พัฒนาการลูกในครรภ์
lozocaelozocae

ในสัปดาห์ที่ 1 ( เดือนที่ 1 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


นับจากวันแรกของประจำเดือนไปจนครบ 1 สัปดาห์ (การแข่งเกิดของไข่อ่อน) คุณทั้งสองตกลงใจว่าจะพยายามมีบุตรตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป แต่การร่วมเพศในช่วงนี้ เกือบไม่มีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เลยค่ะ เพราะในรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งของคุณผู้หญิงเพิ่งเริ่มจะมีถุงไข่ฟองเล็กๆ เกือบ 1 พันฟอง ที่มีเซลล์ไข่อ่อนฟองละหนึ่งใบแข่งกันเจริญเติบโตขึ้นมาทุกวัน แต่พอถึงปลายสัปดาห์นี้จะมีฟองไข่ที่สมบูรณ์จริงๆ เหลือเพียงไม่กี่ฟอง ที่สมบูรณ์น้อยกว่าก็จะฝ่อไปหมด และขนาดของฟองไข่จะโต ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของขนาดที่โตเต็มที่คือยังเล็กกว่า 1 เซ็นติเมตรค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ถ้าคุณทั้งคู่ยังไม่เคยตรวจเลือด หรือตรวจร่างกายมาก่อนเลย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจก่อน การตั้งครรภ์ได้จะเป็นการดีค่ะ ควรสำรวจดูและลดหรือเลิก วิถีการดำเนินชีวิตที่อาจมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์ เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้ยาพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น เที่ยวเตร่ดึกดื่น พักผ่อนไม่เพียงพอหรือทานแต่อาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ฯลฯ หันมาทำแต่สิ่งที่ดีกับตนเองและครอบครัวไปตลอดจนถึงหลังคลอดลูกจะดีกว่าค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 2 ( เดือนที่ 1 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ไข่ฟองที่สมบูรณ์ที่สุดจะโตเต็มที่ช่วงปลายสัปดาห์ ( มักจะเหลืออยู่ฟองเดียว ) แล้วไข่ฟองนี้จะตกออกมานอกรังไข่ แล้วจะเคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ที่ปลายปีกมดลูก ถ้ามีการร่วมเพศในช่วง 2 วันก่อนไข่ตกหรือภายใน 24 ชั่วโมง หลังไข่ตก จะเป็นโอกาสที่เชื้ออสุจิเข้าไปผสมกับไข่ เกิดการปฏิสนธิได้มากที่สุดค่ะ เพราะเชื้ออสุจิสามารถไปรอไข่อยู่ที่ปีกมดลูกได้ถึงกว่า 2 วัน แต่ไข่ฟองที่ตกออกมาแล้ว ถ้าไม่ได้รับการผสมจากเชื้ออสุจิจะฝ่อไป ภายในไม่ถึง 24 ชั่วโมง ถ้าคุณผู้หญิงที่มีรอบเดือนยาวกว่าทุก 28 วัน เช่น มาทุก 30 - 32 วัน ไข่ก็มักจะตกช้าไปกว่านี้คือ ไปตกเอาวันที่ 16-18 ของรอบเดือน นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนนะคะ คือโดยทั่วๆไป ถ้าไข่ตกออกมาแล้วไม่มีการตั้งครรภ์ จะมีประจำเดือนออกมา ในอีก 14 วัน หลังการตกไข่ ดังนั้น ถ้าสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า ประจำเดือน ครั้งต่อไปจะมาวันที่เท่าไร ให้นับถอยหลังมา 13-14 วัน น่าจะตรงกับวันไข่ตกมากที่สุดค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ช่วงต้นสัปดาห์ควรงดมีเพศสัมพันธ์ 3-4 วัน เพื่อเก็บจำนวนเชื้ออสุจิไว้ค่ะ พอใกล้ปลายสัปดาห์นี้ และต่อไปถึงต้นสัปดาห์หน้า ควรมีเพศสัมพันธ์ประมาณทุก 36-48 ชั่วโมง 2-3 ครั้ง พบว่าท่าร่วมเพศปกติ คือ คุณผู้หญิงนอนหงายอยู่บนเตียงและหลังการหลั่งน้ำเชื้อแล้ว นอนราบต่ออีก 20 นาที จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุดค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 3 ( เดือนที่ 1 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิกับไข่ จะเริ่มมีการแบ่งตัวจาก 1 เซลล์ เป็น 2 เป็น 4 - 8 -16 -32..เซลล์ ไปเรื่อยๆ และจะเดินทางอย่างเชื่องช้าจากปลายปีกมดลูก ไปฝังตัวในโพรงมดลูก (ระยะทางเพียง 6-7 ซ.ม. แต่ใช้เวลานาน 6-7 วัน) ตัวอ่อนยังเป็นก้อนเซลล์กลมๆ มีขนาดพอมองเห็นได้ด้วย ตาเปล่าเป็นจุดขาวเล็กๆ บางครั้งการฝังตัวในโพรงมดลูก อาจจะทำให้มีเลือดออกจางๆ ทางช่องคลอดได้ค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดว่า การกระทบกระเทือนแรงๆ จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการฝังตัวของตัวอ่อนเข้าไปในผนังของมดลูกหรือไม่ แต่ในรายที่มีบุตรยากอยู่แล้ว หรือเคยแท้งบุตรในช่วงสามเดือนแรก มามากกว่าหนึ่งครั้ง แพทย์มักจะแนะนำว่า ให้งดทำอะไรที่อาจกระทบกระเทือนต่อมดลูกมากมาก เช่น เต้นแอโรบิกส์ทุกวัน นั่งรถโฟร์วิลส์เข้าป่า หรือ ร่วมเพศแบบไม่บันยะบันยังบ่อยๆ เป็นต้นค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 4 ( เดือนที่ 1 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ตัวอ่อนขนาดเท่าปลายเข็มฝังตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผนังมดลูกแล้ว จะมุ่งแบ่งตัวต่ออย่างไม่หยุดยั้ง จนช่วงปลายสัปดาห์นี้ จะกลายเป็นกลุ่มเซลล์จำนวนมาก รวมกันเป็นแท่งยาวประมาณ 0.014 นิ้ว อยู่ในถุงน้ำคร่ำเล็กๆ ที่คอยหล่อเลี้ยงและลดแรงกระแทก

