บ้านที่มีความรักและความอบอุ่นคือจินตนาการของคนไทยยามนี้ !
Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
27 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
วัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่ต้องร่วมกันสร้างขึ้น..






แล้วการร่างรัฐธรรมนูญในรอบแรกก็ผ่านไปและหลังจากนี้ก็จะเปิดให้รับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญคงจะไม่เน้นมากในวันนี้นะครับ แต่อยากฝากให้พิจารณาประเด็นที่มาของ สว.และการร่างกฏหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องสื่อ,สิทธิผู้บริโภคและสิทธิชุมชนควรจะร่างอย่างเป็นรูปธรรมและเปิดทางให้การเมืองภาคพลเมืองได้รับการพัฒนาและต่อยอดต่อไป

เพราะจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมาการเมืองในระบบรัฐสภายังไม่สามารถเป็นความหวังของประชาชนได้อย่างแท้จริง และการสร้างพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ปัจจัยที่มีส่วนอย่างสำคัญคือการกำหนดนโยบายสาธารณะและการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง


นั่นคือนโยบายสาธารณะที่ต้องสามารถแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจสังคม ปัญหาเชิงโครงสร้างที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงยากจนและไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยในการผลิตและองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง นโยบายทางเศรษฐกิจสังคมที่เป็นวิสัยทัศน์ประเทศไทยจะต้องมีการผลักดันและทำให้คนในสังคมมองเห็นอย่างเด่นชัด

รัฐทั้งในส่วนกลไกระบบราชการและภาคการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องส่งเสริมจุดแข็งของประเทศอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว รวมทั้งต้องคำนึงถึงทุนทางทรัพยากรธรรมชาติเช่นป่าไม้,น้ำ,ดิน,อากาศ ที่เป็นทุนทางสังคมที่ต้องมีการอนุรักษ์และมีการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง

แล้วอะไรคือวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่จะต้องร่วมกันสร้างขึ้น??



ตราบใดที่คนในสังคมยังเผชิญกับปัญหาความยากจนและไม่สามารถหลุดพ้นในสิ่งเหล่านี้ได้ ระบบอุปถัมภ์และนโยบายในเชิงประชานิยมก็ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะขุดรากถอนโคนในสิ่งเหล่านี้ ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงจะยังคงเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเก่าที่ต้องต่อสู้กันไปอีกนานในสังคมไทย การเมืองใหม่จะเกิดขึ้นได้หากประชาชนผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใหม่ ๆ จะต้องร่วมมือกันในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ ที่เอาชนะกันด้วยนโยบายการสร้างชาติที่เป็นรูปธรรมและห่างไกลจากนโยบายที่มีลักษณะประชานิยมให้มากที่สุด

นโยบายประชานิยมอาจได้ผลในระยะสั้นแต่หากมองกันในระยะยาวแล้วการนำเอาเงินจากธนาคารภาครัฐมาใช้เช่นธนาคารออมสิน,ธนาคารเกษตรและสหกรณ์ การใช้หนี้คืนจะเป็นไปได้แค่ไหน เช่นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ที่อาจจะดีในเชิงหลักการ แต่ในเชิงวิธีการการนำเงินเพื่อไปใช้ในการใช้จ่ายสินค้าแทนการเอาไปลงทุนในการผลิตเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไปในแง่วินัยทางการเงินที่อาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย และสุดท้ายประเทศนี้ก็จะสะสมหนี้สาธารณะกองโตต่อไปเรื่อย ๆ



วันนี้การหันกลับมามองการเมืองด้วยมุมมองใหม่และเข้าร่วมในการเลือกตั้งและไม่เบื่อที่จะไปใช้สิทธิแต่ต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่มองการเมืองด้วยการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสให้นักการเมืองน้ำดีเข้าไปไล่นักการเมืองน้ำเน่าที่ทำให้การเมืองต้องตกอยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างไม่จบไม่สิ้น...

การเมืองใหม่อยู่ในมือของเราแล้ว
อยู่ที่ว่าเราจะเข้าร่วมหรือปฏิเสธมัน??





บล็อกที่แล้ว คลิกที่นี่
























Create Date : 27 เมษายน 2550
Last Update : 2 พฤษภาคม 2550 12:30:06 น. 11 comments
Counter : 1353 Pageviews.

 



สวัสดีตอนเช้าของ เนเธอร์แลนด์ นะจ้า

มีแรงใจเต็มกระสอบส่งไปให้
แถมห่วงใยเต็มกระบุงพุ่งไปหา
ตามด้วยรักและคิดถึงเต็มตระกร้า
ให้รู้ว่าเพื่อนคนนี้เป็นห่วงเธอ



** มีความสุขมากๆในช่วงวันหยุดพักผ่อนนะจ้า **


ใชเลยอะจ้าการเมืองจะเกิดขึ้นใหม่และมีอะไรดีๆๆ
มันขึ้นอยู่ที่ตัวเราตัดสินใจ


โดย: จอมแก่นแสนซน วันที่: 27 เมษายน 2550 เวลา:14:24:46 น.  

