“มินิ คูเปอร์ เอส คูเป้” ตัวถังนี้เร้าใจที่สุด

ครั้งผู้เขียนเห็นโฉมต้นแบบของ “มินิ ตัวถังคูเป้” ที่เปิดตัวในงาน“แฟรงก์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ 2009” ก็คิดในใจว่า เอาอีกแล้ว คราวนี้“มินิ”ทำรถประหลาดอะไรออกมาอีก? หรือหน้าตาแบบนี้มันจะขึ้นสายการผลิต-วางขายจริงรึ?

...เคยเจอตัวถังแวกอน “คลับแมน” ที่มีประตูแปลกๆรอบคัน จากนั้นมาเจอเอสยูวี“คันทรีแมน” ทรงสูงใหญ่แถมมี 5 ประตู ซึ่งสองรุ่นนี้ผู้เขียนว่าไอเดียบรรเจิดแล้ว ทั้งในแง่ของการออกแบบ และการมุ่งหวังเพิ่มไลน์อัพในการลุยตลาด แต่พอมาเป็นตัวถังลำดับที่ 5 อย่าง “คูเป้” ยิ่งเพิ่มความแปลกใจ ระคนชื่นชมทีมงานของ “มินิ” ที่หาอะไรใหม่ๆทำแบบไม่หยุดนิ่ง

หลังสิ้นสงสัย พร้อมๆกับการที่บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย นำ“มินิ คูเป้” มาอวดโฉมในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2011 และทิ้งระยะจนได้ฤกษ์เคาะราคาขายไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กับรุ่น“คูเปอร์ เอส” 2.89 ล้านบาท ส่วน“คูเปอร์” ราคา2.32 ล้านบาท



เมื่อเห็นรถคันจริงดูสวยกว่าในรูปครับ ภาพรวมที่เคยดูแปลกตาไม่สมส่วน กลับกลายเป็นความเร้าใจที่น่าค้นหา ด้านมิติตัวถังยาว 3,734 มม. กว้าง 1,683 มม. ส่วนความสูง 1,384 มม. นั้นต่ำกว่ารุ่นแฮทซ์แบ็ก52 มม.

โดยตัวถังสปอร์ต คูเป้ที่ต่ำเตี้ย แต่บานประตูยาวใหญ่ทำองศาเปิดไว้ 3 ขยัก หรืออ้าได้กว้างสุด 90 องศาตั้งฉากกับขอบตัวถังพอดี ก็ช่วยให้การเข้า-ออกสะดวกมากขึ้น

เมื่อเข้าไปนั่งภายในห้องโดยการ การออกแบบและกลิ่นไอก็เหมือนกับมินิตัวถังอื่นๆ พวงมาลัย คันเกียร์ แผงแดชบอร์ดหน้ามีหน้าปัดวัดความเร็วกลมโตเป็นเอกลักษณ์ เบาะหนังโครงเดิมโอบกระชับสรีระ แต่ที่แปลกไปคือ มีเพียง 2 ที่นั่ง ที่สำคัญทัศนวิสัยการขับขี่ลดลงไปเยอะ

หลังจากปรับระดับเบาะนั่งให้เหมาะสมกับการขับขี่แล้ว พบว่าบานกระจกหน้าที่ลาดเอียง มีมุมมองต่ำและแคบกว่าตัวถังอื่นๆ ส่วนขาแข้งยังขยับขยายได้นิดหน่อย เฮดรูมเหลือพอสมควร

อย่างไรก็ตามีสิ่งที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือ พื้นที่เก็บสำภาระด้านท้ายถือว่ากว้างใหญ่กว่าที่คิด โดยมินิแจ้งว่ามีปริมาตรถึง 280 ลิตร เทียบเท่ากับรุ่นคลับแมนเลยทีเดียว



นอกจากนี้มินิยังชูออปชันเอาใจวัยรุ่นอย่าง “มินิ คอนเนค” ระบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือ iPhone 4 ผ่านระบบ Data GPRS หรือ 3G สามารถใช้โปรแกรม Facebook, Twitter, Web news และ Web radio ซึ่งมีเขียนมีโอกาสได้ลองเล่นบาง “ฟีเจอร์” ก็สะดวกยอดเยี่ยม

