Group Blog
 
 
มีนาคม 2549
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
23 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 

กำลังเป็นที่สนใจเรื่องมาตรา 7 มาลองรวบรวมกันดู

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ตราไว้ ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐
เป็นปีที่ ๕๒ ในรัชกาลปัจจุบัน


.............................ฯลฯ...........................

มาตรา ๗ ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุข

*************************************


มาตรา 7

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายวัน วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10229

มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญหมายความว่าอย่างไร?

จะรู้ว่าหมายความอย่างไร อย่านึกเอาเอง แต่ควรเริ่มต้นหาความหมายด้วยการดูว่ามันมาจากไหน

น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ข้อความอย่างนี้เกือบจะเป๊ะทุกคำ เริ่มปรากฏครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2502 อันเป็นธรรมนูญของเผด็จการทหารสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่น่าสนใจกว่านั้นขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อไม่มีบทบัญญัติในธรรมนูญในกรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามจารีตการปกครอง "ในระบอบประชาธิปไตย" เฉยๆ ครับ คือไม่มีความต่อไปว่า "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อย่างที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

นอกจากนี้ธรรมนูญของสฤษดิ์ยังมีวรรคสองกำหนดว่า หากเกิดปัญหาที่มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารก็ให้สภา (นิติบัญญัติ) วินิจฉัยชี้ขาด

และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญใดๆ ที่คณะรัฐประหารเป็นผู้เขียนออกมา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือรัฐธรรมนูญของเผด็จการทุกกลุ่ม จะมีข้อความอย่างเดียวกับมาตรา 7 เสมอ เช่นเมื่อถนอมยึดอำนาจตัวเองแล้วออกรัฐธรรมนูญ 2515 เนติบริกรของเขาก็บรรจุมาตรานี้ไว้ รัฐธรรมนูญ 2519 สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกฯ ก็มีข้อความนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2520 เมื่อเปลือกหอยออกแรงบีบจนเนื้อหอยทะเล็ดออกไปแล้ว ก็มีข้อความนี้

และทุกฉบับจนถึง 2520 ล้วนไม่มีวลี"อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"ต่อท้ายคำว่าประชาธิปไตยทั้งนั้น วลีนี้มาปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญเผด็จการที่คณะ รสช.ให้เนติบริกรร่างขึ้น และออกใช้ใน พ.ศ.2534

ตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญของเผด็จการ รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยมีกลุ่มอำนาจเข้าไปมีส่วนร่วมหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เช่นรัฐธรรมนูญ 2518,2521 ไม่มีข้อความนี้เลย แม้แต่รัฐธรรมนูญที่คณะทหารจำเป็นต้องนำออกมาใช้ หลังจากแก๊งสฤษดิ์ยึดอำนาจไปถึง 12 ปี คือรัฐธรรมนูญ 2511 ก็ไม่มีข้อความนี้

เหตุใดเผด็จการจึงต้องบรรจุข้อความนี้ไว้ในธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญของตัว?

ผมคิดว่าคำตอบมีสองประการ

1/เพราะธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญของพวกเขา มักมีข้อความสั้นๆ เพียงไม่กี่มาตรา จึงต้องมีข้อความนี้ไว้ใช้ในกรณีที่อาจจะดูเหมือนไม่มีกฎหมายรองรับ อันจะเป็นเหตุให้พวกเขามีภาพเป็นแก๊งโจรป่า เข้ามายึดบ้านยึดเมืองชัดเจนเกินไป อย่าลืมด้วยว่า อะไรคือจารีตประเพณีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เขาเองเป็นคนตีความโดยผ่านปากของเนติบริกรซึ่งหาซื้อบริการได้ง่ายในเมืองไทยมานานแล้ว

๒/มันสวยดีครับ ธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปล่อยให้มีการใช้อำนาจโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล หรือการรับรองจากใครสักคนเลย นอกจากปากกระบอกปืน แต่ถ้ายังมีช่องโหว่ในการใช้อำนาจเหลืออยู่ที่ไหนสักเท่ารูเข็ม ตรงนั้นจึงค่อยใช้จารีตประเพณีของประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็เท่ากับดึงพันธมิตรจากกลุ่มที่ตัวตั้ง ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเองด้วย เพราะจารีตประเพณีของประชาธิปไตยก็ตาม วรรคสองของธรรมนูญสฤษดิ์ก็ตาม ย่อมให้บทบาทความสำคัญแก่คนเหล่านี้ อย่างน้อยบนตัวหนังสือ

(อันที่จริงผมออกจะสงสัยด้วยว่า ข้อความนี้รวมทั้งวรรคสองในธรรมนูญสฤษดิ์ เป็นพินัยกรรมของสฤษดิ์ซึ่งสุขภาพไม่ดี และอาจเสียชีวิตได้ทุกขณะ ด้วยความหวังว่าการสืบทอดอำนาจของคณะปฏิวัติ อาจทำได้ด้วยการเจรจาต่อรองโดยสันติในสภานิติบัญญัติซึ่งมีนายทหารคุมกองกำลังอยู่พร้อมแล้ว แทนที่จะต้องขับรถถังออกมาเจรจากันบนท้องถนน)

ความหมายของข้อความทำนองมาตรา 7 จึงไม่ได้หมายถึงพระราชอำนาจในระบอบปกครองราชาธิราชของไทยอย่างแน่นอน แม้แต่ข้อความที่โยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่เคยมีมาก่อนจนถึงรัฐธรรมนูญของ รสช.2534 หัวใจของความหมายจึงอยู่ที่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนอกจากกติกาจะถูกเขียนขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายต่างๆ แล้ว ยังมีอีกส่วนที่เป็นประเพณีซึ่งต้องเชื่อถือปฏิบัติ (นี่ว่ากันตามความหมายตัวอักษรนะครับ เพราะสถาบัน และกลไกของระบอบประชาธิปไตยภายใต้เผด็จการนั้นไม่มีอยู่แล้ว ประเพณีของระบอบประชาธิปไตย จึงทำงานโดยไม่มีสถาบันและกลไกรองรับไม่ได้อยู่เอง)

รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวที่ไม่ได้เกิดจากเผด็จการ แต่กลับบรรจุข้อความในมาตราเจ็ดไว้ด้วย คือรัฐธรรมนูญที่ได้สมญาว่าฉบับประชาชน 2540 นี่แหละครับ

ส.ส.ร.บรรจุข้อความนี้ไว้ด้วยจุดประสงค์อะไร ไม่มีใครตอบได้ เข้าใจว่าผู้ยกร่างบรรจุข้อความนี้ไว้โดยลอกมาจากรัฐธรรมนูญของ รสช. ครั้นนำเข้าพิจารณาในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีสมาชิกคนใดติดใจอภิปรายมาตรา 7 เลย จึงผ่านออกไปเงียบๆ และเมื่อไม่มีการอภิปราย ก็ทำให้ไม่รู้เจตนารมณ์ซึ่งก็คือไม่รู้ความหมายที่ชัดเจนนั่นเอง

แม้กระนั้นก็จะใส่ความหมายลงไปตามใจชอบไม่ได้ จำเป็นต้องเอามาตรา 7 ใส่กลับลงไปในเงื่อนไขและสภาวะแวดล้อมของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีความพยายามอย่างจริงจัง ที่จะสถาปนาระบบที่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจอย่างแยบคาย (แต่กลไกเหล่านั้นอาจถูกทำให้เป็นหมันไปเกือบหมด ภายใต้รัฐบาลทักษิณ) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ปล่อยให้มีอำนาจอันหนึ่งอันใดที่อาจใช้ได้โดยไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งพระราชอำนาจด้วย

ฉะนั้นจึงไม่อาจเข้าใจมาตรา 7 ว่าหมายถึงการคืนพระราชอำนาจ หรือการพึ่งพระบารมีให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชอัธยาศัยได้ ไม่ว่าวลีที่ว่า"ประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" จะมีความหมายอย่างไรแก่เหล่าเผด็จการที่สร้างความในมาตรานี้ขึ้น แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สองส่วนของวลีนี้แยกออกจากกันไม่ได้ การแก้วิกฤตใดๆ อันเป็นผลให้ประเทศไทยปราศจากประมุข ที่เป็นพระมหากษัตริย์ย่อมทำไม่ได้ เท่ากันกับที่เป็นผลให้ระบอบปกครองของประเทศไทย ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ย่อมทำไม่ได้เหมือนกัน…ทั้งเหมือนกันและเท่ากันด้วย

ถ้าอย่างนั้น มาตรานี้จะใช้ได้ในความหมายอย่างไร?

