บ้านรักษ์ไทย ขอร่วมส่งเสริมและสํานึกรัก ศิลปวัฒนธรรมไทย และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้คงอยู่ยืนยาวตลอดไป
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 
พิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย





ความหมายของคำว่า "ไหว้ครู"

ในเรื่องของการไหว้ครูนับเป็นวัฒนธรรมไทยแบบหนึ่ง เป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามในส่วนที่เกี่ยวกับกิริยามารยาท สัมมาคารวะ และมีส่วนที่จะโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ให้รักษาคุณความดี รักษาวิทยาการสืบเนื่องไปด้วยดี ทั้งยังจูงใจให้เป็นผู้มีนิสัยอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง ได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่า "การไหว้ครู" อยู่หลายท่านดังนี้

"การไหว้ครู" คือ การแสดงถึงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์ และครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า

"การไหว้ครู" คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายปลายทางของการศึกษาตามที่ได้ตั้งใจไว้

"การไหว้ครู" คือ การแสดงถึงความสำนึกที่ดีงาม โดยเฉพาะเรามักจะกระทำแก่สิ่งของหรือบุคคลที่มีความสำคัญแทบทั้งสิ้น เช่น นักเรียนประกอบพิธีไหว้ครู ก็เพราะนักเรียนเห็นว่าครูเป็นบุคคลที่สำคัญในชีวิตของเขา คือ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ และเป็นปูชนียบุคคล ครูอาจารย์จึงเป็นบุคคลที่คู่ควรแก่การไหว้เป็นอย่างยิ่ง

ความสำคัญของการไหว้ครู

ไทยเรามีประเพณีการไหว้ครูมาแต่โบราณ เราไหว้ครูเพราะเราเคารพในความเป็นผู้รู้ และความเป็นผู้มีคุณธรรมของท่าน คุณสมบัติทั้ง 2 ประการของครูต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับคุณธรรมของศิษย์ การเรียนการสอนจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้าจะเปรียบการเรียนการสอนเป็นต้นไม้ คุณธรรมของครูนับตั้งแต่ปัญญา ความเมตตากรุณา และความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นฐานรองรับให้ต้นไม้คงอยู่ได้ ในขณะเดียวกันคุณธรรมของศิษย์ไม่ว่าจะเป็นความเคารพ ความอดทน หรือความมีระเบียบวินัยก็เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เจริญเติบโต ออกดอกออกผลอย่างงดงาม ในความสำคัญของการไหว้ครูมีผู้กล่าวไว้ดังนี้

"ประเพณีการไหว้ครูมีมาแต่โบราณ คนไทยเป็นคนที่มีกตัญญูอย่างแรงกล้า และได้รับการอบรมต่อๆกันมาให้เป็นผู้มีกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การที่จะกระทำกิจการใดๆ ก็ต้องได้รับคำแนะนำจากครู แม้แต่การเลียนแบบหรือลักจำเขามาก็ต้องเคารพผู้ให้กำเนิด หรือประดิษฐ์สิ่งนั้น ในการศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆต้องมีการไหว้ครูก่อนทั้งนั้น การไหว้ครูถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนศิลปการดนตรี และนาฏศิลป์ เป็นพิธีการที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ และมีพิธีรีตองมากกว่าการไหว้ครูทางหนังสือ"

