BAKERY หอมกรุ่น กับสาระด้านภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกัน สนใจด้านเบเกอร์รี่ 0891859921
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
31 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 
ปฏิกิริยาแพ้อาหาร

ปฏิกิริยาแพ้อาหาร

           ปฏิกิริยาแพ้อาหาร(food allergy หรือ food hypersensitivity) เป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการรับประทานอาหาร(adverse reaction to food) ซึ่งปฏิกิริยานี้กลไกจะผ่านทางภูมิคุ้มกัน   ผู้ป่วย หรือประชาชนทั่วไปมักสับสน และเข้าใจว่าหากเกิดอาการหลังรับประทานอาหารใดๆก็ตามจะหมายถึงปฏิกิริยาการแพ้อาหารนั้นๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะจะต้องแยกระหว่างปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์อื่นๆที่ไม่ผ่านกลไกทางภูมิคุ้มกันที่เรียก food intolerance ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ชนิดนี้พบได้บ่อยกว่าปฏิกิริยาแพ้อาหารมาก ยกตัวอย่างปฏิกิริยาที่เป็น food intolerance เช่น อาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลวจากสารพิษของแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหาร, อาการใจสั่น ปวดท้องรุนแรงหลังรับประทานอาหารที่มีสารคาเฟอีนผสมอยู่, เกิดผื่นแดง ลมพิษ หน้าบวม ปวดท้องจาก scombroid fish poisoning ซึ่งมีสาร histamine เกิดจากการเน่าเสียของเนื้อปลาจำพวกปลาทูน่า ปลาแมคคาเรล เหล่านี้เป็นต้น  ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะปฏิกิริยาแพ้อาหารเท่านั้น
 

ความชุกของปฏิกิริยาแพ้อาหาร

พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่าในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีพบถึงร้อยละ 6-8 ส่วนในผู้ใหญ่พบร้อยละ 3.5-4  อย่างไรก็ตามความชุกของปฏิกิริยานี้ยังไม่ทราบแน่ชัด  ในประเทศไทยความชุกของปฏิกิริยาชนิดนี้ในผู้ใหญ่ยังไม่พบมีรายงานที่แน่ชัด นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าอาหารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ได้บ่อยคือ นมวัว, ไข่, ถั่วเหลือง, แป้งสาลี, อาหารทะเล, ถั่วลิสง  ส่วนในผู้ใหญ่มักแพ้อาหารทะเล และ tree nut ได้แก่ถั่วอัลมอนต์, เมล็ดมะม่วงหิมพานต์, ฮาเซลนัท, พีแคน, ถั่วบราซิล และวอลนัท


สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของปฏิกิริยาแพ้อาหาร
1.พันธุกรรม พบความชุกสูงขึ้นในเด็กที่มีโรคภูมิแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย ดังที่ทราบกันดีว่าโรคภูมิแพ้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ 
2.ความบกพร่องของกลไกป้องกันภายในระบบทางเดินอาหาร(mucosal barrier)  กลไกการป้องกันดังกล่าวยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์เต็มที่ในเด็ก ทำให้สารอาหารที่อาจเป็นสารก่อภูมิแพ้(allergen) ถูกดูดซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าผู้ใหญ่
3.การดูดซึมของสารก่อภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร, การดื่มเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์, การที่ไม่มีอาหารชนิดอื่นๆอยู่ด้วยในขณะที่มีสารก่อภูมิแพ้ เหล่านี้เป็นต้น
4.การสูญเสียภาวะ oral tolerance ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ร่างกายใช้ยับยั้ง หรือกดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ที่จำเพาะซึ่งเคยได้รับประทานมาก่อน  

อาการของปฏิกิริยาแพ้อาหาร
อาการของปฏิกิริยานี้อาจแสดงออกได้หลายระบบของร่างกาย ได้แก่
1.อาการแสดงที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย  อาการแสดงที่เกิดขึ้นทั่วร่างกายนี้สามารถนำไปสู่ภาวะแพ้รุนแรงจากอาหารที่เรียกว่า “anaphylaxis” ซึ่งเป็นภาวะรุนแรงเฉียบพลันที่อันตรายแก่ชีวิตได้หากรักษาไม่ทันท่วงที
2.ระบบผิวหนัง หลังจากรับประทานอาหาร หรือสัมผัสกับอาหารที่แพ้ภายในระยะเวลาเป็นนาทีถึงสองชั่วโมง(ส่วนมากไม่เกินหนึ่งชั่วโมง) จะเกิดลมพิษ บวมตามใบหน้า ร่วมกับอาการคัน เวลาเกาที่ใดก็จะเกิดลมพิษขึ้นใหม่ในบริเวณที่เกา
3.ระบบทางเดินอาหาร มักจะเกิดอาการภายในระยะเวลาเป็นนาทีถึงสองชั่วโมง อาการที่พบได้แก่ คลื่นไส้, ปวดท้อง, อาเจียน, ถ่ายเหลว, ปวดบิด, เบื่ออาหาร, อุจจาระเหลวปนเลือด ฯลฯ     
4.ระบบทางเดินหายใจ พบได้ไม่บ่อยอาจพบเยื่อบุจมูกอักเสบ, หายใจเสียงวี้ด หรืออาการกำเริบของโรคหืด

