space
space
space
<<
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
space
space
30 มกราคม 2552
space
space
space

กินดี สมองแล่น งานวิ่งฉิว





สมองจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องได้รับสารอาหารที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ









สังคมในปัจจุบันคนเราต้องทำงานแข่งกับเวลา หลายคนทำงานจนลืมเวลาอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานในสำนักงาน ในการทำงานของคนกลุ่มนี้จะใช้แรงงานน้อย แต่จะต้องใช้สมองมาก การทำงานของสมองจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง สารอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยนี้
ซึ่งสารอาหารนี้ได้แก่ กลูโคส กรดอะมิโน วิตามิน และแร่ธาตุ อาหารจำเป็นสำหรับให้เซลล์สมองยังคงสภาพอยู่ได้และมีส่วนในการสร้างสารนำสื่อประสาท สมองจะใช้กรดอะมิโนจากอาหารในการสังเคราะห์สารนำสื่อประสาทและโปรตีน ในการทำงานสมองจะต้องใช้พลังงานจากกลูโคส
กลูโคสเป็นน้ำตาลที่ได้จากการย่อยอาหารคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง ข้าว เผือก มันหรือน้ำตาลทราย เป็นต้น กลูโคสจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้เข้ามาในเลือด กลูโคสสามารถผ่านเข้าไปในสมองแล้วเผาผลาญเป็นพลังงานให้แก่สมอง ถ้าสมองขาดพลังงานสมองจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นคนเราจึงต้องรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เพื่อคงระดับน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย สมองจะได้นำกลูโคสไปใช้เป็นพลังงาน ขณะเดียวกันการที่ร่างกายหรือสมองจะนำกลูโคสมาใช้เป็นพลังงานได้จำเป็นต้องมีวิตามินบีเป็นตัวช่วยในการทำงานของเอนไซม์ วิตามินบีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายกลูโคสได้แก่ วิตามินบี1 วิตามินบี2 ไนอาซิน วิตามินบี6 วิตามินบี12 และโฟเลท เป็นต้น
คนที่อดอาหาร เซลล์ส่วนใหญ่ในร่างกายจะใช้พลังงานจากกรดไขมันได้ แต่เซลล์สมองไม่สามารถใช้กรดไขมันเป็นพลังงาน ยังคงต้องใช้พลังงานจากกลูโคส โดยปกติกลูโคสที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันถูกนำไปใช้เป็นพลังงานให้กับเซลล์ประสาทและสมองประมาณร้อยละ 60
นอกจากนี้การขาดสารอาหารเป็นเวลานานทำให้ความจำและการเรียนรู้เสื่อม เนื่องจากการสังเคราะห์สารนำสื่อประสาท ต้องอาศัยสารอาหารซึ่งได้รับจากอาหาร เช่น สารนำสื่อประสาท Serotonin จะถูกสร้างจากกรดอะมิโน Tryptophan ซึ่งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารนำสื่อประสาทนี้ต้องอาศัยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินบี1 วิตามินบี6 วิตามินบี12 โฟเลท วิตามินซี และเหล็ก การขาดสารอาหารระดับปานกลางเป็นเวลานาน จะทำให้การรับรู้ลดลง ซึ่งมักจะพบในคนสูงอายุ การสูญเสียการรับรู้นี้ป้องกันหรือชะลอได้โดยการให้สารอาหารที่เกี่ยวข้องนี้

สารอาหารที่เกี่ยวข้องกับสมองและการรับรู้ได้แก่
ไทอะมิน (วิตามินบี1) เป็นส่วนของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายกลูโคสให้เป็นพลังงาน การขาดวิตามินบี1 จะทำให้อ่อนเพลีย ซึมเศร้า เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย แขนขาไม่มีแรง ชาปลายมือปลายเท้า ถ้าขาดมากจะเป็นเหน็บชา ผู้ที่ดื่มสุราเรื้อรัง มีโอกาสขาดวิตามินบี1 ถ้าได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมวิตามินบี1 และการเผาผลาญแอลกอฮอล์จำเป็นต้องใช้วิตามินบี1เช่นกัน วิตามินบี1 นี้พบมากในตับ ไต หัวใจ ข้าวซ้อมมือ ถั่วต่าง ๆ และเนื้อสัตว์
ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี2) เป็นวิตามินที่เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายกลูโคสให้เป็นพลังงาน การขาดวิตามินบี 2 จะมีผลให้ริมฝีปากและลิ้นอักเสบ บวมแดง ปากและมุมปากแตก ตาไม่สู้แสง ระบบประสาทผิดปกติ และสับสน วิตามินบี2 พบมากในนม เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ปลา และผักใบเขียว

