Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2548
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
20 กรกฏาคม 2548
 
All Blogs
 

ร่างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548


หลักการ


ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน


เหตุผล


โดยที่กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่างๆ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบให้ยุติลงได้โดยเร็ว และเนื่องจากที่ในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น จนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้ สมควรต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยของประชาชนให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้


ร่างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548


โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 39 มาตรา 44 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495

มาตรา 4 ในพระราชกำหนดนี้

สถานการณ์ฉุกเฉิน หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้

มาตรา 5 เมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น และนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันช่วยเหลือ ป้องกัน แก้ไข ปราบปราม หรือระงับยับยั้ง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตบางท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อนแล้ว ดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรีภายในสามวัน หากมิได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในเวลาที่กำหนด หรือคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลา ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกเป็นคราวๆ คราวละไม่เกินสามเดือน

เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ หรือเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น

มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินคณะหนึ่ง ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ และเลขาธิการ

สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรรมการ และเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อาจเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 5 หรือสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 11 และในการใช้มาตรการที่เหมาะสมตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อการป้องกัน แก้ไขหรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น

ความในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 5 ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อมีเหตุการณ์จำเป็นเร่งด่วน อันอาจเป็นภัยต่อประเทศหรือประชาชน

มาตรา 7 ในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 5 ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือหลายกระทรวงหรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายใดก็ตาม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปรม หรือระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้การสั่งการและการแก้ไขสถานการณ์เป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
การกำหนดให้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ตามกฎหมายใดทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคล เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชกำหนดนี้ และเพื่อปฏิบัติงานตามกฎหมายที่ได้รับโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง โดยให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ในการนี้ นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้ส่วนราชการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นยังคงใช้อำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไปก็ได้ แต่ต้องปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ หรือทหารซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ผู้บัญชาการตำรวจ แม่ทัพ หรือเทียบเท่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และกำหนดให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ และบังคับบัญชาข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้ ให้การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปตามการสั่งการ ของหัวหน้าผู้รับผิดชอบนั้น เว้นแต่การปฏิบัติหน้าที่ทางทหารให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้กำลังทหาร แต่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการ ที่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบกำหนด
ในกรณีที่มีความจำเป็น คณะรัฐมนตรีอาจให้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้เป็นการชั่วคราวได้ จนกว่าจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นผู้ใช้อำนาจตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม หรือวรรคสี่แทน หรือมอบหมายให้เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสาม หัวหน้าผู้รับผิดชอบตามวรรคสี่ และหน่วยงานตามวรรคห้าได้ และให้ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ข้าราชการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการประสานการปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์ และความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตพื้นที่ นายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายอาจมีคำสั่งแต่งตั้งคณะบุคคลหรือบุคคลเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงาน ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ได้
ให้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ตามขอบเขตการปฏิบัตหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้ง

มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ
(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนไขเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่ และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้

มาตรา 10 เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ให้สามารถกระทำได้โดยรวดเร็ว นายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบตามมาตรา 7 วรรคสี่ เป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 แทนก็ได้ แต่เมื่อดำเนินการแล้วต้องรีบรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว และถ้านายกรัฐมนตรีมิได้มีข้อกำหนดในเรื่องเดียวกัน ภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ออกข้อกำหนด ให้ข้อกำหนดนั้นเป็นอันสิ้นผลใช้บังคับ

มาตรา 11 ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่เป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือที่ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
(2) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
(3) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
(4) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
(5) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยอนุโลม
(6) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
(7) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักร จะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัยของประเทศ
(8) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการ ให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
(9) ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบ หรือก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
(10) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดดเด่น ทั้งนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยกาศึก
เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงตามวรรคหนึ่งยุติลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศตามมาตรานี้โดยเร็ว

มาตรา 12 ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยตามประกาศในมาตรา 11 (1) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกินเจ็ดวัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลา การควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละเจ็ดวัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่าสามสิบวันเมื่อครบกำหนดแล้ว หากจะต้องควบคุมตัวต่อไป ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลนั้นเสนอต่อศาลที่มีคำสั่งอนุญาต ตามวรรคหนึ่ง และจัดสำเนารายงานนั้นไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ญาติของบุคคลนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้

การร้องขออนุญาตต่อศาลตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกหมายอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 13 สิ่งของหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ประกาศตามมาตรา 11 (9) หากเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร นายกรัฐมนตรีอาจประกาศให้ใช้มาตรการดังกล่าวทั่วราชอาณาจักรหรือในพื้นที่อื่นซึ่งมิได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้

มาตรา 14 ประกาศและข้อกำหนดตามมาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และมาตรา 15 เมื่อมีผลใช้บังคับแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

มาตรา 15 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 16 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

มาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วย ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 19 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกำหนดนี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2548
28 comments
Last Update : 20 กรกฎาคม 2548 4:59:22 น.
Counter : 1332 Pageviews.

 

ต้องใช้อย่างรอบคอบ

ผมกลับมาถึงบ้าน เมื่อค่ำวันศุกร์ที่แล้ว...มาทันได้ฟังรายการวิทยุ นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน ในเช้าวันรุ่งขึ้นพอดิบพอดี

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ที่ท่านนายกฯเอ่ยถึงก็คือ ปัญหาเรื่องการออก พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อที่จะนำมาใช้สำหรับสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวตอนหนึ่งว่า เป็นเพียงการนำกฎหมายต่างๆเท่าที่มีอยู่มาเรียงร้อยกันเสียใหม่ และมอบหมายให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล

คณะรัฐมนตรียังไงๆก็ขึ้นอยู่กับสภา ดำเนินการอะไรลงไปแล้ว ก็จะต้องรายงานสภา และสภาก็มีสิทธิซักไซ้ไล่เลียง หรืออภิปรายได้

ส่วนในประเด็นที่ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ อาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น ท่านยอมรับว่าคงจะมีบ้าง แต่จะเป็นการละเมิดเพื่อรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงเป็นส่วนรวม ตามความจำเป็นเท่านั้น

แล้วท่านก็ยกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกา กรณีนั่งเครื่องบินจากบอสตันไปนิวยอร์กว่า ไม่สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้ เพื่อเป็นการป้องกันการ ลุกขึ้นมาจี้เครื่องบิน

ผมไม่แน่ใจว่าของจริงเป็นอย่างไร เพราะไม่มีโอกาสเดินทางไปบอสตัน แต่เท่าที่เดินทางไปแอตแลนตา ซึ่งใช้เวลา 2 ชั่วโมงเศษ ยังใช้ห้องน้ำได้ตามปกติครับ

แต่อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีโทรศัพท์มือถือนั้น ผมเพิ่งจะพบมาด้วยตัวเอง และได้เล่าไปแล้วเมื่อวันวาน

ที่บอกว่าทันทีที่มีการระเบิดลอนดอน...ทางการนิวยอร์กก็สั่งตัดคลื่น โทรศัพท์มือถือในรถใต้ดินทั้งหมด

เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้โทรศัพท์มือถือในการจุดระเบิด เพราะเคยมีการใช้มาแล้วที่กรุงมาดริด

จนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไป 2-3 วัน เขาจึงแถลงให้ชาวนิวยอร์กได้รับรู้ว่ามีความจำเป็นต้องทำเช่นนี้

เท่าที่ติดตามข่าวก็รู้สึกว่าคนนิวยอร์กส่วนใหญ่เข้าใจ แม้จะมีบ้างจำนวนหนึ่งบอกกับหนังสือพิมพ์ว่า...การตัดคลื่นออกไปจากใต้ดิน หากเกิดอะไรขึ้นอาจจะแย่กว่า เพราะส่งข่าวสารขึ้นมาบอกข้างบนไม่ได้

แต่ก็ถือว่าเป็นเสียงส่วนน้อย และเป็นธรรมดาของประเทศประชาธิปไตยที่จะต้องออกความเห็นกันบ้าง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือการแสดงความ คิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ในบ้านเรา จะค่อนข้างสูงกว่าการออกกฎหมายต่างๆที่โน่น

เรื่องนี้คงอธิบายได้ไม่ยากนักว่า เหตุที่ของเขาจะออกอะไร จะทำอะไรก็ดูง่ายไปหมด ก็เพราะประชาชนของเขายังเจ็บปวดจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 กันอยู่ และรู้ชัดเจนว่าศัตรูของเขาคืออะไร

ในขณะที่ของเรา แม้จะรู้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีไม้แข็งไว้รองรับการทำงานบ้างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เสียงคัดค้านส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่ค่อยไว้วางใจผู้ใช้กฎหมาย คือรัฐบาลนี่เอง

ด้วยเหตุที่ผู้นำรัฐบาลคือท่านนายกฯเป็นคนใจร้อน และได้เคย ดำเนินมาตรการบางประการที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนหลายเรื่องในอดีต

ขณะเดียวกันก็อาจมีผู้คนอีกจำนวนมากเชื่อว่า เราอาจแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ได้อย่างสันติวิธี ด้วยขบวนการสมานฉันท์ที่ดำเนินการอยู่... จึงไม่อยากให้มีการออกกฎหมายที่แสดงถึงการใช้กำลังใดๆออกมา

สำหรับผมนั้น แม้จะมีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี และยังคงสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไปภายใต้กรอบนี้

แต่จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นนี้ ผมก็เห็นด้วยว่าเราคงต้องมีมาตรการอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านการรักษา ความสงบเรียบร้อยควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ดี ความวิตกห่วงใยจากหลายๆฝ่ายที่มีต่อท่านนายกฯ และรัฐบาล ก็เป็นประเด็นที่น่ารับฟัง

จึงขออนุญาตฝากเอาไว้ว่า เมื่อนำ พ.ร.ก.ออกมาใช้แล้ว ก็ขอให้ใช้ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และใช้ตามความจำเป็นเท่านั้น ดังที่ท่านนายกฯแถลงไว้ทางวิทยุเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว

ขอให้กำลังใจแก่ทุกๆฝ่ายครับ และหวังว่าสันติสุขอย่างถาวร คงจะกลับคืนสู่ 3 จังหวัดภาคใต้ ในเวลาไม่นานเกินรอ.

"ซูม"

 

โดย: พี่ซูม (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:03:27 น.  

 

สถานการณ์รุนแรงรายวัน สามจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ต้นปี 2547 มาถึงเหตุใหญ่ ครั้งล่า...ที่ยะลา รัฐบาลอยู่ระหว่าง ดำเนินการประกาศใช้ พ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉิน...

ใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน...ผลที่ตามมา... จะเป็นเช่นใด

“ก็หมายถึงอำนาจจะถูกโอน จากทหารในพื้นที่ไปอยู่ที่ส่วนกลาง”

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอก

สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้นจะทำให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชาจากส่วนกลางลงสู่พื้นที่ ยกเว้นเกิดสงครามในพื้นที่ ทหารก็ประกาศกฎอัยการศึกได้

เดิมทีอาจมีปัญหาจากฝ่ายบริหารจากส่วนกลาง ไม่สามารถควบคุมดูแลในพื้นที่ได้...อำนาจในการแต่งตั้ง โยกย้าย ควบคุมก็มีอยู่สูงพอสมควร แต่ถ้า อยากให้มีมากกว่านี้ และคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ...ก็ทำได้

ดร.ปณิธาน มองปัญหาภาคใต้ คงไม่ได้อยู่ที่ประเด็นนี้...ประเด็นเดียว

ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ ซับซ้อนมากกว่านั้นเยอะ การเพิ่มขีดความสามารถของฝ่ายบริหาร อาจเป็นเพราะฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ได้รับการเลือกตั้งมา ก็ต้องให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้นเป็นพิเศษ...

ปัญหาอยู่ที่คำว่า...สถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องถกเถียงกันว่า...เหตุการณ์ในยะลาที่ผ่านมาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้...หรือเปล่า?

“รัฐบาลบอกเอง...ควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเวลาชั่วโมงครึ่ง ถ้าอย่างนั้น จะมีความจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินหรือเปล่า หรือคิดว่า การฆ่ารายวันคือภาวะฉุกเฉิน คิดว่ามีแนวโน้มไม่ดี รัฐบาลก็ทำ”

ปัญหาจริงๆไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ แต่อยู่ที่ฝ่ายปฏิบัติที่ทำงานร่วมกัน สนธิกำลังระหว่างหน่วยปฏิบัติต่างๆในพื้นที่ได้หรือไม่

ปัญหาจริงๆอยู่ที่ฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ ทำงานร่วมกับชาวบ้านได้ไหม?

ดร.ปณิธาน บอกว่า กฎหมาย 7 ฉบับที่มีอยู่แล้ว รวมถึงกฎอัยการศึก 2457 ที่ยืดหยุ่นได้จะเป็นกฎอัยการศึกในช่วงสงคราม หรือช่วงสันติ...ก็นำมาใช้ได้

ถ้าเป็นช่วงสงครามก็มีอำนาจเต็มที่ ถ้าเป็นช่วงสันติก็กำหนดกรอบให้แคบลง จะประกาศกี่วัน ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาดูแลการใช้กฎอัยการศึก แล้วเอาไปผูกกับศาลเพื่อดูแลให้กฎอัยการศึกเป็นกฎอัยการศึกในยามสันติ ใช้ในปัญหาจลาจลในเมือง

“การใช้กฎอัยการศึกในลักษณะยืดหยุ่นแบบนี้อาจจะง่ายกว่า”

พูดอย่างนี้...ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะใช้ พ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉินไม่ได้ อำนาจนี้เป็นอำนาจที่ฝ่ายบริหารทำได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ อำนาจพิเศษที่ฝ่ายบริหารใช้จัดการกับภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อย ที่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันด่วน และมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ไม่สามารถใช้อำนาจปกติได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

ส่วนใหญ่...รัฐธรรมนูญทุกประเทศ กำหนดให้ฝ่ายบริหารนำสถานการณ์ ฉุกเฉินมาใช้ได้ในหลายกรณี เช่น เรื่องสงคราม ความปลอดภัย การจลาจล ภัยพิบัติ ทางธรรมชาติ

ในอดีต...ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยก็มีการใช้ อำนาจพิเศษที่เรียกว่า...พระอัยการกบฏศึก

อนุมานได้ว่า เป็นการใช้อำนาจในยามฉุกเฉินของพระมหากษัตริย์ ในยามสงคราม มีหลักปฏิบัติสำคัญ คือ มีการควบคุม ตรวจสอบ ถ่วงดุล

เนื่องจากอำนาจพิเศษ...เพิ่มอำนาจมากกว่าปกติมาก และกระทบต่อสิทธิมนุษยชน...การถ่วงดุลพระอัยการกบฏศึก...จะใช้หลักเมตตาธรรม

พระมหากษัตริย์ใช้ทศพิธราชธรรม 10 ประการ ใช้หลักพ่อปกครองลูก ใช้หลักพระธรรมศาสตร์

พูดให้เข้าใจง่ายๆ...ใช้หลักความยุติธรรม

ถึงรัฐจะมีอำนาจพิเศษก็จริง แต่ก็ยังมีการถ่วงดุล พระมหากษัตริย์มีทศพิธราชธรรม...ก็ทำให้เกิดสมดุล

การบริหารจัดการก็ทำกันไป แต่สมดุลในเรื่องของอำนาจก็ต้องมี

หลังจากปี 2475 มีวิธีการทางรัฐสภาและทางอื่นๆเข้ามา เพื่อจะถ่วงดุล แล้วก็เปลี่ยนเป็นกฏอัยการศึก

วันนี้...ถ้าบอกว่า ยะลาวิกฤติขนาดนั้น...ก็ต้อง...ฉุกเฉิน ทำได้แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่ได้ตกลงกับหลักสากลและในสังคมไทย

ในสายตาต่างประเทศ...แน่นอนว่าต้องมีผลกระทบ แต่ถ้าเขาเห็นถึงวิกฤติก็ย่อมยอมรับได้ในระดับหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญ...คือ การใช้ต้องควบคู่ไปกับกลไกควบคุมตามข้อตกลงของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ปารีส ที่ต้องมี อย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก กำหนดระยะเวลาของการใช้อำนาจให้แน่นอน นอกจาก... แน่นอนแล้วยังต้องเป็นการชั่วคราว ไม่ถาวร

ประการที่สอง จะต้องเชื่อมโยงการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไว้ด้วยกัน

นิติบัญญัติเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่ปกครองบ้านเมือง ยามบ้านเมืองวิกฤติ ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องเข้ามาดูแลด้วย และการเข้ามาดูแลก็คือ การให้ฝ่ายบริหารให้ รัฐสภารับรองการใช้อำนาจ

ฝ่ายบริหารประกาศไปก่อนได้ 7 วัน 15 วัน พอประกาศจัดการไปแล้วก็มารายงานกับสภาและให้สภารับรอง ถ้าสภาไม่รับรองก็จบไป หากรับรองแล้วก็จะขอต่อไปอีกก็ได้

ข้อนี้จำเป็นต้องทำ ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นฝ่ายตรวจสอบดูแลถ่วงดุลอยู่แล้ว

ประการที่สาม จะต้องผูกโยงกับฝ่ายศาลยุติธรรม นอกจากควบคุมแล้ว จะต้องเข้ามาเยียวยาผลจากการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ในหลายประเทศยังเชื่อมโยงถ่วงดุลกับศาลปกครอง

“การใช้อำนาจ อาจมีผลในเรื่องของการกระทบกระเทือนตัวบุคคล อาจมีข้อผิดพลาดในการบริหารงานและการปฏิบัติบางอย่าง”

การเข้ามาเยียวยาฝ่ายเสียหาย คือ มีการฟ้องร้องดำเนินคดี เจ้าหน้าที่อาจจะทำผิดกฎอย่างมากมาย แม้ว่าศาลจะเข้าใจว่าเป็นวิกฤติฉุกเฉิน แต่ถ้าละเมิดกฎ ก็ต้องลงโทษ

การถ่วงดุลอำนาจ ถือเป็นเรื่องสำคัญ

ที่ผ่านมา...การประกาศสภาวะฉุกเฉินกว่า 10 ครั้งแล้ว...ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เกิดวิกฤติตามมามากมาย เช่น กบฏบวรเดช กบฏแมนฮัตตัน

วิกฤติเหล่านี้ เกิดจากไม่มีการคานอำนาจฝ่ายบริหาร ใช้อำนาจมากไป ประชาชนก็ต่อต้าน...ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่

ปัจจัยความสำเร็จของอำนาจฉุกเฉินจึงอยู่ที่ดุลมาตรฐานขั้นต่ำ 3 ประการ

ปัจจุบันหลายประเทศไปไกลกว่านั้น มีการดึงองค์กรภาคเอกชนมาร่วม สภาแห่งรัฐยุโรปให้กรรมสิทธิ์มนุษยชนเข้ามาร่วมในการใช้อำนาจและควบคุมอำนาจ

กรรมการส่วนนี้ ถือเป็นการคานอำนาจจากภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาครัฐ ไม่ว่านิติบัญญัติ ตุลาการ ก็ยังเป็นองค์กรของรัฐ ย่อมต้องอะลุ่มอล่วย...เห็นใจกันอยู่ดี

ปัญหาการไม่ถ่วงดุลอำนาจ ดร.ปณิธาน ย้ำว่า หากฝ่ายบริหารเกิดข้อผิดพลาด ประชาชนจะกลายเป็นปรปักษ์กับรัฐทันที และอาจเกิดวิกฤติยืดเยื้อตามมา

ดินแดนติมอร์ตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย...ฝ่ายปฏิบัติอาจยินดีในสถานการณ์ฉุกเฉิน...เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พลเรือน ลงพื้นที่แล้วเกิดปัญหา ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

ปัญหาที่ตามมา ผู้ใช้อำนาจ หรือฝ่ายบริหารจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยว กำชับแล้วอย่าทำอะไรที่เกินเลย มีหลักฐานเป็นคำสั่งชัดเจน ไม่มีกฎหมายที่จะเอาผิดฝ่ายบริหาร ต้องไปเล่นงานเจ้าหน้าที่

ผลต่อมา ประชาชนจะลุกฮือต่อต้านทหาร อินโดนีเซีย...ทหารกลายเป็นผู้รับเคราะห์ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติ ต้องเผชิญหน้ากับประชาชน

“ทหารเป็นกลุ่มที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน...เป็นข่าวดังทั่วโลก นำไปสู่ การกดดันรุนแรง ผลักดันให้ติมอร์ตะวันออกแยกตัวออกไปเป็นประเทศใหม่”

ดร.ปณิธาน ย้ำว่า ถ้าดุลประกาศภาวะฉุกเฉินยังไม่ดีพอ ก็ต้องระวัง ถ้าให้สภายุติการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินได้ ให้ศาลเข้าไปตัดสินลงโทษฝ่ายปกครองที่ใช้อำนาจ ก็จะเกิดการถ่วงดุล ประชาชนก็ยังคิดในแง่ดี...มีคนคอยรับฟัง

“รัฐบาลตอนนี้มีอำนาจมาก ฝ่ายบริหารก็มีอำนาจเพิ่มขึ้นพิเศษ ตอนนี้ยังไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือภาคประชาชนเข้าไปถ่วงดุล ผมหวังว่า... รัฐบาลจะใช้หลักพ่อปกครองลูก หลักเมตตาธรรม ดำเนินรอยตามหลักทศพิธราชธรรม เป็นตัวถ่วงดุลเหมือนพระอัยการกบฏศึกในอดีต”.

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:05:30 น.  

 

ระวังเผด็จการรัฐสภา

ในที่สุด นายกรัฐมนตรีก็ได้ อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในการปกครองประเทศ ด้วยการตราพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจครอบจักรวาลแก่นายกรัฐมนตรี ที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญมากมาย รวมทั้งการสั่งห้ามชุมนุม การห้ามเสนอข่าว การเซ็นเซอร์ข่าว และการจับกุมคุมขังบุคคล

พระราชกำหนดฉบับนี้ ให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งห้ามประชาชนออกนอกบ้านในเวลาที่กำหนด ห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าว “อันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัว” ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ถึง 30 วัน เกินกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญคือไม่เกิน 2 วัน และ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย

เหตุผลในการตราพระราชกำหนด ตามคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี อ้างว่าเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือรุนแรง โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ความจริงก็คือ เจ้าหน้าที่มีอำนาจอยู่แล้ว ภายใต้กฎอัยการศึก และนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ เจ้าหน้าที่ยึดกฎหมายคนละฉบับ แสดงว่าขาดเอกภาพและการประสานงาน ไม่ใช่ไม่มีอำนาจ

รัฐบาลอาจมีเจตนาดี ที่จะแก้ ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่น่าเป็นห่วงว่า ถ้าหากไม่มีระบบการตรวจสอบ และการถ่วงดุลอำนาจที่เข้มแข็ง อาจมีการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด และเนื้อหาของ พ.ร.ก.บางส่วน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตัวอย่าง เช่น การสั่งตรวจข่าวหรือเซ็นเซอร์ข่าวสื่อมวลชน ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุว่าจะทำได้แต่ เฉพาะในขณะที่ประกาศอยู่ในภาวะสงคราม

มีเสียงวิจารณ์จากนายปณิธาน วัฒนายากร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ระบุว่า ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ได้กำหนดเวลาการประกาศภาวะฉุกเฉินที่แน่นอน ไม่เชื่อมโยงกับฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ เพียงแต่ ให้นายกรัฐมนตรีขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจครอบงำอยู่แล้ว และนายกรัฐมนตรีอาจประกาศไปก่อนจึงขอความเห็นชอบ

พ.ร.ก.ฉบับนี้ยังระบุว่า ไม่อยู่ ภายใต้บังคับกฎหมายศาลปกครอง อีกทั้งบัญญัติ ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย จึงแสดงว่าประชาชนผู้เสียหาย ไม่สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ต้องถือว่าเป็นอันตราย ถ้าหากผู้นำประเทศหรือเจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจ หรือเพิ่มอำนาจให้แก่ตนเอง ในขณะที่ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ อ่อนแอ ทั้งในและนอกสภา

การที่ประธานคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา และรวบรวมชื่อ ส.ว. และ ส.ส. เพื่อร้องขอให้ นำความกราบบังคมทูล เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพื่อให้แน่ชัดว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชน พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย มิให้กลายเป็นเผด็จการรัฐสภา.

 

โดย: บทนำไทยรัฐ (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:07:00 น.  

