หากมีแต่เพียงท่วงท่าภายนอก ไร้ภายในชักนำ ก็เรียกได้เพียงว่า"รำมวย" ไม่สามารถเรียกว่า "มวยไท่เก็ก"
<<
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
18 พฤศจิกายน 2549

หวังเพ่ยซิง สะพานเชื่อมยุคทองของยุทธจักร ตอนที่2

บทความนี้ผมแปลจาก
Remembering Great Master Wang Peisheng
โดย Zhang Yun


เผยแพร่กว้างไกลสุดสายตา - สร้างมิตรด้วยศิลปะการต่อสู้



หวังหนุ่ม เริ่มเรียนวิชามากขึ้น และมากขึ้นไปอีก
หลังจากที่เรียนปากัวตระกูลหยิน ไทจี๋ และถานถุ่ยแล้ว
อจ.หวังก็ศึกษา เฉิงปากัว และ หลิวปากัว กับ อจ.เกา เข่อซิงเพิ่มเติม

ตอนนั้นอจ.เกา เป็นอาจารย์ดัง ในโรงเรียนศิลปะการต่อสู้ เหอเป่ย
อจ.หยางอวี้ถิงไปเรียนกับอจ.เกาก่อน แล้วจึงนำหนุ่มหวังไปเรียนด้วยกัน
นอกจากนั้นท่านหวังยังได้ฝึก หลูอวี้ ถงเป่ยฉวน กับอจ.เหลียงจุนป้อ
ฝึกปาจี๋กับอจ.อู๋ ซุ่ยเฟิง ฝึก สิงอี้ กับอจ. จ้าว หลันถิง
จากนั้นยังได้เรียน ทั้งสิงอี้และปากัวจาก อจ.หาน มู่เซีย
แล้ว ยังได้ศึกษา ซุยเจียว ชี่กง และแพทย์จีนเป็นอย่างดี

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง อจ.หวังยังได้หาความรู้ทางบุ๋น
ศึกษา ปรัชญา ประเภณีจีนไปพร้อมกันด้วย
ท่านเรียนขงจื้อ กับ อจ. จินหู และ ซู จ้าวกวน
เรียนลัทธิเต๋า กับอจ.ผู้มีชื่อเสียง เฉิน ซินฉาน และอู๋ จินหย่ง
ศึกษาพุทธ กับ หลวงพ่อ เลี่ยว อวี้ และ เมี่ยว ฉาน
ตอนอายุ13 ท่านได้รับ จู ชิเจี่ย จากอจ.พุทธของท่าน
จู ชิ หมายถึง เป็นผู้นับถือพุทธ แต่ยังคงเป็นฆารวาส
ไม่ต้องบวชเป็นพระ ส่วนเจี่ย เป็นลำดับสายทางพระ
ที่ท่านได้รับชื่อทางศาสนาก็เป็นช่วงนี้เอง

อจ.หวังเป็นคนจิตใจกว้างขวาง แต่ท่านชอบการประลองมาก
อย่างไรก็ตาม ท่านไม่เคยสู้ เพราะเพราะแค่อยากต่อยตีชาวบ้าน
แม้ว่าตลอดชีวิตของท่าน จะเคยเอาชนะอจ.มวยชื่อดังมามากมาย
แต่ท่านไม่เคยคิดว่านั่นเป็นเรื่องสลักสำคัญ

อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับศิลปะการต่อสู้..?
คำตอบคือทักษะ อจ.หวังกล่าวอยู่เสมอว่า
"ฉันแค่ชอบที่จะค้นคว้าทักษะ วิชาต่างๆ และสำหรับฉัน
การต่อสู้ เป็นเหมือนการทดสอบ ในกระบวนการศึกษาค้นคว้าเท่านั้น"


ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะมีฝีมือยอดเยี่ยมแค่ไหนก็ตาม
อจ.หวังยังคง อ่อนน้อม ถ่อมตนเสมอ
เวลาที่ท่านไปเจอ วิชาฝีมือ หรือเทคนิคอะไรก็ตาม
ที่ดี และมีประสิทธิภาพ ท่านมักจะอยากเรียนเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นมวยอะไร หรือวิชาอะไร ไม่สำคัญ
แม้ว่า วิชานั้น จะเป็นวิชาจากคนที่ประลองแพ้ท่านก็ตาม



ตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่ง คือตอนที่ท่านประลองกับ หวังเต้าหยิน
หวังเต้าหยินเป็นนักพรตบู๊ตึ๊ง ซึ่งออกเดินทางไปในโลกกว้าง
เพื่อทดสอบฝีมือของตนเอง พอมาถึงปักกิ่ง เขาเอาชนะอจ.มวย
ได้หลายคน ก่อนจะมาท้าประลองกับอจ. หยางอวี้ถิง
ปัญหาก็คือ ท่านต้องเอาชนะศิษย์ของอจ.หยางให้ได้ก่อน
อจ.หยางจึงจะยอมประลองด้วย
ผลก็คือ ท่านหวังเต้าหยิน ไม่เคยได้ประลองกับท่านหยาง
เพราะคนที่มารับมือท่าน คืออจ.หวังเพ่ยซิง

