จิบชาชมดอกไม้ไปพลาง คุยกันเบาๆ ที่สวน..เจ้าแก้ว กังไส





Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2558
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
18 พฤศจิกายน 2558
 
All Blogs
 

โหมโรง เดอะ มิวสิคัล (โคตรสปอยล์)



เมื่อคืนศุกร์ 13 พ.ย.เจ้าแก้วไปดู "โหมโรง เดอะ มิวสิคคัล" เป็นการไปดูแบบกะทันหันจองตั๋วสองวันเอง 
ตอนแรกก็ลังเลเพราะไม่มีคนเฝ้าร้านให้(ช่วงนี้ลูกจ้างลาออก) ทำให้ไม่ได้ดูรอบแรกที่จัดแสดง 
รอบนี้เลยเกิดอุปทานหมู่ เห็นเพื่อนๆ ในเฟซทยอยกันไปดูชักทนไม่ได้ ในที่สุดเอ้าไปก็ไป 
วานเพื่อนมาเฝ้าร้านแทน แล้วไปดูกับขวัญ 
.
.
ก่อนไปดูก็ไปอำนางว่าเราแต่งสะไบดูกันดีไหม ขวัญแอบหลงเชื่อ นางเลยแต่งเป็นสาวเครือฟ้าไปดู 
พอเห็นเจ้าแก้วแต่งตัวธรรมดานางด่าเละเลยค่ะ 