 

หักมุมกลับมาปัญหาวิกฤติ 3 จังหวัดภาคใต้ดีกว่านะโยม

หลังจากรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.สถานการณ์ ฉุกเฉินฯ มาใช้แทนกฎอัยการศึกของเดิม เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบภายใน และสืบสวนติดตามโจรก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

ก็มีเสียงโจมตีจากบรรดา “ขาประจำ” ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นกฎหมายเผด็จการ!!

ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับนายกรัฐมนตรีมากเกินไป เป็นกฎหมายที่เน้นการใช้ความรุนแรง ไม่ใช่ แนวทางสมานฉันท์เพื่อสร้างสันติสุขในสังคม ฯลฯ

ถามว่า “แนวทางสมานฉันท์” คือต้องปล่อยให้โจรก่อการร้ายมันกระทืบเราฝ่ายเดียวหรืออย่างไร??

ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกโจรฆ่าตายเป็นรายวันนี่ตะหาก ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน!!

“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยว่า การลิดรอนเสรี-ภาพประชาชนส่วนน้อยเพื่อรักษาความปลอดภัย ของคนส่วนรวม เช่น...การปิดถนน ปิดคลื่นโทรศัพท์ มือถือ ฯลฯ ในบางกรณีก็เป็นเรื่องจำเป็น!!

ฟังเหตุผลเค้าบ้างซีท่าน อย่าเพิ่งค้านกันตะพึดตะพือ

รัฐบาลใช้กฎอัยการศึก ท่านก็บอกว่าไม่ดี

พอเปลี่ยนเป็น พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ว่าเป็นกฎหมายเผด็จการ

ทั้งๆที่กฎหมายแบบนี้ ประเทศอื่นเค้าก็ใช้กัน

ชื่อกฎหมายก็บอกชัดๆว่า ใช้เฉพาะ สถานการณ์ฉุกเฉิน จะให้เขียนแบบกฎหมายในสถานการณ์ปกติได้ยังไง??

การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีก็เพื่อความรวดเร็วในการสั่งการ ขืนต้องรออนุมัติ ครม. หรือรอให้สภาฯเห็นชอบก็สายเกินเพล

ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ก็ เห็นด้วยกับกฎหมายใหม่ของรัฐบาล

แม้แต่ประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ก็เห็นด้วยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์!!

“แม่ลูกจันทร์” ยอมรับว่า ในสังคมประชาธิปไตยทุกคนมีเสรีภาพที่จะคิดเห็นแตกต่างกัน แต่วิกฤติ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นปัญหาความมั่นคงของชาติโดยตรง มีผลกระทบถึงอธิปไตยของประเทศโดยรวม

การแก้ปัญหาจึงต้องมีเอกภาพทาง การเมือง!!

ประเทศอื่นเมื่อเกิดวิกฤติที่กระทบความมั่นคงของชาติโดยรวม นักการเมืองทุกฝ่ายจะร่วมแรงร่วมใจหนุนรัฐบาลแก้ปัญหาให้ สำเร็จโดยเร็ว

เสียดาย...สปิริตแบบนี้หาไม่ได้จากนักการเมืองไทย

ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไร กูต้องแหกปากค้านทันที.

"แม่ลูกจันทร์"

 

โดย: "แม่ลูกจันทร์" (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:08:31 น.  

 

อย่างหนึ่งซึ่งจะจัดการกับปัญหาต่างๆได้ ต้องให้อำนาจเด็ดขาดแก่ผู้นำ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ก็เอาออกมาใช้เถิด จงตัดไฟเสียแต่ต้นลม

และก็ไม่ต้องไปฟังอีนังหม่อมเพ็ง หม่อมแมน มันดอกครับ.

นิติภูมิ นวรัตน์

 

โดย: นิติภูมิ นวรัตน์ (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:09:25 น.  

 

ปัญหาสามจังหวัดใต้ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง สถานการณ์ล่าที่ยะลา...จังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีทะเล แต่ใครต่อใคร ที่ขยันไปกันนัก...ก็มักไป...ออกทะเล

ยิ่งรบ...เลือดก็จะยิ่งท่วมท้องช้าง...จนถึงวันนี้ผมยังมั่นใจความรักเป็นวิธีเดียวที่จะดับไฟใต้

ความรักระหว่างมนุษยชาติ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา...เท่านั้น ดอกไม้จึงจะเกิดได้ แม้แต่ปลายกระบอกปืน.

"กิเลน ประลองเชิง"

 

โดย: กิเลน (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:10:02 น.  

 

• หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่ สารพัดสีขายดีที่สุด ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับนี้ประจำวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2548

• ก็มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่ วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม แล้ว พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับใหม่ล่าสุด แทนที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 ฉบับเก่าที่ใช้มา 53 ปีแล้ว

• ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สถานการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ บวกกับ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อ.เทพา อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ก็คงต้องอยู่ภายใต้อำนาจ ภาวะฉุกเฉิน ตามกฎหมายใหม่ นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการสั่งราชการแทนทุกกระทรวง เพื่อความสะดวกรวดเร็วและฉับไวในการแก้ปัญหา

• “ไต้ฝุ่น” อ่านตัวพระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว ก็ให้เป็นห่วง เพราะ คำจำกัดความ ของคำว่า สถานการณ์ฉุกเฉิน กินความกว้างเหลือเกิน กว้างแบบครอบจักรวาล อย่างที่เขาว่ากันนั่นแหละ

• ประสา “ไต้ฝุ่น” ก็ได้แต่หวังว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจนี้อย่างจำกัด เพื่อแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะ และไม่นำมาใช้กับ สถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องอื่นๆที่มีผลกระทบต่อการเมือง

• ปัญหาใหญ่ ในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา “ไต้ฝุ่น” ฟังจากการให้สัมภาษณ์ของ ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ แล้ว ก็ได้แต่กราบเรียน นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ไว้ตรงนี้ว่า จนถึงวันนี้ ฝ่ายรัฐบาลยังมะงุมมะงาหราไม่รู้เขารู้เรา จึงเป็นฝ่ายเสียหายเพิ่มขึ้นทุกวัน

• ผู้บังคับบัญชาประเภทขี้โม้ ออกมาคุยโตเอาหน้าว่า รู้ข่าวล่วงหน้านานแล้ว แต่ก็ยังถูกฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีข้างเดียวแบบไร้การตั้งรับ ต้องถือว่า ไร้ประสิทธิภาพ สมควรย้ายออกไปจากพื้นที่ดีกว่าจะเสียหายซ้ำซาก โดยตอบโต้ไม่ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

• การข่าวที่ห่วยแตก ที่พูดกันมานาน 4 ปีแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นมีการแก้ไข เสียหายขึ้นมาก็ โทษการข่าวไม่แม่นยำ ขืนรบกันแบบนี้ “ไต้ฝุ่น” ว่าก็มีแต่บาดเจ็บเพลี่ยงพล้ำ การสังคายนาหน่วยรบหน่วยข่าว เป็นเรื่องใหญ่ที่ นายกฯทักษิณ ต้องเร่งทำ

• เรื่อง เศรษฐกิจใน 3 จังหวัดภาคใต้ วันนี้ “ไต้ฝุ่น” ว่าไม่ต้องพูดถึงแล้ว พังยับเยินหมดแล้ว ยิ่งตกอยู่ภายใต้ สถานการณ์ฉุกเฉิน การทำมาหากินยิ่งลำบาก นักท่องเที่ยวแทบเป็นศูนย์ น่าเป็นห่วงว่า ประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ จะทำมาหากินกันอย่างไร เป็น โจทย์ใหญ่ ที่รัฐบาลต้องคิด พอๆกับเรื่องการปราบปรามการก่อการร้าย

“ไต้ฝุ่น”

 

โดย: ใต้ฝุ่น (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:10:46 น.  

 

ฟางเส้นสุดท้าย

กฎหมายฉบับใหม่จะเรียกว่าฉบับอะไรก็ตาม แต่ดูเหมือน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ากันตรงๆก็คือ ให้อำนาจนายกฯครอบจักรวาล

สรุปคร่าวๆเอาประเด็นสำคัญ

1. นายกฯ มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนแจ้ง ครม. ภายใน 3 วัน สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นรวมถึงสถานการณ์อันอาจ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและการก่อการร้าย ซึ่งสามารถจะนำไปใช้ในกรณีอื่นๆที่มิใช่สถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้

2. โอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีทุกกระทรวงมาเป็นอำนาจนายกฯชั่วคราว

3. สามารถควบคุมตัวบุคคลเพื่อสอบสวนได้ไม่เกิน 30 วัน

4. มีอำนาจห้ามการเสนอข่าว การจำหน่ายหรือเผยทำให้แพร่ หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใด

5. มีอำนาจตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตรวจค้นและห้ามออกนอกเคหสถาน การชุมนุมหรือมั่วสุม

ยกเพียงประเด็นสำคัญๆมาพอจะชี้ให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจนายกฯกว้างขวางครอบคลุมและยังคุ้มครองด้านกฎหมาย แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน

กฎหมายฉบับนี้เหนือชั้นกว่า “กฎอัยการศึก” มาก

ฉะนั้น นายกฯอย่าได้พูดเป็นอันขาดว่ากฎหมายฉบับใหม่ ไม่น่ากลัวเท่ากฎอัยการศึก จึงมีความจำเป็นต้องนำมาประกาศใช้

แน่นอนว่ารัฐบาลก็ต้องอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ มิฉะนั้นปัญหาต่างๆจะรุนแรงต่อไป

แม้จะอ้างว่ามีความจำเป็นและจะใช้ด้วยความระมัดระวัง แต่บทเรียนในประวัติศาสตร์กฎหมายลักษณะนี้ มีการนำไปใช้ได้ ประโยชน์ในบางสถานการณ์ แต่โดยสรุปแล้วมันคือ เครื่องมือของ เผด็จการอำนาจมากกว่า

ใช้เพื่อรักษาอำนาจ ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่สุดท้ายก็พังไปทุกที ไม่ว่าจะมีอำนาจมากมายแค่ไหนก็ตาม

อย่างไรก็ดี มาถึงขั้นนี้แล้วรัฐบาลคงไม่ยอมหยุดแน่เพราะเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้คือ ยาวิเศษที่จะดับไฟใต้ได้และก็ต้องดูเช่นกันว่าจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่?

แต่ที่แน่นอนในความรู้สึกที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ก็คือ การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ผ่านมาในหลายกรณีนี้ที่ทำให้เห็นว่า รัฐใช้อำนาจอย่างขาดความชอบธรรมแม้จะยังไม่ออกกฎหมายใหม่ก็ตาม

และเมื่อได้อำนาจใหม่อย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่คงเกิดความไม่มั่นใจว่ารัฐจะคุ้มครองใครกันแน่?

วันนี้สิ่งที่ต้องการที่สุดก็คือ การดึงคนในพื้นที่ให้กลับคืนมา เพื่อไม่ให้ตกเป็นแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่เมื่อรัฐออก กฎหมายแบบนี้มันจะเข้าทางเขาหรือเข้าทางเรายังสงสัยอยู่เหมือนกัน

การดึงแนวร่วมให้คืนกลับมานั้น รัฐบาลเคยตั้งคำถามหรือไม่ได้มีนโยบายหรือแนวทางเพื่อเข้าดึงมากน้อยแค่ไหน ทุกวันนี้การดำเนินการของรัฐอยู่ในลักษณะ “ตั้งรับ” มาตลอด ไม่เคยเปิดแนวรุกอย่างเป็นระบบ

ทั้งๆที่ควรจะเปิดฉากรุกด้วย “นโยบาย” ที่ชัดเจนแล้วเดินหน้ากันไปทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อปัดเป่าปัญหาในทุกด้านๆการศึกษา อาชีพ แรงงาน สาธารณสุข ที่ดินทำกิน ความไม่เป็นธรรม ฯลฯ

แต่ทำอะไรกันครับ...ทะเลาะกันเรื่องครูพกปืน พระสวมเสื้อเกราะ

ระวังนะครับ...มันจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย”.

"สายล่อฟ้า"

 

โดย: "สายล่อฟ้า" (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:11:35 น.  

 

"ทักษิณ"น็อค"สมานฉันท์"??

คอลัมน์ เดินหน้าชน

นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ มีมติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ให้ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ฉุกเฉินที่ชื่อว่า พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยฉวยเอาสถานการณ์ที่คนร้ายโจมตี จ.ยะลา ระลอกใหญ่เมื่อคืนวันที่ 14 กรกฎาคม มาเป็นเหตุผลรองรับในการออก พ.ร.ก.นี้ ก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างอึงคนึงทันที

ในด้านหนึ่งเห็นว่าเป็น พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีชนิด "ล้นฟ้า ครอบจักรวาล" ที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งเริ่มมองเห็นสัญญาณที่ไม่ดี เพราะเป็นห่วงว่านี่อาจคือ "อวสาน" ของแนวทางสมานฉันท์ อาจคือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วในเบื้องลึกรัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางสมานฉันท์ตั้งแต่แรก

4 ปีที่ผ่านมา แนวทางรุนแรงใช้กำลังอย่างเดียว พิสูจน์ว่าประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เมื่อประจักษ์เช่นนั้นแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงได้ยอมตามเสียงเรียกร้องที่จะให้มีการใช้แนวทางสันติวิธี ด้วยการยอมตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) และยอมไปเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน เมื่อ 28 มีนาคมปีนี้(ซึ่งคาดว่าเพื่อลดแรงกดดันระยะสั้นมากกว่า)

คนวงนอกที่มองเข้าไปหลายคนรู้สึกเป็นห่วงว่า นายอานันท์จะเปลืองตัวและเสียเวลาเปล่าหรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่าแท้จริงแล้วนายกฯได้เปลี่ยน "แนวคิดและทัศนคติ" ในการแก้ปัญหาภาคใต้ไปสู่แนวทางสันติวิธีจริงหรือไม่

แต่จากที่นายอานันท์บอกเล่า ที่บอกว่าได้ปิดห้องคุยกันอย่างเปิดอกกับนายกฯเป็นเวลา 30 นาที และนายกฯได้เห็นด้วย และยอมรับว่าแนวทางสันติวิธีคือทางออกที่ดีที่สุด จึงค่อยเริ่มน่าเชื่อว่านายกฯอาจเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองแล้วจริงๆ

เชื่อว่าคนอย่างนายอานันท์คงไม่ยอมรับคำเชิญของ พ.ต.ท.ทักษิณง่ายๆ หากไม่มั่นใจว่านายกฯจะเปลี่ยนแนวคิดจริง แต่การที่จู่ๆ รัฐบาลประกาศออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้ ชักไม่แน่ใจว่านายอานันท์จะรู้สึกอย่างไร จะ "ช็อค"หรือท้อแท้หรือไม่

ภายหลังจากนายกฯลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว หลายคนได้เตือนให้คณะกรรมการระวังตัวว่าจะต้อง "รู้ทัน" รัฐบาล กล่าวคือ รีบทำข้อเสนอไปถึงรัฐบาลว่าควรทำอะไรบ้าง เมื่อเสนอไปแล้วหากรัฐบาลไม่ยอมทำตามก็ต้องนำมาบอกกล่าวให้สาธารณชนรับรู้ เพราะไม่เช่นนั้นจะ "เข้าทาง" รัฐบาลว่า กอส.ล้มเหลว

กล่าวคือหากสาธารณชนเห็นว่า การทำงานตามแนวทางสันติวิธีของ กอส.ไม่ได้ผลก็จะเป็น "ช่อง" ให้รัฐบาลหรือกลุ่มนิยมแก้ปัญหาด้วยวิธีรุนแรงหวนกลับไปใช้วิธีเดิม อย่างที่นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯ เคยเตือนนายอานันท์และคณะกรรมการเอาไว้ว่า จะต้องทำให้สาธารณชนเข้าใจว่างานของ กอส.จะไม่สำเร็จหากรัฐบาลไม่ร่วมมือตามแนวทางที่เสนอ เพราะ กอส.ไม่มีอำนาจพิเศษอะไร ไม่มีกฎหมายในมือ ทำได้เพียงการรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

นายแก้วสรรบอกว่า ดังนั้น นายอานันท์ต้องระวังว่า นายกฯจะอม "สเปโต" เอาไว้คอย "น็อคมืด" เมื่อนายอานันท์ตี "ไพ่โง่" มา ซึ่งนั่นก็หมายความว่า นายอานันท์และ กอส.จะต้องไม่เพลี่ยงพล้ำด้วยการให้รัฐบาล "โยน" ความคาดหวังของสาธารณชนมาไว้ที่ กอส.ฝ่ายเดียว แต่ต้องเรียกร้องความร่วมมือจากรัฐบาลด้วย

กอส.เองเคยออกตัวไว้แล้วว่า แนวทางสันติวิธีนั้นจะใช้เวลาหลายปี ไม่สำเร็จชั่วข้ามคืน ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องอดทนต่อเหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้นถี่ในช่วงที่ กอส.ทำงาน เพราะถ้าไม่อดทน เราก็จะกลับไปใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟันเช่นเดิม

เหตุการณ์ทดสอบ กอส.ครั้งรุนแรงครั้งแรก ก็คือการระเบิดสนามบินหาดใหญ่เมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมา หลังการตั้ง กอส.ได้เพียง 1 สัปดาห์ ครั้งนั้นทุกฝ่ายเรียกร้องให้อดทนอย่าหลงตามเกมของผู้ก่อการร้าย

กระนั้นก็ตามดูเหมือนความอดทนของฝ่ายรัฐได้สิ้นสุดแล้ว ในเหตุการณ์วันที่ 14 กรกฎาคม ที่มีการถล่ม จ.ยะลา นั่นเอง และ พ.ร.ก.ฉบับนี้สร้างความตกใจให้กับคณะกรรมการของ กอส.หลายคน โดยนึกไม่ถึงว่ารัฐบาลจะออกมาตรการที่รุนแรงกว่ากฎอัยการศึกเสียอีก เพราะเดิมนั้น กอส.เคยเสนอให้ยกเลิกอัยการศึก และนายกรัฐมนตรีก็มีท่าตอบรับแล้ว แต่จู่ๆ ก็ออกมาตรการที่รุนแรงยิ่งกว่ามาบังคับใช้

พลันที่เกิดเหตุการณ์ที่ยะลา ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะได้แนวร่วมขึ้นมามาก แนวร่วมซึ่งสนับสนุนให้ใช้ความเด็ดขาด นี่เองจึงเปรียบเหมือนว่า นายกฯอม "สเปโต" เอาไว้รอจังหวะน็อคมืด กอส. คือรอจังหวะให้เกิดเหตุรุนแรงแล้วก็ฉวยมาเป็นข้ออ้างในการกลับสู่แนวทางเดิม

แต่หากไปฟังเสียงของ กอส.จะค้นพบข้อเท็จจริงที่พูดกี่ครั้งก็ตรงกัน นั่นก็คือ ข้อเสนอของ กอส.ไม่ได้รับการปฏิบัติจากรัฐบาลเท่าที่ควร โดยเฉพาะการปล่อยผู้ต้องหาคดีตากใบ และยังมีอีกหลายเรื่องที่การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่ลงไปถึงระดับล่าง นั่นก็คือยังดึงชาวบ้านมาเป็นพวกไม่ได้

บทบาทของ กอส.ค่อนข้างเป็นธรรมและต้องใช้เวลายาวนาน จึงเป็นการง่ายที่รัฐบาลจะฉวยเอาสถานการณ์ที่ จ.ยะลา มาแสดงว่าการทำงานของ กอส.ล้มเหลว ทั้งที่ความจริงแล้วการที่สิ่งที่ กอส.ได้ทำมาไม่เกิดผลก็เป็นเพราะรัฐบาลไม่ยอมปฏิบัติตามต่างหาก อันนี้เป็นสิ่งที่สาธารณชนต้องคิดให้ลึกซึ้ง

แท้จริงแล้วกฎอัยการศึกเดิมและกฎหมายเดิมทั้งหมดที่ใช้อยู่ ได้ให้อำนาจนายกฯสูงสุดเบ็ดเสร็จอยู่แล้วในการสั่งการปัญหาภาคใต้ แล้วไม่มีความจำเป็นอะไรต้องออก พ.ร.ก.นี้

หากรัฐบาลมั่นใจในแนวทางรุนแรงอย่างที่ทำอยู่นี้เพียงอย่างเดียว ก็ให้ดูตัวอย่างในอิรัก ซึ่งสหรัฐอเมริกาที่มีข้อมูลข่าวกรองดีเลิศ มีอาวุธและกำลังทหารดีที่สุดในโลก เคยคุยว่าสามารถจับแกนนำผู้ร้ายได้นับพันๆ คน เลยเชื่อว่าสถานการณ์จะบรรเทาลง

แต่บัดนี้ผ่านไป 3 ปีครึ่ง คนร้ายกลับก่อเหตุรุนแรงกว่าเดิม และถี่ยิ่งกว่าเดิม สัปดาห์ที่แล้วคนร้ายวางระเบิดหลายจุดภายในวันเดียว ทำให้ชาวอิรักเสียชีวิตไปถึง 90 คน นับเป็นการเสียชีวิตที่สูงที่สุดในเหตุการณ์เดี่ยวๆ

 

โดย: นงนุช สิงหเดชะ (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:12:24 น.  

 

สถานการณ์ ภาคใต้ ในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร กับ รัฐธรรมนูญ 2540

คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์

พระราชกำหนดภาวะฉุกเฉินที่ประกาศออกมาอาจทำให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีรูปแบบและกระบวนการคล้ายกับรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม คล้ายกับรัฐบาล จอมพล ส.ธนะรัชต์ และคล้ายกับรัฐบาล จอมพล ถ.กิตติขจร ในกาลอดีต

กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความเหมือนในจุดอันมี "ความต่าง" ดำรงอยู่

ไม่เพียงเพราะรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2494

ไม่เพียงเพราะรัฐบาล จอมพล ส.ธนะรัชต์ อยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502

ไม่เพียงเพราะรัฐบาล จอมพล ถ.กิตติขจร ในเบื้องต้นอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ต่อมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และต่อมาอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2514

ขณะที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

หากที่สำคัญฐานที่มาแห่งอำนาจทางการเมืองระหว่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม และ จอมพล. ส.ธนะรัชต์ และ จอมพล ถ.กิตติขจร กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังมีความแตกต่างในทางเนื้อหาอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นนัยสำคัญระหว่างอำนาจจากปากกระบอกปืนกับอำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน



จอมพล ป.พิบูลสงคราม หวนกลับมามีอำนาจในเดือนเมษายน 2491 ก็ด้วยผลสะเทือนจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

ยิ่งการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2494 ยิ่งเท่ากับเป็นการกระชับอำนาจ

เพราะว่าเป็นการรัฐประหารต่อรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยคณะทหารที่นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

เหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุค จอมพล ส.ธนะรัชต์ และ จอมพล ถ.กิตติขจร

จอมพล ส.ธนะรัชต์ ได้อำนาจทางการเมืองในเบื้องต้นจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 โค่นรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม

จากนั้นก็ทำรัฐประหารเดือนตุลาคม 2501 อีกครั้งเพื่อกระชับอำนาจ

เพราะว่ารัฐประหารเดือนตุลาคม 2501 เป็นการรัฐประหารต่อรัฐบาล พล.ท.ถนอม กิตติขจร ด้วยความยินยอมพร้อมใจของ พล.ท.ถนอม กิตติขจร

จอมพล ถ.กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2506

เป็นนายกรัฐตรีภายหลังอนิจกรรมแห่ง จอมพล ส.ธนะรัชต์ อันเท่ากับเป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของ จอมพล ส.ธนะรัชต์

แม้จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2514 จอมพล ถ.กิตติขจร ก็ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ถ.กิตติขจร แล้ว จอมพล ถ.กิตติขจร ก็ครองอำนาจต่อไปจนถูกขับไล่เมื่อเดือนตุลาคม 2516

ทั้งหมดนี้คือความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างรัฐบาล 3 จอมพล กับ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปัจจุบัน



ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกว่าอยู่ที่ในยุคของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในยุคของ รัฐบาล จอมพล ส.ธนะรัชต์ และในยุคของรัฐบาล จอมพล ถ.กิตติขจร

กระแสต่อต้านและคัดค้านอาจมีอยู่ แต่ไม่สามารถดำเนินได้อย่างคึกคักและองอาจ

ตรงกันข้าม ในยุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การจะลงมือทำอะไรใช่ว่าจะดำเนินไปได้อย่างง่ายดาย

เพราะว่ายุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

เพราะว่ารากฐานแห่งอำนาจทางการเมืองของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เพราะว่าไม่ได้มีแต่ฝ่ายของ "รัฐบาล" ด้านเดียว หากแต่ยังมี "ฝ่ายค้าน"

เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน ด้าน 1 มีลักษณะเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน แต่ด้าน 1 ก็มีลักษณะประชาธิปไตยอย่างชนิดที่เรียกว่าแบบมีส่วนร่วม

การตรวจสอบโดยองค์การอิสระจึงดำเนินไปอย่างคึกคัก

การตรวจสอบโดยองค์กรประชาธิปไตย องค์กรประชาชน อย่างที่เรียกว่าภาคประชาสังคมจึงดำเนินไปอย่างคึกคัก

ตรงนี้ต่างหากคือความต่างอย่างมีนัยสำคัญกับการเมืองในยุคอดีต

แสดงให้เห็นว่า แม้รัฐบาลจะมี 377 เสียง อยู่ในมือ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะกระทำอะไรไปตามอำเภอน้ำใจ

เพราะอย่างน้อยรัฐบาลจะต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยทั้งในและนอกรัฐสภา

เพราะอย่างน้อยหากกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลไม่สอดรับกับความต้องการของประชาก็ย่อมจะถูกกระบวนการการเลือกตั้งพิพากษาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น

 

โดย: วิภาคแห่งวิพากษ์ (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:13:36 น.  

