เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
21 เมษายน 2554
 
 

ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน 25-27 มีนาคม 2554 (วันสุดท้าย)

ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


อาทิตย์ 27 มีนาคม 2554




นู๋เมี่ยงตื่นขึ้นมาตอนตีสามครึ่ง ลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัว ไม่มีความรู้สึกอยากนอนต่อเลย (แหงมหล่ะ เป็นเพราะที่นอนด้วยนั่นแหล่ะ) ทำธุระส่วนตัวเสร็จก็เก็บที่นอน หมอน มุ้งคืนกลับเข้าที่ วันนี้จะได้กลับบ้านแล้วววว (เป็นไปได้ขนาดนี้หรือนี่ตรู)


- เก็บที่หลับที่นอนอย่างมีความสุข -


ตี 4 ครึ่ง ขึ้นไปไหว้พระสวดมนตร์เสร็จ พระอาจารย์แจ้งข่าวว่า จะให้เดินนอกสถานที่ ไปพระอุโบสถกลางน้ำ เย้.... ในที่สุด นู๋เมี่ยงก็จะได้ไปชมโบสถ์อย่างที่อยากไป ขอให้ตั้งแถวเดินเรียงกันไป ระยะทางค่อนข้างไกล



ตี 5 ฟ้ามืด ข้างนอกอากาศเย็น ลมพัดโชย ตัดสินใจถูกที่หยิบผ้าคลุมผืนใหญ่ติดมือลงมาด้วย เดินเรียงแถว 2 แถว ก้าวเท้าให้เร็ว สงบปิดวาจา


- เดินผ่านอาคารหลังหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าเป็นอาคารเรียน หอประชุม ห้องสมุด??? -

ตี 5 ครึ่งก็มาถึงพระอุโบสถกลางน้ำ มี 2 ชั้น เท่าที่สังเกตดูแล้ว พระอุโบสถยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่ก็คืบหน้าไปกว่า 90% ส่วนที่เหลือคือการตบแต่ง

หมายเหตุ เนื่องจากข้างนอกฟ้ายังมืดอยู่ กล้อง compact ตัวน้อยของนู๋เมี่ยง ไม่สามารถ่ายภาพให้เห็นอาคารพระอุโบสถได้



เหล่าผู้ปฏิบัติธรรมเดินเข้าไปยังโถงชั้นล่างโล่งๆ กราบไหว้พระรัตนตรัย ฟังพระอาจารย์เล่าถึงความเป็นมาของสถานที่วัด มหาจุฬาฯ ที่อำเภอวังน้อยแห่งนี้

ประมาณ 6 โมงเศษ พระอาจารย์อนุญาตให้พวกเราขึ้นไปชมพระอุโบสถ กราบพระด้านในได้ เมื่อเดินบันไดขึ้นไปบนชั้น 2 จะเห็นพระอุโบสถตั้งอยู่ตรงกลาง เอ.... งั้นหมายความว่า อาคารหลังนี้สร้างขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์แบบ two in one รึเปล่า? คือ ชั้นล่าง (เมื่อสักครู่นี้) ประหนึ่งคือ วิหาร? ศาลาการเปรียญ? และให้ชั้น 2 คือ พระอุโบสถ (อันนี้น่ะ ใช่)


- พระอุโบสถ -


ภายในพระอุโบสถยังโล่งๆ อยู่เลยค่ะ มีพื้นที่ขนาดเล็ก ไม่มีโต๊ะหมู่บูชา (สำหรับตั้งวางแจกัน กระถางธูป เทียน) วัตถุ หรือพระพุทธรูปใด นอกจากองค์พระประธาน ซึ่งยังหุ้มองค์ด้วยพลาสติกกันฝุ่นอยู่เลย


- พระประธานพระอุโบสถ -


ออกมาข้างนอก มาที่ลานพระอุโบสถกันดีกว่าค่ะ (ตอนนี้เราอยู่กันที่ชั้น 2 นะคะ) จะมีศาลารายตั้งอยู่ล้อมรอบพระอุโบสถ นู๋เมี่ยงสังเกตว่าพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อยู่ในศาลารายหลังหนึ่งดูค่อนข้างคุ้นตา ... ใช่แล้ว ก็องค์เดียวกับที่อยู่บนหน้าปกหนังสือสวดมนตร์นี่เอง



เดินชมบรรยากาศและสถานที่รอบๆ พระอุโบสถ และเช้าไปกราบนมัสการรูปเหมือนหลวงพ่อปัญญานันทะ