มีแบบปฏิบัติที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้มากมาย โดยเฉพาะในทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามประเพณีการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่นรัฐบาลรักษาการไม่พึงดำเนินการ ที่จะเป็นการผูกมัดเชิงนโยบายแก่รัฐบาลที่จะมาใหม่ เช่นเมื่อรัฐบาลแพ้โหวตกฎหมายสำคัญในสภา ควรกราบถวายบังคมลาออกไป เพราะแสดงอยู่แล้วว่าเสียงสนับสนุนในสภาของรัฐบาลมีไม่พอจะบริหารต่อไปอย่างราบรื่นได้ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ รัฐธรรมนูญที่ไหนๆ ในโลกย่อมฉลาดพอจะไม่บัญญัติไว้ทั้งสิ้น เพื่อเปิดโอกาสให้พิจารณาเลือกปฏิบัติได้เหมาะสมตามกรณี

เช่นเดียวกับที่หากนายกฯ รักษาการตายหรือลาออก (นักกฎหมายบางคนอ้างว่า ลาออกไม่ได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ โชคดีที่ผมไม่เคยเรียนกฎหมายจึงไม่เชื่อ เพราะทุกตำแหน่งในโลกนี้ หากอนุญาตให้ตายได้ ก็ต้องอนุญาตให้ลาออกได้เสมอ เนื่องจากมนุษย์ย่อมประกอบด้วยสองส่วนคือกายกับใจ หากกายตาย ย่อมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ หากใจไม่อยากจะปฏิบัติหน้าที่เสียแล้วด้วยเหตุใดก็ตาม ใจย่อม"ตาย"ไปจากตำแหน่งนั้นแล้ว และไม่อาจดำรงอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไปเหมือนกัน) คำถามคือจะให้ใครขึ้นมาเป็นนายกฯ รักษาการ ในเมื่อไม่มีสภาเสียแล้ว ซ้ำ ครม.ยังสิ้นสุดลงเพราะการลาออกของนายกฯ เสียอีก มาตรา 7 หรือประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็คือให้ใช้วิธีการเดียวกับรัฐบาลที่มาจากสภาได้ นั่นก็คือให้รองนายกฯ ขึ้นมารักษาการต่อไป

ผมมองอย่างไรก็มองไม่เห็นว่า เมื่อตำแหน่งนายกฯ รักษาการว่างลง พระมหากษัตริย์จะทรงพระราชอำนาจแต่งตั้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาเป็นนายกฯ ได้ ไม่เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามมาตรา 7 แต่อย่างไร

เหตุการณ์ 14 ตุลาก็ตาม 6 ตุลาก็ตาม ไม่ใช่ประเพณีการปกครอง (ใครอยากให้สองเหตุการณ์นั้นเป็นประเพณีหรือ?) แต่เป็นเหตุการณ์ยกเว้นที่เราควรภาวนาว่าไม่พึงเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย ในทั้งสองเหตุการณ์ ประเทศไทยไม่มีรัฐบาลเหลืออยู่เลย เหตุการณ์แรกคณะบุคคลที่อ้างว่าเป็นรัฐบาล ส่งทหารตำรวจออกมาเข่นฆ่าประชาชนกลางถนน ก็แปลว่าไม่มีรัฐบาลเหลืออยู่อีกแล้ว ในเหตุการณ์ที่สองรัฐบาลในขณะนั้นปล่อยให้อันธพาลเข่นฆ่าประชาชนอย่างเหี้ยมโหดกลางเมือง โดยไม่ได้ทำอะไรเลย ก็แปลว่าไม่มีรัฐบาลเหลืออยู่อีกแล้วเช่นกัน เหตุดังนั้นจึงถูกต้องแล้วที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะอำนวยให้เกิดรัฐบาลขึ้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง (อันเป็นความสามารถขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องมีรัฐ)

ไม่นานมานี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ในรัฐธรรมนูญอังกฤษระบุว่า ในกรณีคับขันไม่มีทางออกอย่างอื่น พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจปลดนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลออกจากตำแหน่งด้วยการแจ้งให้นายกฯ และรัฐบาลทราบ โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีการกราบบังคมทูลจากรัฐบาล

ผมไม่ทราบว่าท่านไปเอาความข้อนี้จากรัฐธรรมนูญอังกฤษซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี และไม่เป็นลายลักษณ์อักษรได้อย่างไร

อันที่จริงรัฐธรรมนูญอังกฤษซึ่งไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น อาจย่นย่อลงเหลือมาตราเดียว คือมาตรา 7 ของเรานี่แหละครับ ฉะนั้นจะเข้าใจรัฐธรรมนูญอังกฤษได้จึงต้องเข้าใจประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษให้ดี

จริงอยู่ นายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้นเคยมาจากการแต่งตั้งของราชบัลลังก์ ฉะนั้นจะทรงปลดออกเมื่อไรก็ได้ และก็ได้ทรงปลดมาหลายคนแล้ว แต่ในสมัยไหนครับ? โน่นครับ ต้นอยุธยาโน่น ทว่านับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประมาณรัชกาลพระเจ้าท้ายสระต่อพระเจ้าบรมโกศเป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีอังกฤษล้วนมาจากการเสนอ ของสภาผู้แทนราษฎรทั้งนั้น และไม่เคยมีนายกฯ คนใดถูกปลดออกโดยพระบรมราชโองการอีกเลย แม้ในยามที่อังกฤษต้องเผชิญภัยคุกคามของนโปเลียนและฮิตเลอร์อย่างโดดเดี่ยวในยุโรป

ฉะนั้นถ้า"อ่าน"รัฐธรรมนูญอังกฤษเป็น ก็จะรู้ได้ทันทีว่าพระราชอำนาจข้อนี้ของราชบัลลังก์ได้หมดไปเกือบสามศตวรรษแล้ว

เพราะเป็นรัฐธรรมนูญประเพณีและไม่เป็นลายลักษณ์นี่แหละ ที่ทำให้รัฐธรรมนูญอังกฤษแยกไม่ออกจากประวัติ-ศาสตร์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งหมดแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จะเข้าใจประเพณีการปกครองนี้ได้ ต้องดูจากประเพณีที่ถูกใช้จริงในประวัติศาสตร์ และแปรเปลี่ยนไปตามประวัติศาสตร์ ในอังกฤษวิชาประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองซึ่งนักเรียนกฎหมายต้องเรียน เขาเรียกว่า Constitutional History แปลว่าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐและสังคมอังกฤษ และนี่แหละคือรัฐธรรมนูญอังกฤษ คือประเพณีการปกครองที่เกิดจากการใช้จริงในสังคม

นักเรียนไทยถูกสอนว่ารัฐธรรมนูญอังกฤษไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วก็ท่องจำกันต่อๆ มาโดยไม่เข้าใจนัยสำคัญของข้อเท็จจริงตื้นๆ ข้อนี้ ผมขออนุญาตสอนรัฐศาสตร์ (ที่ไม่เคยเรียน) ในหน้าหนังสือพิมพ์ ว่าด้วยนัยะสำคัญเพียงข้อเดียวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเรา

รัฐธรรมนูญทุกฉบับในโลกนี้เปิดช่องให้มีการแก้ไขได้ทั้งนั้น (ถ้าการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไม่ใช่กีฬาประจำชาติ) จะแก้โดยเพิ่มลดขยายทอนมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือแก้โดยการทำบทเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ หรืออาศัยคำพิพากษาของศาลสร้างบรรทัดฐานที่ชัดขึ้นสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันก็ตาม รัฐธรรมนูญประเพณีที่ไม่เป็นลายลักษณ์ของอังกฤษเปิดให้มีการแก้ไขด้วยกระบวนการทางสังคม จะเป็นการเคลื่อนไหวแบบพันธมิตรประชาธิปไตยที่สนามหลวง หรือการเสนออย่างราบเรียบของนักวิชาการ หรือคำตัดสินของศาลสูงก็ตาม เกิดการถกเถียงโต้แย้งจนในที่สุดสังคมเองนั่นแหละ ที่ผลักดันให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

และรัฐธรรมนูญอังกฤษก็ถูกแก้ไขด้วยกระบวนการทางสังคมเช่นนี้มาแยะแล้ว เช่นสิทธิเลือกตั้งซึ่งต้องขยายให้แก่พลเมืองทุกคน ก่อนที่ ส.ว.ชุดนี้จะตายไปจากโลก สภาขุนนางอังกฤษจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว อาจถูกยกเลิกไป อาจกลายเป็นสภาเลือกตั้ง อาจจำกัดแวดวงของผู้มีสิทธินั่งในสภาให้แคบลง ฯลฯ สังคมเปลี่ยนเร็ว รัฐธรรมนูญอังกฤษก็เปลี่ยนเร็ว เพราะรัฐธรรมนูญถูกแก้ไขจากกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่จากกลุ่มคนหัวเหม่งไม่กี่คน