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
การตั้งครรภ์ทุกครั้งในช่วงสามเดือนแรก ยังจะมีโอกาสแท้งออกมาได้เองประมาณ 1 ใน 5 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดในการแบ่งตัว และเจริญเติบโตของตัวอ่อน ซึ่งมีขั้นตอนนับไม่ถ้วนค่ะ ถ้าตัวอ่อนจะเกิดมาเป็นทารกที่พิการ หรือไม่สมประกอบ ธรรมชาติมักจะทำให้แท้งออกมาเองค่ะ ดังนั้นในสัปดาห์นี้ ว่าที่คุณแม่ยังคงสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้าใจร้อน อยากทราบว่าตั้งครรภ์หรือยัง หลังไข่ตก ประมาณ 10 วัน สามารถขอเจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมนได้ แต่ถ้าอดใจรอจนถึงต้นสัปดาห์หน้า หรือจนประจำเดือนขาดไปสองสามวัน อาจไปซื้อที่ตรวจปัสสาวะเอง มาตรวจตอนตื่นนอนเช้า ควรจะบอกได้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้ายังไม่ตั้งครรภ์ อย่าเพิ่งผิดหวังมาก เพราะในแต่ละรอบเดือนที่พยายามจะมีบุตร โอกาสตั้งครรภ์จะมีไม่เกิน 30% เท่านั้นเอง ถ้าตั้งครรภ์ก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 5 ( เดือนที่ 2 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ทางการแพทย์นับว่า ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ห้าของการตั้งครรภ์แล้ว แต่ความจริงเพิ่งมีการปฏิสนธิได้เพียงสามสัปดาห์ ขนาดของตัวอ่อนจะโตประมาณเมล็ดส้มเขียวหวาน แต่เริ่มมีการแบ่ง แยกของกลุ่มเซลล์ส่วนที่จะเป็นสมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ หรือกระดูกแล้วค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ถ้าตรวจปัสสาวะเองยังไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ คือ ขึ้นมาสองขีด แต่สีจางมาก ก็ขอไปตรวจกับแพทย์ซ้ำก็ได้ค่ะ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติท้องแล้วแท้งบ่อยๆ หรือเคยเป็นท้องนอกมดลูก ควรเริ่มฝากครรภ์ได้เลยค่ะ คุณผู้หญิงจะเริ่มต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น บางคนจะมีคลื่นไส้อาเจียน หน้าอกคัด หรืออยากกินของแปลกๆ และโกรธแฟนง่ายขึ้นถ้าไม่คอยเอาใจ ฯลฯ ช่วงสองสามเดือนต่อไปนี้ แพทย์มักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยง การแช่ในอ่างน้ำร้อนๆ อบซาวน่าสมุนไพร หรือการอบแสงอุลตร้าไวโอเล็ตในคนฝรั่งผิวให้สีแทน เพราะอาจมีผลเสียต่อลูกในท้องได้ค่ะ ถ้าอยากลองคำนวนว่าเมื่อไรจะครบกำหนดคลอด ให้นับจากปลายสัปดาห์นี้ ไปอีก 8 เดือนเต็มๆ น่าจะได้เห็นหน้าลูกแล้วค่ะ (ถ้าปลายสัปดาห์ที่ 5 นี้อยู่ในช่วงเดือน มกราคม ถึงปลายเมษายน บวกไป 8 เดือน จะยังอยู่ในช่วงปลายปีเดียวกัน เช่น สิ้นสัปดาห์นี้ เป็นวันที่ 30 เมษายน วันที่ลูกของคุณครบกำหนดกำหนดคลอด จะอยู่ในช่วงปีใหม่พอดี แต่ถ้าปลายสัปดาห์นี้เป็นช่วงตั้งแต่เดือน พฤษภาคม คือเดือนที่ 5 เป็นต้นไป ให้ลบเดือนที่เท่าไร ด้วยเลข 4 จะได้ วันและเดือนที่ครบกำหนดคร่าวๆ ง่ายกว่าค่ะ) การนับของแพทย์ จะนับจากวันที่วันแรกของประจำเดือน บวกด้วยเลข 7 แล้วลบ ตัวเลขเดือนด้วยเลข 3 ได้ผลโดยประมาณเช่นเดียวกันค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 6 ( เดือนที่ 2 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ตัวอ่อนยังเป็นรูปกระสวยขนาดยาวประมาณ 1 ซ.ม.เท่านั้นค่ะ แต่ส่วนที่เป็นหัวใจมีขนาดเท่าเมล็ดฝรั่ง มีการเต้นอย่างสม่ำเสมอแล้วค่ะ และจะเต้นไปจนตลอดอีก 70-80 ปีข้างหน้า (ถ้าคุณแม่และคุณพ่อ อยากเห็นหัวใจเด็กเต้น ขอนัดแพทย์สัปดาห์หน้า เพื่อดูด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ ที่ดูเข้าไปทางช่องคลอด โดยต้องทำเหมือนการตรวจภายใน จะช่วยบอกได้ว่า เป็นการตั้งครรภ์ปกติ ไม่ได้เป็นครรภ์แฝด ท้องนอกมดลูก หรือมีซีสก้อนโตในรังไข่ เป็นต้น)

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่อาจเริ่มมีอาการแพ้ท้อง เหนื่อยง่าย หงุดหงิดมากขึ้นค่ะ ถ้าเป็นมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ อาจมีการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจภายในตามความจำเป็น แพทย์อาจให้ยาแก้แพ้ ซึ่งปลอดภัยสำหรับลูกในท้อง และแนะนำให้ลองทานอาหารแห้งๆ เช่น ขนมปังกรอบ ก่อนลุกจากเตียงตอนเช้า หลีกเลี่ยงของมันๆ ลดความเครียดและเพิ่มการนอนพักผ่อนจะช่วยให้แพ้ท้องน้อยลงได้ ส่วนใหญ่จะแพ้ไปอีกเดือนเดียวก็หายแพ้ได้เองค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 7 ( เดือนที่ 2 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ช่วงสัปดาห์นี้ ตัวอ่อนจะโตเร็วขึ้นเกือบเท่าตัว คือปลายสัปดาห์ จะยาวประมาณ 2 ซ.ม. มีตุ่มที่จะเป็นแขนขางอกออกมา 4 ตุ่มเล็กๆ ค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่อาจมีอาการแสบบริเวณลิ้นปี่ เพราะมีกรดในกระเพาะเพิ่มขึ้น ควรทานอาหารมื้อเล็กลง แต่ทานบ่อยขึ้นค่ะ เวลาอาบน้ำควรใช้สบู่อ่อนๆ ตลอดการตั้งครรภ์ เพราะผิวหนังจะแห้งและแตกง่ายกว่าปกติค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 8 ( เดือนที่ 2 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ตัวอ่อนจะมีขนาดเท่าผลองุ่นขนาดเล็ก มองเห็นส่วนที่จะเป็นหัว ลำตัว แขนขาชัดเจน ลอยอยู่ในถุงน้ำคร่ำขนาดเท่าลูกพุทรา ส่วนตัวมดลูกเองจะขยายใหญ่ เกือบสองเท่าของขนาดปกติจนโตขนาดเท่าลูกเทนนิสค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
การขยายตัวของมดลูกอย่างรวดเร็วจากช่วงนี้ไปถึงประมาณ 5 เดือน จะทำให้เอ็นยึดมดลูกตึง คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกเสียวแปล๊บๆ เวลาเคลื่อนไหวเร็วๆ จึงควรทำอะไรช้าลงกว่าปกติค่ะ แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ก็ปวด หรือมีเลือดออกสีคล้ำๆ อาจเป็นอาการขู่ว่าจะแท้ง ควรปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 9 ( เดือนที่ 3 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ตัวอ่อนมีอวัยวะสำคัญๆ เห็นได้ชัดเจนขึ้น ตุ่มที่เป็นแขนขางอกยาวขึ้น ช่วงปลายสัปดาห์นี้ ถ้าดูด้วยอัลตร้าซาวน์ อาจเห็นตัวอ่อนมีการบิดตัวได้เล็กน้อยค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่ที่รูปร่างผอมอยู่แล้ว จะเริ่มรู้สึกมีหน้าท้องโตขึ้น กางเกงยีนส์จะคับ ช่วงนี้สามารถออก กำลังกายหรือมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติค่ะ ยกเว้นถ้าทำอะไรแล้วมีปวดท้องน้อย หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องหยุดทำและแจ้งให้สูติแพทย์ทราบค่ะ ถ้าที่บ้านมีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแมว คุณแม่ต้องพยายามไม่ไปยุ่งกับอุจจาระแมว เพราะอาจมีเชื้อโรค เช่น ท็อกโซพลาสโมซีส ซึ่งพบได้มากทางประเทศยุโรป ของไทยเราพอ