แม้กระนั้นก็ตาม ทั้งสองฝ่าย ต่างประทับใจในฝีมือของอีกฝ่าย
หลังตีกันเสร็จ หวังเต้าหยินก็หอบข้าวของ
ตามไปพักอยู่บ้านอจ.หวังเพ่ยซิงสองอาทิตย์
และฝึกมวยด้วยกันทุกวัน

ก่อนที่นักพรตหวังจะกลับ เพื่อเป็นการขอบคุณในความช่วยเหลือ
และมิตรภาพ นักพรตจึงมอบของขวัญให้อจ.หวังไว้ดูต่างหน้า
มันเป็นตำรากระบี่ ชุดที่มีชื่อเสียง แต่หายาก นั่นคือ
เพลงกระบี่บู๊ตึ๊ง อจ.หวังชอบกระบี่ชุดนี้มาก และฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ
มันเป็นของขวัญที่อันล้ำค่า และมีคนจำนวนมากอยากเรียน



ในยุคก่อน จอมยุทธ์ หรืออจ.มวยดังๆ ไม่ได้หัวโบราณ หรือขี้อิจฉา
อย่างที่หลายคนในสมัยนี้คิด มีบ้างที่ อจ.อวุโสบางท่าน
อาจเป็นพวกอนุรักษ์นิยม แต่ท่านก็ไม่เคยห้ามศิษย์ไปเรียนมวยอื่น

ท่านเหล่านี้ รักศิลปะการต่อสู้ ยิ่งกว่าชีวิต
เมื่อเห็นอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไร มาจากไหน
เป็นต้องดั้นด้นไปเรียนรู้
พวกท่านไม่มีความจองหอง แบบที่ว่า
"สำนักฉันดีที่สุด ถ้าไม่ใช่มาจากสำนักฉัน สายฉัน ฉันไม่สนใจ"
คุณจะเห็น คนจากสำนักปากัว สิงอี้ ไทจี๋ ต่างมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น เป็นพี่น้องร่วมสาบาน และเมื่อเป็นพี่น้องกันแล้ว ก็เหมือนเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ไม่มีความลับใดๆระหว่างกันทั้งสิ้น

ดังนั้นถ้าคุณมีฝีมือสูง หรือ มีวิชาที่ทรงคุณค่ามากๆ
คุณสามารถใช้วิชาที่คุณมี ในการแลกเปลี่ยนกับวิชาคนอื่น
แม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็น ศิษย์ในของอจ.เหล่านั้นก็ตาม
อจ.หวังได้รับ การฝึกฝนที่ทรงคุณค่ามากมายด้วยวิธีนี้
กับ อจ.อย่างท่าน เฉินฟาเคอ แห่งไทจี๋ตระกูลเฉิน
อจ.หวังเหวินฟาง แห่งซานหวง เผ้าฉวย อจ.ซุน สี่เกวี้ยน แห่งปากัว
อจ.หม้อ หว่านต้า แห่งพลังกรงเล็บอินทรี
อจ.ซ่งชูถัง แห่ปากัวตระกูลซ่ง และ อจ.อู๋จื่อเจิน แห่งเส้าหลิน

เวลาที่อจ.หวัง ผลักมือ หรือ ประลอง ท่านรู้สึกว่า
ทุกอย่างควรจะสมบูรณ์แบบ ดังนั้นในการประลอง
จึงจะสู้กันอย่างเคร่งเครียด เอาจริงเอาจัง ไม่มีออมมือ
และ โจมตีกันอย่างหนักหน่วง
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการผิดใจกันได้
แต่ อจ.รุ่นเก่าส่วนมากจะเข้าใจในจุดนี้ดี

ดังนั้น ในระหว่างที่อจ.หวังประลอง
บ่อยครั้ง ที่มิตรมากมายก็เกิดด้วยการต่อสู้
พวกท่านต่างแลกเปลี่ยนวิชากัน ศึกษาค้นคว้าด้วยกัน
หลายคน ที่กลายมาเป็นพี่น้องร่วมสาบานกับอจ.หวัง
เช่น อจ. จาง ลี่ถัง อจ.เกา หลุ่ยฉู่ และ อจ.หม่า อี้หลิน




อจ. จาง ลี่ถัง เกิดในตระกูลที่มีชื่อเสียง และร่ำรวยมาก
ปู่ของท่าน จางจื่อว่าน และ ลุงใหญ่ของท่าน จาง จื่อตง
ต่างก็เป็นผู้มีความรู้สูง ทั้งสองท่านล้วนเป็นเสนาธิการทหารระดับสูงในราชวงศ์ชิง

แต่ท่านจางลี่ถัง รักแต่มวย ท่านไม่สนใจตำรับตำรา
จนถึงเดี๋ยวนี้ ยังเป็นความลับดำมืดว่า ท่านจางทำอย่างไร
ถึงหลบเลี่ยงการเรียนหนังสือของตระกูลได้สำเร็จ
เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น ผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัว
จึงเชิญอาจารย์ปาจี๋ ชื่อดังมาสอนที่บ้าน
อาจารย์ท่านนั้น ไม่ใช่ใครอื่น ท่านหลี่ซู่เหวินนั่นเอง..!