ผมได้แต่หวังว่า คนที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เวลานี้ ให้ความสนใจแก่กระบวนการมากกว่าสนใจอยู่แค่เนื้อหา คิดให้ดีเถิดว่ากระบวนการอะไรที่จะทำให้คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม, มีเวทีสำหรับการถกเถียงอภิปรายอย่างเท่าเทียมกัน ฯลฯ เป็นต้น

เรื่องสุดท้ายที่ต้องพูด เพราะไม่พูดก็จบบทความนี้ไม่ได้ก็คือ จะทำอย่างไรดีกับนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร

คำตอบของผมก็คือ ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าที่ควรทำตามระบอบประชาธิปไตย ช่วยกันระวังรักษาให้กระบวนการทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย ดำเนินต่อไปให้ได้ ประชาชนที่ชุมนุมกันขับไล่คุณทักษิณอยู่ที่สนามหลวงนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย ที่เราต้องช่วยกันประกันสิทธิของเขาให้มั่นคง และปลอดภัยแก่ตัวเขา

นายกฯ ที่ไม่อาจตอบปัญหาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของตนเองให้เป็นที่พอใจของประชาชนกลุ่มใหญ่ นายกฯ ที่ขึ้นครองอำนาจโดยไม่มีฝ่ายค้านในสภาที่มีประสิทธิผลสักคนเดียว อยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้หรอกครับ เพราะฟังค์ชั่นไม่ได้ ข้าราชการเริ่มไม่แน่ใจว่าจะทำตามคำสั่งดีหรือไม่ นักการเมืองกระโดดเรือหนี คุณทักษิณเป็นมะม่วงเน่าคาต้นที่รอเวลาร่วงเท่านั้น

ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อคุณทักษิณร่วงไปแล้ว สังคมไทยเข้มแข็งขึ้นพอจะสามารถกำกับควบคุมนายกฯ ได้หรือไม่ต่างหาก หากผู้คนยังพร้อมจะเรียกหาอัศวินควายดำกันง่ายๆ อย่างนี้อีก นายกฯ คนใหม่ก็พร้อมจะแทรกแซงสื่อ,แทรกแซงองค์กรอิสระ, และหาคะแนนเสียงจากประชาชนด้วยนโยบายเหี้ยมโหด ไร้ผลในทางปฏิบัติต่อไปเหมือนเดิม เพราะลัทธิอัศวินควายดำนั้นใช้ได้ทางเดียว คือยกเว้นกฎหมายและความชอบธรรมแก่บุคคลบางคน (ซึ่งเป็นที่นิยมก็ตาม หรือเป็นบุคคล"พระราชทาน"ก็ตาม) แต่ไม่สามารถใช้กลับกันในการทำให้บุคคลอยู่ภายใต้กฎหมายและความชอบธรรมได้ จึงไม่ใช่ลัทธิที่ให้อำนาจกำกับควบคุมการบริหารแก่สังคมแต่อย่างใด




 

Create Date : 23 มีนาคม 2549
21 comments
Last Update : 23 มีนาคม 2549 4:43:14 น.
Counter : 818 Pageviews.

 

หมอเหวงค้านรัฐประหารใช้ ม.7

ขณะที่สมาพันธ์ประชาธิปไตย โดย น.พ.เหวง โตจิราการ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 6 ยืนยันจุดยืนของสมาพันธ์ฯ ที่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากนายกรัฐมนตรี แต่คัดค้านการทำรัฐประหารและคัดค้านการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท โดยระบุว่า การที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศที่จะให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 และขอรัฐบาลพระราชทาน นั้น เท่ากับทั้งสองคนกำลังดำเนินการไปในทิศทางเสมือนหนึ่งจะรัฐประหารรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่รัฐบาลพระราชทาน ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับสมาพันธ์ฯและทำให้การเมืองไทยต้องถอยหลัง พร้อมกันนี้ในแถลงการณ์ได้เรียกร้องให้ กกต.เลื่อนการเลือกตั้งออกไป และขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคเข้าร่วมการเลือกตั้ง ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังเลือกตั้งเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองต่อไป

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 4:47:10 น.  

 

มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฯ กับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

โดย ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย

มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติไว้ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

มีความหมายว่า การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นสัญญาประชาคม หรือเป็นกติกาสังคมหรือเป็นกฎหมายสูงสุดของสังคมใดก็ตาม ไม่อาจแก้ไขปัญหาทุกประการได้ด้วยถ้อยคำที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญวิเศษฉบับใดในโลกที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องใช้หลักกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (common law) โดยอาศัยขนบธรรมเนียมประเพณีมาช่วยอุดช่องโหว่ช่องว่างให้แก่กฎหมายประเภทลายลักษณ์อักษรนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฯ จึงเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศเมื่อถึงคราวจำเป็น

ความจำเป็นดังกล่าวนี้ สามารถพิจารณาได้ใน 4 กรณี คือ

ประการที่หนึ่ง กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ เขียนไว้ ก็ให้ใช้จารีตประเพณีปฏิบัติที่เคยเป็นมาในอดีตเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ประการที่สอง กรณีที่มีบทบัญญัติเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฯ แต่ปฏิบัติไม่ได้ เนื่องจากเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไป เงื่อนเวลาเปลี่ยนแปลงไป อาทิ การสรรหากรรมการในองค์กรอิสระของรัฐที่มีการกำหนดเงื่อนเวลาไว้ แต่ปฏิบัติไม่ได้ หรือกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่มีผู้ว่า สตง.แล้วการปราบทุจริตต้องหยุดชะงัก ทำอะไรไม่ได้ ผลเสียหายก็จะติดตามมา ก็สามารถใช้กระบวนการอื่นๆ ทดแทนได้ อย่างนี้ เป็นต้น

ประการที่สาม กรณีที่มีบทบัญญัติเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฯ เงื่อนไขครบ เงื่อนเวลาไม่มีปัญหา สามารถปฏิบัติได้ แต่ปฏิบัติแล้วทำให้เกิดผลเสียหายติดตามมา ยกตัวอย่าง การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งที่ปราศจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่สำคัญ และได้รับการต่อต้านจากประชาชน (กลุ่มหนึ่ง) เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าเราจะได้สภาผู้แทนราษฎรที่ผูกขาดโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว และปราศจากฝ่ายค้าน (ที่แท้จริง) ซึ่งจะกลายเป็นเผด็จการโดยรัฐสภาโดยปริยาย ทุกฝ่ายยอมรับว่าน่าจะเกิดความเสียหายติดตามมาอย่างแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร

ประการที่สี่ กรณีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งอาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้การใช้รัฐธรรมนูญฯ สะดุดหยุดลง การบริหารราชการแผ่นดินต้องสะดุดหยุดลง ดังนั้น จึงอาจจำเป็นต้องแก้ไขโดยการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรืองดใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นการชั่วคราว

ตัวอย่างเช่น การเกิดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเกิดศึกสงคราม จนไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งต่อไปได้ หรือต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการ หรือการห้ามผู้คนออกนอกเคหสถาน เป็นต้น ซึ่งอันตรายที่ว่านี้จะต้องมีลักษณะที่มีความชัดเจนหรือแจ้งชัดและเกิดขึ้นทันทีทันใดที่เรียกกันว่า clear and immediately danger

กรณี 14 ตุลาคม 2516 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงสภาวการณ์ของการเกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้น จึงมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทาน (ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์) เอาธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ขึ้นหิ้งไว้ แล้วดำเนินการตามกระบวนการประชาธิปไตย มีการแต่งตั้งสมัชชาสนามม้าเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 299 คน เพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติและยกร่างรัฐธรรมนูญกันต่อไป

ส่วนธรรมนูญการปกครองฯ ก็ใช้เท่าที่จำเป็น แต่ไม่มีการยกเลิก ส่วนใหญ่ใช้ประเพณีประชาธิปไตยแทนเกือบทั้งหมด

ในกรณีที่สถานการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบันที่แต่ละฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน มีการนำประชาชนมาประจันหน้ากัน ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าอาจจะเกิดการปะทะกันขึ้นได้

หรือเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายนนี้ ก็คาดการณ์ได้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความชอบธรรม หรือขาดการยอมรับของประชาชน ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นผู้นำที่มีปัญหาทั้งด้านจริยธรรมทางการเมือง และยังมีข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกหลายประการ ที่จะต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ดังนั้น เมื่อมีผู้ทำหนังสือถวายฎีกาขอพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยนำจารีตประเพณีการปกครองตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฯ มาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีรัฐบาลชั่วคราวทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญและดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นการเริ่มต้นกิจกรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยใหม่ โดยพรรคการเมืองทุกพรรคมีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อไปนั้น

จึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ดั้งเดิมที่เรียกกันว่าพระราชอำนาจพรีร็อกเกตีฟ (Royal Prerogative) ที่ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยที่จะสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องอิงอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา เป็นพระบรมราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ในภาวะที่บ้านเมืองถึงยามคับขัน

ในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในระบบพรรค การใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฯ จึงเป็นการใช้พระราชอำนาจที่เป็นกลาง เป็นพระราชอำนาจที่แท้จริงที่จะปกป้องและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตลอดทั้งการรักษาไว้ ซึ่งชาติบ้านเมืองและชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายเหนือสุดยิ่งกว่าเป้าหมายใดๆ ของการมาอยู่รวมกันเป็นสังคมของคนไทยทุกคน มิใช่หรือ

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 4:48:56 น.  

