ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2554
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
2 พฤษภาคม 2554
 
All Blogs
 

Movie Review - Under the Hawthorn Tree สองดาวครึ่ง

บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Starpics ปักษ์หลังพฤศจิกายน 2553
ทางผู้เขียนขอขอบคุณทางกองบก.นิตยสาร ที่เอื้อเฟื้อพื้นที่ให้บทความนี้ มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

Under the Hawthorn Tree สองดาวครึ่ง
Who say we need a revolution?
โดย บดินทร์ เทพรัตน์



ในขณะที่โลกนี้มีผู้กำกับหลายท่านที่ไม่ว่าจะกำกับหนังมากี่เรื่องก็ล้วนแต่มีลักษณะใกล้เคียงกันไปเสียทุกเรื่องจนนักวิจารณ์สาย “auteur” 1 สามารถนำมาเขียนหนังสือวิเคราะห์ได้เป็นเล่มๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้กำกับอย่าง จางอี้โหมว ผู้กำกับชาวจีนชื่อดัง หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม “ผู้กำกับรุ่นที่ 5”2 ที่สร้างความมึนงงให้กับนักวิจารณ์สายนี้พอสมควร ด้วยความที่หนังของเขามีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาที่ผ่านไป ซึ่งไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงแค่ทุนสร้างหรือแนวหนังเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นลึกลงไปข้างในถึงลายเซ็นการทำหนังหรือลักษณะการถ่ายทอดชนิดที่เรียกได้ว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือ จนถ้าเราดูหนังสองเรื่องจากคนละยุคของเขาต่อกัน เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าเป็นผู้กำกับคนเดียวกันก็ได้

โดยเราสามารถแบ่งสไตล์หนังที่ผ่านมาของเขาออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ได้ดังต่อไปนี้ ยุคแรกนั้นอยู่ในช่วงที่เขาทำหนังใหม่ๆ โดยหนังในช่วงนี้ของเขามีโครงสร้างรัดกุม เนื้อเรื่องซับซ้อน การสร้างฉากและการถ่ายภาพมีความประดิดประดอยค่อนข้างสูง และมีลักษณะคล้ายคลึงกับหนังของผู้กำกับรุ่นที่ 5 ท่านอื่นก็คือ มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชะตากรรมของคนตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่า โดยซ่อนสัญลักษณ์ซ่อนอย่างลุ่มลึก ไม่แสดงออกมาตรงๆ เพื่อป้องกันการถูกเซ็นเซอร์จากรัฐบาลจีนที่มีความเป็นเผด็จการอยู่สูง และมักจะแสดงนำโดยอดีตดาราคู่บุญของเขาอย่าง กงลี่ เช่น Ju Dou, Shanghai Triad, To Live หรือ Raise the Red Lantern เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังของเขาในช่วงนี้ส่วนใหญ่มักจะโดนคำสั่งห้ามฉายในประเทศเนื่องจากขัดต่อศีลธรรมอันดีและความมั่นคงต่อประเทศ และเขาจะมีสถานภาพเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลจีนอย่างเต็มรูปแบบ แต่โดยไม่มีใครคาดคิด อยู่ดีๆ เขาก็ได้เปลี่ยนไปทำหนังที่มีลักษณะตรงข้ามกับหนังช่วงก่อนเกือบทุกประการ หนังในยุคที่สองของเขามีลักษณะเรียบง่าย ฟีลกู้ด เนื้อเรื่องเป็นเส้นตรง จัดแสงจัดฉากแบบธรรมชาติไร้ซึ่งการปรุงแต่ง แถมยังโละทิ้งประเด็นการเมืองที่ซ่อนเร้นอยู่ในหนังออกไปเกือบหมด หนังในช่วงนี้ ได้แก่ The Road Home, Happy Times หรือ Not One Less เป็นต้น จากนั้นโดยไม่มีใครคาดคิด (อีกแล้ว) เขาก็ได้ละทิ้งสไตล์เรียบง่าย เปลี่ยนไปทำหนังกำลังภายในในสไตล์ spectacular ทุนสร้างมหาศาล สีสันจัดจ้านและมีตัวประกอบนับแสน อย่าง Hero, House of Flying Daggers และ Curse of the Golden Flower ซึ่งกวาดรายได้ทั้งในและนอกประเทศไปอย่างมหาศาล