อจ.หลี่ซู่เหวิน เป็นหนึ่งในนักสู้ที่มีชื่อเสียงที่สุด
ในยุคของท่าน ฝีมือทวนของท่านอัศจรรย์จนได้รับ
ฉายาว่า "ทวนเทพเจ้า"
แต่ความน่าสะพรึงกลัวที่แท้จริงของฝีมือทวนท่าน
อยู่ที่การไร้ปราณี
อจ.หลี่มีชื่อเสียง จากการที่คู่ต่อสู้ของท่านไม่ตาย
ก็มักจะบาดเจ็บสาหัส หรือพิการ

อจ.จาง ลี่ถัง จึงผ่านการควบคุมให้ฝึกมวยอย่างเข้มงวด
ตั้งแต่เด็ก ท่านเคยย้อนรำลึกถึง ความหลังว่า
ท่านแทบไม่เคยเห็นท่านหลี่ซู่เหวินพอใจ
ไม่ว่าจะฝึกหนักแค่ไหนก็ตาม แต่ในมาตรฐานของ
อจ.หลี่ มันไม่เคยมากพอ..
แต่นั่นก็ทำให้โลกได้รับรู้ในภายหลังว่า
ฝีมือทวนของอจ.จางนั้น ยอดเยี่ยมเพียงใด

อจ.หวัง สาธิตทวน


เมื่ออจ.จาง อายุเพียง 13 ท่านกับลุงเล็กของท่านคนหนึ่ง
ซึ่งอายุเพียง17 วางแผนกันขโมยรถ
ที่มีการคุ้มกันอย่างแน่นหนา โดยผู้คุ้มกันมืออาชีพของกองทัพ
เพื่อความสนุกสนานบันเทิงรื่นเริงอารมณ์ในชีวิต
พวกท่านเล่นงานอจ.มวยสี่คนที่เป็นผู้คุ้มกันรถ
จนพ่ายแพ้หนีเตลิดไปอย่างง่ายดาย

-*- เด็กๆอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง..

พออจ.จางโตขึ้น เพื่อนของท่านฝากงานให้เป็นครูฝึกในกองทัพ
ตอนที่ท่านไปเริ่มงาน มีครูฝึกอื่นอยู่แล้วราว 20คน
ไม่มีใครช่วยแนะนำ ช่วยเหลืออะไรอจ.จางเลย

อจ.จางเหมือนท่านหลี่ซู่เหวิน คือเป็นคนตัวเล็ก
ทำให้คนภายนอกคิดว่าไม่น่าจะมีฝีมือ
เข้ามาได้เพราะเส้นสาย
ในเวลาไม่นานนัก อจ.จางก็ชนะครูฝึกคนอื่นซะเรียบ
และทำให้พวกเขายอมรับได้สำเร็จ

อจ.หวังเพ่ยซิง พบกับอจ.จางครั้งแรกในสวนสาธารณะ
ทั้งสองคนพูดคุย และลองประมือกัน
อจ.หวังเป็นฝ่ายชนะการประลอง แต่ท่านก็ประทับใจ
ฝีมือของอจ.จางมาก โดยเฉพาะการใช้ทวนของท่าน
ดังทั้งสองจึงกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันและฝึกร่วมกันบ่อยๆ
จนกระทั่งได้พบกับ อจ.เกาหลุยฉู่ Gao Ruizhou

ปล. ผมไม่แน่ใจว่าจะอ่านชื่อท่านแบบไหนถึงจะถูก
ท่านใดทราบ รบกวนบอกด้วยครับ


อจ.เกา มาจากตระกูลนักสู้ พ่อของท่าน เกา เฟิงหลิน
เป็นครูมวย และแพทย์จีนชื่อดัง อจ.เกาจึงเรียนมวยจาก
พ่อตั้งแต่เด็ก ในเวลาต่อมา อจ.เกาได้ฝากตัวเป็นศิษย์
อจ. หลี่ลุ่ยตง เรียนเกาเจียว ฝานจื่อ ไทจี๋หมัดห้าดาวและอื่นๆ

ปล.ไม่ใช่ไก่ย่างนะครับ
ปัจจุบัน เรารู้จักไทจี๋แบบนี้กันในนาม ไทจี๋ตระกูลหลี่
ท่านหลี่ เรียนไทจี๋กับ อจ.หวังหลันถิง
ศิษย์ท่านหยางลู่ฉาน