 

ตรงนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับมาตรา 7 แต่เห็นว่าน่าสนใจเลยรวมมาไว้
..................................................................

ถ้าจะให้นายกฯ ลาออก

สถานการณ์ตอนนี้ ฝ่ายต่อต้านยืนยันว่านายกฯ จะต้องลาออกและเว้นวรรคเท่านั้น ขณะที่นายกฯ ก็ยืนยันว่าไม่ลาออก ทำให้เหตุการณ์ขยายวงกว้างขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง ทั้งนี้ มีบางกลุ่มเสนอให้ตั้งโต๊ะเจรจา/ดีเบท ซึ่งผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เพราะต่างฝ่ายต่างยืนยันจุดยืนของตนเองชัดเจนและไม่ยอมแพ้ ผมจึงขอแสดงความเห็นพร้อมปรึกษาอาจารย์ว่า กรณีมีกลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มอธิการบดี กลุ่มตัวแทนนักศึกษา กลุ่มนักวิชาการ ฯลฯ นำเสนอคณะองคมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ในหลวง เพื่อบอกให้นายกฯ ลาออก จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ และผมไม่ทราบว่าเป็นการบังควรหรือลบหลู่เบื้องสูงหรือเปล่า ที่คิดเห็นเช่นนี้เนื่องจากนายกฯ เคยประกาศว่าถ้าในหลวงให้ออก ก็จะกราบเท้าลาออกทันที


คำตอบ
ในยามปกตินั้นเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ยากที่จะบอกได้ว่าใครผิดใครถูก และภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากว่าอย่างไรก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น แม้จะไม่แน่ว่าเสียงข้างมากนั้นจะถูกเสมอไป แต่คนที่มีเสียงข้างมากก็ต้องสำเหนียกถึงความเห็นของเสียงข้างน้อยไว้เสมอเหมือนกัน เพราะถ้าทำจนเกิดความ "เดือด" ขึ้นในหมู่คนเสียงข้างน้อย ความไม่เรียบร้อยในสังคมก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดความแตกต่างในความคิดเห็นในทางการเมืองขึ้น จึงไม่สมควรนำเรื่องไปรบกวนเบื้องยุคลบาท ต้องถือเป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการไปตามที่เหมาะที่ควรด้วยความรับผิดชอบของตนเอง

ในยามที่ไม่ปกติ เมื่อฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบมิได้ดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อย จนเกิดความ "เดือด" ขึ้นในสังคม และความคิดเห็นยังเป็นหลายฝักหลายฝ่ายอยู่เช่นนี้ การนำปัญหาไปให้ทรงวินิจฉัยย่อมเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาทจนเกินไป ในเมื่อทุกฝ่ายทราบกันดีแก่ใจว่า ความสุขสงบและความสมานฉันท์ของประชาชนและสังคมเป็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระประสงค์ยู่เสมอ ทำไมจึงไม่ทำไปตามที่พระองค์ทรงมีพระราโชวาทไว้ อย่างน้อยที่เคยทรงเตือนไว้ว่า เมื่อทะเลาะกันไปแล้วในที่สุดก็จะไม่รู้ว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร ชัยชนะบนสิ่งปรักหักพังนั้นจะภูมิใจได้หรือ



มีชัย ฤชุพันธุ์
13 มีนาคม 2549

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 5:06:50 น.  

 



ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังร้อนระอุ ระหว่างภาคประชาชนกับภาคการเมือง ในการหาข้อสรุปยุติบทบาททางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้าน
จึงมีผู้พยายามเสนอทางออก อันจะนำไปสู่แนวทางแก้วิกฤติการเมืองไทย

ทันทีที่ประเด็นเรียกร้องให้มี 'นายกรัฐมนตรีพระราชทาน' แพร่สะพัดไป ปรากฏว่ามีกระแสตอบรับและขอให้มีการนำรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 นี้มาใช้ โดยล่าสุด กลุ่ม ส.ว.อิสระ 50-60 คน ออกมาลงชื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกฯ และเห็นสมควรนำรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 มาใช้แก้ปัญหาวิฤติการเมืองครั้งนี้

มองโดยผิวเผินแนวทางนี้น่าสนใจที่สุดในมุมมองของนักการเมืองและนักรัฐศาสตร์ แต่ในมุมของนักนิติศาสตร์ ดร.สุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับเตือนว่า หากจะนำรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาใช้ จะต้องมีการศึกษากันให้ถ่องแท้เสียก่อน

"ผมไม่อยากจะให้มีความรวบรัดว่าเรื่องนี้ เรื่องนั้น สามารถใช้มาตรา 7 ได้ มันต้องมีการจุดประกายให้ลองคิดกันดู เพราะว่ามันอาจมีความเห็นค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างความเห็นของนักนิติศาสตร์ ซึ่งมีแนวโน้มจะตีความมาตรา 7 เคร่งครัดตามตัวอักษร ในขณะที่นักรัฐศาสตร์อาจมองในแง่ของวงกว้างกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นวงแคบหรือวงกว้าง มันย่อมมีผลกระทบ"

ผลกระทบที่ว่านี้ สมมติในเรื่องหนึ่งบังเอิญใช้ได้ ก็จะกลายเป็นข้ออ้างว่าเรื่องอื่นๆ ในอนาคตก็อาจใช้มาตรา 7 ได้ และจะกลายเป็นการใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เพราะฉะนั้น จึงยังไม่อยากให้มีข้อยุติ แต่ขอให้ไปลองพูดคุยกันดูก่อนว่าตรงนี้มันเป็นทางออกได้แค่ไหน อย่างไร

ถามว่าเคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้หรือไม่ กรณีไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดร.สุจิต กล่าวว่า ถ้าจำไม่ผิดยังไม่มีการอ้างอิง มาตรา 7 มาใช้ในการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นคำวินิจฉัยกลาง แต่ในการอภิปรายของบรรดาตุลาการ ก็มีการถกกันในเรื่องดังกล่าว จำได้ว่าตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตราที่อุดช่องว่าง ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้ทำอย่างไร ก็บอกว่าให้ใช้มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติไว้ว่าในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณี ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการนำมาใช้จะต้องเป็นไปตามประเพณี การปกครองในระบอบประชาธิปไตย

นั่นหมายความว่า ต้องเป็นประเพณีที่เราเคยใช้อยู่ หรือเป็นประเพณีที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยตรงนี้

"ผมขอเรียนว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมี ถ้าผมจำไม่ผิด แต่อาจมีการพูดคุยกันในระดับอภิปรายของหมู่ตุลาการว่าเรื่องนี้ใช้มาตรา 7 ได้มั้ย เสร็จแล้วพูดไปพูดมาก็ไม่เอา อะไรทำนองนี้ พูดง่ายๆ คือ ยังไม่มีการนำมาใช้วินิจฉัยเพื่อแก้ปัญหาทางตันทางการเมือง

"แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นมาตรา 7 หรือเปล่า นั่นคือตอนที่มีการเลือกตั้งวุฒิสภาครั้งแรก เมื่อ 6 ปีที่แล้ว มีการแขวนใบแดง ใบเหลือง เยอะแยะไปหมด ทำให้วุฒิสภาไม่ครบ 200 คน ฝ่ายผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความรู้สึกว่าน่าจะให้มีการประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานวุฒิสภาได้ จึงมีการเคลื่อนไหว และเรื่องนี้ก็ขึ้นมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องให้ครบ 200 คนก่อนจึงจะประชุมได้ ตรงนี้คงต้องไปดูคำวินิจฉัยว่าเราอ้างเหตุผลมาตราใด"

ส่วนประเด็นที่มีนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลออกมาตอบโต้ว่า หากฝ่ายเคลื่อนไหวใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ฝ่ายรัฐบาลก็จะยกมาตรา 65 ออกมาต่อต้านนั้น ดร.สุจิต อธิบายว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 66 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้กำลังในการล้มล้างระบอบการปกครองเท่านั้น

"เราต้องดูเจตนารมณ์ อย่าเอาคำพูดมาพลิกผัน จนกระทั่งไม่รู้ว่ามาตรา 65 หมายความว่าอะไร บัญญัติไว้เพื่ออะไร ความจริงแล้วในรัฐธรรมนูญบางฉบับก็มีการเขียนไว้ชัดเจนกว่านี้ด้วยซ้ำ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นฉบับปี 2517 หรือเปล่า ที่เขียนว่า ทหารทำการปฏิวัติไม่ได้ หรือมีการเสนอแล้วไม่ทราบว่าผ่านออกมาเป็นตัวจริงหรือเปล่า...