"อิทรยศ หลอกฉันนนน..น" ก็แหมไม่คิดว่าจะยุขึ้นนี่หว่า แล้วเกิดแต่งชุดไทยไปแล้ว 
คนดูเค้าคิดว่าเป็นนักแสดงมาขอถ่ายรูปด้วยก็เขินแย่เลยสิ Smiley
.
.
เจ้าแก้วเคยดูโหมโรงฉบับภาพยนตร์มาก่อน จึงรู้เนื้อเรื่องหมดแล้วเล่นสลับไทม์ไลน์ยังไงก็ไม่งง 
แต่เพื่อนไม่เคยดูมาก่อนลองถามนางดูก็ไม่งง แปลว่าโอเคใช้ได้ผ่าน
.
.
"โหมโรง" นั้นสร้างมาจากเรื่องราวชีวิตของ "ศร ศิลปบรรเลง" หรือราชทินนามว่า "หลวงประดิษฐ์ไพเราะ"
นักดนตรีเอกแห่งสยามประเทศ ที่ใช้คำว่าสยามเพราะว่าท่านรุ่งเรืองในสมัยที่ประเทศไทย
ยังไม่เปลี่ยนชื่อประเทศ ซึ่งพอมาถึงยุคที่จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ขึ้นปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการ 
มีคำสั่งให้เลิกดนตรีไทยหลายชนิดให้เล่นดนตรีฝรั่งเป็นหลัก เพื่อนำประเทศเข้าสู่อารยะ
อันทันสมัยทัดเทียมตะวันตก 
.
.
สร้างความเจ็บช้ำให้กับนักดนตรีไทยเป็นอันมาก ในเวลานั้นหลวงประดิษฐ์ไพเราะเข้าสู่วัยชราแล้ว 
ท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องอดทนกับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องดนตรีและชีวิตคนดนตรีไทย 
หลายชีวิตต้องละทิ้งอาชีพไป และมีอีกมากที่สูญเสียทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิต เป็นช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด
เป็นอย่างยิ่ง ที่จะพิสูจน์คนดนตรีว่าจะอดทนฝ่าฟันจนถึงพ้นยุคเผด็จการได้หรือไม่ 
.
.
และเรื่องราวในชีวิตของ "ศร ศิลปบรรเลง" เล่าตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่บั้นปลาย จากยุคสู่อีกยุค
ที่วัฒนธรรมเปลี่ยนไป ถูกนำมาร้อยเรียงออกมาเป็นละครเพลง ชุบชีวิตให้คนที่เรารู้จักชื่อแต่ในหนังสือเรียน
 ออกมาวาดสีสันอีกครั้ง หลายๆ คนถูกกาลเวลากลืนหายไป เช่น ขุนอิน ระนาดเอกแห่งกรุงอีกคนหนึ่ง 
.
.
หาก "โหมโรง" ไม่ถูกนำมาเรียงร้อยนำเสนอให้คนรุ่นใหม่ ขุนอินและตัวละครอื่นๆ ก็จะถูกลืม
หายลับไปกับกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย 
.
.
"โหมโรง เดอะ มิวสิคคัล" กับเรื่องราวชีวิตเข้มข้นนี้จะปลุกความรู้สึกของคนดูให้มีส่วนกับเรื่องราว
ได้เท่าฉบับภาพยนตร์ที่ทำเอาไว้โคตรดี จนขึ้นหิ้งเป็นภาพยนตร์คลาสิคระดับชาติได้สักแค่ไหน เรามาพิสูจน์กัน
.
.
ก่อนอื่นขอสารภาพเมื่อดูละครเพลงก็อดเผลอเปรียบเทียบกับต้นฉบับ(ภาพยนตร์)ไปโดยอัตโนมัติ 
ตามประสาคนที่มีความประทับใจกับของชิ้นแรกที่เห็นพอมาชิ้นที่สองก็เผลอนำมาเทียบไม่ได้
 รีวิวนี้จึงกลายเป็นอภิมหาสปอยล์ไปโดยไม่ตั้งใจ
.
.
เริ่มแรก..มีการขยายความในส่วนของชีวิตวัยเด็ก ซึ่งไอ้หนูเปี๊ยกๆพวกนั้น น่ารักมากกก..ก 
นอกจากเสียงร้องใสๆ แล้วยังทะเล้น โดยเฉพาะเจ้าหนูที่รับบทเป็น "ทิม" คู่หูจอมป่วนของศร 
มันน่าหยิกแก้มจริงๆ แพ้ความน่ารักอ่ะ Smiley
.
.
เรื่องก็เล่าไปศรเป็นหนุ่มแล้วเย๊ หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว แต่ศรเวอร์ชันละครเวทีมีการตีความใหม่ 
ที่แตกต่างกับศรที่ โอ อนุชิตเล่น รวมไปถึงฉบับละครทีวีซึ่ง...ศรเวอร์ชันนั้นไม่ผ่านอ่ะ 
น้องเขาไม่มีเสน่ห์บนจอพอ พูดเสียงไม่ชัดถ้อยชัดคำ ดูแล้วเลยข้ามๆ ไม่ติดใจ 
.
.
เจ้าแก้วคิดว่า "เสน่ห์" เวลาอยู่ต่อหน้าคนดูเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าคุณไม่มีเสน่ห์ต่อให้คุณหน้าตาดี
แต่อ้าปากพูดหรือเคลื่อนไหวแล้วก็เท่านั้นแหละจืดๆ มันก็ไม่ชวนติดตาม ความหล่อ ความสวย
 เป็นอันสองรองลงมาจากเสน่ห์ แต่มันก็สำคัญนะ 
.
.
เห็นพวกติสจ๋าชอบพูดว่าคนที่เห็นแต่ความสวยความหล่อของพระ-นาง เป็นพวกตลาด พวกนายทุน 
ต่อให้เล่นดีแค่ไหนไม่หล่อก็จบ มันช่างเป็นคำพูดที่หลับหูหลับตาชมกันเองชอบกล 
เสน่ห์เสริมให้คนหล่อขึ้นสวยขึ้น ทำให้คนลุ่มหลงอยากจ้องมอง ถ้าไม่มี..มันก็ไม่ใช่ 
เหมือนดอกไม้สวยแต่ไม่หอมแมลงไม่ตอม จะเอาเงินฉันก็ต้องอยากให้ฉันตอมนะจ๊ะ
.
.
ศรเวอร์ชันละครเวทีนั้นถูกตีความให้ต่างกับเวอร์ชันภาพยนตร์ที่ค่อนข้างจะเป็นเด็กหนุ่มใจเย็น 
เรียบร้อย นอบน้อม แต่ศรเวอร์ชันนี้จะมีความเห่อเหิม ลำพอง ทะเยอทะยานของเด็กหนุ่ม 
เพราะถูกสปอยล์มาแต่เด็กว่ารูปหล่อสาวติดตรึม แถมเล่นระนาดเก่งและไม่เคยแพ้ใคร...
ข้าคือศร ระนาดเอกแห่งอัมพวา ตะละล้าแบบนั้นน่ะ
.
.
ถามว่าเทียบกันแล้วเป็นยังไง ฉีกกันดีค่ะ ทำให้ลืมศรของโอ อนุชิตได้ มันมีความมีเลือดเนื้อ
ของหนุ่มกระทงมากกว่าน่ะค่ะ (แต่โอก็ยังดีงามความทรงจำเสมอ) Smiley
.
.
นักแสดงที่รับบทนี้คือ "กรกันต์ สุทธิโกเศศ " หล่อดีค่ะ ดีงามค่ะ อกผายไหล่ผึ่ง หน้าเด้ง เต่งตึง 
ชวนมองเสียงไม่อู้อี้พูดจาชัดถ้อยชัดคำ เสียอย่างเดียวน้องเค้าไม่ยอมถอดเสื้อ อกตั้งขนาดนั้นป้าอยากดูจ้ะ  
ถอดเถอะพ่อเพื่อประชาชน Smiley


