<<
กันยายน 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
29 กันยายน 2550
 
 

ดอนกีโฆเต้ แห่งลามานช่า

หนังสือที่ซื้อมาแล้วยังอ่านได้ไม่กี่หน้า...
พอดีเจอบทความนี้ของคุณกิตติพล...เกี่ยวกับนักเขียนคนนี้...
เลยอยากเก็บไว้อ่าน..คู่กัน

- กิตติพล สรัคคานนท์ -

ดอนกีโฆเต้ แห่งลามานช่า (1605) ของมิเกล๎ เด เซร๎บันเตส (1547-1616) เป็นผลงานสำคัญอันดับต้นๆ ของโลกวรรณกรรม ที่มีอายุยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ นิยายเล่มนี้เป็นที่ยอมรับโดยกว้างขวางว่ามีสำนวนโวหารคมคายได้อรรถรส อีกทั้งยังให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจกับผู้อ่านทั่วโลก โดยเฉพาะวิธีของการเล่าเรื่องที่ทำให้ดอนกีโฆเต้ ได้ชื่อว่าเป็น ‘รุ่งอรุณแห่งนวนิยาย’
ฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกส (Jorge Luis Borges) นักเขียนชาวอาร์เจนตินา เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบดอนกีโฆเต้ มากเป็นพิเศษ (1) ตลอดทั้งชีวิตของบอร์เกส เขาวางหนังสือเล่มนี้ไว้ใกล้มือเสมือนหนึ่งเป็นพจนานุกรม หรือพระคริสตธรรมคัมภีร์
Pierre Menard, Author of Don Quixote (1939) เป็นเรื่องสั้นของบอร์เกสที่กล่าวถึง นักเขียนคนหนึ่งซึ่งพยายามจะเขียนดอนกีโฆเต้ ขึ้นอีกครั้ง ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ชวนให้พิศวงงงงวย
Pierre Menard, Author of Don Quixote (1939) เป็น 1 ใน 8 เรื่องสั้นชุด The Garden of Forking Paths (1941) ซึ่งจัดพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ Ficciones (1944) ของบอร์เกส (2)
ในบทนำของหนังสือ บอร์เกสพูดถึง Pierre Menard, Author of Don Quixote ว่า “ความเป็นเรื่องแต่งของงานชิ้นนี้ ตั้งอยู่บนความยึดมั่นในเรื่องราวที่ตัวเอกอุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาเป็นคู่ชิงชัย (กับเซร๎บันเตส) รายชื่อผลงานของเขาที่ข้าพเจ้าได้จดจารึกลงไป จึงมิใช่เรื่องน่าแปลกใจอย่างที่สุด หากทั้งหมดไม่ใช่การกระทำตามอำเภอใจ ทว่าเป็นการฉายภาพประวัติศาสตร์แห่งจิตใจของนักเขียนผู้นี้ออกมาให้เห็น”
เรื่องราวของ Pierre Menard, Author of Don Quixote เริ่มขึ้นหลังจากนักเขียน ปิแยร์ เมอนารด์ ได้เสียชีวิตลงแล้ว
ผู้เล่าเรื่องเปิดฉากแรก ด้วยการน้อมนำให้ผู้อ่านคล้อยตามว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะตัดสินคุณค่าของผลงานจำนวนหนึ่ง ที่เมอนารด์ทิ้งไว้ก่อนจะลาจากโลกไป เราสามารถอ่านแล้วค่อยๆ ร้อยเรียงเชื่อมโยง ผลงานต่างๆ เข้าด้วยกัน งานชิ้นใดดี งานชิ้นใดขาดความสมบูรณ์ เราสามารถพิจารณาไปตามมาตราฐานของคุณค่า หรือแม้แต่เทียบกับงานชิ้นก่อนๆ ได้ อย่างไม่ลำบากยากเย็นอะไรนัก
แต่ทว่าในบรรดาผลงานที่เมอนารด์ทิ้งไว้ กลับมีงานอยู่ชิ้นหนึ่ง ที่บางที อาจจะเป็นเพียงงานชิ้นเดียวในโลก ซึ่งทำให้เราต้องประหลาดใจ เพราะไม่สามารถชี้วัดตัดสินงานชิ้นนี้ด้วยหลักเกณฑ์ใดๆได้เลย งานดังกล่าวคือต้นฉบับลายมือของเมอนารด์ จำนวนหลายร้อยหน้า ซึ่งบรรจุเนื้อหาของนิยายดอนกีโฆเต้ จำนวน 38 บทของภาคแรก ทุกถ้อยคำของต้นฉบับนี้ตรงกับดอนกีโฆเต้ของเซร๎บันเตสทุกตัวอักษร
