จิบชาชมดอกไม้ไปพลาง คุยกันเบาๆ ที่สวน..เจ้าแก้ว กังไส





Group Blog
 
 
กันยายน 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
22 กันยายน 2555
 
All Blogs
 

เวียงนาคินทร์ ตอนที่ 6

ตอนที่ 6
นาคเจ้า


                เรือนหลังน้อยริมน้ำในไร่เหมวัตมีแสงไฟเรืองรองลอดผ่านออกมา พร้อมด้วยเสียงสนทนาดังมาจากภายใน วิมุตติในวัย 22 ปี เรือนกายสูงใหญ่ขึ้นเป็นอันมาก ใบหน้านั้นก็คมเข้มขึ้นตามวัย เด็กน้อยเมื่อวันวานเติบโตขึ้นเป็นชายรูปงามดังที่หลายคนคาดไว้มิมีผิดเพี้ยน ผนวกกับเลือดฝาดของวัยหนุ่มบ่อยครั้งจึงเรียกให้หญิงสาวหลายคนจ้องมองจนแทบเหลียวหลัง แต่หนุ่มรูปทองยังคงบุคลิกสงบนิ่งเงียบขรึมดังเดิม และไม่เคยข้องแวะกับหญิงใดในระหว่างศึกษาเล่าเรียนให้บิดาได้หนักใจเลยแม้แต่น้อย


                คืนนี้เจ้าของร่างสูงนั้นนั่งขัดสมาธิอยู่บนตั่ง บนกายมีเพียงกางเกงสะดอ สีอ่อนห่อหุ้มอยู่เท่านั้น แผงอกกว้างนั่นเปลือยเปล่าไร้สิ่งปกปิด ใบหน้าที่เคยนิ่งเฉยคราวนี้มีสีหน้ายุ่งยาก คิ้วเข้มนั่นขมวดมุ่น เมื่อเสียงคนข้างตัวดังขึ้นมาราวต่อว่า


                "วิมุตติเรายังต้องรออีกนานเท่าใด เพลานี้ท่านศึกษาเล่าเรียนจนจบแล้วด้วยซ้ำ" เสียงพูดนั้นดูขุ่นเคืองอยู่ไม่น้อย



                "แล้วไฉนจึงไม่พบคนที่รอคอย ? "



                "เรื่องนั้น....เราไม่แน่ใจนัก อาจมีเหตุบางประการทำให้คลาดกันไป"



                "คลาดกันแล้วเมื่อใดเล่าจะได้พบเจอ!! หากฤทธิ์อำนาจของเราไม่ถูกจำกัด เราคงไม่ร้องขอแก่ท่าน !! " เสียงต่อว่าดังก้องกังวานจนผู้ถูกทวงถามต้องทอดถอนหายใจ



                "นางต้องมาแน่...เรื่องนี้ขอท่านแน่ใจได้...เพียงแต่....เราเรียนจบเร็วกว่าเวลาอันควรจึงล่วงไปก้าวหนึ่ง"


                "แล้วจะทำเช่นใด?"



                "รอต่อไป..." ชายหนุ่มตอบอย่างใจเย็น


                "เรารอมานานกว่ากาลจุติของท่านด้วยซ้ำ" แต่กลับกระตุ้นอารมณ์คนฟังให้โทสะร้อนขึ้นอีก


                "ถ้าอดทนรอมาได้ถึงเพียงนี้แล้ว จะรอต่อไปอีก 1 ปีไม่ได้เชียวหรือภูวิษะ?"



                "1 ปี? ท่านแน่ใจ ? " คนฟังทวงถามซ้ำ



                "เราเคยหลอกลวงท่านรึ?" แก้วตาสีน้ำตาลใสนั้นปรากฏแววตำหนิคู่สนทนา



                "ตกลงเราจะรออีก 1 ปี !!"


