ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
16 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
+-+-+แนะนำให้ดู: ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives)+-+-+

แนะนำให้ดู: ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives)

บทความโดย ฟ้าดิน

เผยแพร่ครั้งแรกที่ //www.poppaganda.net/entertainment/371

ขอขอบคุณบก.ตี้ ผู้เอื้อเฟื้อพื้นที่ให้แก่บทความนี้ด้วยครับ

***************************************************


แนะนำให้ดู: ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives)





หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (หรือที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่และอดีตรมต.กระทรวงวัฒนธรรมหวังดีช่วยตั้งชื่อให้ใหม่อย่างสละสลวยว่า ลุงบุญมีกลับชาติมาเกิด) ได้รับรางวัลปาล์มทองหรือ Palm D’or ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุด จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63
ชื่อของผู้กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลก็ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ชื่อของเขาได้รับการกล่าวขวัญถึงจากในสื่อวันละหลายรอบ ภาพยนตร์เรื่องเก่าๆ ของเขาถูกนำกลับมาพูดถึงและวิเคราะห์ในหมู่คนรักหนังอีกครั้ง

และพอหนังเรื่องนี้เข้าฉายในโรงหนัง ก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างอบอุ่น ทั้งที่ได้ฉายแค่วันละรอบและแทบไม่มีการประชาสัมพันธ์ แต่หนังก็มีผู้ชมเข้าชมจนเต็มโรงทุกวัน จนทำรายได้เฉียด 5 แสนบาทเข้าไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อคิดถึงจำนวนรอบฉายและความเฉพาะกลุ่มของตัวหนัง

ถ้าเรานำเหตุการณ์นี้มาพิจารณาแบบผ่านๆ เราก็อาจประเมินได้ว่า วงการหนังอิสระและหนังนอกกระแสของไทยกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงและอยู่ในช่วงขาขึ้น

แต่เนื่องผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย (หากคุณยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ บางทีการลองหัดมองโลกในแง่ร้ายดูบ้างก็อาจเป็นสิ่งที่จำเป็น) ผมจึงแอบอดคิดไม่ได้ว่า กระแสของหนังอิสระอาจเป็นเหมือนกับกระแสวรรณกรรมในช่วงประกาศรางวัลซีไรท์ นั่นคือ โด่งดังเป็นพลุแค่ชั่วคราวก่อนที่จะกลับมาเงียบเหงาไร้การถูกเหลียวแลเหมือนเดิม
ซึ่งการมองโลกในแง่ร้ายของผมก็อาจจะกลายเป็นการมองโลกในแง่จริง ถ้าหากวงการหนังอิสระยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบตามมีตามเกิดแบบในตอนนี้
โดยทั้งนี้ การได้เห็นข่าวกระทรวงวัฒนธรรมจัดงานเลี้ยงฉลองให้อภิชาติพงศ์และอ้างว่าหน่วยงานตัวเองมีส่วนร่วมกับความสำเร็จของเขานั้น ถือเป็นเรื่องตลกร้ายที่ขำไม่ค่อยออกเท่าไร เนื่องจากกว่าที่อภิชาติพงศ์จะมายืนถึงจุดนี้ได้ เขาได้รับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐน้อยมาก แถมหลายครั้ง รัฐยังเป็นฝ่ายเอาเท้าราน้ำเสียอีก อย่างในกรณีเซ็นเซอร์หนังเรื่อง แสงศตวรรษ เป็นต้น


กลับมาที่เรื่องหนังกันต่อ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คำถามยอดนิยมที่มักจะมีคนถามเวลาเราไปดูหนังของอภิชาติพงศ์ก็คือ หลับหรือเปล่า หรือดูรู้เรื่องไหม เสมือนว่า ไม่สามารถนั่งดูกับพื้นได้ จำเป็นต้องปีนบันไดดู ซึ่งดูเหมือนว่าอภิชาติพงศ์จะรู้ถึงคำกล่าวนี้ดีทำให้ เมื่อเพลง Acrophobia ซึ่งมีเนื้อร้องว่า “ขอบันไดหน่อย” ดังขึ้นมาในตอนจบของหนัง นั่นทำให้คนดูอดขำไม่ได้