 

หน่วยงานความมั่นคงของไทย กับการแก้ปัญหาภาคใต้ นโยบายสายเหยี่ยวที่ไร้ผล

ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
................................
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนหัวค่ำของคืนวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2548 ที่จังหวัดยะลาเป็นเครื่องชี้ได้อย่างดีถึงความล้มเหลวของหน่วยงานความมั่นคงของไทยในการจัดการกับปัญหาในสังคมชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะงานข่าวและงานมวลชนนั้นถือได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ผู้เขียนมักได้ยินผู้ใหญ่(ที่เคารพ) หลายท่านกล่าวว่า ผู้บริหารของหน่วยงานของความมั่นคงของไทยหลายหน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นกลุ่มคนที่จัดอยู่ในสายเหยี่ยวเสียเป็นส่วนใหญ่(ตามความเข้าใจของผู้เขียนสายเหยี่ยวก็คือสายที่แก้ปัญหาโดยใช้การปราบปรามและความรุนแรงหรือไม้แข็งเป็นเครื่องมือหลัก ตรงกันข้ามกับสายพิราบที่พยายามสร้างสันติภาพโดยใช้สันติวิธีหรือไม้นวมในการแก้ไขปัญหา)

จากเอกสารและคำบอกเล่าของกลุ่มบุคคลต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้อง(และไม่เกี่ยวข้อง) พอสรุปเป็นทำเนาได้ว่ารากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมาจากการใช้อำนาจของรัฐในทางที่ไม่ถูกไม่ควรเสียเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุหนึ่งที่มักจะได้รับการกล่าวอ้างอยู่เนืองๆ ก็คือการที่รัฐบาลทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้(จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เป็นแดนสนธยาหรือถังขยะสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้ความ(แต่ก็มิได้หมายความว่าในสามจังหวัดจะไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ได้ความหลงเหลืออยู่)

เมื่อขยะมากขึ้นกลิ่นเหม็นเน่าของขยะย่อมรบกวนเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อกลิ่นเหม็นเน่าหรือแรงกดดันจากอำนาจของรัฐเกิดขึ้นมาโดยตลอดและดูจะหนักขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ การลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจของรัฐโดยใช้วิธีการที่เถื่อนพอๆ กับที่รัฐกระทำกับเขาจึงปะทุขึ้น

นับตั้งแต่เกิดปัญหาการปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน นโยบายของรัฐในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีทีท่าว่าจะออกไปในทางละมุนละม่อมหรือสันติวิธีเท่าใดนัก กำลังทหารและตำรวจถูกเสริมเข้าไปในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง(ล่าสุดทหารพรานอีกเก้ากองร้อยจะถูกส่งเข้าไปประจำการ) และดูเหมือนว่าจะสัมพันธ์ในเชิงบวกกับคดีอาชญากรรมและเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

จนถึงขณะนี้คดีฆาตกรรมเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าหลักร้อย ขณะที่การจับกุมคนร้ายยังคงเป็นไปอย่างเบาบาง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ชาวบ้านซึ่งไม่ไว้วางใจคนจากภาครัฐโดยเฉพาะตำรวจ(ความไม่วางใจต่อทหารได้เริ่มตกต่ำลงไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับตำรวจหลังจากเกิดเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ) และคิดไปต่างๆ นานาว่าคนจากภาครัฐคือตัวการสำคัญของคดีต่างๆ เหล่านี้

แน่นอนว่าตราบใดที่ตำรวจยังไม่สามารถคลี่คลายคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ คงไม่ต้องพูดถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ แม้แต่ความไว้วางใจจากชาวบ้านที่มีต่อตำรวจก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน



เงื่อนไขสำคัญสองประการที่ผู้เขียนคิดว่ารัฐควรจะต้องกลับมาพิจารณาและทบทวนอีกครั้ง(หลังจากที่นายกรัฐมนตรีทบทวนผ่านการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารของฝ่ายความมั่นคงมาหลายต่อหลายครั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต) คือ

1) การดำเนินงานในระดับนโยบาย

และ 2) การดำเนินงานในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือระดับรากหญ้า

การดำเนินงานในระดับนโยบายในปัจจุบัน หากยังคงยึดหลักสายอีแร้ง โดยสักแต่ว่าจิกตีซากศพหรือร่างไร้ชีวิตซึ่งเปรียบเสมือนชาวบ้านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันที่ต้องประสบกับปัญหารอบด้านทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังถูกผสมโรงด้วยเรื่องความปลอดภัยที่ด้านหนึ่งก็กลัวว่าจะถูกตำรวจอุ้ม อีกด้านหนึ่งก็กลัวว่าผู้ก่อการร้ายจะฆ่าไม่เลือกจนมาถึวคิวของตน สภาพขวัญกำลังใจของชาวบ้านในปัจจุบันเต็มไปด้วยความหวาดผวา กฎอัยการศึกเองก็มิได้ช่วยบรรเทาปัญหาให้ลดลง กลับทำให้ทหารเดินเพ่นพ่านมากขึ้น ชาวบ้านบางคนตั้งข้อสังเกตว่าพอทหารมากขึ้นปัญหาก็มากขึ้น(แน่นอนว่าหากมองในมุมกลับ ทหารลดลงก็ยังไม่แน่ว่าปัญหาจะน้อยลง) เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าการมีทหารอยู่ใกล้ๆ กลับมิได้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกคลายกังวลลงแต่อย่างใด

นโยบายที่ออกไปในทางสายเหยี่ยวนี้รังแต่จะทำให้ปัญหาเรื้อรังและยากที่จะเยียวยาเมื่อเวลาผ่านไป

งานข่าวที่ล้มเหลวจากนโยบายการปรับเปลี่ยนผู้รับผิดชอบบ่อยครั้งเป็นอีกปัญหาหนึ่งในกรณีของไทยการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบด้านงานข่าวหนึ่งครั้ง หมายถึงการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หรือเริ่มหาข่าวกันใหม่ซึ่งน่าจะขัดกับหลักการข่าว ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งสมและเก็บรวบรวม

สายข่าวเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญสำหรับงานข่าว ในช่วงหลังกลุ่มคนที่ถูกอ้างว่าเป็นสายข่าวของทางการมักจะถูกทำร้ายอยู่เสมอ ยังไม่นับรวมสายข่าวตัวจริงที่มักไม่ปรากฏในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าที่แท้จริงแล้วเป็นสายข่าว

หากปล่อยให้สายข่าวทั้งตัวจริงและตัวปลอม(pseudo informant) ถูกฆ่าตายอยู่เช่นนี้ก็อย่าได้หวังว่าเราจะมีงานข่าวที่มีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญ พอเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นกรือเซะ ตากใบ หรือล่าสุดที่ยะลา ฝ่ายความมั่นคงหรือหน่วยงานทางด้านข่าวมักออกมากล่าวอยู่เสมอว่ารู้มาก่อนแล้วล่วงหน้า คำถามที่ตามมาก็คือหากรู้มาก่อนแล้วทำไมไม่ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับงานข่าวคืองานมวลชน ตราบใดที่ตำรวจและทหารของทางการยังต่อไม่ติดกับชาวบ้าน(แม้ว่าทางรัฐพยายามจะออกมาโฆษณาอยู่เนืองๆ ว่าชาวบ้านอยู่ร่วมกับทหารได้) งานข่าวก็ยังคงต้องสลัวๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การดำเนินงานในระดับผู้ปฏิบัติการหรือในระดับรากหญ้านั้นถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากปัญหาแรงกดดันที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งก็ได้ถูกอธิบายว่ามาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับรากหญ้านี่เอง ต่อให้นโยบายซึ่งเปรียบเสมือนดิน ปุ๋ยและน้ำดีอย่างไรแต่ถ้าพันธุ์ไม้ไม่ได้เรื่องรดน้ำ พรวนดิน เติมปุ๋ยเข้าไปเท่าไหร่ก็คงไม่สามารถทำให้พันธุ์ไม้นั้นงอกงามขึ้นมาได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นรากเน่าแล้วก็คงไม่ต้องหวังอะไรกันอีก

ณ จนถึงขณะนี้ผู้เขียนเองยังไม่เคยได้ยินผู้บริหารของหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหลายจะออกมากล่าวว่าจะไม่ปล่อยให้เรื่องการอุ้มฆ่าเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเด็ดขาด แม้อาจจะมีบ้างที่อ้อมไปแอ้มมา แต่ก็ยังไม่ชัดเจน นโยบายในเรื่องนี้ถือว่าเป็นจุดสำคัญและน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจัดการกับปัญหา และเมื่อมีนโยบายดังกล่าวแล้ว ผู้บริหารก็คงต้องลงมาดูหรือกำกับให้การดำเนินการในระดับรากหญ้านั้นเป็นตามนโยบายด้วย

นโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการเลิกทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแดนสนธยาหรือถังขยะสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ความ หากทางการส่งเจ้าหน้าที่ที่ถือว่าเป็นน้ำดีลงมาไล่น้ำเสียไปเสียบ้าง แนวโน้มของปัญหาน่าจะบรรเทาลง



นโยบายการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการแก้ไขปัญหาในลักษณะที่ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือเดินหน้าแล้วฆ่ามันนั้นไม่ได้ผล

กล่าวง่ายๆ การดำเนินนโยบายแบบสายเหยี่ยวนั้นมิได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำร้ายยังแย่หนักลงไปกว่าเดิม(นี่ยังไม่นับความไม่คงที่ของนโยบาย ที่บางทีก็เป็นเหยี่ยว บางทีก็ร้ายกลายเป็นอีแร้ง)

หากหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ของรัฐบาลจะหันมาใช้นโยบายสายพิราบอย่างไม่ยึดติดและให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นการดี

เพราะสถานการณ์ในขณะนี้คงไม่มีอะไรจะเสียมากไปกว่านี้อีกแล้ว

 

โดย: ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:14:52 น.  

 

อานันท์พบแม้วแจ้งท่าทีกอส. ไม่ไว้ใจ"พรก." ห่วงทำสถานการณ์สู่วิกฤต

ปชป.ส่งเรื่องผู้ตรวจการสภา ตีความบางมาตราส่อขัดรธน.




ครม.ประกาศพื้นที่ฉุกเฉิน 3 จว.ใต้-4 อำเภอสงขลาวันนี้ "ชิดชัย"ให้ดาบ"ผอ.กอ.สสส.จชต."คุม ลั่นกระทบสิทธิประชาชนน้อยที่สุด "บิ๊กแอ๊ด"ยันใช้ทุกมาตรา "หมอประเวศ-อานันท์"เตือนอย่าใช้อำนาจเกินขอบเขต ทำร้ายคนดี ข้องใจไม่ปรึกษา กอส.-ทำ"ปุปปับ-ลุกลน" ชี้แก้ไม่สำเร็จ"ทักษิณ"ต้องรับผิดชอบคนเดียว ผอ.โรงเรียนปัตตานีถูกยิงดับอนาถคารถ



**"ชิดชัย"ประชุมทีมทำงานพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก. )ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 กรกฎาคม โดยมีคณะกรรมการตาม พ.ร.ก. กำหนดเข้าร่วม เพื่อพิจารณาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ เพื่อพิจาณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน จังหวัดภาคใต้ โดยใช้เวลาประชุมกว่า 3 ชั่วโมง

**เผยประกาศ6ฉบับ-เชิญสื่อร่วมฟังแถลง

พล.ต.อ.ชิดชัยกล่าวภายหลังการประชุมว่า เป็นการเรียกประชุมเพื่อเตรียมการปฏิบัติการให้ถูกต้องตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่เรื่องการประกาศพื้นที่ การประกาศตามอำนาจมาตรา 9 และมาตรา 11 ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำเข้าที่ประชุม ครม. ในวันที่ 19 กรกฎาคม พร้อมกับประกาศอีก 6 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในพื้นที่และในกองอำนวยการ ทั้งนี้ จะนำมาตราต่างๆ ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้มาใช้ให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อประชาชน ซึ่งภายหลังข้อเสนอทั้งหมดผ่านการพิจารณาของ ครม. แล้วจะมีการแถลงข่าวในเวลา 13.00 น. โดยจะเชิญบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์มาร่วมแถลงด้วย จากนั้นจะลงพื้นที่ไปดูแล เพราะได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้(ผอ.กอ.สสส.จชต.) ไปแล้ว

"ขอยืนยันว่าหลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.นี้ ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหมด เว้นแต่ว่า ผอ.กอ.สสส.จชต.จะไปออกรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นจุดๆ ไป ส่วนการประกาศพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจของ ครม." พล.ต.อ.ชิดชัยกล่าว

**"ธรรมรักษ์"ระบุใช้ทุกมาตราคุม3จว.ใต้

ขณะที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จะมีการนำรายละเอียดทุกมาตราใน พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา แต่ในแต่ละพื้นที่จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป โดยจะมีการประกาศอีกครั้ง เช่น พื้นที่นี้ห้ามออกนอกบ้าน ซึ่งจะมีการระบุว่าให้อำนาจใครเป็นผู้ประกาศเหมือนกับกฎอัยการศึก ทั้งหมดนี้จะจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 19 กรกฎาคม

ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ดูจะมีการแบ่งระดับความรุนแรงของสถานการณ์ใน 4 จังหวัดอย่างไร พล.อ.ธรรมรักษ์กล่าวว่า ไม่มีการแบ่งเป็นเบา กลาง หนัก อยู่ที่ว่าจะประกาศรายละเอียดตรงไหนอย่างไร ส่วนที่มีการวิจารณ์ข้อกฎหมายที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางวินัย แพ่ง และอาญานั้น ตนเห็นว่าการใช้อำนาจมีกฎหมายปกติควบคุมอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง เจ้าหน้าที่ต้องใช้อำนาจตามมาตราต่างๆ ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ ถ้าไปใช้เรื่องอื่น ก็เข้าคุก

**ยันใช้แค่ตักเตือนกับสื่อที่เสนอข่าวตกใจ

"ในส่วนของสื่อจะมีแค่มาตรการเตือน หากเห็นว่ามีการนำเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนตกใจ ซึ่งหากอยากรู้ว่าเสนอข่าวแบบไหนแล้วคนจะตกใจ ก็ลองเขียนดู จะได้รู้ เช่น มีการพาดหัวข่าวว่าก่อเหตุพร้อมกัน 300 จุด อย่างนี้ต้องเตือนแล้วว่าไปเอามาจากไหน แต่ถ้าเสนอตามข้อเท็จจริงก็ไม่เป็นไร คงไม่มีใครไปเตือนคุณ เพราะพวกคุณเป็นบุคคลพิเศษ ไม่มีใครกล้ายุ่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ อำนาจในการพิจารณาทั้งหมดจะอยู่ที่แม่ทัพภาคในพื้นที่นั้นๆ อำนาจจึงยังอยู่กองทัพเหมือนเดิม" พล.อ.ธรรมรักษ์กล่าว

**"ทักษิณ"แจงทูตนอร์เวย์การออกพ.ร.ก.

ก่อนหน้านี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.20 น. วันเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาทำงานตามปกติ โดยปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงการประกาศให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ฉุกเฉินตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยกล่าวเพียงว่า "ยังไม่เห็นรายละเอียด เดี๋ยวจะคุยกัน"

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายรันเน บิทเทอ ลุนด์ เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ ทั้งนี้ ในระหว่างสนทนา นายรันเนได้สอบถามถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการออก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีอธิบายว่า การออก พ.ร.ก. ดังกล่าวเป็นเพียงการรวบรวมกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่กระจัดกระจายอยู่ มาเป็นฉบับเดียวกัน เพื่อให้การจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นวาระแรกเมื่อสภาเปิด ในตอนท้ายเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ยังได้ชื่นชมการทำงานของนายกฯ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

**แบ่งโซนสีใช้อำนาจคุมพื้นที่ฉุกเฉิน

ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการประกาศพื้นที่ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินว่า พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้เรียกประชุมกรรมการเพื่อเสนอคำแนะนำเข้าหารือในคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม เพื่อให้นายกรัฐมนตรีประกาศพื้นที่ฉุกเฉิน ดังนั้น การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ต้องผ่านคำแนะนำของคณะกรรมการ และ ครม. ต้องพิจารณาไม่ให้ทับซ้อนกับกฎอัยการศึก โดยการประกาศพื้นที่จะแบ่งเป็นระดับธรรมดา ร้ายแรง และรุนแรงอย่างยิ่ง นอกจากนี้ จะมีการแบ่งเป็นโซนสี สีชมพูคือพื้นที่ฉุกเฉิน และสีแดงเป็นพื้นที่ฉุกเฉินเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีรูปแบบการดำเนินการต่างกันตามมาตรา 11 ซึ่งจะระบุถึงรายละเอียดว่าสถานการณ์ระดับใดให้ใช้อำนาจได้เพียงไร

**"วิษณุ"ชี้ไม่ใช้ทั่วปท.-รบ."ไม่เล่นกับไฟ"

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ยอมรับว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้หากดูตามลายลักษณ์อักษรจะรู้สึกว่าน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วบังคับใช้ไม่ได้ทั้งประเทศ เป็นการประกาศใช้เฉพาะพื้นที่ หากรัฐบาลใดประกาศใช้ทั้งประเทศก็เหมือนเล่นกับไฟ เพราะในประเทศไทยไม่เคยประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ

นายวิษณุกล่าวว่า ตาม พ.ร.ก.นี้ไม่ได้ห้ามกระจายข่าว แพร่ภาพ หรือสื่อข่าว แต่ระบุว่าถ้าเป็นภัยต่อความมั่นคง จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และต้องผ่านกลไก 3 ข้อคือ 1.ต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 2.การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยิ่ง 3.ต้องให้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินให้คำแนะนำ

"เมื่อผ่านทั้ง 3 ด่านนี้หมายความว่าคุณห้ามมาขายหนังสือพิมพ์ในพื้นที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าห้ามขายทั้งประเทศ แต่ถ้ายังฝ่าฝืนก็ต้องขอร้อง ถ้าขอร้องแล้วยังฝ่าฝืนอีกก็ต้องสั่งห้าม ซึ่งการฝ่าฝืนตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.นี้ จะได้รับโทษตามมาตรา 18 ที่ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 11 ผู้นั้นมีความผิดจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท แต่การจะเล่นงานได้คือต้องจับส่งตำรวจ ส่งอัยการ และส่งฟ้องศาล โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าการเสนอข่าวนั้นๆ ผิดตามมาตรา 11 หรือไม่ แต่ถ้าคิดว่าข่าวที่นำเสนอไม่ได้กระทบต่อความมั่นคง ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ศาลในชั้นถัดไปได้ มันเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังนั้น จึงมีหลักประกันอยู่มากมาย" นายวิษณุกล่าว

**แบะท่ายื้อ"พ.ร.ก."เข้าประชุมรัฐสภา

ส่วนกรณีที่จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.ก. นายวิษณุกล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อการทำงาน แต่รัฐบาลได้คิดเอาไว้แล้วว่าต้องการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในส่วนการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.นั้น เป็นเรื่องของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกับวิปรัฐบาล แต่อยากให้กลับไปทบทวนที่ผ่านมา บางครั้งกว่า พ.ร.ก.จะบังคับใช้ได้ก็ใกล้เปิดประชุมสภา ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่หลังออก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

"การจะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญได้ ต้องถวายร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมก่อน ไม่ใช่ว่านึกอยากจะเปิดก็เปิดได้เลย นอกจากนี้ ก็ต้องดูว่าสมาชิกรัฐสภาอยู่หรือไม่ วันนี้ต้องดูว่าเหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนก็จะเปิดประชุมสภาอยู่แล้ว ถ้าไปขอออก พ.ร.ฎ. เรียกประชุม และต้องคิดว่าเมื่อไหร่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯลงมา และพอลงมาก็เหลือเวลาอีกไม่นานก็เปิดสมัยประชุมตามปกติ" นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) เตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.นี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องการกระทบมันกระทบแน่ แต่ไม่เป็นไร สมควรจะทำ ซึ่งตนรู้ว่าวันหนึ่งต้องไปอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา

**"ชัยสิทธิ์"ถามคนค้าน"อยากเสียแผ่นดินหรือ"

ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.) กล่าวถึงกระแสองค์กรพัฒนาเอกชนและฝ่ายค้านคัดค้านการออก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินว่า ฝ่ายค้านก็ค้านไปเรื่อยจะค้านไปทำไม ยังไม่ประกาศเลย หากมีภาวะฉุกเฉินจึงค่อยประกาศ ซึ่งเหมือนกับแผนเผชิญเหตุของทหารที่มีแผนไว้เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน

"หรืออยากจะเสียแผ่นดิน พ.ร.ก.มีไว้เฉพาะในเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่ก็ตาย ทำเสร็จแล้วก็ต้องมาติดคุกมาขึ้นศาล กฎหมายธรรมดามันอยู่ไม่ได้ ทุกประเทศมีใช้กันหมด มีประเทศไทยที่พอเกิดเหตุอะไรขึ้นมาก็ยึกยัก ถ้าฉุกเฉินก็ต้องมีกฎหมายรองรับ ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ ลองคิดดูซิใครจะนั่งทำ เมื่อประกาศพื้นที่ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้สถานการณ์เบาบางลง เพราะเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่อย่างนั้นเมื่อทหารทำอะไรพลาดพลั้งไป ก็ต้องถูกขึ้นศาลถูกติดคุก" พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า เป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากเกินไปหรือไม่ พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าไม่ให้อำนาจแล้วจะไปเด็ดขาดได้อย่างไร ต้องให้อำนาจนายกฯ ถ้าใช้ไม่ถูกต้องหรือไม่เข้าท่าก็ต้องมาว่ากัน

**ผบ.ทบ.ระบุกฎอัยการศึกไม่ยกเลิก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. กล่าวว่า ยืนยัน พ.ร.ก.ฉบับนี้มีการเอาผิดทางแพ่งและอาญาของเจ้าพนักงาน ในกรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือเกินเลยก็ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 17 ถ้าเขาทำถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่ต้องรับผิด ซึ่งในเนื้อหาได้ระบุไว้ชัดเจน

เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.นี้สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่จริง ไหนบอกว่าไม่ชอบกฎอัยการศึก พอมีกฎหมายที่ถูกต้องขึ้นมาก็จะไม่ชอบอีก ต่อไปเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นไปตาม พ.ร.ก. และเมื่อประกาศพื้นที่ภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะยกเลิกกฎอัยการศึกให้เหลือเพียงพื้นที่ตามแนวชายแดน ภายใต้การปฏิบัติงานของกองกำลังเทพสตรี ส่วนพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกตามแนวชายแดนทั่วประเทศยังคงใช้อยู่ ไม่มีการยกเลิก

