my favorite drawers
<<
มีนาคม 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
10 มีนาคม 2552
 
 

ข้อมูลสำหรับคนที่อยากมาเรียนอินเดีย

ช่วงนี้อาจจะเป็นฤดูการโยกย้ายหาที่เรียนหรือกำลังมองหาที่เรียนอยู่ บางคนอาจจะมีเป้าหมายที่อินเดีย อยากจะมาเรียนคอมหรือภาษา แต่ไม่รู้จะติดต่อใคร ที่ไหน อย่างไรดี ผมมีข้อมูลเล็กๆน้อยๆ เอามาฝาก ถือว่าเป็นประสบการณ์ ที่อยากมาเล่าให้ฟังนะครับ แค่อยากให้คนที่มาเรียนและอยากจะมาหาความรู้ที่อินเดียได้รับรู้เอาไว้(ตามความเป็นจริง) อย่างน้อยๆ การให้แสงสว่างแก่คนที่ไม่รู้ ย่อมได้บุญ ผมไม่รู้ว่าบุญคืออะไร แต่ที่ได้รับการสั่งสอนมา คือความสุขใจ ถึงแม้สิ่งที่ผมได้ให้ อาจจะไม่ใช่สิ่งมีค่าแก่คนทั้งโลก แต่หากมีใครเพียงแค่ 2-3 คน เข้าใจในสิ่งที่ผมอยากจะบอก นั่นแหละคือสิ่งสุขใจของผม บุญอาจจะกินไม่ได้ แต่มันให้ความสุขใจแก่ผมได้ หากชาติหน้ามีจริง ขอให้ผมเกิดมาหล่อกว่านี้ มีปัญญากว่านี้ หากขี้เกียจอ่านก็ปริ๊นเอาไปอ่านได้เลยนะครับ เพราะอยากให้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด (เท่าที่จะบอกได้) เลยเยอะไปหน่อย

สิ่งที่ต้องเตรียมอันดับแรกๆเลยนั่นก็คือ(1.เตรียมสตางค์ 2.เตรียมใจ) ก่อนที่จะมา บางครั้งในความรู้สึกของผมเองนะ การมาอินเดียก็ได้ความรู้อีกอย่างหนึ่ง แต่จะให้เหมือนเมืองไทยย่อมจะเป็นไม่ได้ การมาอินเดียผ่านเอเยนซี่ อยากให้นึกถึงเป็นอันดับสุดท้ายเลยนะ หากคิดอะไรไม่ออกแล้วค่อยนึกถึงเอเยนซี่ เพราะปัจจุบันว่าก็ว่าเถอะ เอเยนซี่หลายบริษัทชอบหากินกับคนไม่รู้ บางครั้งก็เอาลูกหลานเขามาปล่อย ทิ้งๆขว้างๆ เพียงแค่ให้สักว่า ให้ได้เรียนที่อินเดียหรือให้ได้มาถึงอินเดีย โรงเรียนบางแห่งเด็กไทยกองกันอยู่เป็นโขยง แทนที่จะได้ภาษาอังกฤษ ได้ภาษาไทยแทน บางบริษัทก็ดีนะ ต้องเลือกให้ดีนะครับ แต่อยากได้ข้อมูลที่จริงๆ ต้องไม่พ้นสถานทูตอินเดีย ซอย 23 สุขุมวิท หลัง มศว ประสานมิตร หรือถ้าอยากให้ชัวร์และแน่นอนกว่า ลองไปสอบถามรายละเอียดมหาวิทยาลัยสงฆ์ดูนะครับ จะช่วยได้มากๆๆๆ (ถ้าหากกลัววัดกลัววาก็ไม่ต้องไป)