                สิ้นประโยคนี้ผู้พูดก็หายลับไปจากคลองจักษุของวิมุตติในทันที แล้วจึงเกิดเสียงโครมครามขึ้นกลางลำน้ำนอกเรือน คล้ายมีวัตถุชิ้นใหญ่ถูกทิ้งดิ่งโถมโจนลงไป สายน้ำในชลธารพุ่งกระฉอกขึ้นมาบนฝั่งเป็นวงกว้างจนพื้นดินเปียกชุ่มไปทั่ว ชายหนุ่มลุกขึ้นจากตั่งทอดสายตามองผ่านกระจกออกไปก็ได้แต่ส่ายศีรษะ



                "ใจร้อนไม่เคยเปลี่ยน...เฮ้อ"

                เมื่อสภาพการณ์ภายนอกนิ่งเป็นปกติดีแล้ว เจ้าของเรือนจึงยกโทรศัพท์ขึ้นติดต่อไปยังเรือนใหญ่ เพื่อเรียกคนมาทำความสะอาดเรือนตน ไม่นานนักหญิงรับใช้สองคนก็มาถึง คนหนึ่งเป็นหญิงวัยกลางคนที่ทำงานในไร่มานาน อีกคนเป็นสาวน้อยวัยกำดัด เมื่อพบหน้าเจ้านายหนุ่มรูปทองก็ชม้ายตาให้อย่างเคอะเขิน จนถูกหญิงสูงวัยตีผัวะเข้าให้ที่ต้นแขน

                "คำฝ้าย ไปเอาผ้ามาเช็ดพื้นสิ เมาก่ายิ้มอยู่ได้” หญิงอ่อนวัยแสดงสีหน้าไม่พอใจออกมาเล็กน้อยก่อนจะทำตามคำสั่ง

 

               "คุณขา...เยี๊ยะอันหยังก๊าเจ้า? อิ๊หยังมันเปียกไปหม๊ดตึงเฮือนจ่ะอี๊ อย่างกับมีใครลากอะไรขึ้นมาจากน้ำแล้วเอาเข้ามาในเฮือนเลย....

               "ก็เครือๆ นั้นเจ้า" วิมุตติตอบยิ้มๆ


               "หา?...เอ่อ...แล้วเอาอันหยังขึ้นมาก๋าเจ้า?” ชายหนุ่มไม่ตอบคำถาม แต่เสไปพูดเรื่องอื่นแทน



                "ศรีบัว พ่อท่านล่ะ? ปิ๊กจากไร่ก๋า ?"



                "ปิ๊กมาแล้วเจ้า อยู่บนเฮือนใหญ่กับตุ๊เจ้า แสนเจ้า"



                คำบอกเล่าทำเอาวิมุตติเกิดความสงสัย ตุ๊เจ้าแสนหรือหลวงปู่แสนเจ้าอาวาสวัดบนเขาที่เคยไปบวชเรียนสามเณรสมัยเมื่อครั้งเป็นเด็ก ทำไมถึงมาอยู่ที่ไร่ได้ เหมือนนางศรีบัวจะคาดเดาได้จึงรีบชิงเล่าความให้ฟังเสียก่อนจะทันได้ถาม


                "พ่อเลี้ยงไปพบรถของวัดเสียระหว่างทางน่ะเจ้า ก็เลยนิมนต์ท่านมาที่ไร่เฮาก่อน แล้วจึ่งค่อยไปตามคนมาซ่อมรถ หากเสร็จช้าไม่ทันการณ์จะไปส่งเสียเองเจ้า"


                "อ่อ...งั้นเฮาจะไปหาท่าน" ชายหนุ่มพยักหน้าแล้วคว้าเอาเสื้อผ้าฝ้ายมาสวมทับ ก่อนจะตรงไปเรือนใหญ่



                 [1]กางเกงสะดอ ก็คือ เป็นกางเกงลักษณะเดียวกับกางเกงเล แต่วัสดุต่างกัน สะดอมักทำจากผ้าฝ้ายย้อมสี แล้วต่อลายที่เอว วิธีใส่ใช้มัดเชือกแล้วพับขอบเอวลงมาเช่นเดียวกับกางเกงเล บางทีก็เรียกเตี่ยวยาว(สะดอขายาว) เตี่ยวสั้น(สะดอขาสั้น)

