Atonement : โลกกลมใบนี้มีหลายมุม



ประหนึ่งต่อยอดเติบโตจากงานชั้นครูอย่าง Rashomon ของอาคิระ คูโรซาว่า ในขณะที่ Rashomon ( อาจหมายรวมถึง Hero ของจางอี้โหมวด้วย) แสดงความคิดของแต่ละตัวละครออกมาเป็นภาพที่แตกต่างกันจากเหตุการณ์เดียว Atonement กลับแสดงมุมมองต่อภาพเหตุการณ์เดียวให้เห็นออกมาอย่างแตกต่างกัน ผู้กำกับโจ ไรท์ชัดเจนในวิธีการที่หนังเรื่องนี้ควรจะเป็น การเรียบเรียงเหตุการณ์อย่างไม่ลำดับเวลาก่อนหลัง เดินหน้าถ่ายทอดเรื่องราวที่คล้ายจะเรียบง่ายธรรมดานี้ให้ออกมาได้อย่างแพรวพราว รับใช้แก่นหลักของเรื่องที่มุ่งอวดมุมมองแปลกใหม่ได้เป็นอย่างดี



ผลงานชิ้นที่สองของผู้กำกับอังกฤษคนนี้ แสดงพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด หาก Pride and Prejudice คือหนังภาพสวยแสงงามที่มองโลกอย่างสดชื่นเสมือนการเริ่มต้นเช้าวันใหม่เพื่อจับภาพชีวิตรักของเด็กสาวในวัยดรุณแรกแย้ม Atonement ซึ่งมาในทางที่หม่นกว่าก็งดงามขึ้นได้ด้วยมุมมองที่อุดมไปด้วยวุฒิภาวะ เรื่องราวในหนังที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมชื่อก้องเรื่องนี้แสดงความเข้าใจอันลึกซึ้งถึงปัญหาของชีวิตและสังคมโลก มองตัวละครอย่างเป็นกลางปราศจากอคติและหลีกเลี่ยงการพิพากษาหาตัวคนผิด เหนือยิ่งไปกว่านั้น Atonement มอบทางออกให้กับเรื่องราวที่เป็นดังโศกนาฏกรรมนี้ได้อย่างงดงาม



เหตุการณ์เริ่มด้วยความรักต่างวรรณะของสาวงามจากครอบครัวชนชั้นสูงนามว่าซิซีเลีย (คีร่า ไนท์ลีย์กลับมาพร้อมผู้กำกับคู่บุญอีกครั้ง ) กับ ร็อบบี้ เด็กสวนผู้ต่ำต้อยทว่าจิตใจใฝ่เอื้อมของสูง ( เจมส์ แมคอะวอย จากบทเด็กหนุ่มผู้ตระหนักถึงด้านมืดของอิสรภาพใน The Last King of Scotland และจากบทตัวฟอนส์ใจดีใน Nania ) ฉากที่ร็อบบี้แหงนหน้ามองเครื่องบินแม้อาจจะดูเฉิ่มเชยแต่ก็สื่อความรู้สึกออกมาได้ชัดถึงระยะห่างทางฐานะของทั้งคู่ ความแตกต่างนี้คือปราการกั้นให้ทั้งสองไม่อาจแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้ ความปรารถนาที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยมารยาทอันดีงามทางสังคมเริ่มปริตัวเผยออกทีละนิด ก่อนที่ความรักอันร้อนแรงในวัยหนุ่มสาวของซิซีเลียกับร็อบบี้จะปะทุออกมาอย่างหมดเปลือก ภาพความสัมพันธ์โดยตลอดถูกจับตามองอย่างสงสัยใคร่รู้ด้วยแววตาสีฟ้าใสของเด็กน้อยนามว่าไบรโอนี่



ไบรโอนี่ในวัยสิบสามขวบแต่ศักยภาพทางสมองเรียกได้ว่าเกินวัย เธอประพันธ์บทละครเพื่อแสดงต้อนรับการกลับมาของพี่ชาย ทว่าเมื่อละครเรื่องนี้ไม่อาจถูกเนรมิตให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ความสนใจของไบรโอนี่ก็ถูกดึงให้จดจ่ออยู่กับบทละครเรื่องใหม่ในทันที แรงบันดาลใจอันพุ่งพรวดของเธอเกิดขึ้นจากการเห็นภาพมุมต่ำผ่านหน้าต่างของบ้าน มุมมองของไบรโอนี่เห็นร็อบบี้กำลังขู่เข็ญซิซีเลียผู้เป็นพี่สาวให้ต้องเปลืองตัวไปกับความหื่นกระหายกามของเขา