- รูปเหมือนหลวงพ่อปัญญานันทะ –


6.30 น. เริ่มตั้งแถวเดินกลับไปยังโรงอาหาร พระอาจารย์บอกว่าระยะทางที่พวกเราเดินมาถึงที่นี่ประมาณกิโลกว่า ความที่อากาศเย็นสบาย (เหมือนหน้าหนาวเลยแฮะ) เลยไม่รู้สึกเหนื่อย


- ลวดลายบนตัวนาคยังตกแต่งไม่แล้วเสร็จ –




- พระอุโบสถกลางน้ำ ซูมให้เห็นกันชัดๆ ชั้นล่างน่าจะเป็นวิหาร (อ่ะเปล่า) ชั้นบนคือพระอุโบสถ –


- ถ่ายให้เห็นพื้นที่ตั้งของพระอุโบสถกลางน้ำ -


ท้องฟ้าสว่าง เห็นทุ่งท้องนา เสียงนกร้องขับขาน เสียงใบไม้ ลำต้นไหวเอนไปตามสายลม ดูแนวต้นสนสูง ต้นหญ้าที่ไหลลู่เมื่อกระแสลมพัดมาในแต่ละครั้ง สายลมปะทะทางด้านหน้า นี่เรากำลังเดินสวนทางลมกันอยู่นะ



แม้ว่าจะเป็นเพียงต้นหญ้า แต่พวกมันก็ตอบแทนผืนดิน ปกคลุมผืนดินให้เกิดความอบอุ่น ชุ่มชื้น สร้างสีสันความงามให้กับธรรมชาติ


- ไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไร แต่ดอกสีม่วงข้างในคล้ายกับดอกรัก -


นู๋เมี่ยงคงเป็นโยคีนักปฏิบัติธรรมที่ไม่เอาอ่าวเอาเสียเลย จิตใจมันไปกับเสียงนกร้อง (เสียงหนอ) ดอกไม้ (ดอกไม้หนอ น่ารักเนอะ หอมไหมน้อ) ใบหญ้า สายลม (เย็นจังหนอ) ผืนน้ำ (ถ่ายรูปหนอ ๆๆ) ไม่ได้กำหนดจิตไว้ที่การเดิน การก้าวเท้าเลย ...

7.00 น. มาถึงอาคารปฏิบัติธรรม โถงชั้นล่าง เข้าแถวตักอาหาร มื้อเช้านี้เป็นข้าวต้มไก่



ทุกคนตักอาหาร นั่งโต๊ะเสร็จเรียบร้อยกันแล้ว พระอาจารย์กล่าวแนะนำให้ผู้ปฏิบัติธรรมลองกำหนดขณะรับประทานอาหาร นู๋เมี่ยงก็ค่อยๆ กินไปเงียบๆ เคี้ยวช้าๆ

........

หลังรับประทานอาหารเช้าเสร็จ สบโอกาสเจอพระอาจารย์ นู๋เมี่ยงขออนุญาตตั้งคำถาม พอจะสรุปได้ตามนี้

นู๋เมี่ยง: พระอาจารย์คะ การที่เรานั่งสมาธิอยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆ ทำให้เกิดการกดทับของกล้ามเนื้อและเส้นเลือดย่อมทำให้เกิดการชา เมื่อย เจ็บปวดได้ (ก็มันอธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ธรรมด๊า ธรรมดา) แล้วทำไมพระอาจารย์จึงบอกมันเกิดจากวิบากกรรม (อันนี้นู๋เมี่ยงไม่เห็น ไม่รู้อ่ะ... และไม่อยากเห็นในสิ่งที่ “ตาเนื้อ” มองไม่เห็นด้วย) บอกให้ผู้ปฏิบัติพยายามทน นั่งนิ่งอยู่อย่างนั้น ยังงี้แล้วมันจะไม่เกิดอันตราย ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ?

พระอาจารย์: ไม่หรอก ที่บอกว่าเจ็บน่ะ มันแค่เริ่มต้น พระอาจารย์ฝึกมาตั้งนาน ยังไม่เห็นเป็นไร

นู๋เมี่ยง: การที่ฝึกกำหนดนั่งจนเกิดทุกขเวทนา นี่เราคงไม่ได้กำลังเบียดเบียนร่างกายของเราอยู่ใช่ไหมคะ และเมื่อเกิดสภาวธรรม (ความเจ็บ) แล้ว ทำไมเรายังไปหาสภาวธรรมอันทนได้ยากนั้นอีก เรากำลังทำทุกขกริยากันรึเปล่าคะ?