อจ. หลี่ลุ่ยตง มีฉายา จมูกหลี่ - -" จากจมูกที่ผิดรูปของท่าน
ด้วยพลังฝีมือของท่าน ทำให้ท่านได้เป็นการ์ด ของวังต้องห้าม
ในเวลาต่อมา ท่านได้คิดค้น ไทจี๋หมัดห้าดาวขึ้น ด้วยการ ผสมผสานไทจี๋ กับวิชาอื่นๆ ทำให้ท่านมีชื่อเสียง


ภาพอจ.หลี่


เมื่ออจ.หวังเพ่ยซิง อจ.จางลี่ถัง และอจ.เกาหลุยฉู่พบกัน
ก็ได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน ทั้งสามจึงตัดสินใจจะตั้งสำนักร่วมกัน
แต่แล้ว...ก็มีอุปสรรคเกิดขึ้นจนได้..!



ภาพอจ.เกา

วันหนึ่ง ขณะที่สอนมวยอยู่ในสวน มีชายหนุ่มคนหนึ่ง
มาท้าอจ.เกาประลอง อจ.เกาเอาชนะผู้ท้าทายได้
แต่ท่านพูดอะไรบางอย่างผิดหู ทำให้อีกฝ่ายโกรธมาก
ดังนั้น ในวันต่อมา ชายหนุ่มคนนั้นพาเพื่อนอีกคนมา
ท้าสู้กับอจ.เกา แต่อจ.เกาก็เอาชนะได้อีกครั้ง

หมอนั่นเจ็บใจและกล่าวว่า
"ข้าได้ยินว่าเจ้ากับเพื่อน กำลังจะตั้งสำนัก ดีล่ะ
ข้าจะไปหาเจ้าในวันนั้น.."
นั่นหมายความว่า เขาต้องการท้าประลองอย่างเป็นทางการ
แบบสาธารณะ ตามธรรมเนียมแล้ว หากแพ้การประลอง
ในวันนั้น เท่ากับว่าจะไม่สามารถเปิดสำนักได้
ดังนั้นอจ.เกา จึงรีบไปปรึกษา กับอจ.หวัง
และอจ.จาง เพื่อเตรียมตัวรับมือให้พร้อม

ไม่กี่วันต่อมา พวกเขาเห็นผู้ท้าทายในสวน
ผู้ท้าทายตรงเข้ามาจับมือกับอจ.หวัง
ทันใดนั้น เขาก็ใช้ กระบวนท่า "มังกรสะบัดหาง"
โจมตีอจ.หวังทันทีโดยไม่ให้ตั้งตัว
อจ.หวังสวนกลับด้วยท่า "มังกรม้วนตัวรอบไหหยก"
ทำให้ท่านสามารถรักษาสมดุลเอาไว้ได้
พร้อมกับทำลายสมดุลของอีกฝ่ายไปพร้อมกัน
ผู้ท้าทายแปลกใจมาก
เขาเริ่มชวนอจ.หวังคุยเรื่องหมัดมวย
แล้วลอง กระบวนท่าอื่นกันอีก

ผู้ท้าทายนั้น รู้วิชามวยสิงอี้เป็นอย่างดี
ดังนั้นเขาจึงลองใช้ ท่าเปิงฉวน ตีอจ.หวัง
แต่อจ.หวังใช้ พิฉวน โยนเขากลับออกไป
ทั้งสองลองวิชากันแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
จนในที่สุด ทัศนคติของผู้ท้าทายก็เปลี่ยนไป
กลายมาเป็นมิตรกับอจ.หวังแทน

ถึงตอนนี้ ผู้ที่คิดจะทำลายสำนัก เลยขอร่วมกลุ่ม
ในการตั้งสำนักด้วยเสียเลย
ผู้ท้าทายคนนี้ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากอจ. หม่าอี้หลิน
ศิษย์เอก และลูกเขย ของอจ. หาน มู่เซียผู้โด่งดัง


ภาพอจ. หานมู่เซีย

อจ. หานมู่เซีย เกิดในปี 1872 ที่เทียนจิน
ท่านเรียนกังฟูตั้งแต่ยังเด็ก มีอจ.กังฟูถึง9คน
หนึ่งในจำนวนนั้น คือ อจ.มวยสิงอี้ และปากัว
อจ. จาง ซานกุ้ย หรือที่รู้จักกันในนาม จาง จ้าวตง



ภาพอจ. จาง สมัยรับราชการ

อจ. จาง มีฉายาว่า ฉานเตียนเฉ่า หรือ ฝ่ามือสายฟ้า
อจ.จาง เป็นหัวหน้าครูฝึก บอร์ดี้การ์ดประธานาธิบดี
ภายหลัง ท่านได้สอนกังฟูอยู่ในเทียนจิน
ท่านเรียนสิงอี้ จาก ท่านหลิว ชี่หลัน และปากัวจาก
ท่านต่งไห่ชวน



