บ้านที่มีความรักและความอบอุ่นคือจินตนาการของคนไทยยามนี้ !
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
6 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 

100 ปีพุทธทาสภิกขุปฎิรูปการเมืองวิถีพุทธ (2)--ยุค ศรีอาริยะ










วิเคราะห์โลกแบบพุทธะ

ผมคิดว่า สาเหตุที่ท่านพุทธทาสเสนอว่า การเมืองคือธรรม และ ธรรมคือการเมือง ก็เนื่องจากว่าคำว่า ธรรมของท่านคือ ธรรมชาติ ดังนั้น คำๆนี้จึงมีความหมายครอบคลุมอย่างยิ่ง

ธรรมของท่านจึงครอบคลุมไปถึงเรื่องของมนุษย์ และเรื่องจิตใจของมนุษย์ เพราะมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ กฎของธรรมจึงกลายเป็นกฎของชีวิต และจิตใจ

นอกจากนี้ สังคมมนุษย์ ก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เช่นกัน

ดังนั้น กฎของธรรม ก็คือ กฎของสังคม เช่นกัน

หลักธรรมพื้นฐานของพุทธคือ หลักอิทัปปัจจยตา หลักธรรมนี้ก็คือหลักพื้นฐานของสังคม กล่าวคือ ทุกอย่างเคลื่อนไปตามเหตุปัจจัยมากมาย ความต่างระหว่างพุทธกับแนวคิดทางสังคมศาสตร์ทั่วไปอยู่ที่ หลักพุทธจะไม่แยกเหตุปัจจัยออกเป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

กล่าวแบบพุทธ “ใน” ก็คือนอก “นอก” ก็คือใน

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะชาวพุทธยึดหลักที่ว่า แต่ละสิ่ง หรือสรรพสิ่งทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่ไม่มี (ตัวตน) ที่ดำรงอยู่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ทุกสิ่งล้วนแต่เป็นองค์ประกอบของสิ่งอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงบอกไม่ได้ว่า อะไรคือ อะไร ชาวพุทธจึงไม่เริ่มวิเคราะห์จากการพยายามหาว่า นี่ คืออะไร นั่น คืออะไร หรือ What is it เพราะทุกสิ่งล้วนแต่อยู่ในสภาวะที่เปลี่ยนไป และไม่มีตัวตนที่แท้จริง นี่คือ พื้นฐานหลักธรรมว่าด้วยหลักอนัตตา

ในเวลาเดียวกัน วิถีการวิเคราะห์และวิจัยแบบพุทธ ก็ต่างจากการวิเคราะห์แบบสังคมศาสตร์ทั่วไป ซึ่งเริ่มจากการศึกษาปรากฏการณ์เรื่องใด เรื่องหนึ่ง แล้วเจาะลึกหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น เป็นการเฉพาะเท่านั้น แต่หลักพุทธจะเริ่มจากการตั้งคำถามว่า สิ่งนั้นเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ อย่างไรบ้าง โดยศึกษาโลกในมุมกว้างก่อน แล้วจึงมองย้อนมาอธิบายเรื่องราว หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อนๆ ให้ผมช่วยนำเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมือง ผมก็กล่าวกับเพื่อนๆว่า ก่อนที่จะคิดเรื่องนี้ เราต้องตั้งคำถามต่อวิถีคิด และวิถีวิจัยที่สอนๆ กันในรั้วมหาวิทยาลัยก่อน

ถ้าเราคิดวิจัยแบบวิชาการตะวันตก(เก่า) เราก็จะพุ่งตรงไปที่ประเด็นเรื่องการปฏิรูปการเมืองโดยตรง อาจจะเริ่มจากการวิเคราะห์ว่า ระบบการเมืองไทยปัจจุบันมีปัญหาอะไรบ้าง เมื่อพบปัญหาตรงไหน ก็นำเสนอวิถีทางในการแก้ตรงนั้น

ผมคิดว่านี่คือ วิถีการศึกษาที่ทำให้เรามองโลกที่ค่อนข้างแคบสักหน่อย แม้ว่าจะตอบคำถามอย่างตรงประเด็นก็ตาม และแนวคิดการปฏิรูปจะแคบมากๆ และหนีไม่พ้นการแก้รัฐธรรมนูญ