ชมโฉมกันเยอะแล้ว มาพูดถึงฝีมือ..เค้าก็ตามวัยของเค้าคือบทส่ง เล่นได้โอเค เสียง แววตา 
มันส่งถึงคนดูชวนมอง น้องคนนี้ปั้นดีๆ เด่นดังกว่านี้แน่นอน เค้ามีออร่าพระเอกเห็นแล้วรู้เลย
คนนี้พระเอกแน่ๆ แต่สิ่งที่เหมาะสมกับบทศรก็คือ เค้ามีอินเนอร์ในการแสดงทางเพลงของศร
ผ่านท่าทางการตีระนาด สรุป ผ่านจ้ะพ่อ หวังว่าจะได้เห็นพระเอกคนนี้บนละครจอแก้วบ้างนะคะ
.
.
นอกจากศรแล้วสิ่งที่เจ้าแก้วและผู้ชมรอดูคงไม่พ้น "ขุนอิน" ทศกัณฐ์แห่งวงการระนาด 
ถึงขั้นว่าเพื่อนคนหนึ่งแต่เพลงสรรเสริญให้ดังนี้
.
.
'ระนาดของข้าร้อนอย่างกับฟายเออร์
ระนาดขุนอินร้อนอย่างกับฟายเออร์
ไอ้เด็กอวดดีชอบเล่นกับฟายเออร์
เอ็งเป็นใคร เป็นใครถึงมาลองกับฟายเออร์'
(เครดิต อนิธิน)
.
.
ต้องเข้าใจก่อนว่าทศกัณฐ์เอ้ย พ่อขุนอินคนก่อน ครูปอง ณรงค์ฤทธิ์แกเล่นไว้เทพมาก 
แค่เห็นหน้าก็ปอดแหกแล้ว หน้าแกเหมือนจะจับคนหม่ำได้ตรงนั้น ต้องเป็นยักษ์มาเกิดแน่ๆ เลย 
เลยแผ่รัศมีข่มได้น่ากลัวนัก อย่าว่าแต่ศรเลยเจ้าแก้วก็กลัว ยิ่งตอนตีระนาดอย่างกับ
มือแกงอกเป็นสี่มือได้แน่ะ แถมไฟลุกพรึ่บๆ
.
.
มาขุนอินคนนี้ "ทวีศักดิ์ อัครวงศ์" ดูไกลๆ บนเวทีนึกว่าจะแก่กว่านี้ดูใกล้ๆ ยังหนุ่มอยู่
แต่หล่อเกินบทนะคะ แกเป็นผู้ชายหน้าไทยที่หล่อเข้มมากคนหนึ่ง เพียงแต่ในอิมเมจิ้นขุนอิน
น่าจะวัยกลางคน อีกอย่างเห็นพี่แกแล้วนึกถึงบทพระนเรศวรขึ้นมารำไร หน้าช่างเหมาะอะไรอย่างนี้ 
ฝีมือการตีระนาดไม่พูดถึงไม้แทบหักคามือ ตีได้รัวมาก กราบบบ..บ พลังดัชนีระนาดขั้นเทพ


พูดถึงพระเอก พระร้าย แล้วก็ต้องพูดถึงนางเอกหน่อย "สาธิดา พรหมพิริยะ" ชื่อนี้คุ้นหูสำหรับเจ้าแก้ว 
เพราะเพลงที่ฟังผ่านยูทูปบ่อยๆ ก็เธอนี่แหละร้อง ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าใครร้องแต่ฟังบ่อยๆ ก็จำชื่อได้ 
เพราะติดใจในเสียง มีอยู่สามสาวที่ร้องเพลงไทยเดิมได้หวานๆ ก็มีปุ้ย ดวงพร,แนน สาธิดา 
และ แป๋ม สุภัทรา แล้ววันนี้ก็ได้เห็น สาธิดามาเล่นเป็นแม่โชติ สวยหวานสมบทค่ะ


