Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
29 มกราคม 2549
 
All Blogs
 
week 3



เล่าเรื่องเรียนและชีวิตทั่ว ๆ ไป

ผ่านไปสามอาทิตย์ของการเปิดภาคเรียนใหม่แล้วครับ ยังรู้สึกว่าทำงานน้อยอยู่แล้ว จะต้องทำงานให้หนักมากขึ้น เพราะเทอมนี้ผมลงทะเบียนเรียนถึง 22 credits ( 6 วิชา )ไม่รู้จะหนักไปถึงไหน จริง ๆ ลงเอยไปแล้วที่ 5 วิชา แต่อาจารย์ที่ปรึกษาเขาก็มาชักชวน กึ่งบังคับ ให้ไปลงวิชาที่เขาเปิดสอน ก็ไม่มีอะไรมากครับ พบกัน 5 ครั้ง อาทิตย์ละ ชั่วโมงครึ่ง เป็นวิชาสัมมนา Economics of Education Workshop อภิปรายเรื่อง Paper ต่าง ๆ กัน เน้นเรื่อง Academic Test กับ achievement อื่น ๆ ของชีวิต เช่น ความก้าวหน้าทางการศึกษา, รายได้หลังจากจบไปแล้ว และก็ต้องเขียน Paper 10 หน้า หนึ่งชิ้น โดยคาดว่าเนื้อหาคงจะอยู่ที่การวิเคราะห์ทั้งเห็นด้วยและคัดค้านกับการใช้คะแนนสอบมาพิจารณา โดยเฉพาะในแง่ statistical validity และอาจจะในแง่ของความคิดพื้นฐานว่า คะแนนสอบ มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ แต่ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่าทุกคนคง take it for granted อยู่แล้วว่าการใช้คะแนนมาวิเคราะห์ เป็นเรื่องที่ไม่มีปัญหาในตัวมันแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากนักการศึกษา ที่เขามักจะมองด้วยสายตาแห่งความสงสัย (Skeptical) ในมิติว่าชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่คะแนนสอบ ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ถึงสนใจแต่เรื่องนี้กันนะ.... วิชานี้คงเชิญนักวิชาการเรื่องนี้มาพูดคุยบางคน เช่น Rick Hanushek ( บรรณาธิการของ Handbook of Economics of Education ที่กำลังจะออกเร็ว ๆ นี้)


เช้านี้จะมีนักวิชาการคนสำคัญ คนโปรดของผมคือ Prof. Cornel West มาพูดที่ โรงเรียน แต่ผมคงไม่ไป เพราะอยากพักผ่อนมากกว่า หวังว่าเขาคงเก็บเป็น Video เอาไว้ดูแบบแห้ง ๆ วันหลัง Cornel West เป็นนักวิชาการที่เป็นเสาหลักคู่กับ Henry Louis Gates Jr. อยู่ที่คณะ African & African American Studies แห่ง Harvard แต่ภายหลังเกิดขัดแย้งกับอธิการบดี Larry Summers อย่างรุนแรง ในเรื่องที่ Summers กล่าวตักเตือนเรื่องที่ Cornel West ทะลึ่งไปออกสื่อมากเกินไป เช่น ออกเทปเพลงแร๊ป ไม่ทำตัวให้สมเป็นนักวิชาการ ( ทั้ง ๆ ที่ เขาเป็นคนที่เก่งมากทีเดียว ) West ก็เลยหนีไปอยู่ Princeton เสียเลย หลังจากนั้น อาจารย์คนอื่น ๆ ใน department ก็ได้ทยอย ย้ายออกจาก African American Studies Program ที่ Harvard กันหลายคน ก็เป็นเรื่องโด่งดังในวงการมหาวิทยาลัยพอสมควร

อาทิตย์หน้าในวิชาสัมมนาเขาจะเชิญ อดีต สมาชิกของ Admissions Committee ของ Stanford University มาคุยในห้องเรียน คงจะได้รับทราบข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกนักศึกษา undergraduate และการแข่งขันระหว่างโรงเรียนชั้นนำในการแย่งเด็กเก่ง ๆ การพิจารณา Financial Package เพื่อดึงดูดใจ คิดว่าน่าสนใจ

อีกอาทิตย์เขาจะเชิญ อดีตผู้อำนวยการ Athletics Department ของ Stanford คือ Ted Leland มาคุยในเรื่องบทบาทของ student-athlete หรือกระบวนการ recruit นักกีฬา ฯ การสร้าง balance ระหว่าง academic และ athletic ซึ่งเป็นสิ่งที่ Stanford จะต้องพิจารณาให้แตกต่างจาก โรงเรียนอื่น ๆ ที่เป็นโรงเรียนทาง Academic อย่างเดียว อย่างเช่น Chicago, MIT, Caltech หรือ พวก Ivy League ส่วนใหญ่ จนไปถึงโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับกีฬามาก เช่นพวก Powerhouse อย่าง USC, OSU, Michigan, Notre Dame, Texas และอื่น ๆ เท่าที่ทราบมา ตอนนี้ Stanford ค่อนข้างจะเจอปัญหากับวงการ College Sports ที่มันเริ่มต่อสู้กันอย่างเข้มข้นรุนแรงมากขึ้น เพราะ Stanford ยังต้องการเงินสนับสนุนจาก Alumni อยู่ ซึ่งจะเกิดได้ ก็ต้องมีทีมกีฬาที่เก่ง สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ แต่ถ้าหากจะก้าวไปสู่จุดแชมเปี้ยนในยุคนี้ มันต้องทำงานหนักทุ่มเทต่างจากยุคก่อน ที่กีฬามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องของนักเรียน มากกว่านักเรียนกีฬามืออาชีพ มาก ทั้งการจ้างโค้ชเก่ง ๆ ราคาแพง ( บางโรงเรียนเขาจ้าง Head Coach ถึงปีละ 1 ล้านเหรียญ ) หรือไป recruit นักกีฬาประเภทเก่งสุดยอดเข้ามา โดยอาจจะต้องยอมผ่อนคลายทั้ง มาตรฐานการรับเข้า และการเรียนของพวกเขา