หากหันกลับมามองโลกในวิถีตะวันออก (พุทธ และเต๋า) ที่ถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวพัน และสัมพันธ์กัน และแยกไม่ได้เป็นชิ้นๆ เป็นส่วนๆ วิถีการศึกษาปัญหาก็จะต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ระบบการเมืองไทยปัจจุบัน เกี่ยวพัน และสัมพันธ์กับอะไรบ้าง

เราก็จะพบวิถีการศึกษาโลกแบบบูรณาการ การมองโลกแบบนี้จะทำให้เราเห็นภาพว่า ระบบการเมืองไทย ไม่ได้แยกจากการเมือง และสังคมโลก และระบบการเมืองไม่ได้แยกเป็นอิสระจากระบบวัฒนธรรม และระบบเศรษฐกิจ

เมื่อเราเปิดโลกทางการคิดออก เราก็จะเข้าใจคำฝรั่งที่เรียกว่า Vision หรือ วิถีทรรศน์ ที่กว้างไกล และไร้พรมแดน

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องสร้าง หรือ ปฏิรูปการเมืองใหม่ ที่สอดคล้องกับปัญหาไม่เพียงแต่ปัญหาในกรอบของประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องสามารถสร้างระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จนสามารถเผชิญวิกฤตระบบโลกที่ซับซ้อนด้วย

นอกจากนี้ “การปฏิรูป” ในที่นี้ หากจะคิดปฏิรูป ต้องคิดปฏิรูปไม่เพียงแต่เฉพาะระบบการเมืองเท่านั้น ยังต้องคิดปฏิรูประบบสังคมวัฒนธรรรมและระบบเศรษฐกิจไปในเวลาเดียวกันด้วยเนื่องจากระบบการเมืองไม่ใช่ระบบโดดๆ ที่แยกจากระบบเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ถ้าคิดแบบพุทธ หรือแบบท่านพุทธทาส เราก็จะเข้าใจว่า การมองโลกแบบบูรณาการก็คือ การเข้าใจโลกผ่านหลักอิทัปปัจจยตาที่นำเสนอโดยพระพุทธเจ้านั่นเอง หลักนี้เสนอว่า ทุกสิ่งที่ดำรงอยู่ และเคลื่อนไป ล้วนแล้วแต่เคลื่อนไปบนฐานแห่งเหตุปัจจัยที่หลากหลาย ที่กระทำต่อกันตลอดเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีสิ่งใดเคลื่อนไปอย่างเป็นเส้นตรง แต่กับเคลื่อนไปอย่างเป็นลูกคลื่นแห่งวัฏจักรที่พลิกไป และผันมา

ดังนั้น จะคิดแก้ไขอะไร หรือ ปฏิรูปอะไร ก็ต้องเข้าถึงกฎแห่งธรรม (กฎแห่งเหตุปัจจัยประกอบกัน และที่เคลื่อนไปอย่างพลิกผันไป) ในแต่ละช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไป

การเข้าถึงธรรมชาติของสังคมจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องศึกษา และเรียนรู้ อย่างเป็นรูปธรรมด้วย

จุดอ่อนของชาวพุทธ(ไทย) ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุที่ชาวพุทธไทยขาดการอธิบายโลกอย่างเป็นรูปธรรม หรือกล่าวได้ว่า เรามักจะอธิบายเรื่องราววิกฤตอย่างเป็นนามธรรม หรือหลักการทั่วไป มากกว่าจะอธิบายอย่างเป็นรูปธรรม อย่างเช่น ชาวพุทธมักจะนำเสนอว่า โลกปัจจุบันกำลังเคลื่อนตัวสู่กลียุค และเสนอทางออกแบบนามธรรมเช่นกัน นั่นคือ เส้นทางสู่นิพพาน หรือความสงบเย็นทางใจ

ผมคิดว่า การเข้าใจแบบนี้ทำให้ค่าแห่งพุทธเสื่อมถอยลงไป เพราะเราจะเข้าใจว่า หลักพุทธธรรมแก้ปัญหาได้ในมิติหรือในแง่จิตใจเท่านั้น ไม่สามารถเสนอทางออกในแง่ระบบสังคม ระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมได้