"แต่ก็มีคนพูดว่าทหาร เวลายึดอำนาจก็ล้มรัฐธรรมนูญก่อน ดังนั้น มาตราเหล่านี้มันใช้ไม่ได้หรอก อย่างไรก็ตาม อันนี้มีการเขียนไว้เพราะกฎหมายอาญามีอยู่แล้ว ไม่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้"

ที่มา เนชั่นสุดสัปดาห์มาตรา 7 และนายกฯ พระราชทาน

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 5:20:06 น.  

 

เสนอใช้มาตรา 7 ล้มระบอบทักษิณ

ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส สถาบันวิถีทรรศน์ สถาบันสหัสวรรษ ศูนย์วิจัยธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 : ทางออกจากวิกฤติการเมือง?” โดยนายโสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กทม.กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เป็นวิธีป้องกัน แต่ไม่ใช่ทางออกวิกฤติการเมือง เพราะทางออกมีทางเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 เป็นประตูปิดไม่ให้สิ่งไม่ดีกลับมาแปดเปื้อนประเทศไทยอีก ทำให้คนไทยมีความสามัคคี พ.ต.ท.ทักษิณกำลังทำให้มีไทยเหนือไทยใต้ สิ่งนี้เป็นจุดอันตรายที่สุด

นายบรรเจิด สิงห์คะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. พรรคไทยรักไทยได้ 30 ล้านเสียง ก็ไม่ได้หมาย ความว่าจะลบล้างในสิ่งที่ประชาชนสงสัย ความผิดในฐานทรยศต่อประเทศไม่มีอายุความ ส่วนตัวเห็นว่าการคว่ำบาตรการเลือกตั้งของอดีตพรรคฝ่ายค้านเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพื่อทำให้ระบอบทักษิณสิ้นมนต์ขลังไปก่อน ดังนั้น มาตรา 7 จึงเป็นทางออกที่จะล้างระบอบทักษิณ

//www.thairath.com/thairath1/2549/page1/mar/04/p1_2.php

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 5:28:57 น.  

 

"แก้วสรร"ขวางม.7นายกฯพระราชทาน



แก้วสรร อติโพธิ ติงอย่าก้าวล่วงขอนายกฯ พระราชทาน ชี้ทรงใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์เองได้ตาม รธน.มาตรา 3 กระตุกนายกฯ อย่าทำอะไรนอกรัฐธรรมนูญ ขณะที่อดีต ส.ส.ร.ชี้"วิษณุ"อ้างกฎหมายผิดที่อ้าง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ตั้งนายกฯ ชี้ล้มล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วน "มีชัย" ก็โดดขวางไม่อยากให้รบกวนเบื้องยุคลบาท

หลายฝ่ายพยายามหาแนวทางที่จะยุติวิกฤติการเมืองหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภา ซึ่งนอกจากจะไม่คลี่คลายปมปัญหาแล้วยังสร้างกระแสไม่พอใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะสภาไม่ได้มีความผิดแต่ที่บกพร่องคือจริยธรรมของนายกรัฐมนตรี จึงมีการพูดถึงนายกพระราชทาน ผ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 7

นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้คิดว่าพวกเราที่เป็นพสกนิกรทุกคนต้องแก้ปัญหากันเอง อย่าให้พระองค์ต้องเดือดร้อน เพราะเป็นอำนาจของพระองค์เองอยู่แล้วที่จะทรงวินิจฉัยว่าจะใช้เมื่อไหร่ และเรื่องดังกล่าวไม่ได้เข้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 แต่อยู่ในขอบข่ายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ที่ระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

"ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือเมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤติฉุกเฉินรัฐไม่สามารถเดินต่อไปได้ พระมหากษัตริย์สามารถลงมาเยียวยาเพื่อใช้พระราชดำริได้โดยชอบธรรมอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีใครมาเสนอแนะ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาจนบ้านเมืองไปต่อไม่ได้ก็จะคลี่คลายด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ถ้าตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังไม่วางมือก็อย่าเพิ่งมองถึงตรงนั้น คิดอะไรก็ขอให้คิดกันเงียบๆ ขอให้พระองค์ท่านทรงเป็นต้นทุนสุดท้าย อย่าไปก้าวล่วง หรือบีบบังคับให้พระองค์ต้องเลือกข้าง หรือดึงพระองค์ท่านมาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา"

ติง"ทักษิณ"อย่าเล่นนอกรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ ลงบ้างโดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องทำใจให้เย็นที่สุด เพราะเขากังวลว่าคนๆ นี้ถ้าจนมุมจริงๆ สามารถทำได้ทุกอย่าง ซึ่งถือว่าอันตราย จึงขอร้องว่าอย่าทำอะไรนอกรัฐธรรมนูญเด็ดขาด

ส่วนการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ของนายกฯ ในวันที่ 3 มีนาคม ที่ท้องสนามหลวงนั้น คิดว่ามันเลยอะไรมาเยอะแล้ว และนายกฯ ก็ผ่านทางแยกทางออกมาตลอด แต่ไม่ยอมออกจนมาจนมุมอยู่ตรงนี้ นายกฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ ที่ทำผิดแล้วผิดอีก เดินการเมืองผิดจนบ้านเมืองร้อนอย่างนี้

"วิษณุ"หาก"ทักษิณ"ออกรองนายกฯนั่งแทน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายเสนอว่าในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ควรจะใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อขอนายกฯ พระราชทาน ว่า มาตรา 7 มีขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างกรณีที่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญลืมคิดถึงเหตุการณ์บางอย่างไป จึงได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญจะได้ไม่เกิดทางตัน แต่ถ้ามีมาตราต่างๆ อยู่แล้วก็ไม่ใช่จะหยิบมาตรา 7 ขึ้นมา เพราะมาตรา 7 ไม่สามารถทดแทนทุกมาตราในรัฐธรรมนูญได้ ไม่อย่างนั้นมีมาตราเดียวก็พอ อันนี้ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 จะใช้ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่เรื่องที่พูดอยู่ในเหตุการณ์การเมืองเฉพาะหน้า ณ เวลานี้

เมื่อถามว่า ถ้านายกฯ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า สมมุตินายกฯ ลาออก แต่นายกฯ อาจจะมีวิธีอื่นที่ไม่ได้เรียกว่าลาออก แต่ความหมายเป็นอย่างนั้น ครม. ที่เหลืออยู่ก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 41 ประกอบกับมาตรา 10 โดยให้รองนายกฯ คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจน กว่าจะมี ครม. ชุดใหม่

"กรณีนี้รัฐมนตรีคนใดไม่อยากอยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ไม่มีใครไปบีบคอให้ต้องอยู่ ซึ่งในอดีตสมัยที่เป็นรัฐบาลผสม เมื่อมีการประกาศยุบสภาเพราะพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคไม่เห็นด้วยรัฐมนตรีก็ออกได้ เพราะจะให้มานั่งมองหน้ากันก็คงมองกันไม่สนิท ดังนั้น เมื่อประกาศยุบสภาแล้ว รัฐมนตรีสามารถออกได้ ตายได้ เป็นธรรมดา แต่จะตั้งซ่อมไม่ได้"

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 5:31:32 น.  