"โขน และละคอนรำเป็นศิลปะที่ถือเอากระบวนการเต้นกระบวนการรำเป็นสำคัญ เพราะการเล่นโขนเล่นละครเป็นศิลปะที่ประณีตมาก จะต้องฝึกหัดกันนานๆ จึงจะเล่นเป็นตัวดีได้ บรรดาศิษย์ที่เข้ารับการฝึกได้จึงหัดกันมาแต่เด็กๆ เมื่อหัดรำเพลงช้า และเพลงเร็วได้แล้วก็นับว่ารำเป็น พอจะออกเล่นออกแสดงเป็นเสนาหรือนางกำนัลได้ จึงจะกำหนดให้ทำพิธีไหว้ครู ถ้าหัดปี่พาทย์เมื่อบรรเลงเพลงโหมโรงได้จบก็นับว่าตีเป็นพอที่จะออกงาน เช่น บรรเลงในการสวดมนต์เย็น หรือฉันเช้าได้ก็ให้ไหว้ครูเช่นกัน และเมื่อครูอาจารย์เห็นว่าศิษย์เหล่านั้นเต้นรำทำเพลงได้ดีแล้ว ครูจึง "ครอบ" ให้ เท่ากับอนุญาตให้เป็นโขนละคอนได้ นับแต่นั้นมาก็เป็นเสมือนศิษย์นั้นๆได้ประกาศนียบัตรประกาศความเป็นโขนละคอนแล้ว นี้เป็นแบบแผนที่มีมาแต่โบราณ"

"พิธีไหว้ครูที่ปฏิบัติกันเคร่งครัด ได้แก่ พิธีไหว้ครูอาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ ถือกันว่าเพลงหน้าพาทย์ ดนตรีบางเพลง และท่ารำบางท่า เป็นเพลง และท่ารำที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้ายังไม่ได้ทำพิธีไหว้ครู และพิธีครอบเสียก่อนแล้ว บรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าสอนกล้าหัดให้ศิษย์ ด้วยเชื่อกันว่าจะเกิดผลร้ายแก่ครูผู้สอน และแก่ศิษย์เองด้วย ถ้าเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นก็จะกล่าวกันว่า "ครูแรง" เหตุนี้โรงเรียนนาฏศิลป ของกรมศิลปากรจึงได้กำหนดงานพิธีไหว้ครู และพิธีครอบขึ้นเป็นประจำปีละครั้งในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นวันครูในตอนต้นภาคเรียนแรกแต่ละปีการศึกษา ทำนองเดียวกับโรงเรียนต่างๆ เพียงแต่มีพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์เพิ่มจากไหว้ครูธรรมดา และมีพิธีครอบประกอบด้วย เพื่อครู ศิษย์ และนักเรียนจะได้เริ่มสอนเริ่มเรียนกันไปอย่างเรียบร้อย และสบายใจ"




ประวัติของพิธีไหว้ครู

การประกอบพิธีไหว้ครูนั้นไม่ปรากฎหลักฐานถึงความเป็นมาของพิธีไหว้ครู และครอบครูโขน - ละคร ว่าสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้มีการกำหนดระเบียบแบบแผน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติโดยการบอกเล่าต่อๆกันมาเป็นมุขปาฐะ ตำราพิธีไหว้ครู และครอบโขน - ละครของไทยมีอยู่ 2 ฉบับ คือ สมุดไทยมีจำนวน 3 เล่ม แต่คงเหลือเพียงเล่ม 2 เล่มเดียว ส่วนเล่ม 1 และเล่ม 3 หายไป ซึ่งเข้าใจว่ามีนักปราชญ์รวบรวมชำระทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็นพิธีไหว้ครูโขน - ละคร ฉบับหลวง ในรัชกาลที่ 4 ส่วนอีกฉบับหนึ่ง คือ สมุดไทยเล่ม 2 ที่หลงเหลือมาจากฉบับแรก ได้ตีพิมพ์ใช้เป็นแบบฉบับของการทำพิธีไหว้ครูโขน - ละครในสมัยรัชกาลที่ 6

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พิธีไหว้ครูโขน - ละครได้เริ่มเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2397 ส่วนการไหว้ครูนอกพระราชวังนั้นเริ่มมีมานานแล้ว เพราะได้ปฏิบัติกันเป็นประเพณีติดต่อกัน อย่างเช่น การฝึกหัดละครโนห์ราชาตรี เมื่อรำเพลงครูได้แล้ว ครูจึงสอนให้ท่องบทเพราะละครโนห์ราชาตรียังใช้ร้องกลอนสด (เหมือนอย่างเล่นเพลงลิเก) ไม่มีหนังสือบทอย่างละครในกรุงเทพฯ แล้วสอนให้ร้องให้รำทำบทไปจนพอทำได้ ผู้ที่เป็นครูหัดจึงพาไปให้ครูครอบ เรียกว่า "เข้าครู"