ผมกล่าวกับเพื่อนๆว่า

“ก่อนที่จะคิดปฏิรูปการเมืองไทย เราต้องศึกษาภาพใหญ่ก่อน และศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมว่า ระบบโลกกำลังเคลื่อนตัวสู่วิกฤตอะไร และกำลังจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน อย่างไร”

ผมเคยเสนอไว้นานแล้วว่า ระบบโลกกำลังเคลื่อนตัวไปสู่ สภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งวิกฤตในแง่ของจิตใจ (ทุกข์) ความทุกข์กำลังเกิดขึ้นกับทั้งคนรวยและคนจน ดูอย่างคุณทักษิณมีเงินนับแสนล้าน ก็ต้องเผชิญทุกข์ (หนัก) ตามด้วยเรื่องวิกฤตธรรมชาติ วิกฤตมลภาวะ รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บ

ผมคิดว่า เราทุกคนเริ่มตระหนักรู้แล้วว่า ในอนาคตอันใกล้ เราคงต้องเผชิญวิกฤตธรรมชาติที่หนักหน่วงมากๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังปี 2010 ขึ้นไป

แต่ในขณะเดียวกัน เรากำลังเผชิญคลื่นวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในเวลาเดียวกัน

มองในแง่ระบบการเมือง และเศรษฐกิจ การเคลื่อนตัวของระบบโลกปัจจุบัน อยู่ในช่วงปลายของยุคระบบโลก หรือช่วงสิ้นยุกโลกาภิวัตน์

ในช่วงโลกาภิวัตน์ สหรัฐอเมริกาได้พยายามก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือระบบโลก แบบระบบผู้นำเดียว แต่กลับกลายเป็นการรุกใหญ่ที่ผิดพลาด เพราะการประเมินความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของกระแสโลกาภิวัตน์อย่างเกินจริง

ปลายยุคโลกาภิวัตน์ ความพ่ายแพ้ของอเมริกาเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ระบบโลกในช่วงนี้และหลังจากนี้จะคล้ายกับการย้อนภาพประวัติศาสตร์ไปในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ประมาณปี ค.ศ. 1970 ถึง 1973 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาเริ่มแพ้สงครามเวียดนาม และในขณะเดียวกัน ก็แพ้สงครามเศรษฐกิจแก่ประเทศญี่ปุ่น

ปรากฏการณ์หรือวิกฤตโลกปัจจุบัน ก็ดูคล้ายคลึงกัน (เกิดวิกฤตค่าเงินดอลลาร์ และวิกฤตน้ำมัน) เหมือนกัน เพียงแต่ว่าปัจจุบันความรุนแรงของวิกฤตทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง และวิกฤตพลังงานรุนแรงกว่าช่วงหลังสงครามเวียดนามหลายเท่าตัว

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกากำลังจะแพ้สงครามในย่านตะวันออกกลาง (ที่อิรัก และอัฟกานิสถาน รวมทั้งที่อิหร่าน) และในเวลาเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็กำลังจะแพ้สงครามเศรษฐกิจ เพราะไม่สามารถสกัดกั้นความสำเร็จใหญ่ของจีน และรัสเซีย รวมทั้งอินเดีย ซึ่งถูกถือว่าเป็นศัตรูหรือคู่แข่งในเชิงอำนาจได้

ในเมื่อสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญอนาคตที่ถดถอยทางยุทธศาสตร์ แนวทางออกที่เหลืออยู่จึงมีอยู่ 2 ทาง

หนทางหนึ่งคือ การหันไปยอมรับระบบโลกแบบหลายขั้ว (อเมริกา ยุโรป และรัสเซีย) ซึ่งโดยระบบนี้ ประเทศในย่านยุโรปก็น่าจะหันกลับมาสนับสนุนอเมริกามากขึ้น และในเวลาเดียวกัน อเมริกาก็อาจจะโดดเดี่ยวจีนได้โดยการสร้างพันธมิตรที่ใกล้ชิดรัสเซียมากขึ้น

อีกหนทางหนึ่งคือ การพยายามยืนยันที่จะใช้ยุทธศาสตร์ผู้นำเดียวเหมือนเดิม และพยายามทุกทางหรืออย่างรุนแรงที่จะทำให้เกิดการชะงักงันของเศรษฐกิจจีนให้ได้ในเวลาอันใกล้