ในสัปดาห์ที่ 10 ( เดือนที่ 3 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ตัวอ่อนมีขนาดและลักษณะลำตัวงองุ้มเหมือนกุ้งสดตัวขนาดกลางๆ ถ้าวัดจากหัวถึงก้น ตัวอ่อนจะยาวประมาณ 3 ซ.ม น้ำหนักตัวยังไม่ถึง 10 กรัม มีการกระดุกกระดิกตัวมากขึ้นค่ะ แต่คุณแม่จะยังไม่รู้สึกว่าเด็กดิ้นจน หลังท้องได้ 5-6 เดือนไปแล้วนะคะ ปลายสัปดาห์ มือและเท้า ที่เคยเหมือนใบพาย จะเริ่มแบ่งเป็นนิ้วมือนิ้วเท้าพอให้เห็นได้ค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่ส่วนใหญ่เริ่มจะหายจากอาการแพ้ท้องและอยากทานอาหารมากขึ้นค่ะ บางท่านเข้าใจว่า ต้องทานอาหารเพิ่มมากขึ้นเท่ากับสำหรับคนสองคน ความจริงตลอดการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรทานอาหาร ไม่เพิ่มจากปกติเท่าไรนัก เพียงแต่ทานอาหารอะไร ให้นึกว่าต้องมีประโยชน์สำหรับทั้งตนเอง และลูกในท้องด้วยค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 11 ( เดือนที่ 3 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์