 
โต้ข้อวิพากษ์
จาก
คอลัมน์วิภาคแห่งวิพากษ์
หนังสือพิมพ์มติชน วันอังคารที่ 20 มีนาคม 2550
โดย...... นักรบสีแสด
จากคอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์ หัวข้อ “6 เดือน 19 ก.ย. สภาวะภาคใต้ เศรษฐกิจ คือคำตอบสุดท้าย” ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 20 มีนาคม 2550 ที่ได้เขียนวิจารณ์การเข้ามายึดอำนาจของทหารว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือปัญหาความไม่สงบทางภาคใต้ และจบลงด้วยการด่วนสรุปว่า การปฏิวัติไม่ได้ทำให้อะไรให้ดีขึ้นนั้น นับเป็นการวิพากษ์ที่เต็มไปด้วยอคติอย่างแท้จริง
จะเห็นได้ว่า คอลัมนิสต์ ผู้นี้ มุ่งค้นหาประเด็นมาโจมตีทหารโดย “ตั้งใจ” ละเลย ต้นเหตุ ที่ทำให้ทหารต้องเข้ามาแทรกแซง ซึ่งก็คือ ความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่รัฐบาลทักษิณได้กระทำไว้กับประเทศชาติ นับเป็นที่น่าเสียดายที่สื่อมวลชน แทนที่จะช่วยกันเป็นปากเป็นเสียง ประณามความเลวที่พวกอำนาจเก่าได้ทำไว้กับประเทศชาติ และสังคมโดยรวม กลับมาจ้องทำลายการกอบกู้วิกฤติของชาติโดยทหาร เนื่องมาจากอคติ และการขาดความเข้าใจในความหมายของคำว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะมัวแต่ไปยึดเพียงแค่รูปแบบของประชาธิปไตยในรูปแบบการเลือกตั้งที่ฝ่ายอำนาจเก่าได้สร้างภาพไว้นั่นเอง
ตลอดเวลาที่ระบอบทักษิณครองอำนาจอยู่ ได้ทำลายชาติบ้านเมืองไว้อย่างเลวร้าย โดยแอบอ้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็น “เครื่องมือ” ในการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนและพวกพ้อง เพราะสามารถอ้างความชอบธรรมทางกฎหมายในตักตวงผลประโยชน์เข้าตนเอง พวกอำนาจเก่าทราบดีว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยยังมีจุดอ่อนอยู่ 2 ประการ คือ ปัญหาความยากจน กับปัญหาการขาดโอกาสในการศึกษา และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในหมู่คนรากแก้ว พวกอำนาจเก่าจึงใช้จุดอ่อนเหล่านี้เข้ามาซื้อเสียง และใช้พวกรากแก้วเหล่านี้เป็นฐานเสียงให้ตน
ในขณะที่พรรคการเมือง และประชาชนในประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว มุ่งที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติ แต่นักการเมืองในระบอบทักษิณกลับนึกถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเป็นหลัก และที่สำคัญคือ ขาดจริยธรรม ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ไม่ใช่ เพียงแค่ การไปใช้สิทธิออกเสียงการเลือกตั้ง แต่ ต้องมีคุณธรรม และ จริยธรรมของผู้ปกครองเกี่ยวข้องด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ ประชาธิปไตย ต้องหมายถึงการเมืองที่ดีด้วย ซึ่งการเมืองที่ดีก็คือ การเมืองที่มีธรรมาภิบาลนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ระบอบทักษิณได้ทำมาตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในอำนาจ คือ เอาคำว่าประชาธิปไตย ในรูปแบบของการเลือกตั้งมาบังหน้า ผสมผสานกับการ “มอมเมา” นโยบายประชานิยมกับพวกรากแก้ว ด้วยวิธีการตลาดอันแยบยล (เพราะทักษิณฯ มองประเทศชาติเป็นบริษัท) ซึ่งรากแก้วไม่อาจรู้ว่า ระบอบทักษิณได้เปลี่ยนพวกเขาให้เป็น “นักบริโภคนิยม” ที่มีความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย จนติดเป็นนิสัย เหมือนกับติดยา แต่เป็น “การติดยาทางเศรษฐกิจแห่งลัทธิบริโภคนิยม” ที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาบริโภค จนในที่สุดก็ขายชีวิต
จิตวิญญาณของตนเอง กลายเป็นทาสของลัทธิบริโภคนิยมโดยสมบูรณ์
สำหรับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่คอลัมนิสต์ผู้นี้ได้กล่าวโจมตีว่า การเข้ามายึดอำนาจของทหารทำให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งในข้อนี้ถ้าเราพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่า สาเหตุนั้น เริ่มมาจากรัฐบาลทักษิณนั่นเอง เริ่มตั้งแต่การแปรรูปกิจการพลังงานของชาติเป็นของเอกชน เช่น ปตท. ที่ขายเป็นหุ้นเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว และได้กลายเป็นปมขัดแย้งทางการเมืองที่บาดลึกระหว่างประชาชนและรัฐบาลทักษิณ ซึ่งถ้าทหารไม่เข้ามาแทรกแซงยึดอำนาจเสียก่อน ก็จะมีการขายสมบัติสาธารณะด้านอื่นๆอีก อย่างเช่น ช่องสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ ความถี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ทางด่วน ขนส่งมวลชน สนามบิน ท่าเรือ วงโคจรดาวเทียม เส้นทางการบิน ประปา รวมถึง โครงข่ายระบบไฟฟ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทหารจำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการ เพื่อให้มีการตรวจสอบ เอาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี (เพราะไม่มีรัฐบาลประเทศใดในโลก ที่จะขายสมบัติสาธารณะให้เป็นของเอกชน โดยเฉพาะกิจการที่กระทบต่อความมั่นคง และความภูมิใจของชาติ ยกเว้นรัฐบาลที่ไร้คุณธรรมเช่นรัฐบาลทักษิณ) และระหว่างอยู่ในช่วงตรวจสอบนี้ อาจจะทำให้บรรยากาศการลงทุนชะงักงันไปบ้าง แต่ในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อประเทศ เพราะสามารถรักษาสมบัติของชาติไว้ได้ เหมือนกับยอมเสียอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาร่างกายไว้ เพราะถ้าทหารมัวแต่ห่วงบรรยากาศการลงทุนแล้วปล่อยให้นักการเมืองฉ้อฉลกินบ้านกินเมืองต่อไป ประเทศไทย และประชาชนคนไทยคงลำบากกว่านี้แน่ ดังนั้นคนวิจารณ์ อย่าสักแต่พูดบั่นทอน จงใช้สติพิจารณา แล้วจะตระหนักได้เองว่า ทหารได้เข้ามากอบกู้วิกฤติของชาติ เพื่อจะนำพาประเทศชาติไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์โดยมีผู้ปกครองมีคุณธรรม และ จริยธรรม
สำหรับประเด็นเรื่องความไม่สงบในภาคใต้ สาเหตุที่ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นนั้นล้วนเกิดจากการบริหารงานที่ ผิดพลาด ของรัฐบาลทักษิณ ตลอดห้วงเวลาที่ครองอำนาจอยู่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการยุบหน่วยงาน ศอ.บต. ที่ทำไปเพราะเพียงกลัวพรรคการเมืองอีกฝ่ายจะได้เปรียบด้านฐานเสียงมวลชน การพยาพยายามทำให้เป็นรัฐตำรวจ ซึ่งก่อให้เกิดการอุ้มฆ่าอย่างมหาศาล (รวมทั้งการหายตัวไปของทนาย สมชาย นีละไพจิตร) การมองปัญหาอย่างตื้นเขิน และ คับแคบทางสติปัญญา ว่า โจรใต้เป็นเพียงโจรกระจอก และคิดแก้ปัญหาความเป็นความตายของชาติ ตามแบบของธุรกิจการค้า นอกจากนั้นยังมีนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งนำมาสู่การฆ่าตัดตอนมากกว่า 2,000 คน โดยทำให้ผู้คนหลงผิด คิดว่าเป็นความสำเร็จ แต่แท้ ที่จริงเป็นการสร้างภาพ ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหายาเสพติดเพิ่มความซับซ้อนยุ่งยากมากยิ่งขึ้น เพราะเน้นผลงานแบบ นับเม็ดยา จึงเกิดการล่ารางวัลจากยาเสพติดมากกว่าการปราบปรามยาเสพติด จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนไปทั่วโลก (แต่สื่อมวลชนในไทยบางรายกลับนิ่งเฉย เสมือนว่าไม่รับรู้) ซึ่งการกระทำเหล่านี้ได้สร้างความแตกแยกระหว่างชาวไทยพุทธ กับชาวไทยมุสลิมในประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเมื่อทหารก้าวเข้ามารับผิดชอบปัญหาภาคใต้ต่อการดำเนินการต่างๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก และต้องใช้เวลา เพราะปัญหาที่รัฐบาลทักษิณก่อไว้ในภาคใต้นั้น ร้ายแรงมาก และ แน่นอนว่าเมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์ก็ย่อมเปลี่ยน แม้จะมีการฟื้นฟูนำเอาแนวความคิด ศอ.บต. เข้ามาอีกแต่องค์ประกอบหลายอย่างก็ไม่เหมือนเดิม การจะเข้ามาแก้ปัญหาที่รัฐบาลทักษิณก่อไว้จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้สำเร็จในชั่วข้ามคืน แทนที่จะมองเห็นโทษของคนที่จุดไฟเผาเมือง กลับมากล่าวโทษแก่คนที่กำลังดับไฟ
ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่า ถ้าบ้านเมืองเรามีภาคประชาชน และพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง โดยมุ่งเห็นแก่ ผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ทหารจะเข้ามาแทรกแซง แต่ตราบใดที่นักการเมืองที่ไร้คุณธรรมยังแอบอ้าง นำเอารูปแบบประชาธิปไตยมาบังหน้าเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ และยังสามารถครอบงำสื่อมวลชนได้ ทหารก็ยังจำเป็นที่จะเข้ามากอบกู้วิกฤติของบ้านเมือง แม้ว่า การยึดอำนาจจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย แต่ถ้าพิจารณาถึงสิทธิธรรมชาติในอันที่จะล้มล้างรัฐบาลหรือการปกครองที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเมื่อผู้นำขาดจริยธรรม และคุณธรรม เช่นคราวที่ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ยกร่างคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาใน ค.ศ.๑๗๗๖ การยึดอำนาจการปกครองจึงเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือที่บางทฤษฎีใช้คำว่า "ภาวะอันสุดแสนจะทนทาน" เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนจนไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้โดยง่าย
ทหาร ไม่ได้ ต้องการเข้ามาบริหารประเทศแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ต้องทำคือ การแก้ไขวิกฤติ และ นำพาประเทศ สู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ได้โดยเร็วที่สุด และใน ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ต้องไม่ยอมให้ คนเลว ยังคงมีโอกาสทำร้ายชาติบ้านเมืองอีก กับ ต้องให้โอกาสและสนับสนุนคนดี สื่อมวลชน ก็ต้องเป็นมืออาชีพ เสนอข่าวด้วยจิตสำนึกของความรักชาติ อย่าตกเป็นแนวร่วมทรราช


