เทคนิคกระตุ้นศักยภาพในตัวลูกด้วย "พลัง 8 ส."

 



ขอบคุณภาพประกอบจาก 1photos.com


ทราบหรือไม่ว่า ในร่างกายเล็ก ๆ ของเจ้าตัวเล็กนั้นมีพลังอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า "ศักยภาพการเรียนรู้ตามธรรมชาติ" เช่นกันนั่นคือ พลังแห่ง 8 ส.ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นให้ลูกเกิดจิตใจใฝ่เรียนรู้ และค้นหาเติมเต็มศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเขาเพื่อบ่มเพาะศักยภาพการเรียนรู้ตามธรรมชาติให้งอกงาม เพื่อพร้อมรับมือกับโลกในศตวรรษที่ 21

       ว่าแต่ว่าพลังแห่ง 8ส. จะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูพร้อม ๆ กันเลยครับ

       1. ส.สงสัย

       ในสายตาของเด็ก ๆ โลกนี้ช่างมีสิ่งละอันพันละน้อยชวนพิศมัย ส.สงสัย ในมุมมองเจ้าหนูจึงเกิดขึ้นเพราะความสนใจใคร่รู้ โดยคำตอบก่อเกิดเป็นคำถาม ซึ่งบางครั้งก็พุ่งเป้าเพื่อคลี่คลายข้อสงสัย หรืออาจเป็นคำถามจากจินตนาการที่ไม่ต้องการคำตอบตายตัว

       ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่สนับสนุนความเป็นนักสงสัย เพื่อปลูกฝังให้จอมซนกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม ในทางตรงกันข้าม ถ้าละความสนใจจากข้อสงสัยของเขา นั่นอาจปิดประตูแห่งการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ ไปตลอดกาล

       วิธีสนับสนุนนักสงสัย

       - อย่าเบื่อหน่ายเมื่อลูกตั้งคำถาม ยามที่เขาสวมบทบาทเจ้าหนูทำไม ขอให้คุณรับฟังอย่างสนใจ

       - เมื่อลูกถาม อย่าตอบทันที แต่ลองถามกลับว่า "ทำไมลูกจึงคิดอย่างนั้นจ๊ะ" หรือ "ลูกคิดว่าคำตอบคืออะไร" แล้วจึงค่อยช่วยกันไขปริศนา

       2. ส.สังเกต

       การสังเกตต่างจากการมองเห็น ยิ่งสำหรับวัยคิดส์ที่มักสนุกกับการใช้สายตาสังเกตรายละเอียด ทั้งรูปลักษณ์ เช่น สีสัน รูปทรง หรือสังเกตเพื่อเปรียบเทียบความเหมือน และต่าง ดังนั้นการสังเกตจึงเป็นทักษะที่ต้องอาศัยดวงตาในการจ้องมองสิ่งต่าง ๆ ประกอบกับความมุ่งมั่นในการเก็บรายละเอียด ถ้ามีการสนับสนุนอย่างถูกวิธี เจ้าหนูจะค่อย ๆ พัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบเจาะลึกอย่างรอบคอบ ไม่มองดูองค์ความรู้ที่รายล้อมอยู่รอบตัวอย่างผิวเผิน

       วิธีสนับสนุนนักสงเกต

       - ตั้งโจทย์ชวนสังเกตสิ่งรอบตัว เช่น ตามหาสิ่งของที่มีจำนวน "4" เจ้าหนูคนไหนตาไวอาจสังเกตเห็นขาโต๊ะ จำนวนหน้าต่างห้องนอน หรือไม่ก็ล้อรถยนต์ของคุณพ่อ

       3. ส.สัมผัส

       การสัมผัสเป็นช่องทางการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 มองดู-ฟังเสียง-ดมกลิ่น-รับรส รวมถึงกายสัมผัส ซึ่งนำมาดัดแปลงเป็นวิธีเรียนรู้ได้ร้อยพันจนคุณอาจนึกไม่ถึง ดังนั้นถ้าสนับสนุนความเป็นนักสัมผัส เขาจะเรียนรู้ว่าร่างกายคือเครื่องมือการเรียนรู้ที่ใกล้ตัวที่สุด แล้วยังได้เรียนรู้ผ่านการเล่นและเรียนรู้ สะสมประสบการณ์จริง

       วิธีสนับสนุนนักสัมผัส

       - Learning by Doing ธรรมชาติของนักสัมผัสมักเพลินกับการเล่นลงมือทำ แค่ชวนกันหยิบจับดินน้ำมันด้วยสองมือเปล่า แบ่ง บิ คลึง ปั้นรูปร่าง