ไบรโอนี่เริ่มมองชีวิตจริงเป็นเสมือนนวนิยาย แต่ละคน แต่ละฉาก คือตัวอักษรในจินตนาการที่เธอปรุงแต่งขึ้น สถานการณ์ความผิดพลาดที่ประจวบเหมาะอย่างพอดิบพอดีเป็นดังตลกร้ายที่พาให้เรื่องราวเดินเข้าสู่ผลกระทบที่ร้ายแรงเกินใครคาดเห็น

มุมมองของไบรโอนี่ต่อร็อบบี้เริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ค่ำคืนหนึ่งเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้าน ญาติของครอบครัวถูกข่มขืน ร็อบบี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด ส่วนไบรโอนี่อ้างตัวเองเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด ให้การต่อตำรวจที่สอบปากคำตามมุมมองที่เธอรู้สึกนึกคิด



ร็อบบี้ถูกพิพากษาต้องโทษจำคุก ต่อมาก็เบี่ยงทางชีวิตไปเป็นทหารรับใช้ชาติในสงครามโลก ซิซีเลียระทมทุกข์กับเหตุการณ์ครั้งนั้นจนไม่อาจให้อภัยการทำผิดของน้องสาว ความรักของทั้งคู่ถูกทำลายลงด้วยน้ำมือของเด็กน้อยผู้สำคัญตนว่าเฉลียวฉลาด ทว่ากลับยังคงอ่อนด้อยวิจารณญาณและไร้ซึ่งเดียงสาแห่งวัย

หนังตัดเข้าสู่บรรยากาศของสงครามที่ล้อไปมากับเรื่องราวของความรัก อรรถรส ณ จุดระเบิดไคลแม็กของเรื่องนี้ถูกเก็บซ่อนอย่างมิดชิดไว้ในเบื้องปลายของหนัง เป็นฉากจบที่หักมุม ( สำหรับผู้ที่ไม่เคยอ่านนิยายมาก่อนเช่นผู้เขียน ) ทั้งยังเป็นเซอร์ไพรซ์ให้น้ำตาตกในและพลันก็รู้สึกเปี่ยมปิติออกมาได้ในเวลาเดียวกัน

บทภาพยนตร์ผูกเรื่องราวความรักต่างวรรณะเข้ากับเหตุการณ์ครั้งสงครามโลกได้อย่างกลมกลืน ตั้งอยู่บนประเด็นว่าด้วยมุมมองที่แตกต่างนำมาสู่ผลกระทบอันร้ายแรงมหาศาล ฉากที่ตรึงตาผู้ชมได้อยู่หมัดคือ longtake ที่ชายหาด ปรากฏภาพความเปลืองเปล่าของสงครามได้อย่างหมดเปลือก ผลกระทบของความไร้สาระนี้มหาศาลเกินบรรยาย ผู้เขียนชอบวิธีที่ผู้กำกับวางฉากสงครามนี้เข้ากับสนามเด็กเล่นได้อย่างเหมาะเจาะเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เดียงสาในสงครามของมนุษย์โลก (มองฉากนี้แล้วเห็นหน้าไบรโอนี่ขึ้นมาทันใด) อารมณ์เสียดสีประชดประชันแบบผู้ดีอังกฤษถูกใช้อย่างเฉียบคมโดยไม่จำเป็นต้องออกมาก่นด่าหรือประณามกันด้วยวิธีการที่ถ่อยทราม



Atonement สร้างมุมมองของแต่ละตัวละครให้ออกมาแตกต่างกัน ทั้งยังสร้างความรู้สึกที่แตกต่างกันคนละขั้วให้เกิดขึ้นอย่างสำเร็จ มุมมองแรกอาจรู้สึกเป็นลบ มุมมองที่สองกลับทำให้รู้สึกได้ถึงด้านบวก ผู้กำกับพัฒนามุมมองเพิ่มขึ้นอีกในช่วงหลังเป็นการมองผ่านข้อเท็จจริงและจินตนาการ ความหลากหลายทางมุมมองที่ถูกใช้ระหว่างเล่าเรื่องถือเป็นเสน่ห์สำคัญของ Atonement

Atonement โดดเด่นด้วยดนตรีประกอบที่ฉลาดและไพเราะ ผสมเสียงเคาะแป้นพิมพ์ดีดเข้ากับเครื่องดนตรีอื่นได้อย่างสร้างสรรค์ งานด้านเทคนิค ภาพ การตัดต่อ และการแสดงโดยรวมทำออกมาได้ดีในระดับล่ารางวัล