โดย: พญางูใหญ่ วันที่: 27 เมษายน 2550 เวลา:22:57:30 น.  

 
หมอยุ่นขอ.คิด ,

หมอยุ่นขอ..เขียน ,

หมอยุ่นขอ...พูด (บ้าง)

-----------------------------------------------------------
หมอยุ่นขอ..เขียน (6)
-----------------------------------------------------------


วิกฤติทางการบ้าน , การเมือง

ทางออกอย่างไร...ดี ?


ขณะนี้ คมช. + รัฐบาล ให้น้ำหนักในการ

กำจัดขั้วอำนาจเก่า อย่างไม่ให้ได้ผุดได้เกิด ,

ให้อยู่เมืองไทยไม่ได้ ชนิดทำทุกขั้นทุกตอน

รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2550

ก็ล้วนแล้วเดินหน้าไปสู่ การกำจัดตัวบุคคล

คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นสำคัญ


ดังนั้น จึงขาดสัมมาทิฏฐิ

ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการมุ่ง.... สู่

การแก้ปัญหาของประเทศชาติ ซึ่งมีมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคง , ความปลอดภัยของชีวิต และ

ทรัพย์สิน , ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ทรุดตัวอย่างมาก ,

ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มต่างๆ เป็นต้น


ความศรัทธาต่อ คมช. + รัฐบาล

จึงลดฮวบฮาบ , เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

แนวโน้มที่กลุ่มมวลชนจัดตั้งออกมาแสดงพลัง

จึงปรากฏให้เห็นมากขึ้น , ถี่ขึ้นเรื่อยๆ



วิกฤติของบ้านเมือง จะหาทางออกอย่างไร ?


1. การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม ,

ทุกวิชาชีพ , ทุกชนชั้น เป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อรับฟังแล้ว

ให้รีบดำเนินการทันที เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของ

ประชาชน , ลดความวุ่นวายในบ้านเมือง , การแสดง

พลังของม็อบจะลดน้อยลง


2. หยุดการกล่าวหา แบบแผ่นเสียงตกร่อง ที่ว่า

เป็นคลื่นใต้น้ำ , เป็นขั้วอำนาจเก่า , ได้รับการหนุน

ทางการเงินจากกลุ่มนั้น , กลุ่มนี้ เป็นต้น

เพื่อลดวิวาทะ , ความขัดแย้ง

เมื่อหยุดการมุ่งทำลายล้าง , การต่อต้านจะลดลง


3. รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างนี้ ถ้าไม่ผ่าน ประชามติ

