<<
ตุลาคม 2557
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
18 ตุลาคม 2557
 

กะทันหันทริป :: Mumbai-Pune, India :: Part XI (เที่ยวปูเน่ -3)

จากต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราเล่าเรื่องทริปอินเดียถึงตอนที่ 10 
ค้างไว้ที่มื้อกลางวันของวันแรกที่ออกเที่ยวในเมืองปูเน่ 


ที่ชักช้าร่ำไร ก็เพราะการงานรัดตัว ทำให้หมดอารมณ์สุนทรีย์ในการทำภาพแล้วหยิบมาเล่าเรื่อง 
ตอนนี้เริ่มซาจากงานแล้ว ก็กลับมาเล่าต่อ ก่อนที่จะเดินทางไปเที่ยวอินเดียรอบที่สอง 


ออกจากบ้านของบันดู (คงจำได้ว่า คนขับรถที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเราชื่อบันดูนะจ๊ะ) ก็มุ่งหน้ากลับเข้าเมืองปูเน่
คราวนี้ เราระบุเลยว่า ขอเข้าพิพิธภัณฑ์ก่อนนะ เพราะรู้ตัวดีว่า เราคงใช้เวลาในสถานที่เที่ยวแบบนี้ นานนัก 
ระหว่างทางผ่านสวนสาธารณะใหญ่ มีศาลเทพเจ้าอยู่ภายใน มีผู้คนหลั่งไหลเดินตามกันเข้าไป 
บันดูชะลอรถให้ช้าลง แล้วอธิบายว่าที่นี่เป็นสวนสาธารณะชื่ออะไร สำคัญอย่างไร...แต่เราลืมไปแล้ว 


อธิบายอย่างเดียวไม่พอ บันดูหักพวงมาลัยเข้าจอดข้างทางเลย แล้วบอกให้เราลงไปถ่ายรูปเก็บไว้ด้วย 
ไม่ต้องเข้าไปเที่ยวชอบ แค่ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกว่าแวะมาแล้ว ...ก็พอ 
ไม่อยากขัดศรัทธาเจ้าบ้าน ก็เลยลงไปเก็บภาพบรรยายจากริมรั้ว  
นี่ขนาดเป็นวันจันทร์นะ ยังเห็นคู่รัก เพื่อนๆ และครอบครัว เข้ามานั่งเล่นนอนเล่น เยอะทีเดียว 

ได้ภาพพอสมควร คราวนี้ก็มุ่งหน้าไปพิพิธภัณฑ์ได้ซะที 
พิพฺิธภัณฑ์ที่เราได้ชื่อจากการ search หาตอนที่ทำแผนการท่องเที่ยว ก็คือ Raja Dinkar Kelkar Museum
เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ  เป็นพิพิธภัณฑ์ของสะสมส่วนตัวของ Dr. Dinkar G. Kelkar
ที่ทำไว้ระลึกถึงลูกขายที่เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร  

บันดูขับรถมาถึงถนนที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ปรากฎว่า ไม่มีทีจอดรถริมถนนสายหลัก 
ก็ขับเข้าซอยมาหาที่จอดรถ ก็ไม่มีอีก จนเกือบจะวนอีกรอบแล้ว  บันดูตาไวก็เป็นพื้นที่เหมาะๆ ที่จะจอดรถได้ 
นั่นคือ ระหว่างรถเก๋งกับมอเตอร์ไซค์ที่จอดแบบไร้ระเบียบอยู่ริมถนนด้านหนึ่ง 
ด้วยฝีมือการขับรถอันเชียวชาญ บันดูถอยซ้ายถอยขวาอยู่พักใหญ่ๆ ก็เบียดรถคันโตเข้าจอดในพื้นที่นั้นจนได้ 
แล้วก็พอเราเดินย้อนมายังประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์  แน่นอน ...เราต้องจ่ายค่าเข้าชม และค่ากล้องถ่ายรูป 
ณ เวลานั้น เราไม่อาจประเมินได้เลยว่า อีก 2 วันที่เหลือเนี่ยเราจะใช้เงินเท่าไหร่ 
ก็เลยตัดสินใจจ่ายในอัตรา Mobile Photography ซึ่งถูกกว่า Camera Photography เยอะเลย 



รับบัตรมาคล้องคอ...แล้วก็เข้าไปชมศิลปวัตถุที่เจ้าของสะสมมากันได้เลย 
ในอาคาร 3 ชั้นนี้  Dr.Kelkar มีของสะสมจำนวนมากกว่า 20,000 ชิ้น 
และนำมาจัดหมวดหมู่แสดงไว้ 2.500 ชิ้น เป็นศิลปวัตถุในช่วงอายุศตวรรษที่ 14 เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 19 
ที่เริ่มสะสมมาตั้งแต่ปี 1920 เป็นต้นมา 



การจัดแสดงเรียงลำดับตามอายุศิลปะ  ซึ่งเราขอข้ามไม่นำมาอธิบายนะ .
..ใครอยากรู้เรื่องศิลปะอินเดียก็ลอง search หาจาก Google เองนะ 
ส่วนการแบ่งพื้นที่จัดแสดง ก็ป้ายแนะนำบอกไว้  



สิ่งของที่จัดแสดงในห้องแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานแกะสลักหินรูปเทพเจ้า งานแกะสลักไม้ 






ถัดจากนั้นก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ ในชีวิตประจำของชาวอินเดีย 
ทั้งเครื่องประดับ  เครื่องใช้ในครัว เครื่องแก้ว เครื่องปั้นดินเผา เครื่องดนตรี งานปักผ้า เป็นต้น 