ภาพอจ. จาง สมัยเป็นอจ.มวย

อจ.หานมู่เซียเป็นศิษย์ฝีมือเยี่ยมที่สุดของ อจ.จาง
หลายคนคิดว่า ฝีมือของอจ. หานสูงกว่าอจ.จางเสียอีก
อจ.หาน มีพลังฝีมือยอดเยี่ยม และเอาชนะอจ.ชื่อดังมามากมาย
สำนักของอจ.หานวิทยาลัยศิลปะการต่อสู้แห่งชาตินั้น
มีชื่อเสียงมาก อจ.หาน มีลูกสาวคนเดียว
และได้แต่งงานกับศิษยเอกของท่านนั่นคือ อจ.หม่า อี้หลิน

เพราะอจ.หม่านี่เอง ทำให้อจ.หวังเพ่ยซิง
ได้เรียน สิงอี้ และปากัว จากท่าน หาน
ด้วยความที่อจ.หวัง มีพื้นฐานแน่น และมีฝีมือดีอยู่แล้ว
ท่านจึงมีโอกาสได้พูดคุยกับอจ.หาน เกี่ยวกับ
หลักวิชาระดับสูงมากมาย ซึ่งอจ.หานก็ได้กรุณาอธิบาย
ให้อย่างละเอียด

ดังนั้นในปี 1947 อจ.จาง อจ.เกา อจ.หม่า และอจ.หวัง
จึงก่อตั้งสำนักร่วมกันในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของปักกิ่ง
ชื่อ "โรงเรียนศิลปะการต่อสู้ ฮุ่ยตง"
มีอจ.หวังเป็นผู้อำนวจการโรงเรียน
ในเวลาต่อมา อจ.ทั้งสี่ก็ได้สาบานเป็นพี่น้องกัน

ถึงปี 1957 สี่พี่น้องก็ได้เปิดสำนักแห่งที่สองคือ
"ชมรมศิลปะการต่อสู้ประชาชน" ในเขตใต้ของปักกิ่ง
อจ.หวัง รับหน้าเสื่อเป็นประธานชมรม


ภาพงานฉลอง การก่อตั้งโรงเรียนในปี 1957
แถวแรกจากซ้าย คนที่สอง อจ.เกาลุ่ยฉู่ คนที่สาม อจ.จาง ลี่ถัง คนที่สี่ อจ.หม่าอี้หลิน คนที่ห้า อจ.หวังเพ่ยซิน



ช่วงเวลานั้นเอง พลังฝีมือ และชื่อเสียงของอจ.หวัง
เพิ่มพูนขึ้นอย่างมาก ท่านเอาชนะอจ.มวยมากมาย
หลายท่านเป็นอจ.ที่มีชื่อเสียงมาก แต่ท่านไม่เคย
เอามาอวดอ้าง เพราะสำหรับท่านแล้ว
การประลอง เป็นการค้นคว้า เพื่อพิสูจน์แนวคิด
ในหลักการ เทคนิคกังฟูของตนเอง
ไม่ใช่มีไว้สำหรับ สร้างชื่อเสียงเกียรติยศให้ตน
ด้วยการทำลาย เกียรติของผู้อื่น

ชื่อเสียงของอจ.หวังโด่งดังจนกระทั่งว่า
อจ.หวังเสียงไช่ ปรมาจารย์ผู้คิดค้นมวย
ต้าเฉิงฉวน ยังกล่าวกับท่านว่า
"เพ่ยซิง ฉันจะเก็บชื่อของเจ้า ไว้ในแขนเสื้อเสมอ"

คำกล่าวนี้ มาจาก สามก๊ก
เรื่องก็คือ โจโฉ ฟังกวนอู่เล่าว่า เตียวหุยน้องชายเขานั้น
ฝีมือยอดเยี่ยมกว่าตัวเขาเสียอีก
โจโฉได้ยินเช่นนั้นก็ตกใจ จึงออกคำสั่งให้
ขุนพลทุกคน เขียนชื่อเตียวหุยไว้ด้านในแขนเสื้อ
เผื่อว่าวันใด เผชิญหน้ากับคนผู้นี้ จะได้เตรียมพร้อมระวังป้องกันให้มาก


ยุคเริ่มแรกของสาธารณะรัฐประชาชนจีน


ถึงทศวรรษที่ 50 สงครามต่างๆทั้งสงครามกลางเมือง
และสงครามกับชาวต่างชาติที่มีต่อเนื่องกันมา
ตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีในเมืองจีนก็สิ้นสุดลง
ในที่สุดประเทศ และประชาชนก็มีโอกาสได้พักผ่อน
ประชาชนจึงมีแนวโน้มที่จะสนใจฝึกกังฟูกันมากกว่าเดิม

อจ.หวังเพ่ยซิงมีงานยุ่งมาก ท่านต้องดูแลโรงเรียนสองแห่ง
แล้วยังต้องออกไปสอนตามที่ต่างๆ รวมทั้งในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
ท่านรับบทบาทในแวดวงศิลปะการต่อสู้ระดับชาติ
ด้วยความกระตือรือร้น