นอกจากนี้ในเรื่องพิธีไหว้ครูนั้น ยังเกี่ยวข้องกับลัทธิธรรมเนียมของการแสดงโขน - ละคร เพราะลักษณะพิเศษของโขน - ละครไทยนั้น นอกจากจะเป็นนาฏศิลป์แล้วยังเป็นลัทธิอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นลัทธิมีพิธีกรรมของตนเอง และโดยเหตุนี้นาฏศิลป์ไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับศาสนาฮินดูตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ลัทธิธรรมนียมของโขน - ละครไทยที่เกิดขึ้นต่อมาจึงหนักไปทางไสยศาสตร์หรือศาสนาฮินดู เทพเจ้าอันเป็นที่นับถือในลัทธิโขน - ละครก็คือพระเป็นเจ้าของศาสนาฮินดู ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และพระพิฆคเณศ นอกจากนั้นก็มีเทพเจ้าอื่นๆอีกบางองค์ เช่น พระปรครธรรพ ผู้ซึ่งถือว่าเป็นใหญ่ในทางดนตรี รองลงมาได้แก่ ครูปัธยาย ซึ่งมีวัตถุที่เคารพแสดงออกด้วยหัวโขน ได้แก่ พระภรตฤาษี ซึ่งเป็นหัวฤาษีหน้าทอง พระนารทฤาษี ซึ่งเป็นหัวฤาษีหน้ากระดาษเขียนสี หัวพระพิราพซึ่งเป็นหัวโขนยักษ์ หัวโขนพระราม พระลักษณ์ เทริดโนห์รา และรัดเกล้าอันเป็นศิราภรณ์ของนางกษัตริย์ในเรื่องละคร หัวโขนอื่นๆที่ใช้ในการแสดงนั้นก็ถือว่าเป็นวัตถุที่เคารพทั้งสิ้น จะจับต้องหรือตั้งไว้ที่ใดก็ต้องกระทำด้วยความเคารพ

การจัดพิธีไหว้ครู

การจัดพิธีไหว้ครูนั้น มักนิยมจัดกันในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือว่าเป็นวันครูอันเกี่ยวข้องกับตำนานเทพเจ้าพระพฤหัสบดี ในปัจจุบันบางครั้งก็นิยมจัดกันในวันอาทิตย์ได้อีก 1 วัน แต่ไม่ว่าจะจัดวันพฤหัสบดีหรือวันอาทิตย์ จะต้องไม่ตรงกับวันพระเพราะถือว่าครูจะไม่ลงมา และหาซื้อเครื่องสังเวยลำบาก เดือนที่นิยมกระทำพิธีไหว้ครูตามแบบโบราณนั้น นิยมประกอบพิธีในเดือนที่เป็นเลขคู่ ยกเว้นเดือน 9 เดือนเดียวที่อนุโลม เพราะถือเป็นเคล็ดว่าเป็นเลขที่ดีก้าวหน้า และมักทำกันในวันข้างขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นวันฟู ข้างแรมอันถือว่าเป็นวันจมไม่นิยมประกอบพิธีกัน



ลักษณะพิธีต่างๆของการไหว้ครู

ตอนที่ 1 พิธีสวดมนต์เย็น หมายถึง พิธีสงฆ์ที่มักนิยมทำกันก่อนวันไหว้ครู 1 วัน เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยในวันนี้จะต้องจะเตรียมสถานที่ และสิ่งต่างๆที่จำเป็นให้เรียบร้อย แล้วจึงนิมนต์พระ 9 รูป มาทำพิธีสวดมนต์เย็นในโรงพิธีดังกล่าวก่อนเริ่มวันไหว้ครู

