ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
21 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
+-+-+"โป๊ะแตก: ความ Surreal เหลือทนของหม่ำ จ๊กมก"+-+-+

เนื่องในโอกาสน่ายินดี(หรือเปล่า?)

ที่หนังสุด surreal เรื่อง"โป๊ะแตก" ฝีมือการกำกับของหม่ำ จ๊กมก ถูกวางจำหน่ายในรูปแบบ DVD และ VCD แล้ว

ผม จึงใคร่ขอนำเสนอ บทความของผมที่เคยตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ "ดูหนังในหนังสือ" ในนิตยสาร Starpics ปักษ์หลัง กค. 2553 มาเผยแพร่ที่นี่อีกครั้ง

บทความมีเนื้อหาเกี่ยวกับการอ่านรหัสวัฒนธรรมหนังตลกไทยในหนังเรื่องนี้ (ฟังดูอลังการดีไหม 55) และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย

ใครอ่านแล้ว อยากต่อยอดหรือเสนอประเด็นใดเพิ่มเติม ขอเชิญได้เลยนะครับ

ส่วนใครอยากรู้ว่าหนังเรื่องนี้ดีไหม สมควรดูหรือไม่
ความเห็นผมคือ เก็บเงิน 30 บาทค่าเช่า DVD ของท่าน ไว้เป็นค่าข้าวมันไก่มื้อเที่ยง จะคุ้มค่ากว่าประมาณ 37 เท่า


*************************************************

โป๊ะแตก 1 ดาว

ความ Surreal เหลือทนของหม่ำ จ๊กมก



บทความที่ท่านกำลังจะได้อ่านต่อจากนี้ อาจไม่ใช่บทความที่วิเคราะห์ตัวหนังโป๊ะแตกตามเนื้อผ้าแบบตรงๆ ดังนั้นสำหรับท่านที่ต้องการจะทราบในตอนนี้ทันทีว่าหนังเรื่องนี้เป็นอย่าง ไร ตลกไหม คุ้มค่าเงินที่เสียไปหรือเปล่า ผมก็ขอตอบแบบตรงๆ ภายใน 2 ย่อหน้าเพื่อไม่ให้เสียเวลาท่านผู้อ่านที่ต้องการทราบข้อมูลเพียงแค่นี้ว่า หนังมีช่วงเวลาที่ตลกและสนุกสนานอยู่พอประมาณ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับวีซีดีหม่ำออนสเตจหรือรายการชิงร้อยชิงล้าน แต่ถามจะถามว่า หนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ ผมก็ต้องบอกตรงๆ ว่าไม่ดีและน่าผิดหวัง เพราะแม้ผมจะไม่ได้หวังคุณภาพของหนังซ้อนหนังเรื่องนี้ในระดับ Day for Night ของฟรังซัวร์ ทรุฟโฟท์ แต่อย่างน้อย ความวุ่นวายที่เกิดจาการควบคุมหนังไม่ได้ของทีมงานอย่างที่แสดงให้เห็นใน ตัวอย่างหนัง และนักแสดงตลกทั่วฟ้าเมืองไทย ทำให้คงไม่ใช่เรื่องผิดบาปถ้าผมจะคาดหวังกับความวุ่นวายของหนังเรื่องนี้ใน ระดับ Living in Oblivion และผมคาดว่า หม่ำจะสามารถเอาเรื่องราวหลังกล้องที่เขาทราบดีมาเจาะลึกและเสียดสีกันในรูป แบบแสบๆ คันๆ เหมือนที่เขาเคยยั่วล้อชีวิตชนบทในแหยมยโสธร หรือชนชั้นสูงในวงษ์คำเหลามาแล้ว