ผมคิดว่า ผู้นำอเมริกาเดินตามยุทธศาสตร์ที่สองเป็นหลัก และใช้หนทางแรกเป็นรอง แต่การจะก่อสภาวะชะงักงันแก่เศรษฐกิจจีนที่กำลังเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องสร้างคลื่นวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีอำนาจพอจะฉุดรั้งเศรษฐกิจจีน และสามารถก่อให้เกิดการแตกของฟองสบู่ในประเทศจีนได้

นี่คือ ที่มาของวิกฤตน้ำมัน และรวมทั้งการไหลขึ้นของราคาวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรม

นี่หมายความว่า “วิกฤตน้ำมัน” กำลังจะกลายเป็นกระแสยาว และมีความเป็นไปได้ว่าจะนำมาซึ่งการถดถอยใหญ่ของเศรษฐกิจโลกทั้งระบบ

ผมคาดว่า อาจจะประมาณ 3 ถึง 5 ปีจากนี้ไป การระเบิดครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจโลกทั้งระบบจะเกิดขึ้น ยกเว้นชนชั้นนำอเมริกาจะพลิกยุทธศาสตร์อเมริกาใหม่ (สร้างพันธมิตรกับจีน หลังจากยุคบุชหมดอำนาจลง)

ภาพวิกฤตใหญ่ อาจจะเริ่มจากการแตกของฟองสบู่ครั้งใหญ่ อาจเกิดที่สหรัฐอเมริกาก่อน แล้วไปจีน หรือในทางกลับกันคือ เริ่มจากจีน แล้วไปสหรัฐอเมริกา และแพร่กระจายไปทั่วโลก

มองอนาคตในแง่นี้ ระบบเศรษฐกิจ และการเมืองไทย จะสะเทือนอย่างรุนแรงทั้งระบบ ประเทศไทยจะต้องเผชิญความรุนแรงแค่ไหน ขึ้นกับว่าเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน ถ้าพึ่งพามาก ความรุนแรงก็จะมาก

ตามหลักทฤษฎี Chaos วิกฤตใหญ่ในเวลาเดียวกันคือ การอภิวัฒน์ใหญ่ ถ้าเราศึกษาโลกในเชิงอภิวัฒน์ เราก็จะพบว่า ปัจจุบันได้เริ่มเกิด “การวิวัฒน์” สู่การอภิวัฒน์ใหญ่ หรือการเคลื่อนตัวในด้านบวกอย่างน่าสนใจใน 4 มิติ

มิติแรก คือ การสิ้นยุคโลกาภิวัตน์ และยุคที่อเมริกาเป็นใหญ่เหนือระบบโลก ระบบโลกจะก่อเกิดระบบการดุลอำนาจใหม่แบบหลายศูนย์อำนาจขึ้นในระบบโลก

มิติที่สอง คือ หลังยุคบุช และแบลร์ การปฏิวัติสีเขียวครั้งใหม่ หรือที่เรียกว่า การปฏิวัติด้านสิ่งแวดล้อมจะก่อตัวขึ้น เริ่มจากการปฏิวัติระบบพลังงานโลกใหม่ กล่าวคือ ระบบโลกกำลังก้าวสู่ช่วงสิ้นยุคน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ และเริ่มก้าวเข้าสู่ช่วงยุคพลังงานทางเลือก สิ้นยุครถยนต์ที่ใช้น้ำมัน สู่รถยนต์พลังงานน้ำ หรือแสงอาทิตย์

การปฏิวัติเขียวครั้งนี้ จะก้าวไปถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการเกิดก่อชุมชน และเมืองนิเวศน์ ขึ้นในทุกหนทุกแห่งในระบบโลก

มิติที่สาม คือ ยุคของการสื่อสารไร้พรมแดน จะนำมาซึ่งการอภิวัฒน์ทางวัฒนธรรมครั้งใหม่ โลกในระบบโลกในยุคเศรษฐกิจจะสิ้นสุดลง โลกจะก้าวสู่ระบบโลกในยุควัฒนธรรม และความงาม สิ้นยุคที่วัฒนธรรมแบบตะวันตกเคยครอบโลก กระแสวัฒนธรรมโลกจะมีการหันกลับสู่ฐานวัฒนธรรมแบบตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง

มิติที่สี่ คือ ระบบการเมืองโลกจะก้าวผ่านจากยุคประชาธิปไตยตัวแทนสู่ยุคประชาธิปไตยโดยตรง และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม บนฐานการเกิดขึ้นของระบบชุมชนโลกซึ่งเป็นชุมชนความรู้

การเข้าใจอนาคตโลกแบบนี้คือ การเข้าใจโลกเชิงอภิวัฒน์

หรือกล่าวแบบทั่วไปว่า “วิกฤตใหญ่” คือทางออก “ทางออก” ก็คือวิกฤต

การเข้าใจกระแสโลก และอนาคตของโลก ก็จะช่วยให้เราตระหนักรู้ว่าจะปฏิรูประบบการเมือง และสังคมไปในทิศทางใด

ถ้าเราใช้หลักท่านพุทธทาส ที่อธิบายโลกวิกฤต ว่าเกิดจากการเสียดุลย์ครั้งใหญ่ (ทั้งดุลทางธรรมชาติ และทางสังคม) ดังนั้น เส้นทางในการแก้วิกฤตก็คือ การสร้างระบบที่มีดุลยภาพใหม่ขึ้นมาแทนที่ระบบที่เสียดุลย์นั่นเอง

การสร้าง หรือ อภิวัฒน์ใหม่นี้ เราทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพราะเราทุกคนไม่ใช่เป็นเพียงสมาชิกของชุมชนใดหนึ่งเท่านั้น เราเป็นสมาชิกของโลกใบนี้ เช่นกัน

การปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหม่

ในเมื่อระบบโลกกำลังพลิกผันใหญ่ ระบบการเมืองไทยก็จะเผชิญการพลิกผันใหญ่เช่นกัน การเมืองไทย กับการเมืองโลกก็เคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน

ในมิติของระบบโลก สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของสายเหยี่ยว ได้ใช้ยุทธศาสตร์รุกโลก พยายามที่จะยึดครองโลกทั้งระบบ สร้างระบบการนำเดียว ในประเทศไทย เพื่อนรักของนายบุชคือ นายทักษิณ และนายทักษิณก็ดำเนินการอย่างเดียวกัน พยายามทุกทางที่จะรวบอำนาจ ภายใต้การนำของระบบผู้นำเดียว

มองในมิติของระบบโลก กระแสโลกาภิวัตน์ของอเมริกาได้สร้างกระแสต้านโลกาภิวัตน์ขึ้นทั่วโลก มองในมิติของประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน กระแสทักษิโณมิกส์ของไทยซึ่งเป็นพันธมิตรกับอเมริกา และสิงคโปร์ ก็กำลังถูกต้านโดยกระแสต้านโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ถ้าเราใช้หลักเรื่องการเสียดุลของท่านพุทธทาสเป็นฐานคิด การเกิดขึ้นของทักษิโณมิกส์ ที่รวมศูนย์อำนาจและความมั่งคั่ง ก็คือที่มาของการเสียดุล และคือสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา

เมื่อระบบการเมืองเคลื่อนตัวสู่การเสียดุลดังกล่าว การเสียดุลในตัวเองได้ก่อกระแสต้านทักษิโณมิกส์ขึ้นในประเทศไทย

ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเมือง ผมเคยถูกนักข่าวถามว่า จะปฏิรูปการเมืองไทยอย่างไร

ผมตอบว่า การเมืองไทยได้เริ่มปฏิรูปตัวเองตั้งแต่เกิดพลังพันธมิตรก่อตัวขึ้น ผมขยายความว่า

“การเกิดกลุ่มพลังพันธมิตรครั้งนี้เป็นการก่อตัวของกลุ่มพลังที่มีความหลายหลากมาก ประกอบ ด้วยกลุ่มสื่อ และนักวิชาการ พลังชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง ในเมือง ในกรุงเทพฯ และทั้งในชนบท รวมไปถึงในต่างประเทศ กลุ่มกรรมกร กลุ่มชาวนา และกลุ่ม NGO ที่หลากหลาย กลุ่มพระที่ก้าวหน้า และพลังรักชาติอื่นๆ รวมทั้งประสานกับพลังชนชั้นนำเก่าที่เคยมีอำนาจ และถูกลดทอนอำนาจลง”