เวลานั้น เป็นยุคตั้งไข่ของการแข่งขันศิลปะการต่อสู้
ก่อนจะพัฒนามาเป็นวูซูยุคใหม่ในเวลาต่อมา
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ในการแข่งขัน
ที่ผู้เข้าแข่งจากสำนักต่างๆจะคิดว่า
ตนเองแพ้อย่างไม่เป็นธรรม และต้องการตัดสินกัน
ด้วยการ สู้กันจริงๆ ทั้งกับผู้แข่งขันคนอื่น หรือแม้กระทั่ง
กับผู้ตัดสิน

-*- เวรกรรม

เพราะเหตุนี้ ผู้ตัดสินในยุคนั้น จึงต้องหาคน
ที่มีฝีมือดีพอ จะกำราบ และควบคุณสถานการณ์ได้
อจ.หวังเพ่ยซิง ได้ทำหน้าที่ผู้ตัดสินบ่อยครั้งในช่วงนี้
ท่านยังเข้าร่วมกับการประชุมวิจัยศิลปะการต่อสู้มากมาย
และนั่น ทำให้ท่านเริ่มมีชื่อเสียงในระดับประเทศ

ในปี 1953 อจ.หวัง สร้างผลงานชิ้นสำคัญของท่านได้สำเร็จ
นั่นคือมวยไทจี๋ตระกูลอู๋ แบบ 37 ท่า

ตอนนั้นท่านสอนอยู่ในวิทยาลัยอุตสาหกรรมปักกิ่ง
มีอาจารย์ และนักเรียนที่นั่นหลายคนบ่นกับท่านว่า
ชุดมวยแบบดั้งเดิมนั้น ยาวเกินไป ใช้เวลารำถึง 40นาที
อาจารย์และนักเรียนที่มีงานยุ่ง ไม่สามารถจะหาเวลา
มากพอที่จะรำให้จบชุดได้
ดังนั้นอจ.หวังจึงได้ความคิด เกี่ยวกับมวยชุดสั้นขึ้นมา

เริ่มแรก ท่านนำเอาท่าที่ซ้ำๆกันออกไป
ปรับลดเหลือ 37 ท่า จากนั้นท่านตัดต่อและเรียบเรียง
ท่วงท่า เพื่อสร้างมวยชุดใหม่ โดยมีหลักคิดก็คือ
นำท่าพื้นฐาน ง่ายๆ มาไว้ในช่วงเริ่มต้น
ท่าที่ซับซ้อน และยากขึ้น เอาไว้ในช่วงกลาง
ท้ายที่สุด นำท่าที่เคลื่อนไหวราบเรียบ
และผ่อนคลายมาไว้ในตอนจบ


มวยชุด 37 ท่า คลิป 1

ท่านนำมวยชุดใหม่ไปทดลองสอนกับนักเรียนกลุ่มหนึ่งก่อน
เพื่อจะค้นหาว่า ต้องทำยังไง มวยชุดนี้ถึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แม้จะใช้ท่ามวยน้อยลงก็ตาม
ท่านวิเคราะห์ท่วงท่าในรายละเอียด หวนรำลึกถึงประสบการณ์
อันยาวนานระหว่างที่ท่านได้ร่ำเรียนกับอาจารย์ต่างๆมา
ท่านเข้าใจกระบวนการฝึกแบบโบราณอย่างแจ่มแจ้งว่า
เป็นการอาศัย การฝึกฝนอย่างหนัก ซ้ำแล้วซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วน
จนกระทั่งความรู้สึกที่ถูกต้องอย่างที่ควรเป็น ถูกฝังลงไปในตัวศิษย์เอง
โดย อจ.จะไม่อธิบายถึงหลักการอะไรมากนัก

กระบวนการเช่นนี้ จะมีศิษย์เพียงคนหรือสองคน
ที่มีไหวพริบ และ การรับรู้ที่ดีกว่าคนอื่นเท่านั้น
ถึงจะได้รับการถ่ายทอดฝีมือไปได้
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมี ทักษะ และ หลักการอีกมาก
ที่ยากจะเข้าใจ แม้จะผ่านการฝึกฝนมานานนับสิบปีแล้วก็ตาม

ดังนั้น อจ.หวังจึงมองไปยังขั้นต่อไป ด้วยการแตก
ท่าต่างๆ ในชุด 37ท่า ให้เป็นการเคลื่อนไหวย่อย
178 การเคลื่อนไหว แล้วกำหนดมาตฐาน
ให้กับทุกท่วงท่าย่อย

ในการสอน ขั้นแรก ท่านจะอธิบาย และแสดงให้ดูอย่างละเอียด
ว่าแต่ละการเคลื่อนไหวนั้น
ควรจะเป็นอย่างไรถึงจะถูกต้อง
ทั้งทิศทาง แง่มุม และลักษณะอื่นๆ

ขั้นที่สอง
ท่านจะสอนว่า ความรู้สึกที่ถูกต้อง
ควรจะเป็นอย่างไร เมื่ออยู่ในท่านั้นๆ