แม้ว่าหนังของเขาจะไม่ได้ดูยากถึงขั้นต้องจับมาตีความสัญศาสตร์ 7-8 ตลบ อันที่จริง หนังของเขาเรียบง่ายกว่าที่คิดด้วยซ้ำด้วยซ้ำ อย่างเช่น สุดเสน่หาก็เป็นเรื่องของคู่รักชาวพม่าหนีเข้าป่าไปหาความสุขกัน เป็นต้น
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ หนังของเขาไม่ได้ถูกปากคนดูทุกคน เป็นเพราะลักษณะหนังของเขาไม่ได้เป็นหนังดีที่มีลักษณะแบบชวนให้ซาบซึ้ง (Appreciate) จนได้รับการชื่นชอบจากมหาชนอย่าง Dead Poets Society หรือ Cinema Paradiso ตรงข้ามแล้ว หนังของเขาออกไปทางแนวคล้ายๆ หนังของผู้กำกับไมเคิลแองเจโล่ อันโตนิโอนี่มากกว่า
นั่นคือมีลักษณะแบบกระตุ้นผ้ชม (Provoking) เหมือนว่าผู้สร้างหนังเอาไม้ฟาดไปที่หัวของผู้ชมแรงๆ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่เรียกได้ว่าความบันเทิงสำหรับทุกคนแน่นอน
แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราพิจารณาว่า อภิชาติพงศ์ นั้นเป็นผู้กำกับที่เติบโตมาจากเส้นทางนักทำหนังทดลอง ซึ่งเป็นหนังที่ฉีกจากเล่าเรื่องแบบเดิม แหวกขนบ ลองฉีกมุมมองการเล่าเรื่อง ซึ่งจากผลงานที่ผ่านมาของอภิชาติพงศ์ เขาไม่ได้ทำแค่หนัง แต่เขายังมีผลงานอื่นๆ อยู่ด้วย ทั้ง Installation arts หรือ วีดิโออาร์ท ทำให้หนังของเขาไม่ได้เป็นแค่หนัง แต่มีส่วนผสมของศิลปะอื่นๆ เข้ามาด้วย
ดังนั้นคำชมจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลหรือนักวิจารณ์ที่คานส์ที่บอกว่า ลุงบุญมีระลึกชาติซึ่งมีองค์ประกอบเหล่านั้น อาจเป็นหนทางสู่อนาคตใหม่ๆ ของวงการภาพยนตร์ที่กำลังจะตีบตัน จึงไม่ใช่คำชมที่เว่อร์เกินจริงซะทีเดียว





แน่นอนว่าธรรมชาติของหนังทดลองพวกนี้ ย่อมไม่ใช่เป็นหนังที่จะได้รับการชื่นชอบจากมหาชนที่มีรสนิยมสาธารณ์อยู่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้แต่นักดูหนังที่ชอบหนังทดลองเองก็ใช่ว่าจะชอบหนังของอภิชาติพงศ์ไปซะทุกท่าน ดังนั้น การดูถูกคนที่ไม่ชอบหนังอภิชาติพงศ์ว่าเป็นคนดูหนังไม่เป็น จึงถือเป็นข้อกล่าวหาที่ผิดประเด็น
หนังของเขาไม่ใช่หนังที่พอดูจบแล้ว ผู้ชมพยักหน้าหงึกๆ ว่าชอบแบบไร้ข้อโต้แย้ง แล้วกลับบ้านไปนอนหลับโดยไม่มีอะไรติดอยู่ในหัว แต่เป็นหนังที่ปล่อยให้ผู้ชมแลกเปลี่ยนและถกเถียงกัน มากกว่า ซึ่งความสนุกของการดูหนังเขาอยู่ที่ตรงนั้นส่วนหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าผู้ชมท่านนั้นจะชอบหรือไม่ชอบหนังของเขา แต่ผู้ชมทั้งหลายก็คงอดที่จะชื่นชมความกล้าหาญ ความทะเยอทะยาน มุมมองแปลกใหม่ และวิสัยทัศน์ของเขาไม่ได้


มาพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้กันบ้าง ใครที่เคยซัดของหนักอย่าง "สัตว์ประหลาด!" หรือ "สุดเสน่หา" มาแล้ว แล้วคาดหวังว่าหนังเรื่องนี้จะยิ่งสร้างความมึนงงให้ท่านมากกว่าเดิมเพราะหนังได้รางวัลใหญ่จากเมืองคานส์มา โปรดสบายใจได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ท่านจะพบว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าถึงง่ายกว่าที่คิด เรียกได้ว่าอยู่ในระดับเดียวกับ "แสงศตวรรษ" หรือ "หัวใจทรนง" เลยทีเดียว
โดยความเข้าถึงง่ายนั้นอยู่ในความหมายของ ความสนุกในการติดตามเรื่อง และมุขตลกที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินระหว่างการรับชม (และหลายฉากถึงขั้นทำให้คนดูเหวอ เช่นฉากบนโต๊ะอาหาร) จนคนดูพร้อมที่จะปล่อยใจให้หนังมากขึ้น
แต่ก็ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะเหมาะกับผู้ชมทั่วไป เพราะองค์ประกอบที่เป็นเหมือนยาขมสำหรับคนที่ไม่ชอบหนังสไตล์อภิชาติพงศ์นั้นยังคงอยู่แบบครบถ้วน
ทั้งการดำเนินเรื่องแบบเนิบช้า มีการปล่อยให้ผู้ชมตกอยู่ในภวังค์ความเงียบนานหลายนาที (จนขอเตือนว่า ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หรือหากาแฟเย็นหรือกระทิงแดงมาดื่มก่อนเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้)
การดำเนินเรื่องไม่ปะติดปะต่อและไม่เชื่อมโยงกัน มีลักษณะแตกกระจายจนเป็นหน้าที่ของคนดูที่จะเก็บเอาชิ้นส่วนที่แตกกระจายเหล่านั้นมาตัดแปะกันเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนเข้าใจหนังไม่เหมือนกันเพราะแต่ละคนย่อมตัดแปะไม่เหมือนกัน หลายเหตุการณ์ไม่มีคำเฉลยหรือบทสรุป และกลายเป็นประเด็นที่ชวนให้ถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ


ตัวเนื้อเรื่องหลักเป็นเรื่องราวของลุงบุญมี (ธนภัทร สายเสมา) เจ้าของสวนผลไม้และฟาร์มผึ้งซึ่งป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้าย โดยเหตุเกิดในวันที่ป้าเจน (เจนจิรา พงศ์พัศ) ซึ่งเป็นน้องเมียและโต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี) เดินทางมาเยี่ยมเขา เมื่อฮวย เมียของลุงบุญมีที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมาเยี่ยมเขาในรูปแบบของวิญญาณ และบุญส่ง ลูกชายของลุงบุญมีที่หายสาบสูญไปก็กลับมาในสภาพลิงมีขน และแล้ว การนับถอยหลังสู่ความตายของลุงบุญมีก็เริ่มต้นขึ้น และความทรงจำในชาติก่อนๆ ของลุงบุญมีก็ค่อยๆ ปรากฏมาเป็นห้วงๆ