แต่น่าเสียดายที่หม่ำเลือก ที่จะทิ้งแง่มุมเสียดสีเกี่ยวกับภาพยนตร์ ทั้งเรื่องปัญหาต่างๆ หลังกองถ่าย นักแสดง ช่างไฟ นายทุน ความฝันของคนทำหนังและอุปสรรคในการถ่ายทอดให้มันเป็นจริง แต่เขากลับเลือกที่จะใส่มุขตลกแบบไม่เกี่ยวกับธีมหนังเลย พูดง่ายๆ คือ เรื่องราวในกองถ่ายหนังเป็นแค่เส้นด้ายที่มีหน้าที่ยึดเกาะมุขตลกในเรื่อง แบบหลวมๆ เพียงเท่านั้น จะเปลี่ยนจากกองถ่ายหนังเป็นคณะลิเก คณะทัวร์หรือตำรวจดับเพลิงก็ไม่ทำให้หนังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากสักเท่าไร อีกทั้งมุขที่อัดมาเป็นชุดแบบไม่มีผ่อนหนักผ่อนเบา แถมไม่ใช่มุขที่ขำขัน สร้างสรรค์ หรือแปลกใหม่เท่าที่ควร (ถ้าคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้หม่ำ ผมแน่ใจว่าคุณต้องเคยผ่านตามุขต่างๆ ในเรื่องมาแล้วเกินครึ่ง) ก็ทำให้หนังเรื่องนี้สร้างความผิดหวังให้กับทุกความคาดหวัง ไม่ว่าจะหวังในความตลกหรือหวังในความเป็นหนังดี และทำให้โอกาสที่ประเทศไทยจะได้หนังเสียดสีและแฉให้เห็นภาพวงการหนังไทยต้อง หลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ถึงกระนั้น หนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่หนังที่ดูจบแล้วจบเลยสำหรับผม เพราะหนังเรื่องนี้มีความพิเศษและประเด็นที่น่าสนใจบางอย่างซึ่งยังตก ค้างอยู่ในหัวผม ในแบบที่หนังดีๆ หลายเรื่องทำไม่ได้ ซึ่งผมเชื่อว่า ท่านที่อ่านมาถึงย่อหน้านี้น่าจะสนใจในสิ่งที่ผมต้องการจะนำเสนอ (เพราะไม่เช่นนั้น คงอ่านถึงย่อหน้าที่ 2 แล้วเปลี่ยนไปอ่านบทความอื่นไปแล้ว) เพราะสิ่งนี้เกี่ยวพันกับสิ่งที่เรียกว่า อนาคตของภาพยนตร์



ฟราน ซิส ฟูกูยาม่า นักประวัติศาสตร์เคยกล่าวคำอันสะเทือนโลกเมื่อตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ในรัสเซียและขั้วเสรีนิยมที่นำโดยอเมริกาได้รับชัยชนะว่า นี่คือจุดจบของประวัติศาสตร์ เพราะต่อไปโลกคงสงบสุขและประวัติศาสตร์คงไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรอีกแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจุบันทราบกันดีแล้วว่านี่คือเรื่องผิด เพราะหลังจากตึกเวิร์ลเทรดถล่ม การโจมตีในอิรัก ทำให้เราทราบว่าประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งเราสามารถเอาสิ่งนี้มาใช้กับเรื่องศิลปะภาพยนตร์ได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันนี้ มีหลายคนคิดว่าภาพยนตร์ได้ถูกพลิกแพลงไปในแทบทุกทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังกระแสหลักหรือหนังทดลอง เวลาเราเจอหนังดีเราอาจจะรู้สึกหัวใจเต้นรัวหรือนั่งซี้ดปาก แต่คงยากที่จะเจอหนังเรื่องไหนที่แปลกใหม่จนถึงขีดที่ผู้ชมไม่เคยเห็นมาก่อน ลักษณะภาพยนตร์ที่ชวนให้คนดูทึ่ง รู้สึกแปลกใหม่ และรู้สึกว่าเป็นตัวแทนของยุคนี้ จึงเป็นหนังที่รวมเอาสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วมายำใหม่อย่างลงตัวมากกว่า อาทิเช่น The Matrix หรือ Pulp Fiction เป็นต้น