อาจจะมีข้อสงสัยว่า

ทำไมต้องไปรบกวนมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นเพราะว่า สมัยก่อนโน้นนะครับ มหาวิทยาลัยสงฆ์นี่แหละ ที่ส่งพระเณรมาเรียนอินเดียเยอะ ปัจจุบันก็ว่าเยอะอยู่นะครับ (ทั่วราชอาณาจักรอินเดียมีพระเรียนเกือบทุกมหาวิทยาลัย ส่วนมากในระดับ ปริญญาโทและปริญญาเอก) เจ้าหน้าที่ตลอดจนครูอาจารย์เกือบทุกมหาวิทยาลัยตลอดจนวิทยาลัย ผมเชื่อแน่ว่าพระอาจารย์ที่เรียนอยู่ที่อินเดียมีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ตลอดจนครูอาจารย์มาก สามารถวิ่งเอกสารให้เราได้ โดยไม่ต้องเสียค่านายหน้าสักบาท (เฉพาะบางมหาวิทยาลัย เพราะบางมหาวิทยาลัยรุ่นพี่ทำเอาไว้ดีมาก..คือความไม่ดี ชอบโชว์ความรวย รุ่นน้องก็เลยต้องลำบาก) และได้เรียนอย่างแน่นอน ลองไปสอบถามรายละเอียดได้นะครับ อย่างน้อยๆก็ไม่เสียหลาย มหาวิทยาลัยในอินเดียบางแห่งประธานนักศึกษาเป็นพระอาจารย์ แต่ส่วนมากจะเรียนในระดับปริญญาเอก และเป็นผู้ที่อยู่อินเดียมานมนาน แสนนาน (เรียนยังไม่จบ)

1.วัดบวรนิเวศ บางลำพู สอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย

2.มหาวิทยาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ สอบถามการเรียนต่ออินเดีย มีการจัดอบรมให้พร้อมครับ ทุกวันนะครับ แต่ยกเว้นวันพระและวันอาทิตย์ รายละเอียดอยู่ด้านล่างนะครับ

ผมบอกตามตรงนะ บางมหาวิทยาลัยนักศึกษาไทยเองก็ไม่อยากรับนักศึกษาไทยด้วยกันเอง เพราะ.....มีปัญหาเยอะ เพราะรับเยอะแล้ว มีปัญหามาก คือ พออยู่นานเริ่มเก๋า บอกอะไรก็ไม่ค่อยเชื่อ เรียนก็ไม่ค่อยไปเรียน มารกที่รกทางเปล่าๆ ดังนั้นหลายสมาคมนักศึกษาไทย จึงไม่ค่อยอยากรับ (บอกกันแบบตรงๆ) เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีสมาคมนักศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งเอาไว้คอยเชื่อมความสัมพันธ์นักศึกษาไทยด้วยกันเอง

ส่วนท่านใดที่จะเอาลูกหลานที่นิสัยแย่ ๆ เรียนที่มหาวิทยาลัยไหนก็ไม่จบที่เมืองไทย มาดัดสันดานที่อินเดีย เลิกคิดไปได้เลยครับ เอาอยู่ในความดูแลของท่านที่เมืองไทยนั่นแหละดีที่สุดแล้ว บางคนผมเห็นนะผลาญเงินพ่อแม่ บางคนก็โกหกพ่อแม่ว่ามาเรียน คนที่จะมาเรียนอินเดียได้ต้องเป็นคนที่รักพ่อแม่และรักอนาคตของตัวเองอย่างมาก มหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่ เด็กที่มาเรียน โอกาสจะจบปริญญาตรีนับหัวได้เลย เพราะบางคนจับกลุ่มกันไปในทางไม่ดี และอีกอย่างหนึ่งกัญชาหาง่ายมากในอินเดีย อย่างที่ผมบอก โอกาสที่จะทำความเลวก็มีเยอะ พ่อแม่ก็ไม่รู้หรอก นึกว่าแขกจะเป็นเทวดาสอนให้ลูกตัวเองเป็นคนดีศรีสังคมได้ ขนาดพ่อแม่ยังสอนไม่ได้ แล้วจะหวังพึ่งใครได้อีกครับ หากจะมีคนแย้งว่าเด็กไทยไม่ได้เลวทุกคน ผมก็ไม่ได้เถียง เพราะคำพูดนี้เป็นคำพูดสากลทั่วไปอยู่แล้ว "คนชั่วมีทุกประเทศ แขกก็เหมือนกัน คนไทยก็เหมือนกัน ฝรั่งก็เหมือนกัน" ดังนั้นอย่าพูดประโยคนี้เลยครับ ได้ยินจนชินหู