แต่ Stanford ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะเป็นเหมือนการสร้างภาพลักษณ์อีกแบบให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น เขายังต้องการคนที่ทั้งเก่งในกีฬา และก็ต้องการเข้ามาเพื่อการเรียนเป็นหลักอย่างแท้จริง ดังนั้นต้องมีมาตรฐานทางการเรียนในระดับหนึ่ง ( ยกตัวอย่าง ไทเกอร์ วู๊ด เป็นทั้งนักกีฬายอดเยี่ยม วินัยสูง และเป็นนักเรียนที่ดี ว่ากันว่า Stanford ติดต่อไปตั้งแต่เขาอายุได้สิบสี่ ปีเท่านั้นเอง และก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่ามาก ในแง่การได้มาเป็น walking presenter ให้มหาวิทยาลัย )

ดังนั้นตอนนี้ ทางกีฬาของสแตนฟอร์ด เขาก็เริ่มจะมีปัญหาบางอย่างแล้วล่ะ ปกติ สแตนฟอร์ดจะรับนักกีฬาแบบให้ทุน เข้ามาประมาณปีละ 200 คน มีเงื่อนไขของทุน ที่จะต้องซ้อมตามเวลาที่กำหนด แข่งให้โรงเรียน นักกีฬาเก่ง ๆ หลายคน ที่พวกแมวมองไปตามล่ามา ก็ไม่สามารถ ผ่านมาตรฐานของ admission ได้ ซึ่งพวกโค้ช ก็ต้องทำใจ แม้ว่าจะเสียดายความสามารถมากก็ตาม นักกีฬาส่วนใหญ่จะไม่สามารถลงทะเบียนวิชาตอนบ่ายได้ เพราะต้องให้เวลากับการซ้อม แต่เด็กพวกนี้ก็ต้องเรียน ทำการบ้าน สอบ เหมือน ๆ กับนักเรียนธรรมดาคนอื่น ซึ่งค่อนข้างจะหนัก ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งเหมือนกัน ลองอ่านได้จากคอลัมน์ จาก Stanford Magazine คงจะเห็นภาพพอสมควร

link ที่เกี่ยวข้อง
- The business of Sports
- Bring you a game (article from Stanford magazine)
- The Game of Life : College Sports and Educational Values


การเมืองภาค อัคร..ยำ ประเทศไทย

จะว่าไปแล้วอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เสียเวลาจำนวนพอสมควรกับการติดตามข่าวของ นายกทักษิณ และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทั้งตั้งแต่การสัญจรเดินสายรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จนไปถึงรายการ reality show อาจสามารถ และการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับ Temasek ของสิงค์โปร์ นับว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุม 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งอาจจะมีการสร้างม๊อบมาชนม๊อบกัน จากกลุ่มของนายยุทธ ตู้เย็น ผู้อื้อฉาว จากการเกณฑ์ข้าราชการ ลูกจ้าง จากกรมอุทยานหลายคันรถบัส เข้ามาป่วนที่สวนลุม จนมีการจุดระเบิดประทัดและมีผู้หญิงอุ้มลูกบาดเจ็บ (ลองนึกดูว่าถ้ามันไปโดนเด็กล่ะ จะเป็นอะไรมากกว่านี้หรือเปล่า ทำไมมันไม่คิดบ้าง) แต่สุดท้าย นายยุทธ ตู้เย็น ก็ออกมาพูดอย่าง ไม่เป็นลูกผู้ชาย ว่าตนเองไม่รู้เรื่องใด ๆ กับเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องน่าอดสูมาก แต่ความต้องการอำนาจ และความต้องการเอาใจนาย มันไม่เข้าใครออกใคร .....