ตอนศรจีบกับแม่โชติ มันมุ้งมิ้งมาก สีชมพูกระจายไปทั่ว หวานแหววสุดๆ เรียกว่ามีเคมีต้องกันมาก 
แต่สิ่งที่รู้สึกชอบมากคือ "ระยะห่างในการยืน" ของทั้งคู่ มีระยะครึ่งช่วงแขน แม้จะให้กำลังใจ
สวีตกันอีกท่าไหนก็ยืนห่างประมาณนี้ จะไม่ใกล้ไปกว่านี้ 
.
.
มันทำให้นึกถึง "การไว้ตัว" ของหญิงสาวในยุคก่อน ความรักของคนรุ่นเก่าให้เกียรติซึ่งกันและกัน 
"สำคัญนะคะผู้ชายให้เกียรติผู้หญิง แต่ผู้หญิงให้เกียรติตัวเองสำคัญยิ่งกว่า"
ละครเรื่องนี้มีตรงนี้แหละค่ะ ถึงคนดูจะไม่ได้สนใจระยะห่างของการยืน แต่เชื่อเถอะว่าเขาซึมซับมันแล้ว
.
.
คือไม่ต้องไปยืนประอบตัวแอ๊คแมนปีนหลังเอามือพาดไหล่ผู้ชาย หรือจูบจริงจกจริง 
คือมันไม่ต้องอ่ะ ถ้าคุณเก่งจริง บทดีจริง สื่อสารออกมาได้ ความหวาน ความหอม 
มันจะลอยออกมาเองค่ะ มุ้งมิ้งน่ารัก ชอบอ่ะ Smiley
.
.
นอกจากนั้นก็นักแสดงสมทบ ไม่ว่าจะเป็นครูรักษ์ ศรัทธา ที่แค่ยืนเกาตูดก็ฮาแล้ว ขยับไม้ขยับมือ
ก็เป็นเรื่องราวได้ พ่อเทิด เปี๊ยก ทิว ทุกคนเล่นได้ดีหมด แต่ที่ชอบสุดเห็นจะเป็นเสด็จฯ พระองค์เจ้า
ที่เป็นเจ้านายของศร เล่นได้ฮามาก ดูกระเด้งกระดอนดึ๋งดั๋งสุดๆ 


นักแสดงทำหน้าที่ตัวเองได้ดีทุกคน ทั้งพ่ออี๊ด สุประวัติ เทพอยู่แล้วอ่ะ ฉากที่รู้สึกสมจริง
สำหรับพ่ออี๊ดซึ่งเล่นเป็นศรในวัยชราคือ ตอนที่นอนบนเตียงใกล้ตาย ดูแล้วแบบ...ไม่รอดแน่ๆ 
ตายชัวร์ค่ะ พลังชีวิตหมดแล้ว
.
.
ส่วนคนที่ได้เสียงกรี๊ดมากสุดบนเวทีคือ "โย่ง อาร์มแชร์" แฟนคลับเขาเยอะ เป็นผู้พันหน้าเด้ง 
บทมีการปรับให้เหมาะกับตัวเขา เพราะบทนี้พี่ออฟ พงศ์พัฒน์เล่นไว้ ด้วยวัยวุฒิคุณวุฒิ
ฝีมือแกทรงพลังอยู่แล้ว ถ้าเปรียบเทียบกันคงไม่ได้ 


โย่งดูเป็นแค่นายร้อย ผู้หมวด มากกว่าจะเป็นทหารยศนายพัน เขาหนุ่มไปเป็นเหตุผลหนึ่ง 
แต่บทที่ปรับมาก็เข้ากับวัยของเขาดี มีบทที่แสดงให้เห็นว่ามีความสั่นคลอนความมั่นใจของเขา
ที่มีต่อนโยบายของท่านผู้นำ มีความลังเลสับสนเกิดขึ้น ในบทเพลงที่ร้องก็มีบอกไว้ตอนหนึ่ง ว่า..
.
.
"ฉันทำตามท่านผู้นำ บางทีก็ไม่เข้าใจ บางทีก็สับสนลังเล"
.
.
ผู้พันโย่งเกิดความแคลงใจ ไม่เห็นด้วย กับกฏระเบียบในยุคท่านจอมพล แต่ผู้พันออฟไม่ได้แคลงใจ
ท่านมีจุดยืนของตัวเองแต่ก็ยอมรับนับถือมีความนิยมในตัวพ่อครูสอน เมื่อได้แลกเปลี่ยนทัศนคติกัน 
ท่านยังคงความเท่ของท่านไว้ได้เสมอต้นเสมอปลาย 
.
.
ส่วนผู้พันโย่งนั้นดูมีความเป็นเด็กหนุ่ม มีความเป็นตัวตนของคนยุคนี้แทรกเข้าไป
 มันอาจเป็นความตั้งใจในการตีความแบบใหม่สำหรับเวอร์ชันนี้ นั่นไม่ได้หมายความว่าโย่งเล่นไม่ดี 
แต่ไม่ได้ทรงอำนาจสะกดทุกสายตาเท่าพี่ออฟ (พี่ออฟ สิ่งมีชีวิตอันตราย 
ใครได้รับบทเดียวกันกะพี่แกเป็นเรื่องหนาวมาก)
.
.
หลังเลิกละครได้ถ่ายรูปกะโย่งด้วย เขาทำให้เจ้าแก้วรู้สึกว่า..นี่ฉันเป็นฮอบบิทใช่ไหม 
 สูงได้แค่ไหล่เขาเอง..เศร้า


