"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2556
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
9 มิถุนายน 2556
 
All Blogs
 

มหัศจรรย์แห่งเมล็ดเกิด โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 23 ก.พ.2556

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรมชุดนี้
  
    ๑.  พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาสวนกระแสโลก
      ๒.  แค่ยินดีในบุญที่ถูกต้อง ก็ได้บุญมากมหาศาลแล้ว
      ๓.  การให้ที่เป็นบาป
      ๔.  พิจารณาหาสถานที่ที่เหมาะแก่การทำกรรมฐาน
      ๕.  ฝึกให้เด็กเล็กถือศีลแปด
     ฯลฯ

-พระเจอทางกันดาร แสวงหาเสบียงได้แต่ไม่ใช่เงิน(เมณฑานุญาติ)เล่ม7หน้า148-149
-พระโพธิสัตว์จะออกบำเพ็ญ แต่มารเกลี้ยกล่อมให้กลับ(นิทานกถา)เล่ม55หน้า103-104
-พระพากุละมีอายุ160ปี และไม่เจ็บป่วยเลยเล่ม13หน้า77,เล่ม32หน้า466
-พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาสวนกระแสโลก(โพธิราชกุมารสูตร)เล่ม21หน้า119
-นิพพานแล้ว ไม่มีอะไรอีกเลย(จตุตถนิพพานสูตร)เล่ม44หน้า727
-พวกที่เคร่งสุดโต่งและไร้ประโยชน์(กันทรกสูตร)เล่ม20หน้า7
-แค่ยินดีในบุญที่ถูกต้อง ก็ได้บุญมากมหาศาลแล้ว(ปังสุกูลวรรค)เล่ม72หน้า115
-"บุญ" เป็นชื่อแห่งความสุข(ปุญญวิปากสูตร)เล่ม37หน้า192
-แผ่เมตตาให้แก่ปีศาทที่มาก่อกวน(เมตตสูตร)เล่ม39หน้า328-334
-พิจารณาหาสถานที่ที่เหมาะแก่การทำกรรมฐาน(พรรณนาวัตติงสาการ)เล่ม39หน้า51
-การให้ที่เป็นบาป(เอกุตตริกวัณณนา)เล่ม10หน้า490,556
-ฝึกให้เด็กเล็กถือศีลแปด(เรื่องพระนางสามาวดี)เล่ม40หน้า276
-ภิกษุ-ภิกษุณี ผู้มารดาและบุตรมีเพศสัมพันธ์กัน(มาตุปุตติกสูตร)เล่ม36หน้า132
-ดูแคลนธรรมวินัย จึงเกิดเป็นจรเข้(อ.นิทานสูตร)เล่ม34หน้า129

การให้ที่เป็นบาป(เอกุตตริกวัณณนา)เล่ม10หน้า490,556

การให้ไม่จัดเป็นบุญ  แต่โลกสมมติว่าเป็นบุญมี ๕ คือ 
ให้น้ำเมา  ๑
ให้มหรสพ ๑
ให้สตรี ๑ 
ให้โคผู้  ๑ 
ให้จิตรกร
รม ๑

เล่ม10หน้า556

แต่คำว่า จิตฺตกมฺมทาน นี้ท่านกล่าวหมายเอาการให้จิตรกรรมที่เป็นลายรูปภาพ.
จริงอยู่ ทาน ๕ อย่างนี้ โลกสมมติกันว่าเป็นบุญก็จริง แต่ที่แท้ หาเป็นบุญไม่ คือเป็นอกุศลนั่นเอง.

ฝึกให้เด็กเล็กถือศีลแปด(เรื่องพระนางสามาวดี)เล่ม40หน้า276

คนทั้งหลาย. ในเรือนนี้ เขาไม่หุงอาหารในเย็นวันอุโบสถทั้งหลาย.
คนทุกคน ย่อมเป็นผู้รักษาอุโบสถ,
โดยที่สุด เด็กแม้ผู้ยังดื่มนม ท่านมหาเศรษฐี
ก็ให้บ้วนปาก ให้ใส่ของมีรสหวาน ๔ ชนิด( คือ เนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.)
ลงในปากทำให้เป็นผู้รักษาอุโบสถแล้ว,
เมื่อประทีปซึ่งระคนด้วยน้ำหอม สว่างอยู่
เด็กเล็กและเด็กใหญ่ทั้งหลายไปสู่ที่นอนแล้ว ย่อมสาธยายอาการ ๓๒;
แต่ว่า พวกเรามิได้ทำสติไว้  เพื่อจะบอกความที่วันนี้เป็นวันอุโบสถแก่
ท่าน,  เพราะเหตุนั้น  พวกเราจึงหุงข้าวไว้เพื่อท่านคนเดียว,   ท่านจงรับ
ประทานอาหารนั้นเถิด.

พระเจอทางกันดาร แสวงหาเสบียงได้แต่ไม่ใช่เงิน(เมณฑานุญาติ)เล่ม7หน้า148-149

เมื่อเมณฑกะคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต และด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ด้วยมือของตนจนยังพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตแล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมณฑกะคหบดีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูลคำนี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า หนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่ายขอประทานพระวโรกาสขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

 เมณฑกานุญาต

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้เมณฑกะคหบดีเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป หลังจากนั้นพระองค์ทรงธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส มีอยู่  ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้คือ ภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสาร ต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว ต้องการถั่วราชมาส พึงแสวงหาถั่วราชมาส ต้องการเกลือ พึงแสวงหาเกลือ ต้องการน้ำอ้อย พึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมัน พึงแสวงหาน้ำมัน ต้องการเนยใส ก็พึงแสวงหาเนยใส.

มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการกสั่งว่า สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภันฑ์นั้นไว้ แต่เรามิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย.

พระโพธิสัตว์จะออกบำเพ็ญ แต่มารเกลี้ยกล่อมให้กลับ(นิทานกถา)เล่ม55หน้า103-104

พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากพื้นปราสาทโดยประการนี้แล้ว ไปใกล้ม้าแล้ว ตรัสว่า นี่แน่ะพ่อกัณฐกะ วันนี้เจ้าจงให้เราข้ามฝั่งสักคืนหนึ่งเถิด เราอาศัยเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จักให้โลกพร้อมทั่งเทวโลกข้ามฝั่งด้วย. ทีนั้นพระโพธิสัตว์ก็ทรงกระโดดขึ้นหลังม้ากัณฐกะ. ม้ากัณฐกะโดยยาววัดได้ ๑๘ ศอก เริ่มแต่คอประกอบด้วยส่วนสูงก็เท่ากัน สมบูรณ์ด้วยกำลังและความเร็ว ขาวล้วนประดุจสังข์ที่ขัดสะอาดแล้ว. ถ้าม้ากัณฐกะนั้นพึงร้องหรือย่ำเท้า เสียงก็จะดังกลบทั่วพระนครหมด เพราะเหตุนั้นเทวดาจึงกั้นเสียงร้องของม้านั้น โดยอาการที่ใคร ๆ จะไม่ได้ยิน ด้วยอานุภาพของตน. พระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นสู่ หลังม้าตัวประเสริฐ ทรงให้นายฉันนะจับทางของม้าไว้เสด็จถึงที่ใกล้ประตูใหญ่ตอนเที่ยงคืน ก็ในกาลนั้นพระราชาทรงดำริว่า พระโพธิสัตว์จักไม่สามารถเปิดประตูพระนครออกไปได้ ไม่ว่าในเวลาใดๆ จึงรับสั่งให้กระทำบานประตูสองบานแต่ละบาน บุรุษพันคนจึงจะเปิดได้ด้วยประการฉะนี้. พระโพธิสัตว์ทรงสมบูรณ์พระกำลังยิ่ง ทรงมีพระกำลัง เมื่อเทียบกับช้างก็นับได้พันโกฏิ เมื่อเทียบกับบุรุษ ก็ทรงมีพระกำลังนับได้สิบแสนโกฏิ. เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงดำริว่า ถ้าประตูไม่เปิด วันนี้เรานั่งอยู่บนหลังม้ากัณฐกะนี่แหละจักเอาขาอ่อนหนีบม้ากัณฐกะแล้ว กระโดดข้ามกำแพงซึ่งสูงได้ ๑๘ ศอกไป. นายฉันนะก็คิดว่า ถ้าประตูไม่เปิด เราจักให้พระลูกเจ้าประทับนั่งที่คอของเราแล้วเอาแขนขวาโอบรอบม้ากัณฐกะที่ท้อง กระทำให้อยู่ในระหว่างรักแร้  จักกระโดดข้ามกำแพงไป แม้ม้ากัณฐกะก็ติดว่า ถ้าประตูไม่เปิดเราจักยกนายของเราทั้งๆ ที่นั่งอยู่บนหลังนี่แหละ พร้อมกันทีเดียวกับนายฉันนะผู้จับทางยืนอยู่ กระโดด ข้ามกำเเพงไป ถ้าประตูจะไม่มีใครเปิดให้ บรรดาคนทั้งสามคนใดคนหนึ่งคงจะทำสมกับที่คิดไว้แน่เเท้เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูเปิดประตูให้.

