Group Blog
 
 
มกราคม 2556
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
19 มกราคม 2556
 
All Blogs
 

สมัครเรียนต่างประเทศ ต้องทำอะไรบ้าง?

เคยเห็นคนชอบถามกันเยอะว่า อยากเรียนต่อต่างประเทศต้องทำยังไงบ้าง

วันนี้เลยอยากขอเริ่มด้วยการอธิบายภาพรวมในการสมัครเรียนคร่าว ๆ ก่อนแล้วกันครับ
สำหรับคนที่เริ่มต้นจากไม่รู้อะไรเลย อย่างน้อยจะได้พอมีไอเดียว่าต้องทำอะไรบ้าง

ก่อนอื่นมีคำถามที่เราจะต้องตอบตัวเองให้ได้อยู่ 2-3 ข้อ ก่อนที่เราจะสมัครเรียน
หนึ่งคือ เราอยากเรียนอะไร สองคือ เราอยากเรียนที่ไหน และสามคือ จะเอาเงินจากไหนไปเรียน
เรียนอะไรในที่นี้หมายถึงว่า เรียนสาขาอะไร เน้นด้านไหน และระดับปริญญาอะไร
เรียนที่ไหนคือ อยากเรียนในประเทศไหน มหาวิทยาลัยอะไร
ส่วนจะเอาเงินจากไหนไปเรียน ก็คือเราต้องลองคิดคร่าว ๆ ดูด้วยว่า
เรามีเงินเพียงพอที่จะส่งตัวเองมั้ย ถ้าไม่พอจะขอใครได้บ้าง หาทุนได้ไหม หาทุนจากไหนดี
ซึ่งทั้ง 3 คำถามนี้ จะตอบให้ได้ต้องอาศัยการค้นหาข้อมูลพอสมควรนะครับ
คือเราต้องเข้าไปดูว่า ต่างประเทศเขามีเปิดสอนสาขาอะไรบ้างที่เราสนใจ
ถ้าอยากเรียนสาขานี้ ประเทศไหนเด่น มหาวิทยาลัยไหนมีชื่อเสียง
มหาวิทยาลัยนั้นเข้ายากหรือเปล่า มีทุนให้มากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าไม่มี จะขอทุนจากที่ไหนได้บ้าง
ซึ่งจะเห็นว่า ทั้ง 3 คำถามมันมีความสัมพันธ์กันนะครับ
เพราะสาขาที่เปิดเรียนมันก็ขึ้นกับประเทศและมหาวิทยาลัยที่จะไปเรียนด้วย
และการหาทุนมันก็ขึ้นกับว่าเราจะไปเรียนอะไร สนใจจะไปเรียนประเทศอะไร มหาวิทยาลัยไหน

ทีนี้เมื่อเรามีไอเดียแล้วว่าอยากเรียนด้านไหน และอยากจะลองสมัครที่ไหนบ้าง
สิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องทำก็คือ เข้าไปในเว็บไซต์ของภาควิชาที่เราจะสมัคร
แล้วดูรายละเอียดว่าเขาต้องการเอกสารอะไรบ้าง มีกำหนดเวลาอย่างไร บลา ๆๆ
คือในภาพรวมการสมัครเรียนอาจไม่ต่างกันมาก เอกสารที่ใช้และการสอบที่ต้องสอบอาจจะคล้ายกัน
แต่ความจริงคือ มันมักจะมีรายละเอียดยิบย่อยของแต่ละสาขา และแต่ละมหาวิทยาลัย
ซึ่งผู้สมัครจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ครับ

ทีนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม จะขอสรุปสิ่งที่เขาต้องการคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้ครับ

