Source code : ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย ? (สปอยล์)



ผมได้ยินข้อความนี้ครั้งแรกจากวีดีทัศน์เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่อาจารย์วิชาอารยธรรมไทยเปิดให้ดูเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัยปี ๑ แม้รูปประโยคจะผูกได้สวยงามเพราะย้อนแย้งความหมายชวนจดจำ แต่ลึกๆ ในใจก็ยังคงสงสัยถึงความจริงแท้แน่นอนของมัน

ความคิดเห็นส่วนบุคคลอาจแตกต่างกันไปและไร้ข้อสรุป แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งสามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นภาวะวิสัยโดยไม่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของใคร ก็สะท้อนและสนับสนุนคำกล่าวนี้อยู่ไม่น้อย คล้ายหนัง ๒๐๐๑ : A Space Odyssey ของ สแตนลี่ย์ ครูบริก ที่กล่าวถึงความเสื่อมโทรมอย่างซ้ำซากในประวัติศาสตร์และอนาคตของสังคมมนุษย์

แต่กับ Source code ผลงานของผู้กำกับเรื่อง Moon ซึ่งกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ หนังสื่อสารกับผู้ชมอย่างมีความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดีขึ้นจากการเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต

เช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อน Source code นำเสนอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสัมพัทธ์กับคุณค่าเชิงจริยธรรมของมนุษย์ ภายใต้พล็อตสร้างสรรค์ตามสไตล์หนังนิยายวิทยาศาสตร์ Source code บรรจุเนื้อหาเพื่อบูชาคุณค่าความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เสียดสีและประเมินพฤติกรรมคลั่งชาติของอเมริกาได้อย่างตลกร้าย

ด้วยคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่กระจ่างนัก (ทั้งกับพระเอกและผู้ชม) ทฤษฎีในช่วงต้นของหนังคล้ายกับแนวคิดของตอนหนึ่งในซีรี่ส์เรื่อง fringe ที่ว่า มนุษย์จะบันทึกโลกก่อนตายไว้ประมาณ ๘ นาที เมื่อเราเชื่อมโยงคนที่มีลักษณะเข้ากันได้กับคนตายผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Source code เราจะสามารถสำรวจข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านร่างเดิมก่อนตายได้ภายในเวลา ๘ นาที ( เหมือนการอวตารเข้าแทนที่ชีวิตเดิมในโลกเสมือนจริงจากหนังเรื่อง The Matrix และ The Thirteenth Floor ) และกรณีนี้ พระเอกซึ่งเป็นนาวิกโยธินสหรัฐจะต้องเข้าไปสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายบนรถไฟ (ที่ระเบิดไปแล้ว) เพื่อยับยั้งการวางระเบิดกัมมันตรังสีในเมืองซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นตามหนังสือขู่เตือนของผู้ก่อการร้าย

ความเข้าใจของพระเอกค่อยๆ เปลี่ยนไปทุกครั้งที่เข้าไปในโลกก่อนที่รถไฟจะระเบิด เริ่มจากเข้าใจว่ามันคือโลกเสมือนจริงคล้ายใน The Matrix หรือ The Thirteenth Floor ( ความประหลาดใจของพระเอกว่าโลกจำลองมีสภาพเหมือนจริงมาก) กระทั่งตระหนักอย่างจริงจังว่ามันคือความจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง (ความผูกพันลึกซึ้งกับนางเอกที่ทำให้พระเอกเชื่อในความมีชีวิตในโลกนั้น)

ทฤษฎีในช่วงหลัง หนังอธิบายใหม่โดยหักล้างทฤษฎีเดิมเสียสิ้น ว่าการเข้าไปในโลกก่อนรถไฟระเบิดนั้นคืออีกหนึ่งเส้นความจริงในมิติคู่ขนานที่เกิดขึ้นช้ากว่าเส้นความจริงเดิม (การเหลื่อมเวลาในมิติคู่ขนานสนับสนุนคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ “เดจาวู” เป็นอย่างดี ว่าความคุ้นเคยที่เรารู้สึกเกิดมาจากประสบการณ์ในมิติคู่ขนานอื่น) แต่ละเส้นความจริงมีอนาคตเป็นของตัวเองและเป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวพันกัน ข้อความคิดนี้อาจอธิบายได้ง่ายๆ ด้วยสัญลักษณ์ของรางรถไฟที่มีรถไฟหลายขบวนซึ่งออกเดินทางไม่พร้อมกัน