จะว่าไปออปชันลูกเล่นต่างๆ ผู้เขียนไม่ได้เน้นมาก เพราะใจมุ่งที่จะลองขับจับสมรรถนะของ “มินิ คูเปอร์ เอส คูเป้” ตัวนี้มากกว่า โดยเครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ไดเรกอินเจกชันบล็อกนี้ มาพร้อมเทคโนโลยีอย่าง Twin-scroll Turbo คือเทอร์โบลูกเดียวนั่นละครับ แต่มีประสิทธิภาพการทำงานเหมือนเทอร์โบคู่ แถมขนาดเล็กกว่า โดยจะแบ่งทางเดินไอเสียเป็นสองช่อง ทำงานประสานกันเพื่อส่งแรงดันไอเสียให้ใบพัดเทอร์โบอย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่รอบต่ำ)

ขณะเดียวกันเมื่อจัดการไอเสียให้เทอร์โบอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ในส่วนของไอดีที่เข้าไปในห้องเผาไหม้ ก็เป็นหน้าที่ของระบบวาล์วแปรผัน VALVETRONIC ที่กำหนด องศา-เวลาเปิดปิด ให้อากาศเข้าไปอย่างเหมาะสมตามรอบเครื่องยนต์

ดังนั้นประสิทธิผลที่ได้คือกำลังสูงสุด 184 แรงม้าที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 240 นิวตัน-เมตรที่ 1,600-5,000 รอบ และโอเวอร์บูสได้ถึง 260 นิวตัน-เมตร

การขับไร้อาการรอรอบ รถดูจะกระตือรือร้นตลอดเวลา ขณะที่เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ส่งกำลังสู่ล้อหน้าฉับไว ช่วงเร่งจังหวะแซง เพียงแช่ไว้ที่เกียร์ D ก็ขับสนุกทันใจแล้ว

จากจุดหยุดนิ่ง บี้คันเร่งขึ้นไปถึงความเร็ว 100 กม./ชม. ใช้เวลาเพียง 7.1 วินาที หรือถ้าไม่เร้าอารมณ์สามารถเปลี่ยนเป็นโหมดสปอร์ตที่ระบบจะปรับการตอบสนองของเครื่องยนต์ เกียร์ให้กระฉับกระเฉง ตลอดจนพวงมาลัยไฟฟ้าหน่วงดึงและสั่งงานเฉียบคมมากขึ้น

เหนืออื่นใดสิ่งใหม่ที่ผู้เขียนเพิ่งรู้สึกได้ในโหมดสปอร์ตของมินิ นั่นคือเสียงเครื่องยนต์ และเสียงระเบิดในท่อไอเสีย “ปุก ปุก” (ถ้าเป็นรถแต่งก็จูนหนาให้ไอเสียไประเบิดนอกห้องเผาไหม้) ซึ่งจะได้ยินชัดช่วงชะลอความเร็วพร้อมๆกับเกียร์ชิฟท์ดาวน์

เมื่อสอบถามไปยังบีเอ็มดับเบิลยูได้ความว่า ในโหมดสปอร์ตของ มินิ คูเปอร์ เอส จะมีการปรับแต่งเสียงเป็นพิเศษ หรือเป็นลักษณะเสียงที่เรียกว่าpopping noise หวังให้อารมร์สปอร์ตมากขึ้น (ถ้าเป็น กอล์ฟ จีทีไอ และ ซิรอคโค มีเสียงนี้เช่นกันและชัดเจนกว่า โดยโฟล์คสวาเกนใช้เทคนิค เอาไมค์โครโฟนไปจ่อ แล้วดึงเสียงเข้ามาภายในห้องโดยสาร)

อีกลูกเล่นที่เห็นชัด และไม่ต้องตั้งสมาธิ(ฟัง)กันมากคือระบบ “สปอยเลอร์หลังแบบแอคทีฟ” เมื่อขับถึงความเร็ว 80 กม./ชม. สปอยเลอร์ที่ว่านี้จะเด้งขึ้นมา3-4 นิ้ว โดยอัตโนมัติหวังช่วยเรื่องแรงกดและการทรงตัว จากนั้นจะยุบลงไปเองถ้าเราลดความเร็วลงมาต่ำกว่า 60 กม./ชม.