ในขณะนั้นนั่นเอง มารผู้มีบาปมาด้วยคิดว่า เราจักให้พระโพธิสัตว์กลับ แล้วยืนอยู่ในอากาศทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ผู้เจริญ ท่านอย่าออกไปในวันที่ ๗ นับเเต่วันนี้ไปจักรรัตนะจักปรากฏแก่ท่าน ท่านจักครอบครองราชสมบัติแห่งทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ท่านจงกลับเสียเถิด. จึงตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร. มารตอบว่า เราเป็นวสวัตดีมาร. ตรัสว่า ดูก่อนมาร เราทราบว่าจักรรัตนะจะปรากฏแก่เรา เราไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัตินั้น เราจักไห้หมื่นโลกธาตุบรรลือแล่นแล้วเป็นพระพุทธเจ้า. มารกล่าวว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในเวลาที่ท่านทรงดำริถึงกามวิตกก็ดี พยาบาทวิตกก็ดี วิหิงสาวิตกก็ดี เราจักรู้ดังนี้ คอยแสวงหาช่องอยู่ ติดตามพระองค์ไปประดุจเงา....

พระพากุละมีอายุ160ปี และไม่เจ็บป่วยเลยเล่ม13หน้า77

บทว่า อปฺปวา ภิยฺโย คือ อายุเกินกว่า ๑๐๐ ปีมีน้อย. ครั้น ยังไม่ถึง ๑๐๐ ปี ย่อมเป็นอยู่ ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี หรือ ๖๐ ปี.แต่คนอายุยืนอย่างนี้หาได้ยากนัก ได้ข่าวว่า คนโน้นอยู่นานอย่างนี้ ควรพากันไปดูในที่นั้นๆ.บรรดาคนมีอายุยืนนั้น นางวิสาขาอุบาสิกาอยู่ได้ ๑๒๐ ปี พราหมณ์โปกขรสาติ  พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์เสละ พราหมณ์พาวริยะ พระอานนทเถระ พระมหากัสสปเถระ ก็เหมือนกัน  แต่พระอนุรุทธเถระอยู่ถึง ๑๕๐ ปี พระพากุลเถระอยู่ ๑๖๐ ปี ท่านผู้นี้มีอายุยืนกว่าทั้งหมด. แม้ท่านก็อยู่ไม่ถึง ๒๐๐ ปี.

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาสวนกระแสโลก(โพธิราชกุมารสูตร)เล่ม21หน้า119

ความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย
 
[๕๐๙] ดูก่อนราชกุมาร อาตมภาพนั้นได้มีความคิดเห็นว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยากเป็นธรรมสงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงได้ด้วยความตรึก เป็นธรรมละเอียด อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง. ก็หมู่สัตว์นี้มีความอาลัยเป็นที่รื่นรมย์ยินดีในความอาลัย บันเทิงนักในความอาลัย. ก็การที่หมู่สัตว์ผู้มีความอาลัยเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในความอาลัย บันเทิงนักในความอาลัย จะเห็นรานะนี้ได้โดยยาก คือ สภาพที่อาศัยกันเกิดขึ้นเพราะความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย.แม้ฐานะนี้ก็เห็นได้ยาก คือ สภาพเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวงความสิ้นตัณหา ความปราศจากความกำหนัด ความดับโดยไม่เหลือ นิพพาน.ก็เราพึงแสดงธรรม และสัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่รู้ทั่วถึงธรรมของเรา นั้นจะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า เป็นความลำบากเปล่าของเรา. ดูก่อนราชกุมารทีนั้น คาถาอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแจ่มแจ้งกะอาตมภาพว่า

บัดนี้ ยังไม่สมควรจะประกาศธรรมที่เราบรรลุได้โดยยาก ธรรมนี้อันสัตว์
ทั้งหลาย ผู้ถูกราคะโทสะครอบงำไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ทั้งหลาย อันราคะย้อม
แล้ว อันกองมืดหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรม อันยังสัตว์ให้ไปทวนกระแส
ละเอียด ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณูดั้งนี้....

นิพพานแล้ว  ไม่มีอะไรอีกเลย(จตุตถนิพพานสูตร)เล่ม44หน้า727

จตุตถนิพพานสูตร ว่าด้วยการตรัสถึงพระนิพพานไม่มีการมาการไป

[๑๖๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง..เงี่ยโสตลงฟังธรรมลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและ
ทิฏฐิอาศัย ย่อมไม่มีแก่ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย
เมื่อความหวั่นไหวไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิ  
ก็ย่อมไม่มีความยินดี เมื่อไม่มีความยินดีก็ย่อมไม่มีการมาการไป
 เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติและอุปบัติ เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ
โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี ระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี  นี้แล เป็นที่สุดแห่งทุกข์.

พวกที่เคร่งสุดโต่งและไร้ประโยชน์(กันทรกสูตร)เล่ม20หน้า7

[๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นไฉน.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางตนในโลกนี้ เป็นคนเปลือย ทอดทิ้งมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษา ก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุด ก็ไม่หยุด ไม่ยินดีรับภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีรับภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่ยินดีรับภิกษาที่เขานิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากปากกระเช้า ไม่รับภิกษาคร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับภิกษาของคน ๒ คนที่กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ที่เขาเลี้ยงสุนัข ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำ หมักดอง  เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียวเยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง รับภิกขาที่เรือน ๓ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๓ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๔ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๔ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๕  หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๕ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๖ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๖ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๓ ใบบ้าง ๔ ใบบ้าง ๕ ใบบ้าง ๖ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๖ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมากึ่งเดือนบ้าง แม้เช่นนี้ด้วยประการฉะนี้อยู่ เขาเป็นผู้มีผักดองเป็น ภักษาบ้างมีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้างมีข้าวไหม้เป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้ามันและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้ที่หล่นเองเยียวยาอัตภาพ.

เขาทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระหย่ง คือ ประกอบความเพียรในการกระหย่ง [คือเดินกระหย่งเหยียบพื้นไม่เต็มเท้า]บ้าง เป็นผู้นอนบนหนาม คือสำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง ประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการทำกายให้เดือดร้อนเร่าร้อนหลายอย่างเห็นปานนี้อยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน.