ศิลปวัตถุมากมาย จัดแสดงในตู้โชว์ขนาดใหญ่ มีป้ายคำอธิบายภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ 
ระบุศิลปะและช่วงสมัยของสิ่งของนั้นๆ  รวมทั้งมีคำอธิบายบอกเล่าภาพรวมและเรื่องราวความเป็นมาด้วย 







ของสะสมที่จัดแสดงอยู่นี้ มีมากมายละลานตา  แบ่งเรื่อง แบ่งหมวดดีอยู่แล้ว 
เป็นสถานที่อ้างอิงสำหรับการศึกษา "ศิลปะอินเดีย" ได้เป็นอย่างดี ...สำหรับคนสนใจอ่ะนะ 
แต่ที่ไม่ดี - ในความเห็นของเรา - คือการดูแลรักษา
ห้องจัดแสดง แสงน้อยมาก ของบ้างชิ้นอยู่นอกตู้ (เพราะชิ้นใหญ่) ไม่มีไฟแสงสว่าง 
ต้องลงไปนั่งยองๆ พิจารณาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เห็นลวดลายชัดๆ 
แต่ที่ชัดที่สุด คือ "ฝุ่น" หนาเตอะ ยังกับว่า ไม่เคยหยิบจับ ขัดถู หรือเช็ดฝุ่นเลย 

มีเจ้าหน้าที่ (หรือยาม) น้อยด้วย  เราสามารถยกกล้องขึ้นถ่ายรูปได้เลย โดยไม่มีคนมาขอตรวจบัตรด้วยซ้ำ 
แต่เราก็ซื้อสัตย์พอ ...จึงใช้กล้องมือถือถ่ายมาทั้งหมด  ก็มีใช้ได้บ้าง เสียบ้าง 
จบทริปออกจะเสียดาย ที่ไม่ยอมจ่ายค่ากล้องซะตั้งแต่ตอนนั้น เพราะโอกาสที่ได้กลับไปเที่ยวทีเดิม คงยาก 

เดินชมจากชั้น 1  ขึ้นไปชั้น 2  นอกเรากับบันดูแล้ว ไม่เห็นใครอื่นๆ  
แต่ไม่นานก็ได้ยินเสียงคนเดินเข้ามาให้ห้องเดียวกัน เป็นครอบครัวเล็กๆ 
ที่ดูแล้วน่าปลื้มใจ  เพราะเด็กทั้งสองที่เข้ามาชม ...เกาะตู้ดูด้วยความสนใจจริงๆ 
ไม่ใช่ว่าถูกบังคับให้เดินตามผู้ใหญ่มาดูอย่างเสียไม่ได้ แบบที่เราพบเจอในพิพิธภัณฑ์บ้านเรา 


ดูไปเรื่อยๆ จะพบว่าอินเดียมีความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมมายาวนาน ดังที่เคยอ่านเจอ 
มีเรื่องราวจากวรรณคดีที่กลายมาเป็นงานวาดและงานปั้น มากมาย
หากจะดูชิ้นงานให้เข้าใจ เราคงต้องอ่านเพิ่มอีกเยอะเลยทีเดียว 
แล้วนอกจากงานแกะสลัก งานปั้น ก็ยังมีงานตอกแผ่นหนังด้วยนะ  



รวมทั้งมีพระพุทธรูป ศิลปะไทย ...ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย  
เสียดายที่ภาพถ่ายองค์พระที่สมบูรณ์นั้น มือเราสั่น ภาพเลยเบลอสุดๆ 

ชั้นบนสุด คอลเลคชั้นพิเศษ คือ  "Mastani Mahal" เป็นโมเดลของสถาปัตยกรรมหลังนี้ ที่จัดทำไว้อย่างสวยงาม
และยังมีพระคเนศที่ทำจากเมล็ดพืชด้วย ซึ่งทำยากและหายาก ...เสียดาย (อีกตามเคย) ที่ถ่ายออกมาไม่ชัด 



เดินจบครบถ้วนทุกห้องอย่างอิ่มใจ และรู้สึกว่าตัวเองลึกซึ้งกับศิลปะอินเดียเพิ่มขึ้น 
แม้จะยังแยกแยะไม่ออกว่่าสมัยไหนก็ตามที  แต่การทำความรู้จักประเทศ (หรือเมือง) ผ่านพิพิธภัณฑ์ 
ก็เป็นสิ่งที่เรายังยืนยันว่า "จำเป็น" และได้ประโยขน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง 



เป็นอันว่า ไฮไลท์ของทริป ที่เรารีเควซไว้ สัมฤทธิ์ผลเป็นที่เรียบร้อย 
สถานที่ต่อจากนี้ไป ....ก็สุดแท้แต่บันดุจะนำทางไปชมละกัน 

โปรดติดตามตอนต่อไป 





Create Date : 18 ตุลาคม 2557
Last Update : 8 ธันวาคม 2558 21:51:33 น. 1 comments
Counter : 3162 Pageviews.  
 
 
 
 
บล็อกนี้ จัดเต็มกับงานศิลปะ
ภายนอกพิพิธภัณฑ์ก็ดูงั้นๆนะคะ
แต่ข้างในค่อนข้างหลากหลาย
ชอบงานแกะสลักไม้ขนาดใหญ่ๆ อย่างบานประตู อะไรแบบนี้ ถือว่าอินเดียเป็นเจ้าจริงๆ

ขอบคุณที่พาชมจร้า

 
 

โดย: นักล่าน้ำตก IP: 1.47.9.183 วันที่: 21 ตุลาคม 2557 เวลา:10:35:31 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com