การวินิจฉัย
1.ประวัติมีส่วนสำคัญมาก ถือเป็นกุญแจสำคัญในการวินิจฉัย และวินิจฉัยแยกปฏิกิริยาแพ้อาหาร ออกจากปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากอาหารอื่นๆ  ผู้ป่วยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสังเกตชนิดอาหาร, ปริมาณที่รับประทาน, ระยะเวลาที่เกิดอาการหลังรับประทานอาหาร, อาการตามระบบที่พบ, ประวัติอดีตที่เคยมีอาการแบบเดียวกัน และปัจจัยร่วมอื่นๆที่อาจมีส่วนทำให้เกิดอาการเช่น การออกกำลังกาย, เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ฯลฯ
2.การตรวจร่างกายตามระบบที่แสดงอาการเพื่อช่วยวินิจฉัย และประเมินความรุนแรงของปฏิกิริยา ซึ่งมีผลในการตัดสินให้การรักษา และแนวทางป้องกัน
3.การหลีกเลี่ยงอาหารที่สงสัย(elimination diet) มีประโยชน์ทั้งช่วยในการวินิจฉัย และการรักษาปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากอาหาร  
4.การตรวจหาสารภูมิคุ้มกันเฉพาะที่เรียก “specific immunoglobulin E (sIgE)” ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งจากการทดสอบผิวหนังแบบสะกิด(skin prick test) และการเจาะเลือดส่งตรวจเฉพาะ  แต่การตรวจดังกล่าวจะมีประโยชน์ในปฏิกิริยาแพ้อาหารบางกลไกเท่านั้น
5.การทดสอบโดยการรับประทานอาหารที่สงสัย(oral food challenge test) ถือเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัย มีความแม่นยำสูง แต่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้านเนื่องจากเสี่ยงต่อภาวะแพ้รุนแรงได้

การรักษา และการป้องกัน
1.รักษาด้วยยา เช่น ยาแก้แพ้, ยารับประทานสเตอรอยด์, ยาทาลดอาการคันประเภทต่างๆ  ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิด หรือเคยเกิดภาวะแพ้รุนแรงจากอาหารแนะนำให้พกยา adrenaline ชนิดฉีดติดตัวไว้เสมอ เพื่อฉีดช่วยชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล  ส่วนการรักษาด้วยการฉีด หรือการรับประทานสารก่อภูมิแพ้ทีละน้อยเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นร่างกายให้สร้างความต้านทานต่อสารที่ผู้ป่วยแพ้นั้น ในปัจจุบันพบว่าได้ผล แต่ยังไม่เป็นมาตรฐานการรักษา และส่วนมากพบอาการแพ้ขณะทำการรักษาอีกด้วย
2.หากสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารเป็นปฏิกิริยาแพ้อาหารหรือไม่ ควรรีบปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ เพื่อตรวจ และวินิจฉัยอย่างถูกต้องต่อไป
3.ผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วยควรมีความรู้ว่าอาหารที่แพ้นั้นมีโอกาสซ่อนอยู่ในอาหารชนิดใดบ้าง ควรอ่านฉลากอาหาร, สอบถามผู้ปรุงอาหารก่อนรับประทาน และต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่แน่ใจในส่วนประกอบ


 
ด้วยความปรารถนาดีจาก
อายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ฯ 
ศูนย์โรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
twitter @SURASARIT



Create Date : 31 พฤษภาคม 2556
Last Update : 31 พฤษภาคม 2556 14:22:21 น. 0 comments
Counter : 828 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

คุณนายจอมยุ่ง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




พบกับคนทำเบเกอร์รี่ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ฯ
รับสอนทำเบเกอร์รี่จากผู้มีประสบการณ์กว่า 10 ปี
สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ที่
http://www.facebook.com/pages/Myhomemade/412983252121844?fref=ts
http://www.twitter.com @surasarit
Friends' blogs
[Add คุณนายจอมยุ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.