นี่คือ ที่มาของกระแสต้านโลกาภิวัตน์ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ถ้ามองดูอย่างผิวเผิน ก็ถือว่าคือ “การไล่ทักษิณ” แต่ถ้าเรามองในมุมลึก เราจะเห็นชัดว่า นี่คือการก่อตัวขึ้นของพลังต้านโลกาภิวัตน์ในประเทศไทย

ถ้าเรามองประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านมิติโลก เราก็จะคาดได้ว่า ที่สุดแล้ว กระแสโลกาภิวัตน์ในประเทศไทยก็จะต้องพ่ายแพ้ ไปเช่นกัน

ปัจจุบัน นายบุช และนายแบลร์ กำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาที่หนักหน่วง และรุนแรง นายทักษิณก็เผชิญวิกฤตศรัทธารุนแรง ไม่ต่างกัน

อีก 2 ปีข้างหน้า การเมืองโลกจะก้าวสู่การสิ้นยุคบุช และแบลร์

อีก 2 ปีข้างหน้า ยุคทักษิณก็จะจบลงอย่างสิ้นเชิง (ยกเว้นคุณทักษิณจะเปลี่ยน หรืออภิวัฒน์ฐานคิดใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ)

ผมกล่าวต่อว่า

“ถ้าคิดจะปฏิรูปการเมืองไทย เราต้องศึกษาว่า ระบบโลกจะเคลื่อนตัวไปอย่างไร หลังยุคบุช และแบลร์ ในเมื่อระบบโลกจะก้าวสู่การอภิวัฒน์ครั้งใหญ่ เราต้องเข้าใจและเรียนรู้ว่า กระแสอภิวัฒน์ของโลกจะเกิดขึ้นในด้านใดบ้าง”

ตัวอย่างเช่น ระบบโลกกำลังก้าวเข้าสู่การสิ้นยุคอเมริกาเป็นใหญ่ ดังนั้น ทิศทางการเมืองไทยในด้านต่างประเทศ ก็ต้องเคลื่อนสู่ทิศทางที่ลดการขึ้นต่ออิทธิพลอเมริกา หันมาสร้างสัมพันธ์กับจีน รัสเซีย และยุโรปให้มากขึ้น

ในด้านเทคโนโลยี ระบบโลกกำลังจะก้าวผ่านยุคพลังงานน้ำมัน และเศรษฐกิจพึ่งพาน้ำมัน สู่ยุคพลังงานที่ไม่ทำลายธรรมชาติ เราคนไทยก็ต้องช่วยกันส่งเสริม และพัฒนาพลังงานทดแทนขึ้น

ในด้านเศรษฐกิจ โลกอนาคตจะก้าวสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในด้านการเมือง โลกจะเคลื่อนสู่ระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ดังนั้น หัวใจของการต่อสู้ จึงไม่ใช่โค่นล้มคุณทักษิณ แต่คือ การอภิวัฒน์ประเทศไทยในทุกๆ ด้าน และสร้างระบบสังคมที่มีดุลยภาพขึ้นใหม่





100 ปีพุทธทาสภิกขุปฏิรูปการเมืองวิถีพุทธ(1) --ยุค ศรีอาริยะ คลิกที่นี่ครับ





 

Create Date : 06 มิถุนายน 2549
3 comments
Last Update : 6 มิถุนายน 2549 8:46:28 น.
Counter : 654 Pageviews.

 

ไปสรรหาข้อมูลมาจากไหน
เรียบเรียงออกมาได้น่าอ่าน
และได้ประโยชน์มากค่ะ

 

โดย: run to me 6 มิถุนายน 2549 9:47:47 น.  

 

สาธุค่ะ ทุกอย่างไม่ได้มีส่วนไหนเป็นอิสระ ล้วนเชื่อมโยงกันทุกสิ่งทุกศาสตร์ กระแสความคิดจากคนเพียงหยิบมือเดียวก็ไหลไปสู่คนหมู่มากเหมือนคลื่นที่กระเพื่อมไป การปฏิรูปการเมืองจะทำเพียงเดี่ยวๆนั้นเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีปัจจัยเกื้อหนุน เช่นจะออกเรือก็รอลม การปฏิรูปโดยทำนองคลองธรรมก็เหมือนเรือที่กางใบรับลมย่อมแล่นไปได้โดยง่าย ..