ส่วนเรื่องใหญ่กว่านั้น คือเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ป ผมก็เห็นเช่นเดียวกับ ท่านผู้รู้ท่านอื่น ๆ และก็เสียใจแทนประเทศไทย ที่ได้นักสัมปทาน นักเซ็งลี้ นักปั่นราคาขาย ไม่ได้คิดจะสร้างพื้นฐานอะไรในระยะยาวให้กับประเทศ มาเป็นผู้บริหารประเทศ น่าเสียใจที่ท่านมักจะชอบอ้างตนว่าเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ต้องกลับมารับใช้ชาติ แต่เท่าที่ผมเห็นท่านก็รับใช้ตนเอง ครอบครัว และเครือญาติ ก็เท่านั้นเอง แต่ผมก็ไม่ได้โมโหโกรธาอะไร เพราะในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์สถาบัน เรามีสมมติฐานว่า player ทุกคนต้องการ self-benefit maximization อยู่แล้ว ดังนั้น คำพูดประมาณ “รวยแล้ว ไม่โกง” หรือ “รวยแล้ว พอ” จึงเป็นเรื่องที่ irrational อย่างยิ่ง เราไม่ได้โกรธหรือเกลียดคนเช่นนี้ หรือป้องกันไม่ให้เขาเข้ามาในการเมือง แต่ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรเพื่อสร้าง institution เพื่อป้องกัน และปราบปราม ไม่ให้คนโกง คนมีอำนาจ ขึ้นมาหาประโยชน์ (แบบมากเกินไป ) ดังนั้นเราจึงต้องสร้าง organization เพื่อตอบสนอง institution เหล่านี้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ, ปปง, สตง, DSI, กสช , กทช, รัฐสภา,วุฒิสภา, ศาลปกครอง ทั้งหลายแหล่ ฯลฯ แต่ปัญหาคือเป็นกรรมของประเทศไทย ที่แม้จะมีเจตนาในการเริ่มต้นที่ดี แต่คนที่ได้เข้าไปทำงานตรงนั้น ก็ตกอยู่ในเงื่อนไขเดียวกันของ self-maximization คือ ต้องการหาประโยชน์สูงสุดให้ตนเอง อยากเข้าไปมีส่วนในการแบ่งเค้ก คิดถึงอนาคตตัวเองไม่อยากขัดใจผู้มีอำนาจ ยอม ๆ เขาไป นิ่ง ๆ เข้าไว้ได้ดีเอง ฯลฯ ซึ่งเรายังไม่มีกระบวนการที่สูงกว่านั้นในการควบคุมพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์เช่นนี้ ( ผมอยากจะเสนอความคิดว่า สุดท้ายแล้ว ปัญหาทั้งหลายแหล่ของบ้านเรา มันเนื่องมาจากระบบกฎหมายของประเทศไทย กฎหมาย Civil Law ที่เราใช้ ๆ กันอยู่ เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหลายแหล่ เป็นการสร้างศรีธนนชัยทางกฎหมายหลาย ๆ คนขึ้นมาอย่างที่เห็น และเป็นการสร้าง Organization ที่รุงรังไปด้วยกฎระเบียบ อันสามารถหาช่องว่างได้ ถ้าหากเชี่ยวชาญชำนาญ พอ ผมเชื่อว่า ระบบกฎหมายแบบ Common Law สร้างความชอบธรรม และส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคม ได้มากกว่า...มีงานวิจัยในลักษณะนี้หลายชิ้น แล้ววันหลังจะมาถกในเรื่องนี้กัน )

ทัศนะเรื่องสนธิ vs ทักษิณ

ผมไม่ได้โปรสนธิมาตั้งแต่ต้น แต่ก็รับฟัง บางเรื่องก็เชื่อว่าเป็นจริง ด้วยหลักฐานที่เขานำมากล่าวอ้าง ซึ่งถ้าหากเขาไม่ได้เอามาเล่า เราคนไทยก็คงไม่รู้ เช่นเรื่อง C130, การให้สิงคโปร์มาใช้ฐานทัพ ซ้อมเครื่องบินรบในเมืองไทย, การตั้งคณะทำงานแทนองค์สมเด็จสังฆราช ฯลฯ บางเรื่องก็เป็นกล่าวหาที่ไม่มีข้อมูลพิสูจน์ได้ เช่นเรื่องการโกงกินประเทศของนายกและญาติพี่น้อง แต่โดยทั่วไปก็ไม่ได้สนับสนุนสนธิอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เชื่อว่าคนชั้นกลาง และผู้มีความคิด มีการศึกษาส่วนใหญ่ ก็คงจะเป็นแบบนี้

ส่วนนายกทักษิณ ผมยอมรับว่าผมเคยรู้สึกชอบเขาและทีมงานมาก ที่ใช้นโยบายทางธุรกิจ เพื่อเขามากระตุ้นระบบราชการ หรือสังคมไทย แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมช่วงหลังเขาถึง ชอบพูดจาโกหกคนไทย ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง หลายครั้งผมเห็นเขาเปล่งวาจาสำรากออกมาแล้วก็แทบทนไม่ได้เอาเลย นึกไม่ถึงว่าคนที่มีเกียรติสูงสุดระดับนายกรัฐมนตรีของประเทศ ถึงกล้าพูดจาหยาบคาย เช่นนี้ได้ คงคิดว่าจะสามารถดึงดูดใจ คนไทยบางกลุ่มได้กระมัง แม้ท่านจะบอกว่า เป็นเรื่องของ ดาวพุธ เสีย แต่ผมเชื่อว่ามันคงออกมาจากส่วนลึก ๆ ของจิตใจ มากกว่า การศึกษาที่สูงส่งคงมิอาจช่วยอะไรได้

เรื่องการชุมนุมนั้น ผมไม่เห็นด้วยกับสนธิ ที่จะขับไล่ทักษิณออกไป โดยไม่ผ่านกระบวนการรัฐสภา แต่ผมเห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วงโดยสงบ สันติ โดยชนชั้นกลาง เป็นการแสดงความเห็นตามระบบประชาธิปไตย แต่ถ้าหากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่คิดจะเอาความรุนแรงเข้ามาใช้ เหมือนอย่างตอนม๊อบสวนลุม ก็คงเป็นคราวเคราะห์ของประเทศไทย ที่จะเกิดเหตุการณ์วิปโยค ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งไม่มีใครต้องการเห็น แต่ถ้าจะให้คนไทยเงียบเฉยกับความเลวร้ายที่มันเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา เราก็ทำไม่ได้เช่นกัน

