ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
24 ธันวาคม 2553
 
All Blogs
 

movie review - "สะบายดี 2 ไม่มีคำตอบจาก..ปากเซ: ชุมชน (ลาว) ในจินตกรรม?" 

movie review -
"สะบายดี 2 ไม่มีคำตอบจาก..ปากเซ: ชุมชน (ลาว) ในจินตกรรม?" 
สองดาวครึ่ง

โดย ฟ้าดิน





บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ดูหนังในหนังสือนิตยสาร Starpics ฉบับปักษ์หลัง กันยายน 2553 ผู้เขียนขอขอบคุณกองบก.นิตยสารสตาร์พิคส์ สำหรับการเอื้อเฟื้อพื้นที่สำหรับบทความนี้ด้วยครับ


แม้จะไม่ได้เป็นหนังที่ได้รับการยกย่องระดับรางวัลหรือทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ “สะบายดีหลวงพะบาง” ก็ถือว่าเป็นหนังที่ได้รับการกล่าวขวัญพอสมควรในฐานะที่เป็นหนังเรื่องแรกของประเทศลาวในรอบ 35 ปี อีกทั้งเนื้อหาของหนังที่น่ารักเรียบง่ายดูสบายในแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก (จนเสียงวิจารณ์แตกเป็นสองฝั่ง ฝั่งที่ชื่นชอบอาจจะมองว่าหนัง ดู minimal และจริงใจในการนำเสนอดี ส่วนอีกฝั่งมองว่า หนังช่างดูเบาหวิวเหลือทน) ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกกล่าวขวัญถึงโดยทั่วไปและประสบความสำเร็จทางรายได้ไปพอสมควร จนทำให้มีการสร้างภาคต่อของหนังเรื่องนี้สองภาครวดในเวลาต่อมา ซึ่งภาคสองนั่นคือ “สะบายดี2: ไม่มีคำตอบจาก..ปากเซ” ที่บทความนี้กำลังจะกล่าวถึง ส่วนภาค3 หรือในชื่อไม่เป็นทางการว่า “สบายดีงานดอง” มีกำหนดจะเข้าฉายในเร็ววันนี้

มาถึงภาคนี้ หนังได้เปลี่ยนเรื่องราวจากภาคแรก ที่เป็นเรื่องราวความรักระหว่างช่างภาพ (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) ซึ่งเดินทางมาเพื่อทำงานและค้นหารากบรรพบุรุษของตัวเองที่ประเทศลาว กับสอนไพรวัลย์ (คำลี่ พิลาวง) ไกด์สาวที่คอยช่วยเหลือเขา มาเป็นเรื่องราวของ ปอ (เร แม็คโดนัลด์) ผู้กำกับหนังตกอับ ที่ถูกว่าจ้างให้มาถ่ายทำวีดิโอและถ่ายภาพงานแต่งงานที่ประเทศลาว จากที่เคยทำงานแบบซังกะตายและรอวันที่จะได้กลับเมืองไทย ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปเมื่อได้พบกับสอนไพรวัลย์ (คำลี่ พิลาวง – นักแสดงคนเดิมจากภาคก่อน) สาวลาวหน้าตาดีผู้เป็นเพื่อนสนิทกับเจ้าสาว เธอทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ กล้าที่จะทำตามความฝันต่อไปแม้ว่าเธอจะไม่มีใจให้เขาแถมทำท่ารังเกียจเดียดฉันท์ด้วยซ้ำ
แม้หนังภาคนี้จะมีดีในตัวไม่น้อย แต่น่าเสียดายที่พอหนังลงโรงฉาย กลับได้รับเสียงตอบรับจากคนดูแตกต่างจากภาคแรกอย่างสิ้นเชิง เสียงส่วนใหญ่ออกมาในเชิงผิดหวังที่หนังออกมาไม่น่ารัก ไม่ฟีลกู้ดเหมือนเดิม วิวก็ไม่สวย นางเอกทำหน้าบึ้งตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งถ้าหากจะว่ากันจริงๆ แล้ว อาจไม่ได้เกิดจากคุณภาพของหนังที่ด้อยลงก็ได้ แต่เกิดจากผู้กำกับศักดิ์ชายได้หักเลี้ยวหนังเรื่องนี้จากหนังโรแมนติคคอมเมดี้ในภาคแรกไปเป็นหนังส่วนตัวว่าด้วยอัตชีวประวัติของตัวเอง ซึ่งเต็มไปด้วยโทนหม่นหมองและเย้ยหยัน (แม้หนังจะพยายามใส่ความตลกลงไปในเรื่องมากแค่ไหนก็ตาม) ในแบบที่เฟอเดริโก้ เฟลลินี่เคยทำกับ 8 ½ หรือที่พิง ลำพระเพลิงทำกับฝันโคตรโคตรมาแล้วพูดง่ายๆ คือ ศักดิ์ชายได้เปลี่ยนมุมมองจากมุมมองสาธารณ์ในภาคแรกมาเป็นมุมมองส่วนตัวในภาคนี้นั่นเอง