มองเผินๆ แล้ว ดอนกีโฆเต้ของเมอนารด์ ไม่ได้ต่างไปจากการคัดลอกงาน หรือการเขียนขึ้นมาใหม่ด้วยความจำของเมอนารด์ แต่ความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งผู้เล่าเรื่องพยายามใบ้บอกก็คือ ต้นฉบับนี้เป็นความทะเยอทะยานอย่างเหลือเชื่อของปิแยร์ เมอนารด์ จากจดหมายและถ้อยคำที่เรียบเรียงโดยผู้เล่าเรื่อง ทำให้เราทราบว่าสิ่งที่เมอนารด์ต้องการพิสูจน์นั้น ไปไกลกว่าการเขียนสุดยอดนวนิยายขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง
ทว่างานที่แท้จริงของเมอนารด์ คือการเข้าถึงสภาวะการเป็นผู้ประพันธ์นวนิยายชิ้นเอกแห่งศตวรรษที่ 17
พูดให้ง่าย งานของเขาคือการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ ด้วยการเขียนดอนกีโฆเต้ขึ้นอีกครั้ง และต้นฉบับลายมือของเขาที่ถูกค้นพบก็คือบทพิสูจน์ที่สั่นคลอนคุณค่าของงานวรรณกรรมต้นแบบ ด้วยวิธีการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ บทประพันธ์ดอนกีโฆเต้ ดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นผลงานของเซร๎บันเตส อย่างปฏิเสธไม่ได้ งานชิ้นนี้กำเนิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หนึ่ง ในพื้นที่และเวลาหนึ่ง เป้าหมายของเซร๎บันเตสคือมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวรรณกรรม เหมือนเช่นที่เขาเคยเขียนไว้ในอารัมภบทบทของดอนกีโฆเต้ว่า
“ท่านผู้อ่าน ผู้สำราญอารมณ์ ข้าพเจ้าคงมิพักต้องกล่าวคำสาบานเพื่อยืนยันต่อท่านดอกกระมังว่า ข้าพเจ้ามาดหมายเพียงใดที่จะให้หนังสือเล่มนี้ อันเปรียบประดุจบุตรแห่งปัญญาของข้าพเจ้า เป็นผลงานวิจิตรงดงามแลสุดคมคายเท่าที่เคยปรากฏ”
แน่นอน ดอนกีโฆเต้ของเซร๎บันเตส สามารถสะท้อนความลึกซึ้งทางปรัชญา ผ่านการนำเสนอที่ยอกย้อนแยบยล ซึ่งปรากฏขึ้นระหว่างโลกความจริงกับโลกแห่งนิยาย โดยมีตัวเอก ดอนกีโฆเต้ เป็นผู้นำทาง
ขณะที่อีกด้าน ประวัติศาสตร์ซึ่งเล่าโดยบอร์เกส หรือดอนกีโฆเต้ของเมอนารด์ กลับมีเป้าหมายหรือวิธีคิดอีกอย่างหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าดอนกีโฆเต้ ฉบับนี้เป็นเสมือนการทดลอง เป็นการเล่นกับรูปแบบในการนำเสนอ โดยมีผลงานดอนกีโฆเต้ เป็นเป้าหมาย
ดอนกีโฆเต้ของเมอนารด์ จึงมีค่าความหมายแตกต่างจากดอนกีโฆเต้ของเซร๎บันเตส อย่างเทียบไม่ได้ เหมือนอย่างที่ผู้เล่าเรื่องกล่าวไว้ว่า “ส่วนเสี้ยวของดอนกีโฆเต้ของเมอนารด์นั้นล้ำลึกกว่าเซร๎บันเตส๎” มันไม่ใช่การลอก หากเป็นการรังสรรค์สภาวะในการประพันธ์ขึ้นอีกครั้ง
ใครที่เคยอ่านความเรียง The Nothingness of Personality ซึ่งบอร์เกสเขียนเมื่อตอนมีอายุได้ 23 ปี ก็จะพบว่าปิแยร์ เมอนารด์นั้นมีแนวคิดบางอย่างที่ใกล้เคียงกับบอร์เกส ในวัยหนุ่ม โดยเฉพาะความพยายามในการพิสูจน์ความคิดทางอภิปรัชญาว่า ‘ไม่มีตัวตนใดของสิ่งใดบนโลกนี้ที่จบสมบูรณ์ในตัวเอง’