 

อดีตส.ส.ร.โต้"วิษณุ"อ้างอิงกฎหมายผิด

ด้านนายโกเมศ ขวัญเมือง อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยรามคำแหง และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 มีไว้เพื่ออุดช่องว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบัญยัติเรื่องนั้นเรื่องนี้ไว้ให้ใช้จารีตประเพณี และบางเรื่องจารีตประเพณีไม่มีจึงต้องให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

"การที่นายวิษณุ อ้างว่า ถ้านายกฯ ลาออกให้ใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 41 ประกอบกับมาตรา 10 โดยให้รองนายกฯ คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน นั้นเป็นความเข้าใจผิด นายวิษณุ ใช้กฎหมายลูกเป็นกฎหมายเล็ก จะมาล้มล้างหรือมายกเว้นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่แบบไม่ได้ เพราะหากความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงจะต้องใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 เท่านั้น"

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 5:32:25 น.  

 

"โสภณ"ชี้นายกฯออกใช้มาตรา 7 ได้

วานนี้ (1 มี.ค.) โสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กทม.ได้เขียนบทความโดยสรุปความว่า ผู้นำการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่างรู้ดีว่าถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เข้าเงื่อนไขที่จะใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ให้มีนายกฯ พระราชทานเฉพาะกาลซึ่งจะนำจริยธรรมและความสงบกลับมาสู่สังคมไทยได้

ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ยอมใช้วิธีลาออก แต่ผู้นำการชุมนุมและอาจารย์ทั่วไปยังคงต้องการให้นายกฯ ลาออก เพื่อทำให้มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลระยะสั้นเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (โดยมีผู้สนองพระบรมราชโองการ) ให้มีกลไกการป้องกันการไร้จริยธรรม การคอร์รัปชัน คดโกง การขายชาติ การใช้อำนาจบริหารเกินขอบเขตเข้ายึดครองให้สินบนองค์กรตรวจสอบอิสระ ฯลฯ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 5:33:17 น.  

 

"มีชัย"ขวางใช้มาตรา 7

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ตอบคำถามจากผู้ใช้นามว่า รักเมืองไทย ถามว่า ได้ยินได้ฟังจากหลายท่านเริ่มพูดถึงทางออกทางการเมือง ด้วยการใช้มาตรา 7 อยากถามว่าความหมายของบทบัญญัติข้อนี้คืออะไร และในความเห็นของคุณมีชัย คิดว่าสถานการณ์ไปถึงจุดที่ต้องอาศัยมาตรานี้หรือยัง

นายมีชัย ตอบคำถามว่า มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ความหมายของผู้ร่างก็คงจะมุ่งหมายว่า ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้บัญญัติเรื่องใดไว้ แต่ในรัฐธรรมนูญเดิมๆ เคยบัญญัติไว้ว่าอย่างไร ก็ให้สามารถทำไปตามรัฐธรรมนูญเดิมๆ ได้ หรือในกรณีที่แม้ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเดิมๆ แต่เป็นประเพณีที่เคยทำกันมา หรือยอมรับนับถือกันว่าเป็นการกระทำที่ชอบ ก็ให้ทำได้

"สถานการณ์ในปัจจุบัน ยังเป็นเรื่องของการชิงไหวชิงพริบในทางการเมือง การโต้แย้งในทางการเมือง ซึ่งอาจยังไม่วิกฤติถึงขนาดที่จะไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นในทางการเมือง ยังแตกแยกกันอยู่เช่นนี้ จึงต้องระมัดระวังมิให้ไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท เพราะทรงอยู่เหนือการเมือง" นายมีชัยระบุ

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 5:34:08 น.  

 

อ่านมาถึงตรงนี้ พอมองเห็นหรือยังครับ แค่จะใช้ มาตรา 7

คนรู้กฎหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็หัวหมุนแล้ว อิ อิ

แล้วเราจะเชื่อใครดี...ช่วยคิดที

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 23 มีนาคม 2549 5:35:40 น.  

 

ประเด็นหลักของการต่อสู้ เพื่อล้มระบบทักษิณ

โดย วิชัย ตันศิริ

ดังที่คาดหมายกันไว้ การขับเคี่ยวระหว่างพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยกับระบอบทักษิณนิยม คงจะต้องยืดเยื้อ และจะยังมองไม่เห็นทางออก

และดังที่ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความธรรมาธรรมะสงคราม การต่อสู้กับระบอบทักษิณนิยม มิใช่เรื่องตรงไปตรงมา เหมือนดังการต่อสู้ในวิกฤตพฤษภาทมิฬและ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งนี้เพราะระบอบทักษิณ "สามารถอ้าง" ความชอบธรรมจากกระบวนการเลือกตั้ง และยังสามารถพึ่งพิง พลังประชานิยม ได้อีกด้วย

ภารกิจของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย และปัญญาชนผู้รวมตัวกันถวายฎีกา จึงเป็นภารกิจที่หนักยิ่ง ยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์

แต่ผลบั้นปลายจะลงเอยอย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สังคมไทยจะต้องช่วยกันวิเคราะห์จนตกผลึกทางความคิด ก็คือประเด็นบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ท่ามกลางวิกฤต ประเด็นความหมายของผลประโยชน์สาธารณะ และประเด็น การต่อสู้ที่ยุติธรรม

ประเด็นบทบาทอันชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ท่ามกลางวิกฤต เป็นประเด็นที่นักวิเคราะห์ได้หยิบยก มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ขึ้นมาพิจารณา และนักกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ถกเถียงกันอย่างไม่มีวันจบโอกาสที่จะใช้มาตรา 7 นี้ ได้อย่างไรเพื่อผ่าวิกฤต

มาตรา 7 กล่าวไว้ดังนี้ "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

การจะวินิจฉัยมาตรานี้ จะวินิจฉัยเฉพาะลายลักษณ์อักษรมิได้ แต่ต้องลงลึกลงไปถึงเจตนารมณ์ของการเขียนมาตรานี้ เพราะการร่างกฎหมายมีทั้งเจตนารมณ์ (คือวัตถุประสงค์ของการร่าง) และสถานการณ์ที่เป็นจริงในช่วงที่ร่าง ผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถจะจินตนาการไปถึงสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นได้ ในกรณีนี้ ดุลพินิจและความเข้าใจเชิงลึก ในปรัชญาของรัฐธรรมนูญ จึงมีความสำคัญ

ในลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม ตามแบบฉบับเจมส์ เมดิสัน ผู้เป็นนักปรัชญาหลักของรัฐธรรมนูญ สหรัฐอเมริกา หัวใจของรัฐธรรมนูญ คือระบบการคานอำนาจระหว่างสามสถาบัน ได้แก่สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันตุลาการ และสถาบันการบริหารตามหลักการสำคัญของเมดิสัน ที่ว่า "จะต้องนำเอาอำนาจหนึ่งไปคานกับอีกอำนาจหนึ่งไว้" เพื่อป้องกันมิให้เกิด ทรราช ของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง

ทั้งนี้ เพราะชาวตะวันตกไม่เชื่อว่าจะไว้วางใจในเจตนาดี หรือคุณความดีของมนุษย์ได้เสมอไป ความโลภกระหายอำนาจ มีเปี่ยมล้น เป็นอุปสรรคต่อการเสียสละเพื่อส่วนรวม รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา จึงยึดหลักการของการคานอำนาจของสามสถาบัน เป็นหลักการที่สำคัญ

สำหรับสังคมอังกฤษ หรือประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ หลักของการคานอำนาจ ยังมีแนวคิดที่สำคัญ ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจของคนทั่วๆ ไป คือบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์

สังคมอังกฤษ ดั้งเดิมเป็นสังคมชนชั้น มีทั้งสถาบันกษัตริย์ ขุนนาง และสามัญชน อริสโตเติล ผู้เขียนตำรา การเมือง และเป็นคัมภีร์ของชาวตะวันตก ได้กล่าวไว้ว่าระบอบการปกครองที่ดี คือ ระบบที่ผสมผสานระหว่างสถาบันกษัตริย์ สถาบันขุนนางและสามัญชน

ในภายหลังสาธารณรัฐโรมัน สมัยซิเซโร ได้ยกย่องรูปแบบผสมเช่นนี้และเห็นว่า รูปแบบสาธารณรัฐโรมัน คือ อุดมการณ์ นั่นคือมีวุฒิสภาที่เป็นตัวแทนขุนนาง และสภาประชาชน เป็นตัวแทนของสามัญชน ระบอบสาธารณรัฐกรุงโรมจึงสร้างกลไกของการคานอำนาจระหว่างชนชั้นขุนนางกับชนชั้นสามัญชน