สุดท้ายนี้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ผมได้สนทนากับผู้รู้จริงในเรื่องเศรษฐกิจเมืองไทยหลายคน ส่วนใหญ่จะแสดงความเห็นในเชิงห่วงใยอนาคตของประเทศ เราไม่ได้คุยกันเรื่องเอาหรือไม่เอาทักษิณ เพราะเห็นร่วมกันว่า ถึงทักษิณออกไป ประเทศไทยก็คงจะไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมา ตราบใดที่ระบบสถาบัน กฎหมาย การเมือง ธรรมาภิบาล และสังคม ของไทยยังเป็นอยู่เช่นนี้ ตอนนี้ประเทศเรากำลังก้าวเข้าสู่ Employee Economic คือคนไทยต้องเป็นลูกจ้างของต่างชาติกันมากขึ้น บริษัทอะไรต่าง ๆ ถ้าหากเริ่มทำกำไรได้ เจ้าของกิจการก็ไม่คิดจะอยู่บริหารต่อไป แล้วมีแนวโน้มขายให้ทุนต่างชาติ ไม่ได้คิดจะสร้าง innovation หรือ สร้าง re-development อะไร .... ก็ต้องทำใจครับ นี่แหละผลของ Globalization แต่ถ้าหากไม่คิดอะไรเรื่องเกียรติยศ หรือชาตินิยมแล้ว ผมเชื่อว่า Welfare ของคนไทย ก็คงจะยังดีอยู่นั่นแหละ ไม่ได้มีปัญหาอะไรหรอก ทุกคนก็จะยังมีเงิน มีงาน มีรายได้ มีเศรษฐกิจที่ดี แต่คนไทยเรามีแนวโน้มที่จะต้องทำงานองค์การข้ามชาติกันมากขึ้น ทั้งข้ามชาติแท้ และลูกผสม ซึ่งจะดีหรือไม่ดี ก็เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ ว่า ตถตา..มันจะเป็นไปเช่นนั้นเอง .....



Create Date : 29 มกราคม 2549
Last Update : 29 มกราคม 2549 10:07:07 น. 10 comments
Counter : 815 Pageviews.

 
อยากถามพี่ BF ว่าทำไมมหาลัยชั้นนำของสหรัฐถึงให้ความสำคัญกับกีฬามากครับ(หากเทียบกับบ้านเรา) อย่างของผมเอง(UW-Madison)ก็ดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญเหลือเกิน (โดยเฉพาะเมกันฟุตบอล)
เป็นเพราะต้องการสร้างชื่อเสียงแค่นั้นเหรอครับ แต่ผมคิดว่าถ้านักเรียน(ที่เรียนเก่งๆ)จะเลือกเรียนมหาลัยไหน เขาคงไม่ดูมั้งครับว่ามหาลัยนั้นเก่งกีฬาด้านไหน แต่น่าจะดูตรงผลงานทางวิชาการหรือ ชื่อเสียงด้านวิชาการอย่างอื่นมากกว่า

ส่วนเรื่องระบบกฎหมายที่พี่บอกว่าระบบกฏหมาย Civil Law เป็นต้นเหตุของปัญหาการตีความกฎหมายแบบศรีธนนชัยนั้น ในฐานะนักกฎหมาย ผมไม่เห็นด้วยครับ
เพราะตัวบทกฎหมายนั้น มันมีหลักการตีความของมันครับ ไม่ว่าจะเป็น ตามตัวอักษร หรือตามเจตนารมย์ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายๆด้านมาประกอบ (ผมก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน) ปัญหามันอยู่ที่คนตีความและผู้ใช้กฎหมายครับ
ส่วนระบบกฎหมาย Common Law ก็ไม่ได้ดีไปกว่า Civil Law เท่าไหร่ หรอกครับ เท่าที่ศึกษามา ผมยังไม่อยากนึกว่า ถ้าประเทศไทยใช้ระบบ Common Lawแบบเต็มๆ มันจะวุ่นวายขายปลาช่อนขนาดไหน คงได้ดิ้นกันสนุกแน่ เพราะระบบนี้มันจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า Civil Law หลายเท่า
สุดท้ายนี้ผมเห็นว่า โทษคนใช้กฎหมายดีกว่าครับ อย่าโทษตัวระบบกฎหมายเลย


โดย: praphrut608 วันที่: 29 มกราคม 2549 เวลา:4:23:29 น.  

 
น่าสนใจมากครับในประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการเมืองโดยอาศัยแนวคิดในเชิงกฎหมายและสถาบัน

ในส่วนตัวผมเอง ผมเห็นต่างกับคุณ BF บ้างในบางประเด็นโดยเฉพาะการที่คุณ BF มองว่าปัญหาทั้งหลายเกิดขึ้นจากความไม่ชอบมาพากลของกฎหมาย รวมทั้งข้อบกพร่องในตัวหรือระบบกฎหมาย

........แต่ผมกลับมองว่าปัญหาระบบกฎหมายของบ้านเราเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหาเท่านั้น

ผมมองว่าปัญหาการออกกฎหมาย และใช้กฎหมายในบ้านเราไม่ว่าโดยฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง ล้วนแล้วต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภาฯ

ดังนั้น พรรคการเมืองจึงงัดกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อช่วงชิงฐานคะแนนความนิยม ไม่ว่านโยบายประชานิยม หรือนโยบายอะไรก็ตาม....ดังนั้น 19 ล้านเสียงจึงเป็นสิ่งที่ท่านนายกฯ มักเน้นย้ำอยู่เสมอในเรื่องความชอบธรรม และความไว้วางใจที่ได้รับจากประชาชนในการรับเลือกเข้ามาบริหารประเทศ

จากข้อสังเกตข้างต้น สิ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญสูงสุดนอกเหนือจากปัญหาทางด้านกฎหมายอย่างที่คุณ BF หยิยยก ก็คือ 19 ล้านเสียงที่ท่านมักเอ่ยอ้างนั้น มี rationality ในทางความคิดและการตัดสินใจอย่างไร และทำไมถึงตัดสินใจเช่นนี้.....

เพราะหากคนหยิบมือเดียว เลือกพรรคที่ใช้วิธีการหยิบยื่นประโยชน์ หรือซื้อเสียง เราอาจเข้าใจได้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกชอบอาศัยผู้อื่น ไม่รู้จักทำมาหากิน.....แต่หากคนกลุ่มๆ เดียวกันนี้มีเป็นจำนวนมาก (แม้จะไม่ถึง 19 ล้านคน แต่ก็คงไม่น้อย) ผมคิดว่า Rationality ของคนกลุ่มนี้น่าสนใจมาก กล่าวคือทำไมคนกลุ่มนี้จึงมีวิธีคิดที่เหมือนกันทั้งตำบล ทั้งจังหวัด หรือทั้งภาค......