ตอนที่ 2 พิธีไหว้ครู หมายถึง การสำรวมใจรำลึกถึงพระคุณของบรมครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ และพร้อมใจกันเปล่งเสียงวาจาด้วยความเคารพตามครูผู้กระทำพิธีขณะอ่านโองการ

ตอนที่ 3 พิธีครอบครู เป็นพิธีที่นิยมกันมาช้านาน หมายถึง การนำศีรษะครูมาครอบ (เพื่อรับเป็นศิษย์) และครูจะคอยควบคุมรักษา คอยช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนท่ารำ จังหวะดนตรี หากมีสิ่งใดที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวศิษย์
พิธีครอบครูนั้นนับว่าเป็นการทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจว่าครูจะคุ้มครองรักษา ครูจะช่วยเหลือแม้จะรำผิดพลาดไปบ้าง จะทำให้ผู้เรียนไม่ตระหนกตกใจจนเกินไป เพราะมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองได้ทำพิธีครอบครูแล้ว ครูคงให้อภัยในความผิดพลาด อีกประการหนึ่งพิธีครอบครูนั้น ผู้ศึกษานาฏศิลป์ทุกคนถือว่าเป็นพิธีสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ศึกษาปฏิบัติท่ารำที่อยู่ในระดับสูง เช่น การรำเพลงหน้าพาทย์ ก่อนจะรำผู้ศึกษาต้องผ่านพิธีครอบครูก่อนจึงจะต่อท่ารำได้

ตอนที่ 4 พิธีมอบ พิธีนี้เป็นขั้นตอนที่สูงที่สุด หมายถึง การได้รับการมอบความรู้ความเป็นครู ผู้สืบทอดการอบรมสั่งสอนในสมัยที่ยังไม่มีปริญญาบัตรเป็นเครื่องกำหนดความรู้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอนวิชานาฏศิลป์จะพิจารณาว่า ศิษย์คนใดมีความรู้ในวิชานาฏศิลป์มีฝีมือในการรำยอดเยี่ยม จนถือเป็นแบบแผนที่ดีได้ และมีความประพฤติเรียบร้อย เหมาะสมที่จะเป็นครูสืบทอดความเป็นผู้รู้ให้กับผู้อื่นได้ต่อไป การมอบนั้น ครูผู้กระทำพิธีจะรวบรวมบรรดาอาวุธทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงโขน-ละคร เช่น พระขรรค์ ดาบ หอก ธนู รวมทั้งบทละคร มัดรวมไว้ และครูจะภาวนาคาถาประสิทธิ์ประสาทความเป็นผู้รู้ และส่งมัดอาวุธให้ศิษย์ได้น้อมรับ ก็เป็นอันว่าศิษย์นั้นได้เป็นครูสอนวิชานาฏศิลป์อย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้



ดนตรี และเพลงที่ใช้ประกอบในพิธีไหว้ครู

ดนตรีที่ใช้บรรเลงนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ส่วนเพลงที่บรรเลงประกอบในพิธีไหว้ครูนับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องบรรเลงเพลงหน้าพาทย์อันเป็นเพลงที่ในวงการศิลปินให้ความเคารพ ผู้ที่บรรเลงได้จะต้องเป็นบุคคลที่มีฝีมือเป็นอย่างดี เพราะถ้าหากเกิดความผิดพลาดอาจจะมีผลถึงตนเองที่เรียกว่า "ผิดครู" ซึ่งเพลงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับพิธีไหว้ครูเป็นอย่างมาก เป็นเพลงที่จะกำหนดอัยเชิญครูปัธยาย (ครูเทพเจ้าต่างๆ) เป็นอย่างมากมาร่วมในพิธี ซึ่งแต่ละสถานที่อาจมีการกำหนดเรียงตามลำดับไม่เหมือนกัน เช่น