                 [2]ตุ๊เจ้า เป็นคำเรียกพระในแบบคำเมือง ที่คนเหนือใช้เรียกพระสงฆ์องค์เจ้า ในที่นี่ตุ๊เจ้าแสน ก็คือ หลวงปู่แสน ค่ะ



++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


                  พ่อเลี้ยงสรวงจัดที่ให้พระภิกษุนั่งบนอาสนะสูงกว่า ตนเองนั่งเลื่อนลำดับลงมานั่งต่ำกว่า หลังถวายน้ำให้และของว่างให้ฉันแล้ว จึงค่อยเปิดฉากสนทนากับผู้ทรงศีลวัยชรา หลวงปู่แสนเป็นเจ้าอาวาสวัดบนเขาห่างไกลความเจริญ เมื่อหลายปีก่อนสรวงเคยส่งวิมุตติไปบวชเป็นสามเณรที่นี่ ครอบครัวเหมวัตจึงมีความเคารพนับถือหลวงปู่แสนเป็นอย่างมาก หลายเรื่องที่ข้องใจสงสัยแต่ไม่อาจถามบุตรชายได้ สรวงก็มักนำมาปรึกษาหลวงปู่เสมอครั้งนี้ก็เช่นกัน



                 "ตุ๊เจ้า...ช่วงนี้ที่บ้านมีเรื่องแปลกๆ อีกแล้ว..."



                 "ยังไงรึ?"


                 "จำเรื่องงูพวกนั้นได้ไหมครับ? พอวิมุตติไปเรียนที่กรุงเทพฯ ไม่เคยมีงูเข้ามาในเรือนเลย แต่กลับได้ยินว่าบ้านที่กรุงเทพฯมีงูเลื้อยเข้ามาประจำ"



                 "ก็น่าคิดอยู่...แล้วเป็นอันตรายหรือไม่ล่ะ?"


                 "ไม่ครับ...เห็นมนัสบอกว่า "เขา" สั่งได้ งูไม่เคยกัดคน แค่ออกปากไล่ก็ไปแล้ว"



                 "ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้วนี่...มีปัญหาอะไรรึ? หากเป็นเรื่องที่ว่าเขาแปลก โยมก็น่าจะชินได้แล้ว" หลวงปู่ยิ้มอย่างขบขันรอยย่นยับบนใบหน้ายิ่งเห็นชัดเจนขึ้น แต่เมื่อเห็นสรวงนั่งนิ่งมีสีหน้าไม่สบายใจจึงค่อยกล่าวต่อ



                 "รับปากเลี้ยงดูเขามาแต่แรกแล้ว ทำไมเพิ่งจะมากังวลใจเอาตอนนี้เล่า?"



                "ยังไงก็ลูกทั้งคนนะครับ ผมกลัวว่าเขา...เสร็จสิ้นภารกิจของเขาแล้ว เขาจะกลับไปในที่ๆ จากมา...พอคิดแบบนั้นแล้วก็อดใจหายไม่ได้ เขาเองก็ไม่เคยเล่าให้ผมฟังว่าคนที่เขาคอยนั้นยังอีกนานไหมกว่าจะพบ? ถ้าพบแล้วจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้น? "


               "โยม...มีใครในโลกนี้บ้าง ไม่เกิดแก่เจ็บตาย เขามาแล้วก็ต้องไปเหมือนที่เราทุกคนมาแล้วก็ต้องไปวันหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่ระยะเวลาของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน"


               "แต่ถ้ามันเร็วไป...ผมเกรงว่าตัวเองจะทำใจไม่ได้ ผมรักเขามากเหลือเกิน" พ่อเลี้ยงวัยกลางคนทอดถอนหายใจออกมา หลวงปู่แสนเห็นเข้าก็เผยอยิ้มให้อย่างมีเมตตาก่อนจะกล่าวพระธรรมหนุนนำใจ