แค่ยินดีในบุญที่ถูกต้อง ก็ได้บุญมากมหาศาลแล้ว(ปังสุกูลวรรค)เล่ม72หน้า115

ปังสุกูลวรรคที่ ๔๙ ปังสุกูลสัญญกเถราปทานที่ ๑ (๔๘๑)

ว่าด้วยผลแห่งการไหว้ผ้าบังสุกุลจีวร

[๗๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สยัมภู ผู้นำของโลก พระนามว่าติสสะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว พระพิชิตมารทรงวางบังสุกุลจีวรไว้แล้วเสด็จเข้าพระวิหารเราสะพายธนูที่มีสายและกระบอกน้ำถือดาบเข้าป่าใหญ่ครั้งนั้น เราได้เห็นบังสุกุลจีวรซึ้งแขวนอยู่บนยอดไม้ในป่านั้น  จึงวางธนูลง ณ ที่นั้นเองประนมกรอัญชลีเหนือเศียรเกล้าเรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส และมีปีติเป็นอันมาก ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด แล้วได้ไหว้บังสุกุลจีวรในกัปที่ ๙๒ แต่กัปนี้ เราได้ไหว้บังสุกุลจีวรใด ด้วยการไหว้บังสุกุลจีวรนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการไหว้เราเผากิเลสทั้งหลาย..คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว  ดังนี้.

"บุญ" เป็นชื่อแห่งความสุข(ปุญญวิปากสูตร)เล่ม37หน้า192

๙. ปุญญวิปากสูตร

[๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลยคำว่า บุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมรู้ชัดซึ่งผลแห่งบุญอันนำปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี ครั้นแล้ว เราไม่ได้กลับมายังโลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป ดูก่อนภิกษุทั้งหลายได้ยินว่า เมื่อโลกถึงความพินาศ (ลุกไฟไหม้) เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ เราย่อมเข้าถึงวิมานพรหมอันว่างเปล่า ได้ยินว่า ในวิมานพรหมนั้น เราเป็นพรหมเป็นท้าวมหาพรหม เป็นใหญ่ใคร ๆ ครั้นงำไม่ได้  มีความเห็นแน่นอนมีอำนาจเต็ม เป็นท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งทวยเทพ ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ตั้งอยู่ในธรรม เป็นธรรมราชามีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ชนะสงคราม มีชนบทถึงความสถาพรตั้งมั่น ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ รัตนะ ๗ ประการของเรานั้นคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ขุนพลแก้ว เป็นที่ ๗ อนึ่ง เราเคยมีบุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้  เราครอบครองปฐพีมณฑลนี้  อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา.

เชิญดูผลแห่งบุญกุศลของบุคคลผู้แสวงหาความสุข ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเจริญเมตตาจิตมาแล้ว ๗ ปี ไม่ต้องกลับมาสู่โลกนี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป เมื่อโลกถึงความพินาศ เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ เราเข้าถึงวิมานอันว่างเปล่า ในกาลนั้น เราเป็นท้าวมหาพรหมผู้มีอำนาจเต็ม ๗ ครั้งเป็นท้าวสักกะจอมเทพ เสวยสมบัติในเทวโลก ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป เป็นกษัตริย์ได้รับมุรธาภิเศกแล้ว เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ปกครองปฐมพีมณฑลนี้โดยไม่ต้องใช้อาชญา  ไม่ต้องใช้ศาตรา สั่งสอนคนในปฐพีมณฑลนั้นโดยธรรมสม่ำเสมอ ไม่ผลุนผลัน ได้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง  มีทรัพย์สมบัติมากแล้ว ได้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมากมาย ทั้งบริบูรณ์พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ อันอำนวยความประสงค์ให้ทุกอย่าง ฐานะดังที่กล่าวมานี้พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้สงเคราะห์ประชาชาวโลกทรงแสดงไว้ดีแล้ว เหตุที่ท่านเรียกว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะความเป็นใหญ่ เราเป็นพระราชาผู้เรืองเดช  มีอุปกรณ์เครื่องให้ปลื้มใจมากมาย มีฤทธิ์ มียศ เป็นใหญ่ ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป ใครบ้างได้ฟังแล้วจะไม่เลื่อมใสแม้จะเป็นคนมีชาติต่ำ  เพราะฉะนั้นแหละ ผู้มุ่งประโยชน์ จำนงหวังความเป็นใหญ่ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพสัทธรรม.

พิจารณาหาสถานที่ที่เหมาะแก่การทำกรรมฐาน(พรรณนาวัตติงสาการ)เล่ม39หน้า51

ผิว่า กรรมฐานนั้นเป็นของเหมาะ เมื่อเป็นดังนั้น กุลบุตรแม้ผู้นั้นประสงค์จะอยู่ในวิหารที่คนอยู่ไซร้ แต่นั้น ก็พึงให้กรรมฐานโดยสังเขป ถ้ากุลบุตรนั้น ประสงค์อยู่ในวิหารอื่น ก็พึงบอกกรรมฐานพิสดาร พร้อมทั้งข้อที่ควรทำก่อน โดยบอกข้อที่ควรละและข้อที่ควรกำหนดรู้เป็นต้น พร้อมทั้งประเภทจริตโดยบอกกรรมฐานที่เหมาะแก่ราคจริตเป็นต้น กุลบุตรผู้นั้นครั้นเรียนกรรมฐานพร้อมข้อที่ควรทำก่อน ทั้งประเภทนั้นแล้วบอกลาอาจารย์

งดเว้น เสนาสนะ ๑๘ ประเภท ที่ท่านกล่าวว่าควรงดเว้น อย่างนี้ว่า

อาวาสใหญ่ อาวาสใหม่ อาวาสเก่า อาวาสใกล้ทาง อาวาสใกล้ตระพังหิน อาวาสมีใบไม้ อาวาสมีดอกไม้ อาวาสมีผลไม้ อาวาสที่คนปรารถนา อาวาสที่ใกล้นคร อาวาสที่ใกล้คนเข้าไปตัดไม้ อาวาสที่ใกล้ไร่นา อาวาสที่มีอารมณ์เป็นข้าศึก อาวาสใกล้ท่าเรือ อาวาสใกล้ขายแดน อาวาสมีสีมา อาวาสที่เป็นอสัปปายะ อาวาสที่ไม่ได้กัลยาณมิตร

บัณฑิตรู้จักสถานที่ ๑๘  ประเภทนี้ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกลเหมือนคนเดินทาง เว้นทางมีภัยเฉพาะหน้าฉะนั้น.

แล้วเข้าไปยังเสนาสนะที่ประกอบด้วยองค์  ๕   ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะประกอบด้วย องค์ ๕ เป็นอย่างไร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในพระธรรมวินัยนี้ เป็นเสนาสนะที่ไม่ไกลนัก ที่ไม่ใกล้นัก พรั่งพร้อมด้วยคมนาคม กลางวันผู้คนไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบเสียงไม่อึกกะทึก ไม่มีเหลือบยุง ลม แดด งู รบกวน เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะนั้นจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารแห่งผู้เจ็บไข้ เกิดขึ้นไม่ยาก ในเสนาสนะนั้นแล มีภิกษุผู้เถระ ผู้เป็นพหูสูต ผู้จบอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ ภิกษุเข้าไปหาภิกษุเถระเหล่านั้นตามสมควรแก่กาลสอบถามไล่เลียงว่า ท่านขอรับ ข้อนี้เป็นอย่างไร ข้อนี้มีความว่าอย่างไร ท่านเหล่านั้นยอมจะเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผยแก่ภิกษุนั้น ทำข้อที่ยากให้ง่ายเข้า บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งความสงสัยต่างๆ เสียได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล.