‘ตัวตน’ ในความเรียงชิ้นนี้มีลักษณะคล้ายตัวบททางวรรณกรรม ที่ต้องมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับงานเขียนชิ้นอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีวรรณกรรมชิ้นใดที่จบสมบูรณ์ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ความเป็นต้นแบบของวรรณกรรมไม่มีอยู่ตั้งแต่แรก ดังนี้เอง การเขียนงานที่เหมือนกับงานที่มีอยู่ก่อน จึงเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในจักรวาลแห่งถ้อยคำ
ฉะนั้นแล้ว ผลลัพธ์จากการเขียนซ้ำ อาจมิใช่สิ่งสำคัญสูงสุด หรือหนังสือดอนกีโฆเต้ของเมอนารด์ ก็ไม่จำเป็นต้องมีอยู่เลยด้วยซ้ำไป เพราะผลงานจริงๆ ที่เกิด มันได้สำเร็จลุล่วง และจบสิ้นไปแล้ว เป็นผลงานที่มีนักเขียนเท่านั้นที่ตระหนักได้ เหมือนเช่นที่เมอนารด์กล่าวไว้ว่า
“เป้าหมายของข้าพเจ้าก็เพียงเพื่อสร้างความประหลาดใจ (...) เป็นเหมือนบทสุดท้ายของการพิสูจน์ทางเทววิทยา หรืออภิปรัชญาต่อโลกที่ห้อมล้อมตัวเรา พระเจ้า โอกาส หรือโลกแห่งแบบ (3) ไม่มีอะไรจะสมบูรณ์เหนือความธรรมดา มากไปกว่าการคลี่แผ่งานชิ้นนี้ออกมา”
ดอนกิโฆเต้ของเมอนารด์ได้แสดงให้เห็น ‘สุญญากาศ’ ระหว่าง ‘นักเขียน’ กับ ‘งานเขียน’ แน่นอนในโลกความเป็นจริง สิ่งที่ยืนยันการมีอยู่ของนักเขียนก็คือตัวผลงาน เมื่อปราศจากตัวผลงานแล้วนักเขียนก็เป็นใครไม่รู้ โลกความเป็นจริงอนุญาตให้มีงานที่ไม่มีตัวผู้เขียนได้ แต่ไม่อนุญาตให้มีนักเขียนที่ไม่มีผลงาน
สิ่งที่เมอนารด์กำลังพยายามจะพิสูจน์ จึงไม่ใช่การคัดลอกดอนกีโฆเต้ทุกถ้อยคำ หากแต่เป็นการเข้าถึงสภาวะของการสร้างสรรค์ผ่านถ้อยคำที่เขาเขียน เหมือนดังถ้อยคำที่เมอนารด์กล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า
“นี่คือเกมถอดไพ่ที่ข้าพเจ้าเล่นภายใต้กติกาหลักๆ สองข้อ ข้อแรก เป็นการอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้ทดสอบรูปแบบ หรือความผันแปรทางจิตวิทยา และข้อสอง ผลักดันให้ข้าพเจ้าสังเวยสิ่งเหล่านั้นแก่ตัวบท ‘ต้นแบบ’ ที่จะเกิดขึ้น โดยปราศจากข้อโต้แย้งทั้งปวงสำหรับความเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคนนั้น...หรือมากกว่านั้นก็คือ กติกาสังเคราะห์สองข้อนี้ ถือกำเนิดขึ้นในโครงการแล้วตั้งแต่ต้น การร่างดอนกีโฆเต้อันเป็นผลงานของต้นศตวรรษที่ 17 จึงเป็นความจำเป็นที่มีเหตุผลในตัวเอง เป็นภาระหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการวาดภาพเสมือนจริงของความเป็นไปไม่ได้ ในศตวรรษที่ 20 …”
บอร์เกสอาจเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่เชื่อว่ามี ‘บางสิ่ง’ ที่อยู่ระหว่าง ‘นักเขียน’ กับ ‘งานเขียน’ บางสิ่งที่ว่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘สื่อกลาง’ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความสร้างสรรค์ทั้งปวง
ในฐานะของผู้อ่าน เราอาจสรุปได้ว่า การเขียนดอนกีโฆเต้ขึ้นมาใหม่แท้จริงแล้วการเดินทางย้อนกลับเข้าไปในสื่อกลาง เป็นการเก็บเกี่ยวและเข้าถึงของตัวนักเขียน อันเป็นประสบการณ์เฉพาะ ที่ยังขาดรูปธรรมทางวรรณกรรมซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นภาพของการเดินทางนี้ ซึ่งบอร์เกสในวัยหนุ่ม หรือปิแยร์ เมอนารด์ นักเขียนในจินตนาการของเขาได้พยายามแล้ว ทว่าผลสำเร็จของความพากเพียรนี้ กลับเป็นเพียงบทพิสูจน์ทางปรัชญา ไม่ใช่วรรณกรรมจริงๆ