               "อย่ายึดติดให้มาก...เขาไม่ใช่ของเรา ตัวเราเองยังไม่ใช่ของเราเลย ไม่งั้นคงบังคับทุกสิ่งได้แล้ว ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจฝืนได้ เกิดแก่เจ็บตายเป็นวัฏจักร ชีวิตไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิดหรอกโยม" หากแต่นายสรวงไม่ได้มีสีหน้าดีขึ้นเลย


               "เรื่องนั้นผมทราบดี และบอกตัวเองว่าถ้าถึงเวลาก็ต้องทำใจให้ได้ เพียงแต่...ในเวลานี้ผมไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ และกำลังจะทำอะไร ผมแค่อยากจะช่วยเหลือเขาเท่านั้น...ถ้าจะรบกวนท่านช่วยถามให้หน่อยจะได้หรือไม่?" ภิกษุชราฟังอยู่นานก็หัวเราะเบาๆ ออกมา


                "หึ หึ หากเขาอยากจะบอกเขาก็คงบอกเอง โยมเป็นพ่อเขายังไม่เล่าแล้วอาตมาเป็นใครเขาจะบอกหรือ?" รอยยิ้มของท่านนั้นเมตตานัก


               "ผมเป็นคนธรรมดา แต่ท่านเป็นพระเป็นผู้ทรงศีล...เขาน่าจะไม่ปิดบัง"


               "โยมสรวง โยมรู้ไหมบางครั้งความรักของพ่อแม่ก็ผูกมัดลูกเกินไป ไม่ใช่แต่ลูกเท่านั้นที่เป็นราหุล(บ่วง)ของพ่อแม่หรอก เอาแต่พอดีเถิด..แต่เอาเถอะอาตมาจะลองถามดูก็แล้วกัน ส่วนเขาจะตอบหรือไม่นั้นอาตมาไม่รับปากนะ"


                "ขอบคุณมากครับ"


               สรวงก้มลงกราบในทันที ในใจรู้สึกผ่อนคลายขึ้นเป็นอันมาก จากนั้นจึงส่งเสียงเรียกให้คนไปตามบุตรชาย แต่ยังไม่ทันได้ไปถึงไหนก็เห็นวิมุตติเดินมาไกลๆ



++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


               ร่างสูงโปร่งของชายหนุ่มผมยาวคลานเข้าไปกราบผู้ทรงศีล เป็นภาพที่ใครเห็นเข้าต้องนึกชมเชยกิริยาอันนุ่มนวลของเขา หลวงปู่แสนในวัยเจ็ดสิบกว่ายิ้มให้ด้วยความเอ็นดู ก่อนจะเอ่ยทักทาย

               "เรียนจบแล้วรึ ? "



               "ครับ...เพียงแต่รอรับปริญญา" วิมุตติตอบเบาๆ


               "ดี...โยมพ่อคงภูมิใจ"



               "ครับ" บิดาของวิมุตติยิ้มกว้างหน้าบาน ยอมรับว่าภาคภูมิใจจริงๆ ลูกชายของเขาใช้เวลาเรียนแค่ 3 ปีเท่านั้น เร็วกว่าคนอื่นหลายเท่านัก



               "แล้วคิดจะทำอะไรต่อ หรือกลับมาช่วยงานที่นี่" หลวงปู่ถามวิมุตติยังไม่ทันได้พูด นายสรวงก็ตอบแทน


               "แล้วแต่เขาล่ะครับหลวงปู่"



              "ยังไม่ได้วางแผนเป็นที่แน่นอนครับ กำลังรอดู...." ชายหนุ่มเว้นวรรคไปเพื่อคิดหาคำพูดดีๆ เมื่อตัดสินใจได้จึงต่อประโยค "สถานการณ์ไปก่อน"

              "นั่นสิครับ ปีนี้เศรษฐกิจบ้านเราไม่ค่อยดี...ถ้าจะลงทุนอะไรก็คงต้องรอดู" บิดาของชายหนุ่มกลับเข้าใจไปอีกทาง