**"อานันท์"ชี้ใช้พ.ร.ก.ต้องไม่เกินขอบเขต

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 15.00 น. นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) เป็นประธานประชุม กอส. เพื่อรับฟังรายละเอียดของ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว จากนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยก่อนการประชุม นายอานันท์ให้สัมภาษณ์ว่า หลักแล้วการออกกฎหมายที่ใช้สำหรับสภาวะพิเศษหรือรุนแรง ก็เป็นหลักที่ใช้กันในนานาประเทศ ดังนั้น ในหลักการของการออกกฎหมายประเภทนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ที่สำคัญคือ เมื่อมีการออกกฎหมายประเภทนี้มา ก็ต้องยึดหลักให้ดีในการรักษาความสงบและการให้ความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งนี้ การรักษาความสงบในพื้นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนได้ เพราะไม่ใช่การเลือกระหว่างความมั่นคงกับสิทธิมนุษย์ชน ไม่มีบอกว่าเอาสิ่งนี้ แต่ไม่เอาสิ่งนั้น คงต้องผสมผสานกัน

"มีคำพูดอยู่คำหนึ่งที่ว่า จะมีความมั่นคงไม่ได้ ถ้าไม่มีการพัฒนา ถ้ามีแต่การพัฒนาแล้วไม่มีความมั่นคง ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การออกกฎหมายมา ก็ต้องกระทบหรือลดหย่อนต่อสิทธิมนุษย์เป็นธรรมดา แต่การลดหย่อนนั้น หลักการใหญ่ไม่ลด ลดแค่วิธีการ เพราะเมื่อมีภาวะฉุกเฉิน การจำกัดเสรีภาพบางอย่างก็ต้องทำ แต่จะต้องไม่เกินขอบเขต" นายอานันท์กล่าว

**ข้องใจไม่ปรึกษากอส.-ทำ"ปุปปับ-รุกรน"

"สิ่งที่เป็นห่วงคือ กลัวว่าจะใช้ไปในทางไม่ถูกต้อง ตรงนี้จึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องแก้ไข เพื่อสร้างความสมานฉันท์ โดยการลดความหวาดระแวง สร้างความเข้าใจและความศรัทธาในรัฐบาล แต่วิธีออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ อาจจะทำให้เกิดความสงสัยและไม่เข้าใจ เพราะถ้าเป็นการออกเป็น พ.ร.บ.ผ่านสภา หรือมีการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับ กอส.ก่อน คนก็จะสบายใจและมีความรู้สึกที่ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่บังเอิญว่า ปุบปับออกเป็น พ.ร.ก. ประเด็นสำคัญที่สุดคือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ไว้ใจ และวิธีการได้มาซึ่ง พ.ร.ก.อาจจะรุกรนเกินไปหน่อย ก็เลยก่อให้เกิดความสงสัยมากขึ้น อย่างสหรัฐอเมริกา ก็ทำเป็น พ.ร.บ.ผ่านสภา แม้ฝ่ายสิทธิมนุษยชนของสหรัฐเองจะโจมตีเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ กฎหมายนั้น อย่างน้อยๆ ก็ผ่านสภาแล้ว" นายอานันท์กล่าว

**ยัน"กอส."ไม่ลาออกยังคงทำงานต่อ

นายอานันท์ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการ กอส.หลายคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ดังกล่าวว่า เป็นสิทธิที่คนจะวิจารณ์ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนกระแสข่าวที่ว่า มีคณะกรรมการ กอส. เตรียมลาออก เพราะคิดว่าไม่สามารถทำงานต่อไปนั้น ตนยังไม่ทราบข่าว แต่ยืนยันว่า กอส.จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กอส.ยังได้ออกแถลงการณ์ พ.ร.ก.ดังกล่าวอาจจะขัดหลักสันติเตือนให้รัฐบาลให้ใช้อย่างรอบคอบ

**"อานันท์"พบ"แม้ว"ห่วงพื้นที่ควบคุม

ต่อมาเวลา 18.10 น. นายอานันท์ พร้อมด้วยนายบวรศักดิ์ ออกจากที่ประชุมกอส.เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า โดยใช้เวลาในการหารือกันประมาณ 40 นาที ภายหลังการหารือ นายอานันท์ และนายบวรศักดิ์ได้เลี่ยงลงทางประตูหลังตึกไทยคู่ฟ้า

กระทั่งเวลา 19.20 น. พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า ได้คุยกันแล้ว จะคุยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อพรุ่งนี้(วันที่ 19 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้คุยกับนายอานันท์เรื่อง พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไรบ้าง พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า คุยเรื่องข้อห่วงใยที่จะออกในวันที่ 19 กรกฎาคม เมื่อถามต่อว่า เรื่องพื้นที่ควบคุมใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ใช่ เป็นเรื่องที่อยู่ในคำสั่งทั้งหลายที่จะออก เมื่อถามย้ำว่า นายอานันท์ห่วงที่จะมีการประกาศพื้นที่ควบคุมตรงส่วนไหนบ้าง พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ไอ้ตรงนั้นไม่ห่วง ห่วงแต่เรื่องข้อคำสั่งต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตนจะคุยเรื่องต่างๆ ในที่ประชุม ครม.

**กอส.ระบุพ.ร.ก.ไม่สอดคล้องสมานฉันท์

เวลา 20.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอานันท์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกอส.อีกว่า คณะทำงานมีความเป็นห่วงการนำ พ.ร.ก.ดังกล่าวไปปฏิบัติ เพราะความไม่สงบในพื้นที่ที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้อยประสิทธิภาพในการทำงาน มีความรู้สึกว่าแนวทางความคิดว่าแนวทางความคิดของรัฐบาลนี้ไม่สอดคล้องกับแนวทางสมานฉันท์ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่มีประสิทธิภาพไม่สามารถจับผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาได้ แต่ไปจับบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งสร้างความบาดหมางไม่ไว้วางใจ ดังนั้น ถ้าไปมอบอำนาจให้กว้างขวางมากขึ้นโอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามจะนำอำนาจที่ได้รับเพิ่มขึ้นอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น และจะนำไปสู่วิกฤตที่แท้จริง

นายอานันท์กล่าวต่อว่า วันนี้ตนได้พบนายกฯเพื่อบอกความไม่ไว้ใจของกรรมการสมานฉันท์ โดยได้เรียนนายกฯว่า ท่านก็เป็นซีอีโอ การตัดสินใจเร็ว ถ้าเห็นเจ้าหน้าที่คนไหนปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องก็เป็นหน้าที่ของซีอีโอที่จะปลด หรือปรับย้าย ไม่ใช่เรื่องของ กอส. เพราะเราไม่ได้คุมกำลังตำรวจ ทหาร แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดำเนินการด้วยตัวเอง ตนเห็นว่ารัฐบาลต้องเปลี่ยนโครงสร้างนโยบายให้สอดคล้องกับหลักความสมานฉันท์ ที่ผ่านมาใช้รองนายกฯ และรัฐมนตรี หลายคน มีการปรับเปลี่ยนบุคคลในพื้นที่บ่อยครั้ง แต่ในระดับการเมืองซึ่งเป็นผู้บริหารนโยบายยังมีความสับสนอยู่มากและทำให้คนในพื้นที่มีความสับสนไปด้วย ว่าใครเป็นผู้กำหนดนโยบายกันแน่ การออกมาพูดกันคนละครั้งสองครั้ง บางทีก็ไม่ตรงกันและสอดคล้องกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสน

**เผยเหตุรุนแรงขึ้น85%-รัฐไม่รู้ใครทำ

นายอานันท์กล่าวว่า ดังนั้นนายกฯควรจะปรับระบบใหม่ โดยแต่งตั้งรองนายกฯคนหนึ่งที่มองภาพรวมทั้งระบบในภาพกว้าง ทั้งการรักษาความปลอดภัย ความสงบและความมั่นคง โดยจะต้องเป็นบุคคลที่คำนึงถึงเงื่อนไขทั้งทางทหาร ตำรวจ ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงเงื่อนไขทางการศึกษา ระบอบยุติธรรม สาธารณสุขด้วย โดยให้อำนาจคนๆ นั้นไปเลยและรายงานตรงกับนายกฯ

"ปัญหาความไม่เข้าใจ ความหวาดระแวงของประชาชน ปัญหาเกิดจากเมื่อเกิดความไม่สงบขึ้น ก็จับตัวคนร้ายไม่ได้ ผมได้รับรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น 85 เปอร์เซ็นต์ รัฐไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุระเบิดที่ประเทศอังกฤษเขาใช้เวลาเพียง 8 วันก็รู้ว่าใครทำ โดยอังกฤษนำเอากระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาสืบหาคนร้าย แต่ของเรายังไม่ลงตัวถ้าตรงนี้ทำไม่ได้ก็หาตัวคนร้ายได้ยากและถ้าหาตัวคนร้ายไม่ได้รัฐก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งผมเคยเตือนนายกฯแล้วว่าสุดท้ายนายกฯต้องรับผิดชอบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ยุติธรรมกับท่านก็ตาม" นายอานันท์ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นห่วงมาตราใดใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ นายอานันท์กล่าวว่า กฎหมายออกมาแล้วเราไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ถ้าจะมีประกาศอะไรตามมาหลังจากนี้ ก็ไม่ควรจะมีอะไรที่ฉับพลันนัก เราไม่อยากเห็นประกาศ 8-9 ฉบับตามออกมาหลังจากการประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ ทำแบบรวดเร็ว ขอให้ใช้เวลาคิดกันบ้าง

**"อภิสิทธิ์"ยื่นผู้ตรวจการฯวินิจฉัยพรก.

ทางด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการติดตามแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินว่า จากการหารือเห็นว่า บทบัญญัติมาตราต่างๆ ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้อยู่ในข่ายอาจขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ พรรคจะทำความเห็นเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้วินิจฉัยว่าสมควรว่าจะส่งบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ซึ่งพรรคเห็นว่าหมิ่นเหม่ต่อการกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

เช่น การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 11 (6) ที่พูดถึงการให้อำนาจนายกฯในการประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อความที่เบ็ดเสร็จ และกว้างขวางครอบคลุมทุกเรื่อง หรือกรณีเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชน

"ต้องขอย้ำว่า ผู้ที่มีอำนาจส่งศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ คือผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ดังนั้น จะเป็นดุลพินิจของท่านและความเห็นของท่านว่าจะส่งไปหรือไม่ ถ้าส่งไปจะเป็นการตีความเฉพาะมาตรา ซึ่งถ้ามีผลต่อมาว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ไม่ทำให้กฎหมายทั้งฉบับเสียไป แต่จะเสียเฉพาะมาตรานั้นๆ และไม่มีผลย้อนหลังในการดำเนินการตาม พ.ร.ก." นายอภิสิทธิ์กล่าว

**ชี้ต้องยกเลิกอัยการศึกษาตามม.222

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า พรรคอยากให้ข้อสังเกตว่ารัฐบาลพูดมาตลอดว่าต้องการให้เกิดความเป็นเอกภาพ ที่ผ่านมามีการชี้แจงว่า ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในอดีตก็คือกฎหมายที่ให้อำนาจในเรื่องเหล่านี้กระจัดกระจาย แต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา เท่ากับวันนี้ยังคงมีกฎหมาย 2 ฉบับ ที่อาจจะถูกนำมาบังคับใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือนอกจาก พ.ร.ก.ฉบับใหม่แล้ว ยังมีกฎอัยการศึกที่ตัวกฎหมายไม่ได้ถูกยกเลิกไป และการที่จะประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกจะต้องเป็นไปตามมาตรา 222 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากมีการใช้กฎหมาย 2 ฉบับในพื้นที่เดียวกัน จะก่อให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนของอำนาจ เพราะฉบับหนึ่งอยู่ที่ทหาร ฉบับหนึ่งอยู่ที่พลเรือน และจะทำให้ไม่มีเอกภาพในการใช้อำนาจ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำความชัดเจน

**เผยปัญหาใหญ่ปิดช่องตรวจใช้อำนาจ

"ปัญหาใหญ่ที่สุดของ พ.ร.ก.ฉบับนี้คือ การขาดกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งในหลายประเทศที่ออกกฎหมายในลักษณะนี้ยังเปิดช่องให้ตรวจสอบการใช้อำนาจได้ เช่น จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการอุทธรณ์ไปยังคณะบุคคล หรือใช้กระบวนการทางศาลในการตรวจสอบ แต่ พ.ร.ก.ที่ออกมาแทบจะเรียกได้ว่าปิดทุกช่องทางในการตรวจสอบ เพราะมีการยกเว้นความรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง ทางวินัยและปิดช่องทางของการใช้กระบวนการของกฎหมายปกครองและศาลปกครองคงเหลือไว้เพียงเฉพาะการใช้สิทธิของผู้ได้รับความเสียหายและประสงค์จะเรียกค่าเสียหายตามกระบวนการของศาลยุติธรรมเท่านั้น สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องทบทวนโดยเร่งด่วน" นายอภิสิทธิ์กล่าว

**"ประเวศ"เตือนอย่าผิดพลาดทำร้ายคนดี

ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นพ.ประเวศ วะสี หนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าวว่า ต้องมองการแก้ปัญหาความรุนแรง 3 จังหวัดภาคใต้ทั้งหมด อย่ามองเฉพาะการออก พ.ร.ก.อย่างเดียว เพราะตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติไม่มีหน้าที่ และไม่สามารถแก้ความรุนแรงได้ ตามหลักการที่จะแก้ความรุนแรงได้มี 3 ข้อ คือ 1.ต้องจับตัวผู้ก่อการร้ายให้ถูกต้อง 2.ต้องรักษามวลชนส่วนใหญ่ อย่าให้ไปเป็นแนวร่วม และ 3.สร้างความยุติธรรมให้กับคนทั้งหมด เพื่อไม่ให้เป็นแนวร่วม

"ตรงนี้ต้องระวังการใช้มาก อย่าไปทำให้เกิดความผิดพลาด ทำร้ายคนดี หรือสร้างความไม่ยุติธรรม เพราะจะทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และนายกรัฐมนตรีจะต้องระวังเพราะถ้าพลาดขึ้นมาแล้วความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น" นพ.ประเวศกล่าว

**ชี้แก้ไม่สำเร็จให้รัฐบาลโทษตัวเอง

น.พ.ประเวศกล่าวด้วยว่า อยากฝากถึงคนที่ออกมาค้าน พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่าต้องระวังให้ดีเพราะถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ก็จะออกมาโทษคนที่ออกมาคัดค้าน ดังนั้น ต้องให้รัฐบาลโทษตัวเอง และที่สำคัญถ้ามัวแต่มาค้านเรื่อง พ.ร.ก.กันวุ่นวายไปหมด ประชาชนก็จะลืมเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น

"ขอย้ำว่าผมไม่ได้ออกมาคัดค้าน เพราะถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาความรุนแรงไม่สำเร็จ รัฐบาลก็จะมาโทษผม แต่คราวนี้ถ้าออก พ.ร.ก.แล้วแก้ปัญหาไม่ได้ รัฐบาลจะต้องโทษตัวเอง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องใจเย็นๆ เพื่อไม่ให้การทำงานผิดพลาด เพราะถ้าผิดพลาดขึ้นมาอีก ผมเชื่อว่าจะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น" นพ.ประเวศกล่าว

**"จำลอง"ติงสมานฉันท์เหลว-หนุนใช้พ.ร.ก.

ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม แสดงความเห็นว่า การออก พ.ร.ก.นั้นเป็นเรื่องสมควรแล้วที่ต้องนำมาบังคับใช้นอกเหนือจากแนวทางการสมานฉันท์ ที่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่รัฐบาลต้องควบคุมการใช้กฎหมายนี้อย่างใกล้ชิด ให้กำจัดอยู่เฉพาะแต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางอำเภอในสงขลาที่เกิดปัญหาความรุนแรงเท่านั้น

"สถานการณ์ปัจจุบันคงจะต้องเน้นไปเป็นเรื่องของการทำให้คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ที่เกิดปัญหาอยู่ได้อย่างมีความสุข ทำอย่างไรถึงจะเลิกฆ่ารายวันให้ได้ อย่าไปหวังการสมานฉันท์มากเกินไป เพราะฝ่ายโน้นไม่สมานฉันท์ด้วย" พล.ต.จำลองกล่าวและว่า สำหรับทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองก็ขออย่าให้มีประเภท "หัวหดหมดแรงใจ" ก็แล้วกัน

**ฝ่ายค้านจี้เปิดสภา-ปธ.วุฒิฯอ้อมแอ้ม

ที่รัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณี ส.ส.และ ส.ว.เตรียมรวบรวมรายชื่อเพื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญภายหลังจากการออก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินว่า หากรัฐบาลรับฟังเสียงและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้วยกัน ก็น่าจะพิจารณาการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพราะหลายฝ่ายกังวลว่าการออก พ.ร.ก.สุดท้ายจะแก้ปัญหาได้หรือไม่และจะขยายผลต่อไปถึงเรื่องอื่นหรือไม่ รัฐบาลต้องฟังและจะคิดฝ่ายเดียวไม่ได้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน อีก 2-3 วันก็ต้องคุยกันในเรื่องนี้

นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญมาตรา 218 ซึ่งการที่ฝ่ายนิติบัญญัติทักท้วงก็ถือเป็นเรื่องสิทธิของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ ถ้าสภายังไม่เปิดก็ยังไม่สามารถพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าวได้ แต่เมื่อมีการเปิดประชุมสภาก็จะมีการนำเข้าพิจารณาทันที แต่ตอนนี้ตนคิดว่าทุกคนน่าจะหันหน้ามาให้ความร่วมมือในการรักษาความมั่นคงของชาติจะดีกว่า

**ส.ว.สตูลค้านเปิดประชุม-ให้รบ.ลองดู

พล.อ.หาญ ลีนานนท์ ส.ว.สตูล และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อประกาศใช้ไปแล้ว ก็ไม่อยากพูดหักล้างว่าควรหรือไม่ควรใช้ แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ให้โอกาสเจ้าหน้าที่เริ่มต้นกระบวนการจับกุมตรวจจับตั้งแต่ก่อนเวลาทำการ เช่น ให้อำนาจดักฟัง เป็นต้น ซึ่งจุดนี้มีประโยชน์ แต่เมื่อจับผู้ต้องสงสัยมาแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย อย่าไปใช้อำนาจนี้เพื่อล้มล้างสิทธิมนุษยชน อย่าลุแก่อำนาจ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาเกิดจากความไม่เป็นธรรมในสังคม มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต เช่น อุ้มฆ่า ทำให้สร้างความคับแค้นทางจิตใจให้ประชาชน จึงเป็นโอกาสที่ทำให้กลุ่มใช้ความรุนแรงเข้ามาแทรกซึม ที่สำคัญผู้ใช้อำนาจต้องมีความเป็นธรรม ต้องระลึกไว้ว่ากฎหมายนี้เป็นเรื่องของชาติไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ใครมายุแหย่ให้จับคนโน้นคนนี้ ก็เชื่อแล้วไปจับ รัฐต้องมีสายข่าวที่แน่นอน เพื่อการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ด้วยเหตุและผลที่แน่นอน

เมื่อถามว่า หากจะมีการให้เปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้เห็นด้วยหรือไม่ พล.อ.หาญกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยเพราะควรให้ฝ่ายบริหารลองปฏิบัติดูก่อน จะไปประชุมพิจารณาทันทีทำไม

**กมธ.พม.ระดมทุกองค์กรถก19ก.ค.

ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี ในฐานะประธานกรรมาธิการ(กมธ.) การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา กล่าวว่า วันที่ 19 กรกฎาคม เวลา 13.00 น. กมธ.พัฒนาสังคมฯ และ กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา จะจัดเวทีสาธารณะให้ประชาชน นักวิชาการจากภาคกฎหมาย องค์กรภาคประชาชน สภาทนายความ มหาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และองค์กรศาสนาอื่นๆ เพื่อระดมความคิดเห็นในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ต่อสภา ส่วนกรณี ส.ส.และ ส.ว.เตรียมล่ารายชื่อสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เพื่อขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.นั้น ตนมองว่าหากมีการเปิดสภาสมัยวิสามัญก็น่าจะดีขึ้น แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้เปิดหรือไม่ ถ้าเปิดได้อาจเป็นการช้าเกินไปเพราะขณะนี้ได้ประกาศใช้ไปแล้ว

**"บัวแก้ว"แจง58ผู้แทนสถานทูต

วันเดียวกันที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสาระสำคัญเกี่ยวกับความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.และสาระสำคัญต่างๆ ใน พ.ร.ก. ให้ผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตและองค์กรระหว่างประเทศในไทยทราบ โดยมีตัวแทนสถานทูตมาร่วมฟังรวม 58 คน ซึ่งใช้เวลาชี้แจงและตอบคำถามประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า การชี้แจงได้เน้นในประเด็นที่ว่าการใช้อำนาจต่างๆ ภายใต้ พ.ร.ก.นี้ ไม่ได้ไปไกลกว่าอำนาจในอดีตที่มี ภายใต้กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ การใช้อำนาจต่างๆ จะสอดคล้องและอยู่ภายใต้บทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ก.มีแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะกติกาของสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นภาคีอยู่

**ระบุนำพ.ร.ก.เข้าเปิดสภาสิงหาคม

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นที่ทางคณะทูตได้มีข้อสอบถามคือเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องออก พ.ร.ก. ซึ่งทางปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จ.ยะลา ทำให้รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการแบบบูรณาการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภาคใต้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ย้ำหลักการที่จะต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย ทั้งชี้แจงว่าเมื่อมีการเปิดประชุมสภาในสมัยปกติในเดือนสิงหาคมก็จะมีการนำกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของกติกาของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นภาคีร่วมกับประเทศต่างๆ 154 ประเทศนั้น ทางรัฐบาลไทยกำลังที่จะเตรียมร่างหนังสือเพื่อชี้แจงให้ทราบเกี่ยวกับการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยจะแจ้งทั้งในส่วนของสหประชาชาติ และประเทศภาคีอีก 154 ประเทศต่อไป

**ค้นบ้านมือบึ้มยะลา-ยึดเอกสาร"อิรัก"

ส่วนกรณีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลา 6 จุด ลอบวางเพลิง 4 จุด ลอบวางระเบิดปลอม 7 จุด โปรยตะปูเรือใบอีก 4 จุด และซุ่มยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย ประชาชนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บกว่า 20 ราย ซึ่งทางการสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 คน และผู้ต้องสงสัยได้ 5 คนนั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 08.30 น. วันเดียวกันนี้ ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวน ภ.จว.ยะลา ร่วมกับตำรวจ สภ.อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี บุกเข้าตรวจค้นบ้านของนายการียา โต๊ะเฮง อายุ 21 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56/2 ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ยิงได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมได้ หลังก่อเหตุยิงตำรวจเมื่อคืนวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตรวจค้นพบมีดสปาร์ตายาวประมาณ 70 เซนติเมตร และพบเอกสารเกี่ยวกับประเทศอิรัก รวมทั้งเอกสารปลุกระดมบางส่วน เจ้าหน้าที่จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

**ยึดซิมการ์ด-ใบปลิวปลุกระดม

นอกจากนั้นตำรวจชุดสืบสวนร่วมกับตำรวจ สภ.อ.บันนังสตา จ.ยะลา เข้าตรวจค้นบ้านผู้ต้องสงสัยอีก 3 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ในคืนเกิดเหตุ ประกอบด้วย นายมะรอมมือลี กาหลง บ้านเลขที่ 152 หมู่ 3 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา พบซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือจำนวน 6 อัน และตรวจค้นบ้านนายมิรวาน อิสแม บ้านเลขที่ 116 หมู่ 3 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา พบเอกสารและใบปลิวเกี่ยวกับการปลุกระดมประชาชน รวมทั้งเอกสารบัญญัติ 10 ประการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่ใช้ปลุกระดมแนวร่วมในพื้นที่ ส่วนการตรวจค้นบ้านนายมูคอรี อาเกะ เลขที่ 197 หมู่ 3 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

**ฟันหัว-เชือดคอชาวสวน"ปะแต"

ด้านสถานการณ์เหตุทำร้ายรายวัน เวลา 09.15 น. ตำรวจ สภ.อ.ยะหา จ.ยะลา รับแจ้งจากชาวบ้านว่าเกิดเหตุฆ่ากันตายในพื้นที่หมู่ 2 บ้านลือเน็ง ต.ปะแต อ.ยะหา ไปตรวจสอบพบศพนายซอมะ เจ๊ะนิ อายุ 59 ปี เดิมอยู่ อ.มายอ จ.ปัตตานี แต่มาทำสวนผลไม้อยู่ในพื้นที่ บ้านลือเน็ง ต.ปะแต อ.ยะหา นอนจมกองเลือดอยู่ข้างรถจักรยานยนต์ สภาพศพถูกฟันด้วยของมีคมที่ใบหู ศีรษะ และบริเวณลำคอเกือบขาด สอบสวนทราบว่าผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์ออกมาจากขนำในสวน เพื่อจะไปกินน้ำชาภายในหมู่บ้าน มีคนร้ายดักซุ่มอยู่ข้างทาง ใช้ของมีคมฟันจนเสียชีวิตแล้วหลบหนีไป ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างสอบสวนว่าเรื่องส่วนตัว หรือการก่อความไม่สงบของกลุ่มคนร้าย