เพลงเหาะ      เชิญพระอิศวร
เพลงกลม       เชิญเทพเจ้า
เพลงโคมเวียน       เชิญเทวดาทั่วไป
เพลงบาทสกุณี       เชิญพระนารายณ์
เพลงตระพระปรคนธรรพ      เชิญพระประคนธรรพ (ครูดนตรี)
เพลงตระองค์พระพิราพเต็มองค์       เชิญองค์พระพิราพ
เพลงคุกพากย์      เชิญครูยักษ์ใหญ่ทั่วไป
เพลงดำเนินพราหมณ์       เชิญผู้ทรงศีล
เพลงช้า - เพลงเร็ว       เชิญครูมนุษย์
เพลงเชิดฉิ่ง      เชิญครูนาง
เพลงกราวนอก       เชิญครูวานร
เพลงกราวใน       เชิญครูยักษ์ทั่วไป
เพลงกราวตะลุง       เชิญครูแขก
เพลงโล้       เชิญครูที่เดินทางมาทางน้ำ
เพลงเสมอเถร      เชิญครูฤาษีขึ้นสู่ที่ประทับ
เพลงเสมอมาร      เชิญครูยักษ์ขึ้นสู่ที่ประทับ
เพลงเสมอเข้าที่       เชิญครูที่มิได้เจาะจงว่าเป็นผู้ใดขึ้นสู่ที่ประทับ
เพลงเสมอผี       เชิญวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์ ดนตรีสู่ที่ประทับ
เพลงแผละ       เชิญสัตว์ปีกใหญ่ เช่น พญาครุฑ มาในพิธี
เพลงลงสรง       เชิญครูที่มาทุกองค์ลงสรงน้ำ
เพลงนั่งกิน       เชิญครูที่มาประชุมทุกองค์กินเครื่องสังเวย
เพลงเซ่นเหล้า       เชิญครูที่มาประชุมทุกองค์ดื่มสุรา
เพลงช้า - เพลงเร็ว       เชิญทุกคนที่มาร่วมพิธีรำถวาย
เพลงกราวรำ       เชิญศิษย์ทุกคนรำเพื่อเป็นสิริมงคล และส่งครูกลับ
เพลงพระเจ้าลอยถาด       ส่งครูกลับ
เพลงมหาชัย       บรรเลงส่งท้ายเพื่อความสามัคคี

บางตำราได้เรียงลำดับเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ในพิธีไหว้ครู ครอบครูดนตรี และนาฏศิลป์ ตลอดจนความหมายของเพลงหน้าพาทย์ที่เชิญเทพเจ้าหรือครูมาร่วมพิธีต่างกันออกไปอีกดังนี้
เพลงโหมโรง       เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เสด็จมาในพิธี
เพลงสาธุการกลอง       บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เพลงตระเชิญ       เชิญพระอิศวร
เพลงตระนารายณ์บรรทมสินธุ์       เชิญพระนารายณ์
เพลงสี่บท       เชิญพระ พรหม
เพลงเหาะ       เชิญเทพที่เหาะเหินเดินอากาศ
เพลงโคมเวียน       เชิญเทพบุตรและนางฟ้ามาเป็นหมวดหมู่
เพลงช้า - เพลงเร็ว       เชิญครูโขน - ละคร ตัวพระ ตัวนาง
เพลง เชิดฉิ่ง       เชิญนางเมขลา
เพลงแผละ       เชิญครูที่อยู่ในอากาศ
เพลงโล้       เชิญครูที่อยู่ในน้ำ
เพลงกราวตะลุง       เชิญครูโนห์รา
เพลงคุกพากย์       เชิญพระคเณศ
เพลงพระปรคนธรรพ       เชิญครูตะโพนหรือครูหน้าทับ
เพลงกลม       เชิญพระปัญจสีขร ครูทางดีด สี ตี เป่า
เพลงเสมอสามลา       เชิญพระวิสสุกรรม ครูทางช่างศิลป์
เพลงกราวนอก       เชิญครูนาฏศิลป์ทางฝ่ายขวามือ
เพลงรุกรัน       เชิญครูพระ ลิง มนุษย์
เพลงเสมอข้ามสมุทร       เชิญครูพระ ลิง มาเป็นหมวดหมู่
เพลงบาทสกุณี       เชิญครูพระราม พระลักษณ์ พระพรต พระสัตรุด
เพลงชำนาญ       เชิญครูนางโขน
เพลงกราวใน      เชิญครูนาฏศิลป์ทางฝ่ายซ้ายมือ
เพลงเสมอมาร      เชิญทศกัณฐ์ และพระยามารทั้งหมด
เพลงตระบองกัน       เชิญครูฝ่ายยักษ์หรืออสูร
เพลงรัวสามลา       เชิญครูฝ่ายอสูรที่มีอิทธิฤทธิ์
เพลงเสมอผี       เชิญครูที่เป็นวิญญาณทั้งหลาย
เพลงดำเนินพราหมณ์       เชิญครูฤาษีชีพราหมณ์
เพลงตระองค์พระพิราพเต็มองค์       เชิญครูพระพิราพ
เพลงตระสันนิบาต       เชิญครูมาร่วมประชุมทุกองค์

นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ผู้รู้ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้
เพลงตระพระอิศวร       เชิญเชิญพระอิศวร
เพลงตระพระนารายณ์      เชิญพระนารายณ์
เพลงตระลงสรงพระพรหม       เชิญพระพรหม
เพลงตระพระพิฆเณศ       เชิญพระพิฆเณศ
เพลงกลม       เชิญพระอินทร์
เพลงตระพระวิษณุกรรม      เชิญพระวิษณุกรรม
เพลงตระพระปัญจสีขร      เชิญพระปัญจสีขร
เพลง ตระพระปรคนธรรพ       เชิญตระพระปรคนธรรพ
เพลงตระนาง       เชิญพระอุมา
เพลงตระฤาษีกไลโกฎ       เชิญพระฤาษีกไลโกฎ
เพลงตระพระฤาษี       เชิญพระฤาษีทั่วไป

ซึ่งเพลงดังกล่าวจะมีลักษณะประจำองค์ของเทพนั้นๆ แต่ปัจจุบันเพลงที่นำมาบรรเลงเชิญเทพแต่ละองค์ในพิธีไหว้ครูอาจแตกต่างกันไป ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากผู้บรรเลงได้รับสืบทอดมาจากครูแต่ละคน หรือไม่ก็เพราะมีผู้บรรเลงได้น้อย อาจด้วยครูรุ่นเก่าๆไม่ได้ต่อไว้ให้ จึงทำให้ลักษณะเพลงที่ออกมาเวลาเชิญครูแตกต่างกันออกไปดังกล่าว และในสมัยก่อนเวลาไหว้ครูก็จะไม่เรียกเพลงมาก ยกเว้นในพิธีหลวงจึงจะเรียกเพลงมาก



ในการจัดพิธีไหว้ครูโขน - ละคร จะเห็นได้ว่าในพิธีจะมีหัวโขนหรือศีรษะครูที่เป็นเสมือนตัวแทนของครูแต่ละองค์ นำมาตั้งประกอบในพิธีมากมายตามโอกาส และความพร้อมของผู้จัด ในเรื่องของประวัติเทพเจ้าที่เกี่ยวข้อง ลักษณะที่สำคัญ ตลอดทั้งความสำคัญของหัวโขนเทพเจ้าที่พอจะนำมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่

● หัวโขนพระอิศวร แทนองค์พระอิศวร เป็นเทพเจ้าผู้ทำลายล้าง

● หัวโขนพระนารายณ์ แทนองค์พระนารายณ์ เป็นเทพเจ้าผู้บริหาร และรักษาโลก

● หัวโขนพระพรหม แทนองค์พระพรหม เป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก

● หัวโขนพระอินทร์ แทนองค์พระอินทร์ เทพเจ้าผู้คอยช่วยเหลือคนดี

● หัวโขนพระพิฆคเณศ แทนองค์พระพิฆคเณศ เทพเจ้าแห่งความรู้ สติปัญญา และศิลปศาสตร์

● หัวโขนพระวิสสุกรรม แทนองค์พระวิสสุกรรม เทพเจ้าแห่งการช่าง และการก่อสร้าง

● หัวโขนพระปรคนธรรพ แทนองค์พระปรคนธรรพ เป็นครูทางปี่พาทย์

● หัวโขนพระปัญจสีขร แทนองค์พระปัญจสีขร เป็นครูทางด้านดนตรี

● หัวโขนพระพิราพ แทนองค์พระพิราพ เป็นเทพแห่งการประสบโชค และความตาย ศิลปินโขน - ละครไทย ให้ความเคารพในฐานะเป็นครูในวิชาดุริยางคศาสตร์ และนาฏศิลป์

● หัวโขนพระฤาษีกไลโกฎ พระภรตฤาษี พระฤาษีตาสัส พระฤาษีตาไฟ แทนองค์พระฤาษีกไลโกฎ พระภรตฤาษี พระฤาษีตาสัส พระฤาษีตาไฟ เป็นครูทางด้านการฟ้อนรำ ที่ศิลปินมักกล่าวถึงเสมอโดยเฉพาะพระภรตฤาษี


สำหรับการไหว้ครูในการแสดงบางเรื่อง เป็นความเชื่อของศิลปินที่จะต้องกระทำก่อนการแสดงเสมอ เพื่อป้องกันสิ่งที่จะเป็นอัปมงคล ถึงแม้ว่าไม่ต้องทำพิธีใหญ่เหมือนกับการจัดพิธีไหว้ครูโขน - ละครทั่วไป แต่ก็ทำเพื่อความปลอดภัย และความมั่นใจให้กับผู้แสดง นอกจากนี้ การแสดงบางเรื่องจะต้องทำพิธีเพิ่มขึ้น โดยจัดเครื่องสังเวยต่างๆเพื่อบูชาครูหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายก่อนการแสดงละครเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะละครที่แสดงเกี่ยวกับ

● กษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ต่างๆในอดีต เช่น ละครเรื่องสมเด็จพระศรีสุริโยทัย เรื่องสมเด็จพระนเรศวร เรื่องพระเจ้าตากสิน ฯลฯ

● เรื่องเกี่ยวกับภูติผี เช่น ขุนช้างขุนแผน ตอนนางวันทองห้ามทัพ

● เรื่องเกี่ยวกับตัวละครที่ต้องตายตามท้องเรื่อง เช่น เรื่องพระลอ ที่ตัวแสดงต้องตายในฉากสุดท้าย คือ ตัวพระลอ พระเพื่อน พระแพง นายแก้ว นายขวัญ นางรื่น นางโรย เรื่องเงาะป่า ที่ตัวแสดงเป็นซมพลา ฮเนา และนางลำหับต้องตาย ฯลฯ

● เรื่องเกี่ยวกับตัวละครต้องแสดงโดยถูกจองจำด้วยเครื่องพันธนาการต่างๆ เช่น เรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา

ซึ่งถ้าจะแสดงเป็นเรื่องในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ก็มักจะต้องมีพิธีไหว้ครูที่พิเศษออกไปกว่าปกติก่อนการฝึกซ้อมหรือการแสดงทุกครั้ง เพราะละครไทยส่วนใหญ่แล้วไม่นิยมแสดงเกี่ยวกับตัวละครต้องตายในเรื่องหรือถูกจองจำหรือเกี่ยวกับภูติผี ด้วยถือว่าเป็นอัปมงคล หากจะต้องแสดงก็จำเป็นต้องทำพิธีดังกล่าวขึ้น


ที่มาของข้อมูล

กลับขึ้นบน




Create Date : 22 สิงหาคม 2551
Last Update : 27 ตุลาคม 2551 23:27:30 น. 0 comments
Counter : 21251 Pageviews.

บ้านรักษ์ไทย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add บ้านรักษ์ไทย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.