              "เอาเถิด....เห็นว่าอะไรดีก็ทำ เห็นว่าอะไรที่ทำแล้วเป็นสุขใจไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ทำ" เมื่อหลวงปู่ชราให้โอวาทสองพ่อก็ลูกยกมือขึ้นพนมรับพร

             "ไม่ได้เจอหลวงปู่เสียนานอยู่คุยกับท่านหน่อยนะ ประเดี๋ยวพ่อจะไปดูว่ารถซ่อมไปถึงไหนแล้ว" นายสรวงพูดจบถือโอกาสปลีกตัวไป เพื่อให้หลวงปู่แสนได้ซักถามพูดคุยได้อย่างสะดวกใจ


             สรวงลุกไปไกลแล้ววิมุตติจึงค่อยหันมาถามความกับหลวงปู่ ในใจค่อนข้างมั่นใจว่าบิดาจงใจเปิดช่องทางให้พูดคุย ชายหนุ่มจึงลอบยิ้มออกมาเล็กน้อยนึกขบขันที่ใจตรงกัน เขาเองก็มีเรื่องอยากปรึกษาพูดคุยกับพระผู้สูงด้วยศีลเช่นเดียวกัน


              "ท่าทางพ่อท่านดูกระวนกระวายนะขอรับ"

           

              สรรพนามการพูดคุยของเขาเปลี่ยนไปในทันทีที่ลับตาคน ถ้อยคำสนทนาที่ภิกษุชราโต้ตอบกลับมาก็พลอยแปลกไปด้วย

          

              "ก็เรื่องเอ็งนั่นแหละ...ตามประสาคนเป็นพ่อย่อมห่วงใยลูก"

              "เราเข้าใจดี พ่อท่านมีจิตกุศลเผื่อแผ่มายังเราตลอด แม้ขณะนี้ก็ยังรู้สึกได้" หลวงปู่พยักหน้านึกชื่นชมคนที่รู้ความสว่างเช่นนี้

  
              "วิมุตติ...ยังมีภาระติดค้างอีกมากไหม?"


              "อีกมากท่าน....ยังมิได้ชำระเลยแม้แต่เรื่องเดียว"

              "เห็นไปกรุงเทพฯ ตั้งนาน อาตมาคิดว่าได้สะสางไปบ้างแล้ว"

              "อ้าว?...เรานึกว่าพระคุณเจ้ารู้ด้วยญาณไปแล้วเสียอีก" หนุ่มรูปทองแกล้งเบิ่งตาค้าง

              "ข้าไม่สอดรู้เรื่องชาวบ้านว่ะ มันไม่ใช่กิจของสงฆ์...ข้าไม่ใช่วิทยาธรอย่างเอ็งถึงได้ต้องยุ่งกับเรื่องคนอื่นให้วุ่นวายไปหมดแบบนี้ !! " ฟังคำกล่าวจบวิมุตติก็หัวเราะขึ้นมาโดยไม่อาจเก็บกิริยาอีกต่อไปได้ ในขณะที่หลวงปู่แสนส่ายศีรษะ

               "แล้วไปทำอีท่าไหน พ่อนาคนั่นถึงโกรธเอา"

               "เมื่อสักครู่พระคุณเจ้าบอกว่ามิได้เข้าญาณ...แล้วไฉนจึงรู้ได้เล่า?" หนุ่มหล่อเลิกคิ้วถามขึ้นมาด้วยความฉงน

              "เอ๊ะ? ไอ้นี่อย่ามาทะลึ่งให้ด่า...ก็ตัวเอ็งน่ะเปียกมาแบบนี้จะฝีมือใครได้" คำตอบที่กลับมานั้นทำเอาคนฟังถึงกับซ่อนยิ้มเอาไว้ไม่ได้ รอยยิ้มสวยนั้นระบายไปทั่วใบหน้าเหมือนขบขันยิ่งนัก ว่าแล้วจึงเอ่ยออกมา

              "พระคุณเจ้าชรามากแล้ว...อย่าได้เอ็ดเสียงดังเลย...ไม่ดีต่อสุขภาพ"