ดังนี้แล้วทำกิจทุกอย่างให้เสร็จแล้ว พิจารณาโทษในกามทั้งหลายและอานิสงส์ในเนกขัมมะ ทำจิตให้เลื่อมใส ด้วยการระลึกถึง [พระรัตนตรัย]โดยความที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ดีแล้ว โดยความที่พระธรรมเป็นธรรมอันดี และโดยความที่พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ไม่ละอุคคหโกศล ความฉลาดในทางเรียนรู้ ๗ ทาง ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า นักปราชญ์ฉลาดเรียนรู้ ๗ ทาง คือ โดยวาจา โดยใจ โดยวรรณะ โดยสัณฐาน โดยทิศ โดยโอกาสและโดยปริเฉท.

แผ่เมตตาให้แก่ปีศาทที่มาก่อกวน(เมตตสูตร)เล่ม39หน้า328-334

เมตตสูตร ว่าด้วยการแผ่เมตตาในสัตว์ทั้งปวง

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสสอนพวกภิกษุผู้อยู่ป่าว่า

[๑๐] กิจนั้นใด อันพระอริยะบรรลุบทอันสงบทำแล้ว กิจนั้นอันกุลบุตรผู้ฉลาดพึงทำ
กุลบุตรนั้น พึงเป็นผู้อาจหาญ ตรงและตรงด้วยดีพึงเป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ พึงเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีกิจน้อย ประพฤติเบากายจิต
พึงเป็นผู้มีอินทร์สงบ มีปัญญารักษาตัว เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่ติดในสกุลทั้งหลาย
วิญญูชนติเตียนชนทั้งหลายอื่นได้ ด้วยกรรมลามกอันได้ ก็ไม่พึงประพฤติกรรมอันลามกนั้นพึงแผ่ไมตรีจิตไปในหมู่สัตว์ว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ ยังเป็นผู้สะดุ้ง [มีตัณหา] หรือเป็นผู้มั่นคง [ไม่มีตัณหา] ทั้งหมดไม่เหลือเลย.
เหล่าใดยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือนั้น ผอมหรืออ้วน.
เหล่าใดที่เราเห็นแล้ว หรือมิได้เห็น เหล่าใด
อยู่ในที่ไกลหรือไม่ไกล ที่เกิดแล้ว หรือที่แสวงหาภพเถิด.
ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด.
สัตว์อื่นไม่พึงข่มเหงสัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไร ๆ
เขา ไม่ว่าในที่ไรๆ เลย ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กัน
และกัน เพราะความกริ้วโกรธ และเพราะความคุมแค้น.
มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน ด้วยชีวิตฉันใด พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น.
พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ในโลกทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง เป็นธรรมอันไม่คับแค้น ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู.
ผู้เจริญเมตตานั้น ยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอน [คือไม่ง่วงนอน] เพียงใด ก็พึงตั้งสตินั้นไว้เพียงนั้น.
ปราชญ์ทั้งหลายเรียกการอยู่นี้ว่า พรหมวิหารในพระศาสนานี้.
มีเมตตา ไม่เข้าถึงทิฏฐิ [สักกายทิฏฐิ] เป็นผู้มีศีล
ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ [สัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติมรรค]
นำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออกไปได้ ก็ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์อีก โดยแท้แล.

อรรถกถาเมตตสูตร

ประโยชน์ของการตั้งสูตร

บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาความของเมตตสูตร  ซึ่งยกตั้งไว้ในลำดับต่อจากนิธิกัณฑสูตร.ในที่นี้ ข้าพเจ้าจักกล่าวประโยชน์ของการตั้งเมตตสูตรนั้นแล้ว ต่อจากนั้น พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านั้นว่า เมตตสูตรนั้นผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใดและกล่าวเพราะเหตุใด ชำระนิทานแล้วจึงจักทำการพรรณนาความของเมตตสูตรนั้น.ในเมตตสูตรนั้น เพราะเหตุที่ตรัสบุญสัมปทามีทาน ศีลเป็นต้นด้วยนิธิกัณฑสูตร. เมื่อบุคคลทำเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย บุญสัมปทานั้น ย่อมมีผลมาก จนถึงสามารถให้บรรลุพุทธภูมิได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงยกเมตตสูตรขึ้นตั้งในที่นี้ เพื่อแสดงว่าเมตตาเป็นอุปการะแก่บุญสัมปทานั้น หรือเพราะเหตุ ข้าพเจ้าครั้นแสดงกรรมฐานอันสามารถละโทสะ. ด้วยทวัตติงสาการ สำหรับชนทั้งหลาย ผู้นับถือพระศาสนาด้วยสรณะแล้วตั้งอยู่ในศีลด้วยสิกขาบททั้งหลาย และสามารถละโมหะด้วยกุมารปัญหา จึงแสดงว่าความประพฤติสรณะเป็นต้นนั้น เป็นมงคลและรักษาตนเองด้วยมงคลสูตร แสดงการรักษาผู้อื่นอันเหมาะแก่มงคลนั้นด้วยรัตนสูตร แสดงการเห็นภูตบางพวกในบรรดาภูตทั้งหลายที่กล่าวไว้ในรัตนสูตร และความวิบัติของเหล่าชนที่ประมาทในบุญสมบัติ ดังที่กล่าวแล้ว ด้วยติโรกุฑฑสูตร และแสดงสมบัติอันเป็นปฏิปักษ์ต่อวิบัติที่กล่าวไว้ในติโรกุฑฑสูตร ด้วยนิธิกัณฑสูตร แต่ยังมิได้แสดงกรรมฐานที่สามารถละโทสะ ฉะนั้น เพื่อแสดงกรรมฐานอันสามารถละโทสะนั้น ข้าพเจ้าจึงยกเมตตสูตรนี้ขึ้นตั้งในที่นี้. เมื่อเป็นดังนั้น ขุททกปาฐะ จึงย่อมจะบริบูรณ์ด้วยดี ข้อที่กล่าวมาดังนี้ เป็นประโยชน์แห่งการตั้งเมตตสูตรนั้นไว้ในที่นี้.

การชำระนิทาน

บัดนี้ ข้าพเจ้ายกมาติกาหัวข้อนี้ใดไว้ว่า
พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านี้ว่า เมตตสูตรนี้ผู้ใด
กล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุ
ใด  ข้าพเจ้าชำระนิทานแล้วจึงจักทำการพรรณนาความ
แห่งเมตตสูตรนั้น
ดังนี้.

ในมาติกาหัวอันนี้ พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านั้นและการชำระนิทานโดยสังเขปอย่างนี้ก่อนว่า เมตตสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวตรัส พระสาวกเป็นต้น มิได้กล่าว. ก็แต่ว่า เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายถูกเทวดาทั้งหลาย รบกวนข้างภูเขาหิมวันต์ จึงพากันมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเมตตสูตรนั้น เพื่อป้องกันและเพื่อเป็นกรรมฐานสำหรับภิกษุเหล่านั้น.

ส่วนโดยพิศดาร  พึงทราบอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง ใกล้ดิถีเข้าจำพรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจากชาวเมืองต่างๆ จำนวนมาก รับกรรมฐานในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประสงค์จะเข้าจำพรรษาใน ที่นั้น ๆ จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยินว่าสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกรรมฐานทั้งหลายที่อนุกูลแก่จริตจำนวน ๘๔,๐๐๐ ประเภท โดยนัยนี้คือ อสุภกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ สำหรับคนราคจริต,กรรมฐานมีเมตตากรรมฐานเป็นต้น  ๔ อย่าง สำหรับคนโทสจริต, กรรมฐานมีมรณัสสติกรรมฐานเป็นต้นสำหรับคนโมหจริต, กรรมฐานมีอานาปานัสสติและปฐวีกสิณเป็นต้นสำหรับคนวิตกจริต, กรรมฐานมีพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นต้นสำหรับคนสัทธาจริต, กรรมฐานมีจตุธาตุววัตถานกรรมฐานเป็นต้นสำหรับคนพุทธิจริต.

ลำดับนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป เรียนกรรมฐานในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า กำลังแสวงหาเสนาสนะที่เป็นสัปปายะและโคจรคาม เดินไปตามลำดับ ได้พบภูเขา พ้นศิลาคล้ายมณีสีคราม ประดับด้วยราวป่าสีเขียวมีร่มเงาทีบเย็น มีภูมิภาคเกลื่อนด้วยทรายเสมือนแผ่นเงินข่ายมุกดา ล้อมด้วยชลาลัยที่สะอาดเย็นดี ติดเป็นพืดเดียวกับป่าหิมวันต์ ในปัจจันตประเทศ. ภิกษุเหล่านั้น พักอยู่คืนหนึ่ง ณ ที่นั้น เมื่อราตรีรุ่งสว่างทำสรีรกิจแล้ว ก็พากันเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้ๆ นั้นเอง หมู่บ้านประกอบด้วยตระกูล ๑,๐๐๐ ตระกูล ซึ่งอาศัยอยู่กันหนาแน่นในหมู่บ้านนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีศรัทธาปสาทะ พวกเขาเห็นภิกษุทั้งหลายเท่านั้น ก็เกิดปีติโสมนัส  เพราะการเห็นบรรพชิตในปัจจันตประเทศหาได้ยาก  นิมนต์ภิกษุเหล่านั้นให้ฉันแล้ว ก็วอนขอว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านอยู่ในที่นี้ตลอดไตรมาสเถิด แล้วช่วยกันสร้างกุฏิสำหรับทำความเพียร ๕๐๐ หลัง จัดแจงเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง มีเตียง ตั่ง หมอน้ำฉัน น้ำใช้เป็นต้น ณ ที่นั้น.

วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านตำบลอื่น. ในหมู่บ้านแม้นั้น มนุษย์ทั้งหลาย ก็บำรุงอย่างนั้นเหมือนกัน อ้อนวอนให้อยู่จำพรรษา. ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อไม่มีอันตราย จึงพากันเข้าไปยังราวป่านั้น เป็นผู้ปรารภความเพียรตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ตีระฆังบอกยาม  เป็นผู้มากด้วยโยนิโสมนสิการอยู่จึงเข้าไปนั่งที่โคนไม้. รุกขเทวดาทั้งหลาย ถูกเดชของเหล่าภิกษุผู้ศีลกำจัดเดชเสียแล้ว ก็ลงจากวิมานของตนๆ พาพวกลูกๆ เที่ยวระหกระเหินไป เปรียบเหมือนเมื่อพระราชา หรือราชมหาอมาตย์ ไปยังที่อยู่ของชาวบ้าน ยึดโอกาสที่ว่างในเรือนทั้งหลาย ของพวกชาวบ้าน พวกชาวบ้านก็ต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ก็ได้แต่มองดูอยู่ไกลๆ ด้วยหวังว่า เมื่อไรหนอ  ท่านจึงจักไปกัน ฉันใด เทวดาทั้งหลายต้องละทิ้งวิมานของตน ๆ กระเจิดกระเจิงไป ได้แต่มองดูอยู่ไกล ๆ ด้วยหวังว่า เมื่อไรหนอ ท่านจึงจักไปกัน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. แต่นั้น เทวดาทั้งหลายก็ร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เข้าพรรษาแรกแล้ว จักอยู่กันตลอดไตรมาสแน่แต่พวกเราไม่อาจจะพาพวกเด็กอยู่อย่างระหกระเหินได้นาน ๆ เอาเถิด พวกเราจักแสดงอารมณ์ที่น่ากลัวแก่ภิกษุทั้งหลาย. เทวดาเหล่านั้น จึงเนรมิตรูปยักษ์ที่น่ากลัว ยืนอยู่ข้างหน้าๆ เวลาภิกษุทั้งหลายทำสมณธรรมตอนกลางคืน และทำเสียงที่น่าหวาดกลัว เพราะเห็นรูปเหล่านั้น และได้ยินเสียงนั้นหัวใจของภิกษุทั้งหลาย ก็กวัดแกว่ง ภิกษุเหล่านั้น มีผิวเผือดและเกิดเป็นโรคผอมเหลือง ด้วยเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่อาจทำจิตให้มีอารมณ์เดียวได้เมื่อจิตไม่มีอารมณ์เดียวสลดใจบ่อย ๆ เพราะความกลัว สติของภิกษุเหล่านั้นก็หลงเลือนไป   แต่นั้น อารมณ์ที่เหม็น ๆ ก็ประจวบแก่ภิกษุเหล่านั้น ซึ่งมีสติหลงลืมแล้ว.  มันสมองของภิกษุเหล่านั้น ก็เหมือนถูกกลิ่นเหม็นนั้นบีบคั้นโรคปวดศีรษะก็เกิดอย่างหนัก. ภิกษุเหล่านั้น ก็ไม่ยอมบอกเรื่องนั้นแก่กันและกัน.

ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อภิกษุทุกรูปประชุมกันในเวลาบำรุงพระสังฆเถระ.พระสังฆเถระก็ถามว่า ผู้มีอายุ เมื่อพวกท่านเข้าไปในราวป่านี้ ผิวพรรณดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างเหลือเกินอยู่ ๒-๓ วัน ทั้งอินทรีย์ก็ผ่องใส  แต่บัดนี้ ในที่นี้พวกท่านซูบผอม ผิวเผือด เป็นโรคผอมเหลือง ในที่นี้พวกเธอไม่มีสัปปายะหรือ.
ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า ท่านขอรับ ตอนกลางคืนกระผมเห็นและได้ยินอารมณ์ที่น่ากลัวอย่างนี้ ๆ สูดแต่กลิ่นเช่นนี้ ด้วยเหตุนั้น จิตของกระผมจึงไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ. ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปจึงพากันบอกเรื่องนั้น โดยอุบายนี้เหมือนกัน. พระสังฆเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติการเข้าจำพรรษาไว้  ๒ อย่าง ก็เสนาสนะนี้ไม่เป็นสัปปายะแก่พวกเรา มาเถิดผู้มีอายุพวกเราจะพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามถึงเสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นๆ ภิกษุเหล่านั้น รับคำพระเถระว่าดีละขอรับ ทุกรูปก็เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรจีวรไม่บอกกล่าวใคร ๆ ในตระกูลทั้งหลาย พากันจาริกไปทางกรุงสาวัตถี ก็ถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับแล้ว ก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุไม่พึงเที่ยวจาริกไปภายในพรรษาเหตุไร พวกเธอจึงยังจาริกกันอยู่เล่า. ภิกษุเหล่านั้น จึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนึก ก็ไม่ทรงเห็นเสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นสำหรับภิกษุเหล่านั้น ทั่วชมพูทวีป โดยที่สุด  แม้แต่เพียงตั่งมี ๔ เท้า ดังนั้น จึงตรัสบอกภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นสำหรับพวกเธอไม่มีดอก  พวกเธออยู่ในที่นั้นนั่นแหละจักบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ ไปเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นนั่นแหละอยู่กันเถิด แต่ถ้าว่าพวกเธอปรารถนาความไม่มีภัยจากเทวดาทั้งหลายก็จงพากัน เรียนพระปริตรนี้. ด้วยว่าพระปริตรนี้จักเป็นเครื่องป้องกัน และจักเป็นกรรมฐานสำหรับพวกเธอ ดังนี้ แล้วจึงตรัสพระสูตรนี้.