รัฐธรรมนูญรูปผสม เช่นนี้ คืออุดมการณ์ของชาวอังกฤษในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน เพียงแต่ในช่วงร้อยปีที่แล้ว สถาบันขุนนางได้เสื่อมทรุดทางอำนาจมาตลอดแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ในศตวรรษที่ 20 ก็ยังทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะให้คำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์ที่จำเป็น

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตทรงได้ให้คำแนะนำเช่นนี้มาแล้วโดยเฉพาะกรณีวิกฤต 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535

บทบาทของพระมหากษัตริย์สอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ และในสถานการณ์ปัจจุบัน ในกรณีที่ท่านนายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำเพื่อโปรดเกล้าให้มีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่นั้นหากทรงวินิจฉัยว่า เหตุผลของการยุบสภา ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ย่อมสามารถยับยั้งไว้ได้

แต่เนื่องจากการณ์มิเป็นเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังทรงมีพระราชอำนาจจะให้คำแนะนำแก่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ลาออก หากสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต การลาออกของท่านนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญก่อนที่จะมีนายกฯพระราชทาน

ประเด็นคือเกิดวิกฤตการณ์ของชาติหรือยัง ประเด็นนี้สัมพันธ์กับการรณรงค์ต่อสู้ระหว่างฝ่ายพันธมิตรและปัญญาชน กับฝ่ายนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทยซึ่งกำลังขอเสียงประชาชนให้มาลงคะแนนให้ในวันที่ 2 เมษายน นี้

อะไรคือประเด็นของการต่อสู้

ประเด็นของการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย คงมีหลายประเด็นแต่แก่นแท้ของประเด็นคือ อะไรคือผลประโยชน์ที่แท้จริงของชาติ มีหลักการวินิจฉัยอย่างไร

แนวคิดของนายกฯทักษิณ คือ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่า อะไรคือผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยลงคะแนนให้ท่านดำรงตำแหน่งต่อหรือไม่ และอาจจะอนุมานได้ว่า เสียงส่วนใหญ่อาจจะลงคะแนนให้ท่าน จากพื้นฐานของประโยชน์ทางวัตถุที่ท่านได้มอบให้หรือสัญญาจะมอบให้แก่ประชาชน โดยนโยบายประชานิยม

ในทางตรงกันข้าม หลักการและแนวคิดของปัญญาชน และพันธมิตร ของผลประโยชน์ที่แท้จริงของชาติอยู่ที่การถอดถอนท่านนายกฯ เพราะตราบที่ท่านนายกฯคนนี้ยังดำรงอยู่ ระบอบการปกครองจะเสื่อมทรุด ความมั่นคงของชาติจะถูกบ่อนทำลาย เพราะมีการทุจริตเชิงนโยบายและการปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และที่สำคัญคือตัวนายกฯหมดความชอบธรรมที่จะปกครองจากพื้นฐานทางจริยธรรม

จากการถกเถียงกันในประเด็นนี้ สังคมไทยจะวินิจฉัยอย่างไร

คงต้องอ้างปรัชญาแนวคิดของนักปราชญ์อีกนั้นแหละ เมื่อรุสโซ กล่าวว่า "เจตนารมณ์ทั่วไป" ของสังคมนั้น มิใช่ผลบวกของผลประโยชน์ของแต่ละคน แต่เป็นผลรวมที่กว้างกว่าผลบวกดังกล่าว

คำคมอันนี้เป็นปริศนาในวงการรัฐศาสตร์ตลอดมา แท้ที่จริงก็คือหมายความว่า เจตนารมณ์ที่เรามาอยู่ร่วมกัน ทำสัญญาประชาคมร่วมกันเป็นรัฐนั้น ก็เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของเรา และเพื่อประกันให้เกิดชีวิตที่มีศีลธรรม จรรยา และความมั่นคงปลอดภัยของสังคม

นี่คือผลประโยชน์อันแท้จริงของสาธารณะ มิใช่นโยบายประชานิยมที่ส่งเสริมกิเลสตัณหา และความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ด้วยหลักการดังกล่าว การต่อสู้ของปัญญาชน ฯลฯ จึงเป็นการปกป้องเจตนารมณ์ทั่วไป และประโยชน์สาธารณะ การที่ผู้ปกครองจะวินิจฉัยประเด็นนี้ จากเกณฑ์ จำนวน (ประชาชน) โดยนับคะแนนในการเลือกตั้ง จึงมิใช่เป็นเกณฑ์ที่สอดคล้องกับสัญญาประชาคมของจัดตั้งรัฐ และการกำหนดรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุนี้ในจารีตประเพณีของลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมอังกฤษ จึงมีคำกล่าวว่า "ที่นี่ อังกฤษ มีการชั่งน้ำหนักคะแนนเท่าๆ กับนับหัวคะแนน" หมายความว่ามีการพิจารณาถึงคุณภาพมากเท่าๆ กับปริมาณ

ชนชั้นปัญญาชน หรือผู้ที่เข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร คือ ผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นเชิงคุณภาพได้ ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้าไม่ถึง (มิใช่เพราะระดับการศึกษาหรือสถานภาพทางเศรษฐกิจ) แต่เพราะการปิดบังของสื่อสารมวลชนของรัฐ ก็คงจะเสียเปรียบและหากพิจารณาสภาพปัจจุบันที่สื่อสารมวลชนทางโทรทัศน์ แทบจะไม่รายงานเรื่องราวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเลย จะคาดหวังอะไรให้เกิดมติมหาชน ที่แท้จริง

ความผิดมิใช่ประชาชน แต่หน่วยงานการสื่อสารของรัฐโดยแท้ และหากจะให้เกิดความยุติธรรมในการแข่งขัน หน่วยงานสื่อสารมวลชนของรัฐควรให้โอกาสเท่าๆ กันทั้งสองฝ่าย

แต่ถ้าหากสื่อมวลชนของรัฐยังคงปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากฝ่ายพันธมิตรปัญญาชนและฝ่ายค้าน ก็จะเท่ากับเป็นการยืนยันความเชื่อที่มีมานานแล้วว่ารัฐบาลชุดนี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยวิธีการประชาสัมพันธ์ ที่เอาเปรียบฝ่ายตรงข้าม

โดยสรุป ประโยชน์สาธารณะ จึงกว้างไกลกว่าประโยชน์ส่วนตนของผู้เลือกตั้งบนพื้นฐาน จากการเมืองเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ ประโยชน์สาธารณะที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งรัฐ บนพื้นฐานของความยุติธรรม ความชอบธรรมของผู้บริหาร การรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน สังคมนี่ผู้นำไม่รักษาคำพูด จะเป็นเหตุให้คนในสังคมเอาเยี่ยงอย่าง

ฉะนั้นนี่คือประเด็นหลักที่สังคมไทยจะต้องพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของสังคมในปัจจุบัน

 

โดย: Can IP: 58.8.197.157 23 มีนาคม 2549 6:12:54 น.  

 

อ่านแล้วสับสน
ใจผมไม่อยากให้ใช้มาตรา 7
เพราะจะเพิ่มข้ออ้างให้ทักษิน ไม่ยอมลาออก
หาว่าฉีกรัฐธรรมนูญ
จะยิ่งไล่ยากยิ่งขึ้น แค่ไล่แบบธรรมดายังยากเลย
ดูท่าทางทักษิน ตั้งใจลากให้ถึงวันที่ 2
แล้วจะลง หรือไม่ลง ค่อยดูอีกที

 

โดย: จูล่ง_j IP: 58.8.71.214 23 มีนาคม 2549 7:04:40 น.  