มาพูดถึงบทพูดที่ชอบ..."ให้คนที่ไม่เข้าใจมากำหนดกฏเกณฑ์ ยังไงก็ใช้ไม่ได้"
มันเป็นความจริงอันเป็นอมตะ 
.
.
จนบัดนี้หลายๆ ครั้งที่เรารู้สึกว่ารัฐบาลจัดหาคนที่ไม่เข้าใจ มาบริหารศิลปวัฒนธรรม 
ออกมาก็บรรลัย พอถูกค้าน พออธิบายไป นอกจากไม่เข้าใจไม่ปรับตัว ท่านๆ ก็ทำเหมือนว่าได้รับ
การดูถูกว่าโง่ไม่เข้าใจ เลยยิ่งใช้อำนาจ ยิ่งออกมาด่าผ่านสื่อ ทำให้ศิลปะการแสดงของไทยย่ำอยู่กับที่ 
และไม่ได้รับเกียรติยศเท่าที่ควรจะได้
.
.
จากบทพูดที่ชอบมาถึง ฉากที่ชอบ รู้สึกดีใจที่การดวลระนาดเป็นการตีโชว์จริงๆ เสียงระนาดนั่นระรัวจนใจสั่น 
คงต้องบอกว่าเป็นบุญหูจริงๆ เสียงระนาดกังวานใสเหมือนระนาดทำจากรางแก้วก็ไม่ปาน Smiley
.
.
อีกฉากหนึ่งเป็นบทที่เปี๊ยกร้องเพลงแนะนำเครื่องดนตรีไทย ว่าจะเป็นฉิ่ง ปี่ ขลุ่ย กลอง ระนาดทุ้ม 
ระนาดเอก ฯลฯ สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นดนตรีอย่างเจ้าแก้วดีนะคะ เราจะได้รู้จักในสิ่งที่ละครอยากนำเสนอ 
ไม่ใช่แค่เป็นพล็อบประดับฉาก ชอบเนื้อร้องด้วย 
.
.
"ฉิ่งถึงจะเล็ก แต่สำคัญเพราะหากไม่มีฉิ่งก็ไม่มีจังหวะ ทุกคนล้วนเป็นคนสำคัญไม่ว่าจะเล็กแค่ไหนก็ตาม"
.
.
สิ่งที่่น่าชมเชยอีกข้อคือเทคนิคบนเวที ไม่ว่าจะเวทีหมุน การสับเปลี่ยนฉากที่ทำให้การดำเนินเรื่องรวดเร็ว 
จนไม่รู้สึกว่าสามชั่วโมงครึ่งนั่นยาว สลับไทม์ไลน์ได้ดีไม่ทำให้งง ฉากงาม ไม่แพ้เวทีรัชดาลัยเธียเตอร์
(รวมถึงพนักงานด้วย ตามไปดูแลยันส้วม) แล้วก็แสงสี การให้แสงเป็นสิ่งที่ดีงามมากๆ สำหรับละครเรื่องนี้ 
เพราะมันช่วยในการเล่าเรื่องการแสดงอารมณ์ของซีนได้เป็นอย่างดี 
.
.
สรุป แล้วเป็นละครเวทีที่น่าไปดูค่ะ เจ้าแก้วให้ 9.5 เต็ม 10 ถามว่าทำไมหายไป .5 น่ะเหรอเหอ เหอ 
นั่นก็เพราะ...ตัดคะแนน ไป 3 จุด
.
.
เฉลยเลยแล้วกัน...รู้ไหมคะ ฉากที่ประทับใจคนดูอย่างเจ้าแก้วจนจับจิต เป็นซีนต่อเนื่องกันสามซีน 
นั่นก็คือฉากที่ศรกำลังจะชนะการดวล และขุนอินถึงกับมือแข็งค้างตีไม่ไปเลย 
.
.
เรามาว่ากันที่ฉากแรกก่อนว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน จริงๆ แล้วฉากประชันมันชัดเจนตระการตา
กว่าฉบับหนังใหญ่ เพราะเราได้เห็นการดวลสดๆ การรัวข้อมือสะบัดไม้ระนาดกระทบลงไปบนรางแก้ว 
แต่ละคนคุมคาแร็คเตอร์ได้ชัดเจนมาก คนหนึ่งพลิ้วไหว อีกคนเข้มแข็งดุดัน 
.
.
ใช่แล้ว..คาแร็คเตอร์นี่แหละ ที่การดวลครั้งนี้น่าจะเต็มอิ่ม และมีภาพของการรบด้วยระนาดที่ชัดเจนกว่านี้ 
ไอ้การรัวกันด้วยดนตรีนี่มันคือ ฆ่ากันให้ตายด้วยความไพเราะชัดๆ ระหว่างที่ดูนั้น 
เจ้าแก้วก็เกิดจินตภาพขึ้นมาในสมอง เมื่อกลับมาบ้านจินตภาพนั้นยังเด่นชัดในความทรงจำ 
พอหันไปมองเฟซเพื่อน ต่างกำลังแหกปากว่าขุนอินเป็นทศกัณฐ์กันเป็นทิวแถว 
 แปลว่าเราไม่ได้คิดคนเดียวสินะ (พวกนั้นเป็นทีมขุนอินน่ะ)
.
.
จินตภาพที่ว่าเกิดขึ้นระหว่างที่เสียงระนาดเอกกำลังดวลกันแบบตัวต่อตัวด้วยลีลาเฉพาะทาง 
คนหนึ่งพลิ้วไหวดังสายลม อีกคนหนึ่งหนักแน่นดังเปลวไฟ มันก็บังเกิดภาพเปรียบเปรยค่ะ
.
.
หากว่าระหว่างดวล มีโขน "พระราม" จากฝั่งศร "ดวล" กับ "ทศกัณฐ์" จากฝั่งขุนอินแล้วละก็..
Yes! ฉากบู๊แห่งความเป็นไทยมันจะบังเกิด