               "โยมสรวงพ่อเอ็งเขารู้ไหม ว่าเอ็งมันทะลึ่งแบบนี้ ? " วิมุตติไม่ตอบหากแต่ก้มหน้าหัวเราะจนตัวคลอน

               "ขอประทานโทษเถิดพระคุณเจ้า...ภพนี้ไม่ค่อยมีคนให้เราสนทนาได้อย่างเปิดใจน่ะ เรามิได้ตั้งใจจะยั่วเย้าท่าน"

               "เอาเถอะ...แต่โยมสรวงน่ะเป็นกังวลมาก...เลยให้ข้ามาถาม"

               "ทุกอย่างปกติดีขอรับ...ไม่มีอะไรดอก พ่อท่านคิดมากไปเอง"

               "แล้วทะเลาะอะไรกับพ่อนาค?"

               "มิได้ขอรับ เพียงแค่ภูวิษะเจ้านั้นร้อนใจ...ก็เป็นไปตามปกติวิสัยเท่านั้นเอง พอดีวันนี้มาพบเราด้วยตัวเองจึงเอะอะมะเทิ่งกว่าปกติน่ะขอรับ" หลวงปู่แสนได้ฟังความก็ทอดถอนหายใจออกมา

               "อืม....ไหนว่าจะละโทสะ อโหสิกรรมต่อกัน...แล้วยังร้อนรนอยู่แบบนี้ หากพบหน้าคนที่ผูกเวรจองกรรมกันมานาน แล้วจะทำได้รึ ?

              "ก็น่าห่วงอยู่มิใช่น้อย ภูวิษะเจ้าเมื่อเทียบกับอายุของพงศ์พันธุ์นาคแล้วถือว่ายังเยาว์วัยนัก...ทั้งมีโทหะร้อนตามวิสัยนาค เดิมทีเราคิดว่าเวลาผ่านไปเนิ่นนานจะทำให้ไฟร้อนในจิตใจบรรเทาเบาบางลงบ้าง อีกทั้งตัวภูวิษะเจ้าเองก็มีท่าทีพร้อมจะละสิ้นบ่วงเวรอยู่แล้ว...เพียงแต่...เวลาที่เคยกำหนดไว้มันช้านานกว่าที่คาดกันไว้น่ะขอรับ ก็เลยเริ่มร้อนใจขึ้นมาอีก" ภิกษุชราฟังความแล้วพยักหน้า เข้าใจซึ้งถึงความหนักหน่วงที่บุรุษเมืองฟ้าต้องรับผิดชอบ


              
               "เฮ้อ...เรื่องมันไม่ง่ายหรอก...บ่วงมันหนักหนา แต่ก็ไม่ใช่ยากเกินไป ภาระนี้อยู่ที่ใจเขา เอ็งช่วยได้เพียงแค่บรรเทาเท่านั้น แต่เขาจะปล่อยวางได้แค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง ใครจะสอนหรือบังคับก็ไม่ได้ และไม่ว่ากับโยมนาคหรือฝ่ายนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าใครจะเห็นแสงสว่างก่อนกัน โยมนาคมาได้ครึ่งทางแล้วหากเขาอดทนจนถึงปลายสุดของวิถีกรรมนี้ได้ก็ดี วิมุตติเอ็งทำหน้าที่ตนเองได้ดีที่สุดเท่านั้นก็พอ ที่เหลือก็สุดแท้แต่เรื่องราวมันจะเป็นไป เอ็งก็ได้แค่ช่วยชี้นำ สุดท้ายเอ็งก็ต้องปล่อยวางเรื่องทั้งหมดด้วยเหมือนกัน"



               วิทยาธรได้ฟังธรรมที่พระคุณเจ้าบอกกล่าวนั้น ก็ยิ่งทอดถอนบอกตนเองให้ปลงใจ เพราะฟังแล้วคล้ายว่าปฏิบัติไม่ยากหากยอมถ่อมใจลดทิฐิ แต่ในความเป็นจริงแล้วช่างปฏิบัติได้ยากยิ่งเหลือกำลัง มิเช่นนั้นแล้วคงไม่เป็นเรื่องค้างคาข้ามกาลมาเช่นนี้