แม้ผมจะไม่สามารถระบุจำนวนได้แน่ชัด แต่ผมว่าคนกลุ่มนี้ในจำนวน 19 ล้านคนนั้นคงมีไม่น้อย และคงมีมากพอที่จะเป็น Critical mass ที่พรรคสามารถอาศัยเป็นฐานเสียงทางการเมืองได้ (มิฉะนั้นพรรคการเมืองในปัจจุบันคงไม่เลือกไปปักหลักหาเสียงในต่างจังหวัดเป็นแน่)

หากถามผม ผมคิดว่าที่สุดแล้ว ผมคิดว่าชาวบ้านนั้นมี Rationality ในแบบของเขา เพราะเขารู้ว่าตนเองต้องการอะไร และพร้อมจะให้การสนับสนุนคนที่หยิบยื่นประโยชน์ให้แก่เขา หรือชุมชนของเขา ซึ่งต่างกับคนกรุงที่มีความพร้อม ไม่มีปัญหาปากท้อง ไม่ได้ต้องการถนนหนทางเหมือนชาวบ้านในต่างจังหวัด แต่มองปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในเชิงมหภาคเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเป็น Rationality อีกชุดหนึ่งที่แตกต่างอย่างสุดกู่

จากมาตรฐานที่ต่างกันนี้ จึงทำให้ Rationality ของชาวบ้าน (ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ในจำนวน 19 ล้านเสียงที่ว่านั้น) ไม่ได้รับการยอมรับโดยคนกรุง

ดังนั้นผมคิดว่ารากฐานปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นที่สำคัญในปัจจุบัน และอยู่เหนือปัญหาเชิงกฎหมายหรือสถาบันใดๆ ก็คือปัญหาเรื่องปัญหาปากท้อง การศึกษาและทัศนคติในการมองปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างคนเมืองกับคนกรุง

จากข้อสังเกตข้างต้นของผม ผมจึงคิดว่าแม้การประท้วงชุมนุมของคุณสนธิอาจดูสร้างความวุ่นวายในสังคม แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราคงพอเข้าใจได้ว่าสิ่งที่คุณสนธิพยายามทำอยู่นั้น ถือเป็นการกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการแก่ประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะ “พ่อแก่แม่แก่” ที่รับฟังทั่วประเทศให้มีความรู้เท่าทัน ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเองและสังคมจากการเลือกนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น และผูกขาด แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์จากนักการเมืองขี้โกงเหล่านั้นเป็นการตอบแทนก็ตาม

ถึงจุดนี้ ผมจึงคิดว่าหากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้อง การให้การศึกษา แม้เราจะเลือกตั้งอีกกี่ที เราก็จะยังคงได้คนกลุ่มเดีม หน้าเดิมเข้ามาบริหารประเทศ และในขณะเดียวกันรัฐบาลที่ตั้งโดยคนต่างจังหวัด ก็จะถูกล้มล้างโดยคนกรุงอยู่ร่ำไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาในเรื่องการกำหนดมาตรฐานในเชิงปริมาณ และคุณภาพของการศึกษาในระบบ เพื่อสร้าง “rationality ต้นแบบ” สำหรับเด็กรุ่นหลังในอนาคต คงต้องยกยอดให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้เช่นคุณ BF นะครับ......ขอโทษที่ยาวไปหน่อยครับ


โดย: lawholland IP: 130.115.81.234 วันที่: 29 มกราคม 2549 เวลา:7:13:02 น.  

 
ตอบคุณ praphrut608 ครับ

ผมคิดว่านักเรียนบางส่วนเขาเลือกมหาวิทยาลัยเพราะชื่อเสียงโดยรวมนะครับ และชื่อเสียงของสถาบันหลายแห่ง ก็แยกออกจาก Sports ไม่ได้ โรงเรียนดัง ๆ หลายแห่ง ก็มักจะเชิญให้นักเรียนมัธยมที่เก่ง ๆ ในด้านการกีฬาไปเข้าสถาบันของตนพร้อมกับทุนการศึกษา ตามที่เราได้เห็นในภาพยนตร์บ่อย ๆ และสาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องการสนับสนุนจาก alumni ...โรงเรียนต้องการเอาใจ alumni เพื่อให้พวกเขาหันกลับมาบริจาคเงินให้เยอะ ๆ ( รายได้หลักของมหาวิทยาลัยเอกชนก็มาจาก donation นะครับ) ดังนั้น ก็ต้องสร้างทีมกีฬาที่น่าเชียร์ สังเกตได้ว่ากีฬา College Sports ของอเมริกานี่ดูกันตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ไปจนถึงคนแก่ ยิ่งเป็นศิษย์เก่าก็ยิ่งผูกพัน หรือคนที่ยังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย บางส่วนก็อยากจะเข้าเรียนโรงเรียนที่มีทีมกีฬาเก่ง ๆ และธุรกิจนี้ค่อนข้างเป็นล่ำเป็นสันมาก ๆ (ลองอ่านในลิงค์ที่ผมเพิ่มเอามาให้ดูครับ )

