มิถุนายน 2553
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
17 มิถุนายน 2553
 
 

ความเป็นมาของ "ไวน์"

การสืบสานความเป็นมาของไวน์ตามหลักฐานที่ค้นพบและวิเคราะห์กันในปัจจุบันให้ความรู้ว่าน้ำบนโลกในยุคโบราณนั้น ดื่มแล้วไม่ปลอดภัย เพราะไม่บริสุทธิ์เพียงพอเหมือนในปัจจุบัน แต่เต็มไปด้วยเชื้อโรคจากหลักฐานซากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซึ่งยืนยันว่ามีองุ่นกับการทำไวน์มานานอย่างน้อย 9,000 ปีก่อนคริสตกาล

จนกระทั่งตำนานไวน์ได้ปักหลักหยั่งรากลงดินเจริญงอกงามและเจริญเติบโตเต็มที่ ณ ดินแดนของ 3 โลกอารยธรรม นั่นคือ โลกของชาวกรีก โลกของชาวโรมัน และโลกของชุมชนอาหรับมุสลิม

เริ่มต้นในแถบกัปปาโดเคีย (Cappadocia) บนที่ราบสูงอานาโตเลียของประเทศตุรกีปัจจุบันหรือในแดนจอร์เจีย (Georgia) บนฝั่งตะวันออกของทะเลดำใกล้ภูเขาโคเคซัส (Caucasus mountain) หรือซากโบราณสถานแสดงร่องรอยขององุ่นกับเครื่องคั้นองุ่นที่เมืองเจรีโก (Jericho) เมืองที่เก่าแก่ที่สุดตามคัมภีร์ไบเบิลอยู่ในปาเลสไตน์ฝั่งตะวันตกทางเหนือของทะเลตาย (Dead sea) แถบนี้เคยเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในจอร์แดน ประมาณอายุว่าอยู่ในระหว่าง 7,000 ถึง 9,000 ปี

จากแถบดังกล่าว ไร่องุ่นเข้าสู่อารยธรรมตะวันออกกลาง พันธุ์องุ่นกระจายสู่ลุ่มน้ำไทกรีสและยูเฟรตีส ถึงอาณาจักรบาบีโลนประเทศอิรักปัจจุบัน และข้ามเข้าสู่อ่าวเปอร์เซียประเทศอิหร่านปัจจุบัน

และจากเปอร์เซียต้นองุ่นแพร่ต่อไปยังอียิปต์โบราณ กรีกโบราณและจักรวรรดิโรมัน ชาวโรมันจะเผยแพร่การเพาะปลูกไวน์ไปทั่วดินแดนบนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ย

ในที่สุดเกือบทั่วทั้งยุโรป ทำให้สามารถแกะรอยความเป็นมาตามวัฒนธรรมไวน์ได้อย่างต่อเนื่องบนเส้นทางดังกล่าวได้รายละเอียดที่มีคุณค่ายิ่งเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนสมัยก่อน ๆ เกี่ยวกับกำเนิดไวน์นั้น แต่ละชนชาติมีความเชื่อที่เป็นตำนานเล่าขานที่อาจคล้ายกันหรือไม่เหมือนกันเลยก็ได้ กล่าวคือ

นับตั้งแต่คริสตกาลเป็นต้นมา องุ่นกับไวน์วิวัฒนาการขึ้นพร้อม ๆ กับธรรมเนียมของคริสต์ศาสนากับลัทธิจูดาอิสซึม (ลัทธิของยิวโบราณและอิสลาม)

ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตในวัดวาอารามหรือสำนักนักบวช มากพอ ๆ กับราชสำนักต่าง ๆ ทั่วไปในยุโรปกับเอเชียตะวันออกกลาง

พอในศตวรรษที่ 7 โลกมีอิสลามเข้ามาเป็นศาสนาใหม่ อิสลามมีกฎห้ามดื่มไวน์ดื่มเหล้า การเพาะปลูกองุ่นในเอเชียตะวันออกกลางหยุดชะงักลงและจะยิ่งเห็นได้ชัดมากที่สุด

เมื่อศาสดาโมฮัมหมัดถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ.632 เพราะอิสลามจะแผ่ออกไปในโลกกว้างอย่างรวดเร็ว อาณาบริเวณรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนที่เคยเป็นศูนย์การเพาะปลูกการทำไวน์

รวมทั้งเป็นเขตที่บริโภคไวน์มากที่สุดในโลกตอนนั้นย้ายเลื่อนออกไปสู่ยุโรปตอนใต้ในสเปนและฝรั่งเศสมากขึ้น ๆ พึงระลึกด้วยว่าตั้งแต่ปลายยุคโบราณมาแล้วจักรวรรดิโรมันเป็นผู้วางรากฐานของการเพาะปลูกองุ่นและการทำไวน์ในยุโรป

เมื่ออิสลามห้ามการดื่มไวน์ ประเทศอิสลามทั้งหมดจึงยุติการผลิตองุ่นเพื่อทำไวน์เกือบหมด อิตาลี สเปน และฝรั่งเศสจึงกลายเป็นศูนย์ผลิตไวน์ตั้งแต่นั้นมา ประกอบกับที่ราชสำนักยุโรปพัฒนาศิลปะการกินการทำอาหารซึ่งเท่ากับส่งเสริมการดื่มไวน์ด้วยเช่นกัน

อิตาลีและฝรั่งเศสยังคงครองตำแหน่งประเทศผู้บริโภคไวน์มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกมีสเปนตามหลังมาติด ๆ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา

พอเริ่มยุคของการค้นพบแผ่นดินใหม่ พันธุ์องุ่นก็ติดตามชาวยุโรปข้ามน้ำข้ามทะเลไปในทวีปใหม่ ๆ ทั้งอเมริกาเหนือและใต้, แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ และตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มาถึงทุกวันนี้ ไวน์เป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในวิถีการกินอยู่ประจำวันของชนหลายชาติหลายภาษา

ในดินแดนบาบีโลนอารยธรรมซูเมเรียน (Sumerian) เริ่มขึ้นเมื่อราวสี่พันปีก่อนคริสตกาล ขุดพบแผ่นปูนปั้นอายุประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล จารึกเครื่องปรุงไวน์กับวิธีทำเบียร์

ส่วนภาพจารึกเกี่ยวกับการทำไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบ คือจิตรกรรมฝาผนังในสุสานของปทาห์โฮเท็ป (Ptah Hotep) มหาอำมาตย์ในอียิปต์โบราณ ผู้มีชีวิตอยู่ที่เมืองเม็มฟิส (Memphis) ภาคเหนือของอียิปต์ ประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล

ที่บาบีโลนอีกเช่นกัน พบเอกสารเป็นแผ่นปูนจารึกเกี่ยวกับยากับการใช้ยาที่มีอายุราว 2,200 ปีก่อนคริสตกาล ระบุถึงการใช้ไวน์เป็นยาบำบัดรักษา เช่น ใช้ไวน์ผสมน้ำผึ้งเป็นยาแก้ไอ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับตะบะตู (Tabatu) อันเป็นเครื่องดื่มของชาวบาบีโลนชนิดหนึ่ง ทำจากน้ำผสมไวน์หรือน้ำผลไม้อื่นที่หมักเป็นแอลกอฮอล์แล้ว แผ่นปูนจารึกเกี่ยวกับยาของชาวบาบีโลนนี้ จึงเป็นเอกสารแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดทำให้เชื่อได้ว่าไวน์เป็นเครื่องดื่มของคนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และดูเหมือนจะเป็นเครื่องดื่มที่ปลอดภัยที่สุดด้วย