...ถือเป็นลูกเล่นที่พวกเยอรมันเขาชอบละครับ แต่ส่วนตัวผู้เขียนว่า สปอยเลอร์หลังที่ว่ามันโผล่ออกมาที่ความเร็ว น้อยไปนิด เพราะ 80 กม./ชม. การขับยังไม่ได้เสียวไปไหน บวกกับตัวรถต่ำเตี้ย การทรงตัวก็หนึบแน่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่สำคัญเมื่อสปอยเลอร์ยกขึ้นมาแล้ว ยิ่งปิดทัศนวิสัยจากกระจกมองหลังไปแทบจะสนิท (เดิมก็มีพื้นที่เล็กแคบอยู่แล้ว)

อย่างไรก็ตาม มินิ คูเปอร์ เอส คูเป้ เป็นรถที่ขับคล่องตัว พวงมาลัยสั่งงานแม่นยำ สอดคล้องกับพลังที่จัดเต็มทุกย่านความเร็ว บวกกับการนั่งต่ำเตี้ย(ลงไปกว่า แฮทซ์แบ็กเดิม) จนรู้สึกว่าคนกับรถเป็นส่วนเดียวกัน บางช่วงผู้เขียนมีโอกาสวิ่งทางตรงถนนยาวใช้ความเร็วเกิน 140 กม./ชม.ตัวรถหนึบนิ่ง ส่วนการเข้าโค้งบนความเร็ว 120 กม./ชม. ยังเกาะถนนแน่น ยิ่งออกแบบโอเวอร์แฮงค์สั้นๆขับปราดเปรียว เล็งไลน์เข้าโค้งสนุก

สำหรับช่วงล่างหน้าแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท เหล็กกันโคลง หลังมัลติลิงค์ เหล็กกันโคลง อาจจะเซ็ทมาแข็งกว่า ตัวถังแฮทซ์แบ็ก R56 อยู่นิดๆ ซึ่งรับรู้ถึงอาการเด้งสะเทือนพอสมควร แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ถึงกับแข็งเท่าโรดสเตอร์ มาสด้า MX-5

ความแรงของ“คูเปอร์ เอส คูเป้” ยังมาพร้อมความอุ่นใจด้วยการเบรกที่ตอบสนองเร็วและแม่นยำ ขับความเร็วสูงกดชะลอหยุดอย่างนุ่มนวล และยังเสริมด้วยระบบไฟฟ้าอีกเพียบ ทั้ง เบรกป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบควบคุมการเบรกขณะเค้าโค้งCBC ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assistant และ ระบบรักษาเสถียรภาพ DSC

รวบรัดตัดความ...หลังได้ลองมินิ(ยุคใหม่) มาครบทุกตัวถัง ต้องบอกว่ารุ่นคูเป้ ขับสนุกที่สุด (ไม่นับพวก JCW) ด้วยความแรงระดับ “คูเปอร์ เอส” ที่อัดเทคโนโลยีขับเคลื่อนมาเต็มเหนี่ยว พร้อมช่วงล่างหนึบแข็ง พวงมาลัยตอบสนองแม่นยำ ส่งผลให้การเร่งแซง หรืออยากซัดแรงๆทำได้ทันใจแบบไม่ต้องลุ้นระทึก...ที่เหลือก็แค่(หา)คนนั่งไปด้วยว่าจะเร้าอารมณ์ตามรถรึเปล่า










credit : manager.co.th



Create Date : 26 มีนาคม 2555
Last Update : 26 มีนาคม 2555 13:24:44 น. 0 comments
Counter : 1734 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

teayneverdie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]




Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 
26 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add teayneverdie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.