หากจะเทียบกันแล้ว สะบายดี2 ก็คือ ฝันโคตรโคตรภาคที่ทะเยอทะยานน้อยกว่า ดูเป็นจริงกว่า และหลงตัวเองน้อยกว่านั่นเอง เนื่องจากศักดิ์ชายยังเชื่อมโยงตัวเองกับหนังไม่มากเท่าที่พิงทำกับหนังของเขาดังจะเห็นได้จากการใส่ gimmick เกี่ยวกับชีวิตตัวเองมาแบบไม่ยั้งมือจนคนดูไม่สามารถสลัดความคิดออกจากหัวได้เลยว่า นี่คือชีวิตพิง ต่างจากหนังเรื่องนี้ที่ศักดิ์ชายใส่องค์ประกอบชีวิตตัวเองได้อย่างเบามือกว่า จนทำให้คนที่ไม่รู้จักศักดิ์ชายอาจจะมองหนังเรื่องนี้โดดๆ เป็นหนังธรรมดาว่าด้วยผู้กำกับโนเนมคนนึงก็ได้ ผลก็คือ แม้โครงสร้างและการเล่าเรื่องของฝันโคตรโคตรจะอลังการมากกว่าแต่หนังเรื่องนี้ทำให้คนดูรู้สึกเป็นมิตรด้วยมากกว่า (แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าหนังเรื่องนี้จะดีกว่าฝันโคตรโคตร เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมกลับชอบฝันโคตรโคตรมากกว่าด้วยซ้ำ)
ส่วนใหญ่ ตามหลักของการทำหนังภาคต่อแล้ว ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องหรือนักแสดงบางส่วน แต่ผู้สร้างหนังก็มักจะรักษาเรื่องราว-คอนเซปต์-โทนจากหนังภาคแรกให้คงอยู่ในหนังภาคต่อ ดังจะเห็นได้จากหนังอย่าง บางระจัน 2 หรือ 5 แพร่งเป็นต้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้หนังสะบายดี 2 จะมีหลายฉากที่สามารถโยงกลับไปหาสะบายดีหลวงพระบางได้ แต่ศักดิ์ชาย ได้ทำในสิ่งที่น้อยคนคิดจะทำ นั่นคือ เขากล้าที่จะล้มล้างมายาคติและเสน่ห์ในสบายดีหลวงพระบางภาคแรก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ชมหลงรักลงไปเกือบหมดสิ้นในหนังภาคนี้!
หากเราย้อนกลับไปพิจารณาสะบายดีหลวงพะบางภาคแรกอีกครั้ง เราจะพบว่านี่คือหนังที่ทำตัวพร้อมจะให้คนดูรักเต็มที่อยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้จากการที่หนังป้อนสิ่งที่คนดูอยากเห็น (หรือคิดว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้น) ทุกอย่าง พูดง่ายๆ คือ ภาพของประเทศลาวในสะบายดีหลวงพะบางไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริง 100% แต่มันคือ “ชุมชนจินตกรรม”ของผู้กำกับนั่นเอง นั่นคือ ลาวที่ freeze ตัวเองอยู่แต่ในอดีตไม่ไหลไปกับกระแสความเจริญ วิวสวย บ้านเมืองมีแต่ความสงบสุข ผู้คนจิตใจดี จะเห็นได้ชัดจากคาแรคเตอร์สอนไพรวัลย์ นางเอกในภาคแรกที่เต็มไปด้วยความเป็น Prototype ของกุลสตรีในอุดมคติของรัฐ (ทั้งลาวและไทย) เธอรักในศักดิ์ศรีเพศหญิง จิตใจดี รักนวลสงวนตัว ไม่กล้าบอกรักใครก่อนและไม่แสดงความรู้สึกในใจให้ใครรู้ง่ายๆ จนหนังต้องโยนหน้าที่การบอกรักและแสดงความรู้สึกไปให้ตัวแม่และน้องสาวแทน (สามารถอ่านประเด็นนี้เพิ่มเติมได้จากบทความ “อำนาจและความรักใน สบายดีหลวงพะบาง” ของเสนาะ เจริญพร ในวารสาร “อ่าน” ปีที่ 1 เล่มที่ 3) ในหนังมีแต่ภาพความสวยงาม ในรูปแบบเหมือนกับโบรชัวร์ที่ททท.ทำกับประเทศไทยเพื่อขายคนต่างชาติ ไม่ใช่รูปแบบที่หนังสือ Very Thai (หนังสือที่แสดงให้เห็นถึง Street culture ของไทย) ทำกับประเทศไทย ในหนังไม่มีภาพที่เห็นถึงด้านมืด หรือด้านที่ไม่สะอาดสวยงาม ไม่มีปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาทางเพศ ไม่มีปัญหาคนฉ้อโกงเอาเปรียบ ไม่มีภาพคนจนหรือถูกเอาเปรียบจากสังคม ด้านมืดอันเดียวที่เห็นจากหนังเรื่องนี้ ตัวละครเด็ฏขายของในเรื่องซึ่งถูกนำเสนอในเชิงขำขันและเปลี่ยนมาเป็นคนดีในตอนท้ายที่สุด