สังคมของเด็กที่มาเรียนอินเดีย มักจะคิดว่าตัวเองโตแล้ว ใครบอกมักจะไม่ค่อยเชื่อ เพราะส่วนมากคิดว่า “เรื่องของตู ไม่ได้เอาเงินสูมาเรียน” และการเลือกเรียนมหาวิทยาลัยก็ต้องดูตามความเหมาะสมกำลังทรัพย์ด้วยนะครับ หากคิดว่ามีเงินเยอะ ก็สามารถไปเรียนยังมหาวิทยาลัยที่ดี และเมืองที่เจริญได้ เงินเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการศึกษาเชิงธุรกิจในสมัยนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเมืองไทยหรือเมืองนอก มหาวิทยาลัยในอินเดียก็เหมือนบ้านเรานั่นแหละครับ นั่นก็คือมีทั้งมหาวิทยาลัยห้องแถวและมีชื่อเสียงและชื่อเสีย มหาวิทยาลัยห้องแถว (มีแต่แขกเองบางคนยังส่ายหน้า) อย่าให้ผมออกชื่อเลย นักศึกษาไทยในอินเดียรู้ว่ามีมหาวิทยาลัยไหนบ้าง คนบ้านเราเป็นจำนวนมากมาซื้อกันเป็นว่าเล่น พบอาจารย์แค่สองสามครั้งแล้วก็จบ แล้วไปประกาศบอกเขาไปทั่วว่าจบจากอินเดีย เลยทำให้คุณภาพของคนที่เขาเรียนอยู่อินเดีย 3-5 ปีจริงๆ ดูแย่ไปด้วย

อินเดียมีความรู้ทั้งหมดที่คุณจะแสวงหา แต่อย่าลืมนะว่า อินเดียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่มาก ภูมิประเทศแต่ละรัฐก็ไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ร้อนมาก บางพื้นที่ก็หนาว ทั้งที่อยู่ฤดูกาลเดียวกัน เดือนเดียวกัน ผู้คนแต่ละรัฐนิสัยแตกต่างกันมากเหมือนอยู่กันคนละประเทศ บางรัฐคนนิสัยแย่มาก เหมือนอย่างที่เขาว่านั่นแหละ เห็นงูกับแขกให้แตะแขกก่อน แต่บางคนผู้คนก็นิสัยดีมาก ดีจนเราต้องระแวงในความดี เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเจอแขกดีเลย

เงินทองต้องเก็บเอาไว้ให้มิดชิด อย่านับเงินเป็นจำนวนมากในที่สาธารณะ เช่นสถานีรถไฟ คนไทยเป็นจำนวนมากแขกฝากบทเรียนให้มานอนไม่หลับ มากแต่มากแล้ว หากเราเผลอ อาจจะมีแขกยืมไปใช้ได้ ผมไม่ได้บอกว่าลักนะ คิดเอาเอง สภาพบ้านเมืองตลอดจนภูมิอากาศก็ค่อนข้างแตกต่างกันไป เหมือนอยู่กันคนละประเทศจริงๆ