เอกสารจารึกบนใบปาปีรุสของอียิปต์เมื่อ 2,000 ปีก่อนคริสตกาลระบุถึงการใช้ไวน์เป็นยา โดยละลายปนกับสารอื่น ๆ เพื่อใช้เช็ดฆ่าเชื้อที่เกิดจากหูอักเสบ เป็นต้น หลักฐานและข้อมูลที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ระบุไว้ว่าฟาโรห์เจ้าแผ่นดินดื่มไวน์ห้าชนิดและเป็นห้าชนิดที่จะใช้ในงานฌาปนกิจด้วยแสดงว่าเมื่อราวสองพันปีก่อนคริสตกาลมีการแยกประเภทไวน์แล้วอย่างน้อยก็หกประเภท (ห้าสำหรับฟาโรห์และหนึ่งสำหรับสามัญชน) ไวน์ที่นำไปไว้ในสุสานสำหรับคนตาย จะระบุที่มากับวันเวลาที่เก็บเกี่ยว การค้นพบแผ่นจารึกชื่อไวน์พิธีห้าชนิดในหลุมศพของเปปีที่สอง (Pepi II) ที่เมืองซาการาห์ (Saqqara)

ทำให้นักประวัติศาสตร์สรุปว่า ชาวอียิปต์น่าจะมีระบบการจารึกหรือขึ้นทะเบียนไวน์แบบที่ทำกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อค้นพบแผ่นป้ายไวน์ในหลุมศพตุตันตาเมน (Tutankhamen) ผู้มีชีวิตเมื่อประมาณ 1354-1343 ก่อนคริสตกาล ได้ระบุปี ชื่อไร่ ชื่อเจ้าของไร่ และชื่อผู้ดูแลรักษาคลังไวน์ของไร่นั้น ขาดเพียงการระบุพันธุ์องุ่น

จารึกกรีกโบราณกับคัมภีร์ไบเบิลทั้งเก่าและใหม่ของคริสต์ศาสนาระบุเกี่ยวกับน้ำในแง่ลบเสมอมา ความที่ไวน์เป็นแอลกอฮอล์จึงฆ่าเชื้อโรคได้ดีกว่าน้ำทั่วไปในธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อมีคนมากขึ้นและอยู่รวมกันทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองใกล้เคียงต้องรองรับน้ำที่สกปรกของคนเข้าไปปนด้วย

ซึ่งกว่าโลกจะมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดบริสุทธิ์เพียงพอนั้น ต้องรอจนถึงศตวรรษที่ 18-19 หมอชาวกรีกที่ชื่อ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates, 460-377 BC) ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาของแพทย์แผนใหม่ เริ่มใช้ไวน์โดยไม่ละลายน้ำก่อนชนชาติอื่น ๆ และเขายังสามารถระบุความแตกต่างของไวน์ประเภทต่าง ๆ ในการรักษาเยียวยา เช่น ไวน์ใหม่ ๆ ที่ยังมีระดับน้ำตาลเจือปนสูงไม่ดีสำหรับโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารในกระเพาะและลำไส้ ไวน์ขาวรสอ่อนและเปรี้ยวจะช่วยขับถ่ายได้ดีกว่า

ส่วนไวน์ที่มีสารเทนนินสูงจะช่วยบรรเทาโรคท้องร่วง เขายังสรุปว่าไวน์เอื้อประโยชน์ให้คนมากถ้ารู้จักดื่มอย่างเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นคนป่วยหรือคนที่ปกติ

การแพทย์กรีกมีอิทธิพลต่อการรักษาเรื่อยมาจนกระทั่งจักรวรรดิโรมันเข้ามาครอบครองตั้งแต่สองร้อยปีก่อนคริสตกาล

เมื่อเข้าสู่ยุคโรมัน ในอาณาจักรโรมันที่มีอาณาเขตกว้างไกลไปในยุโรป ในฝรั่งเศส สเปน ภาคใต้ของอังกฤษ เป็นช่วงที่ไวน์เจริญรุ่งเรืองสูงสุด พวกนักรบโรมันเวลาออกรบที่ใด จะบรรทุกผลองุ่นไว้เป็นเสบียงคลังรวมไปถึงต้นองุ่นก็เอาติดไปด้วย ชนะศึกที่เมืองไหน ก็หว่านเมล็ดพืชกับปักต้นกล้าหยั่งดินลงไปให้แพร่กระจายขยายพันธุ์ไปทั่ว เป็นลักษณะของชาวโรมัน