               "ขอบคุณพระคุณเจ้าที่ให้สติ เราเองเข้าใจเรื่องนั้นดี เพียงแต่ว่า...เรามิต้องการให้เรื่องนี้ค้างคาข้ามไปอีกชาติภพเหมือนที่แล้วๆ มา ตามจริงภูวิษะเจ้าอโหสิกรรมให้นางนั้นไปนานแล้ว..แต่ผู้อื่นนี่สิ....เรื่องนี้เราไม่แน่ใจว่าจะกล่อมผู้อื่นให้ปล่อยวางได้หรือไม่...อีกประการ มันเป็นการอโหสิกรรมฝ่ายเดียวเรื่องจึงยังมิได้จบลง"



               เมื่ออยู่ต่อหน้าหลวงปู่แสนแล้ว สีหน้าของวิมุตติแสดงความหนักใจในเรื่องราวที่ต้องข้องเกี่ยวออกมาโดยไม่ปิดบัง ต่างกับยามปกติที่ปั้นแต่งสีหน้าได้เรียบเฉยเสมอต้นเสมอปลาย ราวกับไม่เคยรู้ร้อนรู้หนาวกับเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น



               "การอโหสิกรรมเป็นอภัยทาน โยมนาคยังไม่ได้ปล่อยวางลงจริงๆ ถึงยังค้างคามาจนบัดนี้ ส่วนคนอื่นๆ ก็ต้องแล้วแต่เขาว่าจะเห็นทางสว่างหรือไม่ อันที่จริงแล้วการอโหสิกรรมมิใช่การยกโทษให้แก่เขาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการปล่อยวางเพื่อปลดปล่อยตนเองให้หลุดพ้นจากบ่วงผูกรัดทั้งปวง เป็นการทำทานแก่ตนเองและผู้อื่น การอโหสิกรรมจริงๆ แล้วมิต้องรอให้ผู้ก่อเวรนั้นสำนึกผิด แต่สามารถทำได้ด้วยตนเองฝ่ายเดียว คนเรานั้นสามารถกำหนดจิตใจตนเองได้แต่มิอาจกำหนดใจผู้อื่นได้ หากเป็นไปได้ชักชวนโยมนาคไปฟังธรรมที่วัดบ้างนะ ใจจะได้สงบลงเสียบ้าง"



             "เรียนพระคุณเจ้าตามตรง เราคิดว่าเขาเองก็อยากไป....แต่ติดอยู่ที่....ภูวิษะเจ้าสิ้นฤทธิ์หมดเดชไปเยอะ มิอาจจำแลงแปลงกายได้ ที่ทำได้ตอนนี้ก็เพียงแค่สร้างมายานิมิตรูปกายให้เห็นเป็นมนุษย์ คงไม่สู้จะสะดวกนัก...หากต้องไปวัดเกรงว่าวัดจะเปียกโชกดังเรือนเราเมื่อครู่...และถ้าจะให้ขึ้นไปเจริญธรรมบนกุฏิตามลำพัง...คาดว่ากุฏิอาจจะ...เอ่อ...ไม่เหมาะแน่พระคุณเจ้า"



             ชายหนุ่มนึกมโนภาพไปถึงกุฏิหลังเล็กๆ บนเขานั้น มีขนาดแค่พอนั่งสนทนากันไม่กี่คนเท่านั้น แล้วนาคเจ้าหรือจะขึ้นไปพบหลวงปู่ได้ ไม่แคล้วคงได้สร้างกุฏิใหม่กันก็ครานี้



              "อ้อ...มิน่า เอ็งก็เลยเปียกด้วย ถ้าอย่างนั้นไว้อาตมาจะไปปักกลดในป่า เพื่อเจริญธรรมให้เขา วานบอกให้เขาไปพบอาตมาที่นั่นแล้วกันนะ"



              "ได้ขอรับ"



             "แล้วเอ็งน่ะ...ปีนี้อายุ 22 แล้วใช่ไหม? ครบบวชแล้วนี่ จะบวชให้โยมสรวงได้ไหม?"