       - ใช้ประสาทสัมผัสให้เต็มร้อย เช่น ชวนกันไปทะเล จ้องดูฟองคลื่น ฟังเสียงทะเล ดมกลิ่นของน้ำ ใช้มือสัมผัสเนื้อทราย แล้วครุ่นคิดต่อไปสิว่าน้ำทะเลจะมีรสชาติเป็นแบบไหน




ขอบคุณภาพประกอบจาก the-parenting-magazine.com


4. ส.สำรวจ

       ธรรมชาติของเด็กมีแววนักสำรวจสืบค้นอยู่ในตัว จึงมักแสดงออกในรูปแบบความซนผ่านการรื้อ ค้น หยิบ จับ แกะออก ประกอบเข้า ทดลองทำ รวมถึงการบุกตะลุยพื้นที่ใหม่ ๆ ถ้าคุณสนับสนุนความเป็นนักสำรวจนี้ เจ้าหนูจะรอบรู้เรื่องราวในโลกกว้าง พัฒนาการก้าวหน้า ทั้งร่างกายแข็งแรง อารมณ์แจ่มใส ทักษะสังคมแน่นปึ้ก และสติปัญญาปราดเปรื่อง

       วิธีสนับสนุนนักสำรวจ

       - จัดสภาพแวดล้อมให้พร้อม นักสำรวจน้อยต้องการพื้นที่ใหม่ ๆ กิจกรรมใหม่ ๆ ท้าท้ายศักยภาพ อาจเริ่มต้นที่การสำรวจรอบบ้านแล้วค่อย ๆ ขยับขยายออกไป

       - ตระเตรียมอุปกรณ์ครบมือ มองหาตัวช่วยที่เอื้อให้การสำรวจของเจ้าหนูผ่านฉลุย เช่น ถ้วยตวงหรือบีกเกอร์สำหรับการทดลองที่ส่วนผสมต้องตรงเป๊ะ

       5. ส.สั่งสม

       พัฒนาการของเด็กวัยนี้ยังต้องการเวลาที่จะขลุกอยู่กับสิ่งที่เขาสนใจชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อสั่งสมองค์ความรู้จากสิ่งนั้น ๆ อย่างเต็มที่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนความเป็นนักสั่งสม เขาจะเรียนรู้อย่างรู้ลึกรู้จริง ไม่ฉาบฉวย และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมยังสามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นในวันข้างหน้าได้อีกด้วย

       วิธีสนับสนุนนักสั่งสม

       - สั่งสมจากการทำซ้ำ ๆ เพราะนักสั่งสมยังสัมผัสได้ถึงแง่มุมใหม่ ๆ ของเจ้าของเล่นชิ้นเดิม หรือหนังสือเล่มเดิมทุกครั้งที่หยิบฉวยมาเล่นหรืออ่าน

       - สรรหากิจกรรมสั่งสมทักษะ เช่น ประดิษฐ์หุ่นยนต์ ร้อยดอกไม้ กิจกรรมเหล่านี้ต้องฝึกฝนเพื่อสั่งสมความชำนาญ วันหนึ่งกิจกรรมที่เจ้าหนูร้องว่า "ยากจัง" จะง่ายนิดเดียว


ขอบคุณภาพประกอบจาก virtualeducasinaloa.com
       6. ส.สรุปผล

       ส.ตัวนี้อาจฟังดูยากสำหรับเจ้าหนูที่กำลังเรียนรู้โลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งทุกสิ่งล้วนมีตรรกะหรือเหตุผลมารองรับ แต่แท้ที่จริงแล้ว การสรุปผลไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แต่หมายถึงการรวบรวมคำตอบที่ได้จากการคิด หรือการลงมือทำอันเกิดจากการวางแผนอย่างรอบคอบ และนำไปสู่การสรุปผลอย่างเป็นเหตุเป็นผล

       ส.สรุปผล จึงเชื่อมโยงถึงทุกขั้นตอนในกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่การตั้งสมมติฐาน การทดลอง การเก็บข้อมูล การประมวลผล จนถึงการสรุปผล ซึ่งถ้าคุณสนับสนุนความเป็นนักสรุปผล เจ้าหนูจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตามหลักเหตุและผล สามารถอธิบายถึงหลักการตามแนวทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ และชี้วัดได้

       วิธีสนับสนุนนักสรุปผล

       - ฝึกตั้งสมมติฐาน เพราะสมมติฐานคือสิ่งที่นักสรุปผลต้องพิสูจน์ว่า เป็นจริงตามนั้นหรือไม่ เช่น หนูลองเอาไข่มาตั้งไว้กลางแดดแผดจ้า ไข่ดิบจะสุกจริงหรือไม่..ต้องพิสูจน์