อาหารการกิน หากเป็นไปได้นะครับ มีอะไรที่คุณชอบขนมาให้หมด เท่าที่น้ำหนักสายการบินนั้นๆ จะเอื้ออำนวยให้กับคุณได้ น้ำปลา กะปิ น้ำพริก คะนอร์ รสดี ผงชูรส หากชอบ ขนมาได้เลย เพราะการทำกับข้าว จะช่วยเราประหยัดได้เยอะ หากคิดว่าจะมาหาประสบการณ์อันแหวกแนวแปลกใหม่ ก็มาทานกับข้าวแขกได้ หากมีมือถือก็พวกมาด้วยก็ดีเหมือนกันนะครับ แต่มาซื้อซิมการ์ดที่อินเดีย

มหาวิทยาลัยที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางในอินเดีย
มีทั้งหมด 13 แห่งมีดังต่อไปนี้ โดยพงษ์ประภากรณ์

1. Jawaharalal Nehru University เมือง New Delhi
2. Banaras Hindu University เมือง Varanasi
3. University of Delhi เมือง Delhi
4. Aligarh Muslim University เมือง Aligarh
5. Jamia Milia Islamia เมือง New Delhi
6.Indira Gandhi Open University เมือง New Delhi
7.North-Eastern Hill University เมือง Shillong
8.Vishwabharati Santiniketan เมือง Calcutta
9. University of Hyderabad เมือง Hyderabad
10.Phondicherry University เมือง Phondicherry
11.Assam University เมือง Silchar
12.Tezpur University เมือง Tezpur
13.Nagaland University เมือง Kohima

ส่วนมหาวิทยาลัยตลอดจนวิทยาลัยนอกเหนือจากนี้มีไม่รู้เท่าไหร่
ส่วนมหาวิทยาลัยตลอดจนวิทยาลัยนอกเหนือจากนี้มีไม่รู้เท่าไหร่

มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาไทยนิยมมาเรียน โดยพงษ์ประภากรณ์

มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาไทยมาเรียน จะกระจายอยู่ทุกภาคของอินเดีย เป็นสิ่งลำบากมาก ในการจะติดต่อกันระหว่างนักศึกษาไทยแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะว่าบางมหาวิทยาลัยนักศึกษาไทยไม่สามารถรวมตัวกันได้ เพราะสภาพการเป็นอยู่ ไม่ได้อยู่รวมกัน ดังนั้นจึงมีปัญหาหากจะหาข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ที่แน่นอนและที่อยู่ถาวร หรือสมาคมของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ถึงกระนั้นแต่ก็ยังมีกลุ่มนักศึกษาไทยในบางมหาวิทยาลัยก็ตั้งสมาคมขึ้นมา เพื่อเป็นจุดเชื่อมในการติดต่อ ชอบพอที่ไหนก็ติดต่อสอบถามได้ หากไม่มีที่อยู่กรุณาติดต่อสอบถามได้ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ส่วนรายละเอียดของคณะที่ท่านจะมาติดต่อเรียน ต้องติดต่อบุคคลภายใน เพราะบางคณะ มีคณะเปิดสอน แต่ว่าสมัครเรียนไม่ได้ก็มี ต้องเข้าใจระบบการทำงานของแขกด้วยนะครับ การติดต่อเอกสารในการมาเรียนอินเดีย ลำบากมาก ผู้ติดต่อต้องมีความมานะและอดทนสูงมาก ในการไปนั่งรอแขกเป็นวัน มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาไทยนิยมมาเรียนซึ่งพอจะรวบรวมมาได้ คือ

1.มหาวิทยาลัย เดลฮี มีนักศึกษาไทยค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่ามีเท่าไหร่ แต่คิดว่า มีเยอะพอสมควร

2.มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู เหมาะสำหรับมาเรียนปรัชญาและศาสนามากกว่าคณะอื่นๆ มีนักศึกษาประมาณ 50-70

3.มหาวิทยาลัย JNU เหมาะสำหรับพวกที่ต้องการมาเรียนรัฐศาสตร์นะครับ

4.มหาวิทยาลัยอัคร่า ประมาณสิบกว่าคน

5.มหาวิทยาลัย ปูเณ่ หรือ ปูณา มีนักศึกษาไทยเยอะพอสมควร เป็นมหาวิทยาลัยที่คนไทยนิยมมาเรียนอีกเมืองหนึ่ง