ช่วงสัปดาห์นี้ ตัวอ่อนจะโตจนมีความยาวประมาณ 2 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 15 กรัม จะดิ้นไปมาบ่อยขึ้น และกลืนกินน้ำคร่ำและขับถ่ายออกมาได้แล้วค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ถ้าคุณแม่ไปตรวจฝากครรภ์ตามนัด ในรายที่หน้าท้องไม่หนามาก ควรจะได้ยินเสียงหัวใจเด็กเต้น โดยใช้เครื่องฟังอีเล็กโทรนิกส์วางที่หน้าท้อง จึงควรชวนสามีไปด้วยค่ะ เพราะการได้ยินเสียงที่มาจากตัวลูกเป็นครั้งแรก เป็นสิ่งที่น่ายินดี ว่าลูกเติบโตขึ้นมาปกติดี และโอกาสที่จะแท้งบุตร ลดน้อยลงจนเหลือประมาณเพียง 1-2 % เท่านั้นค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 12 ( เดือนที่ 3 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ตัวอ่อนจะมีขนาดยาวประมาณ 2.5 นิ้ว แต่ละนิ้วมือ นิ้วเท้า จะแยกออกจากกัน ไม่มีเนื้อเยื่อยึดติดกันเป็นแพเหมือนก่อนหน้านี้ค่ะ ปลายสัปดาห์นี้ ถือเป็นการสิ้นสุด ระยะที่เรียกว่า "ตัวอ่อน" เปลี่ยนมาเรียกว่า เป็น "ทารก" แล้ว คือหมดระยะก่อร่างสร้างตัวเพราะมีอวัยวะทุกอย่างครบถ้วนแล้ว รอแต่จะโตวันโตคืนค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่ที่ผิวไม่คล้ำบางคนจะเริ่มมีจุดดำๆ เล็กๆ ขึ้นที่หน้าเป็นผลจากการมีฮอร์โมนเพิ่มขึ้น และตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ควรดื่มของเหลวให้ได้วันละ 8 แก้วขึ้นไป อาจเป็นน้ำเปล่า นม หรือน้ำผลไม้ก็ได้ค่ะ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้ท้องผูก และทำให้ผิวหนังหน้าท้องไม่แห้ง แตก หรือคันได้ง่ายค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 13 ( เดือนที่ 4 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ทั้งตัวของทารกมีความยาวประมาณ 3 นิ้ว และน้ำหนักตัวเกือบจะถีง 1/2 ขีด ถ้าดูด้วยอัลตร้าซาวน์ทางหน้าท้อง จะเห็นดิ้นเหมือนกระโดดขึ้นลงเป็นพักๆ ค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ช่วงนี้ตัวมดลูกจะโตขึ้นมาจนออกนอกช่องเชิงกราน การกดดันกระเพาะปัสสาวะมีน้อยลง ทำให้คุณแม่ไม่ต้องปวดปัสสาวะบ่อยเหมือนแต่ก่อนค่ะ ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น จนอาจต้องไปซื้อเสื้อชั้นในที่มีขนาดใหญ่ขึ้นค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 14 ( เดือนที่ 4 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ทารกจะโตขึ้นมาอีกหนึ่งนิ้ว เมื่อถึงปลายสัปดาห์นี้ จนวัดได้รวม 4 นิ้ว หรือเท่าๆ กับกล้วยไข่ขนาดเล็กหนึ่งลูก ไตเริ่มทำหน้าที่กลั่นกรองน้ำปัสสาวะ ให้ทารกถ่ายออกมาอยู่ในน้ำคร่ำ ซึ่งจะมีการดูดซึมและหมุนเวียนทำความสะอาดขึ้นมาใหม่โดยรก ทุก 3 ชั่วโมงค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่ควรงดการออกกำลังกายบริหารหน้าท้อง (ทำ sit-up) และควรหลีกเลี่ยงการนอนหงายนานๆ นะคะ เพราะเป็นท่าที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่ได้มากเท่าที่ควร ท่านอนที่ดีที่สุดตลอดการตั้งครรภ์ คือ นอนตะแคงซ้ายค่ะ เพราะจะมีการกดทับเส้นเลือดใหญ่น้อยที่สุด คุณแม่หลายคนจะรู้สึกว่าเริ่มมีตกขาว ซึ่งถือเป็นปกติสำหรับคนท้อง ถ้าไม่ออกมามากเกินไป ไม่มีกลิ่นเหม็น หรืออาการแสบคัน ถือว่าไม่ต้องใช้ยารักษา และมักจะมีไปจนตลอดการตั้งครรภ์ และหลังคลอดใหม่ๆ เลยทีเดียวค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 15 ( เดือนที่ 4 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ช่วงสัปดาห์นี้ ตามผิวหนังทั่วตัวของทารกจะเริ่มมีเส้นขนอ่อนขึ้นอยู่ประปราย และจะพบมีเส้นผมบนหนังศีรษะ รวมทั้งขนคิ้วเริ่มขึ้น และมีเล็บมือด้วยค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ถ้าคุณแม่ไปตรวจฝากครรภ์ตามนัด ในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะ ท่านที่มีอายุเกิน 35 ปี หรือเคยมีประวัติทางครอบครัวว่า มีบุตรที่มีความพิการทางสมองหรือระบบไขสันหลัง แพทย์อาจแนะนำให้เจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมนค่ะ ซึ่งถ้าตรวจครบ 3 อย่าง ผลที่ได้ ถ้าเป็นปกติก็ไม่จำเป็นต้องเจาะถุงน้ำคร่ำ แต่ถ้าไม่ปกติอาจเจาะเลือดซ้ำ หรือเจาะถุงน้ำคร่ำตรวจโครโมโซมส์ของทารก เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่ได้เป็นโรคดาวน์ หรือความผิดปกติของสมองหรือไขสันหลังอื่นๆ คุณแม่บางคนจะมีอาการเลือดออกหลังแปรงฟัน เนื่องจากเหงือกมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น ถ้าไม่ได้ตรวจฟันมานาน ควรให้ทันตแพทย์ตรวจเหงือกและรักษาฟันที่เริ่มผุได้ค่ะ โดยต้องแจ้งให้ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ ถ้ามีความจำเป็นต้องถอนฟัน สามารถทำได้โดยปลอดภัยค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 16 ( เดือนที่ 4 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ทารกจะมีขนาดยาวประมาณ 4.3-4.6 นิ้ว และน้ำหนักตัวใกล้ๆ 2 ขีดแล้ว จะเริ่มดิ้นแรงจนคุณแม่บางคนสามารถรู้สึกเหมือนมีอะไรตอดๆ บริเวณท้องน้อย แต่คุณแม่บางคน โดยเฉพาะท้องแรกอาจไม่รู้สึกว่าลูกตอด จนหลังห้าเดือนไปแล้วค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีแผนการจะไปท่องเที่ยวที่ไหนไกลๆ สักครั้งสองครั้งก่อนที่ลูกจะคลอดออกมา สามารถวางแผนเดินทางได้ตั้งแต่ช่วงนี้ ไปจนถึงตั้งครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ เพราะปลอดภัยและคุณแม่ยังไม่รู้สึกอุ้ยอ้ายมากค่ะ ถ้าเป็นการเดินทาง ภายในประเทศอาจทำได้จนถึงสัปดาห์ที่ 36 อาการนอนไม่ค่อยหลับเป็นธรรมดาค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ชอบนอนคว่ำหน้ามาก่อน อาจลองเปิดเพลงเบาๆ ฟัง อ่านหนังสือที่ไม่ตื่นเต้นหวาดเสียว และดื่มนมอุ่นสักแก้วจะช่วยได้มากค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 17 ( เดือนที่ 5 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ทารกในครรภ์จะมีความยาวจากหัวถึงก้นกบ ประมาณห้านิ้ว และหนัก 2 ขีดเศษ ระบบทางเดินโลหิต และทางเดินปัสสาวะ มีครบสมบูรณ์แล้ว ลูกของคุณเริ่มจะมีปฏิกริยาตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ดูดหรือกลืนของเหลวได้ รวมทั้งกระพริบหนังตาได้ด้วยค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดค่ะ ถ้าได้เดินหลังทานอาหารวันละประมาณ 20 นาทีได้ จะช่วยให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้นด้วย สำหรับท่านที่มีเวลา ควรชวนสามีไปเข้าคอร์สที่สอนการตั้งครรภ์คุณภาพ เพื่อเตรียมการบริหารร่างกาย และเรียนรู้เกี่ยวกับการคลอด การปฏิบัติตนหลังคลอดและเลี้ยงดูบุตรด้วย สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาสายตาอยู่แล้ว ฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์อาจทำให้สายตาเปลี่ยนไปค่ะ และบางคนอาจมีปัญหาทำให้ใส่คอนแทคส์เลนส์ไม่ได้อย่างที่เคยใส่ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 18 ( เดือนที่ 5 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกของคุณจะตัวยาวขึ้นมาอีก 1/2 นิ้ว และดิ้นแรงขึ้นจนคุณแม่ ท้องหลังส่วนใหญ่จะรู้สึก แต่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกทุกวันหรอกค่ะ เพราะบางครั้งถ้าคุณแม่กำลังยุ่งอยู่ จะไม่รู้สึกเวลาลูกดิ้น

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่บางคนจะเริ่มรู้สึกว่าเท้าบวมขึ้น โดยเฉพาะ ช่วงเย็นๆ ซึ่งถ้าเริ่มเป็นมาก ต้องลดการนั่ง หรือยืนนานๆ ควรสลับด้วยการเดินบ่อยๆ หรือช่วงพักเที่ยง ถ้าได้เอนหลังหรือนอนพักสักครึ่งชั่วโมงได้จะเป็นการดีมากเลยค่ะ ควรเปลี่ยนเป็นรองเท้าส้นเตี้ย พื้นนุ่มที่ไม่รัดส้นจนเกินไป ช่วงนี้การลุกนอนลุกนั่งเร็วๆ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเวียนศีรษะได้ค่ะ เพราะมดลูกที่โตขึ้นจะไปกดเส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ด้านหลัง ถ้าคุณมีลูกที่พอรู้เรื่องบ้างแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรให้ลูกรับรู้ด้วยค่ะว่า คุณแม่มีน้องตัวเล็กๆ อยู่ในท้อง และจะออกมาเล่นด้วยในไม่ช้านี้