พื้นฐานละครเรื่องนี้คือส่งเสริมความเป็นไทยอยู่แล้ว ถ้าเราเพิ่มโขนลงไปในเรื่องก็น่าจะดีเนอะ 
ในเมื่อภาพทศกัณฐ์ของขุนอินมันชัดเจนในใจผู้ชมอยู่แล้ว ภาพนี้สืบเนื่องมาจากครูปองเขาล่ะ 
และมาถูกตอกย้ำให้ชัดเจนด้วยฝีมือครูเบิ่ง ทวีศักดิ์ ถ้าเพิ่มเข้าไปฉากนี้ต้องเร่าร้อนกว่านี้อีกแน่ๆ
.
.
และอีกซีนในฉากที่ขุนอินพ่าย มันคงจะเต็มอิ่มกว่านี้ เพราะฉากนี้เป็นฉากที่โดนเจ้าแก้วหั่นคะแนนค่ะ 
คือมันดูไกลๆ แล้วไม่มีซาวด์มีแสงช่วยบิ้วท์ ภาพไม่ชัดเจนนักว่าชนะกันขาด มันให้ความรู้สึกว่า
ศรชนะเพราะว่าขุนอินเกิดแขนขัดเอ็นค้างตีไม่ได้เสียก่อนมากกว่าที่แกจะแพ้เพราะถูกแรงกดดัน
จากระนาดแนวใหม่ มาสร้างความหมั่นไหวให้อย่างที่ไม่เคยมีคู่แข่งมาก่อนจนเสียสูญระหว่างประชัน 
.
.
ต้องเข้าใจนะ เจ้าศรไม่เคยแพ้ใคร มาเจอระนาดขุนอินนี่เข้าข่ายหลอนจนเสียเซลฟ์ไปเลย 
จนกระทั่งหลุดพ้นความกดดันเจอวิถีทางของตัวเอง การพ่ายแพ้ของขุนอินก็เช่นกัน มันคือการแพ้ใจ..
แพ้ต่อแรงกดดัน ของคำว่า "ระนาดเอกแห่งสยามผู้ไม่เคยแพ้ใคร" 
.
.
การที่เคยแต่กดดันคนอื่น และเป็นทางดนตรีที่แสนจะซื่อตรงแต่ทรงแสนยานุภาพ
ข่มด้วยพลังจิตที่บรรจงถ่ายทอดลงในการตีแต่ละครั้ง รอบนี้แกจิตแตกค่ะ แกพ่ายแรงกดดัน 
ศรชนะหลุดพ้นคำสาปโดยสมบูรณ์
.
.
มันไม่ต่างอะไรกับทศกัณฐ์ที่มียี่สิบหัตถ์ สิบเศียร ยิ่งใหญ่ไม่เคยแพ้ใคร ทรงพลานุภาพถึงเพียงนี้ 
จะถูกเด็กหนุ่มหน้าละอ่อนสะโอดสะองค์ดีแต่หล่อแบบนั้นเล่นงาน ดุจดังโดนศรของพระรามเข้าที่หน้าอก
ล้มลงด้วยความงุนงงของตัวเอง(คือ เจ้าแก้วเป็นติ่งโขนค่ะ คนโปรดของเจ้าแก้วคือ 
ครูเติ้ง อนุชา สุมามาลย์)