             "พ่อท่านต้องการแบบนั้นหรือขอรับ?"



             "เปล่าเลย พ่อเอ็งไม่เคยเรียกร้องอะไร เขาแค่คิดว่าเอ็งยิ่งโตยิ่งห่างเหิน กลัวว่าวันไหนจะไปโดยไม่บอกไม่กล่าวเขา"



              "โธ่เอ๋ย..พ่อท่าน" วิทยาธรเทพผู้มาแต่แดนไกล ทอดถอนหายใจเสียงดังออกมา เมื่อนึกถึงบิดาอุปถัมภ์ตนมาด้วยความรักใคร่


              "อันที่จริงใน 1 ปีนี้เรายังไม่มีกิจใด ก็น่าจะบวชได้ ถ้าบวชหนนี้สร้างความยินดีให้พ่อท่านเราก็จะทำ" เสียงรำพึงนั่นดังบอกกล่าวกับตัวเอง มากกว่าจะสนทนากับภิกษุชรา



             "ให้โยมพ่อก็ดี...รวมถึงจะได้เผื่อแผ่ไปถึงกิจการข้างหน้าที่ต้องไปข้องเกี่ยว ให้พวกเขาดับร้อนลงบ้าง โดยเฉพาะโยมนาค" สิ้นคำสนทนาวิมุตติตัดสินใจได้โดยพลัน จึงก้มกราบหลวงปู่แสน




+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++





 

Create Date : 22 กันยายน 2555
5 comments
Last Update : 22 กันยายน 2555 6:00:19 น.
Counter : 2526 Pageviews.

 

ทำไมไม่ลงในนี้แบบบึ้ดจ้ำบึ้ดเลยคะ จะได้ทันกับในพันทิพ ไม่ชอบอ่านในนั้นเลยค่ะ จอฟ้าตัวหนังสือขาว อ่านแล้วปวดตา

ไม่ได้เข้ามาแวะหาคุณแก้วกังไส ตั้งแต่เรื่องอะไรน้า ที่พระเอกเหมือนผู้หญิงใช่ปะ (หรือนางเอกเหมือนผู้ชาย) เดี๋ยวนี้หัวสมองไม่ค่อยจะดีค่ะ แก่แล้ว แต่ยังนุ่งยีนส์อยู่ อิอิ

 

โดย: พี่หมูน้อย 22 กันยายน 2555 12:09:53 น.  

 

น่าติดตามมากค่าาาาาา...รอตอนต่อไป อิิอิ

 

โดย: หนอนฮับ IP: 101.109.220.87 22 กันยายน 2555 14:06:01 น.  

 

พี่หมูน้อย : ในบล็อกมันจัดหน้ายากน่ะค่ะ แปะทีเดียวก็ได้ แอบเบื่อมัน ลงทีแสนยาก เลยดองๆ ไว้ ลงทีละกระดึ๊บน่ะค่ะ

หนอนฮับ : ขอบคุณค่ะ

 

โดย: แก้วกังไส 25 กันยายน 2555 15:54:40 น.  

 

ยังไม่เห็นนางเอกออกโรงเลยค่ะ

ตามอ่านตอนต่อไป

 

โดย: เดหลี IP: 110.164.206.20 12 ตุลาคม 2555 15:30:52 น.  

 

แฟนคลับคนใหม่แวะมาชมผลงาน

 

โดย: Lamon IP: 49.231.103.180 31 สิงหาคม 2556 23:11:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แก้วกังไส
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 54 คน [?]







ผลงานเขียนที่ผ่านมาค่ะ

รักนี้(แค้น)ต้องชำระ


Amethyst Sonata
เพลงรัก..ลิขิตหัวใจ



บาปปาริชาต

Friends' blogs
[Add แก้วกังไส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.