6.มหาวิทยาลัย มัสราส ไม่แน่ใจ แต่ก็มี

7.มหาวิทยาลัย ไมซอร์ ไม่แน่ใจ ประมาณ 10-20 กว่าคน

8.มหาวิทยาลัย ปัญจาบ มีนักศึกษาประมาณ 20

9.มหาวิทยาลัยคุรุเกษตร ประมาณสิบกว่าคน

10.มหาวิทยาลัยสันติ นิเกตัน ปัจจุบันเกือบจะไม่มีนักศึกษาไทยเลยก็ว่าได้น้อยมาก

11.มหาวิทยาลัย สันสกฤต สัมปูรณานัน มีนักศึกษาไทยน้อยมาก ส่วนมากจะทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาสันสกฤต

12.มหาวิทยาลัยมคธ ส่วนมากข้าราชการไทยจะมาเรียนมากกว่า คนปกติจะมาเรียน (เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา)

13.มหาวิทยาลัยนาคปูร์ ประมาณสิบกว่าคน

14.มหาวิทยาลัย ดร.เอมเบดการ์ ประมาณสิบกว่าคน

15.มหาวิทยาลัย กัลกาต้า เมือง กัลกาต้าร์ มีนักศึกษาไทยประมาณ 10 คน

มหาวิทยาลัยบางแห่ง อยากบอกว่า ถึงฤดูหน้าร้อน ...ต้องหนีไปอยู่ที่มีหิมะหรือทางตอนเหนือของอินเดียเพราะอากาศร้อนมากๆ ( ๆ ขอเพิ่มอีกตัวหนึ่ง)

หรืออาจจะมีมหาวิทยาลัยนอกเหนือจากนี้ หากตกหล่นต้องขอประทานอภัยนักศึกษาไทยที่เรียนอยู่อินเดียแห่งนั้นๆ ด้วยนะครับและเอา ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ (ต้องเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยในอินเดียเยอะมาก) บางมหาวิทยาลัยอยู่เมืองเดียวกันยังไม่รู้จักก็ยังมี


ขั้นตอนการสมัคร

หากท่านสนใจที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สามารถติดต่อสอบถามระเอียดเพิ่มเติมได้ที่

มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือ

1.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ยกเว้นวันพระและวันอาทิตย์ เวลาประมาณ 12.00 น. ถึง 16.00 น.

2.มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร
บางลำพู ยกเว้นวันพระและวันอาทิตย์ เวลาประมาณ 12.00 น. ถึง 16.00 น.

3. ติดต่อผ่านสมาคมพระนักศึกษาไทย หรือสมาคมนักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยในประเทศอินเดีย หากท่านมีคนที่รู้จักเรียนอยู่ที่นั่น ยิ่งจะเป็นการง่ายครับ เพราะโดยส่วนมากฆราวาสที่ศึกษาในอินเดีย ส่วนมากจะได้รับการช่วยเหลือในการเดินเอกสารจากพระสงฆ์ไทย ท่านจะได้ข้อมูลที่แน่นอนกว่า เพราะบางมหาวิทยาลัยมีกฎพิเศษ คนภายในจะรู้ดี

ทั้งสามวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดของการติดต่อที่เรียนครับ หากมีนายหน้ามาติดต่อ ฟัง....แต่ไม่ควรเชื่อครับ

เอกสารที่ใช้ในการสมัคร

ปริญญาตรี (ในกรณีที่สมัครผ่านมหาวิทยาลัยสงฆ์)

๑. สำเนาวุฒิการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แปลเป็นภาษาอังกฤษ และต้องระบุว่า GRADE 12 ประมาณ 2-3 ชุด
๒. สำเนาหนังสือเดินทาง
๓. ภาพถ่ายหน้าตรง ขนาด ๒ นิ้ว
๔. เงินค่าธรรมเนียมต่างๆ โปรดสอบถามรายละเอียด
๕. โปรดระบุสาขาวิชาที่ต้องการเรียน