1. Transcript
การส่งทรานสคริปต์นั้นมี 2 แบบนะครับ
บางมหาวิทยาลัยจะให้เราอัพโหลดไฟล์ออนไลน์ไปก่อน เมื่อเขารับแล้วจึงค่อยส่งตัวจริงตามไป
ในกรณีนี้ ไฟล์ที่อัพโหลดจะต้องเป็นไฟล์ที่สแกนทรานสคริปต์ตัวจริงนะครับ
จะใช้ปรินท์หน้าจอเว็บที่มหาวิทยาลัยประกาศเกรดไปส่งเขาไม่ได้ครับ แหะ ๆๆ
ส่วนอีกแบบคือ มหาวิทยาลัยอาจจะให้เราส่งตัวจริงไปเลย
ซึ่งในกรณีนี้ เราจะต้องไปติดต่อสำนักทะเบียนและประมวลผลของมหาวิทยาลัยครับ
คือต้องให้มหาวิทยาลัยเราทำทรานสคริปต์ใส่ซองแล้วปิดผนึกให้ เราขอมาหาซองใส่เองไม่ได้นะครับ
บางมหาวิทยาลัยอาจจะส่งไปรษณีย์ไปที่มหาวิทยาลัยที่เราจะสมัครโดยตรง
แต่บางมหาวิทยาลัยอาจจะแค่ใส่ซอง ปิดผนึก ประทับตรา แล้วให้เราไปส่งเองครับ
สำหรับทรานสคริปต์นั้น ถ้าเรียนจบแล้วก็ใช้ทรานสคริปต์ฉบับสมบูรณ์
แต่ถ้ายังเรียนไม่จบ ยังอยู่ปี 4 อยู่ ก็ใช้แค่ทรานสคริปต์ที่มีผลการศึกษา 7 ภาคเรียนครับ
แล้วถ้าเขารับเราเข้าศึกษา เราก็จะต้องส่งทรานสคริปต์ตัวจริงตามไปอีกที เมื่อเรียนจบแล้วครับ
ความสำคัญของทรานสคริปต์และเกรด ก็คือเป็นตัวบอกว่าเรามีความสามารถทางการเรียนดีแค่ไหน
ซึ่งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยในอังกฤษ เขาจะให้ความสำคัญกับเกรดค่อนข้างมากถึงมากที่สุดครับ
แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยในอเมริกา จะเน้นพิจารณาในภาพรวมมากกว่า
อย่างไรก็แล้วแต่ เกรดถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ ในการสมัครเรียนครับ
ดังนั้นสำหรับใครที่ยังเรียนอยู่ และวางแผนอยากไปเรียนต่อต่างประเทศในอนาคต
คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ จงตั้งใจเรียนครับ!!! อิอิอิ