**ระเบิดสะพาน-ยิงพนักงานรถไฟ

ที่ จ.นราธิวาส เวลา 07.50 น. เกิดเหตุระเบิดขึ้นในป่าหญ้าคา บริเวณหัวสะพาน ถนนภายในหมู่บ้าน บ้านตราแดะ หมู่ 5 ต.บาโงสะโต อ.ระแงะ ร.ต.อ.ปรีชา กิ้มเกลี้ยง รองหัวหน้าชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ(นปพ.) ภ.จว.นราธิวาส ตรวจที่เกิดเหตุพบหลุมระเบิดลึก 1 ฟุต และกว้าง 1 ฟุต เป็นระเบิดแสวงเครื่อง ชนิดแอมโมเนียไนเตรต บรรจุในกล่องพลาสติค น้ำหนัก 7 กิโลกรัม จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ คาดว่าคนร้ายนำระเบิดมาฝังไว้ในช่วงกลางคืน เพื่อทำร้ายตำรวจและทหารชุดคุ้มครองครูใน ต.บาโงสะโต ที่ใช้เส้นทางผ่านทุกวัน แต่ขณะเกิดเหตุรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ขับรถผ่านไปแล้ว จึงไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย

เวลา 08.20 น. ขณะที่พนักงานหมวดบำรุงทางรถไฟตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 8 คน ใช้รถค้ำถ่อเป็นพาหนะเดินทางจากสถานีรถไฟตันหยงมัส มุ่งหน้าไปสถานีรถไฟบ้านป่าไผ่ ต.ตันหยงลิมอ เพื่อตรวจสภาพเส้นทาง ครั้นถึงบ้านบ่อทอง หมู่ 1 ต.ตันหยงมัส ซึ่งห่างจากสถานีรถไฟตันหยงมัส 2 กิโลเมตร ถูกคนร้ายลอบซุ่มยิงจากแนวป่าละเมาะข้างทาง นายบุญชู สุขสบาย อายุ 45 ปี หัวหน้าคนงาน ถูกกระสุนปืนถากที่ข้อเท้าบาดเจ็บเล็กน้อย และนายมูฮัมหมัด ซอรี อายุ 33 ปี ศีรษะแตก เพราะกระโดดหลบกระสุนปืนไปชนก้อนหิน ร.ต.ต.ชัยฤทธิ์ อินดำ ร้อยเวร สภ.อ.ระแงะ นำส่งโรงพยาบาลระแงะ ส่วนในที่เกิดเหตุไม่พบปลอกกระสุนปืนของคนร้าย

**บึ้มอีกจุดทหาร-ตำรวจเจ็บ2

เวลา 09.20 น. ขณะที่กำลังผสมตำรวจ 5 นาย และทหาร 2 นาย ชุดคุ้มครองครู ต.บางปอ อ.เมืองนราธิวาส ใช้รถยนต์สายตรวจตำรวจยี่ห้อนิสสัน รุ่นบิ๊กเอ็ม สีแดง ทะเบียน 9 ช-0749 กทม. ลาดตระเวนผ่านสะพาน บ้านโคกสุมุ หมู่ 3 ต.บางปอ เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่หัวสะพาน แรงระเบิดทำให้รถยนต์เสียหลักตกไหล่ถนน และมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 2 นาย คือ ส.ต.ต.เจียมพล จูประโคน อายุ 23 ปี ผบ.หมู่ งานป้องกัน สภ.อ.เมืองนราธิวาส ถูกสะเก็ดระเบิดที่ติ่งหู 1 จุด และจ่าโทวงศกร เสนศิลา อายุ 22 ปี ทหารสังกัด ร้อย ร.5 ค่ายมหาสุรสีหนาท จ.ระยอง ชุดช่วยราชการภาคใต้ ถูกสะเก็ดระเบิดที่เท้าขวา และท้ายทอย 2 จุด ต่อมาชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด นปพ.ตรวจที่เกิดเหตุ พบหลุมระเบิดกว้าง 1.20 เมตร ลึก 1 เมตร โดยใช้ระเบิดแสวงเครื่องชนิดแอมโมเนียไนเตรตบรรจุในถังเคมีดับเพลิง ใช้สายไฟอ่อนยาว 2 เมตร เป็นตัวจุดชนวน

**ยิงผอ.ร.ร.บ้านท่าด่านดับคารถ

ที่ จ.ปัตตานี เวลา 09.30 น. พ.ต.อ.สุธน ดิษฐบุตร ผกก.สภ.อ.ยะหริ่ง รับแจ้งเหตุยิงกันบนถนนสายชนบท หมู่ที่ 3 บ้านท่าด่าน ต.ตะโละกาโปร์ ตรวจสอบพบรถยนต์กระบะอีซูซุ ทะเบียน กข-4576 ปัตตานี ตกลงข้างทาง กระจกหลังมีรอยถูกยิงเกือบ 10 รู ภายในรถพบศพนายดุสิต เหล่าสิงห์ อายุ 35 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าด่าน ถูกยิงเข้าท้ายทอยทะลุใบหน้าหลายนัด ภายในรถพบอาวุธปืนขนาด 9 มม.พร้อมกระสุนของผู้ตาย 1 กระบอก และยังพบกระสุนปืนสงครามจำนวนกว่า 10 ปลอก ห่างไปประมาณ 10 เมตร ยังมีท่อนไม้ขนาดใหญ่ขวางอยู่บนถนน

เบื้องต้นทราบว่าผู้ตายขับรถออกจากบ้านพักมุ่งหน้าไปโรงเรียน ถึงที่เกิดเหตุพบท่อนไม้ขวางอยู่จึงชะลอรถ คนร้ายไม่ต่ำกว่า 2 คนซึ่งซุ่มอยู่ในป่าละเมาะข้างทาง ใช้อาวุธปืนยิงถล่มแล้วหนีเข้าป่าไป

**รดน้ำศพผอ.รร.บ้านท่าด่าน

ต่อมาเวลา 16.30 น. ศพของนายดุสิต เหล่าสิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าด่าน ถูกนำกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดเขาตกน้ำ ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา มีนายสุนันท์ เทพศรี หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี ท่ามกลางบรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าโศก และมีกำหนดพระราชทานเพลิงในวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคมนี้

รายงานข่าวจาก จ.ปัตตานี แจ้งว่า หลังเกิดเหตุนายดุสิตถูกยิงตายทำให้ขวัญและกำลังใจครูเสียและพากันหวาดผวากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ในเขต ต.ตะโละกาโปร์ ซึ่งมีทั้งหมด 7 โรงเรียน ได้พากันตัดสินใจปิดโรงเรียนโดยปริยาย จำนวน 3 วัน ขณะเดียวกันในสัปดาห์หน้าทางสมาพันธ์ครูปัตตานีจะมีการประชุมเกี่ยวกับมาตรการของเจ้าหน้าที่ต่อครูในการรักษาความปลอดภัย ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนและพอใจหรือไม่

 

โดย: ข่าว (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:16:09 น.  

 

แฉนายกฯใช้พรก.ตั้งกองทัพส่วนตัว

โดย ผู้จัดการรายวัน 20 กรกฎาคม 2548 00:39 น.


ครม. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 จังหวัดภาคใต้ 4 อำเภอสงขลา ไม่เข้าข่าย บังคับใช้7 มาตรการ -จับผู้ต้องสงสัย - เรียกมาสอบ - เนรเทศคนต่างด้าว ยังไม่ห้ามสื่อเสนอข่าว "ทักษิณ" มอบอำนาจให้ "ชิดชัย " บัญชาการ นายกสมาคมทนายความเผย เบื้องหลัง พ.ร.ก.คือ All the Prime Minister's men กองทัพเล็กๆของนายกฯ ทำได้ทุกอย่างโดยไม่โดนฟ้อง "อานันท์" กล่อม กก. กอส. ไม่ให้ลาออก อ้างยังเป็นความหวังประชาชน เตรียมเสนอแนวทางกับนายกฯวันนี้

เมื่อบ่ายวานนี้ (19 ก.ค.)พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เกี่ยวกับการประกาศใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

นายวิษณุเปิดเผยว่า ครม.มีมติ ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ให้แต่งตั้ง พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เป็นประธานกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมอบอำนาจนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.ต.อ.ชิดชัย ในการสั่งการต่างๆตาม พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินแทน

พร้อมทั้งแต่งตั้งให้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ดูแลในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู บูรณะ จ่ายเงินค่าทดแทน ค่าช่วยเหลือความเป็นธรรมต่างๆ และให้นายวิษณุ เป็นที่ปรึกษาในเรื่องของมาตรการทางกฎหมาย

นอกจากนั้น ครม .ยังเห็นชอบให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และประกาศให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นดินแดนที่มีสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง เพราะเป็นจังหวัดที่ถอนกฎอัยการศึกออกหมดทุกอำเภอ โดยแทนที่ด้วย พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีอายุคราวละ 3 เดือน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่เห็นชอบให้ขยายไปถึง 4 อำเภอ ใน จ.สงขลา ตามที่เสนอมา

**ประกาศใช้ 7 มาตรการ

ส่วนมาตรการที่จะประกาศใช้ มี 7 มาตรการตามมาตรา 11 คือ 11(1) ประกาศให้มีอำนาจจับกุมควบคุมผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดในฐานะผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุน ตัวการผู้กระทำเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการกระทำอันเกิดความรุนแรง 11(2)ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เรียกบุคคลมารายงานตัว หรือส่งมอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน 11(3)ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งอายัดอาวุธ สินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า ให้ใช้หรือจะใช้เพื่อกระทำความผิด 11(4)ให้มีอำนาจตรวจค้นรื้อถอน ทำลายอาคาร สิ่งปลูกสร้างเท่าที่จำเป็น โดยให้นำมาใช้เฉพาะการค้นเท่านั้น ไม่ให้รื้อถอน 11(8)ประกาศให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้คนต่างด้าว ออกนอกราชอาณาจักรเฉพาะที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 11(9)ให้ประกาศให้การซื้อขาย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ หรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งใช้ในการก่อความไม่สงบ โดยจะให้นำมาใช้เฉพาะซิมการ์ด หรือเคมีภัณฑ์บางชนิด 11(10)ออกคำสั่งให้กำลังทหารช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจควบคุมสถานการณ์ ให้เกิดความสงบ โดยทั้ง 7 มาตรการ จะต้องให้นายกฯลงนาม แล้วประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

ส่วนมาตรการอื่นๆ เช่น ห้ามสื่อเสนอข่าว ห้าม มิให้มีการชุมนุมมั่วสุมกัน ฯลฯ ยังไม่ได้ประกาศใช้

" เรื่องของสื่อมวลชนไม่ได้คิดว่าจะต้องเข้าไปทำอะไร แต่ในส่วนของตัวอย่างที่ยกเกี่ยวกับเรื่องซีดี หรือวีดีโอเทปตัดหัว ตัดคอ เหตุที่เกิดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอิรัก ที่วันนี้มีการนำมาเผยแพร่ และมีบางคนนำมาเผยแพร่ตัดต่อปนกับเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากใครดูซีดี หรือวีดีโอนั้นแล้ว จะมองไม่ออกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ใด ซึ่งมีการเริ่มฉายไปที่ภาพเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ รวมด้วยภาคตัดคอที่อิรักต่อเนื่องกัน ซึ่ง ครม.รู้สึกว่าภาพเหล่านี้ควรจะห้ามปราม แต่ขณะนี้คิดว่ายังอยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมสถานการณ์ตามปกติได้ โดยไม่ต้องนำมาตรการ 1 ใน 16 มาตรการ ของ พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้"

**ขรก.ยังได้เงินพิเศษ

ครม.ยังเห็นว่า สมควรให้ กอ.สสส.จชต.ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เรียบร้อยตามพ.ร.ก.นี้ มีการอบรม ปฐมนิเทศน์ชี้แนะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้รู้ว่าอย่าทำอะไรที่ล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินกว่าเหตุ ให้รู้ว่าจะต้องรับผิดชอบถ้าทำอะไรผิดกฎหมาย ให้รู้ว่าหลักธรรมาภิบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อย คืออะไร และถ้าจำเป็นก็อาจจะต้องพิมพ์เป็นคู่มือแจกเจ้าหน้าที่ด้วย

ส่วนข้าราชการที่ไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 บาท - 2,500 บาท ตราบเท่าจนถึงวันยกเลิกกฎอัยการศึก ครม เห็นว่า เมื่อยกเลิกกฎอัยการศึก และแทนด้วยพ.ร.ก.ฉบับนี้แล้ว ก็ขอให้ข้าราชการมีสิทธิประโยชน์ตามนั้นต่อไปภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 เดือนนี้

**ตั้งกองทุนฯช่วยคนใต้- กก.รับร้องทุกข์

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ ครม.เห็นชอบในหลักการว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองตรวจสอบ การล่วงละเมิดประชาชน เพื่อรับร้องเรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าเหตุจะเกิดที่ใดก็สามารถร้องมาได้ ตามคำปรารภของนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระ เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ( กอส.) โดยคณะกรรมการ กอส.ชุดนี้ จะเป็นผู้ตรวจสอบดูแลให้ ซึ่งความจริงทาง กอส.ได้เตรียมเสนอตั้งคณะกรรมการมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ประกาศ แต่จะถือโอกาสประกาศในวันสองวันนี้

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้มีการตั้งกองทุนสมานฉันท์ ขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการ กอส.ซึ่งเป็นกองทุนที่จะรับบริจาคจากภายนอก เพื่อช่วยเหลือคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและประชาชนที่ประสบภัย โดยครม.เห็นชอบให้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแล้ว ให้มีการตั้งกองทุนดังกล่าว โดยขึ้นอยู่กับ กอส.

นายวิษณุกล่าวว่า การยกเลิกกฎอัยการศึก ยกเลิกเฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้ ที่เหลืออีก 17 จังหวัดยังคงใช้อยู่

**หลักประกันไม่จับมั่ว

สำหรับการจับกุมผู้ต้องสงสัยตามมาตรา 11 (1) นั้น นายวิษณุกล่าวถึง หลักประกันเพื่อป้องกันไม่ให้มีการจับผู้บริสุทธิ์ว่า มี 4 ประการคือ 1.การควบคุมตัวต้องขออำนาจศาล 2.ระหว่างการควบคุมตัวไม่ให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมเสมือนหนึ่งผู้ต้องหา คือใส่โซ่ตรวนไม่ได้ 3.ไม่ให้ควบคุมตัวไว้ในคุก เรือนจำ ทัณฑสถาน โดยให้นำตัวไปควบคุมไว้ในบ้าน โรงพยาบาล วัด หรือศาสนสถาน และ 4.ระหว่างการควบคุมตัว ต้องทำรายชื่อประกาศให้ญาติพี่น้องทราบ

พล.ต.อ.ชิดชัยกล่าวว่า เท่าที่ผ่านมา ได้ประเมินเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดมาตลอด ทุกหมู่บ้านในแต่ละตำบล ว่ามีสถานการณ์รุนแรง ปานกลางหรือเบาบางอย่างไร ซึ่งดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระเบิด ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ ราษฎร ครู วางเพลิง ก่อกวนต่างๆ รวมทั้งเหตุการณ์ที่ ยะลา ทำให้มองเห็นว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปอย่างนี้ จะยากต่อการควบคุม จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงขนาดนี้ไม่ได้เกิดในทุกหมู่บ้าน แต่พื้นที่ที่เห็นว่าเบาบาง บุคคลอื่นอาจข้ามพื้นที่เข้ามาก่อความไม่สงบได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องประกาศทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ

** พ.ร.ก.เข้าสภา 22 สิงหา

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมครม.ถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เป็นเรื่องไม่ธรรมดาเลย มันเป็น wake up call เป็นการเตือน หรือ ลองของ ฝ่ายเรายังตั้งรับอยู่มาก แต่ก็ต้องขอชมเชย เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ยังสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้เร็ว จึงอยากให้ผู้ใหญ่โดยเฉพาะบรรดา ผบ.เหล่าทัพ ลงไปประสานงานกับลูกน้องให้มากกว่านี้

"ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ยังทำงานไม่ดี เป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่าฝ่ายรุก ส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์มามากกว่าอาสา ประชาชนไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่จึงไม่ให้ความร่วมมือ" นายกรัฐมนตรี กล่าว และยังพูดถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าคงจะไม่เปิด แต่จะให้เป็นวาระแรกในการประชุมสภาสมัยปกติ วันที่ 22 ส.ค.48

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังระบุว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ ประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยถึง 90 % มีเพียง 10 % เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งการใช้พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพเท่าที่จำเป็น จะไม่ริดรอนสิทธิ์มากเกินไป สำหรับ มาตรา 7 ในพ.ร.ก.ที่ให้โอนอำนาจของรัฐมนตรี ให้นายกฯชั่วคราวนั้น จะเลือกใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

**"อานันท์"กล่อมลูกทีมห้ามลาออก

รายงานแจ้งว่าภายหลังมีกระแสว่าจะมีคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)บางคนจะลาออก เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลออกพ.ร.ก.ครั้งนี้ เพราะเป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับนายกรัฐมนตรีมากเกินไป และมีหลายมาตราที่เข้าข่ายลิดรอน สิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชน ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางการแก้ปัญหาแบบสันติวิธี

อย่างไรก็ตามในการประชุมกอส.นัดพิเศษ ที่กระทรวงต่างประเทศเมื่อวานนี้ เพื่อเสนอมาตรการแก่รัฐบาล นายอานันท์ .ได้พยายามเกลี่ยกล่อมคณะกรรมการ ไม่ให้ลาออก

"ผมอยากเรียนว่า กอส.ยังเป็นความหวังของประชาชนอยู่ การลาออกอาจจะส่งผลให้ประชาชนรู้สึกผิดหวัง และสถานการณ์อาจจะย่ำแย่ไปกว่าเดิม จึงอยากให้ทุกคนนั้นทำงานกันต่อไป และต้องเข้าใจว่า เราไม่ได้ทำงานขึ้นกับรัฐบาล เราทำงานให้ประชาชนและมีความเป็นอิสระ จึงไม่อยากให้ทุกหวั่นไหว ขอให้ทำงานกันต่อไป" แหล่งข่าว อ้างคำพูดของนายอานันท์

แหล่งข่าวบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ กอส.จะใช้เวลา 9 เดือน เพื่อนำเสนอมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมต่อรัฐบาล แต่เมื่อมีการออกพ.ร.ก.นี้ขึ้นมา จึงมีการเสนอว่า ควรที่จะร่นระยะเวลา มาเป็นวันที่ 31 ส.ค.48 จากนั้น ก็ควรที่จะยุติบทบาทของ กอส.ลง เพราะดูจากสถานการณ์เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะนำข้อเสนอของ กอส.ไปปฏิบัติ

**เสนอแนวทาง นายกฯวันนี้

นายอานันท์ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการ กอส. ค่ำวานนี้ว่า ได้มีการหารือ เพื่อร่นระยะเวลาในการทำงานลงมา จากกำหนดเดิมในปีหน้าให้เร็วยิ่งขึ้น ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.ฉุกเฉินนั้น ทาง กอส.เห็นว่า เป็นประเด็นที่จะกระทบต่อสิทธิของประชาชน จึงได้มีการหารือเพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมต่อรัฐบาลในวันนี้

นอกจากนี้ที่ประชุม ได้มีมติให้ น.พ.ประเวศ วะสี เป็นกรรมการบริหารกองทุนสมานฉันท์ ซึ่งกองทุนดังกล่าวตั้งขึ้นตามมติครม.เมื่อวานนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน จากปัญหาการก่อความไม่สงบ โดยมีกรรมการ กอส.จากส่วนกลางร่วมเป็นกรรมการอีก 4-5 คน และมีกรรมการในท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบคำร้อง และหลักฐานต่างๆมาร่วมด้วย ซึ่งกรรมการชุดนี้จะทำงานประสานกับชุดของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบเรื่องการเยียวยาผู้ประสบปัญหาจากการก่อความไม่สงบ

**น้อยใจแต่ไม่ลาออก

นายไพศาล พรหมยงค์ กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)กล่าวว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการออกพ.ร.ก.แต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน หากรัฐบาลเห็นว่าการออกกฎหมายดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาได้ ก็ต้องรับผิดชอบระยะยาว แต่ที่ไม่เหมาะสมคือ การฉวยโอกาสในขณะที่มันกำลังมีปัญหาเหมือนกับเป็นการไม่ให้โอกาสใครได้คิด

" แต่คิดว่า กอส.ทุกคนคงไม่มีใครลาออก เพราะไม่ใช่เด็ก และเราไม่ได้ทำเพื่อสนองความต้องการคนใดคนคนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าทะเลาะกันแล้วก็ลาออก "นายไพศาล กล่าว

**"อภิสิทธิ์"ยันส่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินตีความ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะรวบรวมประเด็นในบางมาตราของพ.ร.ก. เพื่อส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาพิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งต้องขอเวลาในการรวบรวมข้อมูล เพราะต้องรอประกาศต่างๆที่จะออกตามมาด้วย แต่ทั้งหมดขอให้สบายใจได้ว่า กระบวนการที่พรรคจะทำคงไม่กระทบกระเทือนการทำงานของรัฐบาลที่จะใช้เครื่องมือตรงนี้ แต่จะช่วยสร้างความมั่นใจว่า มีช่องทางในการที่จะหาทางตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอตรงนี้ก็สอดคล้องกับทางคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และจะสามารถไปลดจุดอ่อนในเรื่องความไม่มั่นใจ หรือความหวาดระแวงได้ ซึ่งตนเห็นว่าช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เป็นช่องทางที่ดี เพราะมีสถานะตามรัฐธรรมนูญ และผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ก็คงจะมีความเป็นกลางทางการเมือง

**All the Prime Minister's men

ช่วงบ่ายวานนี้ คณะกรรมาธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน จัดสัมมนาเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากบุคคล หลากหลายสาขาอาชีพ

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ และ กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)กล่าวว่า สิ่งที่ กอส. ต้องการอย่างมากในช่วงทำงานใหม่ๆ คือ ยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อสร้างความสมานฉันท์ แต่แล้วก็มีการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้จนได้

"ผมทราบข่าวจากลูกศิษย์ ที่เป็นนายตำรวจว่า จริงๆ เขามีการตั้ง All the Prime Minister's men หรือ หรือ กองทัพเล็กๆ ของนายกฯ การออก พ.ร.ก.นี้ก็คือ ต้องการมี All the Prime Minister 's men อย่างเดียวที่สามารถทำอะไรก็ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายต่อสังคม เขาเขียนกฎหมายเพื่อให้คนของนายกฯ เป็นครบทุกอย่าง และไม่ต้องถูกฟ้องในคดีอาญา คดีแพ่ง และ วินัยด้วย"

นายเดชอุดม กล่าวว่า กฎหมายนี้เลวร้ายยิ่งกว่าประกาศคณะปฏิวัติ เพราะเขียนซ่อนเงื่อน เหมือนกับเราถูกฉีดยาโดยไม่รู้เรื่อง เขียนเพื่อให้คนๆ เดียวมีอำนาจ คนเหล่านี้ทำอะไรก็ได้ อำนาจการใช้รวมอยู่ที่คนๆ เดียว สภาผู้แทนราษฎร หรือ วุฒิสภาจะออกกฎหมายอะไร เขาก็ดึงไปอยู่ที่เดียว มันมีหรือไม่ ความซื่อสัตย์ต่อประชาชนที่อ้างว่าได้รับการเลือกตั้งมา

"ผมเสียใจที่เห็นกฎหมายที่ไม่มีหลักนิติธรรมเหลืออยู่เลย ไม่มีใจต่อการนำมาซึ่งความยุติธรรม หรือหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีหลักที่จะเอาไปสอนวิชาชีพกฎหมายได้เลย ไม่มีหลักสิทธิมนุษยชน การเข้าพบนายกฯ ของนายอานันท์ และพวกผมค่ำวานนี้ เป็นการขอร้องจาก กอส.ครั้งสุดท้ายว่า อย่าประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยนายอานันท์ ย้ำว่า การออก พ.ร.ก.เป็นคนละทิศทางกับกอส." นายเดชอุดม กล่าว