ก็ต้องออกมายืนยันให้ชัดเจนว่า

จะกลับไปใช้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

เพื่อจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด , อย่างช้าสิ้นปีนี้

อย่าให้เกิดกระแสต่อต้าน คมช. อย่างรุนแรง ต่อการ

นำรัฐธรรมนูญ ฉบับ คมช. อื่นๆ มาประกาศใช้ในช่วง

เดือนกันยายน 2550 จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ,

ประเทศชาติเสียหายไปกว่านี้

เกินกว่าที่คมช.จะรับผิดชอบได้


4. หยุดการมุ่งทำลาย

ตัวบุคคลและครอบครัว ของ อดีตนายกรัฐมนตรี

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร,

ข้อกล่าวหามากมาย , คดีความต่างๆ ให้เป็นไปตาม

กฎหมายบ้านเมืองอย่างเป็นธรรม


5. ทุ่มเทสรรพกำลังมุ่งในการ แก้ปัญหาต่างๆ

ของประเทศชาติ , ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน


6. ให้ตั้งมั่นใน สัมมาทิฏฐิ ซึ่งนำไปสู่ สัมมาข้ออื่นๆ

ดังใน อริยมรรค มีองค์ 8 ซึ่งจะก่อให้เกิดสมานฉันท์

โดยไม่ต้องไปกลัวภัยต่างๆหลังจากได้รัฐบาลใหม่หลัง

การเลือกตั้ง เนื่องจาก การกระทำต่างๆที่ถูกต้อง ,

สุจริต , ยุติธรรม จะช่วยปกป้อง คมช. + รัฐบาล


7. ให้รักษาวาจาที่ให้ไว้อย่าง ไม่บิดพลิ้ว ซึ่งจะเป็น

จุดชนวนต่อ การเกิดความวุ่นวาย ,

ความรุนแรงในบ้านเมือง


8. คมช. + รัฐบาล ต้องประคับประคองร่วมกัน

ป้องปรามไม่ให้เกิดรัฐประหารซ้ำ / รัฐประหารซ้อน

ก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากการก่อรัฐประหารอีกครั้งจะ

เป็นการทำลายประเทศชาติให้ย่อยยับ


9. นับถอยหลัง สู่ การเลือกตั้งให้ได้ในปีนี้

เพื่อ รักษาระบอบประชาธิปไตย ให้อำนาจอธิปไตย

เป็นของปวงชนชาวไทย เพื่อตัดสินทิศทางของประเทศ

โดยไม่ต้องไปหวั่นว่า เลือกตั้งแล้ว ใคร ? จะไป , จะมา

ให้เป็นไปตามครรลอง แล้วไปแก้ปัญหาต่างๆตาม

ระบอบประชาธิปไตย ในรัฐสภา อย่างสันติวิธี


" ผมยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

มากกว่า การรัฐประหาร "




หมอยุ่น ษัษฐบุตร พฤทธิพันธุ์

นักสุขศึกษาดีเด่น ปี 2536 - 2537

โดย

สมาคมวิชาชีพสุขศึกษา

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข


//www.esnips.com/web/moryoonthink
//www.esnips.com/web/moryoonweb
//www.esnips.com/web/moryoonwebsite
//moryoon.blogspot.com
//moryoon.tapee.ac.th





โดย: หมอยุ่น ตามรอยพุทธทาส IP: 202.149.102.4 วันที่: 28 เมษายน 2550 เวลา:18:49:19 น.  

 
เบื่อแต่ก็ต้องอยู่กับมันนะคะพี่


โดย: ju IP: 58.147.121.123 วันที่: 29 เมษายน 2550 เวลา:19:34:21 น.  

 
สวัสดีครับ

ความเห็นคงไม่ได้แย้งกันนะครับ
ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการรัฐประหารนะครับ
และเห็นว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองต้องเป็นไปตามวิถีทางรัฐสภา และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดในปัจจุบันมันก็สะท้อนให้เห็นว่า การหักมุมทางอำนาจแบบนี้มันส่งผลสะเทือนกับปัญหาสังคมเศรษฐกิจของคนทั้งสังคมไทยอย่างไร

คิดว่าในห้วงเวลานี้คงต้องช่วยกันประคับประคองให้มีการเลือกตั้งภายในปลายปีนี้ให้ได้ครับ

ผมก็อปปี้บทความของ ดร.ชัยอนันต์มาให้อ่านกันครับ

............................................

คัดจากผู้จัดการ

เร่งสร้างผู้นำทางการเมือง

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 29 เมษายน 2550 17:40 น.



.
อีกไม่กี่เดือนเราก็จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว การร่างรัฐธรรมนูญกลายเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเมืองไทยดีขึ้นเท่าใดนัก แสดงว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยให้การเมืองไทยก้าวหน้าขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตลอดระยะเวลาอันยาวนาน นับตั้งแต่ปี 2475 เราฝากความหวังไว้กับการมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง และมีรัฐสภา แต่ในห้วงเวลาเหล่านั้นเราไม่มีสถาบันทางสังคมใดๆ เลยที่กล่อมเกลาพลเมืองไทยให้มีค่านิยมที่สอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตย

ในการปกครองไม่ว่าในระบอบใดจะมีผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ผู้ถูกปกครองมีจำนวนมาก และรวมตัวกันได้ยาก ดังนั้นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางการเมืองก็คือ กลุ่มผู้ปกครอง ในอเมริกามีการวิจัยพบว่าเหตุสำคัญที่ระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้นั้น ไม่ใช่เพราะคนส่วนใหญ่มีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตย ตรงกันข้าม คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจการเมือง และมีความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างต่ำ แต่กลุ่มผู้ปกครองต่างหากที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ผู้นำเหล่านี้เองที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ระบอบประชาธิปไตยมีความต่อเนื่อง

สำหรับสังคมไทยเรา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มากเท่ากับคนกลุ่มน้อยที่มีโอกาสเข้าไปคุมอำนาจทางการเมือง คนเหล่านี้ไม่ได้รับการกล่อมเกลามาแต่เยาว์วัยให้มีความเชื่อมั่นศรัทธา นิยมชมชอบในระบอบประชาธิปไตย ในอเมริกา คนชั้นนำผ่านการศึกษาทั้งในโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนของรัฐที่มีการกล่อมเกลาให้มีคุณค่าของประชาธิปไตย แต่ในสังคมไทยโรงเรียนมีบทบาทน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนรัฐบาล ที่แย่กว่านั้นก็คือ ผู้ใหญ่ในวงการศึกษามีทัศนคติที่เหยียดหยามการเมือง เห็นว่าการเมืองเป็นกิจกรรมที่น่ารังเกียจไม่ควรยุ่งเกี่ยวด้วย ตัวผมเองเวลาไปให้ความเห็นทางการเมือง และหนังสือพิมพ์ลงว่าผมเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ผมยังถูกตำหนิและขอให้อย่าลงตำแหน่งนั้น แสดงว่าคนเห็นว่าการที่ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยให้ความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ไม่บังควร