สำหรับเรื่องกฎหมาย ก่อนอื่นต้องบอกว่า ผมมีความรู้น้อยในด้านนี้ เป็นการลองตั้งสมมติฐานดูอย่างที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายมากไปกว่า วิชากฎหมายโรมัน กับอีกตัวนึงจำชื่อไม่ได้แล้ว ตอนเรียนที่ธรรมศาสตร์เท่านั้นเอง บวกกับได้อ่านงานวิจัยบางชิ้นของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มที่เรียกว่า LLSV ซึ่งทำการวิจัยในเรื่องกฎหมายว่า ประเทศที่ใช้กฎหมายระบอบ Common Law จะมีสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศในระบบ Civil Law (แน่นอนว่าเป็นงานวิจัยที่ได้รับการวิพากษ์อย่างกว้างขวาง) แต่ก็เป็นต้นกำเนิดสำคัญของแนวคิดทาง Law & Finance ในยุคนี้ ส่วนอีกสายหนึ่งก็มาจากงานของ Susan Rose-Ackerman แห่ง Yale Law School ซึ่งได้ทำวิจัยในเชิงเปรียบเทียบกฎหมายที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจเอาไว้ เผื่อว่าใครจะสนใจไปศึกษาข้อมูลต่อไป

ผมเห็นด้วยเหมือนกันว่า ถ้าปล่อยให้กฎหมายทุกอย่างตีความโดย Judge อะไรมันจะเกิดอะไรขึ้นเหมือนกัน มันอาจจะแย่ยิ่งกว่านี้ก็ได้ ( ดูจากมาตรฐานกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีซุกหุ้น เป็นต้น )

มาถึงประเด็นทางด้านรัฐศาสตร์ที่คุณ lawholland ได้ตั้งเอาไว้บ้าง ผมไม่แน่ใจว่ามันจะอยู่ในทฤษฏีสองนัคราประชาธิปไตยของ ดร.เอนก หรือเปล่า (ไม่เคยอ่าน) แต่น่าจะใกล้เคียงกัน คือปัญหาความแตกต่างสองมาตรฐาน สอง Frame of Thought ระหว่างคนชนบท และคนเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มี utility function ต่างกัน คนชนบทเขาต้องการคนที่แก้ปัญหาปากท้องของเขา คนที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูง คนที่สามารถมาร่วมงานบุญ งานบวช งานแต่ง ในชุมชนได้ ส่วนคนเมืองก็ต้องการคนที่มีภาพลักษณ์ที่ดี คนที่ไม่มีพฤติกรรมโกง สามารถตรวจสอบได้ ฯลฯ ตราบใดที่คนสองกลุ่มนี้ ระหว่างคนในเมือง กับคนในชนบท ยังแตกต่างกัน ผลลัพท์ทางการเมือง มันก็คงจะยังเป็นอยู่เช่นนี้ ใช่ครับ การให้การศึกษาและการส่งเสริมสื่อ รวมถึงการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้คนในชาติเปลี่ยนแปลง utility function ที่แตกต่างกันให้มาเชื่อมต่อกันได้ ...หวังว่านะครับ


โดย: B.F.Pinkerton วันที่: 29 มกราคม 2549 เวลา:9:19:33 น.  

 
เมืองไทยมันมีอะไรทะแม่ง ๆ ขึ้นทุกวัน จนน่าเป็นห่วง หลายเรื่อง พี่เห็นตรงกัน น้อง B.F. นะ น่าเป็นห่วงมาก ยิ่งคนเก่งมาก ฉลาดมาก ก็ทำสิ่งเลวร้ายได้มากกว่าคนไม่เก่งเท่าไหร่ ปัญหาบ้านเรา จึงอยู่ที่ว่า จะทำให้คนเก่ง มีคุณธรรม ได้อย่างไร คงต้องพึ่งพาระบบที่ดี แต่ตอนนี้ ยังมองไม่เห็นเท่าไหร่

เคยอ่านงานเขียนเรื่องที่ว่า ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี จะมีระบบเศรษฐกิจดี เหมือนกัน ตอนเรียน Law & Economics ทันทีทีอ่าน ก็ได้แต่ขำในตรรกะของเขา นี่ถ้าไม่ใช่อาจารย์จากสถาบันแห่งนั้นเป็นคนสรุป คงถูกด่าไม่เหลือชิ้นดีแน่ ๆ

ระบบกฎหมายไทย ก็ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ มันปรับตัวได้ช้า และศาลมีอำนาจจำกัดในการตีความ เพราะเราไม่ต้องการให้ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร หรือ เป็นประเทศที่ปกครองโดยศาล นั่นแหละ

ถึงวาระนี้ ได้แต่ภาวนา ให้อะไร ๆ มันดีขึ้น ขอให้อะไรก็ได้ ดลใจ ให้คนทั้งหลาย หันกลับมารักประเทศไทยให้มากขึ้น หากประเทศอยู่ไม่ได้ เขาเหล่านั้น ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน

ปล. เรื่องเรียน พี่ลงทะเบียนเรียนไป ๒๒ หน่วยกิต เทอมที่แล้ว แทบตายเลยครับ .... เข็ดแล้ว เทอมนี้ ลงแค่ ๑๒ หน่วยกิต พอแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว ... แต่สำหรับน้อง B.F. คงจะไม่มีปัญหาหรอกมั๊ง


โดย: POL_US วันที่: 29 มกราคม 2549 เวลา:17:02:18 น.  

 
หวัดดีครับพี่ POL_US เข้าไปอ่านบล็อกพี่เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายในอเมริกา รู้สึกได้ความรู้ดีจัง

คนเราเห็นต่างกันได้ครับ ผมอาจจะไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของนายก ฯ ส่วนในฐานะตำรวจ พี่อาจจะรักนายก เกลียดสนธิ ฯลฯ

แต่เราก็ยังเป็นมิตรกันได้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสัญลักษณ์ของคนที่มีจิตใจสูง และมีความเป็นนักวิชาการ

สุดท้าย เชื่อว่า คนไทยเราก็รักชาติเหมือนกันทั้งนั้น ...


โดย: BF IP: 70.132.48.161 วันที่: 29 มกราคม 2549 เวลา:23:49:44 น.  