จุดเปลี่ยนทางด้านมุมมองเรื่องการทำหนังและทางการเมืองที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของเขาอยู่ในหนังซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างและทำให้เขาได้ทั้ง “ดอกไม้” และก้อนอิฐ นั่นคือหนังเรื่อง Hero ซึ่ง “ดอกไม้” ดังกล่าวมาจากการที่เขาสามารถใช้เทคนิคภาพยนตร์ที่สุดยอดและตื่นตาตื่นใจไปหมดทุกด้าน ทั้งการกำกับ การแสดง บทภาพยนตร์ ถ่ายภาพ เทคนิคพิเศษเพื่อการเล่าเรื่องและผลักดันประเด็นที่ต้องการจะบอกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ “ก้อนอิฐ” ที่เขาได้รับนั้นมาจากประเด็นในหนังเรื่องนี้ที่พูดกันแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อมว่า ขอให้ผู้อยู่ใต้อำนาจรัฐทุกคนพร้อมใจกันสยบยอมต่ออ๋องจิ๋น (ซึ่งต่อมาได้สถาปนาตัวเองเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้) เสียดีๆ ไม่ว่าอ๋องจิ๋นจะโหดเหี้ยมอำมหิตหรือบ้าอำนาจขนาดไหน เพื่อให้ประชาชนไม่เกิดความแตกแยกและบ้านเมืองมีความสงบสุข (ซึ่งเป็นเหตุผลคลาสสิคที่รัฐบาลจีนหรือรัฐบาลทหารพม่าใช้บ่อยมาก ช่วงหลังๆ รู้สึกว่าประเทศในแถบใกล้เคียงก็หยิบยืมไปใช้บ่อยๆ) ซึ่งถ้าเป็นผู้กำกับท่านอื่นเล่าประเด็นแบบนี้ในหนังอาจฟังดูเฉยๆ แต่การที่ประเด็นเหล่านี้ออกมาจากหนังของจางอี้โหมวซึ่งในอดีตเคยทำหนังด่าเผด็จการและยืนยันสิทธิ์การต่อสู้ของคนตัวเล็กๆ มาตลอดทั้งชีวิต จึงมีผู้ชมหลายท่านตีความไปว่า เขาได้ย้ายข้างจากฝั่งประชาชนผู้ถูกเอาเปรียบไปอยู่ข้างเดียวกับฝั่งผู้ปกครองแล้ว และสิ่งที่ยิ่งตอกย้ำการตีความนั้นดูเป็นจริงมากขึ้น ก็คือการที่หนังของเขาในช่วงหลังแทบไม่มีประเด็นที่เอาไปกระทบกระเทียบรัฐบาลจีนเลย บวกกับในช่วงหลังที่ปัญหาความระหองระแหงระหว่างรัฐบาลจีนกับเขาหายเป็นปลิดทิ้งยืนยันได้จากการที่เขาได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลจีนให้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับพิธีเปิด-ปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2008 จนถึงในตอนนี้ก็คงไม่มีใครหวังว่า เขาจะกลับไปทำหนังท้าทายอำนาจรัฐอีกแล้ว ดังจะยืนยันได้จากหนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Under the Hawthorn Tree ที่มีฉากหลังเป็นยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution, 1966-1976)ซึ่งเป็นช่วงท้ายที่เหมาเจ๋อตุงปกครองประเทศ ซึ่งเกิดเหตุการณ์การทำลายศิลปวัฒนธรรมจีนเก่าๆ ทั้งหนังสือ รูปปั้น ภาพวาด วัดวาอาราม พิพิธภัณฑ์และงานศิลปะที่สื่อถึงการแบ่งชนชั้น และมีการส่งเยาวชนไปเรียนรู้ชีวิตการทำงานในชนบท ซึ่งในชีวิตจริงนั้นตัวจางอี้โหมวเองก็เคยถูกส่งไปชนบทเหมือนกับตัวละครเอกในหนังเรื่องเช่นกัน ซึ่งเขาเคยถ่ายทอดเหตุการณ์นี้ไว้ในหนังเรื่อง “To Live” ไว้อย่างเข้มข้นจนเคยถูกคำสั่งห้ามฉายมาแล้ว แต่มาคราวนี้ใครที่คาดหวังจะได้เห็นแบบหนังการเมืองแบบเข้มข้นเหมือนในยุคก่อนของเขาเตรียมตัวผิดหวังได้เลยเพราะมาคราวนี้ จางอี้โหมวได้โยนแง่มุมวิพากษ์การเมืองทิ้งไปเกือบหมดเหลือเพียงแค่กลิ่นจางๆ พอให้สัมผัสได้ แล้วเปลี่ยนไปมุ่งเน้นประเด็นเรื่องความรักบริสุทธิ์ (Platonic Love) ท่ามกลางอุปสรรคกีดขวางต่างๆ นานา แบบที่เราเคยเห็นใน The Road Home มากกว่า พูดง่ายๆ คือ แทนที่เราจะได้เห็นหนังหนังรักผสมการเมืองแบบเข้มข้นอย่าง Summer Palace หรือ Lust, Caution เรากลับได้เห็นหนังแนว The Road Home ภาคที่เปลี่ยนจาก “ชามแตก” เป็น “ต้นไม้” หรือหนังในสไตล์ “รักใสๆ หัวใจเรดการ์ดแทน