ในสัปดาห์ที่ 19 ( เดือนที่ 5 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ทารกในครรภ์จะยังคงเติบโต จนตัวยาววัดจากหัวถึงก้นเกือบ 6 นิ้ว และหนักเกือบ 3 ขีดแล้ว มดลูกของคุณแม่จะขยายใหญ่จนขึ้นมาสูงประมาณระดับสะดือพอดีค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ถ้ายังไม่เคยทำอัลตร้าซาวน์มาก่อนแพทย์ มักจะแนะนำว่าควรทำสักหนึ่งครั้ง ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ เพราะสามารถมองเห็นอวัยวะทุกอย่างได้ชัดเจน รวมถึงบอกเพศได้ด้วยค่ะถ้าต้องการทราบ แต่จุดมุ่งหมายหลักของการตรวจคือ ดูความสมบูรณ์ วัดขนาดการเติบโตของทารก ดูตำแหน่งรก และจำนวนน้ำคร่ำว่าทุกอย่างปกติดีหรือไม่ มดลูกที่โตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้เส้นเอ็นที่ยึดมดลูกถูกยืดจนตึงเหมือนหนังสติ๊ก เพราะเส้นเอ็นจะโตช้ากว่า ดังนั้นถ้ามีการเคลื่อนไหวเร็ว เช่น ลุกจากท่านั่งหรือแค่เอี้ยวตัว คุณแม่จะรู้สึกเสียวแปล๊บๆ บริเวณด้านข้างของมดลูกได้ค่ะ บางคนอาจจะปวดจนต้องใช้ถุงน้ำอุ่นประคบ ส่วนใหญ่พอถึงเดือนหน้า มดลูกจะเริ่มขยายออกข้างๆ ทำให้เส้นเอ็นตึงน้อยลง อาการเหล่านี้จะหายไปค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 20 ( เดือนที่ 5 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ความยาวของลูกในท้องยังคงเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งนิ้วทุกสัปดาห์ และหนักมากกว่า 3 ขีดแล้ว ผิวหนังทั่วตัวเริ่มหนาขึ้นและแบ่งเป็น สองชั้น มีการสร้างไขมันสีขาวๆ ขึ้นมาปกคลุมข้างนอก ป้องกันการเสียดสีอีกชั้นหนึ่งค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ถ้าคุณแม่เริ่มมีปวดเมื่อยขามากขึ้น เวลานั่งทำงานควรมีเก้าอี้วางรองปลายเท้าค่ะ หากสำรวจดู บางครั้งจะเริ่มมีเส้นเลือดขอด ตามบริเวณน่อง โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ท้องหลังๆ หรือคุณแม่ที่อายุมากขึ้น ควรสวมถุงน่องที่รัดพิเศษทำสำหรับคนท้อง หรือผู้ที่มีเส้นเลือดขอดจากสาเหตุอื่นๆ คุณแม่ที่เริ่มรู้สึกชาหรือปวดบริเวณข้อมือ โดยเฉพาะข้างที่ใช้งานมาก เป็นเพราะมีการรัดของเอ็นข้อมือ ต้องลดการใช้ข้อมือเช่นเย็บปักถักร้อย หรือพิมพ์ดีด หรืออาจหาแถบรัดข้อมือมาสวมแบบที่นักตีเทนนิสใส่เวลาแข่งขันก็ได้ค่ะ



ในสัปดาห์ที่ 21 ( เดือนที่ 6 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกในท้องของคุณแม่ จะมีขนาดประมาณเท่ากล้วยหอมหนึ่งใบ และน้ำหนักตัวเกือบ 400 กรัม ยอดมดลูกจะสูงขึ้นมาประมาณ 1 นิ้วเหนือระดับสะดือ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่ควรจะรู้สึกว่าเด็กดิ้นเกือบทุกวันแล้วค่ะ ช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์นี้ เด็กจะโตเร็วขึ้นอีก จึงต้องการสารอาหารมากขึ้นค่ะ คุณแม่ควรทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบทุกหมวดหมู่ หลีกเลี่ยงอาหารดิบๆ ของหมักดอง รสเผ็ดจัด เค็มจัด หรือหวานจัด ควรทานอาหารมื้อเล็กลงแต่บ่อยขึ้น พยายามรักษาการเพิ่มของ น้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ 2 กิโลกรัม ต่อหนึ่งเดือน และควรทานวิตามินรวมที่แพทย์แนะนำทุกวันค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 22 ( เดือนที่ 6 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


น้ำหนักตัวของทารกเกือบจะถึง 1/2 กิโลกรัม และตัวยาวประมาณ 7.5 นิ้ว ขนคิ้ว และหนังตามีครบสมบูรณ์แล้วค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงครบกำหนดคลอด อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายคุณแม่จะเพิ่มมากกว่าปกติถึงกว่า 20 % ค่ะ คุณแม่จะรู้สึกขี้ร้อนมาก ทั้งกลางวันและกลางคืน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือที่อับนานๆ ควรดื่มน้ำมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงเช้า และกลางวัน น้ำผลไม้ เช่น น้ำส้ม นอกจากช่วยดับกระหายแล้ว ถ้าดื่มหลังทานอาหาร จะมีวิตามิน ซี ซึ่งช่วยในการดูดซึม ธาตุเหล็ก ที่จำเป็นในการสร้าง เม็ดเลือดสำหรับทั้งคุณแม่และลูกด้วยค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 23 ( เดือนที่ 6 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกของคุณจะหนักราวๆ ครึ่งกิโลกรัม และยาวแปดนิ้วเศษ ทุกส่วนของร่างกายจะโตขึ้นมาได้สัดส่วน เหมือนทารกแรกเกิดที่ครบกำเนิดค่ะ เพียงแต่เล็กและผอมเพราะยังไม่มีการสะสมชั้นไขมันใต้ผิวหนัง

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
อาการบวมเล็กน้อยตามมือและเท้าถือเป็นสิ่งปกติค่ะ ข้อที่แปลกคือ ยิ่งบวมมาก ยิ่งต้องทานน้ำมากขึ้น เพราะจะทำให้ ไตขับของเสียและเกลือแร่ที่คั่งอยู่ในร่างกายที่เป็นตัวทำให้เกิดอาการบวมได้ การลดอาหารเค็มๆ รสจัดๆ และเพิ่มการนอนพักผ่อนในท่าตะแคงซ้าย จะช่วยลดบวมได้ด้วยค่ะ คุณแม่ที่เคยมีสะดือบุ๋ม อาจจะถูกมดลูกดันให้กลายเป็นสะดือจุ่นได้ แต่ไม่ต้องกังวลไปหรอกนะคะ เพราะเมื่อคลอดแล้วก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 24 ( เดือนที่ 6 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ทารกสามารถได้ยินเสียงต่างๆ ที่มาจากตัวแม่ได้ค่ะ เช่น เสียงการเต้นของหัวใจแม่ เสียงที่เกิดจากกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมทั้งเสียงพูดทั้งจากคุณแม่และคุณพ่อด้วย ปัจจุบันจึงมีการแนะนำ ว่าอาจลองพูดคุยกับลูกในท้อง หรือเปิดเพลงในห้องให้ฟังเบาๆ บ้างเป็นครั้งคราว โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษอะไรเพื่อสื่อสารกับลูกค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ถ้าคุณแม่น้ำหนักตัวขึ้นมากกว่าที่ควร อาจเปลี่ยนมาดื่มนมพร่องไขมัน วันละประมาณ 3 แก้ว ลดอาหารไขมัน หรือเนื้อสัตว์ พบว่าอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง มีโปรตีนสูงรวมทั้งสารที่มีประโยชน์อื่นๆ ด้วยค่ะ มดลูกที่โตมากแล้ว บวกกับฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ จะทำให้ลำไส้ทำงานช้าลงมากมีโอกาสท้องผูกได้ง่ายค่ะ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ง่าย ควรป้องกันโดยการทานอาหารที่มีกากหรือเส้นใยสูง เช่น ผักทุกชนิด ร่วมกับการดื่มน้ำให้มาก และการเดินออกกำลังกายหลังอาหารตามที่เคยแนะนำไว้แล้วค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 25 ( เดือนที่ 7 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกน้อยในครรภ์มีน้ำหนักประมาณ 600 กรัมเศษ ปลายสัปดาห์นี้ ในปอดจะเริ่มมีการสร้างสารที่ช่วยให้ถุงลมในปอดขยายได้ค่ะ ดังนั้นในต่างประเทศ มีรายงานเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดออกมาในช่วงนี้มีโอกาสเลี้ยงรอดได้ ประมาณ 50% แต่ต้องเลี้ยงในตู้อบกันนานหลายเดือนค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ความตื่นเต้นของการตั้งครรภ์ช่วงแรก ถูกครอบคลุมโดยความไม่สบายกาย ไม่สบายใจบ้างถือเป็นเรื่องปกติค่ะ ลองเปลี่ยนสิ่งที่ทำจำเจเพื่อลูกหรือเพื่องาน เช่น ลาหยุดงานไปแต่งหน้าแต่งเล็บ ดูหนังโรง หรือเดินช็อปปิ้งเล่น เป็นต้น