ขั้นที่สาม
ท่านจะใช้แนวคิด ของลิ่วเหอบาฝ่า
เพื่ออธิบายแต่ละการเคลื่อนไหว

ขั้นที่สี่
ท่านจะอธิบายว่า จะฝึก เสิน อี้ ชี่
อย่างไรในแต่ละท่วงท่าการเคลื่อนไหว

ขั้นที่ห้า
ท่านจะบอกว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะ
เชื่อมโยงรายละเอียด ของการเคลื่อนไหว
ทั้งหมดเข้าด้วยกัน จากภายในสู่ภายนอก
และทำอย่างไร พลังถึงจะไหลผ่านเชื่อมต่อ
ระหว่างกันได้อย่างราบเรียบลื่นไหล


มวยชุด 37 ท่า คลิป 2

หลังจากใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข
ท่านก็เผยแพร่มวยชุดใหม่สู่สาธารณะชน
ทุกวันนี้เราสามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจ
หลังจากมวยชุดนี้ ผ่านการพิสูจน์ด้วยการ
ฝึกฝนของผู้คนมานานกว่าครึ่งศตวรรษว่า

มวยชุดสั้นนี้ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ
ในการฝึกฝนมากกว่า มวยชุดยาวแบบดั้งเดิม
ทุกอย่างดูกระจ่าง ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน
ง่ายในการเปรียบเทียบ และทำความเข้าใจ
มวยชุด 37 ท่า ประสบความสำเร็จในทันที
อจ.หวังจึง ตีพิมพ์ตำรา และ วีดีโอของมวยชุดนี้ออกเผยแพร่ในเวลาต่อมา

ทุกอย่างกำลังไปได้ดี เส้นทางชีวิตของ อจ.หวัง
กำลังสดใส รุ่งโรจน์ ตอนนั้น ท่านไม่รู้ตัวเลยว่า
หายนะแห่งชีวิต กำลังคืบคลานเข้ามา..!!

*************
ติดตามต่อตอน 3 ครับ





Create Date : 18 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 3 มกราคม 2550 23:03:29 น. 7 comments
Counter : 2977 Pageviews.  

 
สร้างเป็นหนังได้สบายเลยนะครับ


โดย: แมวสามขา IP: 58.8.8.159 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2549 เวลา:5:42:18 น.  

 
ดีครับ ได้เรียนรู้คุณธรรม การใช้ชีวิตของชาวยุทธ์


โดย: ปาเกีย IP: 124.120.115.185 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2549 เวลา:12:06:03 น.  

 
- เฉิงปากัว หรือปากัวตระกูลเฉิง ของอจ. เฉิงถิงหัว ฉายแว่นตาเฉิง เพราะเปิดร้านขายแว่นตาในปักกิ่ง อจ.เฉิงเป็นศิษย์เอกคนหนึ่งของปรมาจารย์ตงไห่ชวน มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงระดับปรมาจารย์มวยสายตระกูลอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น เฉิงยู่หลง(ลูกชาย) หลี่เหวินเปียว เกาอี้เซิน ฝู่เจิ้นสง ซุนลู่ถัง เป็นต้น อจ.เฉิงถิงหัวเสียชีวิตเพราะถูกทหารเยอรมันรุมยิงในสมัย8ชาติปล้นปักกิ่งครับ

- หลิวปากัว หรือปากัวตระกูลหลิว เข้าใจว่าเป็นปากัวของ อจ. หลิว เต๋อ ควร ฉายาต้าเชียงหลิว(ทวนใหญ่หลิว) ศิษย์เอกคนหนึ่งของตงไห่ชวน ท่านเป็นผู้ให้กำเนิด 64 ฝ่ามือเส้นตรงในมวยปากัว โดยเอาลิ่วสือซื่อจ้วนจ่าง(64ฝ่ามือหมุน)แบบเดิมมาปรับให้กระชับและสั้นเพื่อใช้ในการฝึกทหารในกองทัพ (รายละเอียดอื่นๆ จำไม่ได้ ต้องไปค้นในตู้หนังสือ ....555555)



โดย: - n h b - IP: 125.24.22.92 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2549 เวลา:20:00:24 น.  

 
ตงเป่ยฉวน >>> คิดว่าคงเป็น ถงเป่ยฉวน น่ะครับ ถงเป่ย หมายถึงผ่านหลังตามวิธีการออกหมัดในมวยนี้ครับ มวยถงเป่ยมีหลายชนิด ผมเคยเจอของจริงแต่ ไป๋เหวียนถงเป่ย(ถงเป่ยแบบลิงขาว)ซึ่งออกหมัดในลักษณะสะบัดออกไปเหมือนแส้มากกว่าการต่อยน่ะครับ แล้วก็เร็วขนาดกล้องถ่าย VDO จับภาพไม่ทันอ่ะครับ(ตาเปล่าก็จนปัญญาจะเห็นครับ)



โดย: - n h b - IP: 125.24.28.54 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2549 เวลา:20:25:09 น.  