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง เมตตสูตร (รักษาโรคผีสิงด้วยการสวดพระปริตร)

บทสวดประกาศพระปริตร รวม 4 สูตร

ดูแคลนธรรมวินัย จึงเกิดเป็นจรเข้(อ.นิทานสูตร)เล่ม34หน้า129

เรื่องมหาวาตกาลอุบาสก

ก็ในระหว่างแม่น้ำคงคา ได้มีอุบาสกชื่อว่า มหาวาตกาละ. เขาสาธยายอาการ ๓๒ เพื่อมุ่งโสดาปัตติมรรคถึง ๓๐ ปี ถึงทิฏฐิวิปลาสว่า เราสาธยายอาการ ๓๒ อยู่อย่างนี้ ก็ไม่อาจให้เกิดแม้เพียงโอภาสได้ ชะรอยพระพุทธศาสนาจักไม่เป็นศาสนาเครื่องนำสัตว์ออกจากภพ (เป็นแน่) กระทำกาลกิริยาแล้วได้ไปเกิดเป็นลูกจรเข้ยาว ๙ อุสภะ ที่แม่น้ำมหาคงคา. คราวหนึ่ง เกวียนบรรทุกเสาหิน ๖๐ เล่ม เดินทางไปตามท่ากัจฉปะ. จรเข้นั้นฮุบกินทั้งโคทั้งหินเหล่านั้นจนหมดสิ้น. นี้เป็นเรื่อง (ตัวอย่าง) ในอกุศลกรรม.

ภิกษุ-ภิกษุณี ผู้มารดาและบุตรมีเพศสัมพันธ์กัน(มาตุปุตติกสูตร)เล่ม36หน้า132

มาตุปุตติกสูตร ว่าด้วยบ่วงแห่งมาร ๕ ประการ

[๕๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล มารดาและบุตรสองคน คือ ภิกษุและภิกษุณี เข้าจำพรรษาในพระนครสาวัตถี คนทั้งสองนั้นเป็นผู้ใคร่เห็นกันและกันเนืองๆ แม้มารดาก็เป็นผู้ใคร่เห็นบุตรเนือง ๆ แม้บุตรก็เป็นผู้ใคร่เห็นมารดาเนืองๆ เพราะการเห็นกันเนืองๆ แห่งคนทั้งสองนั้น จึงมีความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน จึงมีการวิสาสะคุ้นเคยกัน เมื่อมีการวิสาสะกัน จึงมีช่อง คนทั้งสองนั้นมีจิตได้ช่องไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความทุรพล ได้เสพเมถุนธรรม ครั้งนั้นแลภิกษุเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้าพระ.ผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญมารดาและบุตรสองคน คือ ภิกษุและภิกษุณี เข้าจำพรรษาในพระนครสาวัตถีนี้ คนสองคนนั้นเป็นผู้ใคร่เห็นกันและกันเนืองๆ แม้มารดาก็เป็นผู้ใคร่เห็นบุตรเนืองๆ แม้บุตรก็เป็นผู้ใคร่เห็นมารดาเนืองๆ เพราะการเห็นกันเนืองๆ แห่งคนทั้งสองนั้น จึงมีความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน จึงมีการวิสาสะกัน เมื่อมีการวิสาสะกัน จึงมีช่อง คนทั้งสองนั้นมีจิตได้ช่อง ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความทุรพล ได้เสพเมถุนธรรม.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษนั้นย่อมสำคัญหรือหนอว่า มารดาย่อมไม่กำหนัดในบุตร ก็หรือบุตรย่อมไม่กำหนัดในมารดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปอื่นแม้รูปเดียวซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เป็นที่ตั้งแห่งความผูกพัน เป็นที่ตั้งแห่งความหมกมุ่น กระทำอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนรูปหญิงนี้เลย สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ใฝ่ใจ หมกมุ่น พัวพันในรูปหญิง เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจรูปหญิง ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเสียงอื่นแม้เสียงเดียว...กลิ่นอื่นแท้กลิ่นเดียว...รสอื่นแม้รสเดียว...โผฏฐัพพะอื่นแม้อย่างเดียว ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดเป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เป็นที่ตั้งแห่งความผูกพันเป็นที่ตั้งแห่งความหมกมุ่น กระทำอันตรายแก่การบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนโผฏฐัพพะแห่งหญิงนี้เลย สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ใฝ่ใจ หมกมุ่น พัวพัน ในโผฏฐัพพะแห่งหญิง เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจโผฏฐัพพะแห่งหญิง ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลายหญิงเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี นอนหลับแล้วก็ดี หัวเราะก็ดีพูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี บวมขึ้นก็ดี ตายแล้วก็ดี ย่อมครอบงำจิตของบุรุษได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวสิ่งใดๆ พึงกล่าวโดยชอบว่า บ่วงรวบรัดแห่งมาร ก็พึงกล่าวมาตุคามนั่นแหละว่า เป็นบ่วงรวบรัดแห่งมาร โดยชอบได้.

บุคคลพึงสนทนาด้วยเพชฌฆาตก็ดีด้วยปิศาจก็ดี พึงถูกต้องอสรพิษที่กัดตาย ก็ดี ก็ไม่ร้ายแรงเหมือนสนทนาสองต่อสองด้วยมาตุคามเลย พวกหญิงย่อมผูกพันชายผู้ลุ่มหลงด้วยการมองดู การหัวเราะการนุ่งห่มลับล่อ และการพูดอ่อนหวานมาตุคามนี้ มิใช่ผูกพันเพียงเท่านี้ แม้บวมขึ้น ตายไปแล้วก็ยังผูกพันชายได้ กามคุณ ๕ นี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะ อันเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมปรากฏในรูปหญิง เหล่าชนผู้ถูกห้วงกามพัด ไม่กำหนดรู้กาม มุ่งคติในกาลและภพน้อยภพใหญ่ในสงสาร ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้กามไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เที่ยวไป ชนเหล่านั้นบรรลุถึงความสิ้นอาสวะ ย่อมเข้าฝั่งสงสารในโลกได้.

พระพากุละมีอายุ160ปี และไม่เจ็บป่วยเลย เล่ม32หน้า466 

ประวัติพระพกกุลเถระ

ในสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อปฺปาพาธาน ได้แก่ผู้ไม่มีอาพาธ. บทว่า พากุโล ได้แก่พระเถระได้ชื่ออย่างนี้ เพราะเจริญเติบโตมาในสกุลทั้งสอง ในปัญหากรรมของท่าน  มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้.