เหตุการณ์ในเรื่องเกิดเมื่อปี 1975 เมื่อจิง (โจวตงหยู่) นักเรียนมัธยมในเมืองถูกส่งไปเรียนรู้ชีวิตชนบทที่หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อซิปิง โดยเธอได้อาศัยอยู่กับหัวหน้าหมู่บ้านอย่างคุณจาง ซึ่งในบ้านหลังนี้เอง เธอได้พบกับกับซัน (โต้วเสี่ยว) ชายหนุ่มที่ถูกส่งมาที่นี่เพื่อทำงานด้านธรณีวิทยา ทั้งคู่ตกหลุมรักกันอย่างรวดเร็ว ความรักของทั้งคู่ดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ทั้งคู่กลับเข้ามาอยู่ในเมือง โดยความรักของทั้งคู่เต็มไปด้วยอุปสรรคและถูกชะตากรรมทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากทั้งคู่มาจากครอบครัวที่มีสถานะแตกต่างกัน ซันนั้นเป็นบุตรชายของสมาชิกระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีฐานะร่ำรวย ส่วนครอบครัวของจิงนั้นมีฐานะยากจน เธอมีพ่อเป็นนักโทษการเมืองทำให้ครอบครัวของเธอถูกขึ้นบัญชีดำและถูกจับตามองโดยภาครัฐตลอดเวลา ซึ่งการที่เธอจะหลุดพ้นสภาพนี้ได้นั้น เธอจะต้องสอบบรรจุครูให้ได้และมีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่งซึ่งถ้ามีอะไรผิดพลาดเพียงนิดเดียวอาจส่งผลเสียต่ออนาคตของเธอทั้งชีวิตได้ นั่นทำให้เธอได้รับแรงกดดันจากครอบครัวว่า ห้ามมีความรักเด็ดขาด

สิ่งที่บทบาทในเรื่องนี้อย่างมาก คือ ต้น Hawthorn ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านซิปิง ต้นไม้ต้นนี้ได้รับสมญานามว่าเป็น “ต้นไม้วีรบุรุษ” เนื่องจากอยู่ในบริเวณที่กลุ่มทหารจีนผู้กล้าหาญถูกทหารญี่ปุ่นทรมานและฆ่าตายจนเลือดนองไปทั่วและเลือดนั้นก็กลายมาเป็นอาหารให้ต้นไม้ต้นนี้ได้เติบโต จนเกิดเป็นตำนานว่า ดอกไม้ที่นี่มีสีแดง แทนที่จะมีสีขาวเหมือนต้นอื่น การที่จิงต้องศึกษาต้นไม้ต้นนี้เพื่อเขียนรายงานส่งอาจารย์ทำให้เธอและซันตกลงกันว่าจะกลับมาดูต้นไม้ต้นนี้ด้วยกันอีกครั้งในช่วงที่ออกดอกเพื่อดูว่า เป็นสีแดงจริงหรือไม่ ซึ่งหากจะให้วิเคราะห์แล้ว ต้นไม้ต้นนี้มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ในสองระดับ นั่นคือ เป็นเครื่องมือที่ใช้ Propaganda เพื่อปลุกใจคนในหมู่บ้านให้เกิดความฮึกเหิมในชาติตัวเองและมองญี่ปุ่นเป็นศัตรูร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของคู่รักตัวเอกในเรื่อง แต่น่าเศร้าที่สุดท้ายแล้ว หลายครั้งที่เบื้องหลังของสัญลักษณ์นั้นเป็นเพียงแค่ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างเพื่อค้ำยันระบบของตัวเองเท่านั้นเอง และสุดท้ายแล้วต้นไม้แห่งวีรบุรุษต้นนี้ก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งความรักของคนสองคน, หมู่บ้านที่ตัวเองอาศัยอยู่หรือแม้กระทั่งระบบคอมมิวนิสต์เข้มข้นของเหมาเจ๋อตุงได้