2. Standardized Test 1: TOEFL / IELTS
ถ้าเราสมัครเรียนในโปรแกรมที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน
ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยก็จะบังคับให้เราต้องสอบภาษาอังกฤษด้วยครับ
การสอบที่เป็นที่นิยมกันมาก ๆ ก็มีอยู่ 2 อย่าง คือ TOEFL กับ IELTS
เดี๋ยวนี้ หลาย ๆ มหาวิทยาลัยรับผลการสอบทั้ง 2 แบบแล้วนะครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อความมั่นใจ ต้องเช็คข้อมูลในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยให้ดีครับ
เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีข้อกำหนดไม่เหมือนกัน
นอกจากเขาจะกำหนดว่ารับผลสอบอะไรบ้างแล้ว เขาจะบอกด้วยครับว่าต้องได้คะแนนเท่าไหร่
บางที่รับแค่ TOEFL บางที่รับทั้งสอง แต่กำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ไม่เท่ากันครับ
รายละเอียดว่าจะสอบอะไรดี แล้วการสอบแต่ละอย่างเป็นอย่างไร ผมจะมาเขียนเล่าให้ฟังอีกทีนะครับ
แต่ในภาพรวมคือ การสอบเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อทดสอบทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผู้สมัคร
เพื่อให้แน่ใจว่าผู้สมัครเข้าไปแล้วจะเรียนได้ สื่อสารกับผู้อื่นได้ครับ
สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือว่า โดยทั่วไปคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษพวกนี้เนี่ย
มันไม่ใช่ว่า ยิ่งได้เกือบเต็มเท่าไหร่จะยิ่งมีสิทธิ์เข้าได้มากเท่านั้นนะครับ
ส่วนใหญ่คือ ถ้าคุณผ่านเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ก็ถือว่าโอเคแล้ว
เขาจะให้น้ำหนักกับองคืประกอบอื่นมากกว่าครับ คะแนนสอบภาษาอังกฤษไม่ใช่ตัวตัดสินทุกสิ่ง
หลาย ๆ มหาวิทยาลัย ถ้าเราได้ต่ำกว่าที่เขากำหนดไม่มาก ก็ยังมีโอกาสที่เขาจะรับเราได้อยู่ครับ
เพียงแต่ถ้าเขารับ เขาอาจจะกำหนดให้เราต้องไปสอบใหม่ให้ผ่านเกณฑืที่เขากำหนดให้ได้ก่อนเริ่มเรียน
หรืออาจจะบังคับให้เราต้องไปเรียนภาษาอังกฤษของที่มหาวิทยาลัยเพิ่มเติมตอนเข้าเรียนไปแล้วครับ
อย่างไรก้แล้วแต่ ถ้าคะแนนเราน้อยกว่าที่เขากำหนดมาก ๆ มันก็อาจจะทำร้ายเราได้ครับ อิอิอิ

3. Standardized Test 2: GRE / GMAT
นอกจากสอบภาษาอังกฤษแล้ว หลาย ๆ มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในอเมริกา
อาจกำหนดให้ผู้สมัครสอบ GRE หรือ GMAT ด้วย ซึ่งเป็นการทดสอบทักษะทางวิชาการทั่วไป
ทักษะที่ว่ามี 3 อย่าง คือทักษะในการใช้ภาษา ทักษะในการคำนวณ และทักษะในการคิดวิเคราะห์
ข้อแตกต่างระหว่าง GRE กับ GMAT ก็คือ GMAT จะใช้กับการสมัครเรียนด้านธุรกิจเป็นหลัก
ส่วน GRE จะใช้กับการสมัครเรียนด้านอื่น ๆ เช่น สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ
ตัวผมเองเคยสอบแต่ GRE ครับ ไม่เคยสอบ GMAT เพราะไม่ได้เรียนด้านธุรกิจ
แต่เท่าที่เห้นผ่าน ๆ ตา ลักษณะข้อสอบก็จะคล้าย ๆ กันนะครับ
คือจะมีพาร์ท Verbal ที่ถามเกี่ยวกับภาษาอังกฤา เน้นด้านคำศัพท์ การใช้คำ และอ่านจับใจความ
พาร์ท Quantitative เป็นโจทย์เลขทั่ว ๆ ไปครับ เนื้อหาประมาณมัธยม ไม่ยากแต่ต้องรอบคอบและทำเร็วครับ
และสุดท้ายคือ Analytical Writing ซึ่งเป็นการเขียนเรียงความแสดงการคิดวิเคราะห์และการใช้เหตุผลของเราครับ
ข้อสอบพวกนี้ ยิ่งทำได้คะแนนมากเท่าไหร่ยิ่งดีครับ ไม่เหมือนข้อสอบภาษา ที่แค่ผ่านเกณฑ์ก็พอ
และโดยทั่วไปมหาวิทยาลัยจะไม่ค่อยกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเอาไว้นะครับ
อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ต้องไปกังวลกับคะแนน GRE มากครับ
ส่วนใหญ่คะแนนในพารืท Verbal กับ Analytical Writing จะค่อนข้างน่าเกลียดอยู่แล้ว
ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างประเทศเขาก้เข้าใจครับ ว่าเราเป็นนักศึกษาต่างชาติ ไม่ได้ใช้ภ่าษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน
แต่ต้องบอกไว้ก่อนนะครับ ว่าแต่ละสาขา ก้จะให้น้ำหนักกับคะแนนแต่ละพาร์ทไม่เท่ากันครับ
อย่างของผมเรียนเศรษฐศาสตร์ Quantitative สำคัญที่สุด รองลงมาคือ Analytical Writing
แต่ถ้าเป็นสาขาที่ต้องใช้ภาษามาก ๆ เขาก็อาจจะสนใจ Verbal กับ Analytical Writing มากกว่าครับ
ดังนั้นสรุปว่า พยายามทำให้ได้คะแนนดีที่สุด อย่างน้อย ๆ อย่าให้คะแนนต่ำจนน่าเกลียดน่ากลัวเกินไป
แต่ถ้าคะแนนออกมาไม่ได้สวยเลิศเลอ ก็ไม่ต้องไปเครียดกับมันมากนักครับ
โดยทั่วไป ถ้าเขาเห็นคะแนนเราต่ำติดดินเกินไป เขาจะตัดเราออก ถ้าเห็นคะแนนสูงมาก ๆ เขาก็อาจจะยิ้ม ๆ
แต่ถ้าคะแนนต่ำกลาง ๆ เค้าก็โอเค ดูองค์ประกอบอื่นต่อไปครับ อิอิอิ