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กทม.กล่าวว่า ตนเชื่อว่าทุกคนไม่รังเกียจพ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้น ทุกคนก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหา แต่ที่น่ากังวลใจคือเนื้อหาสาระที่ปรากฎใน พ.ร.ก. ซึ่งออกโดยรัฐบาล ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.ทั่วๆไป มีผลใช้ทันทีก่อนนำข้าสภา ฉะนั้นในพ.ร.ก.นี้ จึงมีการแฝงอำนาจของการบริหารอยู่มากมาย หากมีการนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาให้บ้านเมือง ตรงนี้จะต้องนำมาพิจารณา ตนเชื่อว่า หากนำ พ.ร.ก.ฉบับนี้ไปถามประชาชน 80-90 เปอร์เซ็นต์ ต้องเห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ในหลักการที่ว่า อะไรก็ได้ที่จะแก้ไขปัญหา แต่ถ้าหากหลายฝ่ายอ่าน พ.ร.ก.อย่างเข้าใจ ทำความเข้าใจกับสาระที่ปรากฎ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ความจริงก็จะปรากฎ

**หวั่นขยายแนวร่วมก่อการร้าย

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจ และเพื่อข่มขู่ผู้กระทำความผิด ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แต่อาจจะก่อให้เกิดแนวร่วมของการก่อการร้ายที่ขยายตัวออกไป การแก้ปัญหา ยิ่งแก้ ก็ดูเหมือนสังคมยิ่งวิกลจริต แต่ก็ยังแก้ปัญหาความมั่นคงไม่ได้ สิ่งที่น่ากลัวคือ พวกลิ่วล้อ อาชญากร จะมาใช้อำนาจโดยไม่มีขอบเขต ถือเป็นข้อที่ควรระวัง กฎหมายฉบับนี้โอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรม อื่นๆไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรี จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า "รอเถ้าแก่ตัดสิน" ซึ่งทำให้การประสานงานเกิดขึ้นได้ยาก

**ส่งเสริมความรุนแรง

ด้านพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวว่า เป็นความพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงโดยบัญญัติ ความรุนแรงในทางโครงสร้าง เพราะการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จ.ชายแดนภาคใต้ ตามกฎหมายเดิมก็ย่ำยีศาสนิกชนอย่างรุนแรงเกินกว่าจะรับได้อยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ เป็นการส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง การระมัดระวังความรุนแรง จะลดน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา

การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ นายกรัฐมนตรีรู้สึกว่า มีอำนาจในมือไม่พอต่อการสนองความต้องการใช้อำนาจของท่าน เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในอาการปกติ หรืออยู่ในอาการวิกลจริต ก็ได้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เหมือนประกาศคณะปฏิวัติในการยึดอำนาจ รวมทั้งบุคคลที่อยู่รายล้อมนายกรัฐมนตรี ก็เหมือนจะสนองตอบไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งเป็นการชักพากันลงเหว เป็นการเสริมอำนาจให้กับความโลภที่จะใช้อำนาจ

"เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลทำต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเยี่ยงศัตรู เหมืนอจะให้สยบอยู่ใต้อำนาจของรัฐ เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะไว้วางใจได้ นายกรัฐมนตรีควรรับผิดชอบโดยลาออกเป็นคนแรกโดยไม่ชักช้า และควรยุติการกระทำที่ปราศจากสติ ปัญญาโดยเร็ว เพราะมีแนวโน้มจะเกิดอันตรายต่อผู้คนทั้งแผ่นดิน เป็นการทำอนันตริยกรรม เป็นการกระทำที่ไม่สามารถชดใช้ได้ทางศาสนา" พระกิตติศักดิ์ กล่าว

**ชี้ ออก พ.ร.ก.กลบข่าวโกงกิน

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ประธานที่ปรึกษา บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังเป็นวิทยากร บรรยายในหัวข้อ "การบริหารคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า"ให้กับบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ ถึง การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลว่า คือ การปฏิวัติ ที่ไม่ได้ปฏิวัติ และ ถือเป็นการยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ

"โดยความคิดเห็นส่วนตัวผมไม่ได้ต่อต้าน แต่อยากให้มีการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่า จะประกาศใช้ในพื้นที่ใดบ้าง หากประกาศใช้แบบครอบคลุม ก็จะไม่เป็นผลดีต่อประชาชน เพราะหากผู้ใช้แรงงานมีการชุมนุมกันเพื่อขอค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม และถูกมองว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ก็จะยิ่งมีปัญหาตามมา และไม่เคยมีประวัติศาสตร์ของชาติไหน ที่บันทึกว่าประกาศภาวะฉุกเฉินสามารถทำให้ชนะสงครามได้" นายสนธิ กล่าว และว่า การออกกฎหมายฉบับนี้มีนัยทางการเมือง แสดงให้เห็นสภาพหลังพิงฝาของรัฐบาล ที่มุ่งกลบเกลื่อนข่าวการทุจริตคอร์รัปชันที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งเรื่องสินบน 300 ล้าน ซีทีเอ็กซ์ และ กล้ายาง ที่ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ ซึ่งประชาชนต้องจับตาดูว่า หากรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้แล้วยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ รัฐบาลจะตอบคำถามประชาชนว่าอย่างไร

 

โดย: ข่าว (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:17:02 น.  

 

อานันท์ - กอส. : ภารกิจยังไม่สิ้น

โดย สำราญ รอดเพชร 19 กรกฎาคม 2548 21:48 น.


samr_rod@hotmail

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้โดยเจ้าของคอลัมน์

เผอิญผมเขียนบทความชิ้นนี้ตอนสายวันอังคารที่ 19 ก.ค.2548 เลยไม่รู้ว่าผลการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)นัดพิเศษในตอนเย็นวันที่ 19 ก.ค.จะออกมาอย่างไร...

ประเด็นที่หลายฝ่ายจับจ้องกันมากก็คือ จะมีกอส.ท่านใด โดยเฉพาะคุณอานันท์ ปันยารชุน ที่รับบทประธานกอส.ลาออกหรือไม่ ?

ในความรู้สึกส่วนตัว ผมเชื่อว่าคุณอานันท์จะไม่ทิ้งภารกิจสำคัญนี้ แม้ว่าจะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าคุณอานันท์มีความหวั่นเกรงเป็นอย่างยิ่งว่าพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หมิ่นเหม่ที่จะเกิดผลลบจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และรัฐบาลโดยขาดความรอบคอบ...

ที่เชื่อว่าคุณอานันท์ ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่อย่างศ.นพ.ประเวศ วะสี และผู้ใหญ่อีกหลายคนในกอส. ยังจะไม่ละทิ้งภารกิจ ก็เพราะเชื่อว่าท่านเหล่านี้ย่อมจะคาดหมายหรือคิดมาแต่แรกแล้วว่า กว่ากอส.จะทำงานครบ 9 เดือนหรือ 12 เดือน จะต้องประสบพบกับเหตุการณ์ในทำนองนี้แน่นอน ไม่มากก็น้อย...

นั่นคือเหตุการณ์ที่รัฐบาลอาจส่งสัญญาณนโยบาย มาตรการ ที่เป็นคนละเรื่องกับคำว่า “สมานฉันท์” ออกมา ซี่งแน่นอนว่าเป็นสัญญาณที่ไม่เอื้อหรือเสริมส่งการทำงานของกอส.

และเหตที่คุณอานันท์ – คุณหมอประเวศ ไม่น่าจะละทิ้งกอส.ไม่ละทิ้งภารกิจอันหนักอึ้งนี้ ก็มีเหตุผลหลักเพียงประการเดียวก็คือ..เห็นแก่สถาบันหลักของชาติ เห็นแก่สังคมประเทศชาติ คงไม่ใช่เพราะเห็นแก่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลชุดนี้....

มันเป็นเรื่องของ “วุฒิภาวะ” ของผู้หลักผู้ใหญ่ ว่างั้นเถอะ..

ไม่ว่าใครจะว่ายังไง... แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับหลายๆ เรื่องว่าด้วยการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ของรัฐบาลชุดนี้ แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่ขอชักธงเชียร์ให้คุณอานันท์ –คุณหมอประเวศ และคณะดำรงจุดมุ่งหมายแห่งภารกิจ ปฏิบัติภารกิจให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้...

เป้าหมายปลายทางของกอส.คือ การสรุปแก่นแกนของปัญหา พร้อมเสนอนโยบายที่ถูกต้องให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ...โดยที่ระหว่างการทำหน้าที่กอส.สามารถเสนอแนะ ให้ความคิดเห็นต่อรัฐบาลได้ ซึ่ง
คุณอานันท์และคณะได้เสนอไปบ้างแล้วในต่างกรรมต่างวาระ...ทั้งในทางลับทางเปิด

มองด้วยสายตา..ก็ชวนให้น่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะรับไปปฏิบัติได้แค่ไหน และจากเหตุปัจจัยตรงนี้นี่เองที่ทำให้ใครต่อใครเกิดอาการเสียวไส้ว่า ดีไม่ดีคุณอานันท์และคณะจะใช้เป็นข้ออ้างในการลาออก..ซี่งจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เสื่อมทรุดลงไปอีก...

แต่เพราะคำว่า จะเป็นการ “ซ้ำเติมสถานการณ์ “นี่แหละที่ทำให้ผมไม่เชื่อว่าคุณอานันท์จะละทิ้งภารกิจนี้ลงกลางคัน..แต่อาจจะมีคณะกรรมการบางท่านที่มีข้อจำกัดหรือเหตุผลเฉพาะตัวทยอยลาออกไปบ้าง..

จากนี้ไปด้วยสถานการณ์ที่ร้อนแรงและแหลมคม น่าเชื่อว่ากอส.คงต้องทำงานอย่างเข้มข้นขึ้นกว่าเก่า แรงเสียดสีและความแปลกแยกในแนวทาง- มาตรการต่างๆ ระหว่างกอส.กับองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบตั้งแต่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ไปจนถึงกอ.สสส.จชต.ระดับจังหวัด อำเภอ ก็น่าจะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน...

แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะร้อนแรงแหลมคมสักขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเห็นกอส.ขับเคลื่อนและทำให้เป็นรูปธรรมก็คือ งานพื้นฐานว่าด้วยการแสวงหารูปแบบและหนทางที่ทำให้สังคมใหญ่ในระดับประเทศได้มีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนทัศนคติที่ถูกต้องต่อเพื่อนร่วมชาติอย่างพี่น้องไทยมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะพี่น้องไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 2 ล้านคน..

พี่น้องไทยมุสลิมแทบทั้งหมดคือคนดี คนบริสุทธิ์ เพียงแต่ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมกับคนไทยพุทธ คนไทยจีน ฯลฯกันเท่านั้น อีกทั้งพวกเขาก็เหมือนกับเรา ๆ ท่านๆ ที่ปรารถนาใคร่เห็นความสงบ สันติสุข ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่ก่อความไม่สงบ...

หรือแม้แต่พวกที่ก่อความไม่สงบก็เถอะ ผมเชื่อว่ามีบางส่วนที่ทำไปเพราะความเชื่อทางอุดมการณ์บวกกับความเคียดแค้น...

เรื่องของอุดมการณ์นั้นอาจจะยากในการแก้ไขด้วยคำว่าถูก- ผิด เพราะเป็นเรื่องความเชื่อในห้วงเวลาหนึ่งๆ เหมือนกับที่นักศึกษาปัญญาชนของไทยเคยเชื่อเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไหย (พคท.) แต่เรื่องของความเคียดแค้นนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ลดลงหรือจางหายไปได้ ด้วยการเยียวยา ให้ความยุติธรรม.....

จำเป็นอย่างยิ่งที่กอส. จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในหลายๆ มิติ ทั้งในประวัติศาสตร์ – ปัจจุบันว่าด้วยพี่น้องไทยมุสลิมซึ่งคนไทยพุทธยังเข้าใจผิดๆ กันอีกมากมายหลายเรื่อง อย่างน้อยๆ ก็จะเป็นการลดความเกลียดชังอันเนื่องจากความเข้าใจผิด หรือสำคัญผิดของพี่น้องร่วมชาติ ซึ่งหากความเกลียดชังจางลง ความรักความเข้าใจระหว่างพี่น้องไทยพุทธ พี่น้องไทยมุสลิมก็จะกลมเกลียวเหนียวแน่นกว่าเดิม โอกาสที่พวกก่อความไม่สงบจะมาตอกลิ่ม ใช้เป็นเงื่อนเหตุในการเคลื่อนไหวก็ทำได้ยากขึ้น...

ต้องไม่ลืมว่าพวกที่ก่อความไม่สงบสุดขั้วนั้น อยากเห็นคนไทยส่วนใหญ่เกลียดชังรังเกียจไทยมุสลิม เพื่อพวกเขาจะมีข้ออ้าง..

ต้องไม่ลืมว่ารูปการณ์สูงสุดที่พวกก่อความไม่สงบอยากเห็นก็คือ การใช้ความรุนแรงอย่างไม่ลืมหูลืมตาจากรัฐบาล …เพื่อพวกเขาจะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการตอบโต้ ขับเคลื่อน...

ใช่หรือไม่ว่า.. แค่เราประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พวกเขาก็คงรู้สึกเหมือนกับถูกหวยใบใหญ่ นำไปขึ้นเงิน นำไปโฆษณาป่าวร้องในทางสากลได้เปล่าๆ ฟรีๆ...

ลองถ้ากอส.ต้องแยกวงสลายตัวด้วยแล้ว รับรองว่าพวกก่อความสงบคงได้ฉลองชัยชนะกันสามวันสี่คืน...!!

ดังว่ามาพอเป็นสังเขปผมจึงเห็นว่า..ด้วยเหตุที่ภารกิจยังไม่แล้วเสร็จ ด้วยเหตุที่สถานการณ์การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาถึงทางโค้งที่สำคัญ กอส.ในฐานะที่จะต้องสำแดงบทบาทเรื่องนี้โดยตรงได้อย่างทรงความหมายมากที่สุดในยามนี้...จำต้องดำรงองค์กร ดำรงภารกิจสืบไป..

แค่ประคับประคองสถานการณ์ประเทศให้ผ่านโค้งอันตรายนี้ไปได้ โดยเฉพาะกรณีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้นสนับสนุนชี้แนะให้รัฐบาลนำด้านดีมาใช้ ละเว้นซึ่งด้านที่สุ่มเสี่ยงอันตราย แค่นี้ก็ถือว่าเป็นคุณูปการใหญ่หลวงแล้ว...

ส่วนภารกิจว่าด้วยการคิดยุทธศาสตร์ นโยบายระยะยาวก็ว่ากันไปให้ดีที่สุด..

ครับ ท่ามกลางข่าวลือนานา...ผมเชื่อและหวังว่าว่า..คุณอานันท์และกอส.ส่วนใหญ่จะยังอดทนทำงานกันต่อไปด้วยความสมานฉันท์...และจะเป็นการสมานฉันท์ที่ได้เสีย..ตรงไปตรงมา เหมือนเดิม ...!!??


 

โดย: สำราญ (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:17:57 น.  

 

สื่อมวลชนทุกแขนงถกสถานการณ์ฉุกเฉิน จวกรัฐบาลออกพระราชกำหนดเพื่อสนองความต้องการส่วนบุคคล และบางพรรคการเมืองเท่านั้น ชี้ในมาตรา 9(3) เป็นการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ และไร้ขอบเขตจำกัดครอบคลุมไปทั่วประเทศ จี้กำหนดระยะเวลาการบังคับใช้ให้ชัดเจน ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านแล้ว

วันนี้ (19ก.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในกรณีรัฐบาลออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยเชิญสมาคมด้านสื่อสารมวลชนทุกสาขาเข้าร่วม ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย

นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลใช้อำนาจเพื่อเข้าข้างตัวเองตลอดเวลา และว่าการใช้อำนาจนิติรัฐของรัฐบาลต้องมีความสมหตุสมผลและจะต้องมีการพิจารณารอบคอบในเรื่องของการใช้อำนาจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลใช้อำนาจนิติรัฐเพื่อสนองความต้องการส่วนบุคคลและพรรคการเมือง นอกจากนี้ยังพยายามใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเข้าไปแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ยังมีการใช้อำนาจนิติรัฐโดยปราศจากการควบคุมและการรักษาสมดุลซึ่งมีทีท่าคล้ายกับการเผด็จการทางรัฐสภาและเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นตนอยากจะให้สื่อมวลชนดูว่ากฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินเดิมและกฏอัยการศึกที่มีอยู่แล้วนั้นพอเพียงกับสถานการณ์ และเป็นการให้อำนาจกับรัฐบาลมากพออยู่แล้วหรือไม่ และการที่อำนาจนิติรัฐมาอยู่ที่ผู้นำแต่เพียงผู้เดียวเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากฏหมายที่ออกมาใหม่จะไม่ไปทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกับที่ผ่านมาจนเหตุการณ์ในพื้นที่บานปลาย

“เราไม่ได้ค้านกับการที่บุคคลจะมีอำนาจนิติรัฐแต่เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจสอบในการใช้อำนาจของบุคคลอย่างรอบคอบว่าการใช้อำนาจนั้นเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ จึงอยากถามว่าที่ผ่านมาผู้ใช้อำนาจนิติรัฐนี้เป็นไปตามครรลองหรือไม่ และจะมีหลักประกันอะไรบ้างที่จะทำให้การใช้กฏหมายไม่สร้างปัญหาจนบานปลาย” ประธานสภาการฯ กล่าว

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังเห็นว่ามาตรา9(3) ที่บอกว่าการเสนอข่าวจำหน่ายหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อื่นใดที่มีข้อความที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจนเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ในเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนรวมทั้งขอบเขตที่จำกัดในเรื่องของการใช้อำนาจ นอกจากนั้นยังไม่มีบรรทัดฐานในการใช้รวมทั้งอำนาจของพ.ร.ก.สามารถบังคับใช้ได้ทั่วประเทศและอาจจะส่งผลกระทบต่อด้านการเสนอข่าวของสื่อมวลชนและจะทำให้เรื่องต่างๆในอนาคตน่าจะมีปัญหาเมื่อนำพ.ร.ก.มาใช้

ขณะที่ นายไชยยงค์ มณีพิลึก นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี รัฐบาลได้ใช้กฎอัยการศึกในการแก้ไขปัญหาโดยเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจจับกุมประชาชนโดยไม่มีหมายศาล ซึ่งการแก้ไขปัญหาโดยการใช้กฎอัยการศึกอย่างเดียวเกิดผลกระทบกับประชาชนโดยตรงสว่นใหญ่ไม่ใช่กระทบกับสื่อในพื้นที่ และเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แล้ว สื่อมวลชนในพื้นที่ก็ถูกห้ามไม่ให้ทำข่าวและบันทึกภาพในพื้นที่แล้ว โดยยกเหตุการณ์การสังหาร นายดุสิต เหล่าสิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าด่าน อำเภอยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งมีการห้ามสื่อเข้าไปทำข่าว รวมทั้งห้ามหาข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ หากจะทำข่าวก็ให้ไปที่สถานีตำรวจแทน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แล้ว

“ผมไม่มองว่าสื่อมวลชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบหากรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.เต็มรูปแบบ ประชาชนจะได้รับกระทบมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่ผ่านมาเหตุการณ์ความไม่สงบไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสื่อ เพราะยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงอีกมากที่สื่อไม่ได้เสนอเพราะถ้ามีการเสนอจริงๆก็คงจะมีประเด็นมากกว่านี้”นายไชยยงค์ กล่าว

ด้าน นายเทพชัย หย่อง อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้นมาพร้อมกับกระแสสังคมที่อยากให้แก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นกระแสเดียวกันกับสังคมที่รู้สึกไม่ดีกับสื่อมวลชน ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายกฯ ทำการลดความน่าเชื่อถือสื่อมวลชน โดยเราจะเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ที่พยายามระบุว่าสื่อมวลชนบิดเบือนข่าว

“ดังนั้น พ.ร.ก.ฉบับนี้จึงตอบคำถามของรัฐบาลที่ต้องการควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ โดยสื่อประเภทแรกที่จะได้รับผลกระทบคือโทรทัศน์ เพราะสามารถเป็นควบคุมได้ง่ายที่สุด และจากนี้ไปเราอาจจะเห็นรายการข่าวต่าง ๆ จะไม่เสนอข่าวที่รัฐบาลไม่อยากให้เสนอ อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานอะไรที่จะทำให้เชื่อได้ว่ากรอบของพ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีระยะเวลาการใช้นานเท่าใด ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้นายกฯ กำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเวลานานแค่ไหน ซึ่งเป็นการยากที่จะยับยั้ง พ.ร.ก.เพราะได้ประกาศใช้แล้ว แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในมาตรา 9 ที่รัฐบาลบอกว่าอาจจะไม่ได้ใช้ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าในอนาคตจะไม่นำมาใช้”นายเทพชัย กล่าว

นายก่อเขต จันทรเลิศลักษณ์ อุปนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์แปลกๆเกิดขึ้น เช่น ให้บุคคลทางบ้านโหวตเข้ามาในรายการหนึ่ง ว่าไม่ไว้วางใจสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวภาคใต้ถึง 94 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งในรายการวิทยุยังเปิดให้คนโทรศัพท์มาแสดงความเห็นระบุว่าสื่อเสนอข่าวบิดเบือน เกินจริง และบังเอิญยกตัวอย่างการเสนอข่าวในประเทศอังกฤษที่ตรงกับที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยยกตัวอย่างเอาไว้จึงเกรงว่าตอนนี้เราเป็นจำเลยในสังคมไปแล้ว นอกจากเราจะต่อสู้เรื่องมาตรา 9 แล้วจะต้องอธิบายบิดเบือนหรือไม่ อย่างไร มิฉะนั้นจะเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับมาที่สื่อมวลชน

ต่อมาทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการออกพระราชกำหนดฉบับนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นการก่อวิกฤติมากกว่าผลดี โดยเรียกร้องให้ระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อความละเอียดรอบคอบต่อไปต่อไป สำหรับเนื้อหาของแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

 

โดย: สภาการนสพ. (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:20:34 น.  

 

แถลงการณ์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

เรื่อง การออกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548โดยอ้างว่ากฎหมายที่มีอยู่ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบให้ยุติลงโดยเร็ว โดยมีบทบัญญัติหลายมาตรา เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่บัญญัติรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 โดยเฉพาะการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 39และ 41

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรวิชาชีพของหนังสือพิมพ์และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ และสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในภาคใต้ พร้อมทั้งบรรณาธิการ และผู้แทนหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ได้ประชุมหารือกัน เมื่อวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2548 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมีมติเป็นเอกฉันท์ดังต่อไปนี้

1) องค์กรวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายไปด้วยดี โดยการใช้วิจารณญาณในการนำเสนอข่าวด้วยความรับผิดชอบตลอดมา และขอประณามการกระทำอันโหดเหี้ยมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่โดยไม่เลือกชาติกำเนิด เชื้อชาติและศาสนา

2) การออกพระราชกำหนดฉบับนี้ เป็นการขยายอำนาจและโอนอำนาจในลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้นายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้ เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจสั่งการ จึงต้องออกพระราชกำหนดดังกล่าว ขึ้นมาเพื่อให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ตาม ซึ่งความจริงนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มที่อยู่แล้ว การออกพระราชกำหนดโดยอ้างสถานการณ์อย่างฉุกละหุก จึงเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่กลับจะสร้างวิกฤตให้เกิดมากขึ้น จนไม่สามารถจะแก้ไขเยียวยาได้

3) เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า เหตุผลในการออกพระราชกำหนดฉบับนี้ ได้อ้างสถานการณ์ฉุกเฉินในภาคใต้เท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และต้องให้สัญญากับประชาชนว่าจะใช้ความรอบคอบและระมัดระวังในการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉบับนี้ และจะต้องยกเลิกทันทีที่สถานการณ์คลี่คลายลง

4) การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นการอาศัยสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ออกกฎหมายมาควบคุมและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน อันถือเป็นการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนแทนกฎหมายเผด็จการในอดีต อาทิ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2548จึงสมควรยกเลิกโดยเร็ว และแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระจากบุคคลทุกภาคส่วนที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายมาพิจารณาออกเป็นพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยความละเอียดรอบคอบต่อไป

5) รัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง และทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรับรองสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน เพื่อให้การนำเสนอข่าวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ อันจะนำไปสู่แก้ไขปัญหาความไม่สงบใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักนิติธรรม โดยใช้กระบวนการสันติวิธีและยึดมั่นในหลักการสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง

จึงขอแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

19 กรกฎาคม 2548

 

โดย: แถลงการณ์ (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:21:26 น.  