หากเรานำหลัก เกณฑ์มาตรฐานของการสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับภาพยนตร์มาพิจารณา อย่าง เควนติน ทารันทิโน่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่ไม่เรียงลำดับเวลาหรือเอาวัฒนธรรมป๊อป มายำแบบมั่วๆ ในหนังของเขา หรืออากิระ คุโรซาว่าสร้างหนังที่มีการบอกเล่าหลายมุมมองแต่ไม่มีผู้ชมคนไหนทราบว่าเป็น เรื่องจริงอย่างใน Rashomon หรือเร็วๆ นี้ กับการที่เจมส์ คาเมรอนพยายามสร้างความแปลกใหม่ให้กับการชมภาพยนตร์ด้วยเทคโนโลยี 3 มิติแล้ว เราก็สามารถมองแบบผ่านๆ คร่าวๆ ได้ว่า หม่ำก็เป็นผู้สร้างความแปลกแหวกแนวให้กับภาพยนตร์เหมือนกัน (แน่นอนว่า นี่เป็นการพูดแบบโอเวอร์ เพื่อประโยชน์ในการแสดงให้ผู้อ่านได้เห็นภาพ) นั่นคือ เขากล้าที่จะโยนเส้นเนื้อเรื่องทั้งหมดในหนังเรื่องโป๊ะแตกออกไปทั้งหมด ทำให้โป๊ะแตกกลายเป็นหนังที่ไม่มีเนื้อเรื่อง (หากมีก็ถือว่าเบาบางมากจนแทบจับไม่ได้) หากแต่เป็นหนังที่รวมชุดเหตุการณ์ซึ่งแตกกระจาย รวบรวมเข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งชุดเหตุการณ์ทั้งหมด มีความคล้ายคลึงกันเพียงแค่ 1-เป็นเหตุการณ์ในกองถ่ายหนังเรื่องโป๊ะแตกแยกทางนรก 2-มันมีมุขตลก กล่าวคือ เราสามารถตัดเอาฉากไหนทิ้ง ฉากไหนไว้ หรือสลับเอาฉากนี้ไว้ก่อน ฉากนี้ไว้หลังได้ โดยที่ไม่ทำให้หนังเรื่องนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (เนื่องจากหนังเรื่องนี้ไม่มีโครงสร้าง) อีกทั้งระหว่างที่ดู ผู้ชมจะไม่มีทางทราบเลยว่า หนังเรื่องนี้จะจบลงเมื่อไร เพราะหนังไม่มีจุดเริ่มเรื่อง จุดไคลแม็กซ์หรือจุดคลี่คลายปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น หนังจบเอาตอนที่ผู้สร้างต้องการให้มันจบก็แค่นั้น อีกทั้งชุดเหตุการณ์ทั้งหลายในเรื่องก็ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่ถูกกำหนดล่วง หน้าจากผู้สร้างแต่เป็นฉากที่พึ่งพาการ improvise ของนักแสดง นั่นคือ เขาจับกลุ่มนักแสดงไปอยู่ในสถานการณ์แปลกๆ แล้วจับภาพการแก้ปัญหาของนักแสดงนั้นไปแบบเรื่อยๆ ยาวๆ เหมือนแอบถ่าย (มีภาพนักแสดงหลุดหัวเราะหลายฉากมาก ซึ่งถ้าเป็นหนังเฉินหลง เขาจะเก็บฉากแบบนี้ไว้ท้ายเรื่อง แต่หนังเรื่องนี้มีภาพลักษณะดังกล่าวตลอดทั้งเรื่อง โดยผู้กำกับไม่ตัดทิ้ง)

นั่น ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่รสชาติแปลกที่สุดเรื่องหนึ่งนับตั้งแต่ผมเคย ดูหนังมา และหนังที่ผมพอจะเอามาเทียบเคียงกับหนังเรื่องนี้ได้ นั่นคือ หนังอย่าง Jackass the Movie ซึ่งเป็นหนังที่ไม่มีเนื้อเรื่องอันใดนอกเสียจากแสดงถึงความบ้าระห่ำของนัก แสดงในการกระทำสิ่งที่เสี่ยงตาย แน่นอนว่า หม่ำไม่ได้สร้างหนังในลักษณะนี้แบบลอยๆ ขึ้นมาในอากาศเพราะสุดท้ายหนังเรื่องนี้ของหม่ำก็เป็นหนังตลาดที่ต้องพึ่ง พากลุ่มผู้ชมลูกค้า หนังเรื่องนี้จึงไม่ต่างจากหนังตลาดทุกเรื่องคือ ตัวหนังสามารถสะท้อนถึงวัฒนธรรมการดูหนังในแต่ละสังคมได้ แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้แตกต่างไปจากเรื่องอื่นคือ หม่ำเลือกที่จะผลักดันหนังของเขาไปในสิ่งที่ผู้กำกับท่านอื่นไม่เคยคิดหรือ คิดไว้แต่ไม่กล้าทำ นั่นคือ การรื้อถอนเนื้อเรื่องทิ้งไปออกเกือบหมดแล้วแทนที่มันด้วยสถานการณ์ซึ่งเต็ม ไปด้วยมุขตลกที่กระจัดกระจายอยู่ตลอดเรื่องแทน



ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการดูหนังในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ การดูหนังตลกที่ดูแค่มุขตลกหรือการดูหนังแอ็คชั่นที่มีแต่ฉากแอ็คชั่น อย่างเช่น เวลาเราไปดูหนังตลก เรามักจะถูกถามว่าหนังตลกหรือเปล่าแทนที่จะถูกถามว่าหนังดีหรือเปล่า ส่วนหนังแอ็คชั่นนั้น เรามักจะถูกถามว่า หนังเรื่องนั้นมันไหม มากกว่าหนังเรื่องนี้ดีไหม ซึ่งเรื่องนี้ก็มักจะเป็นกรณีพิพาทในเวบบอร์ดชื่อดังของไทยบ่อยๆ เวลาที่มีคนว่าหนังตลกหรือหนังแอ็คชั่นเรื่องไหนว่าห่วย ว่า หนังแบบนี้เขาไม่ดูกันที่บท การแสดง หรือองค์ประกอบที่ทำให้หนังดีทั้งหลายกันหรอก แต่เขาดูแค่ว่าหนังเรื่องนั้นมันตลกหรือมันหรือเปล่าก็พอ แน่นอนว่า หนังเรื่องนี้คือผลของการสมาทานเอาแนวความคิดนั้นเข้าไปและเลือกที่จะผลัก ดันหนังในมายาคตินั้นให้สุดทาง



หม่ำน่าจะพิจารณาแล้วว่า ทีเด็ดของหนังของเขาไม่ได้อยู่ที่การกำกับชั้นยอด บทซับซ้อนหักมุม การถ่ายภาพ การตัดต่อ หรือดนตรีประกอบ แต่อยู่ที่มุขตลกในเรื่องเสียมากกว่า สิ่งที่หม่ำกล้าทำ คือ การกล้าที่จะค้นหาความต้องการของผู้ชมกลุ่มเป้าหมายบางส่วนของเขาว่าต้องการ อย่างไร ซึ่งหม่ำก็ได้ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนั้นอย่างเต็มที่ คือ กลุ่มที่ต้องการแต่ความตลกโดยไม่ต้องการเนื้อเรื่อง ซึ่งดูแล้วอาจจะบาดตาบาดใจนักวิจารณ์และนักดูหนังที่รักเนื้อเรื่องทั้งหลาย หากมองขำๆ แล้ว นี่ถึงไม่ใช่การประทะระหว่างชนชั้น แต่นี่อาจเป็นการปะทะกันระหว่างมุมมองศิลปะ คือ คนที่มองหนังเป็นศิลปะ กับคนที่มองหนังเป็นสิ่งบันเทิงเพียวๆ ซึ่งการที่หม่ำเลือกที่จะเอาใจฝั่งที่ฝั่งบันเทงแบบสุดโต่งสุดขั้ว คำชมแรกที่หม่ำสมควรจะได้รับก็คือ ความกล้าหาญ