พระอาจารย์: เหมือนกำลังพยายามอ้างหาเหตุผลอยู่นะนั่น

นู๋เมี่ยง: ที่พระอาจารย์กล่าวว่า สติปัฏฐาน 4 ที่พวกเรากำลังฝึกกันอยู่นี้ คือเส้นทางเดียวเท่านั้นที่จะหลุดพ้น (คือพระนิพพาน) นั้น จริงหรือคะ (คือว่าอยากให้พระอาจารย์ “ฟันธง”)

พระอาจารย์: ใช่แล้ว ทางนี้แหละคือทางเดียว (ฟันธง)

นู๋เมี่ยง: (เอื๊อก ลาล่ะเจ้าค่ะ)

......

8.30 น. ได้เวลาฝึกปฏิบัติธรรมที่ชั้น 4 หลังจากไหว้คุณพระรัตนตรัย ฯลฯ แล้ว พระอาจารย์เริ่มบรรยาย นู๋เมี่ยงพอจับสาระสำคัญได้เท่าที่ปัญญาหางอึ่งจะตามทันได้ ดังนี้คือ



ให้ฝึกการมีสติอยู่ตลอดเวลา การที่เปลี่ยนอิริยาบถจากกำหนดเดิน - กำหนดนั่ง เพื่อให้มีสติรู้ทันรูป-นามอยู่ตลอดเวลา จะได้เห็นความจริงของมันคือทุกข์ อารมณ์ของสติปัฏฐานมันเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา – “เวทนานุปัสสนา” – รู้เท่าทันใจของเราในขณะนี้ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันชัดเจน มีสติรู้กายและใจ (คือรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะจิตใจและร่างกาย)

หลังจากฟังพระอาจารย์เสวนาธรรมเสร็จ ก็เข้าสู่ช่วงฝึกปฏิบัติ

11.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน พระอาจารย์แนะนำให้ฝึกกำหนดขณะรับประทานอาหาร คือ “ตักหนอ” “เข้าปากหนอ” “เคี้ยวหนอ” “กลืนหนอ”

จากนั้นจึงเริ่มสวดมนตร์ด้วยการบูชาข้าวพระพุทธ และเริ่มรับประทานอาหารเช้าได้


- อาหารมื้อกลางวัน: ผัดผักวุ้นเส้น ผักสด น้ำพริกปลาทู และแกงจืดต้มฟัก -


เอาวะ ลองทำดู ... มันเหมือนกับการฉายภาพ slow motion เลยอ่ะ ขณะตักข้าว ก็กำหนดคิด “ตักหนอ” ยกช้อนขึ้น อ้าปาก ช้อนจรดปาก “เข้าปากหนอ” พออาหารเข้าปาก คำว่า “หนอ” ยังไม่ทันจบ ฟันมันก็เคี้ยวอาหารมั๊บโดยอัตโนมัติ ขบอาหารไปแล้ว 1-2 กร๊วบ จึงเริ่มกำหนด “เคี้ยวหนอ” ขณะกำลังเคี้ยวอยู่ อาหารบางส่วนที่อยู่ใกล้ลำคอก็ไหลเข้าไปในคอเสียแล้ว (โดยเฉพาะแกงจืดฟัก เนื้อฟักแทบจะลื่นลงคอไปเอง) คิดในใจ “กลืนหนอ” เอ้า กำลังเคี้ยวอยู่ด้วยนี่หว่า “เคี้ยวหนอๆ ๆ” อาหารยังไม่ทันกวาดและกลืนลงคอไปทั้งหมดดี มือตรูก็ตักอาหารในจานใส่ช้อน เฮ้ยยย!!