4. Letters of Recommendation
จดหมายรับรองเป็นอะไรที่มีความสำคัญมากถึงมากที่สุดในการสมัครเรียนในอเมริกาครับ
คือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าอยากไปอังกฤษ ทำเกรดให้ดีอนาคตก็จะสดใส
แต่ถ้าอยากไปอเมริกา อะไรที่แย่ ๆ สามารถแก้ได้ด้วยจดหมายรับรองครับ
พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าต่อจากนี้ไม่ต้องทำอะไรแล้ว หาแต่จดหมายรับรองอย่างเดียวพอ นะครับ
เพราะจดหมายรับรองที่ดีจริง ๆ นั้นหายากมาก มากก มากกก มากกกก ครับ
จดหมายรับรองในอุดมคติคือ ต้องเขียนโดยอาจารย์ที่รู้จักเราเป็นอย่างดี ทั้งในด้านวิชาการและแง่มุมส่วนตัว
เขียนชื่นชมเราอย่างจริงจัง และจริงใจ โดยเน้นเกี่ยวกับความสามารถในการวิจัยและความพร้อมในการเรียนของเรา
อาจารย์ท่านนั้นควรเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางวิชาการ เป็นที่รุ้จักของต่างประเทศ
จบจากมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัครไป หรือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งการที่คุณสมบัติดังกล่าวจะมารวมอยู่ในคนคนเดียวกัน แล้วคนนั้นยอมเขียนให้เรา
เป็นเรื่องยากยิ่งกว่างมหาดอกเข็มในมหาสมุทรแปซิฟิกครับ
แล้วประเด็นคือ ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะให้เราส่งจดหมายรับรองถึง 2-3 ฉบับครับ
(อังกฤษมักจะขอ 2 อเมริกาขอ 3 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเช็คกับเว็บอีกทีครับ แต่ละที่อาจไม่เหมือนกัน)
ทางออกที่ผมใช้คือ ถ้าหาอาจารย์คนเดียวที่รวมคุณสมบัติเหล่านั้นเอาไว้ครบไม่ได้ ก็แบ่ง ๆ กันไปครับ
คือฉบับนึงให้อาจารย์ผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ แต่อาจจะไม่ร้จักเราดีเท่าไหร่เขียน
อีกฉบับนึงให้อาจารย์เด็ก ๆ ที่รู้จักเราดี แต่ไม่ได้มีชื่อเสียงระดับโลกเขียนให้
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ควรเลือกเฉพาะอาจารย์ที่เรามั่นใจว่าจะเขียนให้เราค่อนข้างดีนะครับ อิอิอิ
สำหรับวิธีการส่ง มี 2 แบบครับ คือให้อาจารย์เขียนเป็นจดหมาย ใส่ซอง แล้วเซ็นปิดผนึกให้
ซึ่งบางมหาวิทยาลัยอาจมีแบบฟอร์มเฉพาะของเขา เราก็ต้องปรินท์ไปให้อาจารย์ด้วยครับ
วิธีนี้เราต้องเป็นคนเอาไปส่งไปรษณีย์เองครับ ซึ่งช่วงหลัง ๆ ไม่ค่อยเป็นที่นิยมแล้ว
อีกวิธีหนึ่งคือการส่งออนไลน์ครับ วิธีนี้คือเราใส่ชื่อและอีเมลอาจารย์ไปตอนสมัคร
ระบบก็จะส่งอีเมลไปหาอาจารย์ให้อาจารย์ล็อกอินแล้วเข้าไปเขียนให้เราในเว็บครับ
ถ้าเราสมัครออนไลนื ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะให้ใช้วิธีนี้นะครับ ซึ่งมันสะดวกกับเรา แต่จะลำบากอาจารย์
ดังนั้นเมื่อสมัครเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมเอาพวงมาลัยไปกราบที่ตักของอาจารย์งาม ๆ ด้วยนะครับ อิอิอิ