แต่น่าเศร้าที่นี่อาจ จะเป็นคำชมแรกและคำชมเดียวที่หม่ำสมควรจะได้รับจากหนังเรื่องนี้ เหตุเพราะการเสี่ยงของหม่ำในครั้งนี้ให้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาด เนื่องจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ผู้ชมทุกวันนี้เคยชินกับที่หนังจะมีเส้นเรื่อง เช่นเดียวกับเพลงหรือวรรณกรรม การที่ศิลปะภาพยนตร์เดินทางมาไกลเกินกว่าที่คนเราจะดูหนังแบบไม่มีเนื้อ เรื่อง แค่เห็นภาพเคลื่อนไหวก็ดีใจแบบสมัยพี่น้องลูมิแอร์หรือโธมัส อัลวา แอนเดอร์สันไปแล้ว (ลองนึกภาพหนังแอ็คชั่นที่ไม่มีเนื้อเรื่อง ต่อยกันอย่างเดียว ดูสิครับว่า จะยังสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมอยู่ไหม) และความผิดพลาดอีกอย่างนึง คือ ในเมื่อหม่ำเลือกที่จะผลักดันหนังไปในทางสนุกและละทิ้งเนื้อเรื่องแล้ว แต่หม่ำไม่สามารถผลักดันหนังที่มีแต่มุขตลกไปให้สุดทางได้ สาเหตุหลักเนื่องมาจากตัวมุขที่ไร้ความสดใหม่ไม่ครีเอท จะบ้าก็บ้าไม่สุด แถมเป็นมุขที่กระจัดกระจายไม่เป็นธีมเดียวกัน จนหนังที่ควรจะออกมา surreal กลับกลายเป็นว่าการตัดสินใจของหม่ำในการทำหนังลักษณะนี้ กลับ surreal ยิ่งกว่าหนังเสียอีก ทำให้นอกจากเขาจะไม่สามารถชนะใจกลุ่มคนที่มองหนังเป็นศิลปะ เพราะเขาเลือกที่จะทิ้งมันไปตั้งแต่ต้นแล้ว เขายังทำให้กลุ่มที่สนใจจะมาขำอย่างเดียวไม่สนใจอย่างอื่นผิดหวังไม่แพ้กัน



ดัง นั้น น่าเสียดายที่แทนที่พวกเราจะได้ดูหนังเซอร์รีลและแปลกประหลาด ถึงขั้นอาจขึ้นเป็นหนังคัลท์ และหม่ำอาจจะกลายเป็นตลกทำหนังที่น่าสนใจเหมือน ทาเคชิ คิตาโน่ แต่สุดท้ายเรากลับได้หนังที่น่าเบื่อ ซ้ำซาก โดยที่หม่ำอาจจะไม่รู้ตัวว่า เขาได้ทำโอกาสทำหนังแปลกที่สุดพิเศษ – ซึ่งคนอื่นไม่มีทางทำแบบนี้ได้ เพราะนายทุนไม่น่ายินยอม – หลุดมือไปแล้วอย่างน่าเสียดาย



โป๊ะ แตก กำกับ-เรื่อง: เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา บทภาพยนตร์: เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, พิพัฒน์ จอมเกาะ กำกับภาพ: จิระเดช สำเนียงเสนาะ, สมศักดิ์ ศรีสวัสดิ์, รัฐพล สันธนาคร ลำดับภาพ ปภพ สุรสกุลวัฒน์, ชูพล ศรีไพร กำกับศิลป์ วรากร พูนสวัสดิ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย นิรชรา วรรณาลัย ดนตรีประกอบ คณิศร พ่วงจีน นักแสดง หม่ำ จ๊กมก, เทพ โพธิ์งาม, เท่ง เถิดเทิง, โหน่ง ชะชะช่า, ค่อม ชวนชื่น, นุ้ย เชิญยิ้ม, ศิริพร อยู่ยอด




Create Date : 21 กันยายน 2553
Last Update : 21 กันยายน 2553 23:13:41 น. 3 comments
Counter : 5498 Pageviews.

 
ใช่ครับก็ม่ตลกเป็นบางฉาก แต่ถ้าถามถึงโดยรวมก็ห่วยมากๆเลยทีเดียวเชียว อย่างน้อยน่าจะทำเบื้องหลัง แล้วก็มาโผล่เป็นหนังสั้นๆให้ดูตอนท้ายก็ยังดี


โดย: NusClub IP: 180.183.29.64 วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:7:25:13 น.  

 
ไม่ไหวจะเคลียร์ แล้วหาว่าคนไทยไม่สนับสนุนหนังไทย ขนาดดูซีดียังเสียดายตังค์เลยอ่ะ


โดย: จริงด้วย IP: 125.24.175.208 วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:9:27:46 น.  

 
ไม่รู้ว่า ดูถูกคนดูมากไปหรือป่าว


โดย: MsuperM IP: 115.87.177.220 วันที่: 3 ตุลาคม 2553 เวลา:22:37:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.