ในสัปดาห์ที่ 26 ( เดือนที่ 7 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ทารกจะตัวยาวประมาณ 10 นิ้ว และหนักประมาณ 700 กรัมช่วงปลายสัปดาห์ มักจะชอบเหยียดขาทั้งสองข้างแก้เมื่อยเป็นพักๆ จนคุณแม่รู้สึกเหมือนมีอะไรมาดันลิ้นปี่ให้จุกได้ค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
นอกจากสายตาจะเปลี่ยนเป็นยาวขึ้นหรือสั้นลงได้แล้ว นัยน์ตาของคุณแม่ยังจะไวต่อแสง รู้สึกตาแห้งและแสบง่ายขึ้นได้ค่ะ อาจลองใช้น้ำตาเทียมหยอดตาบ้าง คุณแม่ที่ยังต้องยืนมาก หรือนั่งนานๆ จะรู้สึกหน่วงๆ ที่เหนือหัวหน่าว อาจลองหาชุดชั้นในที่ทำสำหรับคนท้องที่มีแผ่นรองช่วยพยุงบริเวณส่วนล่างของหน้าท้อง คนท้องหลายๆ คนจะรู้สึกเหมือนเป็นหวัด คัดจมูกตลอดการตั้งครรภ์ เพราะฮอร์โมนทำให้แพ้ง่ายขึ้น บางคนที่เคยเป็นไมเกรนอาจเลิกเป็นไปเลย แต่บางคนก็เป็นบ่อยขึ้น มีคนแนะนำว่า ถ้ารู้สึกว่าเริ่มจะเป็นไมเกรน ให้ล้างหน้าด้วยน้ำเย็นๆ แล้วนั่งในห้องเงียบและมืดจะรู้สึกดีขึ้นค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 27 ( เดือนที่ 7 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ปลายสัปดาห์นี้ ลูกของคุณจะตัวยาวเกือบหนึ่งฟุต และหนักประมาณ 1 กิโลกรัมแล้วค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่คงจะก้มมองดูปลายเท้าไม่ค่อยเห็นแล้วละค่ะ ท่าเดินจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นคล้ายเป็ดเดิน เพราะยกเท้าสูงไม่ค่อยสะดวก เริ่มจะเป็นตะคริวที่น่อง ถ้าต้องยืนหรือนั่งพับเพียบนานๆ หรือเผลอเหยียดขาเร็วๆ หลังตื่นนอน ถ้าเริ่มเป็นให้กระดกปลายเท้าค้างไว้ หรือให้แฟนช่วยยันไว้และนวดบริเวณน่อง ถ้าเป็นบ่อยให้ลองเพิ่มแคลเซี่ยมในอาหาร หรือทานชนิดเม็ดผสมในน้ำดื่มทุกวันก็ได้ค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 28 ( เดือนที่ 7 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


สัปดาห์นี้ ลูกของคุณจะหนักขึ้นมาอีก 2-3 ขีด และตัวยาวขึ้นอีก 2-3นิ้ว ลืมตาสองข้างเป็นครั้งคราว ถ้าคลอดออกมาก่อนกำหนดออกมาในช่วงนี้ มีโอกาสเลี้ยงรอดได้ประมาณ 70-80% ค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
แพทย์อาจจะนัดไปเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล หรืออื่นๆ ถ้ามีข้อบ่งชี้ ควรงดอาหารเช้าก่อนตรวจเลือดแล้ว แล้วขอไปทานอาหารระหว่างที่รอผลเลือดค่ะ ถ้าเป็นไปได้คุณแม่และคุณพ่อควรขอไปดูห้องรอคลอด และห้องคลอด ซึ่งปัจจุบันมักจะรวมเป็นห้องเดียว และมีการตกแต่งให้ดูเหมือนห้องนอนที่บ้าน เพื่อช่วยลดความกังวลของคุณแม่ได้ค่ะ คุณแม่หลายคนจะต้องเผชิญกับปัญหาริดสีดวงทวารในช่วงนี้ เพราะน้ำหนักของมดลูกทำให้มีเลือดคั่งมากขึ้นควรระวังไม่ให้ท้องผูก และไม่นั่งหรือยืนนานๆ


ในสัปดาห์ที่ 29 ( เดือนที่ 8 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ถ้ามีแสงสว่างเข้าไปในมดลูก ทารกในครรภ์จะลืมตาและหันหน้ามาทางต้นกำเนิดแสงได้ค่ะ ชั้นไขมันใต้ผิวหนังสะสมหนาขึ้น และเล็บงอกออกมาถึงปลายนิ้วแล้วค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่คงจะไม่ค่อยอยากส่องกระจกดูหน้าท้องตัวเองเท่าไหร่นักหรอกใช่มั้ยคะ เพราะจะเริ่มมีรอยแตก โดยเฉพาะถ้าคุณแม่น้ำหนักขึ้นเร็วมาก และดื่มน้ำไม่เพียงพอทำให้ผิวหนังแห้งแตกได้ง่าย พบว่าการใช้โลชั่นธรรมดา ทาผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอได้ผลดีเท่าๆ กับ โลชั่นพิเศษแพงๆ ที่ทำขึ้นมาสำหรับทากันท้องลายโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป ถ้าคุณแม่มีอาการบวมมากขึ้นภายใน 2-3 วัน ร่วมกับอาการปวดหัวมาก และปัสสาวะออกน้อยลง อาจเป็นอาการเริ่มแรกของครรภ์เป็นพิษ ควรรีบปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ด่วนค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 30 ( เดือนที่ 8 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกในครรภ์ของคุณจะหนักเกือบ 1 กิโลครึ่งและยาวประมาณ 17 นิ้ว สมองจะเติบโตเร็วมากค่ะและจำนวนน้ำคร่ำจะมีสูงสุดแล้วค่อยๆ ลดลงจนถึงวันคลอด