5. Statement of Purpose / Personal Statement
ถือเป้นหนามยอกอกอีกอันหนึ่งของผู้สมัครเรียนทุกคน
คือเราต้องเขียนเรียงความแนะนำตัวเราเองกับทางมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัครไป
ว่าฉันเป็นใคร มีอะไรดี ทำไมถึงสนใจด้านนี้ เรียนไปแล้วจะไปทำอะไร
สนใจจะทำวิจัยเรื่องอะไรบ้าง คิดว่ามหาวิทยาลัยเราเหมาะกับคุณอย่างไร บลา ๆๆ
รายละเอียดการเขียน SOP ที่ดี ผมเองก็ไม่ค่อยรู้มาก เพราะรุ้สึกว่าของตัวเองก็ไม่ได้ดีเด่อะไร
แต่ก็คิดว่าเดี๋ยวจะมาแชร์รายละเอียดการเขียนทีหลัง ว่าอะไรที่น่าจะต้องใส่เข้าไปบ้าง
สิ่งที่อยากบอกก็คือว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีความคาดหวังและข้อกำหนดเกี่ยวกับ SOP ไม่เหมือนกัน
เริ่มตั้งแต่จำนวนเรียงความที่ให้เขียน บางทีถ้าโชคดีมาก ๆ คือ ไม่ต้องเขียนเลยก็มี
บางทีอาจจะให้เขียน 2 เรียงความ อันแรกไม่ค่อยสำคัญ เป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว แรงบันดาลใจ อะไรประมาณนั้น
อีกอันหนึ่งเป็นเรื่องทางวิชาการ ว่าคุณมีคุณสมบัติอะไร สนใจด้านไหน อยากทำวิจัยเรื่องอะไร ซึ่งสำคัญมากกว่า
แต่ส่วนใหญ่จะให้เขียนแค่อันเดียว ก็ต้องรวมทั้ง 2 อย่างเข้าไว้ด้วยกัน เน้นไปที่เรื่องการเรียนมากหน่อย
อย่าลืมดูด้วยนะครับว่าเขามีคำสั่งเฉพาะหรือเปล่า บางที่จะบอกเลยว่าต้องการให้เขียนเรื่องอะไรบ้าง
ความยาวของ SOP แต่ละที่ก็กำหนดไม่เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ทำผมปวดหัวมาก
คือมีตั้งแต่ 1-2 หน้า ประมาณ 2500 คำ 1000 คำ ไม่เกิน 500 คำ ไปจนถึง ไม่เกิน 6000 ตัวอักษร!!!!
วิธีการที่ผมแนะนำก็คือ อ่านข้อกำหนดของทุกที่ให้เรียบร้อยก่อน แล้วเขียนฉบับกลางขึ้นมา 1 อัน
ให้มีเนื้อหาครอบคลุมกับที่แต่ละที่ต้องการให้มากที่สุด ใช้อันนี้เป็นต้นแบบ
พอจะส่งที่ไหน ก็ตัดต่อแก้ไขเอาจากอันนี้ โดยควรจะต้องมีอย่างน้อย 1-2 ย่อหน้า
ที่เขียนขึ้นใหม่ให้เจาะจงกับมหาวิทยาลัยแต่ละที่ที่จะสมัครไปครับ
สำหรับความสำคัญของ SOP นั้น แต่ละสาขาวิชา แต่ละมหาวิทยาลัย ก็ให้น้ำหนักไม่เท่ากันครับ
ถ้าเป็นพวกสายธุรกิจ อาจจะมีความสำคัญมาก เพราะเขาให้ความสำคัญกับการนำเสนอตัวเองของผู้สมัคร
แต่อย่างที่สาขาที่ผมสมัครเรียน คือเศรษฐศาสตร์เนี่ย มีมหาวิทยาลัยนึงเขาบอกเลยว่า
ถ้าคุณเป็นเด็กประวัติดีทั่ว ๆ ไป เรียนจบตามเวลาที่กำหนด ไม่ได้มีอะไรแปลกประหลาด
คุณไม่จำเป็นต้องเขียน SOP มายาวมาก เพราะเราแทบจะไม่ได้ให้น้ำหนักกับมันเลย อิอิอิ