ผมคิดว่าในระยะเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมาคนไทยเราได้รับความรู้ และมีความสำนึกทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ผลงานของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หากเป็นการมีส่วนร่วม มีประสบการณ์ตรงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีผลสะเทือนต่อจิตสำนึกของคนหนุ่มสาวยุคนั้นมาก การประท้วงรัฐบาลทักษิณ และบทบาทของสนธิ ลิ้มทองกุล กับพันธมิตรฯ ที่เคลื่อนไหวอย่างยาวนาน ก็มีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนจิตสำนึก และให้ความรู้ทางการเมืองแก่กลุ่มคนจำนวนนับล้านที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน

แล้วอนาคตการเมืองของเราจะเป็นอย่างไร ผมหวังว่า เราคงเรียนรู้การเมืองในทางลัดได้ คือกลุ่มผู้นำ และประชาชนเกิดจิตสำนึกใหม่พร้อมๆ กันไป กลุ่มผู้นำในอนาคต จะมีความระมัดระวังในการใช้อำนาจมากขึ้น ประชาชนจะสนใจการเมือง และมีความรู้ทางการเมืองมากขึ้น การเรียนรู้ทางลัดนี้มาจากสื่อกลาง และคนอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล หาใช่อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือครูในโรงเรียนใดๆ ไม่ การเมืองที่เป็นเรื่องลึกลับกลายเป็นเรื่องที่เปิดเผย ที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่ง่าย และสนุก การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นเหมือนคอนเสิร์ตการเมือง ซึ่งครูในโรงเรียนควรหาวิธีการสอนให้สนุกเช่นกัน

การสร้างทัศนคติ และค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตย น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญของการศึกษาไทย และต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ผมไม่ได้หมายความว่าให้มีการสอนวิชาหน้าที่พลเมืองมากขึ้น แต่บรรยากาศการเรียนรู้ควรเต็มไปด้วยทางเลือก เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสวงหาความรู้ด้วยตัวเองอย่างกว้างขวาง ให้เด็กๆ ได้รับรู้ปัญหาของสังคมด้วยการจัดให้เด็กได้พบกับกลุ่มคนที่เดือดร้อน และต้องการเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาให้

คนรุ่นผมที่ขึ้นมาเป็นผู้นำเวลานี้ เกือบจะไม่มีใครเลยที่ได้รับการกล่อมเกลามาให้ศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ส่วนเรื่องการเตรียมตัวที่จะเป็นผู้นำที่ดีในทางการเมืองนั้น ไม่ต้องพูดถึง แสดงว่าเรามีผู้นำที่เป็นมือสมัครเล่นมากกว่า อยู่ไปไม่นานคนก็เริ่มอึดอัด และเบื่อหน่าย เป็นเพราะคนเหล่านี้มีคุณสมบัติที่ดีในด้านอื่นๆ เป็นคนดีคนเก่ง แต่ไม่ใช่ผู้ซึ่งเหมาะที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง ไม่มีคุณสมบัติที่นักการเมืองที่ดีควรจะมี

เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องรีบเตรียมสร้างผู้นำทางการเมืองกันเสียที เราสร้างแต่ทหารที่ดี ข้าราชการที่ดี แต่เรารังเกียจการเมือง ขืนเป็นอย่างนี้ แม้จะมีรัฐธรรมนูญสักร้อยฉบับก็ช่วยอะไรไม่ได้


โดย: คนเดินดินฯ วันที่: 30 เมษายน 2550 เวลา:12:02:20 น.  

 
แก้ปัญหาการเมืองก็แค่
"อย่าปล่อยให้สำนึกเป็นเพียงแค่ความคิด"
ง่ายๆ แต่ทำยากค่ะ


โดย: sugarhut วันที่: 30 เมษายน 2550 เวลา:16:24:31 น.  

 

วันนี้ฝนโปรยปรายให้ใจแสนชุ่มฉ่ำ
ใครเจ็บช้ำระกำฝังในอก..
คงหายหมดสดใสได้แสงส่อง
ต้องนะโมสามจบให้ผุดผ่อง..ในจิตใจและกายา

วันนี้เราจะได้เห็นพระจันทร์เต็มดวง
เพราะขึ้น 15ค่ำ เดือน 6..ตรงกับวันพระค่ะ
เราชอบมองท้องฟ้าที่พระจันทร์ทรงกลด
สวยงามมากค่ะ
แต่..ท้องฟ้าวันนี้ช่างมืดมัว
จะเห็นพระจันทร์แสนงามไหมนิ????

แต่เราจะมีมโนที่ห็นความสว่างได้เสมอ
เมื่อใจเรามีสติที่ละ..ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ในอารมณ์..จิตใจในตัวตนของเรา

อนุโมทนาค่ะ..กลัยณมิตรที่รักเสมอ







โดย: catt.&.cattleya.. วันที่: 1 พฤษภาคม 2550 เวลา:10:29:02 น.  

 
คัดจากรุงเทพธุรกิจ Bizweek


บทนำ : อยากฟื้นเศรษฐกิจ ต้องร่วมแก้การเมือง

เครือซิเมนต์ไทยรายงานผลประกอบการไตรมาสแรก มียอดขายสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อคิดเป็นกำไรสุทธิปรากฏว่าลดลงถึง 14% ซึ่งผู้บริหารยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชะลอตัวจากปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ และผลประกอบการของเครือซิเมนต์ไทย ถือว่าสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี จนถือเป็นดัชนีชี้วัดภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้ เนื่องจากสินค้าของเครือซิเมนต์ไทยส่วนใหญ่สอดคล้องกับพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจจริง



สินค้าของเครือซิเมนต์ไทยที่มักจะใช้เป็นดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจของประเทศ คือ ยอดจำหน่ายของส่วนธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งก็ปรากฏว่าในไตรมาสแรก มีความต้องการใช้ลดลงถึง 6% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ทั้งปีน่าจะอยู่ระดับเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งผู้บริหารยอมรับว่าลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นั่นก็หมายความว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันอีกครั้งถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และสอดคล้องกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเช่นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 จะอยู่ในช่วง 3.8-4.8% และปี 2551 อยู่ที่ 4.3-5.8%