ไนอาซิน (วิตามินบี3 ) เป็นวิตามินที่เป็นส่วนของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายกลูโคสให้เป็นพลังงาน การขาดไนอาซิน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ลิ้นบวมแดง ปวดศีรษะ ความจำเสื่อมหงุดหงิด สับสน อาหารที่มีไนอาซินสูงได้แก่ เนื้อสัตว์ ถั่วและยีสต์

วิตามินบี6 เป็นส่วนของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายกลูโคสออกมาจากไกลโคเจน ไกลโคเจนเป็นคาร์โบไฮเดรตที่สะสมอยู่ในร่างกายในตับและกล้ามเนื้อ ร่างกายจะสลายไกลโคเจนออกมาให้เป็นกลูโคสในช่วงที่ไม่ได้รับอาหาร เพื่อคงระดับกลูโคสในเลือดในช่วงแรกของการอดอาหาร ร่างกายจะใช้ไกลโคเจนหมดภายในเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง วิตามินบี6 ยังเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารนำสื่อประสาท วิตามินบี6 พบมากในอาหารพวกเนื้อสัตว์ ตับ ธัญญาหาร ผักและถั่วต่างๆ การขาดวิตามินบี6 ทำให้อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เป็นแผลในปาก โลหิตจาง ซึมเศร้า สับสน และมีอาการชักได้

วิตามินบี12 เป็นส่วนของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเซลล์และเยื่อหุ้มปลายประสาท การขาดวิตามินบี12 ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เยื่อหุ้มปลายประสาทถูกทำลาย มีอาการทางประสาท ชาและปวดแสบปวดร้อน ความจำเสื่อม สมาธิสั้น วิตามินบี12 พบในอาหารที่มาจากสัตว์ เช่น ตับ นม ไข่ และเนื้อสัตว์ แต่จะไม่พบในแหล่งอาหารที่มาจากพืช ดังนั้นบุคคลที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบเข้มงวดโดยรับประทานเฉพาะอาหารที่มาจากพืชนานเป็นปี ๆ จะมีปัญหาการขาดวิตามินบี12 ได้

กรดโฟลิกหรือโฟเลท เป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดง การขาดโฟเลทจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ถ้าสตรีมีภาวะการขาดโฟเลทตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดออกมาอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อความผิดปกติของหลอดประสาทไขสันหลัง (Neural Tube defect)
ปัจจุบันจึงแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ได้รับโฟเลทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสตรีที่เคยรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมาก่อน เมื่อวางแผนจะตั้งครรภ์ควรได้รับการเสริมโฟเลท เนื่องจากพบว่าการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมีส่วนทำให้ระดับโฟเลทในเลือดต่ำลง โฟเลทพบมากในอาหารพวกตับ ยีสต์ ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ไข่ และนม

เหล็ก เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่นำออกซิเจนไปยังเซลล์ในร่างกาย
เหล็กยังเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานให้เซลล์ต่างๆในร่างกาย รวมทั้งสมอง อาหารที่พบเหล็กมากได้แก่ เลือด ตับสัตว์ เนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อที่มีสีแดง การขาดเหล็กจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สมรรถภาพในการทำงานและการเรียนรู้ลดลง

ดังนั้นเพื่อให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องรับประทานอาหารทุกมื้อ โดยเฉพาะอาหารเช้า เนื่องจากไม่ได้รับอาหารมาหลายชั่วโมง ในขณะที่ร่างกายและสมองจะต้องทำงานตลอดวัน ดังนั้นจึงไม่ควรอดอาหารโดยเฉพาะอาหารคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของสมองตามที่กล่าวมาแล้ว และควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน นอกจากอาหารแล้ว การออกกำลังกายและการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะมีส่วนต่อประสิทธิภาพในการทำงานของสมองเช่นกัน


ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today



Create Date : 30 มกราคม 2552
Last Update : 30 มกราคม 2552 7:58:31 น. 0 comments
Counter : 1149 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

tanas251235
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]






space
space
[Add tanas251235's blog to your web]
space
space
space
space
space