6. Application and Application Fee
นอกจากทั้ง 5 ข้อที่กล่าวไปแล้ว ที่สำคัญที่สุดก็คงจะเป็น ใบสมัคร และ ค่าสมัคร ครับ แหะ ๆๆ
โดยปกติน่าจะมีการสมัคร 2 แบบ คือแบบเป็นกระดาษ ๆ และแบบออนไลน์
ส่วนตัวผมเอง ที่เคยสมัครมาก้เป้นแบบออนไลน์ทั้งหมดครับ ซึ่งผมว่ามันสะดวกมาก ๆ
วิธีการก็คือ ในเว็บไซต์ภาควิชา มักจะมีลิงค์ไปยังเว็บที่ใช้สมัคร
เราก็ต้องสมัครสมาชิกก่อน แล้วก้ล็อกอินเข้าไปกรอกใบสมัคร
ถ้าสมัครหลาย ๆ ที่ อย่าลืมจำชื่อล็อกอินและพาสเวิร์ดให้ดีนะครับ
บางมหาวิทยาลัยอาจจะให้สมัครผ่านเว็บเดียวกัน ถ้าเป็นแบบนั้นคือก็ใช้ล็อกอินเดิมที่มีอยู่
แต่เวลากรอกใบสมัครก็จะต้องกรอกต่างหากครับ ซึ่งขั้นตอนการกรอกนี่ก็ไม่ใช่ว่าง่ายนะครับ
คือถ้าสมัครแค่ 4-5 ที่ก้ไม่ลำบากลำบนอะไรหรอกครับ
แต่ถ้าใครสมัคร 20 ที่แบบผม แค่กรอกชื่อตัวเองกับประวัติการศึกษาก็เหนื่อยแล้วครับ 5555555+
ข้อดีคือ พอสมัครเรียนเสร็จ คุณจะจำได้ขึ้นใจเลยว่าปริญญาแต่ละใบของคุณลงวันที่เท่าไหร่!!!!
โดยทั่วไปในใบสมัครเขาก็จะมีให้เรากรอกประวัติการเรียนและการทำงานด้วยครับ
ซึ่งตรงประวัติการทำงาน บางทีอาจใช้วิธีให้เราอัพโหลด CV หรือ Resume เข้าไปแทน
นอกจากนี้บางทีอาจบังคับให้เราส่ง Writing Sample ไปให้เขาดุด้วยครับ
ซึ่ง Writing Sample คือตัวอย่างงานเขียนของเรา โดยมากก็ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะสมัครเรียน
อาจจะเป็นรายงานที่เคยทำ บางส่วนของวิทยานิพนธ์ หรือจะเขียนขึ้นมาใหม่เลยก็ได้ครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น แน่นอนว่าจะต้องเป็นภาษาอังกฤษ และมีความยาวตามที่เขากำหนดครับ
ภายหลังจากที่เรากรอกใบสมัครเสร็จ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ ต้องจ่ายเงินค่าสมัครด้วยครับ
ยกเว้นแต่ว่าใครจะโชคดี มหาวิทยาลัยที่ใจดีไม่คิดค่าสมัคร อันนั้นถือเป็นบุญกุศลที่ทำมาแต่ชาติปางก่อนครับ
ค่าสมัครแต่ละที่ก็จะไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่คือพอเราคลิกส่งใบสมัคร เว็บก็จะมีลิงค์ไปที่หน้าจ่ายตังค์
ก็จ่ายออนไลน์ไปเลยง่าย ๆ ครับ ใส่เลกบัตรเครดิต กรอกข้อมูลนิดหน่อย คลิก ๆ ก็เสร็จแล้ว
จะเห็นว่า การกระทำทุกอย่างมีต้นทุนครับ แค่จะสมัครเรียน ได้หรือไม่ได้ยังไม่รู้ ก็เสียเงินก่อนแล้วเป็นพันบาท
ดังนั้นอย่าลืมวางแผนให้ดี ๆ เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนจะสมัครเรียนแต่ละที่นะครับ อิอิอิ