ซึ่งสิ่งที่อยู่ในภาค 1 นั้น แตกต่างจากสะบายดี 2 แบบพลิกฝ่ามือ ดังที่กล่าวไว้แล้วคือ หนังได้เปลี่ยนมุมมองการเล่าจากมุมมองรสนิยมสาธารณ์มาเป็นมุมมองส่วนตัว หนังละทิ้งการเอาใจคนดูอย่างมาก ในหนังไม่มีภาพวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เนื้อเรื่องไม่ได้สดใสให้ความหวัง พระเอกไม่ได้เป็นสุภาพบุรุษหรือนิสัยดี ออกจะน่ารำคาญด้วยซ้ำ นางเอกหน้าบึ้งและแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์พระเอกทั้งเรื่อง จนทำให้ผู้ชมที่คาดหวังว่าจะได้ดูหนังรักผิดหวังไปตามๆกัน เพราะดูจากปฏิกิริยาระหว่างพระเอก-นางเอกแล้ว ที่จริงน่าจะเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น หนังเกลียดกันเสียมากกว่า ซึ่งความจริงแล้ว หนังจะทำให้นางเอกน่ารักกว่านี้ วิวสวยกว่านี้ หนังมีความสดใสมากกว่านี้หรือเอาใจคนคนดูกว่านี้ก็ได้แต่ศักดิ์ชายเลือกที่จะไม่ทำอย่างนั้น อีกทั้งยังเอามุขโดนๆ หรือฉากโรแมนติกในความทรงจำของผู้ชมจากภาคแรกมาตีแผ่ให้เห็นว่า มันเป็นเพียงความเพ้อเจ้อหรือสิ่งที่พระเอกคิดไปเองในโลกแห่งความเป็นจริงแค่นั้นเอง พูดง่ายๆ คือ หนังภาค 2 คือ การทำลาย fantasy ของปอ (ซึ่งก็คือตัวศักดิ์ชายเอง) เพื่อแสดงให้เห็นคนดูเห็นว่า ที่จริงแล้วสิ่งที่ทำให้คนดูหลงรักในภาคแรก (และคาดหวังว่าจะเห็นในภาค 2 นี้) เป็นเพียงแค่ฝันเฟื่องของตัวปอซึ่งเป็นผู้กำกับเท่านั้นเอง!

หนังละทิ้งการเอาใจผู้ชมถึงขีดสุดในฉากที่นางเอกพูดตำหนิปอบนเรือในฉากตอนท้ายของเรื่องจนพระเอกตัดสินใจกระโดดลงเรือ (แถมเรือยังไปแล้วไปเลยไม่มีการกลับมารับเสียอีก) ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ความรักจากนางเอกคือ การคิดไปเองทั้งหมดของพระเอกแล้ว ยังเป็นการตบหน้าทั้งปอ, คนดูที่เอาใจช่วยปอ และคนที่มีทัศนคติแบบปอไปด้วย