มุมมองที่แตกต่างนั้นไม่มีถูกหรือผิด ความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมีเหตุมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน (ประเด็นใกล้เคียงกับหนังเรื่อง Babel ซึ่งกล่าวถึงปัญหาการสื่อสาร) ฉากหนึ่งในหนังที่สะท้อนความคิดนี้ออกมาได้อย่างชัดเจน นั่นคือ ตอนที่ชาวบ้านฝรั่งเศสนำอาหารมาให้ทหารอังกฤษ การสื่อสารคนละภาษาทำเอาเกือบยิงกันตายไปข้างหนึ่งทั้งๆที่ต่างฝ่ายต่างก็มีเจตนาดี

มุมมองของโบรโอนี่ก็เช่นกัน ผู้ชมไม่อาจพิพากษาว่าเป็นความชั่วร้ายเลวทราม สถานการณ์ต่างๆ ที่แวดล้อมล้วนแต่ชี้ชวนพาให้ต้องคิดเห็นเป็นเช่นนั้น หากเราผู้ชมต้องยืนอยู่ในมุมเดียวกับไบรโอนี่ โอกาสที่จะเห็นเป็นอื่นก็คงไม่มีทางเป็นไปได้เช่นกัน



โลกเราผ่านยุคแห่งอารยธรรมมาหลากหลายยาวนาน ทว่าน่าแปลกที่กลับรู้สึกว่าโลกใบนี้ยังคงไร้เดียงสาและอ่อนวุฒิภาวะอย่างน่ากลัว สงครามยังคงมี การต่อสู้ยังคงอยู่ และมุมมองที่แตกต่างยังคงก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ถึงกระนั้น ความแตกต่างทางมุมมองก็ยังไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของสงคราม การยึดมั่นในมุมมองที่คับแคบของตนและประณามเหยียดหยามมุมมองของผู้อื่นต่างหากคือมูลเหตุตั้งต้นของสงคราม มุมมองที่แตกต่างสำคัญและจำเป็นต่อโลกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่เรียกว่า “สันติภาพ”โลกนี้คงงดงามไม่ได้หากทุกสิ่งเหมือนกันราวกับถูกแกะออกมาจากแม่พิมพ์ ไม่มีเสียงสูงต่ำของดนตรี ไม่มีเฉดสีของแถบรุ้ง ไม่มีมุมใหม่ให้ท่องเที่ยว ไม่มีความความตื้นเต้นต่อวัฒนธรรมใหม่ให้เรียนรู้

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมโลกกลมๆ ใบนี้ถึงต้องมีหลายมุม





 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2551
7 comments
Last Update : 21 มีนาคม 2552 9:50:35 น.
Counter : 2155 Pageviews.

 

น่าจะเอาบทความนี้ของพี่ มาควบรวมกับของพี่ merveillesxx นะครับ

เพราะทั้งสองคนเขียนถึงหนังเรื่องนี้ในคนละมุม คนละประเด็น และเขียนได้ดีมากๆทั้งคู่
(คนหนึ่งพูดเรื่อง การมองโลกจากคนละมุม ส่วนอีกคนพยายามเจาะถึงความจริงของเรื่องและความคิดในใจของไบรโอนี่)

ผมเองอยากเขียนถึงเรื่องนี้เหมือนกัน แต่สมองยังไม่ใคร่จะแล่นเท่าไหร่เลย อาจจะได้แค่เขียนถึงสั้นๆ
แต่โดยส่วนตัว รู้สึกเสียดายอยู่เล็กน้อยที่หนังมันยังไม่ 100% ยังมีส่วนที่เติมเต็มได้อีก (เช่น อารมณ์หนังที่ดร็อปไปมากในช่วงไบรโอนี่วัยรุ่น) ถึงกระนั้น หนังเรื่องนี้ก็ยังอยู่ในระดับ A+ สำหรับผมนะ เพียงแต่ถ้ามันแสดงศักยภาพได้ 100% หนังเรื่องนี้น่าจะขึ้นหิ้งคลาสสิคได้ง่ายขึ้นและเป็นตำนานได้เลยล่ะ

ปล. ฉากจบของเรื่องนี้คลาสสิคและ impact สูงมากๆ.. ความรู้สึกเดียวกับตอนผมดู The Brave One เลย

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.85.241 13 กุมภาพันธ์ 2551 17:58:29 น.  

 

นึกถึงมุมมองของไบรโอนี่..

จริงๆ เธอก็ยังทำไปทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด..เพียงเพราะไม่อยากให้พี่สาวได้คนที่เธอรักไป..

ถึงจะเข้าใจความรู้สึกของเธอก็ไร้ประโยชน์..เพราะเป็นมุมมองที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง...

 

โดย: หมีบางกอก (Bkkbear ) 13 กุมภาพันธ์ 2551 18:06:16 น.  