แม้ว่าเรื่องราวหลักจะเกี่ยวข้องกับการระลึกชาติของลุงบุญมีเหมือนชื่อเรื่อง แต่ก็ใช่ว่าโดยตัวเนื้อเรื่องจริงจะเป็นภาพลุงบุญมีระลึกทีละชาติ สอดแทรกเข้ามาแว้บๆๆ แล้วจบ (ถ้าใครอยากดูหนังที่เป็นอย่างนั้น แนะนำว่าให้เปลี่ยนไปดูหนังคนระลึกชาติของพี่น้องแปงแทนจะดีกว่า) เพราะโดยชาติที่ลุงบุญมีระลึกนั้นไม่ได้มาเป็นเส้นตรง แต่เข้ามาเป็นวาบความคิดหรือชุดเหตุการณ์ที่ดูเผินๆ ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องหลัก เช่น ฉากควายหนีเจ้าของ หรือฉากเจ้าหญิงกับปลาดุก ซึ่งก็เข้ากับสไตล์ของอภิชาติพงศ์และลักษณะการระลึกชาติดี เพราะการระลึกชาตินั้นก็เหมือนการรำลึกถึงความทรงจำที่สาบสูญ ซึ่งแน่นอนว่าความทรงจำของคนเราไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง แต่เป็นชุดเหตุการณ์ที่ล่องลอยเข้ามาในหัวเป็นห้วงๆ เหมือนที่อภิชาติพงศ์ทำในหนังเรื่องนี้


หนังเรื่องนี้มีลักษณะหลายอย่างที่ชวนให้คิดถึงนิยายกลุ่ม Magical Realism ของอเมริกาใต้ ยกตัวอย่างเล่มที่ดังๆ ก็อย่างเช่น 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยวของแกเบรียล การ์เซีย มาเควซ เป็นต้น ลักษณะดังกล่าวอย่างเช่น การที่คนตายอยู่ร่วมโลกกับคนเป็นได้อย่างเป็นปกติ หรือเหตุการณ์เหนือจริงมากมายที่ถ่ายทอดในบรรยากาศสมจริง อย่างฉาก เจ้าหญิงกับปลาดุก หรือลิงผี เป็นต้น


องค์ประกอบที่โดดเด่นอีกอย่างของหนังอภิชาติพงศ์ก็คือ องค์ประกอบแบบไทยๆ ซึ่งในหนังเรื่องนี้ก็มีแง่มุมดังกล่าวสอดแทรกอยู่มากมาย ทั้งเรื่องการระลึกชาติ เวรกรรม ชาติภพ วิญญาณ ปีศาจ ความลึกลับในป่า การอยู่เป็นครอบครัว งานศพ พระ ศาสนา
ซึ่งแน่นอนผู้ว่าผู้ที่จะได้รับอรรถรสสูงสุดจากหนังเรื่องนี้คือ คนไทย ซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องราวแบบนี้เป็นอย่างดี ในขณะที่ชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับความเชื่อเรื่องชาติภพหรือเวรกรรมจะไม่อินกับเรื่องนี้เท่าที่ควร (แต่นั่นก็อาจจะทำให้เกิดเป็นมุมมอง exotic ต่อผู้ชมต่างชาติก็ได้)
การบอกว่าหนังของอภิชาติพงศ์เป็นหนังที่เอาใจแต่ฝรั่งโดยไม่สนใจคนไทยจึงเป็นมุมมองที่คลาดเคลื่อนเพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วหนังของเขามีแง่มุมของความเป็นไทยสูงมาก เพียงแต่แง่มุมความเป็น “ไทย” ของอภิชาติพงศ์นั้นต่างจาก “ไทย” ในแบบแผนของข้าราชการหรือในหนังอย่างตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะไทยของอภิชาติพงศ์เน้นไปที่วิถีชาวบ้านและสิ่งที่คนไทยเป็นจริงๆ เช่น พระสามารถเล่นกีตาร์ได้ หมอสามารถกินเหล้าได้ ซึ่งน่าเสียดายที่กองเซนเซอร์ไทยใจแคบและมีความคิดตื้นเขินเกินกว่าจะเห็นความจริงข้อนี้จนทำให้หนังเรื่อง แสงศตวรรษของเขาต้องประสบชะตากรรมอันน่าเศร้าในประเทศไทยมาแล้ว


ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องชาติภพดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายแง่มุมในเรื่องให้ถกเถียง ที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องราวของการเมือง อย่างการให้เรื่องราวเกิดที่อ.นาบัวซึ่งเคยเป็นจุดที่พรรคคอมมิวนิสต์เคยปะทะกับรัฐไทยมาแล้ว การที่ลุงบุญมีบอกว่าเวรกรรมที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้เกิดจากการที่เขาเคยเป็นทหารที่ฆ่าคอมมิวนิสต์มาก่อน ซึ่งพอเวลาผ่านไปอุดมการณ์การเมืองหรือชาติที่รัฐปลูกฝังให้ลุงบุญมีก็ไม่ได้สำคัญไปกว่าเวรกรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในห้วงความคิดของช่วงชีวิตสุดท้ายของลุงบุญมี
ส่วนกลุ่มลิงผีนั้น สามารถสื่อได้ถึงกลุ่มคอมมิวนิสต์ ดังจะเห็นได้จากการที่บุญส่ง ลูกของลุงบุญมีได้หลงใหลจนไปขอเข้าร่วมกลุ่มทำให้สุดท้ายร่างกายของเขาก็เปลี่ยนเป็นลิงผีตามไปด้วย และสุดท้ายกลุ่มลิงผีนี้ก็ถูกลบออกไปจากความทรงจำของสังคม ไม่ต่างกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ถูกทำให้ไม่มีตัวตนในหน้าประวัติศาสตร์สังคมไทย ซึ่งแน่นอนว่ามุมมองดังกล่าวเป็นมุมมองส่วนตัวของผมซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับผู้ชมท่านอื่นก็ได้ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความได้หลากหลายแนวทางอยู่แล้ว





อนึ่ง ใครที่เคยผ่านผลงานของอภิชาติพงศ์มาแล้ว น่าจะสนุกกับการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในหนังเรื่องนี้กับหนังเรื่องก่อนๆ ของเขา อย่างเช่น โต้งที่เพิ่งบวชเป็นพระในหนังเรื่องนี้กับพระโต้งในหนังเรื่องแสงศตวรรษ การเดินทางเข้าป่าเพื่อจุดประสงค์บางอย่างแบบที่ตัวละครในหนังเกือบทุกเรื่องของเขาเคยทำ ตัวละครป้าเจนขากระเผลก ตัวละครลิงผีกับเสือสมิงในหนังเรื่องสัตว์ประหลาด ตัวละครรุ่งในสุดเสน่หาที่โผล่มาในหนังเรื่องนี้ หรือเนื้อหาส่วนของคนต่างชาติชายขอบในประเทศไทย (ในหนังเรื่องนี้คือลาว ในหนังเรื่องสุดเสน่าหาคือพม่า) และองค์ประกอบอื่นๆ ให้เชื่อมโยงอีกมากมาย
นั่นทำให้หนังเรื่องนี้นอกจากเป็นเรื่องราวการระลึกชาติของลุงบุญมีแล้ว ยังถือเป็นเรื่องราวการระลึกชาติของผู้ติดตามหนังของอภิชาติพงศ์ไปด้วยโดยปริยาย เพราะทำให้ผู้ชมอดคิดถึงหนังเรื่องเก่าๆ ของเขาทุกเรื่องไม่ได้ และนั่นทำให้หนังเรื่องนี้มีบางอย่างใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้กำกับหว่องการ์ไวทำในหนังเรื่อง 2046 นั่นคือ เป็นการสรุปสิ่งที่เขาเคยทำในภาพยนตร์เรื่องเก่าๆ ของเขาทั้งหมด ซึ่งพอหลังจาก 2046 หว่องการ์ไวก็ได้ละทิ้งจักรวาลเดิมของเขา (นกไร้ขา, ความเหงาในเมืองใหญ่, ผู้ชายผู้มีความรักต้องห้ามแต่แสดงออกไม่ได้) จึงเป็นที่น่าจับตาว่า อภิชาติพงศ์จะทิ้งจักรวาลเดิมของเขาเพื่อมุ่งหน้าไปสำรวจจักรวาลเรื่องราวใหม่ๆ แบบที่หว่องการ์ไวเคยทำหรือไม่