ดังได้ยินมา ในอดีตกาล พระเถระนี้ถือปฏิสนธิในสกุลพราหมณ์ก่อนแต่พระทศพลพระนามว่าอโนมทัสสี ปลายอสงไขยกำไรแสนกัปนับแต่กัปนี้ เจริญวัย ก็เรียนพระเวท มองไม่เห็นสาระในคัมภีร์ไตรเพทคิดว่าจักแสวงหาประโยชน์ที่เป็นไปภายภาคหน้า จึงบวชเป็นฤษี ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ทำเวลาให้ล่วงไป ด้วยการเล่นฌาน สมัยนั้น พระอโนมทัสสีโพธิสัตว์ บรรลุพระสัพัญญุตญาณ มีหมู่พระอริยะแวดล้อมแล้ว เสด็จจาริกไป ดาบสฟังว่าพระรัตนะสาม เกิดขึ้นแล้วจึงไปสำนักพระศาสดาฟังธรรม จบเทศนา ก็ตั้งอยู่ในสรณะ แต่ไม่อาจละฐานะ(เพศ) ของตนได้ ท่านไปเฝ้าพระศาสดาและฟังธรรมเป็นครั้งคราว ต่อมา สมัยหนึ่ง พระตถาคตเกิดโรคลมในพระอุทร.
ดาบสมาเพื่อเฝ้าพระศาสดา ทราบว่า พระศาสดาประชวรจึงถามว่า ท่านเจ้าข้า ประชวรเป็นโรคอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวว่าเป็นโรคลมในพระอุทร จึงคิดว่า นี้เป็นเวลาทำบุญของเรา จึงไปยังเชิงเขา รวบรวมยาชนิดต่างๆ แล้วถวายพระเถระผู้อุปัฏฐาก ด้วยกล่าวว่า โปรดน้อมถวายยานี้แต่พระศาสดา โรคลมในพระอุทรก็สงบ พร้อมกับการใช้ยา ดาบสนั้นไปเฝ้าในเวลาที่พระศาสดาทรงผาสุก ทูลอย่างนี้ว่า ความผาสุกเกิดแก่พระตถาคต เพราะยาของข้าพระองค์นี้อันใด ด้วยผลแห่งการถวายยาของข้าพระองค์นั้นขอความเจ็บไข้ทางร่างกายแม้แต่เพียงถอนผม ก็จงอย่ามีในภพที่ข้าพระองค์เกิดแล้วเกิดเล่า. นี้เป็นกัลยาณกรรมในอัตตภาพนั้นของท่านท่านจุติจากภพนั้น บังเกิดในพรหมโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวดามนุษย์สิ้นอสงไขยหนึ่ง ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว ณ กรุงหงสวดี เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีอาพาธน้อยกระทำกุศลกรรมยิ่งยวดขึ้นไป  ก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น.ท่านกระทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์บังเกิดในครอบครัวพราหมณ์ ณ กรุงพันธุมวดี  ก่อนพระทศพลพระนามว่าวิปัสสีบังเกิด บวชเป็นฤษีโดยนัยก่อนนั่นแล เป็นผู้ได้ฌานอาศัยอยู่เชิงเขา พระวิปัสสีโพธิสัตว์บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ มีภิกษุหกล้านแปดแสนเป็นบริวาร ทรงอาศัยกรุงพันธุมวดี ทรงทำการสงเคราะห์พระมหาราชเจ้าผู้พุทธบิดาแล้วประทับอยู่ ณ มิคทายวันอันเกษม ครั้งนั้น ดาบสนี้ทราบว่าพระทศพลบังเกิดในโลก จึงมาฟังธรรมกถาของพระศาสดาตั้งอยู่ในสรณะ ไม่อาจละบรรพชาของตนแต่ก็มาอุปัฏฐากพระศาสดาเป็นครั้งคราว สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเว้นพระศาสดาและพระอัครสาวกเกิดโรคที่ศีรษะ  เพราะถูกลมของต้นไม้มีพิษ  ที่ออกดอกสพรั่งในป่าหิมพานต์. ดาบสมาที่เฝ้าพระศาสดาพบภิกษุนั่งคลุมศีรษะจึงถามว่า ท่านเจ้าข้า ภิกษุสงฆ์เป็นอะไร ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ผู้มีอายุ เหล่าภิกษุเป็นโรคดอกไม้พิษ ดาบสคิดว่านี้เป็นเวลาที่จะทำการขวนขวายทางกายแก่ภิกษุสงฆ์ ให้บุญบังเกิดแก่เรา จึงเก็บยาชนิดต่างๆ  ด้วยอำนาจของตนแล้วเอาประกอบเป็นยาถวาย โรคของภิกษุทุกรูปก็สงบไปทันที ดาบสนั้น ดำรงอยู่ชั่วอายุ ก็บังเกิดในพรหมโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ เก้าสิบเอ็ดกัปครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป  บังเกิดในกรุงพาราณสี ครองเรือนอยู่คิดว่า  เรือนที่อยู่ของเรา  ทรุดโทรม  จำจักต้องไปชายแดนนำทัพพสัมภาระมาสร้างเรือน จึงไปกับพวกช่างไม้พบวิหารใหญ่ใหญ่คร่ำคร่าในระหว่างทาง ก็คิดว่า การสร้างเรือนของเรายกไว้ก่อน การสร้างเรือนนั้น จักไม่ไปกับเรา แต่การไปด้วยกันช่วยกันทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ควรอยู่  เขาให้พวกช่างไม้เหล่านั้นถือทัพพสัมภาระ ให้สร้างโรงอุโบสถในวิหารนั้น  ให้สร้างโรงฉัน โรงไฟ (ที่จงกรม) เรือนไฟกัปปิยกุฏิ (โรงพยาบาล) ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน วัจจกุฏิ(ส้วม) จัดตั้งยาใช้และฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ทุกอย่าง.
เขากระทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง ถือปฏิสนธิในเรือนเศรษฐีกรุงโกสัมพี ก่อนพระทศพลของเราบังเกิด ตั้งแต่วันที่เขาถือปฏิสนธิ สกุลเศรษฐีนั้นก็ประสบลาภอันเลิศ ยศอันเลิศ ครั้งนั้น มารดาของเขาคลอดบุตรแล้วคิดว่าเด็กคนนี้มีบุญ กระทำบุญไว้แต่ก่อน เป็นผู้ไม่มีโรค อายุยืน ยังดำรงอยู่ตลอดกาลเท่าใด ก็จักเป็นผู้ให้สมบัติแก่เราตลอดกาลเพียงนั้น ก็เด็กทั้งหลายที่อาบน้ำในแม่น้ำยมุนา ในวันเกิดนั่นแล ย่อมเป็นผู้ไม่มีโรคจึงส่งเด็กนั้นไปอาบน้ำ ท่านอาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์มัชฌิมนิกายกล่าวว่า นางให้อาบศีรษะในวันที่ ๕ แล้วส่งเด็กนั้นไปเล่นน้ำ ณ ที่นั้น เมื่อพี่เลี้ยงนางนมกำลังให้เด็กเล่นดำลงโผล่ขึ้น ปลาตัวหนึ่งเห็นเด็กนั้นสำคัญว่าเหยื่อ ก็อ้าปากคาบเอาไป พี่เลี้ยงนางนม (ตกใจ) ก็ทิ้งเด็กหนีไป ปลาก็กลืนเด็กนั้น สัตว์มีบุญ ไม่ประสบทุกข์  ก็เหมือนเข้าห้องนอนแล้วนอน  ด้วยเดชะบุญของเด็ก  ปลาก็เหมือนกลืนภาชนะที่ร้อนก็เร่าร้อน ก็ว่ายไปโดยเร็วถึง ๓๐ โยชน์ เข้าไปติดอวนของประมงชาวกรุงพาราณสี ธรรมดาปลาใหญ่ติดอวนย่อมตาย แต่เดชะบุญของเด็ก ปลาตัวนี้พอเขาปลดจากอวนจึงตาย ประมงทั้งหลายได้ปลาตายย่อมชำแหละขาย ใช้คานหามไปทั้งตัว  เที่ยวตระเวนไปในกรุง  บอกว่าเอาทรัพย์มาพันหนึ่ง  และให้ปลาตัวนี้ ใคร ๆ ก็ไม่ซื้อ.ในกรุงนั้น มีสกุลเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ  พวกประมงถึงใกล้ประตูเรือนสกุลเศรษฐีนั้น  ถูกเศรษฐีถามว่า พวกท่านเอาอะไร  จึงจะให้ จึงตอบว่า เอากหาปณะ พวกเขาให้กหาปณะแล้วรับเอาปลาไปภริยาเศรษฐี เล่นกับปลาในวันอื่น ๆ แต่วันนั้น วางปลาไว้บนเขียงชำแหละด้วยตนเอง ธรรมดาคนทั้งหลาย ย่อมชำระปลาทางท้องแต่ภริยาเศรษฐีนั้น ชำแหละทางข้างหลัง เห็นเด็กมีผิวดังทองในท้องปลา ก็ส่งเสียงลั่นว่า  เราได้บุตรในท้องปลา จึงพาเด็กไปหาสามีในทันทีนั้นเอง เศรษฐีก็ให้ตีกลองป่าวร้อง  แล้วพาเด็กไปสำนักพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ข้าพระบาทได้เด็กในท้องปลา ข้าพระบาทจะทำอย่างไร พระราชารับสั่งว่าเด็กนี้มีบุญ อยู่ในท้องปลาก็ไม่มีโรคท่านจงเลี้ยงไว้ สกุลอีกสกุลหนึ่งได้ยินว่า เขาว่า สกุลเศรษฐีสกุลหนึ่งในกรุงพาราณสีได้เด็กในท้องปลา เศรษฐีสามีภริยานั้นก็ไปกรุงพาราณสี ลำดับนั้น มารดาของเด็กนั้น เห็นเด็กแต่งตัวเล่นหัวอยู่ ก็ถามว่า เด็กคนนี้ถูกใจจริงหนอ  จึงบอกเรื่องนั้น มารดาอีกคนหนึ่งกล่าวว่า บุตรของเราน่ะ ถามว่า ท่านได้บุตรที่ไหน ตอบว่า ในท้องปลามารดาเดิมบอกว่า ก็ไม่ใช่บุตรของท่าน เป็นบุตรของเรา ถามว่าท่านได้มาอย่างไร ตอบว่า เราอุ้มท้องมาถึง ๑๐ เดือน  ครั้งนั้น เด็กกำลังเล่นน้ำในแม่น้ำ ปลาก็ฮุบเด็กไป มารดาอีกคนหนึ่งบอกว่า  บุตรของท่าน คงจักเป็นปลาตัวอื่นฮุบเอาไป  ส่วนเด็กคนนี้  เราได้ในท้องปลาแม่ทั้งสองฝ่ายก็พากันไปยังราชสกุล. พระราชาตัดสินว่า หญิงผู้นี้ไม่เป็นมารดามิอาจจะทำได้  เพราะอุ้มท้องมาถึง ๑๐ เดือน พวกประมงถึงจับปลาได้ ชื่อว่าจับได้แต่ภายนอก มีดับไตเป็นต้นก็ไม่มี แม้หญิงผู้นี้ไม่เป็นมารดา ก็ไม่อาจทำได้เพราะได้เด็กในท้องปลา เพราะฉะนั้นเด็กจงเป็นทายาทของทั้งสองสกุล นับแต่นั้นมา สกุลทั้งสองก็ประสบลาภอันเลิศยศอันเลิศอย่างยิ่ง จึงพากันขนานนามท่านว่า พากุลกุมารเพราะสกุลทั้งสองเลี้ยงให้เติบโต เมื่อท่านรู้ความแล้ว สกุลทั้งสองก็สร้างปราสาท ๓ หลังไว้ในนครทั้งสอง จัดนาฏกะ นักฟ้อนรำไว้ท่านอยู่ ๒ เดือนในนครหนึ่ง ๆ อยู่ครบ ๔ เดือนแล้ว  เขาสร้างมณฑปไว้บนเรือขนาน ให้ท่านกับเหล่านาฏกะลงไปอยู่ในมณฑปนั้น ท่านเสวยสมบัติอยู่ก็ไปยังอีกนครหนึ่ง ๔ เดือน เหล่านาฏกะชาวนครออกไป ต้อนรับท่านด้วยคิดว่าท่านจักมาครึ่งทาง ๒ เดือน แล้วห้อมล้อมท่านนำไปยังนครของตนอีก ๒ เดือน เหล่านาฏกะอีกพวกหนึ่ง ก็กลับไปนครของตน  ท่านอยู่ในนครนั้น ๒ เดือนแล้วก็ไปยังอีกนครหนึ่งโดยทำนองนั้นนั่นแล  ท่านเสวยสมบัติอย่างนี้ ๘๐ ปีบริบูรณ์สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเรา  ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ. เสด็จจาริกมาโดยลำดับ ถึงกรุงโกสัมพี  พระมัชฌิมภาณกาจารย์ว่า กรุงพาราณสี แม้พากุลเศรษฐีสดับข่าวว่า พระทศพลเสด็จมาแล้ว จึงถือเอาของหอมและมาลัยไปสำนักพระศาสดาฟังธรรม ได้ศรัทธาก็บวช ท่านเป็นปุถุชนอยู่  ๗ วันอรุณวันที่ ๗ ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ครั้งนั้น พวกหญิงแบ้านที่ท่านสร้างสมไว้ครั้งเป็นคฤหัสถ์ในนครทั้งสอง ก็กลับไปเรือนสกุลของตน อยู่ในเรือนสกุลนั้นนั่นแหละ ทำจีวรส่งไปถวายพระเถระใช้สอยจีวรผืนหนึ่ง ที่ชาวกรุงโกสัมพีส่งไปถวาย ครึ่งเดือนจีวรผืนหนึ่ง ที่ชาวกรุงพาราณสีส่งไปถวาย ครึ่งเดือน โดยทำนองนี่นี่แล ชาวนครก็นำจีวรแต่ชนิดสุดยอด ในนครทั้งสองมาถวายแต่พระเถระรูปเดียว พระเถระครองเรือน ๘๐ ปี อาพาธเจ็บป่วยไร ๆก็มิได้มีตลอดกาล แม้เพียงใช้ ๒ นิ้วจับก้อนของหอมสูดดม ในปีที่ ๘๐ ก็เช้าบรรพชาโดยสะดวกดาย ท่านแม้บวชแล้ว อาพาธแม้เล็กน้อยหรือความขาดแคลนด้วยปัจจัย ๔ มิได้มีเลย  แม้สมัยปรินิพพาน ในปัจฉิมกาล ท่านก็กล่าวพากุลสูตรทั้งสิ้น โดยแสลงสุขที่เป็นทางกายและทางใจของตน แก่อเจลกัสสปะ สหายเก่าครั้งเป็นคฤหัสถ์ แล้วก็ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง ตั้งขึ้นดังกล่าวมาฉะนี้ ส่วนพระศาสดาสถาปนาพระเถระทั้งหลายไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ ก็ทรงสถาปนาท่านพระพากุลเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวก ผู้มีอาพาธน้อย ในพระศาสนานี้ ครั้งพระเถระยังมีชีวิตอยู่แล.

วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

-ศึกษาพระไตรปิฏกและอรรถกถาแปลชุด91เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย //www.thepalicanon.com/palicanon/

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone & Android ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com , และ Facebook https://www.facebook.com/tripitaka91

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




 

Create Date : 09 มิถุนายน 2556
2 comments
Last Update : 13 มิถุนายน 2556 20:47:26 น.
Counter : 1271 Pageviews.

 

ทุกๆ วันเสาร์เวลาประเทศไทย โดยประมาณ 20:30 น.มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

รับชมได้ที่
www.samyaek.com

>> วิธีดูถ่ายทอดสด สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ Android (แอนดรอยด์) เช่น Samsung Galaxy Note
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.msg30460#msg30460

>> วิธีดูถ่ายทอดสด สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ iPad (ไอแพด)
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.msg30465#msg30465

 

โดย: Budratsa 9 มิถุนายน 2556 17:39:09 น.  

 

...แจกฟรี...CD พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย และDVD จากการแสดงธรรมของหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล ได้ที่www.samyaek.com คลิกที่กระดาน "แจกสื่อธรรม" หากท่านใดยังไม่ได้สมัครสมาชิก ใช้
Username : Media
Password : 123456
........................................

หรือ ท่านใดต้องการเรียน พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย เจ้าของบล็อกมีทั้ง91เล่ม แล้วให้ดาวโหลดเอง จะส่งผ่านเมล์ไปให้ ท่านใดสนใจติดต่อที่เจ้าของบล็อก จะฝากเมล์ไว้ที่ช่องคอมเม้นต์หรือส่งเมล์หาเจ้าของบล็อก (เมล์ในProfile) โปรดระบุว่า "ขอพระไตรปิฏกชุด 91 เล่ม"

ยินดีในบุญกับท่านที่ต้องการศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยค่ะ

 

โดย: Budratsa 9 มิถุนายน 2556 17:39:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.