       - ไม่เร่งรัดรู้บทสรุป วิธีค้นคว้าเพื่อไปสู่การสรุปผลของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนอาจพบบทสรุปเร็วหรือช้า สัมฤทธิผลหรือพลาดหวัง ให้เขาค่อย ๆ ซึมซับเรียนรู้ดีกว่า

       7. ส.สื่อสาร

       วิธีสื่อสารของของวัยอนุบาลมักเป็นภาษาท่าทาง เช่น รอยยิ้มยามดีใจ ใบหน้ายุ่ง ๆ ยามโกรธ แล้วจึงขยับมาเป็นภาษาพูด หรือการสื่อสารผ่านปลายนิ้วที่วาดภาพละเลงสี สำหรับพี่ประถมที่โตขึ้นอีกนิดก็มักสนุกกับการสื่อถ้อยคำผ่านภาษาเขียน อาจเป็นบันทึก จดหมาย หรือเรื่องราวที่แต่งขึ้น รวมทั้งการร้องเพลง การแสดงละคร การปั้น ละครใบ้ ล้วนเป็นเวทีการสื่อสารชั้นเยี่ยมของเจ้าหนูทั้งนั้น

       ดังนั้น โครงช่ายใยแมงมุมเล็ก ๆ ของเขากำลังถักทอทีละนิด ถ้าถูกสนับสนุนความเป็นนักสื่อสารอย่างถูกทาง เจ้าหนูจะมองเห็นความสำคัญของการสร้างสัมพันธภาพ ทั้งในเชิงชีวิตส่วนตัว และในเชิงธุรกิจ เตรียมความพร้อมก่อนก้าวออกสู่สังคมขนาดใหญ่ ยิ่งในยุคนี้ที่ช่องทางการสื่อสารมีหลากหลาย เช่น เพื่อนใหม่ในโลกออนไลน์ที่พร้อมให้เขาเข้าไปผูกมิตร เพื่อเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น รวมทั้งตัวเขาเองจะได้แสดงออกถึงตัวตนให้ผู้อื่นรับรู้ และเข้าใจ

       วิธีสนันสนุนนักสื่อสาร

       - ใส่ใจพูดคุยสม่ำเสมอ วันนี้เขาต้องการผู้รับฟังที่ใส่ใจ คุณอาจใช้เวลาระหว่างเล่านิทานก่อนนอน หรือบนโต๊ะอาหาร ชวนสนทนาเพื่อให้การสื่อสารของคุณกับลูกไม่ขาดตอน

       - สื่อสารอย่างมีเป้าหมาย เช่น ปลูกฝังให้นักสื่อสารของเรารูจักตั้งคำถามเมื่อสงสัย กล้าร้องขอเมื่อต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้เขาใช้ประโยชน์จากการสื่อสารได้เต็มร้อย

       8. ส.สร้างสรรค์

       เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ คือเด็กที่ฉลาดในการคิดริเริ่ม โดยไม่ยึดติดกับกรอบแนวคิดหรือแนวปฏิบัติในยุคเก่าที่พร้อมจะล้าหลังในทุกวินาที ซึ่งถ้าคุณสนับสนุนความเป็นนักสร้างสรรค์ เขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาดเรียนรู้ เชื่อมโยงเรื่องราวรอบตัว และฉลาดรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะวิกฤตปัญหา

       วิธีสนันสนุนนักสร้างสรรค์

       - ส่งเสริมจินตนาการลูก อย่าสลัดกั้นศักยภาพในการคิดสร้างสรรค์ของลูกว่า "คิดอะไร เพ้อเจ้อ" หรือ "เป็นไปไม่ได้หรอกลูก"

       - จากนักฝันสู่นักสร้างสรรค์ การเล่นคือวิธีเรียนรู้ที่ง่ายที่สุด นักสร้างสรรค์จะได้พัฒนากระบวนการคิดและการเชื่อมโยงองค์ความรู้แบบบูรณาการ

       ทั้งหมดนี้ คือพลังแห่ง 8 ส. ที่จะเป็นเครื่องมือนำไปสู่การพัฒนาเด็กพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในโลกอนาคต




ที่มา://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000107517









Free TextEditor



Create Date : 26 สิงหาคม 2554
Last Update : 26 สิงหาคม 2554 13:18:40 น.
Counter : 949 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

bobobull
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Fight.. Fight !!
สิงหาคม 2554

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
20
28
29
 
 
All Blog