หนังเรื่องนี้สร้างมาจากนิยายทางอินเตอร์เน็ทของ “Aimi” เมื่อปี พ.ศ.2550 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง และได้รับคำชื่นชมในด้านของการให้ภาพของความรักบริสุทธิ์ได้อย่างลึกซึ้งและเห็นภาพ ซึ่งตัวหนังก็ได้หยิบยืมจุดเด่นของนิยายเล่มนี้มา นั่นคือ มีลักษณะ nostalgia หรือรำลึกถึงอดีตที่สดใส และคืนวันที่คนยังมองความรักเป็นเรื่องบริสุทธิ์ (Platonic Love) นั่นคือ ไม่มีความใคร่ ผลประโยชน์ อุดมการณ์หรือแนวคิด postmodern อื่นๆ ที่จะมาแปดเปื้อนให้ความรักนั้นมัวหมองลงซึ่งจางอี้โหมวก็ได้เลือกวิธีการเล่าเรื่องที่เหมาะสมกับหนังจริงๆ นั่นคือ ไปอย่างช้าๆ เรียบง่าย จริงใจ ไม่มีอะไรซับซ้อนจนต้องตีความหลายชั้น (อาจเป็นเพราะบทประพันธ์เดิมก็เรียบง่ายสุดๆ จนยากที่จะเพิ่มความซับซ้อนอยู่แล้ว) จริงใจ ไม่มีเทคนิคหวือหวา ไม่มีแสงสีเสียงอลังการในแบบที่เรามักจะเห็นในงานของเขา โดยหนังผลักดันระดับความเชยไปถึงขั้นขึ้นตัวหนังสือจากนิยายบนฉากดำเพื่ออธิบายความในใจของตัวละครแบบทื่อๆ อย่างจงใจทั้งที่ตัวหนังสือทั้งหมดนั้นสามารถใช้ภาษาภาพเล่าแทนได้ นั่นทำให้หนังเรื่องนี้มี “ความเรียบง่าย” แตกต่างจากหนังอื่นๆ ในยุคสมัยนี้ที่ไม่มีหนังเรื่องไหนจะทำตัวเรียบง่ายอีกแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจางอี้โหมวจะอดปล่อยของ เพราะเขายังคงแสดงฝีมือในการเล่าเรื่องและการพัฒนาอารมณ์ผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถึงแม้การถ่ายภาพในหนังเรื่องนี้จะมีการใช้แสงจากธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ภาพในหนังก็สวยจนแทบหยุดหายใจ เรียกได้ว่าไม่เสียชื่อผู้กำกับตาทิพย์อย่างจางอี้โหมวเลย

แม้ว่าเนื้อเรื่องจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของคนสองตัว แต่ต้องขอบอกว่า หนังเรื่องนี้แทบจะถูกยึดครองโดยตัวนางเอกแต่เพียงคนเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับจางอี้โหมวที่ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็มักจะเล่าเรื่องผ่านสายตาของผู้หญิงอยู่บ่อยๆ นับตั้งแต่ Ju Dou จนถึง The Road Home และยิ่งหนักข้อขึ้นสำหรับเรื่องนี้เพราะตัวละครฝ่ายชายมีบทบาทเป็นแค่ male interest ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นชายในอุดมคติทุกอย่างแต่แทบไม่มีพัฒนาการทางตัวละครเลย ตรงกันข้ามกับฝ่ายหญิงที่หนังแสดงให้เห็นแง่มุมของตัวละครตัวนี้อย่างละเอียด เธอเป็นหญิงสาวที่บูชาในความรักแต่กลับถูกสังคมรอบตัวกระทำจนทำให้รักนั้นพบแต่อุปสรรคมากมาย ซึ่งโจวตงหยู่ที่ถูกคัดเลือกมาจากผู้สมัครราว 5000 คนและเล่นหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก สามารถแสดงบทนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม ถึงแม้หน้าตาจะไม่สวย แถมยังผอมแกร็นไม่ชวนมองเท่านางเอกคนก่อนๆ ของจางอี้โหมว แต่ก็เหมาะกับบทบาทของนางเอกที่มีความใสซื่อบริสุทธิ์ถึงขีดสุด งานนี้ต้องบอกว่า จางอี้โหมวยังคงมีสายตาแหลมคมสำหรับเพศหญิงเสมอ




อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า จุดเด่นที่เห็นได้ชัดของหนังเรื่องนี้คือ ความเป็น nostalgia หรือถวิลหาอดีต (ซึ่งเป็นเหมือนหนังที่ช่วยให้คนดูหลบหนีจากโลกปัจจุบันได้) เป็น innocent age ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีทุนนิยม มีเพียงอุดมการณ์ของรัฐเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นโลกที่ใครคนนึงจะเชื่อสุดหัวใจว่าสามารถรอคนรักได้ตลอดชีวิตหรือไม่ยอมล่วงเกินหญิงสาวแม้ว่าโอกาสจะเปิด แถมจางอี้โหมวยังใส่ความ cliché เป็นขบวนลงไปในหนังอย่างจงใจ ด้วยการบอกใบ้ว่าตัวละครตัวหนึ่งเป็นโรคร้ายตั้งแต่ต้นเรื่อง บวกกับประเด็นรักต่างสถานะ การถูกกีดกันจากครอบครัว และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อขับเน้นความเชยให้ถึงขีดสุด ซึ่งหลายคนก็ชอบเพราะได้เห็นความเป็น cliché ในหนังเมโลดราม่าที่เคยถูกดูถูกในเชิงศิลปะอยู่บ่อยๆ ถูกปรุงใหม่โดยผกก.ฝีมือเยี่ยมคนหนึ่งของโลก แต่ในอีกมุมหนึ่ง หลายคนก็แอบเสียดายเพราะว่าหนังแนว cliché melodrama แบบนี้หาคนทำง่าย มีคนทำกันล้นตลาดแล้ว แต่จะหาคนทำหนังในสไตล์จางอี้โหมวแล้วออกมายอดเยี่ยมในปัจจุบันนี่ถือเป็นภารกิจที่ยากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก

แต่ถึงกระนั้น ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะปลอดการเมืองเลย ดังจะเห็นได้ว่าชีวิตของทั้งคู่ล้วนแต่แปรผันเพราะการเมือง พ่อแม่ของทั้งคู่ตกเป็นเหยื่อระบอบคอมมิวนิสต์แบบสุดกู่ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของลูกหลานตามไปด้วย หนังแสดงให้เห็นถึงลักษณะการเมืองภายใต้ระบบของเหมาเจ๋อตุงของจีนในยุคนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรหรือตัดสินใจอะไรก็ต้องอ้างถึงเหมาเจ๋อตุงตลอด อีกทั้งตัวละครที่เย็นชาต่อกัน พูดจากันเหมือนคนไร้อารมณ์ และปฏิบัติกันเหมือนไม่รู้จักคำว่าน้ำใจ ดังจะเห็นได้จากตัวละครนางพยาบาลหรือแม่ของนางเอก เป็นต้น เพียงแต่หนังถ่ายทอดบรรยากาศในตอนนั้นแบบผ่านๆ เหมือนไม่ตัดสินถูกผิดหรือทำให้คนดูเกิดความรู้สึกดราม่าเท่ากับหนังที่อาศัยฉากหลังในช่วงเดียวกัน อย่างเช่น Farewell My Concubine ของเฉินข่ายเก๋อ เป็นต้น