คาดว่าเท่านี้น่าจะทำให้ทุกคนพอเห็นภาพการสมัครเรียนขึ้นมาได้บ้างนะครับ
ใครมีคำถามอะไรก้ถามไว้ได้ในคอมเมนต์ครับ แล้วผมจะพยายามมาตอบเท่าที่ตอบได้
หลาย ๆ เรื่องผมคงจะมาเขียนเล่ารายละเอียดอีกทีในภายหลัง
อันนี้สำหรับคนที่ไม่รู้เลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง จะได้พอมีไอเดียครับ
ผมเห็นบางคนเขียนเล่าเป็นลำดับก่อนหลัง ผมว่าดีนะครับ ถ้าว่าง ๆ ผมก็อยากจะลองเขียนบ้าง
แต่มันยากกว่าเพราะว่าผมเองก็จำไม่ค่อยได้แล้วว่าตัวเองทำอะไรก่อนอะไรหลัง
แล้วชีวิตผมก็ระหกระเหเร่ร่อน ต้องฝ่าฟันอุปสรรคอยู่พอสมควร
ลำดับเวลามันก็เลยอาจจะไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาครับ แหะ ๆๆ
เอาเป็นว่า ตอนนี้เอาแบบนี้ไปก่อนแล้วกันนะครับ หวังว่าคงจะพอเป็นประโยชน์บ้างกับบางคน
สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ ^^




 

Create Date : 19 มกราคม 2556
2 comments
Last Update : 19 มกราคม 2556 20:25:42 น.
Counter : 1927 Pageviews.

 

ขอบคุณมากค่ะ เขียนได้ดีมีประโยชน์กว่า agency ซะอีก

 

โดย: Mathar IP: 125.25.51.159 30 กันยายน 2556 20:02:13 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ เขียนได้ดีมีประโยชน์กว่า agency ซะอีก

 

โดย: Mathar IP: 125.25.51.159 30 กันยายน 2556 20:03:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


SeqUenTiaL EquiLiBriuM
Location :
United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add SeqUenTiaL EquiLiBriuM's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.