 

รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง 3 จว.-ย้ำไม่ละเมิดสิทธิ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 กรกฎาคม 2548 18:53 น.


รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นรายแรงเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 90 วัน มอบอำนาจ “ชิดชัย” นั่งประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินแทนนายกฯ “วิษณุ” แจงไม่ใช้บังคับทั้ง 16 มาตรการ ยกเว้นการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 7 วัน และยังสามารถดักฟังได้ ย้ำยังไม่แตะสื่อ เตรียมตั้ง “อานันท์” เป็นประธานตรวจสอบการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่

วันนี้ (19 ก.ค.) รัฐบาลได้ทูลเกล้าฯยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว พร้อมทั้งได้ประกาศให้พื้นที่ใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยไม่ครอบคลุมไปถึง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ เทพา สะบ้าย้อย จะนะ และนาทวี

ในการแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบังตับใช้พระราชกำหนดดังกล่าวโดยมี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายร่วมกันแถลง

นายวิษณุ แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ ดังนี้ 1.โดยเหตุที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นจึงมีมติให้ออกประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะมีการทูลเกล้าฯถวายในวันนี้ (19 ก.ค.) ซึ่งจะมีผลเมื่อไรนั้นสุดแท้แต่จะทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมา 2.โดยเหตุที่ตาม พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน จะต้องแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ครม.จึงมีมติตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีให้แต่งตั้ง พล.ต.อ.ชิดชัย เป็นประธานกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน

3.ครม.มีมติตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี โดยมอบอำนาจนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.ต.อ.ชิดชัยในการสั่งการต่างๆ ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน แทนนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งแต่งตั้งให้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ดูแลในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู บูรณะ จ่ายเงินค่าทดแทน ค่าช่วยเหลือความเป็นธรรมต่างๆ และให้นายวิษณุเป็นที่ปรึกษาในเรื่องของมาตรการทางกฎหมาย 4.ครม.เห็นชอบให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยประกาศให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นดินแดนที่มีการประกาศสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง เป็นการเพิ่มดีกรีไปสู่ระดับความร้ายแรงในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเป็นจังหวัดที่ถอนกฎอัยการศึกออกหมดทุกอำเภอ

นายวิษณุ อธิบายว่า การประกาศให้พื้นที่เป็นสถานการณ์ดังกล่าวแทนที่ด้วย พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีอายุคราวละ 3 เดือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ดี ที่ประชุมไม่เห็นชอบให้ขยายไปถึง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ตามที่เสนอมาก่อนหน้านี้

“ทั้งนี้ ครม.มีมติสำคัญว่า เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงแล้ว แต่ไม่ให้นำมาตรการทั้ง 16 มาตรการมาใช้ ฉะนั้นแปลว่ายังนำไปใช้กันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการห้ามจำหน่าย ห้ามเผยแพร่ก็ยังไม่ได้สั่งห้าม แม้แต่ ครม.จะมีความรู้สึกว่าเรื่องของสื่อมวลชนไม่ได้คิดว่าจะต้องเข้าไปทำอะไรในตอนนี้” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายระบุ

นายวิษณุยังยกตัวอย่างกรณีการเผยแพร่ในเรื่องซีดี หรือวิดีโอเทปตัดหัวตัดคอ เหตุที่เกิดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอิรักที่มีการนำมาเผยแพร่ และมีบางคนนำมาเผยแพร่ตัดต่อปนกับเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากใครดูซีดีหรือวิดีโอนั้นแล้วจะมองไม่ออกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ใด ซึ่งเริ่มจากฉายไปที่ภาพเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ รวมด้วยภาคตัดคอที่อิรักต่อเนื่องกัน ซึ่ง ครม.รู้สึกว่าภาพเหล่านี้ควรจะห้ามปราม แต่ขณะนี้คิดว่ายังอยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมสถานการณ์ ตามปกติได้โดยไม่ต้องนำมาตรการ 1 ใน 16 มาตรการของ พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้ แม้แต่การห้ามเข้าออกเขตกำหนดก็ยังไม่ห้าม เพราะถือว่าเจ้าหน้าที่ยังสามารถทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ค่อยรายงานมา รวมถึงมาตรการดักฟัง การห้ามอพยพก็ยังไม่ได้ใช้

นายวิษณุ กล่าวว่า มาตรการที่ให้ใช้ใน พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเวลานี้ คือ 1.มาตรการควบคุมตัวบุคคลที่สามารถควบคุมตัวไว้ได้ 7 วัน แต่รวมทั้งหมดไม่เกิน 30 วัน เพราะถ้าคุมตัวกันไม่ได้ก็ไม่รู้ไปประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปทำไม รวมถึงการค้น การยึด การอายัดของบางอย่าง และการควบคุมการมีไว้ในครอบครอง หรือการใช้ซึ่งวัสดุเคมีภัณฑ์ เพราะฝ่ายความมั่นคงได้รายงาน ครม.ว่าสารเคมีภัณฑ์บางอย่างจำเป็นต้องควบคุม คนที่มีไว้ในครอบครองต้องมาแจ้ง แม้แต่เรื่องของซิมการ์ดก็ต้องแจ้ง ซึ่งทุกวันนี้ก็มีมาตรการดังกล่าวอยู่แล้วรวมถึงยุทธปัจจัยบางอย่าง ซึ่งต้องมีการกำหนดอย่างละเอียดชัดเจนต่อไป

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า ส่วนที่นอกเหนือจาก พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือมาตรการตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวมีด้วยกัน 3 ข้อตามที่ ครม.เสนอ คือ 1.ให้หน่วยงาน กอ.สสส.จชต.จัดอบรมปฐมนิเทศน์ชี้แนะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้รู้ว่า พ.ร.ก.นี้ไม่ได้ให้อำนาจอะไรคุณมากมายมหาศาล ให้รู้ว่าอย่าทำอะไรที่ล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิเสรีภาพของประชาชน จนเกินกว่าเหตุให้รู้ว่าจะต้องรับผิดชอบถ้าทำอะไรผิดกฎหมาย ให้รู้ว่าหลักธรรมาภิบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อยคืออะไรและถ้าจำเป็น ก็อาจจะต้องพิมพ์เป็นคู่มือแจกเจ้าหน้าที่ด้วย

2.สิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการเคยได้ตามกฎอัยการศึก ก็ยังคงได้รับสิทธินั้นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ครม.เคยมีมติว่าถ้าข้าราชการคนใดที่ไปทำงานในภาคใต้ จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 บาท บางคนได้ 2,500 บาทโดยมีการสลักหลังในมติ ครม.ว่าจะให้ตราบเท่าจนถึงวันยกเลิกกฎอัยการศึก ดังนั้น ครม.จึงเห็นว่าเมื่อยกเลิกกฎอัยการศึก และแทนด้วยพ.ร.ก.อัยการฉุกเฉินก็ขอให้ข้าราชการ มีสิทธิประโยชน์ตามนั้นต่อไป ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 เดือนนี้

นายวิษณุ ยังกล่าวคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบในหลักการให้ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองตรวจสอบการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลังจากที่มีการใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ไปแล้ว

“นายกรัฐมนตรีได้ปรารภให้ ครม.ฟังว่า จากการที่ท่านนายกฯอานันท์ มาพบและหารือกันในบางเรื่อง ทั้งนี้ ได้เสนอแนะว่าหากมีการล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนควรจะมีช่องทางในการร้องเรียน ฉะนั้นน่าจะมีกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คอยตรวจสอบดูแลคำร้องเรียนเหล่านั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมีการล่วงล้ำก้ำเกินข้าราชการหรือรังแกประชาชนไม่ว่าเหตุจะเกิดที่ใดก็สามารถร้องมาได้ โดยคณะกรรมการ กอส.ชุดนี้จะเป็นผู้ตรวจสอบดูแลให้ ซึ่งความจริงทาง กอส.ได้เตรียมเสนอตั้งคณะกรรมการ มาก่อนหน้านี้แล้วเพียงแต่ยังไม่ได้ประกาศ แต่จะถือโอกาสประกาศในวันสองวันนี้เวลานี้ตัวบุคคลอยู่ระหว่างการทาบทามซึ่งมีการตอบรับมาเป็นส่วนใหญ่” นายวิษณุระบุ

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้มีการตั้งกองทุนสมานฉันท์ขึ้น ตามข้อเสนอของคระกรรมการกอส.ซึ่งเป็นกองทุนที่จะรับบริจาคจากภายนอก ไม่ใช่ว่าจะใช้เงินงบประมาณแผ่นดินรัฐมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่กองทุนนี้เป็นเรื่องที่เพื่อนร่วมชาติต้องการที่จะบริจาคช่วยเหลือคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายประชาชนที่ประสบภัยซึ่งจะมีการเชิญชวนต่อไป โดย ครม.เห็นชอบให้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแล้วให้มีการตั้งกองทุนดังกล่าวโดยขึ้นอยู่กับ กอส. และนายอานันท์เป็นประธานกองทุนดังกล่าว

นายวิษณุ ยังอธิบายว่า สำหรับมาตรการฉุกเฉินปกติที่ไม่ประกาศใช้ คือ มาตรา 9 ทั้งหมดประกอบด้วย 9(1) ห้ามออกจากบ้าน หรือเคอร์ฟิว 9(2) ห้ามชุมนุมมั่วสุม 9(3) ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย ทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ประชาชนตกใจ 9(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ 9(5) ห้ามการใช้อาคารหรือการเข้าไปอยู่ในอาคาร 9(6) ให้อพยพออกจากพื้นที่

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการที่จะประกาศใช้อยู่มาตรา 11 บางส่วน คือ 11(1) ประกาศให้มีอำนาจจับกุมควบคุมผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดในฐานะผู้ใช้ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุน ตัวการผู้กระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการกระทำอันเกิดความรุนแรง 11(2) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เรียกบุคคลมารายงานตัวหรือส่งมอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน 11(3) ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งอายัดอาวุธ สินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าให้ใช้หรือจะใช้เพื่อกระทำความผิด 11(4) ให้มีอำนาจตรวจค้นรื้อถอน ทำลายอาคารสิ่งปลูกสร้างเท่าที่จำเป็นโดยให้นำมาใช้เฉพาะการค้าเท่านั้น ไม่ให้รื้อถอน 11(8) ประกาศให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรเฉพาะที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

11(9) ให้ประกาศให้การซื้อขายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ หรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งใช้ในการก่อความไม่สงบโดยจะให้นำมาใช้เฉพาะซิมการ์ดหรือเคมีภัณฑ์บางชนิด 11(10) ออกคำสั่งให้กำลังทหารช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกคอรงหรือตำรวจควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบ โดยทั้ง 7 มาตรการจะต้องให้นายกฯลงนามแล้วประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

ส่วนมาตรา 11 ที่ไม่ได้ประกาศใช้ คือ 11(5) การประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมายหนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด 11(6) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นต่อการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ 11(7) ประกาศให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งมิให้ผู้ใดออกนอกราชอาณาจักรเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการที่ 1 ในมาตรา 11 ว่าจะมีหลักประกันในการจับกุมผู้ต้องสงสัยอย่างไรไม่ให้เกิดการจับผู้บริสุทธิ์ นายวิษณุชี้แจงว่า หลักกระกันมี 4 ประการ คือ (1.การควบคุมตัวต้องขออำนาจศาล (2.ระหว่างการควบคุมตัวไม่ให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมเสมือนหนึ่งผู้ต้องหา คือใส่โซ่ตรวนไม่ได้ (3.ไม่ให้ควบคุมตัวไว้ในคุก เรือนจำทัณฑสถาน โดยให้นำตัวไปควบคุมไว้ในบ้าน โรงพยาบาล วัด หรือศาสนสถาน และ (4.ระหว่างการควบคุมตัวต้องทำรายชื่อประกาศให้ญาติพี่น้องทราบ ไม่ใช่ถูกอุ้มหายไปเฉยๆ เพื่อความโปร่งใส

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรา 17 ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและวินัยจะถือเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงจนเกินเหตุหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สมมติว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปกระทำการที่ตามปกติต้องมีความผิด แต่ตามมาตรา 17 กลับไม่ผิดนั้น ที่บอกว่าไม่ต้องรับผิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมายหากเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินกว่าเหตุหากใครถูกกระทำแล้วคิดว่าเกินกว่าเหตุให้ฟ้องเจ้าหน้าที่ได้ไม่ต้องสนใจมาตรา 17 ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่เองต้องยกข้อต่อสู้ตามมาตรานี้ในศาลซึ่งศาลจะเป็นผู้ตรวจสอบในที่สุด

เมื่อถามถึงมาตรการในการห้ามสื่อนำเสนอข่าวนั้นใครจะเป็นผู้นิยาม นายวิษณุ ตอบว่า ฝ่ายบริหารเป็นผู้ใช้ก่อนฝ่ายบริหารจึงเป็นคนที่นิยามก่อนหากไม่นิยามตนเองก็จะเข้าไปห้ามมิได้แต่การนิยามนั้นไม่สิ้นสุดยุติ ไม่ถึงที่สุดเพราะพอถึงเวลาศาลจะเป็นคนนิยามซ้ำในขั้นสุดท้าย

“สมมติว่ามีการห้ามไม่ให้มีการนำวิดีโอที่มีความรุนแรงแบบตัดหัวตัดคอไปเผยแพร่ใน จ.นราธิวาส ซึ่งเชื่อว่าการเอาวิดีโอประเภทนี้ไปเผยแพร่เป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยของประชาชน นี่คือการที่รัฐบาลนิยามไปแล้ว แต่เมื่อมีคนผ่าฝืนเอาวิดีโอนั้นไปเผยแพร่ก็ต้องดำเนินการจับกุมในข้อหาฝ่าฝืนข้อห้ามที่นายกรัฐมนตรีห้าม เมื่อจับเสร็จก็นำส่งตำรวจส่งอัยการฟ้องศาลในท้องที่ที่เกิดเหตุ แล้วศาลจะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้งว่าการที่เอาวิดีโอนี้มาเผยแพร่แล้วไปห้ามเมื่อศาลดูแล้วบอกว่าไม่เห็นมีการบ่อนทำลายอะไรเลยไม่เห็นมีอะไรที่เป็นปัญหา ศาลก็จะวินิจฉัยว่าไม่มีความผิดเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 (3) ถ้ารัฐไม่พอใจก็อุทธรณ์ จนการวินิจฉัยถึงที่สุด และศาลเห็นว่ามาตรา 9 (3) ขัดรัฐธรรมนูญศาลก็จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้” รองนายกฯระบุ

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ย้ำว่า การสั่งปิดหนังสือพิมพ์นั้นทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 39 คุ้มครองอยู่ เมื่อถามว่ามีเหตุผลอย่างไรจึงประเมินว่าเหตุใน 3 จังหวัดถึงขั้นร้ายแรงไม่ใช่ฉุกเฉินปกติ พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า เท่าที่ผ่านมาเราได้ประเมินเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดมาตลอดทุกหมู่บ้านในแต่ละตำบลว่ามีสถานการณ์รุนแรงปานกลางหรือเบาบางอย่างไร ซึ่งดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นระเบิดซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ ราษฎร ครู วางเพลิง ก่อกวนต่างๆ รวมทั้งเหตุการณ์ที่ยะลา ทำให้มองเห็นว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปอย่างนี้จะยากต่อการควบคุมจำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงขนาดนี้ไม่ได้เกิดในทุกหมู่บ้าน แต่พื้นที่ที่เราเห็นว่าเบาบาง บุคคลอื่นอาจข้ามพื้นที่เข้ามาก่อความไม่สงบได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องประกาศทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ

 

โดย: ผู้จัดการ (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:23:28 น.  

 

กอส.สิ้นหวังรัฐเล็งยุติบทบาท

19 กรกฎาคม 2548 22:40 น.
กรรมการสมานฉันท์ถกเครียด พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน "บวรศักดิ์ " หอบข้อมูลแจงละเอียดยิบ 3 ชั่วโมง เปรย "ไม่รู้พอใจหรือไม่"


ขณะที่ "อานันท์" สยบข่าวลูกทีมลาออก ยันทำหน้าที่อย่างอิสระต่อไปจนถึงที่สุด วงในเผยสิ้นหวังท่าทีรัฐบาล เตรียมร่นเวลาเสนอมาตรการดับไฟใต้ปลายเดือนหน้า ก่อนยุติบทบาท ด้านอนุกรรมการชุด "จาตุรนต์" เสนอตั้งบอร์ดระดับชาติติดตามตรวจสอบคดี 3 จังหวัดใต้

เมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ (19 ก.ค.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และมีวาระหารือสำคัญคือมาตรการที่ กอส.จะเสนออย่างเป็นรูปธรรมต่อรัฐบาล และท่าทีของ กอส.ที่มีต่อการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ นายอานันท์ ได้มอบหมายให้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ กอส. ชี้แจงถึงเหตุผลและรายละเอียดของการตรา พ.ร.ก. ให้ที่ประชุม กอส.ได้รับทราบด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุม กอส. ดำเนินไปได้ประมาณ 3 ชั่วโมง นายบวรศักดิ์ ได้เดินออกจากห้องประชุม เนื่องจากติดภารกิจ โดยนายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ได้ชี้แจงเรื่องการออก พ.ร.ก.ต่อที่ประชุม กอส.แล้ว แต่จะพอใจหรือไม่นั้นเขาไม่ทราบ

ภายหลังการประชุม ซึ่งใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง นายอานันท์ เปิดเผยว่า นายบวรศักดิ์ ได้ชี้แจงให้ กอส.ทราบถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการตรา พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่ง กอส.จะมีข้อเสนออย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลในวันนี้ (20 ก.ค.)

ส่วนมติ ครม.ที่สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสมานฉันท์ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้กำลังและความรุนแรงทุกกลุ่มนั้น ได้มอบหมายให้ น.พ.ประเวศ วะสี รองประธาน กอส. เป็นประธานบริหารเงินของกองทุน และในวันที่ 26 ก.ค. จะไปอภิปรายที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค เพื่อระดมทุนเข้ากองทุนของ กอส. โดยคาดว่าเบื้องต้นจะสามารถรวบรวมเงินได้ประมาณ 4 ล้านบาท

นายอานันท์ กล่าวอีกว่า กรณีการตรา พ.ร.ก.นั้น กอส.ได้พบกับนายกรัฐมนตรีแล้ว และได้แสดงความเป็นห่วง แต่ก็มีจุดยืนว่า พ.ร.ก.ที่ออกมาต้องมีมาตรการบางอย่างที่จะทำให้มีผลบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาล เราไม่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน ถึงแม้จะมีการจำกัดก็ต้องดูแลให้ดี

"หลักการใหญ่คือ กอส.จะอยู่ต่อไป แม้จะเป็นองค์กรที่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่เราก็รับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้ก็จะทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคมมากขึ้น เราจะทำต่อไป ก่อนหน้านี้เคยกำหนดว่าจะเสนอรายงานให้รัฐบาลต้นปีหน้า แต่เรากำลังพิจารณากันว่าจะร่นระยะเวลาเข้ามาให้เร็วขึ้น ขอยืนยันว่าจะไม่มีสมาชิกคนใดของ กอส.ลาออก และกอส.จะดำรงความเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ต่อไปจนเสร็จสิ้น" นายอานันท์ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากที่ประชุม กอส. เปิดเผยว่า เมื่อรัฐบาลตัดสินใจตรา พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมีการเสนอว่าควรจะร่นระยะเวลาการเสนอรายงานให้รัฐบาลมาเป็นวันที่ 31 ส.ค.2548 จากนั้นควรยุติบทบาทของ กอส.ลง เพราะดูจากสถานการณ์และท่าทีของรัฐบาลแล้ว เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะนำข้อเสนอของ กอส.ไปปฏิบัติ

เวลา 13.30 น.วันเดียวกัน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการ กอส. ได้เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขการดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม นักกฎหมาย และองค์กรภาคประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นประมาณ 60 คน

นายจาตุรนต์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ชาวบ้านประสบอยู่ ก่อนนำเสนอเป็นรายงานต่อที่ประชุม กอส.ชุดใหญ่ และรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้สรุปประเด็นที่เตรียมเสนอไว้ 4 ประเด็น คือ 1.ให้รัฐบาลทำความเข้าใจร่วมกันว่าต้องใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.ตั้งคณะกรรมการระดับชาติในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นธรรม พร้อมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าของคดีต่างๆ ในพื้นที่ และรายงานให้ประชาชนทราบ

3.กำหนดแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ในช่วงที่ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉบับใหม่

4.ต้องใช้นิติวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นหลักในการสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีที่เกิดขึ้น เพื่อความมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักนิติธรรม เนื่องจากการใช้นิติวิทยาศาสตร์ จะช่วยลดการควบคุมตัวหรือสอบสวนด้วยวิธีการนอกกฎหมายได้


 

โดย: กรุงเทพธุกิจ (ไทเมือง ) 20 กรกฎาคม 2548 5:30:59 น.  

 

แวะมาอ่าน เก็บความรู้เล็กๆน้อยๆเก็บกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและอัพเดทพ.ร.ก. ค่ะ ปกติไม่ค่อยสนใจการเมืองเลย แต่ช่วงนี้อ่านหนังสือสอบ เลยต้องสนใจมากๆหน่อย ขอบคุณค่ะที่รวบรวมข้อมูลไว้

 

โดย: สาวใช้ฯ (สาวใช้ ณ สแตมฟอร์ด บริดจ์ ) 20 กรกฎาคม 2548 9:39:55 น.  

 

I wrote some opinions in my blog about this issue! If you are interested, please read it in my blog!

 

โดย: POL_US 20 กรกฎาคม 2548 12:08:28 น.  

 

15:55 น. : 'ชิดชัย' แจง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเบากว่ากฎอัยการศึก
พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ต่อคณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา ว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นกฎหมายที่ดีเทียบกับกฎอัยการศึกไม่ได้ และการมีพระราชกำหนดดังกล่าวไม่ได้ทำให้การทำงานสะดวกขึ้น เพราะการดำเนินคดีทุกอย่างจะต้องทำผ่านศาล ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม หรือดำเนินคดี ต้องขออำนาจศาลทั้งหมด ขณะที่กฎอัยการศึกมีความคล่องตัวมากกว่า อย่างไรก็ตาม มั่นใจจะสามารถควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้อยู่ในขอบเขตได้ ส่วนการวางยุทธศาสตร์การใช้พระราชกำหนดดังกล่าวจะมีการวางกรอบยุทธศาสตร์

รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างการบริหารก็เป็นการทำงานในลักษณะเน้นในทุกๆ ด้านและเป็นเชิงรุกมากขึ้น รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ เช่น กรณีที่ทางการออกหมายจับผู้ก่อความไม่สงบ 54 คน แต่พบว่าภรรยาของผู้ที่ถูกออกหมายจับตั้งครรภ์ แสดงว่าการปฏิบัติงานยังมีจุดบกพร่องอยู่ เพราะฉะนั้นต้องติดตามนำตัวมาดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว โดยต้องเน้นเรื่องของงานด้านการข่าวที่ต้องประสานงานกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี


พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้มีพื้นฐานจากการศึกษา ซึ่งรัฐบาลจะปรับให้เป็นไปในเชิงบูรณาการมากขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาจากช่องว่างของภาครัฐที่ไม่ได้เข้าไปจำกัดเสรีภาพในการสอน จนนำไปสู่การเพาะเชื้อที่ทำโดยการสอนที่เป็นการบิดเบือนศาสนาและประวัติศาสตร์ที่ให้ไม่ยอมรับในความเป็นคนไทยและสร้างความเกลียดชัง กรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดคือทางการได้จับนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่บางส่วนเป็นอุสตาซสอนศาสนา เพราะฉะนั้นจึงทราบทันทีว่าการสอนศาสนาที่ผ่านมาเป็นการสอนในลักษณะใด จนทำให้เกิดเป็นวงจรของการเพาะเชื้ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด


“การที่เราจะบอกว่าการแก้ปัญหาในพื้นที่จะสำเร็จหรือไม่นั้น คงไม่ได้อยู่ที่การใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว เพราะ พ.ร.ก.เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ช่วยในการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่เราจะต้องเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องของการศึกษาที่จะต้องสร้างระบบในเรื่องให้มีความมั่นคง ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้การอุดหนุนเป็นตัวเงินมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนธรรมวิทยา หรือโรงเรียนอื่น ๆ” พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าว


รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวด้วยว่า จะพยายามใช้พระราชกำหนดให้น้อยที่สุด แต่จะใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างยุทธศาสตร์ในการใช้กฎหมาย และต้องใช้อย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว แกนนำที่ก่อความไม่สงบจะหลบหนีออกไป ซึ่งความร่วมมือตามชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญ


 

โดย: ไทยรัฐ IP: 202.5.88.154 20 กรกฎาคม 2548 17:45:33 น.  