หากจังหวะที่ขุนอินกำลังจะแพ้ แขนเกร็งตีผิดลูก ทศกัณฐ์ก็ต้องศรพระรามล้มลง 
แล้วค่อยเฟดไฟให้มืดคู่โขนนี้ออกให้เวทีเหลือไว้แต่สปอร์ตไลท์ส่องมาที่ศรกับขุนอิน
แช่ไฟไว้ไปสัก 10 วินาที มันจะเป็นอย่างไรคะ? มองเห็นภาพที่เจ้าแก้วคิดใช่ไหมคะ



มันเป็นเพียงจินตภาพของคนดูเท่านั้นเองค่ะ แต่การดวลของทั้งคู่มีภาพการปล่อยของ
(ใครอ่านการ์ตูนเรื่องโจโจ้ล่าข้ามศตวรรษคงเข้าใจ ว่าการปล่อยแสตนท์แสดงพลังของตนเอง
ออกมาจากพลังจิตเป็นยังไง) การปล่อยพลังที่สร้างภาพลักษณ์ได้ชัดเจนน่ะค่ะ
 เลยคิดว่าในเมื่อคนดูก็มีภาพนี้ในใจอยู่แล้ว ใส่ลงไปอีกหน่อยน่าจะดีเนอะ
.
.
ถือว่าเป็นความคิดเห็นของคนดูแล้วกันนะคะ มีได้จักเป็นพระคุณมาก
 หากครั้งหน้ากลับมาแสดงอีก ก็อยากเห็นโขนในฉากดวลค่ะ
.
.
และสุดท้ายฉากสำคัญที่สุดของเรื่อง เป็นฉากดีงามมากๆ ในภาพยนตร์ ตลอดการดูละคร
ก็จ้องอยู่ว่าเค้าคงจะไม่ละเลยฉากนี้ใช่ไหม อย่าทิ้งฉากนี้นะ แล้วก็มีฉากนี้จริงๆ ดีใจจุง 
แม้ว่าฉากนี้จะไม่ทำให้อินเท่าหนังใหญ่ เพราะเราไม่อาจเห็นแววตาของศร ของขุนอินได้ 
อารมณ์จึงไม่เท่า ความซึ้งเลยไม่มีมากเท่า แต่อย่างว่าฉบับหนังใหญ่มันคือความประทับใจแรกพบ 
เพราะไม่คิดว่าจะมีซีนนี้ เล่นเอาน้ำตาคลอเลย พอมาดูละครเวทีเลยคาดหวัง
.
.
นั่นคือ ฉากที่ "ศรก้มลงกราบขุนอิน" 


ศร(อนุชิต) : กระผมขอขมากระผมไม่ได้คิดจะเทียบท่าน ท่านเป็นครูคนหนึ่งที่ผลักดันกระผม 

แต่ในละครเวทีพูดว่า

ศร(กรกันต์) : กระผมเพียงแต่อยากพิสูจน์ตนเอง(ยังมีความหาญลำพองอยู่บ้าง 
แต่ก็เป็นความนอบน้อมและน้ำใจนักกีฬา) มิได้คิดจะเทียบท่าน