ธปท.ก็ยอมรับว่าในไตรมาสแรก ดัชนีทางเศรษฐกิจสะท้อนภาพอุปสงค์ภายในประเทศซบเซาต่อเนื่อง โดยระบุว่าสาเหตุหลักมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ยังคงเปราะบางจากความไม่แน่นอน ซึ่งอุปสงค์ภายในประเทศอาจจะฟื้นตัวช้าออกไปอีก และให้ความหวังเพียงอย่างเดียวที่จะฟื้นกำลังซื้อภายในประเทศมาได้ นั่นคือ การใช้จ่ายของภาครัฐและนโยบายลดดอกเบี้ย ซึ่งไม่เพียงแต่ ธปท.เท่านั้น ในส่วนของภาคธุรกิจทั่วไปก็หวังว่าปัจจัยเหล่านี้จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นและกำลังซื้อในประเทศให้กลับคืนมาได้

แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่ปรากฏให้เห็นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว และขณะนี้เริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปีแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดูเหมือนจะไม่กระเตื้องขึ้นจากไตรมาสแรก ในตรงกันข้าม ความรู้สึกของผู้คนกลับเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าเดิม และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจเกิดภาวะชะงักงัน ซึ่งขณะนี้บรรดานักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยเริ่มมองถึงภาวะถดถอยและระยะเวลายืดยาวออกไปถึงปีหน้า

ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น คนจำนวนไม่น้อยกล่าวโทษรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี บ้างก็กล่าวหาว่าบริหารงานด้านเศรษฐกิจไม่เป็นและทำงานกันอย่างล่าช้า เป็นรัฐบาลขิงแก่ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ ต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารประเทศ แต่การกล่าวโทษเช่นนั้นอาจไม่จริงทั้งหมด เพราะบรรดาปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น มีต้นตอมาจากวิกฤติการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อมานานข้ามปี และปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นผลพวงมาจากปัญหาก่อนหน้านั้น

หากเรามองว่าปัญหาทางการเมืองเป็นต้นตอใหญ่ของวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังตั้งเค้ารอเราอยู่ข้างหน้า เราก็ต้องมุ่งไปแก้ปัญหาการเมืองเป็นอันดับแรก ซึ่งดูเหมือนรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์พยายามทำ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จภายใต้นโยบายสมานฉันท์ นั่นหมายความว่าวิกฤติการเมืองในขณะนี้ เป็นเรื่องใหญ่เกินที่รัฐบาลจะทำฝ่ายเดียวได้ เพราะขณะนี้ความขัดแย้งได้ลุกลามขยายวงออกไปแทบทุกกลุ่มในสังคม และคำถามก็คือเราในฐานะคนเดินดินทั่วไปจะทำอย่างไร ในเมื่อวิกฤติการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาทุกที เพราะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ขณะนี้จึงถือว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด และเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่เราคนไทยต้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งทางเดียวที่แก้ได้ในขณะนี้ คือคนไทยต้องออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาการประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมกันกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองในฐานะเจ้าของประเทศ และการออกมาแสดงพลังพร้อมกัน ก็น่าจะเป็นพลังกดดันให้กลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวขณะนี้ต้องรับฟัง เพราะอย่าลืมว่าประชาธิปไตยไทยมีปัญหา ก็เพราะคนกลุ่มเดิมๆ นี้เองที่แอบอ้างในนามประชาชน


โดย: คนเดินดินฯ วันที่: 1 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:20:05 น.  

 
คัดจากกรุงเทพธุรกิจ Bizweek


ข่าวดี (หรือข่าวร้าย) กำลังมาเยือนศก.ไทย

ECO-NO-MISS : ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


ทั้งที่คนส่วนใหญ่ต่างเฝ้ารอ และคาดหวังรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ หลังจากกระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการบรรเทาปัญหาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 มาตรการหลัก โดยระบุว่า จะมีการพิจารณาในรายละเอียดในวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลับเปิดเผยว่า ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะเศรษฐกิจดีขึ้น หลังมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึง 18.2% ในช่วงไตรมาสแรกของปี


จนถึงขณะนี้ “ไม่มีอะไรในกอไผ่” และยังไม่เห็นความใหม่หรือมาตรการกระตุ้นที่เห็นเป็นรูปธรรม

ผมรู้สึกว่ารัฐบาลยอมรับง่ายเกินไปว่า เศรษฐกิจดีขึ้นหลังจากตัวเลขส่งออกในอดีต (คือไตรมาสแรก) ดีขึ้น ทั้งๆ ที่หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงต่ำกว่า 4.0% เช่น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2550 จากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.0-4.5% ลดลงเหลือ 3.5-4.0% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

หรือบริษัทหลักทรัพย์ภัทรได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 4.5% เหลือเพียง 3.7%

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือเพียง 3.8-4.8% จากที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 4.0-5.0%

นั่นแสดงว่า ธปท.มองว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 4.0% คือ 3.8%

แน่นอนครับ ผมยังยืนยันความเห็นเดิมว่า เศรษฐกิจต้องการการกระตุ้นอย่างแรงและเร่งด่วน โดยเร่งแก้ปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

สังเกตได้ว่าในช่วงนี้จะมีข่าวคราวทางเศรษฐกิจทั้งข่าวดีและข่าวร้ายผ่านหูผ่านตาเราอย่างมากมาย ทำให้หลายคนสงสัยว่าสรุปแล้วเศรษฐกิจเป็นอย่างไรกันแน่

ก่อนอื่นมาพิจารณาประเด็นของข่าวกันก่อนดีกว่า เริ่มที่ข่าวดี (นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 มาตรการหลัก) ก่อนนะครับ

เริ่มต้นข่าวดีแรกที่ทำให้คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ มีมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย คือ มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 34,824.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 30,553.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ส่งผลให้ไตรมาสแรกเกินดุลการค้า 4,270.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าไหลเข้าสุทธิ ทำให้มีเม็ดเงินจากการส่งออกหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เท่ากับว่าการส่งออกยังเป็นตัวพยุงให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงมากนัก

จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าในระดับ 34.7-34.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีอยู่