 

เก็บ ๆ มาอ่านเพราะเข้าเว็บข่าวน้อย เจอหัวข้ออ่านผ่าน ๆ

แล้วก็เก็บมาอ่านยามว่างครับ

 

โดย: Can IP: 202.5.88.156 20 กรกฎาคม 2548 18:20:05 น.  

 

เปิดปม พรก.ฉุกเฉิน ซุกเกมชิงอำนาจ!

ปฏิบัติการสุมไฟใต้ดับไฟฟ้า บุกเผาตัวเมืองยะลาเป็น ข่าวใหญ่ระลอกใหม่เพื่อ ดิสเครดิตรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นการยกระดับ การก่อความ รุนแรงขึ้นมาอีกขั้นหรือไม่?

รูปแบบการจู่โจมก่อการ ร้ายแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นไปได้แค่ไหน โจรธรรมดาจะหาญกล้า บุกถ้ำเสือที่มีตำรวจทหารลาดตระเวนอยู่เต็มเมือง

โจรวัยรุ่นรู้ได้อย่างไร? ระเบิดหม้อแปลงไฟฟ้า...ต้นนี้แล้วไฟฟ้าจะดับทั้งเมือง

ต้องยอมรับโจรกลุ่มนี้ไม่ธรรมดา...ถ้าเป็นโจร แบ่งแยกดินแดนเหมือนที่หลายหน่วยงานว่า สถานการณ์ภาคใต้ในอนาคตอันใกล้เป็นที่น่าหวั่นเกรงเป็นอย่างยิ่ง

ปฏิบัติการที่ยะลาสะท้อนว่า โจรไม่ธรรมดา มีการศึกษา มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ ประการสำคัญ มีสายสนกลในได้ข้อมูลละเอียดลึกเป็นยิ่งนัก

ยิ่งไปกว่านั้น ปฏิบัติการของคนร้ายเสร็จ พ.ต.ท.ทักษิณ เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉิน คลอดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

พระราชกำหนดฉบับนี้เป็นที่รู้กันมาเป็นการภายใน ยกร่างเสร็จและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้องมาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน

พอเหตุเกิดที่ยะลา รัฐบาลจึงฉวยโอกาสทองเร่งคลอด พ.ร.ก.ทันที

ส่งผลให้อำนาจประกาศกฎอัยการศึก อันยิ่งใหญ่ที่เป็นของทหาร... ถูกโยกโอน ไปอยู่ในฝ่ายการเมือง

อำนาจของทหารถูกดึงอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี แม้จะมีคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ให้ดูประหนึ่งใช้อำนาจถูกต้องชอบธรรม ไม่ได้ใช้อำนาจแบบเผด็จการ สั่งการแต่เพียงผู้เดียว

การนำอำนาจตามพระราชกำหนดของนายกรัฐมนตรีมาใช้แทน อำนาจกฎอัยการศึกจะช่วยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างนั้นหรือ?

“สิ่งที่ กอส.เสนอแนะรัฐบาล เราต้องการให้มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ต้องการให้มีการนำอำนาจใหม่รูปแบบอื่น อย่างพระราชกำหนดมาใช้”

นายไพศาล พรหมยงค์ ตัวแทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าว

“ปัญหาภาคใต้ก็ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดต้องใช้มาตรการเช่นนั้น พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยยอมรับว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น 30% มาจากการก่อการร้าย อีก 70% เป็นเรื่องของอาชญากรรมธรรมดา”

นายไพศาล ไม่เห็นด้วยกับการออกพระราชกำหนด...แต่ไม่ได้ต่อต้านการออกพระราชกำหนด เพราะเห็นว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลที่สามารถจะทำได้

“นายกฯอาจจะทำเพราะเชื่อมั่นในผลการเลือกตั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ ของประเทศ 70-80% มอบอำนาจเด็ดขาดให้

ชาวบ้านเทคะแนนแบบถล่มทลายเพราะท่านสัญญาว่าจะทำให้เขารวย และชาวบ้านก็เชื่อว่าจะเป็นจริง แต่ผลการเลือกตั้งตรงนั้น ไม่เกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ วันนี้ชาวบ้านรู้แล้วว่าไม่จริงเพราะตอนนี้จนกว่าก่อนเลือกตั้ง”

การออกพระราชกำหนดมาใช้แทนกฎอัยการศึกไม่สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ มีแต่จะ ซ้ำเติมปัญหาเพิ่มมากขึ้น จะทำให้รัฐบาลเสียมวลชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

“อย่าลืมว่า 3 จังหวัดภาคใต้ พรรคไทยรักไทยไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. แม้แต่คนเดียว การที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดมาใช้แทนกฎอัยการศึก จะทำให้คนในพื้นที่มองไปว่ารัฐบาลออกพระราชกำหนดมาเพื่อ แก้แค้นผลการเลือกตั้ง ส.ส. ยิ่งทำให้ชาวบ้านระแวงรัฐบาล ไม่ไว้ใจข้าราชการมากขึ้น”

กอส. ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ เพราะต้องการจะไปเข้าข้างโจร... แต่ทำไปเพื่อเข้าข้างรัฐบาล เพื่อรัฐบาลจะได้มวลชนเพิ่ม

จากการลงไปทำงานเก็บข้อมูลจากชาวบ้านไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ อิสลาม โต๊ะครู ครู พระ ตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งปีที่ผ่านมาของ กอส. ไพศาล บอกว่า...

กฎอัยการศึกสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ มากกว่าสร้างปัญหาให้กับโจรก่อการร้าย

เจตนาของการประกาศใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่จะได้ใช้อำนาจในการควบคุมปราบปรามแบบเต็มรูปแบบ เลยส่งผลให้เกิดปัญหา ตำรวจ ทหาร ใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ตรวจค้นตรวจจับผู้บริสุทธิ์แบบไม่ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมสากล

คือ จับคนแบบเหวี่ยงแห จับแบบไม่มีหลักฐาน

จับคนไปเพียงเพราะว่าได้รับคำบอกเล่า หรือคำซัดทอดจากผู้ต้องหา

“ชาวบ้านถูกคนร้ายซัดทอด เพียงแค่นี้ก็ถูกจับแล้ว แต่พอผู้ต้องหาซัดทอดว่า คนที่ทำผิดคือ เจ้าหน้าที่ไปซ้อม ทุบ อุ้ม ฆ่า รวมทั้งก่อปัญหาสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง ทำไมถึงไม่มีการจับกุมเจ้าหน้าที่เหมือนที่ชาวบ้านโดนกันบ้าง

ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหาของภาคใต้”

ถ้าจะจับขอให้จับแบบมีหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่หลักฐานลอยๆ เหมือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีเผาโรงเรียน กรณีหมอแวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล สุดท้ายก็ต้องยกฟ้อง

“เราต้องการให้ยกเลิกกฎอัยการศึกแบบไม่มีเงื่อนไข ยกเลิกไปแล้วก็ใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะจับคนร้ายไม่ได้ ก็ยังจับได้เหมือนเดิม

แต่ที่ยังหวงอำนาจกฎอัยการศึก ก็เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ให้พ้นผิด เพราะประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว เจ้าหน้าที่ทำผิดต่อประชาชน ชาวบ้าน ไม่อาจฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ กฎอัยการศึกเลยเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รังแกชาวบ้านได้ง่าย”

ส่วนที่กังวลกันว่า ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบาก ปราบโจรผู้ร้ายไม่ได้ จับคนผิดไม่ได้ ไพศาล ยกตัวอย่าง นับแต่มี เหตุปล้นปืนทหารเมื่อต้นปี 2547 และมีการประกาศกฎอัยการศึก ถึงวันนี้ ผ่านมากว่าปีครึ่งแล้ว...

ตำรวจ ทหาร เคยสร้างผลงานเป็นข่าวเป็นที่รับรู้กัน จับคนร้ายได้หลายครั้ง และหลายคน แถมยังจับได้จากที่เกิดเหตุ

แต่การสอบสวนติดตามของ กอส.กลับได้ข้อมูลที่ไม่อยากเชื่อ... หลังจากข่าวเงียบหายไป คนร้ายเหล่านั้นหลายคนถูกปล่อยตัวไป โดยไม่มีการดำเนินคดี

คนที่จับได้เป็นเด็กวัยรุ่น ซึ่งรู้กันดีถูกว่าจ้างให้ลงมือสร้างสถานการณ์... จับคนรับจ้างได้ การสอบสวนของเจ้าหน้าที่กลับไม่มีข้อมูลว่าผู้ว่าจ้างเป็นใคร

วันนี้...จับกุมคนบงการไม่ได้แม้แต่สักคนเดียว

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้...กฎอัยการศึกช่วยจับโจร หรือช่วยอำนวยความสะดวกในการจับผู้บริสุทธิ์กันแน่?

“การออกพระราชกำหนดมาใช้แทนกฎอัยการศึก ผลก็คงไม่ต่างกัน จะมีต่างบ้างตรงเปลี่ยนมือผู้ใช้อำนาจ จากทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือคนที่นายกฯไว้ใจ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแทน

สะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีต้องการจะแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยสันติวิธี หรือใช้ความรุนแรงด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ”

ที่ผ่านมา...ตอนตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ นายกรัฐมนตรีได้เคยพูด ได้เคยสัญญา ถ้าจะนำมาตรการใหม่ๆ โดยเฉพาะการจะนำพระราชกำหนด เกี่ยวกับสถานการณ์มาใช้ในภาคใต้

พ.ต.ท.ทักษิณจะขอคำปรึกษาและความเห็นจาก กอส.ก่อน?

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเช่นนั้น...มีคำถามตามมา ตั้ง กอส. ขึ้นมาทำไม หรือตั้งขึ้นตามกระแสเรียกร้องตามสไตล์บริหาร...การตลาดนำความจริง

 

โดย: ไทยรัฐ (ไทเมือง ) 21 กรกฎาคม 2548 1:20:22 น.  

 

ภาคปชช.ยื่นตีความพ.ร.ก. ส่อขัดรัฐธรรมนูญ

19 กรกฎาคม 2548 22:37 น.
ครป.และองค์กรภาคประชาชน ยื่นผู้ตรวจการรัฐสภา ส่งศาลรธน.วินิจฉัย พ.ร.ก.ขัด-ล้มล้างรัฐธรรมนูญ

ระบุละเมิดมากกว่า 40 มาตราแถมละเมิดอำนาจศาล ดักคอรัฐบาลอย่าบีบผู้คัดค้านว่าไม่รักชาติ ท้าหาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ 3 เดือนยังดับไฟใต้เหลว รัฐบาลควรลาออก ด้านสมาคมวิชาชีพสื่อรวมตัวออกแถลงการณ์คัดค้าน ยันจุดยืนการทำงานมีจรรยาบรรณ เรียกร้องหลังสถานการณ์ใต้คลี่คลายให้เลิกใช้ พ.ร.ก. ด้านนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้เผยมีผลกระทบการทำหน้าที่แล้ว จนท.สกัดกั้นการรายงานข้อเท็จจริง

กรณีที่รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีเสียงสะท้อนถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อสารมวลชน และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ล่าสุดวานนี้ (19 ก.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ยื่นหนังสือที่ร่วมลงชื่อจากองค์กรภาคประชาชน อาทิ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (ศยป.) และศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม (สสธ.) ต่อนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม รองเลขาธิการ ในฐานะรักษาการเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้วินิจฉัยว่าพ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการใช้อำนาจบริหารล้มล้างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่

นายสุริยะใส กล่าวว่า ประการแรก พ.ร.ก.ถือเป็นการยกเลิกเพิกถอนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ตั้งแต่มาตรา 26 จนถึงมาตรา 65 รวม 40 มาตราด้วยกัน อาทิมาตรา 39 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือการให้เจ้าหน้าที่ตรวจข่าวบทความก่อนเผยแพร่จะกระทำมิได้ เป็นต้น

ชี้ละเมิดศาล-ขัดบัญญัติกติการะหว่างปท.

ประการที่สอง พ.ร.ก.เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลในส่วนที่หนึ่ง บททั่วไป และอีกหลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะอำนาจของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เช่น มาตรา 237 ในคดีอาญาการจับกุมคุมขังบุคคล ส่วนประการที่สาม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและวินัย ฉะนั้นในกรณีความผิดของทหารก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งถือเป็นการละเมิดอำนาจของศาลทหารโดยปริยาย

ประการที่สี่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดต่อบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิในทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อบัญญัติที่ 4,5,6 และบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในกติการะหว่างประเทศฉบับนี้ โดยที่คดีซึ่งได้รับการวินิจฉัยและวางบรรทัดฐานโดยศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญในฐานที่เป็นข้อกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งต่อศาลรัฐธรรมนูญไทย หลักการสำคัญของกติการะหว่างประเทศฉบับนี้

ทั้งนี้เพราะศาลรัฐธรรมนูญไทยพึ่งได้รับการจัดตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน และไม่มีกรณีที่จะให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่จะนำมาเทียบเคียงและวินิจฉัยได้

โดยตัวอย่างคดีเทียบเคียงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อาทิ คำพิพากษาของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาในคดี Marbury v. Madison 1 Cranch 137 (คดี มาร์เบอรี กับ เมดิสัน จากหนังสือรวมคำพิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาชื่อครันช์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 137 ) เป็นต้น (อ่านรายละเอียด หน้า 13)

จี้รัฐ3เดือนแก้ไฟใต้เหลวควรลาออก

ส่วนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิในทางการเมือง ค.ศ.1966 ประเทศไทยประกาศเข้าเป็นภาคีกติกานี้ โดยวิธีการภาคยานุวรรตน์ในวันที่ 29 ตุลาคม 2539 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2540

"หากรัฐบาลนี้แน่จริงก็ควรให้คำรับรองความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่า หากใช้พ.ร.ก.นี้ครบ 3 เดือนแล้วสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะลาออก และขอร้องว่าอย่าใช้เสียงของคนข้างมากที่เห็นด้วยมาเป็นกระแสบีบว่าผู้ที่ทักท้วงในเรื่องนี้ด้วยว่าไม่รักชาติ เพราะการใช้กฎหมายใดๆ ต้องผ่านการรับรองจากสภาและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วย"

ด้านนายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า จะรีบส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณา และหากเข้าข่ายในข้อกฎหมายก็จะส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ส่วนกรณีคำร้องของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีข่าวว่าจะมายื่นคำร้องในกรณีเดียวกันก็ต้องรอดูคำร้องก่อน หากใกล้เคียงก็อาจรวมเป็นคำร้องเดียวกัน โดยจะเร่งพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเวลาในการรวบรวมข้อมูล แต่ทั้งหมดขอให้สบายใจได้ว่ากระบวนการที่พรรคจะทำคงไม่กระทบกระเทือนการทำงานของรัฐบาลที่จะใช้เครื่องมือตรงนี้ แต่จะช่วยสร้างความมั่นใจว่ามีช่องทางในการที่จะหาทางตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะกฎหมายค่อนข้างจะปิดทางไว้

สมาคมวิชาชีพสื่อแถลงการณ์ค้าน

วันเดียวกัน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ได้ประชุมระดมความคิดเห็น และหาทางออกในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยมีมติและออกแถลงการณ์ร่วม ในนามสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง "การออกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน"

โดยใจความของแถลงการณ์ ย้ำถึงจุดยืนจรรยาบรรณในการทำงานเพื่อให้การแก้ปัญหาภาคใต้คลี่คลายไปในทางที่ดี และเตือนการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจนายกฯ อาจเกิดวิกฤติได้ ทั้งนี้หากสถานการณ์สงบลงก็ให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ทันที โดยเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการจากทุกฝ่ายพิจารณาการออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ผ่านระบบรัฐสภา

ติงแน่ใจอย่างไรไม่ใช้อำนาจล้นฟ้า

นายพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลใช้อำนาจเพื่อเข้าข้างตัวเองตลอดเวลา การใช้อำนาจนิติรัฐของรัฐบาลปราศจากการควบคุมทำให้ขาดหลักนิติธรรมไป น่าจะมีการพิจารณาการใช้อำนาจให้รอบคอบ ที่ผ่านมารัฐบาลใช้อำนาจมักจะใช้นิติรัฐ เพื่อสนองความต้องการส่วนบุคคลและพรรคการเมือง และพยายามใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเข้าไปแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการด้วย

"เราไม่ได้ค้านกับการที่บุคคลจะมีการนำอำนาจนิติรัฐมาใช้ แต่เราไม่สามารถปล่อยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง อ้างหลักนิติรัฐไปละเมิดสิทธิของคนอื่น จะมีหลักประกันอะไรบ้างที่จะทำให้การใช้กฎหมายไม่สร้างปัญหาจนบานปลาย"

เขายังกล่าวถึงมาตรา9(3) ที่ระบุว่า การเสนอข่าวจำหน่ายหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อื่นใด ที่มีข้อความที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจนเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐนั้น เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนรวมทั้งขอบเขตที่จำกัดของการใช้อำนาจ ยังไม่มีบรรทัดฐานในการใช้รวมทั้งอำนาจของ พ.ร.ก.สามารถบังคับใช้ได้ทั่วประเทศ และอาจจะส่งผลกระทบต่อด้านการเสนอข่าวของสื่อมวลชนและจะทำให้เรื่องต่างๆในอนาคตน่าจะมีปัญหา

ชี้รัฐมีประสงค์ต้องการคุมสื่อเบ็ดเสร็จ

นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น กล่าวว่า รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้นมา พร้อมกับกระแสสังคมที่อยากให้แก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ เป็นกระแสเดียวกันกับสังคมที่รู้สึกไม่ดีกับสื่อมวลชน ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายกฯ ทำการลดความน่าเชื่อถือสื่อมวลชน โดยเราจะเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ที่พยายามระบุว่าสื่อมวลชนบิดเบือนข่าว

ดังนั้น พ.ร.ก.ฉบับนี้จึงตอบคำถามของรัฐบาลที่ต้องการควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ โดยสื่อประเภทแรกที่จะได้รับผลกระทบคือโทรทัศน์ เพราะสามารถควบคุมได้ง่ายที่สุด และจากนี้ไปเราอาจจะเห็นรายการข่าวต่าง ๆ จะไม่เสนอข่าวที่รัฐบาลไม่อยากให้เสนอ อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานอะไรที่จะทำให้เชื่อได้ว่ากรอบของพ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีระยะเวลาการใช้นานเท่าใด ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้นายกฯ กำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเวลานานแค่ไหน ซึ่งเป็นการยากที่จะยับยั้งพ.ร.ก.เพราะได้ประกาศใช้แล้ว แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในมาตรา 9 ที่รัฐบาลบอกว่าอาจจะไม่ได้ใช้ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าในอนาคตจะไม่นำมาใช้

เผยสื่อได้รับผลกระทบจากพ.ร.ก.แล้ว

นายไชยยงค์ มณีพิลึก นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่าเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แล้ว สื่อมวลชนในพื้นที่ก็ถูกห้ามไม่ให้ทำข่าวและบันทึกภาพในพื้นที่แล้ว โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่มีการฆ่านายดุสิต เหล่าสิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าด่าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี สื่อถูกห้ามนำเสนอข่าว ห้ามหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อโทรศัพท์สัมภาษณ์หากจะทำข่าวก็ให้ไปที่สถานีตำรวจแทน โดยอ้างว่ามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ไปแล้ว

"ผมไม่มองว่า สื่อมวลชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบหากรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.เต็มรูปแบบ ประชาชนจะได้รับกระทบมากกว่า และที่ผ่านมาเหตุการณ์ความสงบเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ เพราะสื่อได้นำเสนอข่าวไปก่อนทำให้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหยุดลงได้ ถือได้ว่าสื่อมวลชนมีส่วนในการยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น และยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงอีกมากที่สื่อไม่ได้เสนอ ถ้ามีการเสนอจริงๆ ก็คงจะมีประเด็นมากกว่านี้"นายไชยยงค์ ระบุ

ซีป้าหวั่นพ.ร.ก.ลิดรอนเสรีภาพ

สมาคมหนังสือพิมพ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทยที่ให้อำนาจอย่างล้นเหลือแก่นายกฯ ในการจัดการกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งตำหนิ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อย่างรุนแรงว่าจะทำให้นายกฯ มีอำนาจเซ็นเซอร์สื่อ, ดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์และกักขังหน่วงเหนี่ยวประชาชนโดยไม่ต้องตั้งข้อหา

แถลงการณ์ของซีป้ายังระบุว่า การลิดรอนสิทธิ์พื้นฐานของประชาชน ไม่ใช่การแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น "การให้รัฐบาลมีอำนาจโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างมาก เป็นอันตรายยิ่งกว่าตัวปัญหาอื่นใดที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขอยู่ในขณะนี้" นายโรบี้ อลามเพย์ ผู้อำนวยการบริหารซีป้า ระบุและว่า การให้อำนาจผู้นำสามารถกักขัง หน่วงเหนี่ยวประชาชนโดยไม่ต้องตั้งข้อหา และสามารถดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ได้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

"หากการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่รัฐบาลวิตกกังวลจริง ทำไมรัฐบาลต้องหาทางควบคุมการนำเสนอข่าวสารของสื่อ" ซีป้าระบุและว่า สื่อที่มีเสรีภาพในการสังเกตการณ์และวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาชายแดนภาคใต้ ถือเป็นระบบป้องกันของภาคประชาชนไทยเพียงหนึ่งเดียว ที่จะต่อกรกับการละเมิดสิทธิครั้งรุนแรงผ่านการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้

 

โดย: ภาคประชาชน (ไทเมือง ) 21 กรกฎาคม 2548 2:05:43 น.  

 

ผมเก็บรวมข่าว-บทความ ไฟใต้ไว้ที่แพนทาวน์
ถ้าสนใจลองคลิกที่

//thaican.pantown.com/


 

โดย: Can IP: 202.5.88.157 22 กรกฎาคม 2548 5:54:09 น.  

 

คนที่บอกว่า อยากได้ความรุนแรง อยากได้ไม้แข็ง ฯลฯ
ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า เรากำลังรบกับใคร?
ผมไม่ได้คลั่งไคล้สายพิราบอย่างเดียวหรอก ผมชอบเหยี่ยวเช่นกัน
และขอให้เป็นเหยี่ยวจริงๆที่จู่โจมศัตรูไม่เคยพลาดเป้า!!!

ไม่ใช่ พวกจิ้งหรีด ที่ถูกปั่นหัวให้กัดกันเอง ให้คนนั่งดู สนุกสนานชอบใจ !!!

 

โดย: เด็กถอนหงอก IP: 202.129.52.202 7 สิงหาคม 2548 23:21:59 น.  

 

ได้รับข่าวสารจากแหล่งข่าวของรัฐ แจ้งว่าวัดมาลาประชาสรรค์ หมู่ 3 ตำบล ตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็น 1 ใน 4 เป้าหมายที่จะก่อเหตุร้าย รัฐบาลรู้แล้วจะทำอย่างไร ? จะปล่อยให้เกิดหรือเปล่า ? จะป้องกันอย่างไร ? ชาวบ้านจะเป็นอย่างไร ความรู้สึกระหว่างผู้นับถือศาสนาพุทธ -อิสลาม จะเป็นอย่างไร ยอมหรือให้คนไทย ทะเลาะ กันเอง ทำร้ายกันเอง จะทำอะไรก็รีบทำ ก่อนบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ

 

โดย: คนพื้นที่ IP: 203.118.99.226 19 ตุลาคม 2548 10:07:46 น.  

 

 

โดย: ดญชนิตาพันธ์บุตร IP: 203.156.1.193 12 ตุลาคม 2549 20:16:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ไทเมือง
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ไทเมือง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.