ปริญญาโท (ในกรณีที่สมัครผ่านมหาวิทยาลัยสงฆ์)

๑. สำเนาวุฒิการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แปลเป็นภาษาอังกฤษ และต้องระบุว่า GRADE 12 ประมาณ 2-3 ชุด
๒. สำเนาใบปริญญาบัตร ปริญญาตรี
๓. สำเนาใบคะแนน ปริญญาตรี
๔. ใบแสดงข้อมูลส่วนตัว (BIO-DATA)
๕. ใบย้ายมหาวิทยาลัย (MIGRATION CERTIFICATE)
๖. สำเนาหนังสือเดินทาง
๗. ภาพถ่ายหน้าตรง ขนาด ๒ นิ้ว
๘. เงินค่าธรรมเนียมต่างๆ โปรดสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
๙. โปรดระบุสาขาวิชาที่ต้องการเรียน และสำรองวิชาที่คิดว่าหากลงสมัครไม่ได้เอาไว้ด้วย

ขั้นตอนการดำเนินการ(จากทางฝ่ายประเทศอินเดีย)

แต่ละมหาวิทยาลัยมีขั้นตอนไม่เหมือนกัน แต่โดยจะปฏิบัติดังนี้
๑. ตัวแทนฝ่ายอินเดียจะรับเรื่องและเอกสารจากทางฝ่ายไทยและจัดการติดต่อกับสถานทูไทย ณ กรุง นิว เดลลี เพื่อขอความเห็นชอบอนุญาตให้สมัครเรียนได้ (NO OBJECTION CERTIFICATE)
๒. ตัวแทนฝ่ายอินเดียจะส่งใบสมัครและเอกสารต่างๆ ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยลัย และเจ้าหน้ากองทะเบียน
๓. บางมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการรวดเร็วก็จะออกใบรับรองว่ามีความสามารถเข้าศึกษาได้ ( ELIGIBLE CERTIFICATE) ตัวแทนฝ่ายอินเดียจะส่งมายังเมืองไทย และผู้สมัครสามารถนำไปขอวีซ่าเพื่อการศึกษาจารกสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย
๔. ในบางมหาวิทยาลัยต้องการดูตัวผู้สมัครเรียนก่อน โดยผ่านทางหัวหน้าภาควิชาจึงจะออกใบรับรองให้ ในกรณีนี้ผู้สมัครต้องเดินทางไปรายงานตัวที่ประเทศอินเดียแล้วจึงจะได้ใบอนุญาตให้เข้าเรียน (และเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย) โดยต้องขอวีซ่าเป็นแบบส่วนบุคคลเพื่อไปศึกษา (PROVISIONAL VISA)

ปริญญาเอก

ขั้นตอนและวิธีการของแต่ละมหาวิทยาลัยแตกต่างกันออกไป ผู้สมัครต้องอดทนรอและใจเย็น ไม่ควรเชื่อว่าจะได้มาอย่างง่ายๆ และสามารถซื้อหาด้วยเงินทองได้หรือนั่งรอที่ประเทศไทยได้ บางมหาวิทยาลัยกว่าจะได้เข้าเรียนต้องใช้ระยะเวลาในการติดต่อเรื่องต่างๆ ประมาณ 1-2 ปี ขั้นตอนต่างมีดังนี้

กฎของบางมหาวิทยาลัย (กรุณาตรวจสอบให้ดีว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ ต้องการอะไรบ้าง)