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังแสดงความมั่นใจว่า เป้าหมายการส่งออกทั้งปี ที่อัตรา 12.5% มูลค่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบเป็นอันมาก ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและปัญหาค่าเงิน แต่กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าศักยภาพการส่งออกของไทยยังสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ จนทำให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงความมั่นใจภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ว่า มีการพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเห็นว่าเศรษฐกิจขณะนี้ดี แม้ว่าจะมีเครื่องยนต์เพียงตัวเดียวคือส่งออกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีกำลังแรงมาก จึงไม่จำเป็นต้องออกแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้

และเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจจะยังขยายตัว 4% เพราะมีมาตรการการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะเห็นผลดีต่อเศรษฐกิจภายใน 3 เดือน

มีเพียงปัญหาเดียวที่ต้องแก้ไข คือการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีมากเกินไป จึงต้องเร่งใช้จ่ายเงินตราต่างประเทศผ่านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจค ซึ่งจะให้เร่งดำเนินการเร็วขึ้น และจะเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจทยอยคืนหนี้ต่างประเทศออกไป เพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนลง

ข่าวดีที่สองคือในสัปดาห์นี้ ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงเป็นลำดับ ตามหลังธนาคารกรุงไทยที่ได้นำร่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.5% ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25-0.5% เช่นเดียวกัน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 อันดับแรกของไทย ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงอย่างถ้วนหน้า

นอกจากนี้ นายธนาคารบางท่านยังได้แสดงความเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีโอกาสเกิดขึ้นอีกในช่วงไตรมาสที่สองนี้

ดังนั้น แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยไทยที่ปรับตัวลดลง จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ความต้องการซื้อสินค้าต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน สินค้าคงทนอื่นๆ หรือสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ

ข่าวดีต่อมาคือ กระทรวงการคลังได้เร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น

ทั้งนี้ มีข่าวว่าธนาคารออมสินตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ของธนาคารในปีนี้ให้มีจำนวน 140,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเป้าเดิมกำหนดไว้ที่จำนวน 130,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งเชื่อว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 3 แห่ง จะปรับตัวตาม

ด้วยเหตุนี้เม็ดเงินที่จะเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น

หันกลับมาดูที่ข่าวร้ายกันบ้าง (จะนำเสนอสั้นๆ นะครับ เพราะเสนอยาวๆ กลัวจะเศร้ากันมาก) เริ่มที่ข่าวการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ของ ธปท. ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 3.8-4.8% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 4-5%

ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลดลง มาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้แค่ 4-5% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ 6-7% เพราะนักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่น ยังมีความกังวลถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ ทำให้การลงทุนขนาดใหญ่น่าจะชะลอตัวไป

ข่าวร้ายต่อมาคือข่าวยอดจำนวนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสแรก พบว่า ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มีผลการดำเนินงานและกำไรลดลง และมียอดเอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้น

สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและการผิดนัดการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชนที่มีมากขึ้น

ข่าวร้ายอีกข่าวที่จะหยิบยกมาเป็นประเด็น คือ ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ส่งออกหลายรายยังคงส่งสัญญาณว่าการที่บาทแข็งค่าในระดับต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้

นอกจากนี้ข่าวไม่ค่อยดีอื่นๆ เช่น ข่าวทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพเพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นภายในช่วง 1-2 เดือนนี้ หรือข่าวการชะลอตัวลงของยอดขายสินค้าต่างๆ ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถึงกับแสดงความเป็นห่วงเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าว่ายังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว

แม้ว่าการส่งออกยังขยายตัวสูงถึงกว่า 18% แต่กลับมีสัญญาณการลงทุนและกำลังซื้อหดตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากการนำเข้าขยายตัวลดลง ทำให้เห็นว่าปีนี้ประเทศไทยน่าเป็นห่วงมาก

ข่าวดีและข่าวร้ายที่เข้ามาเยี่ยมเยือนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คงแล้วแต่มุมมองของแต่ละคนครับว่าเห็นอย่างไร

ทางฝั่งภาครัฐ ยังมองว่าเศรษฐกิจยังคงดีอยู่ แม้ว่าจะส่งสัญญาณชะลอตัวลงก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวเกินกว่า 4.0%

ขณะที่ภาคเอกชนมองว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 4.0%

สำหรับผมยืนยันเหมือนเดิมอีกครั้งครับว่า เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วงครับ และต้องการการกระตุ้นอย่างแรงและเร่งด่วน โดยรัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป


โดย: คนเดินดินฯ วันที่: 1 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:23:45 น.  

 
รัฐธรรมนูน

คือ กฎของไทย
ไม่ควรเหยียดหยาม


โดย: เพ้น IP: 118.173.240.121 วันที่: 14 ธันวาคม 2551 เวลา:10:27:21 น.  

 
รักชาวไทย
และรัฐธรรมนูน




มีน เอง


โดย: มีน IP: 118.173.240.121 วันที่: 14 ธันวาคม 2551 เวลา:10:32:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

คนเดินดินฯ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]








ปณิธาน

การเดินทางของชีวิตของทุกผู้คน
ทุกคนต่างต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่จะมีสักกี่คนที่จะก้าวไปถึง
เมื่อเราก้าวถึงจุดนั้น
ขออย่าลืมการแบ่งปันและเจือจาน
แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เราจะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน
เพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีงาม

เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง
ได้ใช้ชีวิตของเขา
ตามศักยภาพและความตั้งใจของเขา
ตราบเท่าที่เขาต้องการ







เดินไปสู่ความใฝ่ฝัน


ชีวิตหนึ่งร่วงหล่นไปตามกาลเวลา
คลื่นลูกใหม่ไล่หลังคลื่นลูกเก่า
นั่นคือวัฏจักรของชีวิตที่ดำเนินไป

เยาว์เธอรู้บ้างไหม
ว่าประชาราษฎรนั้นทุกข์ยากเพียงใด
เสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เหลืออยู่
เธอเคยมีความใฝ่ฝันที่แสนงามบ้างไหม

สักวันฉันหวังว่าเธอจะเดินไปตามทางสายนี้
ที่อาจดูเงียบเหงาและโดดเดี่ยว
แต่ภายใต้ฟ้าเดียวกัน
ฉันก็ยังมีความหวัง
ว่าผู้คนในประเทศนี้
จะตื่นขึ้นมา
เพื่อทวงสิทธิ์ของพวกเขา
ที่ถูกย่ำยีมาช้านาน
และฉันหวังว่าเธอจะเดินเคียงคู่ไปกับพวกเขา

เพื่อสานความใฝ่ฝันนั้นให้เป็นความจริง
สัญญาได้ไหม
สัญญาได้ไหม
เยาว์ที่รักของฉัน


***********



ขอมีเพียงเธอเป็นกำลังใจ




ทอดสายตามองออกไปยังทิวทัศน์ข้างหน้า
แลเห็นต้นหญ้าโบกไสว
เห็นดอกซากุระบานอยู่เต็มดอย
ความงามที่อยู่ข้างหน้า
เป็นสิ่งที่ฉันจะเก็บมันไว้
ยามที่จิตใจอ่อนล้า...