เป็นน้ำคำที่ทำให้ขุนอินคลายจากอาการเกร็ง เครียด กดดัน และยอมรับการพ่ายแพ้ได้ 
โดยไม่เสียหน้า
.
.
แน่นอนคนดูทุกคนลุ้นว่าศรต้องชนะๆๆ ศรสู้ๆ ขุนอินคือบอสที่ต้องโค่นข้ามไปให้ได้ 
เป็นตัวร้ายชนิดเทพเจ้า การล้มทศกัณฑ์เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่เราสามารถโฟกัสเฉพาะที่
ความสำเร็จของศรก็ได้ จากนั้นขุนอินคงเดินเข้าฉากไปเงียบๆ ไม่มีความสลักสำคัญใดๆ อีก 
.
.
แต่การที่ศรไปก้มกราบขุนอินนั้น มันยิ่งใหญ่เสียยิ่งกว่าชัยชนะที่ได้มา เป็นฉากที่ไม่คิดว่าจะมี
และไม่คิดว่าซีนนี้ทำเอาน้ำตาไหลด้วยความปลื้ม เต็มอิ่มเหมือนสิ่งที่ลืมไปแล้วมันกลับมา Smiley
.
.
เป็นฉากของความอ่อนน้อม ให้เกียรติผู้ที่มาก่อนไม่ทำให้เขาเสียหน้า เคารพผู้ใหญ่ เคารพครู 
ไม่ใช่แค่การมุ่งเน้นเอาชนะ ที่สำคัญที่สุดคือน้ำใจนักกีฬา การแข่งระนาดคือกีฬานะจ๊ะ 
อย่างที่อาจารย์อิทธิสุนทร ผกก.ฉบับหนังใหญ่พูดว่า ฉากประชันระนาดคือฉากบู๊ มันต้องเร้าใจนั่นแล
.
.
ความอ่อนน้อม ลดทิฐิ ละความอวดดี เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้เจอในพระเอกยุคใหม่ 
พระเอกมักจะต้องเก่งกล้าสามารถ ดังนั้นมันจึงมีค่ายิ่ง เมื่อมาเห็นอีกครั้งจึงรู้สึกยินดี 
แม้เฟิร์สอิมเพรสชั่นในใจจะยิ่งใหญ่กว่าก็ตามที
.
.
และจุดนี้แหละ ทำให้ ศร และ ขุนอิน เป็นตัวละครที่ประทับใจผู้คนมากเหลือเกิน ยิ่งพอมาถึงฉากวัยชรา
เราจะเห็นพล็อบที่จงใจใส่เข้ามานั่นคือ ในบ้านของหลวงประดิษฐ์ไพเราะมีภาพบุคคลสำคัญต่างๆ ในชีวิต 
และหนึ่งในนั้นคือ "ภาพขุนอิน" 
.
.
มันทำให้คนดูได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับศร หากไม่มีศัตรูที่ยิ่งใหญ่ เข้มแข็ง เราหรือจะเรียนรู้การอดทน 
การเป็นตัวของตัวเอง การปล่อยวางและปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงออกไป เหลืออยู่เพียงแค่ใจรัก
ในเสียงระนาดไม่ใช่แค่หวังเอาชนะ 
.
.
ศัตรูผู้นี้จึงสมควรจะถูกยกย่อง..ไม่มีขุนอินวันนั้น ก็จะไม่มีชื่อของ "ศร ศิลปบรรเลง"
.
.
ขอบคุณสำหรับขุนอินตัวร้ายที่อยู่ในใจผู้ชม ขอบคุณสำหรับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
พระเอกผู้เป็นตัวแทนความนอบน้อมชนะด้วยความไม่ลำพอง เขาชนะทั้งในศึกและในใจศัตรู
รวมถึงใจผู้ชมด้วยค่ะ
.
.
ขอบคุณทีมงานสร้างละเวทีเรื่องนี้ อย่างที่พ่ออี๊ดบอกค่ะ "ของเดิมเขาทำเอาไว้ดีมาก(ขึ้นหิ้ง) 
มันยังกล้าเอามาทำ" นอกจากกล้าแล้ว "ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม" ทำสำเร็จด้วยค่ะ 
เก็บทุกฉากทุกซีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องไม่ตกหล่น คุณชนะค่ะ ชนะใจคนดู 
ขอบคุณมากสำหรับละครเวทีเรื่องนี้ 1500 บาท ของฉันคุ้มค่ามากค่ะ Smiley



หาก "รากเหง้า" คือสิ่งที่คุณอยากสื่อ ขอให้มันส่งไปถึงใจของทุกคนที่ได้ดูค่ะ
.
.
และได้กลับมาเล่นอีกครั้ง คราวหน้าขอ 10 คะแนนเต็มนะคะ ครึ่งคะแนนที่หายไป
เอามันกลับคืนมาด้วยค่ะ Smiley





 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2558
0 comments
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2558 4:02:26 น.
Counter : 4596 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แก้วกังไส
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 54 คน [?]







ผลงานเขียนที่ผ่านมาค่ะ

รักนี้(แค้น)ต้องชำระ


Amethyst Sonata
เพลงรัก..ลิขิตหัวใจ



บาปปาริชาต

Friends' blogs
[Add แก้วกังไส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.