ไม่ได้แวะมานาน สบายดีนะคะ ..ขอบคุณบทความดี

 

โดย: ป่ามืด 6 มิถุนายน 2549 15:09:32 น.  

 

 

โดย: โสมรัศมี 7 มิถุนายน 2549 11:15:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


คนเดินดินฯ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]








ปณิธาน

การเดินทางของชีวิตของทุกผู้คน
ทุกคนต่างต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่จะมีสักกี่คนที่จะก้าวไปถึง
เมื่อเราก้าวถึงจุดนั้น
ขออย่าลืมการแบ่งปันและเจือจาน
แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เราจะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน
เพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีงาม

เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง
ได้ใช้ชีวิตของเขา
ตามศักยภาพและความตั้งใจของเขา
ตราบเท่าที่เขาต้องการ







เดินไปสู่ความใฝ่ฝัน


ชีวิตหนึ่งร่วงหล่นไปตามกาลเวลา
คลื่นลูกใหม่ไล่หลังคลื่นลูกเก่า
นั่นคือวัฏจักรของชีวิตที่ดำเนินไป

เยาว์เธอรู้บ้างไหม
ว่าประชาราษฎรนั้นทุกข์ยากเพียงใด
เสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เหลืออยู่
เธอเคยมีความใฝ่ฝันที่แสนงามบ้างไหม

สักวันฉันหวังว่าเธอจะเดินไปตามทางสายนี้
ที่อาจดูเงียบเหงาและโดดเดี่ยว
แต่ภายใต้ฟ้าเดียวกัน
ฉันก็ยังมีความหวัง
ว่าผู้คนในประเทศนี้
จะตื่นขึ้นมา
เพื่อทวงสิทธิ์ของพวกเขา
ที่ถูกย่ำยีมาช้านาน
และฉันหวังว่าเธอจะเดินเคียงคู่ไปกับพวกเขา

เพื่อสานความใฝ่ฝันนั้นให้เป็นความจริง
สัญญาได้ไหม
สัญญาได้ไหม
เยาว์ที่รักของฉัน


***********



ขอมีเพียงเธอเป็นกำลังใจ




ทอดสายตามองออกไปยังทิวทัศน์ข้างหน้า
แลเห็นต้นหญ้าโบกไสว
เห็นดอกซากุระบานอยู่เต็มดอย
ความงามที่อยู่ข้างหน้า
เป็นสิ่งที่ฉันจะเก็บมันไว้
ยามที่จิตใจอ่อนล้า...

ชีวิตยามนี้แม้ผ่านมาหลายโมงยาม
แต่จิตใจข้างในยังคงดูหงอยเหงา
หลายครั้งอยากมีเพื่อนคุย
หลายครั้งอยากมีคนปรับทุกข์
และหลายครั้งต้องนั่งร้องไห้คนเดียว

รางวัลสำหรับชีวิตที่ผ่านมา
มันคืออะไรเคยถามตัวเองบ่อย ๆ
ความสำเร็จ...เงินตรา...เกียรติยศชื่อเสียง
มันใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า
ถึงจุดหนึ่งชีวิตต้องการอะไรอีกมากไปกว่านี้

หลายชีวิตยังคงดิ้นรนต่อสู้
เพื่อปากท้องและครอบครัว
มันเป็นความจริงของชีวิตมนุษย์
ที่ต้องดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด
มีทั้งพ่ายแพ้ มีทั้งชนะ
แต่ชีวิตต่างต้องดำเนินไป
ตามวิถีทางของแต่ละคน

ลืมความทุกข์ ลืมความหลังที่เจ็บปวด
มองออกไปข้างหน้า
ค้นให้พบตัวตนของตนเองอีกครั้ง
แล้วกลับไปสู้ใหม่
การเริ่มต้นของชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป
จะต้องดำเนินต่อไป

ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต....