 

แวะมาทักทายค่ะ ^^


โดย: plezilla IP: 58.8.128.223 วันที่: 30 มกราคม 2549 เวลา:0:48:54 น.  

 
ความจริง พี่ไม่ใช่คนที่รักหรือเกลียดใครโดยไม่มีเหตุผลนะ ... และไม่ใช่ว่า รักแล้วต้องรักเลย ในกรณีของท่านพี่ทักษิณฯ เนี่ย (เรียกพี่ เพราะ เป็นรุ่นพี่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ) พี่ก็ไม่ใช่ว่าจะเห็นดีเห็นงามกับการกระทำหลายอย่าง ... เพราะท่านมีหมวกสองใบ ที่จะต้องทำให้สมดุลย์ หมวกที่หนักอึ้ง คือ หมวกในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องทำประโยชน์เพื่อชาติ หมวกอีกใบ คือ นักธุรกิจ ที่ท่านไม่ควรจะใส่ไว้เลย ...... เพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะแยกระหว่างประโยชน์ของแผ่นดิน กับประโยชน์ของธุรกิจของครอบครัวออกจากกันได้โดยเด็ดขาด แม้จะแยกได้ ก็ยังมีข้อครหานินทาได้อยู่ดี

ถ้าพี่เป็นเขา พี่จะต้องเลือกใส่หมวกแค่ใบเดียว ... ไม่ใส่หลายใบอย่างนี้หรอก เพราะหากพี่อยากเป็น นายกรัฐมนตรีฯ ก็จะต้องทำเพื่อชื่อเสียงและเกียรติยศ ที่งดงาม เพราะมันจะต้องจารึกไปชั่วฟ้าดินสลาย ถ้าหากทำไม่ดี หรือไม่เหมาะสม แม้พี่จะมีเงินมากมาย ก็คงไม่มีความสุข หากประชาชน กร่นด่า นอนสะดุ้ง ทั้งคืน อีกทั้งคงไม่ใช่พี่คนเดียวที่ถูกกร่นด่า แม้โคตรเง่า วงศ์ตระกูล ลูกหลาน ฯลฯ ก็พลอยถูกกร่นด่า สาบแช่งไปด้วย ความดีที่เคยทำมาในอดีต ก็จะถูกลบเลือนไปจนสิ้น .... หากจะเลือกเป็นนักธุรกิจ ก็จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเด็ดขาด เพราะ ประวัติศาสตร์ได้ยืนยันไว้แล้วว่า ใครมีอำนาจ ก็หลงอำนาจทั้งนั้น นักธุรกิจการเมือง จึงแสวงประโยชน์ให้ตนและพวกพ้องเสมอ

ส่วนนายสนธิฯ ที่พี่ไม่ชอบนั้น มีเพียงไม่กี่เรื่องหรอก เช่น เรื่องโกหก ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หยาบคาย และการดึงสถาบันกษัตริย์ มาเป็นเครื่องมือ หลายเรื่องที่เขาโกหก จึงเป็นบ่อนทำลายความเชื่อถือของเขา อย่างเรื่องที่ไม่ควรจะโกหกหรือพยายามดึงสถาบันกษัติย์มาเป็นเครื่องมือ ก็เรื่องพิธีในวัดพระแก้วนั่นแหละ แม้ราชเลขาธิการ ออกมายืนยันความถูกต้องเหมาะสมแล้ว ก็ยังไปจับผิด ดีที่นายสนธิฯ ไม่จับผิด พระราชดำรัสของพระองค์ด้วย ที่ว่าพระองค์ท่านพระราชทานบรมราชานุญาตเอง ...

อีกเรื่องที่เขาพูดจาโกหก อย่างร้ายแรง ก็คือ เหตุการณ์ในวันที่ครูรวมตัวกัน นายสนธิฯ พูดว่า มหาวิทยาลัย Sam Houston ได้ยุบคณะ Criminal Justice ทันทีที่นายกฯ จบ ดร. มา ซึ่งมันขัดแย้งกับความจริงโดยสิ้นเชิง เพราะคณะนี้ ปัจจุบัน เป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ เสียด้วยซ้ำ

เรื่องการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา นี่ก็อีก พี่ยังเคยดื่มเลย ก่อนการฝึกกระโดดร่ม ตำรวจพลร่ม จะต้องเข้าพิธีนี้ทั้งนั้น นักเรียนนายร้อยตำรวจ ก็ต้องเข้าพิธีนี้ทั้งนั้น ท่านนายกฯ ก็ฝึกกระโดดร่มแบบเดียวกับพี่นี่แหละ จึงน่าเชื่อว่าท่านดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาฯ เช่นกัน

เรื่องง่าย ๆ อย่างนี้ ตรวจสอบข้อมูลได้ชัดเจน แค่คลิ๊กเข้าไปอินเตอร์เน็ต อย่าง Sam Houston นายสนธิฯ ยังไม่มีความสามารถจะทำได้ เรื่องอื่น ๆ ที่มันยากมาก ๆ สิ่งที่เขาพูดเอามัน ย่อมต้องขาดความน่าเชื่อถือไปด้วยเป็นธรรมดา

แต่นายสนธิฯ ก็ยังมีข้อดีหลายอย่าง แม้เขาจะทำเพื่อธุรกิจของเขาเองเป็นหลักก็ตาม แต่เขาก็มีส่วนกระตุ้นให้ประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการกระทำอันไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล นับว่าเป็นบุญคุณต่อประเทศเช่นกัน แม้เขาจะขาดความเข้าใจหลายประการ อย่างเรื่อง C-130 มันเป็นความจริงที่ว่า ทุกคนสามารถขอใช้ได้ แค่ไปขอลงชื่อและจองที่นั่งไว้กับกองทัพอากาศ หากมีที่เหลือ ก็ขึ้นได้ เครื่องบิน C-130 ไม่ใช่เครื่องบินหรูหรา ไม่เหมือนการบินไทย เพราะมันเอาไว้บรรทุกสิ่งของเท่านั้น ไม่มีเบาะนุ่ม ๆ สวยงามอะไร

ตอนนี้ พี่เห็นเมืองไทยวุ่น ๆ แล้วท้อใจ ... พลอยไม่อยากกลับไปยุ่งเกี่ยวด้วย ...เบื่อมาก ทำไม คนที่มีอำนาจ ไม่รักแผ่นดินบ้านเกิดตัวเองบ้าง ก็ไม่ทราบเหมือนกัน


โดย: POL_US วันที่: 30 มกราคม 2549 เวลา:3:54:09 น.  