แต่เมื่อนู๋เมี่ยงค่อยๆ ลอง slow motion ออกไปอีก สังเกตจับอาการทานอาหารของตัวเอง: ตักข้าวทาน 1 ช้อน/คำ จะมีการเคี้ยวหลายครั้ง (ที่เราเรียน และรู้กันดีอยู่แล้วว่าควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด) การกลืนไม่ใช่มีอยู่เพียงครั้งเดียว ใน 1 คำ (ยิ่งตักคำใหญ่) กว่าจะกวาดอาหารในปากทั้งหมดอาจต้องกลืนมากกว่า 4-5 ครั้ง และพยายามลองให้ เคี้ยว และกลืนให้หมดคำข้าวช้อนนั้นก่อน จึงค่อยเริ่มตักข้าวช้อนใหม่ขึ้นมา

โหย.... กว่าจะหมดจาน เป็นมื้อที่อืมมม์ .... นะ

นู๋เมี่ยงอยากรู้ว่าถ้าเป็นอาหารโปรดที่ตัวเองชอบที่สุด ว่าอร่อยที่สุด แล้วลองกำหนดอาการแบบนี้จะได้ความรู้สึกอย่างไร อืมมม.... ไว้ต้องลอง (ถ้าไม่ลืมเสียก่อนนะ)

.......

เป็นช่วงพักหลังรับประทานอาหารกลางวัน ออกมาเดินเล่น รับลม ชมดอกไม้ใบไม้ นู๋เมี่ยงว่าอากาศอย่างนี้กำลังสบายดี ร่มรื่น ดีกว่ากลับขึ้นไปพักอยู่ชั้น 3 นอน (เพราะเดี๋ยวจะติดที่นอนแทน อารมณ์ง่วงต่อเนื่องไปถึงช่วงฝึกปฏิบัติภาคบ่าย)



ที่นี่ดอกไม้ออกดอกสวยมาก ต้นลั่นทม (ลีลาวดี) ให้ดอกทั้งสีแดง สีเหลือง เห็นบางต้นให้ดอกสีเหลืองแกมแดงก็มี ต้นตะแบกก็มาก ออกดอกสีม่วงบานเต็มต้นเชียว คิดถึงโรงเรียน เห็นมีต้นชงโคอยู่ 1 - 2 ต้น ที่คิดว่าใช่เพราะลักษณะใบของมันนี่แหละ นี่ก็ทำให้นึกถึงคณะ และมหาวิทยาลัย



นู๋เมี่ยงชอบสถานที่มุมไหน ดอกไม้ ดอกหญ้าที่ตนเองรู้สึกว่าสวย ประทับใจ ก็อยากถ่ายภาพเก็บไว้ อย่างเจ้าต้นไม้ต้นนี้ เท่าที่สังเกต ถ้าช่อไหนดอกกำลังผลิบานก็จะมีสีแดง ช่อไหนที่ดอกบานหมดแล้วทั้งช่อสีก็จะซีดลงกลายเป็นสีชมพูอ่อน



เมื่อเช้ามืดวันนี้ พวกเราได้เดินผ่านหน้าอาคารหลังนี้ไป ข้างหน้ามีสระน้ำ ดอกบัวบานโผล่ขึ้นเหนือน้ำ จะจ่อกล้องเข้าไปหาดอกบัวก็ไม่ได้ เพราะคงได้ตกน้ำตกท่ากันพอดี ซูมได้ก็เท่านี้

ที่เห็นดอกบัวบานพ้นน้ำขนาดนี้ ไม่รู้ว่าที่ยังอยู่ปริ่มใต้ผืนน้ำนี้ และที่อยู่ข้างล่างสระแห่งนี้อยู่อีกมากขนาดไหน (หนึ่งในนั้นอาจมีนู๋เมี่ยงอยู่ด้วยก็ได้) .....



เที่ยงครึ่งนู๋เมี่ยงก็กลับมายังอาคารปฏิบัติธรรม ชั้น 3 ที่พักผ่อนของผู้มาฝึกปฏิบัติธรรม ปูผ้าเพื่อนั่ง – นอนทำโยคะ บิด ดัดตนให้คลายปวดและเมื่อยเสียหน่อย

13.00 น. พระอาจารย์ให้ฝึกปฏิบัติในช่วงบ่ายเป็นครั้งสุดท้าย “กำหนดเดิน” (หรือใครอยากจะลอง “กำหนดยืน” ดูบ้างก็ได้) และ “กำหนดนั่ง” อย่างละครึ่งชั่วโมง

ตอนเดินจงกรมน่ะ ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถึงคราวนั่งกำหนดอารมณ์ตอนนั่งนะสิ เหมือนเดิม แต่ก็พยายามตั้งมั่นว่าจะไม่ขยับเขยื้อนขา และจุดสัมผัสพื้นบริเวณก้น ตาตุ่มให้ได้นานที่สุดจนครบเวลา ฮึดๆๆๆ ถือว่าเป็นการทิ้งทวน (เดี๋ยวตรูจะได้กลับบ้านแล้ว)