 

แวะไปอ่าน eastern promises มาแล้วนะครับ
ยังมีมุมมองน่าสนใจเช่นเดิม
ส่วนผมคงไม่เขียนแล้วล่ะ
โดนเซ็นเซอร์ที่ตัดไดอะล็อกสำคัญไปด้วย รู้สึกเหมือนดูหนังไม่สมบูรณ์

ส่วนเรื่องนี้ยังไม่ได้ดูเลยครับ
ไว้จะแวะมาอ่านอีกครั้ง

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 14 กุมภาพันธ์ 2551 22:15:12 น.  

 

ถ้าได้ไปดูแล้วเดี๋ยวเข่ามาใหม่ค่ะ

 

โดย: renton_renton 15 กุมภาพันธ์ 2551 11:00:28 น.  

 

Atonement เป็นหนังที่ผมคิดจะเลี่ยงสุดตัวเพื่อรอหาเวอร์ชั่นนิยายมาอ่าน
จวบจนได้รู้ว่าน้องไนท์ลีย์นำแสดง ผมจึงเปลี่ยนใจรอดูแผ่นแทนอย่างว่าง่าย

การเปรียบเทียบ จับประเด็นมาผนวก และประโยคจบของบทความยังคมคายอยู่เหมือนเดิม
เรื่องนี้ยังไงต้องดูให้ได้ เสียก็แต่ตอนมันเข้าโรงฉาย มันเอาแต่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง รังสิตไม่มีรอบจะดูเลย

อ่านงานคุณทีไรคันมือคันไม้อยากจะเขียนถึงหนังทุกทีสิน่า 555+
แต่ตอนนี้ต้องขอเว้นไว้ก่อน เพราะกำลังสนุกกับการเขียนถึงหนังสือ
(ที่มีแง่มุมให้เขียนน้อยกว่ามาก เนื่องจากเล่าเกริ่นมากไม่ได้ ปกติเขียนหนังเล่าเกริ่นๆไป คนดูดูไป 10 นาทีก็เลยที่เราเล่าแล้ว
แต่หนังสือนี่เล่าเกริ่นไป คนอ่านต้องอ่านเป็นบทๆกว่าจะข้ามไปถึงตอนที่เรายังเล่าไม่ถึง
ซึ่งถือว่าช่วยแก้นิสัยชอบเล่าสะเปะสะปะของผมได้ชะงักดีทีเดียว)

 

โดย: ขอรบกวนทั้งชุดนอน 17 กุมภาพันธ์ 2551 16:26:19 น.  

 

ชอบดนตรีพิมพ์ดีดมาก และ ใบปิดรูปไบรโอนี่ยืนหันหลังก็น่ารักสุดพลัง

สรุป เรื่องนี้แจ๋ว พลาด...ไม่ได้

 

โดย: Bestkop IP: 203.146.116.24 27 กุมภาพันธ์ 2551 11:54:49 น.  

 

หลังจากดูเรื่อง "กอด" ความคิดก็วนเวียนอยู่กับเรื่องนี้ตลอดครับ
atonement ที่ดูวันรุ่งขึ้น ผมเลยยังไม่ได้คิดถึงเป็นเรื่องเป็นราว

ผมพยายามมองหามิติเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2
หรืออาจจะเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา
อย่างสีกาชาดกับธงอังกฤษก็คล้ายกัน และเป็นเครื่องแต่งกายของพยาบาลแทลลิสในฉากที่เธอไปโบสถ์ และไปสารภาพผิด
สีแดงอีกครั้งกับฉากกั้นเตียงนอนของทหารฝรั่งเศสที่ตาย (เลือดเปื้อนหน้าแทลลิส)
ท่าทางของซีซีเลียในห้องสมุดกับในน้ำที่ท่วม-คล้ายกัน

แต่อย่างที่บอกครับ มัวแต่คิดเรื่อง "กอด" เลยยังสรุปความคิดพวกนี้ไม่ได้

ฉาก long take มหัศจรรย์จริงๆ
ให้ความรู้สึกแปลกๆ มันทั้งสวยงาม หดหู่ ดูขัดแย้งกันไปหมด

เรื่อง no country ยังไม่ได้ดูครับ
รู้ข่าวว่าจะย้ายไปฉายโรงสยาม ผมเลยชะลอไว้ก่อน

ส่วนเรื่อง "กอด"
ผมกำลังเขียนลงมติชน อาจจะสัก 2 ตอน
หนังมีรายละเอียดเยอะมากๆ
อย่างนึงที่มองเห็นคือชื่อ "ขวาน"
ใช่หมายถึงประเทศไทยแดนขวานทองหรือเปล่า

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 29 กุมภาพันธ์ 2551 12:52:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


beerled
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
13 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add beerled's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.