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยและเพลียง่ายขึ้นค่ะ เป็นการเตือนของร่างกายให้พักผ่อนมากขึ้น ควรนอนพักผ่อน ให้ได้อย่างน้อยวันละ 10 ชั่วโมงขึ้นไป โดยนอนตะแคงซ้ายให้มากกว่าท่าอื่นๆ คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกเหมือนว่าการตั้งครรภ์ทำไมไม่รู้จักจบสิ้นซะที สลับกับความกลัวว่ายังไม่พร้อมที่จะต่อสู้กับขบวนการคลอดและการเป็นแม่ การออกกำลังกายที่ดีที่สุดยังคงเป็นการเดินวันละ 15-20 นาทีหลังอาหารเช้าและเย็น


ในสัปดาห์ที่ 31 ( เดือนที่ 8 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ปอดและระบบย่อยอาหารของทารกในครรภ์เกือบสมบูรณ์พร้อมที่จะทำงานแล้วค่ะ ถ้าคลอดก่อนกำหนดช่วงนี้ มีโอกาสเลี้ยงรอดเกือบ 100 % ทารกในครรภ์เริ่มมองเห็นระยะใกล้ๆ และบอกความมืดความสว่างได้ค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ลองทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาจากการเข้ารับการอบรมการตั้งครรภ์คุณภาพ สอบถามและศึกษาเพิ่มเติมถึงขบวนการคลอด และโอกาสความเป็นไปได้ของการจบลงด้วยการผ่าตัดคลอด หรือสิทธิในการเลือกผ่าตัดคลอด ถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าจะคลอดยาก เช่น คุณแม่ท้องแรกอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ทารกครรภ์แฝด หรือท่าก้น ฯลฯ ฝึกการขมิบกล้ามเนื้อในช่องคลอดบ่อยๆ เพื่อป้องกันความหย่อนยานหลังคลอดได้ค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 32 ( เดือนที่ 8 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกของคุณจะหนักประมาณ 1 กิโลกับอีก 7-8 ขีด และสามารถหันหัวไปมาได้แล้วค่ะ คุณแม่อาจรู้สึกว่าเด็กดิ้นน้อยลง เนื่องจากในมดลูกไม่ค่อยมีที่ให้ลูกเคลื่อนไหวได้มากเหมือนก่อนๆ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
บางขณะ คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกมีการแข็งตัวชั่วครู่ได้ค่ะ เพราะมดลูกที่ถูกขยายมากๆ จะมีความไวต่อการกระตุ้น เช่นเด็กดิ้น หรือการเคลื่อนไหวเร็วๆ ของคุณแม่ ถ้าเป็นบ่อยขึ้นและเริ่มมีอาการเจ็บร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าไม่ใช่เป็นการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด และเก็บปัสสาวะไว้ให้แพทย์ตรวจดูว่า ไม่มีการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการคลอดก่อนกำหนดค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 33 ( เดือนที่ 9 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกของคุณจะมีน้ำหนักตัวเกือบ 2 กิโลกรัม และตัวยาวประมาณ 19 นิ้ว หลังจากนี้ จนถึงครบกำหนดคลอดน้ำหนักเด็กจะขึ้นมาอีกมากกว่าหนึ่งกิโลกรัม ส่วนใหญ่จากการมีชั้นไขมันหนาขึ้น ทำให้ผิวหนังตามตัวมีสีชมพู และนุ่มนิ่มด้วยละค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ควรเตรียมตัวเรื่องลาหยุดงานประมาณ 2-4 สัปดาห์ ก่อนวันครบกำหนด ทำโครงงานใหญ่ๆ ให้เสร็จ หรือฝึกคนอื่นให้พร้อมรับงานต่อ ถ้ารู้สึกเจ็บบริเวณซี่โครงเพราะเด็กเอาเท้ามาถีบตรงบริเวณนั้น ควรนั่งหลังตรงและไม่นั่งนานๆ เอามือลูบบริเวณนั้นเบาๆ เพื่อให้เท้าหรือส่วนอื่นของเด็กออกจากตรงที่เจ็บ


ในสัปดาห์ที่ 34 ( เดือนที่ 9 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกของคุณจะหนักประมาณ 2 กิโลเศษ และยาวขึ้นมาอีก 1/2 นิ้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในท่าเอาศีรษะลงมาอยู่เหนือช่องเชิงกราน

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่บางคนจะรู้สึกว่าท้องเริ่มลดลง เนื่องจากส่วนนำของเด็กเคลื่อนลงไปใน ช่องเชิงกรานได้บ้างแล้วค่ะ ทำให้รู้สึกว่าบริเวณลิ้นปี่โล่งขึ้น และหายใจสะดวกขึ้น ถ้าตั้งใจว่าจะให้นมบุตรหลังคลอด ควรหมั่นดูแลหัวนมไม่ให้แห้ง และถ้าท่านมีหัวนมบอด ควรลองใช้นิ้วมือคีบและดึงออกมาบ่อยๆ สอบถามเพื่อนบ้านหรือแพทย์ ถึงหมอเด็กที่ควรให้มาดูแลลูกหลังคลอด ฝึกการหายใจระหว่างเจ็บครรภ์คลอดและการเบ่งคลอด ตามที่ได้เรียนมาค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 35 ( เดือนที่ 9 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกของคุณจะหนักเกือบสองกิโลครึ่งและตัวยาวกว่า 20 นิ้วแล้ว ปอดสมบูรณ์และพร้อมที่จะทำงานได้เอง ถ้าคลอดก่อนกำหนดออกมาในช่วงนี้ จากการตรวจคลื่นสมองพบว่า เด็กมีการฝันเวลาหลับได้เหมือนผู้ใหญ่ค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการเริ่มคิดถึง การคุมกำเนิดหลังคลอด โดยเฉพาะถ้าคุณและสามีตกลงใจว่าไม่ต้องการมีบุตรคนต่อไปอย่างแน่นอนแล้ว และสามียินยอมทำหมันชาย ควรติดต่อศัลยแพทย์ปรึกษาเรื่องทำหมันค่ะ เพราะหมันชายมักต้องใช้เวลาเกือบสามเดือนจึงจะมั่นใจได้ว่าปลอดภัย ถึงแม้คุณแม่จะให้นมบุตรหลังคลอดนานกว่า1-2 เดือน ก็ยังอาจตั้งครรภ์ได้ ถ้าไม่ใช้การคุมกำเนิดระหว่างที่ให้นมบุตร