ครึ่งชั่วโมง... หรือมันยาวนานยิ่งกว่านั้น มันเจ็บจนสุดแสนจะบรรยาย ในช่วงครึ่งชั่วโมงที่พระอาจารย์จับเวลานั้น นู๋เมี่ยงได้นับคลื่นความเจ็บได้ 3 ระลอก ขามันจะค่อยๆ ชา ลามไปเรื่อยๆ เสียวแปล๊บบริเวณเส้น(เอ็น)ด้านข้างขาขวา โดยเฉพาะที่เข่า แล้วมันก็จะเริ่มกระจายความเจ็บไปทั่วทั้งขาขวา และขาซ้าย เจ็บบบบ แล้วก็ เจ็บบบบบ เหมือนขาทั้ง 2 ข้างกลายเป็นก้อนหิน หรืออะไรก็ไม่รู้ (ถ้ามันคือก้อนหิน แล้วทำไมเราจึงรู้สึกเจ็บ)

“พองหนอ – ยุบหนอ” ที่กำหนดไว้แต่ต้น มันกระเจิงหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ อยากจะขยับแข้งขาเหลือเกินแล้ว จะไม่ไหวแล้ว ในใจคิดถึงแต่ “เพื่อพระคุณพ่อและแม่” ต้องทนให้ได้ อีกนิดเดียวๆ .... ความเจ็บมันซาออกไป แต่มันไม่หายเจ็บ ยังเจ็บอยู่ คิดกำหนด “พองหนอ – ยุบหนอ”

... อีกสักพัก เจ้าเวทนานี้ก็ค่อยๆ กลับมาใหม่เป็นคลื่นระลอกสอง .... เหมือนซ้ำแผลเก่า เจ็บโว้ย เจ็บบบบ เจ็บหนอ จะทนไม่ไหวแล้วหนอ เหมือนขามันมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่เราฮึดๆๆ ในใจคิด “แผ่ส่วนกุศลของการเข้ามาฝึกอบรมวิปัสสนาครั้งนี้” สลับกับกำหนดอารมณ์ “เจ็บหนอ ๆ” “พองหนอ” “ยุบหนอ” ... แล้วก็รู้สึกความเจ็บซาลงไปจิ๊ดนึง แต่เจ้าความเจ็บนั้นมันก็ยังอยู่ติด อยู่ทน ไม่ได้หายไปไหน

.... ค่อยๆ ยืดตัว เงยหน้าขึ้น “ยืดหนอ ๆ” พอความเจ็บเริ่มคลายไปได้นิ้ดดดหน่อย ก็เริ่มกลับมากำหนด “พองหนอ – ยุบหนอ” ไม่นานเท่าไหร่ มันกำลังรวมตัวเป็นระลอกที่ 3 ตามมาติดๆ คราวนี้เหมือนกล้ามเนื้อขามันเริ่มกระตุกน้อยๆ ก่อน และเริ่มเจ็บขึ้นไปเรื่อยๆ (เหมือนแผลเก่าโดนกระแทกทีเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า) พยายามตั้งมั่นว่าอีกนิดเดียวแหละ ต้องทำได้ อุตส่าห์นั่งนานได้ถึงขนาดนี้แล้ว ทนอีกนิดเดียว (แต่ให้ตายเหอะ อีกนิ้ดเดียวเนี่ยะ มันเหมือนชั่วกัปชั่วกัลป์เลยนะ) ไหนๆ อุตส่าห์ตั้งใจว่ากำหนดครั้งนี้ต้องผ่านให้ได้ ทำเพื่อพ่อและแม่ (ปฏิบัติแทนท่าน) แล้วความเจ็บก็ซาลงไปจิ๊ดเดียวเท่านั้น ....