หากจะให้ขยายความถึงทัศนคติของปอ คงต้องบอกว่า ปอมีลักษณะ Narcissus ชาติตัวเองเหมือนกับคนในประเทศที่ถูกปลูกฝังเรื่องชาตินิยมเป็น (Narcissus แปลว่าหลงรูปตัวเอง) ปอมองว่า เขามีเสน่ห์ มีความเท่ หน้าตาดี เหนือกว่าหนุ่มชาติลาว มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะให้สาวลาวอย่างสอนไพรวัลย์มาชอบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มายาคติทั้งหมดนั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาทั้งนั้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างปอ-สอนไพรวัลย์นี้เราสามารถนำมาเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้เหมือนกัน นั่นคือ ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า ประเทศไทยมีความ narcissus ในชาติตัวเองไม่ต่างจากตัวละครปอ อธิบายง่ายๆ คือ มองตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาล มองประเทศอื่นอื่นด้วยมุมมองว่า เราดีกว่าเขา เราเหนือกว่าเขา ผลก็คือนอกจากจะถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงเราไปโดยไม่รู้ตัวในหลายๆ เรื่องแล้ว ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นหลายอย่าง คิดไปก็น่าขำปนเศร้าที่ในขณะนี้ หลายประเทศในยุโรปได้สลายความเป็นชาตินิยม เพราะประเทศเหล่านี้ได้รับบทเรียนจากกรณีนาซีแล้วว่า ชาตินิยมสุดขั้วล้วนแต่นำมาซึ่งความขัดแย้งและสงครามอันไม่รู้จบ ต่างจากประเทศไทยที่ยังหมกมุ่นอยู่กับสงครามไทย-พม่าอยู่ (ทั้งๆ ที่ตอนที่เกิดเรื่องนั้น สิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ชาติยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ) ซึ่งการปลูกฝังชาตินิยมแบบเกินเลยนั้นมักจะมีเหตุผลหลักคือ ใช้เป็นรากฐานอำนาจให้ผู้ปกครองได้ครองอำนาจต่อไปนานๆ นั่นเอง

อีกประเด็นที่หนังแสดงให้เราเห็น แม้จะเป็นในรูปแบบมุขตลกไม่มีการเน้นย้ำสักเท่าไร นั่นคือ ความเศร้าของคนทำหนังไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นายทุน และทีมงานคนอื่นๆ ที่ต้องพบเจอปัญหามากมาย ทั้งการวัดความสำเร็จเป็นตัวเลขจนทำให้คนที่เคยถูกมองเป็น God เวลาหนังประสบความสำเร็จอาจเปลี่ยนเป็น Dog ได้ทันทีเวลาที่หนังล้มเหลว อีกทั้งเรื่องความยากลำบากในการผลักดันความฝันและได้ทำหนังที่อยากทำจริงๆ บวกกับปัญหาอื่นๆ มากมาย จนอุปสรรคเหล่านี้สามารถดับฝันของผู้สร้างหนังให้แหลกสลายลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็จำต้องยอมแพ้แก่ระบบ สุดท้าย ด้วยแรงบันดาลใจทำให้ปอเลือกที่จะผลักดันความฝันของเขาต่อไป แต่น่าเศร้าที่แม้หนังที่ปอสร้างจากแรงบันดาลใจที่ลาวจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะสบายในเมื่อระบบยังคงเป็นอย่างเดิม จนสุดท้ายเขาเลือกที่จะหนีความวุ่นวายไปอยู่ที่ต่างประเทศในท้ายที่สุด
บางที สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดของหนัง อาจไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างปอกับสอนไพรวัลย์ เพราะอย่างน้อยพวกเขาทั้งสองคนก็ยังได้เป็นเพื่อนกันและมีความรู้สึกดีๆ ให้กันในตอนหลัง แต่คือวงการหนังไทยที่เริ่มเข้าสู่ภาวะตีบตันทางความคิดสร้างสรรค์ และสภาพคนทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข พอมองไปทางรัฐก็ได้แต่ถอนหายใจเบาๆ เพราะอย่างน้อยพูดกับนายทุน นายทุนยังพอเข้าใจศิลปะบ้าง แต่พอจะขอทุนจากรัฐ ต้องมาเสียเวลาสร้างภาพว่าหนังฉันรักชาติยังงั้น เสริมสร้างวัฒนธรรมอย่างนั้น ช่วยลดโลกร้อนอย่างนี้

ส่วนทางออกสำหรับปัญหาเหล่านี้ ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ เพราะใช่แต่ปากเซเท่านั้นที่ไม่มีคำตอบ
เพราะเรื่องงูกินหางแบบนี้จะหาคำตอบที่ซอกมุมไหนก็คงไม่เจอ

สะบายดี 2: ไม่มีคำตอบจาก..ปากเซ กำกับ-ควบคุมงานสร้าง-เขียนบท ศักดิ์ชาย ดีนาน ออกแบบเครื่องแต่งกาย พริสร สุทธิสาส์น ออกแบบงานสร้าง ศิริพล ปราสาททอง ลำดับภาพ สุรศักดิ์ ปานกลิ่น กำกับภาพ สิทธิพงษ์ กองทอง ดนตรีประกอบ แสดง เร แมคโดนัลด์, คำลี่ พิลาวง เรต น 13+




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2553
1 comments
Last Update : 24 ธันวาคม 2553 4:41:29 น.
Counter : 6033 Pageviews.

 



 

โดย: กะว่าก๋า 1 มกราคม 2554 5:09:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.