๑. เรียนระดับอนุปริญญาเอกก่อนจึงจะรับเข้าเรียนต่อในชั้นปริญญาเอก
๒. ต้องการคะแนน TOEFL ตั้งแต่ 550 ขึ้นไป (แล้วแต่มหาวิทยาลัย เพราะบางมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นเลย)
๓. มีการสอบเข้าเรียนต่อ ต้องสอบให้ผ่านจึงจะมีสิทธิ์
๔. ต้องจบปริญญาโทอย่างน้อย ๒ ปี
กฎของบางมหาวิทยาลัย
ไม่ต้องการทั้ง ๔ ข้อและมีขึ้นตอนดังนี้
๑. โดยทั่วๆ ไปตามมาตรฐานของอินเดียต้องได้คะแนนเฉลี่ยของปริญญาโทตั้งแต่ 55 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (ส่วนมากจะเป็นนักศึกษาไทยที่เรียนจบในระดับปริญญาโทในอินเดีย และมีความประสงค์จะเรียนต่อในระดับปริญญาเอก)
๒. มีโครงร่างวิทยานิพนธ์
๓. เดินทางไปยังประเทศอินเดีย เพื่อติดต่อกับอาจารย์โดยตรง (นักศึกษาไทยที่อินเดียจะช่วยประสานให้อีกทางหนึ่ง) เพราะอาจารย์ต้องการจะดูโครงร่างวิทยานิพนธ์ รวมทั้งแนวความคิด ความรู้ ความสามารถของผู้สมัครว่าเหมาะสมหรือไม่ ก่อนที่จะรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
๔. เมื่อขึ้นตอนที่สามเสร็จสมบูรณ์แล้ว (เพราะท่านได้อาจารย์ที่ปรึกแล้ว) อาจใช้เวลากว่า 3 เดือน หรือมากกว่า ให้ยื่นเอกสารต่างๆ ต่อนายทะเบียนของมหาวิทยาลัย เพื่อขอใบรับรองไปยื่นขอวีซ่าเพื่อทำการวิจัย (RESEARCH VISA) แบบฟอร์มต่างๆ (มีตัวอย่างให้ดู)
๕. ยื่นเอกสารต่างๆ ที่กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กรุง นิว เดลลี เพื่อขอวีซ่าเพื่อทำการวิจัย (RESEARCH VISA) เมื่อเจ้าหน้าที่รับแล้วก็ออกจดหมายรับรองให้ ๑ ฉบับ และรอทราบผลการพิจารณาวีซ่าเพื่อทำการวิจัย (RESEARCH VISA) ขั้นต่ำประมาณ ๓ เดือน
๖. เมื่อทางการอินเดียอนุญาตให้ทำการวิจัย (RESEARCH PROJECT) เรียบร้อยแล้วก็จะส่งจดหมายเพื่อนำไปขอวีซ่าเพื่อทำการวิจัย (RESEARCH VISA) ได้ (มีตัวอย่างให้ดู)
๗. ยื่นขอวีซ่าเพื่อทำการวิจัย (RESEARCH VISA) ณ สถานทูตหรือสถานกงสุล (หรือสถานที่ท่านระบุไว้ แล้วนำไปแสดงต่อทางมหาวิทยาลัย เสร็จแล้วทางมหาวิทยาลัยก็จะอนุมัติให้ท่านลงทะเบียนเป็นนักศึกษาและทำการวิจัยในหัวเรื่องที่เสนอไว้ได้ (บางมหาวิทยาลัยก็ออกใบอนุญาตให้ลงทะเบียนเรียนก่อน และต้องแสดงวีซ่าเพื่อทำการวิจัย (RESEARCH VISA) ก่อนจบการศึกษา

ขั้นตอนทั้งหมดอาจใช้เวลาประมาณ 1 ปีหรือมากกว่าแล้วแต่ว่าใครจะโชคดี

๘. เริ่มการวิจัยและหมั่นไปพบอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะในอินเดียจะจบหรือไม่จบขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาเท่านั้น
เตรียมทุนให้พร้อม

ทุนเป็นสิ่งที่จำเป็นในการศึกษา นักศึกษาส่วนมากต้องการทราบค่าใช้จ่าย แต่ต่างท้องที่ต่างมหาวิทยาลัยก็แตกต่างกันออกไป แต่ขอสรุปค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการศึกษาดังนี้

๑. เดินเรื่องทำหนังสือเดินทาง(PASSPORT) 2,000-3,000 บาท

๒. ค่าสมัครเข้ารับการอบรมที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ประมาณ 5,000 บาท ในกรณีที่เข้ารับการอบรมจากสถาบันสงฆ์ (มจร.)