@@@@@@@@@@@




การเดินทางของความรัก

...ฉันเดินไปด้วยหัวใจที่ว่างเปล่า
สมองได้คิดใคร่ครวญ
ความรักในหลายครั้งที่ผ่านมา
ทำไมจึงจบลงอย่างรวดเร็ว

ฉันเดินไปด้วยสมองอันปลอดโปร่ง
ความรักทำให้ฉันเข้าใจโลก
และมนุษย์มากขึ้น
และรู้ว่าความแตกต่าง
ระหว่างความรักกับความหลงเป็นอย่างไร?

ฉันเดินไปด้วยดวงตาที่มุ่งมั่น
บทเรียนของรักในครั้งที่ผ่าน ๆ มา
มันย้ำเตือนอยู่เสมอว่า
อย่ารีบร้อนที่จะรัก
แต่จงปล่อยให้ความสัมพันธ์
ค่อย ๆ พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เรียนรู้และทำเข้าใจกันให้มากที่สุด

ก่อนที่จะเริ่มบทต่อไปของความรัก...




*******************



จุดไฟแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่น

เข้มแข็งกับอ่อนแอ
สับสนหรือมุ่งมั่น
จะยอมแพ้หรือลุกขึ้นท้าทาย
กับชีวตที่เหลืออยู่
ทุกสิ่งล้วนอยู่ที่ใจเราจะกำหนด

ไม่ใช่เพราะอิสระเสรี
ที่เราต้องการหรอกหรือ?
ที่มันจะนำทางชีวิต
ในห้วงเวลาต่อไป
ให้เราก้าวทะยานไป
สู่วันพรุ่งที่สดใส

มีแต่เพียงคนที่รู้จักตนเองอย่างดีพอเท่านั้น
จะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
เมื่อผ่านการสรุปบทเรียน
จากปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบ
เราก็จะมีความจัดเจนกับชีวิตมากขึ้น
และการเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ
ในอนาคตก็จะเป็นเพียงปัญหาที่เล็กน้อยสำหรับเรา
ในการที่จะก้าวผ่านไป



ด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่นที่มีอยู่ในใจ
ที่จะต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ
หนทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ย่อมอยู่ไม่ไกลห่างอย่างแน่นอน

*********************



ก้าวย่างที่มั่นคง

บนทางเดินแคบ ๆ ที่เหลืออยู่
หากขาดความมั่นใจที่จะก้าวเดินต่อไป
ชีวิตก็คงหยุดนิ่งและรอวันตาย
แม้ทางข้างหน้าจะดูพร่ามัว
และไม่รู้ซึ่งอนาคต
แต่สิ่งที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
คือก้าวย่างไปอย่างมั่นคง
และมองไปข้างหน้าอย่าเหลียวหลัง
เก็บรับบทเรียนในอดีต
เพื่อจะได้ระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดอีกในอนาคต

"""""""""""""""""""""""""""""""""



ใช้สามัญสำนึกทำงาน

ไม่มีแผนงานที่สวยหรู
ไม่มีปฏิบัติการใดที่สมบูรณ์แบบ
ในยามนี้มีเพียงการทำงานด้วยการทุ่มเท
ลงลึกในรายละเอียดเท่านั้น
จึงจะสามารถคลี่คลายปัญหาของงานลงได้
บางครั้งโจทย์ที่เจออาจยากและซับซ้อน
แต่เมื่อลงไปคลุกคลีอย่างแท้จริง
โจทย์เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

""""""""""""""""""""""""""""""""



เรียบ ๆ ง่าย ๆ


อย่ามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยแว่นสีที่ซับซ้อน
เพราะในโลกนี้มีเพียงสิ่งสามัญที่เรียบง่าย
สำหรับคนที่สงบนิ่งเพียงพอเท่านั้น
จึงจะแก้โจทย์และปัญหาต่าง ๆ
ด้วยกลวิธีที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ
ไม่ซับซ้อนและตรงจุดได้อย่างเพียงพอ

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ใจถึงใจ

บนหนทางไปสู่ความสำเร็จ
บนหนทางของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
มีเพียงคนที่เข้าใจในสภาพจิตใจของคนทำงานเท่านั้น
จึงจะสามารถนำทีมงานไปสู่เป้าหมายได้
อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน








Friends' blogs
[Add คนเดินดินฯ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.