สุดท้ายที่อยากฝากไว้ให้กับผู้ที่ได้อ่านบทความนี้ทุกท่านก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ (แบบที่ไม่ต้องพึ่งแว่นตา 3 มิติ) ในโรงภาพยนตร์ที่ผู้ที่รักชอบประสบการณ์ใหม่ๆ ควรมีโอกาสได้สัมผัส และเพื่ออรรถรสที่ครบถ้วน ควรต้องดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น! เพราะองค์ประกอบเด่นๆ ในหนังเรื่องนี้ ทั้งเสียง บรรยากาศ หรือภาพจะดูด้อยลงไปทันทีถ้าคุณเลือกที่จะชมผ่านจอโทรทัศน์หรือทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ และแน่นอนว่า คงไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบหนังเรื่องนี้ แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นนักชมภาพยนตร์แนวไหน หนังเรื่องนี้ก็ยังถือเป็นหนังที่ภาพยนตร์ที่ผู้รักภาพยนตร์และผู้ที่เชื่อมั่นในอนาคตของภาพยนตร์ทุกคนควรได้รับชมครับ


หมายเหตุ – ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายวันละรอบ ที่โรงภาพยนตร์ SF เอ็มโพเรียม วันละรอบ เวลา 19.20 น. เสาร์-อาทิตย์เพิ่มรอบ 14.20 น. ฉายถึงวันที่ 4 สค. ควรโทรจองก่อนล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่นั่งเต็ม (คิดไปคิดมาตามประสาคนคิดมาก การที่หนังซึ่งพูดอีสานทั้งเรื่องอย่างหนังเรื่องนี้ ได้เข้าฉายในโรงหนังในห้างเอ็มโพเรียม เป็นเรื่องที่ชวนให้รู้สึก irony ไม่น้อยเลยทีเดียว)







Create Date : 16 กรกฎาคม 2553
Last Update : 17 กรกฎาคม 2553 3:28:40 น. 3 comments
Counter : 5397 Pageviews.

 
เพิ่งได้ดูครับ งงไปเลย


โดย: คนขับช้า วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:43:42 น.  

 
คุ้มค่ากว่าดูหนังตลาดทั่วไป


โดย: หม่อง IP: 203.172.219.2 วันที่: 15 กันยายน 2554 เวลา:13:49:06 น.  

 
สุดยอดมาก ดูแล้ว ที่เดาๆ (ส่วนตัว)ลุงบุญมีแก่น่าจะระลึกอดีตชาติจากจิตใต้สำนึกของแก่เพราะเนื่องจากอาการป่วยขั้นสุดท้าย ชาติแรกแก่น่าจะเป็นเจ้าหญิงนะ เพราะแลดูจะผูกเรื่องมาที่ชาติปัจจุบัน เป็นเจ้าของไร่ ชาติที่สองก็เป็นลุงบุญมี และชาติอนาคตก้เจ้าเขียวควายแก่ ซึ่งมีบุญส่งลูกชาติที่กลายเป็นลิงผีที่ยังค่อยเฝ้าตามแก่เพราะกรรมที่มีแก่กัน ส่วนที่เหลือก็เป็นประเด็นการเมืองเกี่ยวกับพระโต้งที่หนีวัด น่าจะเป็นจิตกังวลที่เกิดอยู่วัดมากกว่าในตอนจบ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ที่ลุงแก่เล่าด้วย วิถีสังคมเมืองกับชนบท อื่นๆ อีก


โดย: นา IP: 122.248.168.231 วันที่: 29 พฤศจิกายน 2555 เวลา:21:59:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.