ในสัปดาห์ที่ 36 ( เดือนที่ 9 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกของคุณยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนหนักเกิน 2 กิโลครึ่ง และถ้าคลอดออกมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้เป็นต้นไป ถือว่าเป็นทารกที่ครบกำหนดแล้วค่ะ สามารถหายใจได้เองและดูดนมได้ ไม่ต้องวิตกว่าจะต้องเข้าตู้อบหลังคลอด

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ท้องของคุณแม่จะเต็มจนเด็กไม่ค่อยมีที่จะดิ้น ถ้าไม่รู้สึกว่าเด็กดิ้นเป็นเวลา สิบกว่าชั่วโมงแล้ว ให้ลองกระตุ้นตัวเด็กเบาๆ หรือดื่มน้ำเย็นสักแก้ว ถ้ายังไม่รู้สึกว่าดิ้น ควรปรึกษาแพทย์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าท้องแข็งและเจ็บบ่อยขึ้น เพราะมดลูกมีการบีบตัว ที่เรียกว่าเจ็บครรภ์เตือน ลักษณะมีการแข็งตัวทั่วท้องแต่นานไม่เกิน 30 วินาที และวันหนึ่งไม่ควรเกิน 8-10 ครั้ง ถ้าเจ็บแล้วลองเปลี่ยนอิริยาบท แล้วมักจะหายไปเอง แต่ถ้ากลับเจ็บเป็นเวลานานขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อยๆ หรือร่วมกับมีมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอด ควรไปพบแพทย์ได้แล้วค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 37 ( เดือนที่ 10 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกของคุณจะเริ่มมีอัตราการเติบโตไม่รวดเร็วเหมือนก่อนหน้านี้ เพราะรกเริ่มจะทำหน้าที่ได้ลดลงค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ช่วงนี้คุณแม่ควรไปพบแพทย์บ่อยขึ้นตามนัด คือสัปดาห์ละครั้ง เพราะอาจมีอาการของโรคครรภ์เป็นพิษ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายค่ะ แพทย์อาจต้องตรวจภายใน ดูว่าไม่มีการอักเสบและติดตามการบางลงและเปิดออกของปากมดลูก ถ้าคุณแม่มีเจ็บท้องเตือนบ่อยมาก


ในสัปดาห์ที่ 38 ( เดือนที่ 10 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ส่วนนำของเด็ก ซึ่งประมาณ 97% เป็นส่วนหัวของเด็กควรจะลงไปอยู่ในช่องเชิงกรานแล้ว โดยเฉพาะในท้องแรก ทำให้คุณแม่รู้สึกหน่วงๆ บริเวณหัวหน่าว เสียวแปล๊บเป็นบางครั้งจนต้องหยุดเดิน และมีปัสสาวะบ่อยขึ้นมากเหมือนช่วงตั้งครรภ์สามเดือนแรก

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
เตรียมสิ่งของที่จะต้องนำไปโรงพยาบาลเมื่อเจ็บครรภ์ และมีผู้ที่จะพาไปในเวลาฉุกเฉินแทนสามี ถ้าสามีต้องทำงานอยู่ไกลจากบ้าน โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีบริการรถฉุกเฉินไปรับถึงบ้านได้ และถ้ามีลูกคนก่อนที่ยังเล็กอยู่ ควรมีคนใกล้เคียงที่ฝากดูแลได้นะคะ คุณแม่ที่กังวลว่าจะมีน้ำเดินออกมาเต็มไปหมด ควรวางใจได้ว่า โอกาสที่จะเกิดน้ำเดินก่อนเจ็บครรภ์ มีไม่ถึง 20%


ในสัปดาห์ที่ 39 ( เดือนที่ 10 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์


ลูกของคุณควรจะมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม และตัวยาวประมาณ 21 นิ้ว หรือเกือบ 40 เซนติเมตรค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
คุณแม่คงจะลาหยุดงานมานอนอยู่กับบ้านเฉยๆ แล้ว ควรนอนตะแคงซ้ายเมื่อมีโอกาส แต่ยังคงทำงานเบาๆรอบบ้านได้ค่ะ ถ้าเคยผ่าตัดคลอดมาก่อน และต้องการผ่าตัดซ้ำ อาจขอผ่าได้ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป และถึงแม้คุณแม่จะไม่เคยเลี้ยงเด็กแรกเกิดมาก่อน ก็ไม่ควรกังวลล่วงหน้าว่าจะเป็นคุณแม่ไม่ได้ เพราะหลังคลอดจะมีพยาบาลคอยสอนการดูแลให้นม อาบน้ำ และจัดการเรื่องการขับถ่ายของลูก และโดยธรรมชาติของคุณผู้หญิงทุกคนจะมีสัญชาตญาณของความเป็นแม่อยู่แล้วค่ะ และเป็นที่น่ายินดีว่าผู้ชายไทยสมัยนี้ มีความยินดีที่จะช่วยเลี้ยงดูลูกมากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วยค่ะ


ในสัปดาห์ที่ 40 ( เดือนที่ 10 )
ลักษณะและพัฒนาการลูกในครรภ์

ลูกของคุณจะเติบโตเต็มที่และมีโอกาสคลอดมากที่สุดในสัปดาห์นี้ แต่โอกาสที่จะคลอดตรง กับวันที่แพทย์คำนวณคือ วันที่เจ็ดของสัปดาห์นี้ มีเพียง 5% เท่านั้นค่ะ

การปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่
ถ้าคุณแม่เตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็คงได้แต่รอให้เจ็บครรภ์ถี่ หรือมีน้ำเดิน บางคนจะมีมูกปนเลือด ออกมา1-2 วันก่อนเจ็บครรภ์จริง ถ้าเด็กยังคงดิ้นอย่างน้อย 2-3 ครั้งช่วงที่คุณแม่ตื่นอยู่ และคุณแม่ไปฝากครรภ์จนครบ 41 สัปดาห์พบว่าปกติ ยังคงให้รอต่อไปได้ แต่หลังจากนี้มักจะต้องมีการติดตามใกล้ชิดทุก 3-4 วัน ต้องตรวจภายใน ตรวจอัลตร้าซาวน์ดูจำนวนน้ำคร่ำ การเคลื่อนไหวของเด็กและต้องบันทึกการเต้นของหัวใจเด็กด้วยเครื่องอีเล็กโทรนิกส์ ส่วนใหญ่ถ้าถึง 42 สัปดาห์แล้ว ยังไม่เจ็บครรภ์เอง การรอต่อไปมีผลเสียมากกว่าผลดี ควรใช้ยากระตุ้นให้คลอด หรือถ้าปากมดลูกยังปิดแน่น ศีรษะเด็กยังสูงมาก มีโอกาสต้องผ่าตัดคลอดได้มากค่ะ


ที่มา : Modernmom
lozocaelozocae



Create Date : 19 พฤษภาคม 2552
Last Update : 24 มิถุนายน 2552 5:28:16 น.
Counter : 3621 Pageviews.

0 comments

เจ้าแม่แฟชั่น
Location :
  Maldives

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



Group Blog
พฤษภาคม 2552

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
20
21
22
23
25
27
28
29
30
31
 
 
All Blog