หนังกล่าวถึงแรงจูงใจของผู้ก่อการร้ายซึ่งเป็นคนชาติเดียวกันว่าโลกนี้คือนรก การจะสร้างโลกใหม่ให้ดีกว่าเดิมก็ต้องเริ่มด้วยการทำลายปัจจุบัน พระเอกท้าทายแนวคิดนี้ด้วยการมองโลกในแง่ดีและสร้างเสียงหัวเราะให้เกิดขึ้นบนรถไฟขบวนนั้น ความเคร่งเครียดของทุกคนถูกคลี่คลายพร้อมผลิบานรอยยิ้มที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ราวปาฏิหาริย์ หากผู้ก่อการร้ายหนึ่งคนสามารถทำให้รถไฟขนวนนี้กลายเป็นนรก พระเอกก็พิสูจน์แล้วว่าคนธรรมดาหนึ่งคนสามารถทำให้รถไฟขนวนเดิมนี้กลายเป็นสวรรค์ได้เช่นกัน

หนังจบลงอย่างมีความสุข พระเอกเสร็จสิ้นภารกิจทหารด้วย mercy kill ในเส้นเรื่องหลักและเริ่มต้นชีวิตใหม่กับนางเอกในร่างของครูสอนประวัติศาสตร์ในมิติคู่ขนาน

Source code มีบทที่สร้างสรรค์และชวนสนุกคิด แต่ที่โดนใจผมเป็นพิเศษคือเนื้อหาย่อยๆ ที่หนังสอดแทรกเข้ามา โดยเฉพาะการจูงใจพระเอกของกองทัพให้ปฏิบัติภารกิจซึ่งต้องจบลงด้วยความตายครั้งแล้วครั้งเล่า ชวนเชื่อพระเอกด้วยความรู้สึกชาตินิยม (เปิดบันทึกเสียงของพ่อที่กล่าวสดุดีในความกล้าหาญ) และมองข้ามคุณค่าความเป็นมนุษย์ในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่ง (ไม่มีสิทธิแม้แต่จะตายอย่างสงบ) คล้ายจะเสียดสีผู้มีอำนาจที่กล่าวอ้างนโยบายชาตินิยมและสันติภาพโลกในการส่งทหารเข้าสู่สงครามที่มีแต่ความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นแม้ในปัจจุบัน

ฉากที่พระเอกสันนิษฐานผู้ก่อการร้ายจากการมองเพียงเปลือกนอก (น่าเชื่อว่าเป็นมุสลิมหรือชาวตะวันออกกลาง) หรือฉากที่พระเอกค้นกระเป๋าผู้ต้องสงสัยด้วยวิธีการที่รุนแรงและก้าวร้าวเกินสมควร สุดท้ายก็ไม่พบหลักฐานใดๆ เพราะเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ สะท้อนถึงพฤติกรรมของชาติมหาอำนาจในความวิตกจริตต่อคนต่างศาสนา กระทำการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอันพึงต้องเคารพ รวมถึงการประกาศสงครามที่สร้างความสูญเสียมหาศาลเพียงเพราะความสงสัยโดยปราศจากข้อพิสูจน์

Source code นำเสนอประวัติศาสตร์ระยะใกล้ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาซึ่งคนส่วนใหญ่ล้วนมีประสบการณ์ร่วม ความผิดพลาดในอดีตคือบทเรียนชั้นดีให้เราได้ขบคิดและเรียนรู้ เหมือนฉากที่พระเอกหลบเท้าออกจากน้ำที่จะหกใส่ หรือการแก้ไขความผิดพลาดที่พระเอกได้ทำไปด้วยการกล่าวขอโทษพ่อตัวเอง

กลับมาสู่คำกล่าวที่ว่า “ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย” อีกครั้ง ว่ามีความจริงแท้แน่นอนเพียงใด ผมเชื่อว่าโอกาสในการพิสูจน์ความจริงของคำกล่าวนี้ยังไม่ยุติลง ตราบใดที่สังคมยังมีอนาคตให้เขียนถึง สังคมจะทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกในเรื่องเดิมๆ เพื่อยืนยันคำกล่าวนี้ให้กลายเป็นสัจธรรม หรือท้าทายมันให้เป็นเพียงคำกล่าวในประวัติศาสตร์ที่ไร้สาระ

ถึงเวลาที่เราต้อง “เลือก” แล้วครับ

...




 

Create Date : 17 เมษายน 2554
2 comments
Last Update : 17 เมษายน 2554 22:31:11 น.
Counter : 1781 Pageviews.

 

ชอบมากเรื่องนี้
ชอบตอนจบ
แอบ loop

สงสารพระเอก
Everything's gonna be OK.

 

โดย: Lavinia 1 มิถุนายน 2554 21:08:05 น.  

 

เขียนได้ดีมากเลยครับบทความนี้ สะท้อนถึงยุคสมัยปัจจุบันได้ดีมากเลยครับ

 

โดย: อาท IP: 180.183.58.189 26 สิงหาคม 2554 6:09:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


beerled
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
17 เมษายน 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add beerled's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.