 
ใช่ครับ มวยลิงขาวนั่นแหละครับ
แต่ผมนึกว่า ตงเป่ย มาจากชื่อสถานที่
เลยอ่านว่าตงเป่ยมาตลอดจนติด

ขอบคุณมากครับ เดี๋ยวแก้ครับ
อุอุอุ


โดย: bbking IP: 222.123.29.9 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2549 เวลา:21:39:36 น.  

 
มันส์มากกกกกกกกกกกก


โดย: ปลาตัวใหญ่ IP: 210.213.17.214 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2549 เวลา:17:53:32 น.  

 
ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความ ทำให้ผมได้รับรายละเอียดเกี่ยวกับการเรียน การสอน ศิลปะการป้องกันตัว อีกมากเลย ขอบคุณครับ (โดยเฉพาะหลักการสอน 37 ท่า) คิดมาร่วม 5 ปีแล้ว ว่าจะเรียบเรียงเริ่มต้นอย่างไร


โดย: รัตน์ IP: 203.158.172.2 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2549 เวลา:10:59:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ramin&Indra
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




สำหรับท่าน ที่ไม่ยังไม่รู้จักมวยไท่จี๋นะครับ

มวยไทจี๋ หรือ ไทจี๋ฉวน
มาจากคำว่า ฉวน แปลว่า มวย + กับ ไทจี๋
เป็นวิชา การต่อสู้ชนิดเดียวกับ ที่เราเรียกแบบแต๊จิ๊วว่ามวยไทเก๊ก
หรือ ที่กลุ่มกายบริหารเพื่อสุขภาพ
สมัยใหม่ เอาไปดัดแปลงแล้วเรียก ว่า ไทชิ
รวมทั้งศัพท์ วัยรุ่นที่เรียกว่า "ทิชชี่"
แถมยังมีแบบผสมโยคะ เอาไปเรียกว่า "โยชิ"
หรือ "ไทคะ"อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม วิธีฝึกแบบสมัยใหม่นั้น
บางครั้ง เป็นเพียงการยืมชื่อมาใช้
เพื่อโฆษณาสรรพคุณ
โดยไม่ได้มีเนื้อหาสาระ เกี่ยวข้องกับมวยไทจี๋เลย
หรือไม่ก็ เป็นการใช้คุณประโยชน์ของมวย
แค่เพียงกระผีกริ้นของมันเท่านั้น

มวยไทจี๋มีคุณประโยชน์มากมายมหาศาล
ในหลากหลายด้าน หากคุณได้ศึกษาจากผู้รู้
และ ฝึกฝนอย่างจริงจัง เป็นวิชา ที่คุณสามารถ
ใช้เป็นวิชาประจำตัว เรียนรู้จากมันได้ไม่มีที่สิ้นสุดจนตลอดชีวิต

บล๊อกนี้ผมตั้งใจจะ รวบรวม ประวัติ และ
ท่ามวยไทจี๋ของหลากแบบ หลายสายอาจารย์
ของมวยไทจี๋ตระกูลต่างๆเอาไว้ เผื่อผู้สนใจจะได้สามารถเปรียบเทียบได้

จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน
ปัจจุบัน มวยไทจี๋แบ่งออกเป็นหลายแบบ
หลากตระกูล ที่สำคัญๆก็คือ
มวยไทจี๋ตระกูลเฉิน ตระกูลหยาง
ตระกูลอู๋ ตระกูลอู่ ตระกูลซุน
สายหมู่บ้านเจ้าเป่า สายบู๊ตึ๊ง

แต่ละสาย ยังแตกแขนงออกไปอีกมากมาย
รวมทั้ง สายแปลกๆ สาย ย่อยต่างๆอีก
ผมจะพยายามรวบรวมมาให้ดูกันครับ

ยังทำไม่เสร็จนะครับ มีหลายหัวข้อยังว่างอยู่
ค่อยๆทำไปเรื่อยแล้วกัน

ตอนนี้ หัวข้อที่มีเนื้อหาอยู่ คือ
** กำเนิดมวยไทเก๊ก
** มวยไทเก๊กตระกูลหยาง
** คำสอนปรมาจารย์
** ตำนานยอดฝีมือครับ
** ประวัติมวยไท่เก๊ก ทั้ง7สาย
** มวยไท่เก๊กตระกูลเฉิน

แต่ทั้งหมดก็ยังไม่ครบถ้วน
ยังคงอัพเดทเรื่อยๆครับ


บทความส่วนใหญ่ที่ผมเป็นคนแปล
จะมีข้อผิดพลาดในเรื่องการออกเสียง
ชื่อคน ชื่อสถานที่ภาษาจีน เพราะผมไม่รู้
ภาษาจีน และต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษเสีย
ส่วนใหญ่ ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าครับ

อัพเดท สัปดาห์ละครั้งครับ
[Add Ramin&Indra's blog to your web]