เชิงอรรถ:
(1) บอร์เกสเล่าว่า ตอนที่เขาอายุสิบหรือสิบเอ็ดขวบ เขาได้อ่านดอนกีโฆเต้ ฉบับแปลอังกฤษ เนื่องด้วยตอนนั้น เขาต้องติดตามพ่อแม่ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเดินทางไปหลายประเทศในยุโรป ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาแรกที่เขาเขียนอ่านเป็น กระทั่งย้ายมาอยู่ที่อาร์เจนติน่าแล้ว เขาจึงได้อ่านดอนกีโฆเต้ ฉบับภาษาสเปน จากนั้นมาดอนกีโฆเต้ ก็เป็นหนังสือเล่มโปรดของบอร์เกส ตลอดกาล
(2) ในหนังสือเล่มนี้ยังได้รวมผลงานชุด Artifices (1944) ที่มีเรื่องสั้นทั้งหมด 9 เรื่อง หนังสือรวมเรื่องสั้น Ficciones เป็นงานของบอร์เกสที่ถือว่าดีที่สุด
(3) ในบริบทนี้เมอนารด์/บอร์เกสน่าจะหมายถึงโลกแห่งแบบในระบบปรัชญาของพลาโต ซึ่งอธิบายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำรงอยู่ในโลกจะมีการถอดแบบมาจาก ‘แบบ’ ในโลกของแบบ




 

Create Date : 29 กันยายน 2550
1 comments
Last Update : 29 กันยายน 2550 22:18:53 น.
Counter : 628 Pageviews.

 

ซื้อมาเป็นปีแล้วค่ะ

แต่ยังไม่มีเวลาได้อ่านเลยอ้ะ

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 4 ตุลาคม 2550 21:21:07 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

 

สายสร้อย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add สายสร้อย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com