การใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันในคดีอาญา ตอนที่ 1

การมีอสังหาริมทรัพย์ในครอบครอง นอกจากจะสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับเจ้าของแล้ว คุณรู้หรือไม่ว่าอสังหาฯ ของคุณนั้นสามารถช่วยคุณได้ยามที่คุณหรือคนใกล้ตัวจับพลัดจับผลูไปต้องคดีอาญาได้อีกด้วย
 
สำหรับขั้นตอนในการขอประกันตัว อันดับแรกให้คุณสอบถามศาลเสียก่อนว่า ความผิดที่คุณโดนฟ้องต้องใช้หลักประกันเท่าไร หากเป็นคดีเช็ค ศาลจะคำนวณจากมูลค่าของเช็ค เช่น มูลค่าเช็คจำนวนไม่เกิน 500,000 บาทแรก คิดหลักประกัน 1 ใน 3 ของมูลค่าเช็ค แต่ในส่วนที่เกินกว่า 500,000 บาทขึ้นไป คิด 1 ใน 5 ของมูลค่าเช็ค และหากคุณชำระเป็นเงินสดสามารถขอลดได้อีกร้อยละ 40 เช่น หากเช็คที่คุณถูกฟ้องมีมูลค่า 800,000 บาท สำหรับ 500,000 แรกคุณต้องเสีย 166,666 บาท อีก  300,000 บาทต่อมาเสีย 60,000 บาท รวมเป็น 226,666 บาท และหากคุณจ่ายเป็นเงินสดจะได้รับส่วนลดร้อยละ 40 ดังนั้น ในท้ายที่สุดคุณต้องจ่ายเป็นเงิน 135,999 บาท ทั้งนี้ แต่ละศาลจะกำหนดเงื่อนไขในการคำนวณราคาหลักประกันต่างกัน ให้ดูจากประกาศภายในของแต่ละศาล
 
ในกรณีที่คุณมีเงินสดไม่พอ สามารถใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันแทนได้ โดยให้สอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาลว่าคิดค่าหลักทรัพย์ประกันเท่าไร เสร็จแล้วให้นำเอกสารสิทธิที่จะนำมาเป็นหลักประกันไปติดต่อยังสำนักงานที่ดินในเขตที่ทรัพย์ของคุณตั้งอยู่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ดินออกหนังสือรับรองราคาประเมิน แล้วจึงนำเอกสารสิทธิดังกล่าวเข้ามาทำสัญญาประกันตัวที่ศาลได้เลย ทั้งนี้ อย่าลืมนำสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ถือกรรมสิทธิ์และของตัวจำเลยมาด้วย ในกรณีที่มีผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ต้องมีเอกสารของเจ้าของร่วมทุกคนมาด้วย 
 
ในกรณีที่ผู้ทำสัญญาประกันมีคู่สมรส ให้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรสพร้อมหนังสือให้ความยินยิมให้ทำสัญญาประกันจากคู่สมรสมาด้วย แต่ในกรณีที่หย่าแล้วให้ส่งสำเนาใบหย่ามาด้วย และการทำสัญญาประกันนี้อาจมอบอำนาจให้บุคคลใดๆ มาทำแทนก็ได้ 
 
ส่วนอสังหาริมทรัพย์จะติดจำนองหรือไม่นั้นไม่สำคัญเพราะถือว่าเป็นหลักประกันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ภายหลังจากที่คุณทำสัญญาประกันตัวเรียบร้อยแล้ว ศาลจะเก็บเอกสารสิทธิ คือ ต้นฉบับโฉนดไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในระหว่างนี้ศาลจะมีหนังสืออายัดถึงกรมที่ดินห้ามดำเนินการทางนิติกรรมใดๆ แก่อสังหาริมทรัพย์นี้ ครั้นคดีถึงที่สุดแล้ว ท่านสามารถขอถอนหลักประกันและรับโฉนดคืนจากศาลได้ทันที แต่ทั้งนี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่มีคำสั่งศาลให้ปรับนายประกัน เพราะการทำสัญญาประกันตัวเป็นสัญญาระหว่างศาลกับผู้ประกัน ไม่ใช่ศาลกับจำเลย ดังนั้น ในบางครั้งคดีความอาจจะยุติไปแล้ว แต่คุณในฐานะนายประกันยังคงต้องรับผิดอยู่ แต่จะรับผิดอย่างไร สัญญาประกันตัวจะมีผลกับหลักทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ และคุณจะดำเนินการเช่นไรต่อไป โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ
 
 




Create Date : 08 มกราคม 2556
Last Update : 8 มกราคม 2556 15:58:31 น.
Counter : 1998 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Bloomingme
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



มกราคม 2556

 
 
1
5
6
12
13
14
19
20
21
26
27
30
 
 
All Blog