 

พยายามจะทำความเข้าใจ
ผมเข้าใจว่าตำรา ทฤษฏี ต่าง ๆ ก็ดูดีครับ แต่สิ่งที่ดีที่สุดในอดีตอาจจะไม่ดีที่สุดในปัจุบันก็ได้นะครับ ความคิดของผมคือ ทฤษฏีในตำราเรียนต่างเป็นปรัชญาแนวคิดใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ เพื่อสร้างทฤษฏืใหม่ที่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน การที่มีคนออกมาสร้างทฤษฏีใหม่ ระบอบใหม่ ตามทฤษฏีความเชื่อแบบใหม่ เราก็น่าจะให้โอกาสให้เขาได้ทดลอง ผิดถูกอย่างไรก็ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเขาเป็นผู้ตัดสิน กระทบกับคนบางส่วนบ้าง แต่เป็นประโยชน์กับคนหมู่มากก็ต้องยอมรับ คนหมู่มากจะละเลยคนกลุ่มน้อยไม่ได้ก็ต้องช่วยกันสร้างความเป็นธรรมให้เขาด้วย จะรู้ได้อย่างไรว่าเสียงส่วนมากเขาต้องการอะไร ทางออกก็คือการเลือกตั้งใช่หรือไม่ การแสดงออกของเสียงข้างน้อยนี่แหละ คือการคานอำนาจของระบอบประธิปไตย คานอำนาจ เป็นการออกมาบอกเสียงข้างมากและชนชั้นปกครอง ให้รู้ว่าเขาได้รับผลกระทบนะต้องรีบแก้ไข
แต่ถ้าเสียงส่วนน้อยมีความเชื่อในแนวคิดของตัวเองว่าถูกต้องแบบสุดโต่ง ไม่ยอมรับแนวคิดที่แตกต่างโดยการพิพากษาชี้ผิดชี้ถูกตามแนวคิดของตนเอง ก็ยากที่จะทำให้เสียงสว่นมากยอมรับ นี่คือปัญหาที่พัฒนาการต่อยอดทางความคิหนีทฤษฏีในตำรามาหลายชั่วอายุคน เราจะช่วยกันอย่างหาทางออก โดยไม่มีฝ่ายใดแพ้ ฝ่าใดชนะ

สำหรับผมแล้วทางออกที่ดีที่สุดคือ การเลือกตั้ง ไม่แตกแยกกับผู้ที่คิดแตกต่งนะครับ

 

โดย: ahingsa IP: 61.90.148.189 23 มีนาคม 2549 11:57:27 น.  

 

ถ้าทักษิณไม่ดีแล้วกดดันให้ลงโดยไม่เต็มใจ
นายกคนใหม่ก็ต้องเจอม็อบทักษิณอย่างแน่นอน
ทหารก็ต้องออกมาหรือไม่ก็ยึดอำนาจ
ตั้งสติแล้วคิดขอให้เชื่อ ศจ.ดร.อุกฤษ์ มงคลนาวิน
เลือกตั้งคือทางออกที่ดีที่สุด

 

โดย: รัก ศจ.ดร.อุกฤษ์ มงคลนาวิน IP: 202.133.131.231 23 มีนาคม 2549 12:40:43 น.  

 

ถ้านายกทำชั่ว ไม่มีทางอื่นแล้วครับ ต้องไล่สถานเดียว

ตำแหน่งผู้นำประเทศ เค้าให้มาทำความดีให้ส่วนรวมมิใช่ส่วนตัว

 

โดย: Can IP: 58.8.197.157 23 มีนาคม 2549 14:42:17 น.  

 

ฟัง ๆ ดู บางท่านคิดว่า หาทักษิณยอมลาออกในตอนนี้ หรือ มีเหตุไม่สามารถปฏิบัติราชการได้

มาตรา 7 อาจถูกนำมาใช้ได้กระมัง...ไม่ค่อยแน่ใจ ระหว่าง นายวิษณุ กับ นายโกเมศ ขวัญเมือง

ยังไม่ไปในทางเดียวกัน

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 24 มีนาคม 2549 0:16:00 น.  

 

ความจริงกลุ่มพันธมิตรเรียกร้องนายกลาออกคือต้องการล้มรัฐบาลทั้งคณะ และอาจจะเป็นโอกาสของรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่รัฐบาลโดยนายกฯเห็นว่าการยุบสภาน่าจะเป็นผลดีกับคณะรัฐบาลมากกว่า เลยทำให้เกิดปมปัญหาใหม่จึงต้องมีการกดดันให้รักษาการนายกลาออกโดยคิดว่าวุฒิจะสามารถนำเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้รัฐมนตรีรักษาการพ้นจากตำแหน่งตามรักษาการนายกหรือไม่เพื่อเป็นช่องทางของม.7แต่ท่านนายกไม่ยอมออกจึงใช้ไม่ได้ ผมคิดว่าฝ่ายการเมืองทุกฝ่าย คงได้มีการประเมินสถานการณ์ใว้เรียบร้อยแล้ว และมองเห็นปัญหาของม.7 มาตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าฝ่ายการเมืองสงวนท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก นอกจากนั้นฝ่ายพันธมิตรหลงคิดว่าตนเองได้เปรียบจึงไม่ได้ขยายการโจมตีไปยังกลุ่มผู้สนับสนุนไทยรักไทยแถมยังจาบจ้วงว่ากลุ่มผู้สนับสนุนเป็นประเภทกินพืชชนิดหนึ่งแทนข้าว จึงทำให้คนเหล่านั้นยึดนายกทักษิณเป็นตัวแทนของการต่อสู้ทางชนชั้นและระบอบประชาธิปไตย ทำให้การรณรงค์ของพันธมิตรไม่สามารถเจาะเข้าไปในกลุ่มคนที่นิยมทรท.ได้ ยิ่งกลุ่มพันธมิตรออกมายืนยันในจุดยืนของม.7มากเท่าไร ก็ยิ่งผลักใสให้คนมีความเป็นกลางต้องการไปเลือกตั้งเพื่อที่จะไปกากบาทลงคะแนนมากขึ้น ยิ่งเป็นการตอกยำชัยชนะให้กับนายกมากขึ้น ผมมองว่ายิ่งคนออกไปใช้สิทธิมากเท่าไร ทรท.และนายกก็มีความชอบธรรม หนทางการใช้ม.7ก็ยิ่งห่างและอำนาจที่3ก็ไม่สามารถเข้ามาได้เต็มที่ แต่ทั้งนี้ผมมองว่าขณะนี้ประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมและทรท.กำลังมีพัฒนาการทางการเมืองก้าวหน้าไปทุกวัน ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านถอยหลังลงทะเล ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อต่อสู้กับ ทรท.ในอนาคตครับ

 

โดย: navaka IP: 202.28.103.100 24 มีนาคม 2549 2:01:56 น.  

 

คงไม่ใช่จุดยืนของกลุ่มพันธมิตรครับ เพราะทั้งหมดไม่มีใครที่มุ่งหวังทางการเมืองในสภา

แต่สังเกตว่า กลุ่มเดิม ๆ ของหมอเหวงก็ไม่มานะครับ

แกนนี้น่าจะมาจากส่วน ครป. สหภาพแรงงาน กป.อพช. กลุ่ม NGO เช่นกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

ผมดูในรายชื่อ 101 องค์กร ทั้งหมดเป็นการเมืองภาคประชาชน รวมตัวเป็นเครือข่ายตรวจสอบและดูแลทรัพยากรมากกว่า

ซึ่งแน่นอนว่า มิใช่กลุ่มมุ่งหวังการเมืองในสภาครับ

 

โดย: Can IP: 58.8.243.171 24 มีนาคม 2549 2:13:34 น.  

 

เอางี้....ถ้าจะไล่นายกแล้วม็อบจตุจักร แท๊กซี่ มอเตอร์ไซ
........จะทำอย่างไร ทักษิณถ้าไม่มีประชาชนหนุนก็ลาออก
ไปแล้ว ม็อบฝ่ายไหนมากกว่าเถียงกันยังไงก็ไม่จบ นายก
ถ้าไม่ดีก็ต้องพิสูจน์ วันแรกผิดเพราะขายหุ้นจนขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ข้อหาขนาดมีคนบ้าไปทุบพระพรหมก็กล่าวหา
ว่านายกสั่ง คนไทยกินข้าวนะครับไม่ใช่กินหญ้า พอนายก
ไม่ออกก็จะขอใช้ ม.7 กรุณาอย่าบีบคั้นพระองค์เลยครับ
ตอนนี้ม็อบทำเนียบก็เผยแพร่ความเลว(รอพิสูจน์)ของนายกแล้ว ได้เวลาเลือกตั้งแล้วผมมั่นใจว่าความขัดแย้ง
จะลดลง เพราะนี่คือทางออกของระบอบประชาธิบไตย

 

โดย: รัก ศจ.ดร.อุกฤษ์ มงคลนาวิน IP: 202.133.131.21 24 มีนาคม 2549 10:31:09 น.  

 

คนไม่น้อยนะที่คิดว่าการเลือกตั้งพรรคเดียวมันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

 

โดย: Can IP: 58.8.244.48 24 มีนาคม 2549 13:19:09 น.  

 

ถ้าสังคมมันทำให้เราสูญเสียอัตลักษณ์ ก็ควรถอยออกมา

ใครอยากพบคนราชดำเนินผู้ประท้วงความอยุติธรรม

เชิญที่ ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด

//ithai.awardspace.com/forums/index.php

คุณ Can ไทเมือง ประจำที่นั่นทุกวัน พร้อม ๆ ชาวราชดำเนินเกือบ ๆ 300 คน





 

โดย: 000 IP: 58.8.106.179 4 เมษายน 2549 5:40:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ไทเมือง
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ไทเมือง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.