๓. ค่าเดินเรื่องต่างของฝ่ายประเทศอินเดีย 100 ดอลลาร์สหรัฐ

๔. ค่าสมัครเข้าเรียน ประมาณ 5,500 – 15,000 บาท (แล้วแต่มหาวิทยาลัย)

๕. ค่าบำรุงการศึกษา สายศิลป์-สังคม ปีละ 500-30,000 บาท (แล้วแต่มหาวิทยาลัย)

๖. ค่าบำรุงการศึกษา สายวิทยาศาสตร์ –วิศวกรรม-แพทย์ ปีละ 5,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

๗. ค่าธรรมเนียมนักศึกษาต่างประเทศ แล้วแต่มหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัย เสียครั้งเดียวแต่เยอะนั่นก็คือ 50,000-60,000 รูปี

๘. ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน

๙. ค่าหอพัก/บ้านพัก

๑๐. อาหารการกิน

๑๑. สมุดหนังสือ

๑๑. ค่าวีซ่า และอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลัง

12.และอย่าลืมเงินเอามาเผื่อเที่ยวด้วยเด้อ เพราะอินเดียมีแหล่งเที่ยวเยอะมาก

คิดว่าน่าจะพอมีประโยชน์บ้างนะครับ อย่างน้อยๆ คุณก็ได้รู้ ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ และต้องขอโทษพวกที่เสียผลประโยชน์และพวกที่ยอมรับความจริงไม่ได้ด้วยนะครับ

นี้เป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะบอก ที่ยังไม่ได้บอกมีอีกเยอะ ต้องมาดูด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่า นี้เหรอคืออินเดีย

และอยากให้คาถาบทหนึ่งก่อนที่จะมาเรียนนั่นก็คือ “รีบเรียน รีบจบ แล้วให้รีบกลับ” อินเดียมีประชากรเยอะแล้ว ไม่ต้องมาเพิ่มประชากรให้อินเดียอีกครับ แสวงหาความรู้ให้มากเท่าที่จะหาใส่ตัวเองได้ เพื่อกลับไปพัฒนาศักยภาพตัวเองและนำไปใช้ในที่ทำงานที่เมืองไทยดีกว่า อีกหน่อยจะเข้าใจประโยคนี้ว่าผมหมายถึงอะไร

ผมถือว่าความรู้ที่ให้ไปเป็นวิทยาทาน.......การให้ความรู้ ย่อมชนะการให้ทั้งปวง ถูกหรือเปล่า? ชักไม่แน่ใจ .
โดย : พงษ์ประภากรณ์ อีเมล์ : surarin81@hotmail.com

//www.watkoh.com/data/sangve4/learn_india1.html




 

Create Date : 10 มีนาคม 2552
2 comments
Last Update : 10 มีนาคม 2552 20:14:03 น.
Counter : 4393 Pageviews.

 

นอนหลับฝันดีนะก้าบ

 

โดย: พลังชีวิต 10 มีนาคม 2552 22:05:27 น.  

 

อยากไปเรียนภาษาที่เมืองดาร์จีลิง ไม่ทราบมีคำแนะนำไหมคะ แต่ที่คุณเล่ามาก็เป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่สนใจเรียนต่ออินเดียแล้วละค่ะ

 

โดย: เร (RadarTAAP ) 20 กันยายน 2552 20:56:45 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

 

superhyper
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add superhyper's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com