 
ไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว เอาเป็นว่าเห็นด้วยเต็ม ๆ ครับ ทั้งสองคนมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ถ้าเทียบกันแล้วนายก ฯ อยู่ในฐานะที่สูงกว่า ควรจะมีความอดทนอดกลั้นมากกว่า มีธรรมะในการบริหาร มีธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ แยกกับการเมืองให้ออก และก็ปราบปรามคนรอบข้างไม่ให้ใช้อำนาจแสวงหาลาภยศมากเกินไป ถ้ามันไม่ได้เลวร้ายจริง ๆ ผมเชื่อว่าคนไทย เขาก็เข้าใจนะ ...แต่อำนาจนี้มันก็น่ากลัวนะครับ เราไม่ได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นคงไม่รู้หรอก ว่าการถูกห้อมล้อมด้วยคนที่มียกยอปอปั้น มันเป็นยังไง กว่าจะรู้ตัวมันก็อาจจะสายไปแล้วก็ได้

ยังไงก็ต้องช่วยคอยลุ้นไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในวันที่ 4 กุมภา ฯ กันครับ ทราบจากภายในว่าฝ่ายรัฐเตรียมใช้ความรุนแรงมาปะทะด้วย (ข่าวจาก ขรก ที่รู้จัก) ในลักษณะเดียวกับม๊อบจัดตั้งสวนลุม น่าเป็นห่วงครับ


โดย: ฺBF IP: 70.132.48.161 วันที่: 30 มกราคม 2549 เวลา:7:07:43 น.  

 
บทเรียนในประวัติศาสตร์ถ้าราคาไม่แพง ก็คุ้มค่าแก่การเรียน บางบทเรียนก็ราคาแพงเหลือหลาย แม้จ่ายค่าหน่วยกิตไปแล้ว รับผลการเรียนมาแล้ว ยังไม่แน่ใจเลยว่าคุ้มค่าแก่การลงทะเบียนหรือเปล่า แต่ยังไรก็คงถอยหลังไปไม่ได้

ผมเขียนวรรคด้านบนโดยนึกถึงเรื่องในอดีต

นึกถึงบทเรียนของประเทศไทยใน 6ตุลา 2519 ซึ่งนำพาไปสู่ คำสั่ง 66/23
นึกถึงบทเรียนปฎิวัติวัฒนธรรมของจีน
นึกถึงบทเรียน พฤษภาทมิฬ 2535 ของไทย
นึกถึงบทเรียนของเขมรแดงและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นึกถึงบทเรียนของสหรัฐฯกับสงครามเวียดนาม
นึกถึงบทเรียนของเยอรมันนี
นึกถึงบทเรียนของยิวในสงครามโลกครั้งที่2และนำพาไปสู่การตั้งประเทศอิสราเอล

เช่นเดียวกับสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย ที่ผ่านมาสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยใพฤติกรรมเช่นไร ต้องรับผลกรรมเช่นนั้น แต่ผลกรรมจะนำไปสู่บทเรียนให้พวกเราทราบหรือไม่ เป็นเรื่องท้าทายสติปัญญาของปัญญาชนไทยทั้งหลายว่าเรียนรู้อะไรได้บ้างจากปัญหาในอดีตที่เกิดขึ้น และต้องพยายามมากกว่านั้นเพื่อไม่ให้เรื่องในอดีตกลับมาเกิดขึ้นอีก

แน่นอน คนฉลาดกว่าหรือสังคมที่ฉลาดกว่าย่อมป้องกันปัญหาในอนาคตไม่ให้มันเกิดขึ้น แต่สำหรับประเทศไทย ดีที่สุดทำได้แค่ปล่อยให้เหตุการณ์มันเกิดและดูเสียว่าหลังเหตุการณ์ เราเรียนรู้อะไรกันและทำอย่างไรมิให้มันซ้ำรอยเดิม

บางบทเรียน จ่ายในราคาสูงยิ่ง สูงยิ่งจนหลังจากนั้นแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าไม่เรียนจะคุ้มค่ากว่า แต่มันเป็นกงล้อทางประวัติศาสตร์ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


โดย: ปริเยศ IP: 210.213.5.238 วันที่: 30 มกราคม 2549 เวลา:8:46:00 น.  

 
อ่านบางตอนแล้วคิดถึงบอลประเพณี จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ครับ อยากเห็นในแบบที่ Stanford ทำบ้างจัง ไม่ใช่จับนักเตะที่ไหนก็ไม่รู้มาสวมเสื้อชั่วครั้งชั่วคราวแล้วลงเตะ ดูแปร่งๆ ชอบกล

ป.ล.ผมไม่ใช่ศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบันครับ ถ้าใครมีเคืองต้องขออภัยด้วยครับ


โดย: amyggie IP: 202.44.8.98 วันที่: 30 มกราคม 2549 เวลา:20:16:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

B.F.Pinkerton
Location :
Midway United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add B.F.Pinkerton's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.