.... สักพัก ก็ได้ยินเสียงพระอาจารย์บอกให้ค่อยๆ คลายออกจากสมาธิช้าๆ

ผ่านพ้นการปฏิบัติกำหนดนั่งครึ่งชั่วโมงไปได้ แม้จะไม่ได้ดีมากนักก็ตาม นี่ถ้าความเจ็บมันโถมเข้ามาเป็นระลอก 4 เต็มๆ นี่ สงสัยนู๋เมี่ยงคงทนไม่ไหวอีกแล้วแน่



หลังจากจบสิ้นการฝึกอบรมแล้ว ได้เปิดโอกาสให้โยคีนักปฏิบัติธรรมแสดงความเห็นและข้อสงสัยต่อการฝึกอบรมในครั้งนี้ พระอาจารย์ได้ตอบปัญหานั้น พร้อมสอดแทรกอารมณ์ขัน

15.30 น. โยคีนักปฏิบัติธรรมได้กล่าวลาสิขาศีล 8 พร้อมรับศีล 5 กราบลาพระอาจารย์ เตรียมตัวเดินทางกลับบ้าน

16.30 น. ขึ้นรถของทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ กลับเข้ากรุงเทพ มีอยู่ 2 คันรถ คันแรกวิ่งเส้นทางบางบัวทอง-วัดมหาธาตุ อีกคันวิ่งเข้าดอนเมือง-วัดมหาธาตุ



นู๋เมี่ยงนั่งคันที่สอง ผ่านฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต และดอนเมือง วันอาทิตย์การจราจรเข้ากรุงเทพมีสภาพที่เห็นเป็นอย่างนี้



ไม่ถึง 2 ชั่วโมงดี 18.10 น. รถบัสมาถึงวัดมหาธาตุ สนามหลวง นั่งรถเมล์กลับบ้าน ระหว่างทางได้ตกผลึกความคิด ความรู้สึกของตัวเองในช่วงการฝึกอบรมที่ผ่านมา 2 คืน ได้ดังนี้

• ดีใจที่มาอบรมครั้งนี้ และมาคนเดียว สามารถช่วยนู๋เมี่ยงปิดวาจา ตั้งใจผ่านพ้นได้ตลอดหลักสูตร ไม่อย่างนั้น นู๋เมี่ยงคงบ่นโอดครวญกับเพื่อนไม่หยุดแน่ ดีไม่ดีจะชวนกันหนีกลับบ้านเสียก่อนปะไร

• ช่วงที่นู๋เมี่ยงตกงานและหางานอยู่นั้น ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนจนเกินไปนัก อาจเป็นเพราะได้ใช้โอกาสนี้ทำกิจกรรมดีๆ หลายอย่างที่ตัวเองสนใจอยากทำ เพราะถ้านู๋เมี่ยงทำงานบริษัท คงไม่คิดลาพักร้อนเพื่อมาฝึกปฏิบัติแบบนี้แน่ แต่คงใช้สิทธิลาพักร้อน สรรหาแหล่งบันเทิง ไปท่องเที่ยว

• พระอาจารย์สอนสนุก ใช้คำง่ายๆ อธิบายให้เข้าใจ ใจดี มีแซวผู้มาปฏิบัติธรรมด้วยเล็กน้อย

• เมื่อมาถึงมหาวิทยาลัยจุฬาฯ อำเภอวังน้อย เห็นที่หลับที่นอน ก็ให้คิดเสียว่าเหมือนกับการมาเข้าค่ายลูกเสือ เนตรนารี สมัยเราเป็นเด็ก (ที่จริงแล้ว สภาพที่ทางมหาวิทยาลัยฯ จัดเตรียมไว้ให้ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นดีมากกว่ามากกกก) แล้วก็ คิดเสียว่าตอนนี้ นู๋เมี่ยงมาฝึกตน นอนพื้น หมอนแข็ง

• การมาครั้งนี้เป็นการฝึกให้อยู่กับจิตใจ ความรู้สึก นึกคิดของตัวเองมากขึ้น ทำอะไรให้ช้าลง มีสติกับอิริยาบถ อารมณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ตอนนี้

• และที่สำคัญ นู๋เมี่ยงตัดสินใจถูกต้องที่สุดแล้ว ที่มาอบรมเมื่อตัวเองยังมีสุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรง เพราะเมื่อสังขารร่วงโรยไปเรื่อยๆ การฝึกปฏิบัติย่อมมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น


สรุป การมาอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานหลักสูตรระยะสั้นครั้งแรกของนู๋เมี่ยงยังเป็นแค่การชิมลางดูก่อนเท่านั้น ขอกลับไปตั้งหลักใหม่สักพัก ตั้งใจว่าอีกไม่นานนู๋เมี่ยงจะสมัครอบรมอีกครั้ง และคงจะมีโอกาสในครั้งต่อๆ ไป



บันทึก พุธ 30 มีนาคม 2554






 

Create Date : 21 เมษายน 2554
0 comments
Last Update : 21 เมษายน 2554 23:22:20 น.
Counter : 2963 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com