว
แต่งกลอน ขีดๆเขียนๆ
ท่องเที่ยว
ก็เป็นกำลังใจให้กันด้วยค่ะ จุ๊บๆ 





บ้านนี้จขบ.ต้องการสร้างสรรค์ให้เบา สบายๆค่ะ
เอนทรี่เก่าๆเกี่ยวกับอาหารและการท่องเที่ยวจะย้ายบ้านไปที่

Amiley lala(ท่องเที่ยวและอาหาร)



POSTCARD & International Business


ถ้าจะโหวตขอหมวดการศึกษา

และหมวดดนตรีค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ
credit::::
photo by พี่เป็ดสวรรค์)
Head blog กับของตกแต่งจาก

pk12th
และ

คุณกุ้ง Kungguenter


Follow amiley on Twitter



New Comments
Friends' blogs
[Add ชะเอมหวาน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.