แสดงให้เห็นว่าชาวโรมันรักไวน์อย่างที่สุด หลักฐานจากประติมากรรมภูมิทัศน์ไร่องุ่นแหล่งสำคัญ ๆ ของยุโรปในปัจจุบัน เกิดขึ้นภายใต้อาณานิคมของชาวโรมันด้วยความสามารถของทหารโรมันที่มีความชำนาญในวิศวกรรมโยธา ช่วยพัฒนาพื้นที่ไม่ว่าจะสูงชันอย่างไรให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกองุ่น

ทำให้ดินแดนองุ่นแหล่งใหญ่เหล่านี้ยังคงมีผลผลิตที่ดูเหมือนจะหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ และดินแดนเหล่านี้ยังคงเป็นเลิศอยู่นั่นเอง การเผยแพร่วัฒนธรรมไวน์ยุคนั้น

คริสต์ศาสนาที่เป็นพื้นฐานสำคัญและเป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ในโลกตะวันตกมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างให้ยุโรปเป็นแหล่งผลิตไวน์แหล่งสำคัญที่สุดในโลก แทบจะกล่าวได้ว่าคริสต์ศาสนาคือวัฒนธรรมไวน์ และยุโรปก็เป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนา

พระเยซูทรงแสดงปาฏิหาริย์ครั้งแรกในงานเลี้ยงที่เมืองกานาเมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นไวน์เพื่อให้เจ้าบ้านมีไวน์สำหรับบริการแขกได้ไม่ขาดมือเหมือนกับยืนยันคุณภาพของไวน์ว่าเหนือคุณภาพของน้ำในยุคนั้น

อาหารมื้อสุดท้ายในชีวิตของพระองค์ก็มีการฉลองการกินการดื่มกับเหล่าอัครสาวกพระองค์ยกฐานะของไวน์ให้เป็นดังน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นสัญลักษณ์แทนเลือดของพระองค์ (พิธีนี้คือพิธียูการิทเธียหรือการรับศีลมหาสนิท)

ไวน์จึงเป็นเหมือนรางวัลที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์บนโลก ทำให้นักบวชบาทหลวงตามวัด วิหาร และอารามทุกแห่งสืบธรรมเนียมการเพาะปลูกองุ่นต่อจากทหารโรมัน

จากหลักฐานทางโบราณคดีศึกษาที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างข้างต้นทำให้นักประวัติศาสตร์ทราบว่ามนุษย์หลายชาติหลายภาษารู้จักการเพาะปลูกองุ่น รู้จักการทำไวน์ รู้จักใช้ไวน์เป็นยา และรู้จักความสุขของการดื่มไวน์มาหลายพันปีก่อนคริสตกาล และนับจากนั้นเป็นต้นมา ไวน์ หรือเหล้าองุ่น ได้กลายเป็นเครื่องดื่มอันศักดิ์สิทธิ์ในพิธีทางคริสต์ศาสนา และกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่แพร่หลายไปทั่วโลกจนถึงวันนี้







 

Create Date : 17 มิถุนายน 2553
2 comments
Last Update : 1 กรกฎาคม 2553 15:31:22 น.
Counter : 3712 Pageviews.

 

25553269351.2

 

โดย: 555+ IP: 118.173.44.233 26 พฤศจิกายน 2554 11:37:14 น.  

 

แวะมาทักทาย

 

โดย: แวะมาดู IP: 125.25.28.193 4 ตุลาคม 2555 12:26:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

B_Zircon
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




นิยามของผู้เขียน 'อักษร' ทุกตัวเสมือนดาบสองคม จึงเป็นหน้าที่ของ 'นักเขียน' ที่ต้องถ่ายทอดด้วยจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม หาก ‘อักษร’ ตัวใดส่งผลกระทบต่อบางแง่บางมุมในความรู้สึกของผู้อ่าน ‘ผู้เขียน’ ขอน้อมรับคำติชมไว้แต่เพียงผู้เดียว

ติดตามผลงาน เพทายสีฟ้า ได้ที่เพจด้านล่างนะค่ะ

สนใจเครื่องประดับสไตล์อียิปเชิญที่ Isis fortune shops ค่ะ

มีปัญหาทางบัญชีปรึกษา

[Add B_Zircon's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com