ชีวิตยามนี้แม้ผ่านมาหลายโมงยาม
แต่จิตใจข้างในยังคงดูหงอยเหงา
หลายครั้งอยากมีเพื่อนคุย
หลายครั้งอยากมีคนปรับทุกข์
และหลายครั้งต้องนั่งร้องไห้คนเดียว

รางวัลสำหรับชีวิตที่ผ่านมา
มันคืออะไรเคยถามตัวเองบ่อย ๆ
ความสำเร็จ...เงินตรา...เกียรติยศชื่อเสียง
มันใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า
ถึงจุดหนึ่งชีวิตต้องการอะไรอีกมากไปกว่านี้

หลายชีวิตยังคงดิ้นรนต่อสู้
เพื่อปากท้องและครอบครัว
มันเป็นความจริงของชีวิตมนุษย์
ที่ต้องดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด
มีทั้งพ่ายแพ้ มีทั้งชนะ
แต่ชีวิตต่างต้องดำเนินไป
ตามวิถีทางของแต่ละคน

ลืมความทุกข์ ลืมความหลังที่เจ็บปวด
มองออกไปข้างหน้า
ค้นให้พบตัวตนของตนเองอีกครั้ง
แล้วกลับไปสู้ใหม่
การเริ่มต้นของชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป
จะต้องดำเนินต่อไป

ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต....




@@@@@@@@@@@




การเดินทางของความรัก

...ฉันเดินไปด้วยหัวใจที่ว่างเปล่า
สมองได้คิดใคร่ครวญ
ความรักในหลายครั้งที่ผ่านมา
ทำไมจึงจบลงอย่างรวดเร็ว

ฉันเดินไปด้วยสมองอันปลอดโปร่ง
ความรักทำให้ฉันเข้าใจโลก
และมนุษย์มากขึ้น
และรู้ว่าความแตกต่าง
ระหว่างความรักกับความหลงเป็นอย่างไร?

ฉันเดินไปด้วยดวงตาที่มุ่งมั่น
บทเรียนของรักในครั้งที่ผ่าน ๆ มา
มันย้ำเตือนอยู่เสมอว่า
อย่ารีบร้อนที่จะรัก
แต่จงปล่อยให้ความสัมพันธ์
ค่อย ๆ พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เรียนรู้และทำเข้าใจกันให้มากที่สุด

ก่อนที่จะเริ่มบทต่อไปของความรัก...




*******************



จุดไฟแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่น

เข้มแข็งกับอ่อนแอ
สับสนหรือมุ่งมั่น
จะยอมแพ้หรือลุกขึ้นท้าทาย
กับชีวตที่เหลืออยู่
ทุกสิ่งล้วนอยู่ที่ใจเราจะกำหนด

ไม่ใช่เพราะอิสระเสรี
ที่เราต้องการหรอกหรือ?
ที่มันจะนำทางชีวิต
ในห้วงเวลาต่อไป
ให้เราก้าวทะยานไป
สู่วันพรุ่งที่สดใส

มีแต่เพียงคนที่รู้จักตนเองอย่างดีพอเท่านั้น
จะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
เมื่อผ่านการสรุปบทเรียน
จากปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบ
เราก็จะมีความจัดเจนกับชีวิตมากขึ้น
และการเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ
ในอนาคตก็จะเป็นเพียงปัญหาที่เล็กน้อยสำหรับเรา
ในการที่จะก้าวผ่านไป



ด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่นที่มีอยู่ในใจ
ที่จะต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ
หนทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ย่อมอยู่ไม่ไกลห่างอย่างแน่นอน

*********************



ก้าวย่างที่มั่นคง

บนทางเดินแคบ ๆ ที่เหลืออยู่
หากขาดความมั่นใจที่จะก้าวเดินต่อไป
ชีวิตก็คงหยุดนิ่งและรอวันตาย
แม้ทางข้างหน้าจะดูพร่ามัว
และไม่รู้ซึ่งอนาคต
แต่สิ่งที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
คือก้าวย่างไปอย่างมั่นคง
และมองไปข้างหน้าอย่าเหลียวหลัง
เก็บรับบทเรียนในอดีต
เพื่อจะได้ระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดอีกในอนาคต

"""""""""""""""""""""""""""""""""



ใช้สามัญสำนึกทำงาน

ไม่มีแผนงานที่สวยหรู
ไม่มีปฏิบัติการใดที่สมบูรณ์แบบ
ในยามนี้มีเพียงการทำงานด้วยการทุ่มเท
ลงลึกในรายละเอียดเท่านั้น
จึงจะสามารถคลี่คลายปัญหาของงานลงได้
บางครั้งโจทย์ที่เจออาจยากและซับซ้อน
แต่เมื่อลงไปคลุกคลีอย่างแท้จริง
โจทย์เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

""""""""""""""""""""""""""""""""



เรียบ ๆ ง่าย ๆ


อย่ามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยแว่นสีที่ซับซ้อน
เพราะในโลกนี้มีเพียงสิ่งสามัญที่เรียบง่าย
สำหรับคนที่สงบนิ่งเพียงพอเท่านั้น
จึงจะแก้โจทย์และปัญหาต่าง ๆ
ด้วยกลวิธีที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ
ไม่ซับซ้อนและตรงจุดได้อย่างเพียงพอ

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ใจถึงใจ

บนหนทางไปสู่ความสำเร็จ
บนหนทางของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
มีเพียงคนที่เข้าใจในสภาพจิตใจของคนทำงานเท่านั้น
จึงจะสามารถนำทีมงานไปสู่เป้าหมายได้
อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน








Friends' blogs
[Add คนเดินดินฯ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.