ซึ่งทำให้หนังของเขาเรื่องนี้ เหมือนจะสื่อประเด็นว่า การพูดถึงเรื่องปฏิวัติในประเทศจีนยุค พศ. นี้กลายเป็นเรื่องเชยเพราะช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติได้จบลงแล้ว พวกเราควรเปลี่ยนมาสนใจเรื่องความรักใสๆ แทนดีกว่า ด้วยความเพ้อเจ้อส่วนตัว ทำให้ผมอดคิดเทียบ “ผู้กำกับจีนรุ่นที่ 5” กับ “คนเดือนตุลา” ของไทยไม่ได้ว่า พวกเขาเป็นกลุ่มที่เคยเปลี่ยนแปลงสังคมในอดีต แล้วคนรุ่นปัจจุบันมองพวกเขาเป็นบุคคลแห่งอุดมการณ์ในอุดมคติและคาดหวังว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคปัจจุบันอีกครั้งและจัดการยกพวกเขาไว้บนหึ้ง หนังเรื่องนี้จึงเหมือนเป็นจดหมายจากกลุ่มคนบนหิ้งถึงผู้ชมที่คาดหวังจากตัวเขาว่า พวกเขาเลิกที่จะปฏิวัติและหันมาใช้ชีวิตแบบสงบสุข ไม่ต่างจากที่คนเดือนตุลาหลายคนปล่อยวาง เลิกสนใจการเรียกร้องของประชาชน หันไปหาธรรมะ คล้ายจะคนในยุคปัจจุบันว่า “ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงสังคม อย่าฝากความหวังไว้ที่คนอื่น แต่ให้ทำเอง”

Under the Hawthorn Tree (Shan zha shu zhi lian) กำกับ - จางอี้โหมว อำนวยการสร้าง - จางเหว่ยปิง บทภาพยนตร์ – กู้เสี่ยวไป่ (จากนิยายของ Aimi) ถ่ายภาพ – จ้าวเสี่ยวติง กำกับศิลป์ – หวู่หมิง ดนตรีประกอบ – เฉินควี่กัง ความยาว 112 นาที

1-สำนักคิดที่เชื่อว่า ตัวหนังที่ออกมานั้นมาจากความคิดของผู้กำกับ “ล้วนๆ” ทางนักคิดสำนักนี้จึงพยายามศึกษาลักษณะพิเศษของหนังแต่ละเรื่องและนำมาเชื่อมโยงกับความคิดและภูมิหลังของผู้กำกับหรือลักษณะสังคมที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดของผู้กำกับคนนั้น

2- “ผู้กำกับรุ่นที่5” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงยุค 80-90 ซึ่งในยุคนั้นประเทศจีนเริ่มผ่อนคลายการควบคุมความคิดทางการเมืองของประชากร และเปิดโอกาสให้ศิลปินมีอิสระในการทำงานมากขึ้น ผู้กำกับในกลุ่มนี้ ได้แก่ จางอี้โหมว, เฉินข่ายเก้อ, เถียนจ้วงจ้วง เป็นต้น โดยหนังของพวกเขาพวกเขามีลักษณะร่วมกันคือ เล่าเรื่องของคนตัวเล็กๆ ที่ขัดแย้งกับอำนาจรัฐ มีเนื้อหาสะท้อนสังคมแฝงการเมืองเข้มข้น วิพากษ์อำนาจรัฐผ่านสัญลักษณ์ที่มิดชิด มีความลุ่มลึกในประเด็นและมีศิลปะในการถ่ายทอดสูง




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2554
6 comments
Last Update : 2 พฤษภาคม 2554 4:27:29 น.
Counter : 7789 Pageviews.

 

ทักทายยามไกล้เที่ยงจ่ะ อิอิ

 

โดย: ตะวันเจ้าเอย 2 พฤษภาคม 2554 11:53:23 น.  

 

คนมักหลงจงให้รัก

 

โดย: ดาว7 IP: 223.205.77.4 7 ตุลาคม 2556 13:58:09 น.  

 

คนมักหลงจงให้รัก

 

โดย: ดาว7 IP: 223.205.77.4 7 ตุลาคม 2556 13:58:32 น.  

 

คนมักหลงจงให้รัก

 

โดย: ดาว7 IP: 223.205.77.4 7 ตุลาคม 2556 13:58:54 น.  

 

คนมักหลงจงให้รัก

 

โดย: ดาว7 IP: 223.205.77.4 7 ตุลาคม 2556 13:59:01 น.  

 

คนมักหลงจงให้รัก

 

โดย: ดาว7 IP: 223.205.77.4 7 ตุลาคม 2556 13:59:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.